หลังจากกักตัวอยู่บ้าน ทำงานทางไกล และเรียนออนไลน์มานานหลายเดือน ในที่สุดก็มีประกาศเปิดประเทศอีกครั้งสักที แต่แทนที่เราจะตื่นเต้นดีใจที่ได้กลับไปใช้ชีวิตแบบเมื่อก่อน แต่ลึกๆ ในใจกลับเต็มไปด้วยความพะวง เพราะจำไม่ได้แล้วว่าชีวิตที่อยู่ท่ามกลางผู้คนเยอะๆ นั้นเป็นยังไง
หรือเราจะกลัวการเข้าสังคมไปแล้วนะ?
ความกังวลกับการเข้าสังคมอีกครั้ง
เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะเกิดภาวะวิตกกังวล โดยเฉพาะตอนที่กลับมาทำในสิ่งที่ไม่ได้ทำนาน เช่น การเข้าสังคมอีกครั้งหลังจากกักตัวมาเกือบปี หากใครที่กำลังรู้สึกแปลกๆ กับการขึ้นรถไฟฟ้า เดินห้างสรรพสินค้า ไปร้านเหล้า หรือเข้าออฟฟิศ อยากบอกว่ามีอีกหลายคนเลยที่รู้สึกแบบเดียวกัน แม้กระทั่งคนที่สถาปนาตนว่าเป็นมนุษย์เอ็กซ์โทรเวิร์ตเอง ซึ่งมักจะชอบเข้าสังคมและได้รับพลังงานจากการพบปะผู้คนจำนวนมาก พวกเขาก็อาจจะรู้สึกประหม่าและเหนื่อยล้าในสถานการณ์แบบนี้ได้เช่นกัน
ความรู้สึกแปลกๆ ที่ว่านั้นคืออะไร? เชื่อว่าแต่ละคนมีความรู้สึกแปลกๆ ที่ต่างระดับกันไป บางคนอาจจะแค่ไม่ชิน บางคนอาจจะปรับตัวได้ แต่กลับบ้านมารู้สึกเหนื่อยล้าสุดๆ หรือบางคนอาจจะกลัวและกังวลมาก จนไม่กล้าออกไปข้างนอกเลยก็มี ยิ่งถ้าหากเราเป็นโรควิตกกังวลทางสังคม หรือ Social Anxiety Disorder อยู่แล้ว การคลายล็อกดาวน์และกลับสู่สังคมอีกครั้ง อาจทำให้เรารู้สึกกังวลมากยิ่งขึ้น
ผลการศึกษาในปี ค.ศ.2021 พบว่า ชาวอเมริกันจำนวน 240 คน มีอาการวิตกกังวลทางสังคมรุนแรงขึ้นในช่วงล็อกดาวน์จากโรคระบาดใหญ่ เพราะพวกเขาลืมไปแล้วว่าต้องปฏิบัติตัวยังไงท่ามกลางผู้คน รู้สึกกังวลกับรูปแบบทางสังคมที่เปลี่ยนไป หรือรู้สึกว่า การหาบทสนทนาแบบเรียบง่ายในทุกวันนี้เป็นเรื่องที่เหนื่อยมาก
แต่แทนที่พวกเขาจะได้เผชิญหน้าเพื่อเอาชนะความกลัวของตัวเอง คำแนะนำทั่วไปในช่วงโรคระบาดกลับเป็นการหลีกเลี่ยงโลกภายนอกให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความวิตกกังวลทางสังคมมากกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจจาก American Psychological Association พบว่า เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันรู้สึกกังวลกับการตอบโต้แบบตัวต่อตัวอีกครั้ง ซึ่งเป็นการตอบสนองที่ปกติในมุมมองของนักจิตวิทยา
หากเราเป็นคนที่วิตกกังวลกับการเข้าสังคมเป็นทุนเดิม ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดใหญ่ การกักตัวถือเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้หลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ไม่มีแรงกดดันทางสังคมใดๆ หรือถูกบังคับให้พูดคุยกับคนแปลกหน้ามากนัก แต่ละวันก็มีแค่ประชุมผ่านซูม ออกไปรับพัสดุ หรือรับอาหารจากเดลิเวอรีเท่านั้น ทำให้ความคิดที่จะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ อาจทำให้เราหวาดกลัวและตื่นตระหนก เพราะการกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้งนั่นหมายถึง การนำเสนองานแบบตัวต่อตัว การต่อแถวซื้อข้าวในโรงอาหาร หรือการขึ้นรถไฟฟ้าร่วมกับคนจำนวนมาก ซึ่งเราต้องมานั่งกังวลว่าใครจะคิดกับเรายังไง มองเรายังไง จะหัวเราะเยาะเราหรือเปล่า แล้วเขาจะตัดสินเราหรือไม่ถ้าเราทำอะไรน่าอายออกไป
แต่ก็มีอีกหลายคนที่เพียงแค่รู้สึกว่า “อ่า พรุ่งนี้ต้องเข้าออฟฟิศแล้วสินะ” เพราะที่ผ่านมาพวกเขาสร้างความสบายใจให้กับตัวเองในบ้านหรือห้องส่วนตัว และพยายามยึดติดกับความสบายใจเหล่านั้น เพราะไม่รู้ว่าการล็อกดาวน์จะดำเนินไปอีกนานแค่ไหน แต่เมื่อวันหนึ่งมีประกาศเปิดประเทศอีกครั้ง เหมือนพวกเขาต้องทิ้งความสบายใจของตัวเองไป และเผชิญหน้ากับผู้คนจำนวนมากอีกครั้ง จึงไม่แปลกที่ช่วงแรกๆ จะรู้สึกหมดแรงเมื่อกลับมาถึงบ้าน
“สิ่งที่เราทำอยู่ทุกๆ วัน ได้กลายเป็นพื้นที่สบายใจของเราไปแล้ว เมื่อเราต้องทำสิ่งใหม่หรือแตกต่างไปจากเดิม สมองจะเริ่มให้เรารู้สึกเครียดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นวิธีที่สมองบอกกับเราว่า เราไม่ได้ทำสิ่งนี้มาสักพักแล้วนะ ระวังตัวให้ดี ซึ่งเป็นเพียงแค่การตอบสนองต่อการเอาตัวรอดของเราเท่านั้นเอง” จูลี สมิธ (Julie Smith) นักจิตวิทยาคลินิกกล่าว
เข้าสังคมอีกครั้งยังไงให้ไม่เหนื่อยล้า
ความกังวลในช่วงนี้ ไม่ว่าเรื่องไหนก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้ เพราะช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา นานพอที่จะทำให้เรามีความคิด นิสัย หรือบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไป และนานพอที่เราจะเริ่มไม่ชินกับรูปแบบการใช้ชีวิตเดิมๆ แต่ความจริงนั้นก็คือ ในระยะเวลาเกือบ 2 ปี มนุษย์ไม่สามารถทิ้งทักษะการเข้าสังคมไปได้ทั้งหมดหรอก เพียงแค่เราทำหล่นหายไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็ต้องใช้เวลาสักพักในการนำทักษะนั้นกลับมา
“การออกกำลังกายกับการเข้าสังคมเหมือนกันตรงที่ต้องอาศัยการฝึกฝนบ่อยๆ และการที่เราไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้บ่อยเท่าที่เคย ย่อมส่งผลต่ออารมณ์และความพยายามของเราอยู่แล้ว แต่การกระทำจะทำเรามีพลังงานมากขึ้น เมื่อเราเริ่มทำมากขึ้น เราก็จะรู้สึกได้ถึงพลังงานที่ไปพร้อมกับสิ่งนั้น แต่การพาตัวเองไปถึงจุดที่ว่าก็เป็นอะไรที่ยากทีเดียว” จูลีเสริม
เช่นเดียวกับ ลิซา ดามัวร์ (Lisa Damour) นักจิตวิทยาคลินิก อธิบายว่า เหมือนกับเราฝึกเปียโนทุกวันและห่างหายไปเป็นเวลานาน เราจะรู้สึกไม่สบายใจเวลานั่งลงที่เปียโนตัวนั้นอีกครั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเริ่มจากศูนย์ ทันทีที่เรากลับเข้าไป ทุกอย่างก็จะเหมือนเดิม เช่นเดียวกับทักษะทางสังคมของเรา และเธอยังได้แนะนำกลยุทธ์ที่เรียกว่า ‘ตั้งชื่อเพื่อให้ผ่อนคลาย’ ด้วยการลองพูดติดตลกกับใครสักคน เวลาทำตัวไม่ถูกหรือไม่รู้จะชวนคุยยังไงว่า “ทักษะการเข้าสังคมของฉันขึ้นสนิมแล้วจริงๆ” อาจจะทำให้ทั้งตัวเราเองและคู่สนทนาสบายใจมากขึ้น เพราะลึกๆ เขาก็อาจจะรู้สึกเช่นเดียวกันกับเราอยู่
และยังมีวิธีในการเตรียมตัวกลับเข้าสังคมอีกครั้งจาก ดอว์น พอตเตอร์ (Dawn Potter) นักจิตวิทยาคลินิก ซึ่งเขาแนะนำว่า หากเป็นไปได้ ให้ทุกอย่างค่อยๆ เป็นไปอย่างช้าๆ ปล่อยตัวเองให้ผ่อนคลายกับการเข้าสู่สังคม หรือเข้าสังคมก็ต่อเมื่อรู้สึกสบายใจที่จะเข้าจริงๆ อย่าบังคับตัวเองให้รีบไปเจอผู้คนมากเกินไป หรือไม่ต้องพยายามนัดเพื่อนจนปฏิทินแน่นทุกวันก็ได้ ไม่อย่างนั้น อาจจะเริ่มจากการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศก่อน แล้วสำรวจดูว่าความรู้สึกของเราเป็นยังไงบ้าง เหนื่อยเกินไปมั้ย ไหวหรือเปล่า ถ้าไม่ไหวก็ให้บอกเพื่อนหรือคนรู้จักไปตามตรง ดีกว่าไปถึงแล้วรู้สึกแย่หรือเหนื่อยกว่าเดิม
แต่เมื่อเราเริ่มปรับตัวกับการเจอผู้คนได้แล้ว หรือคิดว่าถึงเวลาที่ควรจะกลับเข้าสู่สังคมจริงๆ ไม่ว่าจะนัดเดต นัดกินข้าว หรือนัดเดินเล่นห้างฯ การเขียนแพลนคร่าวๆ ว่าต้องไปทำอะไร ที่ไหน กับใคร และพยายามยึดตามแพลนนั้นไว้ จะช่วยให้เราไม่ใช้พลังงานมากเกินไปกับสิ่งที่นอกเหนือจากสิ่งที่ตั้งใจจะทำ และอย่าลืมที่จะดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีอยู่เสมอก่อนถึงวันนัด เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ เข้านอนเร็ว หรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะส่งผลให้เช้าวันต่อมารู้สึกแย่
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การรู้ตัวเองว่ากำลังมีความกังวลอยู่หรือไม่ เพราะหากเราจับสังเกตตัวเองได้ เราก็จะรู้อย่างแน่ชัดว่าต่อจากนี้ควรไปต่อหรือพักก่อนดี และหากพบว่าตัวเองกระวนกระวายมากเกินไป ลองหายใจลึกๆ ช้าๆ เพื่อให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ซึ่งเป็นวิธีที่ทางจิตวิทยาที่ช่วยคลายความวิตกกังวลได้ดี
“สิ่งสำคัญคือเราต้องเคารพขอบเขตของตัวเอง
ลองพยายามออกไปพบปะสังคมดูก่อน
แต่ถ้ารู้สึกถึงความไม่สบายใจที่จะต้องทักทายผู้คน
ก็อย่ากดดันตัวเองมากนัก”
– ดอว์น พอตเตอร์ นักจิตวิทยาคลินิก
และถึงแม้ความวิตกกังวลจะทำให้สิ่งต่างๆ ที่เราคาดการณ์เอาไว้ดูเลวร้ายเกินความเป็นจริง เช่น คิดว่าตัวเองพูดอะไรผิดไปหรือพูดอะไรที่เข้าใจยาก เพราะรู้สึกสูญเสียทักษะการสื่อสาร หรือคิดว่าวันนี้จะต้องทำอะไรน่าอายท่ามกลางฝูงชนแน่ๆ เพราะไม่ชินกับการอยู่ท่ามกลางคนเยอะๆ เหมือนแต่ก่อน แต่สุดท้าย เราจะรู้สึกดีขึ้น เมื่อรู้ว่าสิ่งที่เราคาดการณ์เอาไว้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เมื่อรู้เช่นนั้น ทักษะการเข้าสังคมต่างๆ ของเราจะค่อยๆ กลับมา จนกระทั่งวันหนึ่ง เราสามารถเข้าสังคมได้อย่างมั่นใจเหมือนแต่ก่อน
ด้วยความไม่แน่ไม่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกในตอนนี้ ไม่แปลกที่เราจะกังวลและปรับตัวไม่ทัน ค่อยๆ ให้เวลาตัวเองสังเกตความคิด ความรู้สึก หรือความต้องการ เพื่อที่เราจะได้มองหาทางออกได้ทันเวลา แต่หากพบอาการที่รุนแรงจากความวิตกกังวล เช่น หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ตัวสั่น หรือจะเป็นลม ก็อาจจะต้องปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญควบคู่ไปด้วยนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก