เริ่มต้นจากที่ ‘อู๊ด’ เพิ่งรู้ว่าตัวเองกำลังจะตายจากมะเร็งเหมือนที่พ่อเคยเป็น สิ่งที่เขาทำคือไล่กล่าวลาผู้คนที่มีเบอร์ติดต่อกันในโทรศัพท์ เมื่อล่ำลาเรียบร้อยก็ลบเบอร์ทิ้ง จนคงเหลือไว้เพียงจำนวนสุดท้ายคือพ่อผู้ล่วงลับ
บรรดาแฟนเก่าและ ‘บอส’ มิตรสหายที่เคยร่วมหัวจมท้ายกันเมื่อครั้งที่เขาอยู่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา คืนนั้นเขาโทรหาบอสเป็นครั้งแรกหลังจากทะเลาะกันจนแยกย้ายไปจากกันหลายปี โทรไปเพื่อขอให้บอสช่วยกลับมาเมืองไทย มาพบกันเป็นครั้งสุดท้าย และเป็นธุระขับรถพาเขาที่อ่อนแอลงทุกวันเอาข้าวของไปคืนแฟนเก่าก่อนตาย
นี่คือเรื่องราวใน ‘One For The Road’ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ
เป็นภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการเดินทางไปด้วยกันของชายหนุ่ม 2 คน ดื่มชีวิตอีกสักแก้วก่อนเดินทางไกลไม่หวนกลับ พวกเขาเดินทางไปหลายจังหวัดเพื่อไปพบกับบรรดาหญิงสาวที่เคยมีความหมายต่อชีวิต โดยมีเทปบันทึกเสียงการจัดรายการวิทยุของพ่อผู้ล่วงลับของอู๊ด เป็นเพลงประกอบการเดินทาง หญิงสาวบางคนก็ยินดีที่ได้พบกันอีก บางคนก็สาปส่งว่าอย่าได้พบกันอีกเลย และบางคนก็ชืดชาจนคิดว่าไม่จำเป็นต้องพบกันอีกแล้ว การเดินทางสิ้นสุดลงเมื่อบอสแวะกลับบ้านที่พัทยาเป็นครั้งแรกหลังจากไปอยู่นิวยอร์กนานหลายปี และความลับที่อู๊ดเก็บไว้ เกี่ยวกับหญิงสาวคนสุดท้ายของเขา
จากโคราชถึงเชียงใหม่ จากนิวยอร์กถึงพัทยา การเดินทางของ 2 หนุ่มค้นลึกลงไปในอดีตของทั้งคู่ในฐานะของคนที่วิ่งหนีตัวเองมาตลอดชีวิต ไปยังที่อื่น ทำผิดพลาด แล้วออกวิ่งหนีไปเรื่อยๆ การออกจากบ้านเพื่อเดินทางไกลจึงกลายเป็นการกลับบ้านที่ข้างในของตน
แตกต่างอย่างสิ้นเชิงไปจาก หนัง 2 เรื่องก่อนหน้าของนัฐวุฒิ พูนพิริยะ อย่าง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ และ ‘เคาท์ดาวน์’ ที่เป็นหนังระทึกขวัญ เต็มไปด้วยเทคนิคลูกล่อลูกชนทั้งทางพล็อตและภาพ ‘One For The Road’ เล่าเรื่องเรียบง่าย เต็มไปด้วยแรงขับภายในของคนทำ (ซึ่งเขาเองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่ามันเป็นหนังที่ส่วนตัวที่สุดของเขา)
และได้ผลลัพธ์คล้ายคลึงกับหนังอิสระอเมริกันชั้นดี เจ็บปวดแต่อบอุ่น สอนใจผู้คนโดยไม่พยายามจะยัดเยียดศีลธรรมอัดกระป๋องลงไปมากนัก
ด้วยคุณภาพของงานสร้าง ทั้งการถ่ายภาพไปจนถึงการแสดง ทำให้คิดไปว่าถ้าหากหนังไทยกระแสหลักมีมาตรฐานงานสร้างในระดับนี้ และมีพล็อตทำนองนี้ที่พาผู้ชมไปไกลกว่าสูตรสำเร็จผี ตลก กระเทยคงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย มันคงน่าตื่นเต้นที่เราจะได้เข้าโรงไปดูเรื่องชีวิตของผู้คนที่ไม่ได้ต้องมี การฆ่า การเล่นตลก หรือเรื่องราวใหญ่โตเกินจริง มันจึงเป็นเรื่องดีที่หนังเรื่องนี้บอกเราว่า หนังไทยสามารถไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ (แน่นอนต้องไม่ลืมว่านี่คือหนังที่มีทุนหลักมาจากต่างประเทศ) มีความเป็นไปได้ที่หนังไทยจะก้าวพ้นขอบเขตแบบเดิมของหนังไทยกระแสหลัก หากนายทุนไทยจะกล้าหาญพอ (ทั้งนี้ทั้งนั้น หนังไทยอิสระหลายเรื่องนั้นไปไกลลิบเรียบร้อยแล้ว)
อย่างไรก็ตามเลยพ้นไปจากมาตรฐานงานสร้าง หนังมีปัญหาของมันเองในฐานะของการเป็นหนัง road movie แบบแมนๆ กล่าวคือหนังมีศูนย์กลางอยู่ที่ผู้ชาย ความเป็นชาย และความพยายามประนีประนอมต่อรองความหมายคุณค่าของความเป็นชายเอาไว้ พลางเป็นนิทานสอนใจว่าด้วยการให้อภัยตนเองด้วย
การเอาของไปคืนแฟนเก่าถึงที่สุดเป็นความตั้งใจชำระสะสางความผิดบาปที่ตัวเองเคยก่อไว้กับคนอื่น เรื่องเศร้าคือดูเหมือนว่า แฟนเก่าในเรื่อง (ซึ่งแสดงโดยนักแสดงหญิงที่มีชื่อเสียงหลายๆ คน เช่น ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา และ พลอย หอวัง) ลดรูปลงเป็นเพียงตัวละครบางๆ ที่ไร้ปูมหลัง มีหน้าที่เพียงปรากฏตัวเพื่อ ลงโทษหรือให้อภัยอู๊ด พวกเธอไม่จำเป็นต้องมีชีวิต เรื่องราวหรือความเจ็บปวดเป็นของตัวเอง
อดีตของอู๊ดและพวกเธอจะถูกเล่าผ่านแฟลชแบ็กตัดต่อฉับไวราวกับมิวสิควีดีโอว่าพบกันและพรากกันอย่างไร เหตุการณ์ทั้งหมดจึงวนรอบตัวอู๊ด มีอยู่และจบลงเพื่ออู๊ดราวกับภาพแทนความเห็นแต่ตัวเองของพวกผู้ชาย พวกเธอมีเวลาแค่ 15-20 นาทีบนจอหนังในการเป็น ‘วัตถุแห่งการลงโทษและการให้อภัย’
แม้แต่แม่ของบอสที่ดูเหมือนจะเป็นปมหลักที่แท้จริงของความสัมพันธ์ที่ตามมา จุดตั้งต้นของความสัมพันธ์ของบอสกับผู้หญิง ซึ่งกระทบไปถึงอู๊ดด้วยนั้น ก็ถูกเล่าอย่างผ่านๆ แม่มีหน้าที่ 2 ขั้วสำหรับความเป็นหญิงคือเป็น ‘โสเภณีกับแม่พระ’ และการเปลี่ยนสถานะจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งคือหน้าที่เดียวของตัวละครนี้
แม่มีหน้าที่สร้างความขาดพร่องให้ลูกชาย ผู้ซึ่งสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่ของการโหยหาความรักส่งต่อไปเรื่อยๆ และแน่นอนว่า ได้รับการให้อภัย
เช่นเดียวกันกับเมืองต่างๆที่ตัวละครผ่านทางไป มันก็ถูกลดรูปจนเป็นเพียงที่ไหนก็ได้ที่ไม่มีความจำเพาะเจาะจง เมืองเป็นเพียงแค่จุดพัก ชานชาลาสถานี ด่านหนึ่งในเกมให้ตัวละครได้เล่นและก้าวผ่าน (จนอดรู้สึกไม่ได้ว่าสิ่งที่หนังอยากเล่าคือครึ่งหลังของเรื่อง ขณะที่ครึ่งแรกมีไว้เพื่อให้เปิดทางไปสู่ความลับเดียวในครึ่งหลัง) มันจึงมีเพียง 2 เมืองเท่านั้นที่มีตัวตน หนึ่งคือนิวยอร์ก-เมืองของผู้ชาย และพัทยา-เมืองที่เป็นเมืองของแม่ และ ‘ปริม’ ตัวละครที่เราอาจบอกได้ว่าเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในหนัง เธอปรากฏตัวในครึ่งหลังของเรื่อง เป็นตัวละครที่เชื่อมเรื่องราวทั้งหมดเข้าหากัน หนังให้เวลากับปริม ให้เรื่องราวกับปริม และเธอดูเหมือนจะเป็นคนที่เข้มแข็งและมีสติที่สุดในเรื่องนี้ เธอเป็นคนสอนให้บอสดื่มคอกเทล เป็นคนที่วางหมุดหมายนิวยอร์กให้กับบอส เป็นเหมือนความฝันของอู๊ด และวางหมุดหมายพัทยาให้กับอู๊ด
เราอาจพูดในอีกทางหนึ่งว่าผู้ชายวิ่งรอบเธอ ขณะที่เธอวิ่งรอบความฝันของตัวเองเท่าที่จะสามารถจะทำได้
แต่ผู้ชายในเรื่องไม่ได้วิ่งรอบเธอเพื่อเธอ แต่ถึงที่สุดพวกเขาวิ่งรอบเธอเพื่อให้อภัยตัวเอง แต่ในความสัมพันธ์ถึงที่สุดไม่ได้มีใครวิ่งรอบคนอื่นเพื่อคนอื่น การทำเพื่อคนรักถึงที่สุดก็คือรูปแบบหนึ่งของการทำเพื่อตัวเอง เพื่อพิสูจน์ตัวเอง ลงโทษตัวเอง ไปจนถึงให้อภัยตัวเอง ในความรักของเรา เป็นเพียงการวิ่งไปกลับของตัวฉันเอง 2 ตัว
มันจึงน่าเสียดายยิ่งที่ในที่สุดหนังมีเพียงผู้ชาย เด็กชายในร่างคนหนุ่ม 2 คนเยียวยาตัวเองผ่านผู้หญิงที่เป็นวัตถุปรารถนา เติมความขาดพร่องที่เป็นเหมือนถังก้นรั่ว
เรื่องน่าขำเล็กๆ คือในขณะที่หนังทั้งเรื่องมีตัวละครหญิงที่เป็นมนุษย์ ‘เพียงคนเดียว’ หนังมีตัวละครชายถึง 3 คน คือชายหนุ่ม 2 คนที่เดินทางไปด้วยกัน และพ่อผู้ล่วงลับ ตัวละครที่ไม่มีอยู่หากกลายเป็นผีที่มีเนื้อหนังมากกว่ามนุษย์ เป็นเหมือนผู้นำทาง เป็นเสียงเล่าของหนังผ่านทางเทปบันทึกการจัดรายการวิทยุที่จากอดีต
‘พ่อ’ กลายเป็นภูติผี พอๆ กับเทวดาอารักษ์ที่คอยปลอบประโลม ชี้ทาง สั่งสอน ให้กำลังใจ ผู้ชาย 2 คนที่เคยวิ่งหนีตัวเอง และวิ่งกลับเพื่อตามหาตัวเอง จนเราอาจพูดได้ว่าพ่อ เป็นภาพร่างของวีรบุรุษคนผู้ชาย เป็นความเป็นชายที่เด็กชายต้องการจะไปให้ถึง โดยมีผู้หญิงจำนวนหนึ่งเป็นวิชาสำหรับการฝึกปรือที่จะรู้จักตัวเอง ที่จะเป็นผู้ชายเท่ๆแบบ ‘ผีของพ่อ’ ธำรงปิตาธิปไตยด้วยการรักใครสักคน
..มันจึงช่วยไม่ได้ที่ในที่สุดหนังจึงเป็นหนังของผู้ชายที่สร้างโดยผู้ชายเพื่อผู้ชมผู้ชาย
..มันจึงช่วยไม่ได้ที่หนังแทบจะปราศจากอารมณ์ homoerotic ของผู้ชาย 2 คนที่เดินทางไปด้วยกัน (ซึ่งจะทำให้หนังซับซ้อนและสับสนมากขึ้น)
..มันจึงช่วยไม่ได้ที่ในที่สุด กิจกรรมเห็นแก่ตัวของอู๊ดจะถูกลบล้างและให้อภัยเพราะมันได้ทำให้บอสเข้าใจชีวิตตัวเองมากขึ้น (ทั้งที่หนังสามารถจบลงอย่างดงามในฉากที่บอสบอกกับเพื่อนของเขาว่า ตายคนเดียวไปเถอะมึง)
ในขณะเดียวกัน ความมุ่งมั่นที่จะเล่าเรื่องของผู้กำกับมันก็น่าเสียดายที่หนังปราศจากการเมืองไปด้วย หนังจึงมีแค่ตัวเองเพียวๆ เรื่องเล่าหลักที่สำคัญเพียงเรื่องเดียว และการพุ่งไปสู่เรื่องเล่านั้น หนังจึงอาจสมบูรณ์และอิ่มเต็มในตัวมันเอง แต่การปราศจากความเป็นไปได้อื่นๆ ก็ทำให้หนังแห้งแล้งและขาดความรุ่มรวยอยู่พอแรง ทั้งๆ ที่ หนังอาจไปได้ถึงการเป็นการสำรวจสภาพสังคมไทยในขวบปีที่น่าตื่นเต้น และเต็มไปด้วยมวลอากาศของความขัดแย้งอย่างถึงที่สุด การไม่มีการเมืองในหนัง (ซึ่งต้องขอย้ำว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่หนังไม่มีการเมือง – หรืออาจตีความได้จางๆ ผ่านตัวเลขที่ปรากฏในหนัง) ทำให้หนังขาดชั้นของเรื่องเล่าที่ลึกลงไป
ในขณะเดียวกันการไม่มีการเมืองก็เป็นการเมืองของตัวมันเอง เพราะเราอาจตีความการเดินทางทั้งหมดในฐานะของเรื่องเล่าชนชั้นกลาง(ค่อนไปทางสูง) ที่การเมืองไม่เกี่ยวข้อง ไม่จำเป็น ไม่มีผลอะไรกับชีวิตในทุกมิติ พวกเขามีชีวิตอยู่เพียงเพื่อตัวเขาเองตัดขาดจากพื้นที่ ผู้คน และประวัติศาสตร์ส่วนรวมใดๆ
อย่างไรก็ตาม One For The Road ยังคงเป็นหนังไทยที่น่าจดจำ มันตื่นตาที่หนังทำให้เราเห็นว่า หนังไทยกระแสหลักสามารถเป็นได้มากกว่าเพดานที่มันถูกทำให้เป็นได้อย่างไร และมองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ที่เราอาจจะเคยมองเห็นแต่ลืมไปแล้ว