ญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งประเทศในเอเชีย เป็นประเทศที่ทุกวันนี้แม้ว่าจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจ เป็นประเทศล้ำสมัยที่ยืนอยู่แถวหน้าของสงครามการค้าและโลกเทคโนโลยี แต่จริงๆ การเข้าสู่โลกสมัยใหม่ของญี่ปุ่นก็ไม่ได้ราบรื่น ญี่ปุ่นถูกบีบบังคับให้ปรับประเทศ สังคมญี่ปุ่นร่วมสมัยเองก็มีปัญหาแบบสังคมร่วมสมัย ความเหงา การทำงานหนัก การสูญเสียทอดทิ้งคุณค่าบางอย่างไป รวมถึงวิถีชีวิตและโครงสร้างความสัมพันธ์ครอบครัวที่ต่างไปจากเดิม
ญี่ปุ่นก็เลยคล้ายๆ ไทย ที่บางครั้งเราก็มีอาการ—มีท่าทีกับความเป็นสมัยใหม่—ความเป็นตะวันตกในฐานะสภาวะที่มาจากโลกภายนอก บ้านเราเองก็มีท่าทีเช่นบางยุคเราพูดถึงความพยายามรักษาอัตลักษณ์ไทย พยายามรับความเป็นตะวันตกแค่เพียงวัตถุ และเน้นย้ำความเหนือกว่าทางจิตวิญญาณ ญี่ปุ่นเองที่เข้าสู่ภาวะสมัยใหม่ และเข้าสู่ยุคหลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม หลังวิกฤติการที่เพิร์ล ฮาเบอร์ สังคมปัญญาชนญี่ปุ่นเกิดภาวะที่อยากจะเอาชนะความเป็นสมัยใหม่ (overcoming modernity (kindai no chokoku)) ดังนั้น ในระดับวัฒนธรรมและความคิด ญี่ปุ่นจึงอาจมีอาการทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งหวนไห้หาอดีต และพยายามรับมือ จัดการกับโลกสมัยใหม่ที่ตัวเองกำลังเผชิญ
อาการความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อภาวะวิถีสมัยใหม่ อาจเป็นเรื่องที่อยู่ในระดับจิตไร้สำนึก (unconscious) ของผู้คน แต่ความรู้สึก ความวิตกกังวล หรืความปรารถนานั้น ก็อาจยังคงปรากฏขึ้นในตัวบทบันเทิงคดีต่างๆ เช่นในเรื่องแต่งของญี่ปุ่นรวมถึงอนิเมะและมังงะ ที่เลือกกลับไปพูดถึงเรื่องราวในยุคโบราณ พาเรากลับไปฝันถึงโลกอดีต ดินแดนที่ค่านิยมสำคัญบางอย่าง เช่น ความมีเกียรติ ศักดิ์ศรี หรือวิถีชีวิตดั้งเดิมยังไม่ถูกขุดรากถอนโคนโดยวิถีสมัยใหม่และค่านิยมของโลกทุนนิยม ทั้งนี้คำว่าภาวะสมัยใหม่เป็นคำที่ค่อนข้างซับซ้อน หมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงกายภาพ และการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอันเกิดจาการเปิดรับความคิดทางวิทยาศาสตร์ การใช้เหตุผล แนวคิดเรื่องเสรีภาพ การเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตอันเกิดจากการก่อตัวขึ้นของเมืองและระบบทุนนิยม
ยาวหน่อย กว่าจะมาถึงเรื่อง ดังนั้น ถ้าเราดูองค์ประกอบหลายๆ อย่างของ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ ซีรีส์อนิเมะที่ออกรสไปกับการแบกน้องสาว ฝึกปรือวิชาดาบและลมปราณ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นกลับไปสู่โลกอดีต วิถีของนักรบ ความสัมพันธ์ของนักดาบและดาบ และที่น่าสนใจคือ ฉากของดาบพิฆาตอสูรเลือกยุคไทโช อันเป็นยุคหลังสมัยปฏิรูปเมจิ เป็นช่วงรอยต่อระหว่างโลกยุคเก่าและโลกยุคใหม่ รายละเอียดเล็กๆ ในเรื่องเราจะพอเห็นปะทะกันหรือการเข้ามาของโลกตะวันตก ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทั่งตัวอสูรเองก็ดูจะถูกวาดให้เชื่อมโยงกับความเป็นตะวันตก และเมื่อเราดูลักษณะของอสูร ก็ดูจะเกี่ยวข้องกับซอมบี้ เกี่ยวข้องกับการกิน—การบริโภคอย่างไม่รู้จักพอ หรือการกินเพื่อเติบโต อันเป็นอุปลักษณ์ (metaphor) สำคัญของระบบทุนนิยม
อนึ่งบทความนี้อ้างอิงเรื่องราวจากฉบับอนิเมชั่น จบเนื้อหาที่ซีซัน 1 ที่รถไฟอนันต์
ยุคไทโช—ภาวะในระหว่าง และการสร้างคู่ตรงข้ามทางความหมาย
ตอนเริ่มเรื่อง ฉากสำคัญของดาบพิฆาตอสูร ยุคสมัยที่ทันจิโร่ใช้ชีวิต ดูจะมีฉากเป็นญี่ปุ่นสมัยโบราณ ใช้ชีวิตอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ ใช้แรงงาน ทำเกษตรกรรม อยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ จุดเล็กๆ ที่น่าสะดุดใจคือ เมื่อไปกลางๆ เรื่อง เราจะเริ่มเห็นภาพของทันจิโร่ที่เดินทางเข้าสู่เมืองใหญ่ และเผชิญหน้ากับกรุงโตเกียวที่เริ่มมีความเป็นเมืองและมีความทันสมัย มีความคับคั่ง เริ่มเจอกับวัฒนธรรมแบบตะวันตก และแน่นอนว่า การส่งท้ายซีซัน หรือการมีรถไฟ อันเป็นสุดยอดสัญลักษณ์ของโลกสมัยใหม่เป็นจุดเชื่อมต่อช่วงกลางเรื่อง แปลว่าความเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในพลวัตหนึ่งของการเติบโตเรียนรู้ หรือกระทั่งเป็นแกนกลางความขัดแย้งของเรื่อง
ถ้าเราดูกลุ่มนักล่าอสูร สังคมนักล่าอสูรว่าด้วยจริยธรรม ชุดคุณค่าและวิถีปฏิบัตินั้นเป็นแบบจารีตอย่างชัดเจน เป็นกลุ่มคนที่เราคุ้นเคยตามครรลองแบบบุชิโด ไม่ว่ากลุ่มเสาหลักจะก้าวหน้า ร่ำรวย เข้มแข็งแค่ไหน แต่แกนกลางและหัวใจของนักล่าอสูรก็ดูจะตั้งอยู่บนวิถีแบบดั้งเดิม พวกเขาอยู่ในบ้านแบบดั้งเดิม ใช้ศาสตร์เก่าแก่ ไม่ว่าจะทางการแพทย์ วิชาการต่อสู่ หรือการรวมตัวกันที่เต็มไปด้วยขนบธรรมเนียมแบบญี่ปุ่นโบราณ
แต่ในทางกลับกัน ตัวร้ายสำคัญ คิบุทสึจิ มุซัน กลับมีความเชื่อมโยงกับเป็นความตะวันตกอย่างชัดเจน มุซันปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกกลางเมืองที่สับสนวุ่นวาย มักจะปรากฏตัวในชุดสูท มีหน้าตาและทรงผมที่คล้ายไมเคิลแจคสัน และถ้าเราดูการเกิดขึ้นของอสูรนั้น ก็ดูจะเชื่อมโยงกับวิถีสมัยใหม่ หรือการโหยหาชุดคุณค่าที่สาบสูญไปแล้วในโลกปัจจุบัน
ปมสำคัญของอสูรที่เข้ามาทำลาย จนทำให้เด็กๆ ผู้กลายเป็นนักล่าอสูรนั้น ถ้าเราตีความไกลหน่อย เราก็อาจเห็นว่าอสูรส่วนใหญ่ เข้าทำลายครอบครัวที่มักเป็นครอบครัวขยาย หรือชุดความสัมพันธ์บางรูปแบบที่มีความเป็นชุมชน เช่นความสัมพันธ์ทางสายเลือด ความสัมพันธ์ในสำนัก หรือความสัมพันธ์ในอาราม กระทั่งครอบครัวของทันจิโร่เองก็เป็นครอบครัวขยายที่มีการทำมาหากินแบบดั้งเดิมก่อนจะถูกฆ่ายกครัว นำมาสู่การใช้ชีวิตอย่างเดียวดายของคนรุ่นใหม่ เหลือแค่พี่กับน้อง ซึ่งก็ดูสอดคล้องกับความเดียวดายร่วมสมัยที่ทุกคนสัมผัสได้
อสูร—ซอมบี้กับอุปมาของการกิน
ถ้าเรามองว่ามุซันคือบิดาของอสูรทั้งปวง และความลับทั้งหลายที่ยังคลุมเครือนั้น เราก็พอจะตีความได้ว่า มุซัน ที่ดูเวรี่ตะวันตก เวรี่ร่วมสมัยที่สร้างอสูรต่างๆ ขึ้นนั้น เจ้าอสูรพวกนั้นก็อาจตีความเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งที่มากับค่านิยมตะวันตกและการเข้ามาของทุนนิยมด้วยได้
แน่ล่ะว่าความบ้าคลั่งของอสูรก็ดูจะธรรมดา แต่ สิ่งสำคัญของอสูรคือ ‘ความหิวกระหายที่ไม่มีที่สิ้นสุด’ ที่โอเค อาจจะเป็นการกลับเป็นสัตว์ป่า แต่จริงๆ อสูร พวกอสูรเลเวลต่ำๆ นั้นก็ดูจะมีลักษณะคล้ายกับซอมบี้ ซึ่งซอมบี้นี้ก็มีการตีความเชื่อมโยงเข้ากับค่านิยมของทุนนิยม คือการบริโภค การกัดกิน ที่ในที่สุดแล้ว เราจำเป็นต้องกัดกินกระทั่งครอบครัวของเราเอง
นอกจากอสูรเลเวลต่ำๆ แล้ว พวกอสูรเลเวลสูงๆ ก็มีการกิน เป็นหัวใจของการเติบโต ซึ่งถ้าเราไม่ลืมว่าโลกทุนนิยมเราก็มีการกินเป็นอาการและอุปมาสำคัญของโลกธุรกิจและการเติบโต เรามีความคิดเรื่องปลาใหญ่กินปลาเล็ก และในที่สุดนั้นการไล่กินคนอื่นเพื่อการเติบโตก็ทำให้อสูรนั้นแข็งแกร่งขึ้นไม่ต่างอะไรกับจินตภาพที่เรากับมีโลกทุนนิยมใบนี้ โลกที่โหยหาการปีนป่าย กัดกัน ต่อสู้กับคนอื่นเพื่อเป็นผู้ที่แข็งแรง และขึ้นยืนอยู่ยอดสุดของห่วงโซ่อาหาร
จริงๆ ดาบพิฆาตอสูรมีการวางโครงเรื่อง วางระบบสัญลักษณ์และความหมายที่ค่อนข้างซับซ้อน นอกจากการสร้างคู่ตรงข้ามแล้ว การเลือกฉากของเรื่องในยุคที่เป็นยุคสมัย ‘ในระหว่าง’ ระหว่างโลกเก่าและโลกสมัยใหม่ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกลับเข้าสู่แกนกลางของเรื่องที่เล่นกับ ‘ภาวะในระหว่าง (liminality) ไปจนถึงการละเมิด (transgression) ที่เราจะเห็นพื้นที่สีเทาๆ เห็นถึงลักษณะการอยู่ตรงกลางของคู่ตรงข้าม เห็นภาวะกึ่งมนุษย์ กึ่งอสูร เห็นปราณที่แปรเปลี่ยนไปมา เห็นฮีโร่ที่อาจจะไม่ได้มีความเป็นวีรบุรุษ เห็นอสูรที่มีหัวจิตหัวใจ อสูรที่เป็นทั้งผู้ล่าแต่ก็ล้วนเคยเป็นเหยื่อ—เหยื่อของสังคมที่ทำให้พวกอสูรระดับสูงเลือกที่จะรับพลังเพื่อรับมือกับบาดแผล หรือความเจ็บแค้นที่ตัวเองแบกรับเอาไว้
แต่ในระดับสังคมและวัฒนธรรม ดาบพิฆาตอสูรก็ดูจะเป็นตัวบทที่น่าสนใจ ในการอ่านเมื่อคนญี่ปุ่นกลับไปเล่าถึงโลกอดีต ถึงวิถีปฏิบัติ และเลือกเล่าถึงพื้นที่ในระหว่างอันหมายถึงการปะทะกันในเรื่อง จึงไม่ใช่การปะทะของธรรมะและอธรรม ของมนุษย์และปีศาจ แต่ยังหมายรวมถึงการปะทะกันของความคิด ค่านิยมและอุดมการณ์ ที่ปรากฏขึ้นในงานเขียนร่วมสมัย
อ้างอิงข้อมูลจาก