หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์และของชีวิตผู้เขียน
ฉันเคยเป็นเด็กใจแตก เสียตัวให้ผู้ชายและย้ายตามเขาไปเรียนต่อม.ปลายที่กรุงเทพฯ รักครั้งแรกมันมีพลังถึงขนาดนั้น ส่งผลให้ฉันเขียนและเรียนจนได้ดิบได้ดีมาตราบกระทั่งทุกวันนี้
ส่วน ยุพิน ตัวเอกของเรื่อง ‘หน่าฮ่าน’ ไม่ใช่เด็กใจแตก ไม่ได้ย้ายตามผู้ชายไปไหน ทุกวันนี้เป็นนักศึกษาม.ราชภัฏอุดรธานี ขายครีมทาผิวทางเฟซบุ๊ก และเสิร์ฟพิซซ่าในร้านที่ยูดีทาวน์ แถวสถานีรถไฟอุดรธานี
ยุพินมีชายคนรักสองคนในชีวิต ทั้งสองพยายามมาขอคืนดีกับเธอถึงที่ทำงาน คนหนึ่งถามเธอว่าจะย่ำอยู่กับที่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ จริงเหรอ ส่วนอีกคนหนึ่งก็บอกเธอว่า แม้ตอนนี้เขาจะเป็นดารานักร้องโด่งดัง เขาก็ไม่เคยลืมว่าตัวเองมาจากจุดใด
ย้อนกลับไปตอนม.ปลาย ไม่เห็นมีใครคิดเป็นห่วงว่าฉันจะไม่มีอนาคตเพราะฉันย้ายตามผู้ชายไปเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ถนนพญาไท น้อยคนมากที่ถามถึงรอยแผลขีดข่วนบนคอตอนชีวิตฉันพัง เพราะเด็กใจแตกอย่างฉันยังเป็นเด็กเรียนและทำคะแนนสอบได้ดี
ย้อนกลับไปตอนม.ปลาย สวรรค์ ชายคนรักคนหนึ่งของยุพิน กลัวจะสูญเสียเธอไปให้ สิงโต รักแรกที่เพิ่งมาเซเรเนดเล่นลูกคอง้อเธอถึงที่พัก เขาผลุนผลันทิ้งวงดนตรีประจำโรงเรียนที่กำลังซ้อมใหญ่เพื่อเตรียมประกวด บึ่งรถไปหายุพิน ซึ่งมีหางเครื่องของวงคนหนึ่งตามไปด้วย ในฉากการเผชิญหน้า หางเครื่องตัดพ้อ สวรรค์ ด้วยเสียงหนักแน่นน้ำตาคลอหน่วยว่าเขาจะทิ้งอนาคตของเพื่อนสมาชิกในวงไปไม่ได้ แต่สวรรค์โพล่งออกมาว่า
“อนาคตใผกะเฮ็ดเอา แต่อนาคตเฮาอยู่ที่ยุพิน”
เกือบตลอดเรื่อง สวรรค์ คอยเฝ้าคลอเคลียเกลี้ยกล่อมยุพินให้ตั้งใจเรียน จะได้คบกันไปเรื่อยๆ จนเข้ามหาวิทยาลัยด้วยกัน แต่ยุพินไม่ได้เป็นเด็กเรียน แต่ชอบเต้นหน้าเวทีหมอลำจนเช้ามากกว่า
ยุพินจะเลือกใครระหว่างสวรรค์กับสิงโต? วัยรุ่นขาเลาะอย่างพวกเราจะเลือกอะไรระหว่างชีวิตที่ ‘มีอนาคต’ กับ ‘ไม่มีอนาคต’ ?
สก๊อย กวีนิพนธ์รางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ดประจำปีพ.ศ. 2558 เขียนโดย สมหญิง มีวรรคหนึ่งจำลองความคิดเกี่ยวกับอนาคตในใจสาวสก๊อยไว้ว่า
นานมาแล้ว
ฉันเคยหลับตาภาวนาขอให้ได้เป็นอะไรสักอย่าง
คุณหมอใจดี เภสัชกรสาวแสนสวย คุณครูที่มีจรรยาบรรณ
นักร้องสาวเสียงดี นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพ
นักเขียนผู้มีชื่อเสียง ฯลฯ
แต่นานมากแล้ว
ฉันเลิกอธิษฐานขอพรจากก้อนหินที่ร่วงตกลงต่ำ
ฉันรู้…
ฉันไม่ต่างจากดาวดวงนั้น
เรากำลังเผาผลาญชีวิตตัวเอง
อ่านบทกวีตอนที่ตัดมานี้แล้วฉันสงสัยว่า ทำไมการวาดหวังอนาคตที่จะเป็นอะไรซักอย่างที่สังคมนับถือ จะต้องถูกนำไปเปรียบต่างกับการ ‘เผาผลาญ’ ตัวเองในปัจจุบันเพื่อให้ได้มาซึ่งแสงสว่างด้วย คนที่ใช้ชีวิตอย่างตื่นรู้และเบิกบานอยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้แปลว่าเขาปฏิเสธหรือไม่มีความคิดเรื่องอนาคตนี่นา
และเมื่อมาอ่านคำประกาศของคณะกรรมการตัดสินรางวัล (ซึ่งมีประธานชื่อเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สนช. ที่เพิ่งสืบทอดอำนาจตัวเองเป็นสมาชิกวุฒิสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา) ซึ่งชื่นชมกวีนิพนธ์บทนี้ไว้ว่า
“แน่นอนที่สุดว่าปัญหาเรื่องเด็กซิ่ง เด็กแว้น และสก๊อยเป็นปัญหาที่โดดเด่นพอสมควร … อาจนับได้ว่าเป็นปัญหาปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มบุคคลด้วยซ้ำไป … สมหญิงทำให้เราเข้าใจภาวะของความเป็นมนุษย์ของคนกลุ่มหนึ่งอย่างถ่องแท้ เป็นมุมมองใหม่ของการมองปัญหาสังคมผ่านอารมณ์และความรู้สึกของผู้ถูกกล่าวหา ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ตราบใดที่สังคมยังมองปัญหาจากมุมความเดือดร้อนของสังคม เขาจะไม่มีวันได้เห็นความจริงอันจริงแท้เลย และถ้าเขายังไม่เห็นอยู่อีกต่อไปเรื่อยๆ ปัญหาที่เกิดจากการถูกเซาะใจมนุษย์เช่นนี้ก็จะเกิดต่อไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”
นอกจากความรู้สึกตงิดๆ ว่านี่น่ะเหรอความจริงอันจริงแท้ของสก๊อยเกิร์ลบนอานมอเตอร์ไซค์ ก็เกิดความสงสัยยิ่งขึ้นไปอีกว่า ในสายตาคณะกรรมการนั้น ตกลง ‘สก๊อย’ โดยเนื้อในที่สุดแล้วเป็นมนุษย์หรือเป็นตัวปัญหากันแน่?
ก็ไม่เห็นว่าในบทกวีสก๊อยจะมองว่าตัวเองเป็นปัญหาอะไรขนาดนั้น ทำไมการ ‘เข้าใจ’ ความเป็นมนุษย์ของสก๊อย จึงต้องจั่วหัวและพ่วงท้ายว่าเป็นเรื่องปัญหาของปัจเจกหรือของคนกลุ่มหนึ่งด้วย? ทำไมไม่ตีกรอบไปอีกแบบบ้างล่ะว่าสก๊อยไม่ใช่ปัญหาหรอก ‘สังคม’ นั่นแหละตัวดีที่โยนบาปไปให้คนกลุ่มหนึ่งจนไม่เห็นคนเป็นคน?
ยุพินไม่ใช่สก๊อย แต่พฤติกรรมเที่ยวเตร่ ไม่ตั้งใจเรียน และดูเหมือนใจง่ายกับผู้ชายหลายคน ก็อาจถูกสังคมตั้งแง่เป็นตัวปัญหาได้คล้ายๆ กัน
ฉากเปิด หน่าฮ่าน ผู้ชมได้พบกับเด็กสาววัยรุ่นสวมกางเกงขาสั้นนั่งถ่างขาคร่อมมอเตอร์ไซค์ กำลังแต่งหน้ากับกระจกมองหลัง ไม่นาน ‘อียุพิน’ ก็ไปรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่คุยกันเฮฮา เรียกล้อเธออย่างสนิทสนม แล้วพวกเขาก็พากันตรงไปสู่แสงสีหน้าเวทีหมอลำ อีกช็อตในฉากเปิดเป็นแสงกลางวัน มีภาพสโลว์โมชั่นของเด็กหญิงตัวน้อยหมุนตัวหน้าเวทีที่ไหนซักแห่งกับเพื่อนๆ ที่เป็นเด็กน้อยด้วยกัน จนปลายชุดกระโปรงนั้นบานออกเห็นกางเกงใน
ดูมาถึงตรงนี้ผู้ชมก็พอจะเดาได้ว่าเธอคนนี้น่าจะชอบเต้นมาตั้งแต่เด็กๆ และก็น่าจะเข้าใจได้ว่าการเต้น มันเป็นเรื่องความสุขของวัยเยาว์ ไม่ใช่อะไรที่เป็นปากทางสู่ความเสื่อม ไม่ใช่สิ่งที่บอกใบ้ไปถึงปัญหาใต้ถุนหรือใต้สะดือหรือที่อโคจรของสังคม
คงเป็นมนต์วิเศษของภาพยนตร์ดีๆ ที่สามารถทำให้เรารู้สึกเอาใจช่วยตัวละครราวกับว่าเขาไม่ได้เป็นเพียงตัวละครหรือตัวแทนคนกลุ่มใด ฉันรู้สึกจริงๆ ว่าแต่ละคนใน หน่าฮ่าน มีชีวิตอยู่จริงนอกจอ ไม่เฉพาะยุพิน สวรรค์ หรือสิงโต แต่ยังรวมไปถึง เติ้ลไม้ ที่ใจกล้าและแอ๊บแมนจนได้ผู้แบบงงๆ แข่วเซี่ยม ที่พูดเรื่องลามกเป็นนิจศีลและรักเพื่อนกว่าใคร หอยกี้ สาวตั้งท้องไม่มีพ่อและยังถ่อไปเต้นหน้าฮ่าน เป๊กกี้ เพื่อนผู้เป็นห่วงเป็นใยลูกในท้องเพื่อนยิ่งกว่าตัวเอง ฯลฯ ชีวิตเหล่านี้ดำเนินไปอย่างเป็นเจ้าของชีวิตของตัวเอง ไม่ต่างอะไรจากตัวฉัน ไม่ต้องมากะเกณฑ์ว่าสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับเราเป็นเช่นไร
ไม่ต้องมาสรุปให้ฟังว่าเราจะหลุดพ้นจากสภาพที่อาจเป็นปัญหาได้ทางไหน
เพราะชีวิตมันมีจังหวะการคลี่คลายปัญหาของมันเอง
เมื่อปีที่แล้ว จินตหรา พูนลาภ เจ้าของเพลง ‘เต่างอย’ ให้สัมภาษณ์ในรายการ NineEntertain ถึงประสบการณ์การไปแสดงในผับเป็นครั้งแรกของชีวิต เธอพูดถึงวัฒนธรรมการเต้นที่แปลกใหม่ของวัยรุ่นว่า
เวลาน้องๆ ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่เขาเต้น เขาเหาะเหินเดินอากาศได้ กระโดดลงมาจากบนฟ้า แล้วเป็นท่าที่แบบคิดแปลกพิสดาร เอาพูดตรงๆ นะ ซึ่งเราไม่เคยเห็น … มันเป็นการที่ฉีกแนวการเต้น
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพี่จินมีการจำท่าเต้น(เพลงเต่างอยของเด็กรุ่นใหม่)มาเต้นบ้างไหมคะ
“ก็มีนิดนึง คือ (ทำท่าเต่างอยฉบับวัยรุ่นพร้อมหัวเราะ) ภาษาอีสานขอโทษเด้อค่ะ บ่ได้ลามก… กะคือ มันเป็นการเด้งอ่ะค่ะ เข้าใจการเด้งมั้ยคะ”
คำที่อยู่ในหัวจินตหราที่กว่าจะพูดออกมาให้ผู้สื่อข่าวฟังได้ก็ต้องออกปากขอโทษ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้พูดออกมาอยู่ดี น่าจะเป็นคำว่า ‘เด้า’
ในจักรวาลของ หน่าฮ่าน การ ‘เด้าลม’ ไม่ใช่สิ่งที่ใครต้องค้อมหัวขอโทษขอโพย มันไม่ใช่เรื่องไม่เหมาะสม หากแต่เป็นสิ่งน่ารักน่าเอ็นดูธรรมดาๆ แม้ในพื้นที่ของสถาบันการศึกษาภาคบังคับ เพราะ สวรรค์ เด็กเรียนแสนเรียบร้อย ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญการเด้าลมประกอบการเป่าแคนเป็นจุดเด่นของวงโปงลางประจำโรงเรียนอีกด้วย
ถึงกระนั้น การที่โรงเรียนเปิดรับการเด้าลมก็ไม่ได้แปลว่าเวทีหมอลำที่โรงเรียนกับเวทีหมอลำนอกโรงเรียนจะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน เส้นแบ่งของความเหมาะสมก็ยังมีอยู่ นฉากที่สวรรค์ไปขอร้องยุพินไม่ให้ไปเต้นหน่าฮ่านอีก เขาก็นุ่งชุดม่อฮ่อมของวงอยู่นั่นเอง
ดังนั้น ตอนที่สวรรค์ระเบิดออกไปว่าอนาคตของใครก็ทำเอา แต่อนาคตของเขาอยู่ที่ยุพิน ฉันจึงรู้สึกว่าคำพูดนั้นกินความหมายกว้างไกลกว่าเพียงความหุนหันพลันแล่นหรือขาดความรับผิดชอบของวัยรุ่น การปฏิเสธที่จะแบกอนาคตของเพื่อนร่วมวงโปงลางประจำโรงเรียน ย่อมหมายถึงการปฏิเสธที่จะแบกชื่อเสียงและการเป็นหน้าเป็นตาให้โรงเรียนด้วย และมันยังอาจต่อยอดไปถึงการปฏิเสธความคาดหวังทั้งหลายทั้งปวงที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวเครือญาติและสังคมปลูกฝังใส่หัวเขามาตลอดว่าจะต้องโตไปเป็นเจ้าคนนายคน ต้องฝากความหวังไว้กับการสอบข้าราชการในสภาพเศรษฐกิจถดถอยและสวัสดิการหดหายเช่นทุกวันนี้
แทนการนับหน้าถือตาและการเป็นที่พึ่งพาให้แก่ผู้อื่นตามครรลองของสังคม สวรรค์ดูต้องการจะฝากอนาคตไว้กับคนเพียงคนเดียวมากกว่า รักครั้งแรกมันมีพลังถึงขนาดนั้น แต่ถ้าอนาคตของคนคนนั้นไม่ใช่สวรรค์ล่ะ สวรรค์จะอยู่ยังไง?
ตอนฉันอยู่ม.ปลาย ฉันฝากอนาคตของชีวิตไว้กับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งพอมันพังทลาย ฉันก็ไปไม่เป็น จนกระทั่งมีรักใหม่ อนาคตใหม่ จนกระทั่งฉันได้เรียนรู้สิ่งสำคัญกว่านั้น
แต่ยุพินเก่งกว่าฉัน เพราะอนาคตของเธอไม่ได้อยู่กับสวรรค์ อนาคตของเธอไม่ได้อยู่กับสิงโต — อนาคตของเธออยู่กับยุพินตลอดมา มันสำคัญตรงไหนเล่าว่าเธอจะลงเอยกับผู้ชายคนไหน?
ที่หน้าเวทีหมอลำ สายตากล้องแช่อยู่อย่างละลาบละล้วงที่บริเวณหน้าอกเสื้อสายเดี่ยวของยุพิน สวรรค์ถอดเสื้อแขนยาวลายสก๊อตให้ยุพินใส่ อ้างว่าไม่อยากให้เธอต้องหนาว แต่มันเป็นเพราะเขาเป็นห่วงกลัวเธอหนาว หรือเพราะไม่อยากให้ใครได้จับจ้องไปที่แขนไหล่เปลือย และร่องอกที่เห็นได้เล็กน้อยนั้นมากกว่ากัน?
ยุพินไม่ชอบให้ใครมาเกาะแกะแสดงความห่วงที่มักมาคู่กับความหวงที่มักมาคู่กับความห้าม แต่เธอก็ไม่ได้ต่อต้านดึงดันยามที่มีใครพยายามมาแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ อย่างเก่งก็บอกไปแบบสวยๆ ว่า “เป็นหยังคือคิดว่าเฮาต้องมีแฟนอยู่ตลอด”
ยุพินยอมรับตัวเองที่เป็นนักเด้าลมหน่าฮ่านหมอลำซิ่ง เธอยอมรับตัวเองอย่างง่ายๆ เธอยอมรับตัวเองอย่างมากพอที่จะนำมันไปแสดงเป็น ‘ความสามารถพิเศษ’ ให้แก่คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครเข้าระบบโควต้าของมหาวิทยาลัย
หนังไม่บอกชัดเจนว่าคณะกรรมการได้ตกลงรับยุพินเข้ามหาวิทยาลัยจากการแสดงความสามารถนั้นหรือไม่ แต่มันสำคัญตรงไหนเล่าว่าผู้ทรงคุณวุฒิเขายอมรับหรือไม่ยอมรับ?
ก็อนาคตแบบไหนกันล่ะที่การศึกษาในระบบปูทางให้แก่วัยรุ่นภูธรอย่างยุพิน ‘หน่าฮ่าน’ บอกใบ้ว่าอนาคตของการตั้งใจเรียนนั้นออกจะไร้สาระยิ่งกว่าการเจาะหู ในฉากหนึ่งขณะที่เพื่อนๆ ซ้อมเต้นเพลง ‘ไหง่ง่อง’ ของตั๊กแตน ชลลดา อยู่บนพื้นปูนหน้าห้องเรียน สวรรค์ก็พยายามรบเร้าให้ยุพินอ่านหนังสือวิชาภาษาไทยกับเขา สวรรค์ก้มหน้าลงท่องกลอนภาษาไทยมาตรฐานชัดแจ๋ว “อันชิงนางอย่างนี้ไม่ผิดธรรม์ ธรรมเนียมนั้นมีแต่บุราณมา” ยุพินตอบด้วยการเปิดหูข้างซ้ายให้เขาดู บอกว่าเพิ่งเจาะหูมา เป็นไงตุ้มหูสวยไหม เขาตอบว่ายุพินใส่อะไรก็สวยทั้งนั้น เธอชวนเขาเจาะหูบ้าง สวรรค์ปฏิเสธ บอกกลัวเจ็บ
ข้ามไปตอนจบของภาพยนตร์ เราพบกับสวรรค์อีกครั้งในวัยมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าหูสองข้างของเขาเจาะมาเรียบร้อย เมื่อยุพินที่กลายเป็นอดีตแฟนไปแล้วทักถาม ก็ได้ทราบว่าเขาเจาะเพราะอยากจะจดจารความเจ็บปวดของความคิดถึงยุพินไว้ (ป๊าด)
เป็นไงล่ะ เห็นมั้ยว่าการเจาะหูมีความหมายมากกว่าเป็นไหนๆ เมื่อเทียบกับการท่องกลอนไปตามประสาเด็กเรียนโดยไม่ได้คิดเลยว่าจริงๆ การชิงนางมันอาจจะผิดมากๆ ก็ได้