“ตอนเฮาน้อยๆ พ่อบอกว่า สิไปซุมนุมอยู่กรุงเทพฯ แต่ว่า… ก็บ่ได้กลับมาอีกเลย”
คำพูดของยุพิน จาก ‘หน่าฮ่านเดอะซีรีส์’ ตอนที่ 4 เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียหลายช่องทาง เป็นเหมือนมือที่มาเขย่าให้เราให้นึกออกว่าสื่อ แม้แต่สื่อบันเทิง ก็สามารถพูดถึงเรื่องสังคมและการเมืองด้วย หลายครั้งผู้ชมแทบจะหลงลืมเรื่องนี้ไปเนื่องจากน้อยครั้งที่สื่อบันเทิงกระแสหลักนักจะได้โอกาสพูดถึงหัวข้อหนักๆ เช่นเรื่องนี้ที่พูดถึงผลกระทบของเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปีพ.ศ. 2553 ในกรุงเทพฯ
ไม่ใช่แค่ผู้ชมที่ตื้นตันจากฉากดังกล่าว แต่ ‘ในฐานะทำหน้าที่กำกับ และเป็นลูกหลานคนอีสาน ที่ยุคนึง พ.ศ นึงเราคือพวกหัวรุนแรง คือตัวตลก คือคนไม่มีการศึกษา การได้พูดสิ่งนี้ออกไปแล้วมีโลโก้ช่อง 3 แปะอยู่ เราพอใจแล้ว เรามาถึงจุดที่พอใจแล้ว ขอบคุณมากๆ ค่ะ’ ตั๊ก-ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ผู้กำกับภาพยนตร์หน่าฮ่าน และหน่าฮ่านเดอะซีรีส์เขียนบนทวิตเตอร์ของเธอ
ในซีรีส์นี้ เธอเล่าเรื่องวิถีชีวิตของวัยรุ่นชาวอีสานทั่วไปที่เรียล และนอกจากจะเป็นซีรีส์ที่เขียนออกมาสนุกสนานแล้วยังมีการสอดแทรกเรื่องราวของการเมือง การศึกษา เพศ และอีกมากมาย เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีเลย ว่าสื่อบันเทิงกระแสหลักพูดอะไรได้บ้าง และที่สำคัญคือพูดยังไง ในมุมไหน และน้ำเสียงใคร ไปทำความรู้จัก ซีรีส์หน่าฮ่าน แนวคิดของเรื่อง และตั๊ก-ฉันทนา ผู้กำกับซีรีส์นี้กัน
หน่าฮ่านเล่าเรื่องอะไรของวัยรุ่นบ้าง
เราว่ามันหลากหลายมากเลย เอาเข้าจริงๆ มันคือความหลากหลายและเจตจำนงเสรีของวัยรุ่น (Free will) ถึงแม้ว่าซีรีส์จะเป็นภาษาอีสาน เล่าผ่านวัฒนธรรมอีสาน แต่เราอยากให้มันเชื่อมโยงถึงความเป็นสากล ยุพินไม่ใช่แค่ตัวแทนของวัยรุ่นอีสานเท่านั้น แต่ว่าเขาอาจเป็นตัวแทนของวัยรุ่นในประเทศหรือของโลกนี้ก็ได้ คือซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้ฉายแค่ในไทย แต่ได้ไปฉายบนแพล็ตฟอร์มญี่ปุ่นด้วย ซึ่งทีวี ธันเดอร์ คงมองเห็นความสากลอะไรบางอย่างที่สามารถถ่ายทอด soft power ได้
ซึ่งคำว่า soft power มันไม่ได้หมายถึงที่เที่ยวและของกินเท่านั้น แต่มันอาจหมายถึงลักษณะการใช้ชีวิต ถิ่นที่อยู่อาศัย บริบทของสถานการณ์ที่ตัวละครในเรื่องเจอ แต่ละที่มีบริบทแตกต่างกัน วัยรุ่นเกาหลีก็แบบนึง บ้านนอกเกาหลีแบบนึง วัยรุ่นไทย บ้านนอกไทยก็แบบนึง อีสานก็แบบนึง วิธีคิดของพวกเขาแตกต่างกันตามบริบทเหล่านั้น เราว่านี่คือ soft power มันไม่ใช่แค่ของกินหรือที่เที่ยวนะเว้ย ไม่ใช่เกาหลีมีกิมจิ ไทยมีส้มตำนะ บริบทของชีวิตที่ประกอบอยู่คือ soft power ที่จะพาให้คนสากลรู้จักเช่นกัน
นิยามสไตล์การทำหนังและซีรีส์ของตัวเองว่ายังไง
เหมือนเป็นคนที่มีการเปลี่ยนผ่านไปเรื่อยๆ มั้ง เป็นคนที่ coming of age ในทุกช่วงอายุ ไม่ใช่เฉพาะตอนวัยรุ่น ตอนนี้ที่เราอายุ 30 แล้วเราก็ยังมีจุดเปลี่ยนที่กำลังเกิดขึ้นของเราเหมือนกัน สไตล์ของเราคงพูดเรื่องนั้น
เรื่องนี้นำเสนอวิถีชีวิตวัยรุ่นอีสานเรียลขนาดไหน
ถ้าโดยเรื่องราว วิธีคิด กิจกรรม มันจะจริงมากๆ ไม่ใช่แค่ใกล้เคียงความจริง ถ้าจะมีอะไรที่ปรุงแต่งน่าจะเป็นที่วิชวลที่นำเสนอ มีการคุมแสงสีเสียงให้มีความเป็นภาพยนตร์ มีการกำกับ ทำให้รู้สึกลื่นไหล แต่เรื่องราว วิถีชีวิต หรือชื่อตัวละครก็มาจากคนที่มีชีวิตอยู่แบบนั้นจริงๆ
การเล่าเรื่องนี้ให้เรียลที่สุดสำคัญแค่ไหน
มันโคตรสำคัญเลยแหละ เพราะเราต้องเคารพชีวิตที่เขามีอย่างนั้นจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องที่ถูกแต่งขึ้นจากมโนของคนทำ แต่ว่าชีวิตเหล่านั้นมันมีอยู่จริงๆ เพราะฉะนั้นเราต้องให้เกียรติคุณค่าที่คนเหล่านั้นเขามีและเป็นอยู่ แล้วที่สำคัญที่สุดคือในฐานะที่เป็นสื่อกระแสหลักด้วย ก็ควรที่จะมอบแง่มุมเหล่านี้ให้แก่คนดูและสังคมที่บางคนอาจไม่เคยรับรู้
ซึ่งตรงนี้โชคดีมากที่เราได้ทำซีรีส์เรื่องนี้แล้วฉายช่อง 3 ซึ่งจากตอนที่ 4 ที่ฉายไปเราน้ำตาคลอเลย เพราะเราไม่เคยได้โอกาสแบบนี้ที่ไหน เราตัวคนเดียว เป็นผู้กำกับอิสระ มันไม่มีโอกาสแบบนี้ ถ้าจะมีก็น้อยมาก ถ้าเราทำเองคงต้องเป็นหนังอินดี้หรือนอกกระแสไป คนดูอาจเฉพาะกลุ่ม หรือต้องมีกำลังซื้อไปดูในโรงเท่านั้น แต่ว่าพอเป็นซีรีส์ที่ฉายในสื่อกระแสหลัก ในช่อง 3 ที่เป็นฟรีทีวี แม้จะมาดึกหน่อยก็ยังดูย้อนหลัง มีไฮไลต์ให้ตาม ดีสุดๆ คือการดูฟรีใน AIS PLAY ที่ดูได้ทุกเครือข่าย
มันแปลว่าหนังสามารถเข้าไปถึงคนได้มากขึ้น ฉะนั้นเวลาที่เราเลือกพูดถึงเรื่องราวเหล่านี้แล้วมันเข้าถึงคนมากขึ้นแปลว่าเรายิ่งต้องจริงใจและบริสุทธิ์ใจในการเล่ามากๆ ไม่งั้นคนดูจับได้หมด อีกอย่างคือมันเป็นเรื่องราวของพวกเขาด้วย ฉะนั้นเราอย่าโกหก จำเป็นมากที่มันจะต้องจริง
เคยกลัวบ้างไหมว่าคนดูจะไม่อินถ้าเล่าเรื่องที่เรียลและเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนที่ไม่ค่อยถูกเล่า
ไม่เคยกลัวเลย อาจจะเป็นความมั่นใจผิดๆ ก็ได้นะคะ (หัวเราะ) แต่ว่าเรามีสิ่งนึงที่เป็นมาแต่เกิดเลยคือเราทำงานชิ้นใดชิ้นนึงเราต้องเชื่อมันก่อนว่าเรื่องที่เราจะเล่ามันมีอยู่จริงๆ ก็คืออย่าเขียนอะไรที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยจับต้อง หรือไม่เคยรู้สึกถึงมันจริงๆ ไม่งั้นมันจะกลายเป็นเรื่องที่มโนขึ้นมาและเชื่อไม่ได้ มันต้องเมกเซนส์ ถ้าเรา เอ๊ะ ขึ้นมาแปลว่ามันไม่ใช่แล้ว ขนาดเรายังเอ๊ะ ยังไงคนที่เอ๊ะคนอื่นๆ ต้องตามมาอยู่แล้ว
เรารู้สึกว่าการรีเสิร์ชที่มากพอ การคุยกับผู้คน การรู้จักคนหลากหลายแบบมากพอ เราจะเข้าถึงตรงนั้นได้ แม้ว่าเขาจะเป็นคนกลุ่มเล็กๆ และเฉพาะตัว แต่ในความเฉพาะตัวนั้นมันมีความสากลอยู่ที่คนอื่นๆ สามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาเจอได้
ตอนที่ทำเรื่องนี้คุยกับใครมาบ้าง
ก็มีเพื่อนสมัยมัธยม เพื่อนสมัยประถม ตอนลงพื้นที่ไปดูโลเคชั่น ก็ไปคุยกับเด็กวัยรุ่นในโลเคชั่นเลย ในหมู่บ้านที่เราไปถ่าย ในโรงเรียนที่เราไปใช้ พูดคุยกันเยอะมาก ไปอยู่นู่น 2-3 เดือน บินไปกลับกรุงเทพฯ-อุบลฯ แล้วก็คุยกับน้องสาว กับลูกพี่ลูกน้องที่ยังอยู่ที่บ้าน เพราะเราก็มาทำงานที่กรุงเทพฯ สักพักนึงแล้ว กลับบ้านแค่ปีละครั้ง ยิ่งช่วงนี้ยิ่งไม่ได้กลับ เพราะฉะนั้นอาศัยการเวลาไปทีนึงก็ขลุกอยู่กับเขาเป็นวันๆ ไปใช้ชีวิตกับเขา เขาไปไหนเราก็ไป เขาเล่นเกมก็นอนดูเขาเล่นเกม เขาคุยโทรศัพท์กับแฟนก็นอนฟังเขาคุย แล้วก็แชร์ๆ กัน คุยอะไร ทำอะไร บางทีมันแทบไม่ใช่รีเสิร์ชแล้ว แต่มันคือการคลุกคลีและเข้าไปทำความรู้จักกับเขาจริงๆ
การทำงานของผู้กำกับจากต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ แตกต่างกันหรือเปล่า
ในมุมการทำงานเราว่ามันแล้วแต่คน ว่าเขาเป็นคนเมืองที่มองปัญหาสังคมที่อยู่นอกเมืองเป็นแบบไหน แล้วเขาคลุกคลีแบบไหน งานที่ออกมาให้เห็นส่วนใหญ่มันมักมีสายตาที่เราเห็นว่าอันนี้มาจากคนเมืองเหมือนกัน เราจะเจอภาพผลิตซ้ำบ่อย เช่น อีสานคือพื้นที่แห้งแล้ง อีสานคือความยากจน อีสานคือความตลกโปกฮาไปเรื่อย คือตัวหลักที่จะมาเมคฟันโดยไม่ให้มิติอื่นๆ มันมีงานแบบนั้นที่เราจะเอ๊ะ ใครเขียนบท ใครกำกับ
คิดว่าภาพเหล่านั้นมาจากอะไร
เราว่ามันมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขา แต่บังเอิญว่ามันเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของเขาเพียงคนเดียว เขาคงเจอแบบนั้นมาจริง แต่เขาเจออยู่แค่นั้นแล้วไม่ได้เคยไปเปิดประตูดูบทบาทอื่นๆ มิติอื่นๆ ของชีวิตและผู้คนที่อยู่นอกเหนือจากเมืองและโลกที่เขาอยู่ การพูดคุยและคลุกคลีสำคัญ สมมติว่าเลือกโลเคชั่นโขงเจียมเป็นโลเคชั่นหลัก ก็ต้องถามว่า เลือกเพราะอะไร? เคยคุยกับชาวบ้านที่นั่นหรือเปล่า? หรือเลือกเพราะแค่มันสวย หรือเลือกเพราะเห็นวิถีชีวิตว่าเขาทำจักสาน โอ้ย สวย เคยเข้าไปคุยหรือเปล่าว่าชาวบ้านซัฟเฟอร์กับอะไร? วัยรุ่นซัฟเฟอร์กับอะไร? บางทีมันมาจากการมอง แต่ไม่เข้าไปรู้จักกับซับเจ็กต์ที่ทำ
รู้สึกว่าโทนหนังดูสดใสมาก ทำไมถึงเลือกเล่าเรื่องนี้ด้วยโทนโดยรวมที่สดใส
บทจะดราม่าเรื่องนี้ก็ดราม่านะ แต่ว่าเรานึกถึงคำนึงว่า ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ เราไม่ควร victimized ตัวเอง พอ victimized แล้วมันจะมีคนถูก-คนผิด ฉันถูกกระทำ เราไม่อยากพูดแบบนั้น มันเลยออกมาในโทนนี้ เราอยากให้ทุกปัญหามีทางออก และมันต้องไปให้ถึงทางออกนั้นให้ได้ เราไม่อยากเล่าให้เป็นแบบ โอ้ย ปัญหามาอีกแล้ว ชีวิตดราม่าจังเลย เป็นทุกข์ เป็นท้อใจ มันมีความรู้สึกแบบนั้นอยู่นะ มันมีได้ แต่วิธีการจัดการเราไม่อยากเล่าให้ตัวเองเป็นเหยื่อขนาดนั้น ทุกคนมีวิธีการแก้ปัญหาของตัวเอง เราเลยรู้สึกว่าการทำสิ่งนี้เหมือนเป็นการให้กำลังใจตัวเอง และคนที่มีชีวิตที่กำลังเผชิญเรื่องแบบนี้อยู่เหมือนกัน
ใช้วิธีไหนบาลานซ์โทนการเล่าเรื่องยังไง
เราว่าโดยรวมมันคือการเคารพเรื่องราวว่าเรากำลังเล่าเรื่องราวแบบไหน สมมติเราพูดถึงเรื่องท้องในวัยเรียน แล้วตัวละครเจอทางแยก ว่าจะเอาเด็กออกหรือจะเก็บเด็กเอาไว้ แล้วสมมติตัวเลือกเขาเป็นเอาเด็กออก มันก็จะมีส่วนของ tragedy เราจะไม่โทนมันเป็น comedy เพราะเรารู้สึกว่ามันจะไม่ให้เกียรติชีวิต
แต่สมมติเขาเดินไปถึงทางแยกแบบนี้แล้วเขาต้องเลือก แล้วในระหว่างที่เขาต้องเลือกเขามีกำลังใจว่ามันเป็น free will ว่าเขาจะเลือกทางไหนมันก็ไม่ผิด เราว่าโทนของมันสามารถให้มันสดใสได้ เพราะมันมีคำว่า free will และความอบอุ่นใจที่ตัวละครเจออะไรบางอย่างอยู่ เพื่อไม่ให้เป็นการตัดสินลงโทษว่าเขาทำผิด
เราเคยได้ยินว่าคุณตั๊กทำหนังด้วยความโกรธ คุณตั๊กแปลความโกรธมาเป็นความสดใสนี้ยังไง
ย้อนกลับไปก่อนหน้าว่าเราไม่ชอบการ victimize ตัวเองเลย เรารู้นะ ว่าเออ กูเป็นเหยื่อจริงๆ นะ แต่เราไม่ชอบแสดงออกแบบนั้นในชีวิตจริง มันก็อาจส่งผลถึงในงานด้วยมั้ง เป็นตัวตนที่เราใส่ไปในงาน คือถ้าบอกว่าทำงานด้วยความโกรธอาจดูสุดโต่งไปหน่อยนึง แต่จริงๆ มันคือการทำงานด้วยอินเนอร์ว่าเรารู้สึกต่อเรื่องนี้อย่างรุนแรงมากมากกว่า
เราว่าเราไม่ชอบคำว่ากดทับ กดขี่ เราเข้าใจว่ามันมีอย่างนั้นจริงๆ ไม่เถียงเลย แต่เราชอบที่จะมองภาพถัดไปมากกว่าว่าเราต้องทำยังไงต่อ? เรานึกถึงความเป็นไปได้ของมันมากกว่าที่จะมาซัฟเฟอร์กับสิ่งที่เจอตรงนั้น เรามองถึงทางแก้คืออะไร ทางออกคืออะไร วิธีแก้มีอะไรได้บ้าง เราเลยรู้สึกกับภาพถัดไปมากกว่าภาพที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งสนุกตรงนี้อาจหมายถึงเรากำลังร้องไห้อยู่ก็ได้นะ แต่มันคือความซาบซึ้ง โมเมนต์นั้นซาบซึ้งหรือโศกเศร้ามาก เหมือนเราเข้าถึงสิ่งนั้นจนร้องไห้ออกมาก็เป็นความสนุกได้
ตอนที่ทำหน่าฮ่านเดอะซีรีส์โกรธเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า
ถ้าใช้คำว่าโกรธก็คงก้าวร้าวไป เรียกว่าเป็นเรื่อง ‘ไม่เข้าใจ’ และ ‘เข้าใจไม่ได้’ แล้วกัน อย่างเช่น ทำไมชีวิตเด็กวัยรุ่นในประเทศนี้มันถึงไม่มี free will ขนาดนั้นวะ? ทำไมเวลาเราดูหนังต่างประเทศเขาจะพูดเรื่องอะไรก็ได้วะ? พอเราหันมาดูที่ประเทศเรา เราคิดแต่ว่าเราจะเล่าเรื่องที่หนักหน่วงยังไงไม่ให้ถูกเซนเซอร์? เราว่าประมาณนี้
แล้วพอมีคนมาตอบคำถามว่า ทำไมถึงไม่มี มันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ แบบ เหรอ? แล้วทำไมที่อื่นเขาถึงมีได้? อาจจะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องมีลูก เรื่องท้องในวัยเรียน เรื่องพกถุงยางอนามัย การทำสีผม ผมยาวผิดระเบียบ ซึ่งมันเป็นเรื่องคอมมอนเซนส์มากๆ เรื่องสิทธิบนเรือนร่างตัวเอง พอฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามมาตอบคำถามพวกนี้เขาก็ไม่สามารถอธิบายให้เราเข้าใจได้ คือพูดยังไงมันก็เข้าใจไม่ได้ว่าทำไมมันต้องเป็นอย่างนั้น
มีตัวละครโปรดหรือเปล่า
อยากตอบว่าชอบทุกตัวเลย เราชอบทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา แม้ว่าในขณะนั้นเราอาจไม่ชอบเขา แต่พอเวลาผ่านไปเราต้องขอบคุณเขาที่ผ่านเข้ามา เพราะเขาสามารถกลับมาบอกอะไรเราเสมอในฐานะวัตถุดิบในการเล่าเรื่อง พอเราสร้างซีรีส์เรื่องนี้ออกมาเราเลยชอบทุกตัวเลย ไม่ว่าจะเล็กจะน้อยที่โผล่มาเป็นตัวประกอบเรายังชอบและให้ความสำคัญ เพราะว่าเขาคือคนที่ผ่านเข้ามาเป็นประสบการณ์ให้ตัวละครเอก และเราทุกคนเป็นตัวเอกในชีวิตตัวเองเสมอ
แต่ถ้าจะถามว่าตัวละครไหนยากที่สุดในการเขียน เราไม่รู้ว่าพี่อ้วนคนเขียนบทจะตอบว่าใคร แต่เราจะตอบว่า ‘ยุพิน’ เพราะหนึ่ง เขาเป็นตัวเอกของเรื่อง และสองคือเรื่องที่เขาจะพูดต่อไปนี้มันจะอยู่บนสื่อกระแสหลัก คนจะดูเขาเป็นล้าน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเขาจะถ่ายวิธีคิดและแนวคิดของตัวละคร แล้วมันก็เป็นการถ่ายทอดแนวคิดของผู้สร้างและคนทำด้วยเหมือนกัน
ในขณะเดียวกันมันสามารถนำสังคมได้เหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดในแต่ละประโยคเราคิดนานมากและมันจะยาก สมมติว่าตัวละครต้องเข้าใจมากๆ ว่าสิ่งที่เขาจะพูดนี่หมายความว่าอะไร เวลาเขียนเราต้องลิสต์บทพูดมาเลย ว่าเรื่องที่เราพูดพูดแบบไหนได้บ้าง และมันจะถูกตีความแบบไหนได้บ้าง ยุพินเลยเป็นตัวที่ถูก improvise น้อยที่สุดในเรื่อง และเขาจะต้องเล่นตามตัวหนังสือในบทมากที่สุดในเรื่อง กุ๊งกิ๊งที่เล่นเป็นยุพินแทบไม่ได้มีโอกาสด้นสดเลย แต่เขาก็จะดึงธรรมชาติของเขาออกมาให้มันเหมือน improvise เช่นพวกท่าทาง รีแอคชั่น
เราพูดกับเขาว่า เธอจะพูดยังไงก็ได้ แต่ความหมายห้ามต่างจากนี้ เขาก็บอกเราว่า ‘ไม่ค่ะ หนูจะให้เกียรติตัวหนังสือของพี่’ มันเป็นซีรีส์เรื่องแรกของน้องเลย แล้วเวลาที่เขามันถ่ายตั้งแต่เช้าถึง 4 ทุ่ม แล้วมีเขาเกือบทุกซีน เป็นโซโล่เดี่ยวคอนเสิร์ต เรียกว่ามหัศจรรย์มาก ต้องขอบคุณเขามากๆ
สำคัญขนาดไหนที่เราต้องเล่าเรื่องการเมืองและสังคมในงานศิลปะ
เราเป็นคนที่มาจากตรงนั้นจริงๆ ในชีวิตจริง เราเป็นคนที่เจอปัญหาแบบนั้นจริงๆ ทุกวันนี้ก็ยังเจอ เราทำเป็นไม่สนใจและลืมมันไปไม่ได้ เหนือไปกว่านั้นคือเราเป็นสื่อ เราเมินเฉยปัญหาแบบนั้นไม่ได้เด็ดขาด ถ้าทำสื่อแล้วเมินเฉยปัญหาแบบนั้นแปลว่าเราไม่ได้สนใจประชาชนที่กำลังสนับสนุนเราอยู่
กลายเป็นว่าเราเองที่มีสองบทบาทนั้นในตัวกลายเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เราต้องผลักสิ่งนั้นออกไป เปิดประตูบานนั้นให้คนได้เห็นว่าอย่าลืมนะ อย่าลืมเรื่องราวของคนเหล่านี้ มันอาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เขาอยู่ตรงนี้และมีชีวิตอยู่ตรงนี้จริงๆ
ติดตามและรับชม หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์ ได้ที่ AIS PLAY และช่อง 3HD ทุกวันจันทร์เวลา 23:00 น.