ความทรงจำเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด การหวนคิดถึงใครสักคนที่… เราเองก็รู้สึกว่ามันจบไปแล้ว แต่อันที่จริง ในทุกๆ การรำลึกถึง ความทรงจำของเรามันก็ยังสวยงามอยู่เสมอ
แต่ทว่า ในความเจ็บจี๊ดเล็กๆ กับสิ่งที่ผ่านพ้นไป เราเองกลับไม่ได้รู้สึกโหยหาอาลัย
เราไม่ได้คิดหวังให้เส้นทางของเรากลับมาบรรจบกันอีกครั้ง กลับมาใช้ชีวิตร่วมกันอีกครั้ง ถ้าให้เลือกกลับไปได้ เราเองก็ยินดีที่มันจบลงไปเช่นนั้น
ชีวิต ความรู้สึก และความทรงจำเป็นเรื่องซับซ้อน วันนี้หนังเรื่อง ‘One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ’ เข้าฉาย แต่ว่าทางหนังได้ปล่อยเพลงออกมาให้เราได้ร้าวรานก่อนสักพัก และเมื่อวันจันทร์ก็ได้ปล่อย MV ฉบับภาษาไทย อันที่จริงเพลงประกอบภาพยนตร์ชุดนี้มีความพิเศษมากเพราะปล่อยออกมาทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งสองภาษาแม้จะเป็นเพลงเดียวกัน แต่ก็มีนัย มีความร้าวรานที่ต่างกันอยู่เล็กน้อย
อาจจะเป็นเพราะเสียงของ วี—ไวโอเลต พอเราลองได้ฟังประโยคแรกอย่างช้าๆ วลีว่า “เคยได้พบกับใครคนหนึ่ง นานมาแล้วก็ยังคิดถึง” ในวินาทีนั้นอยู่ๆ เราเองก็อาจจะน้ำตาเอ่อเบ้าขึ้นมาเอาดื้อๆ ถ้อยคำง่ายๆ กลับทำให้เราหวนคิดถึงอดีต คิดถึงใครบางคน เห็นภาพถนนที่เปรียบเหมือนชีวิตของเราที่ได้แยกออกจากกัน
เมื่อเราฟังไปเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มมีความรู้สึกแน่นในลำคอ เราเริ่มมีความเข้าใจบางอย่าง จากความเกือบจะเศร้าในความคิดถึง ในที่สุดแล้วเราเองเริ่มเกิด ‘ความรู้สึกดีๆ’ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่เรายังคงมีความรู้สึกยินดีกับคนคนนั้น ยินดีและหวังให้เขาหรือเธอมีชีวิตที่ดี และในความรู้สึกอันเฉพาะเจาะจง คือ ความรู้สึกยินดีที่เราต่างมีชีวิตกันต่อไปเป็นอย่างดี—ชีวิตที่เติบโตโดยไม่มีกันและกัน
The Age of Realization
ก่อนจะเข้าเรื่อง อยากขอชี้ประเด็นเล็กๆ ที่ร้าวรานจากเพลงประกอบทั้งสองเวอร์ชั่นเล็กน้อย คือ ถ้าไม่มีตัวเทียบสองเวอร์ชั่นเราอาจจะไม่ได้สังเกตว่า เอ๊ะ ทั้งสองเวอร์ชั่นมันร้าวเหมือนกัน แต่อันที่จริงนัยของความร้าวนั้นต่างกันอยู่บ้าง
กรณีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ด้วยการเริ่มประโยคแรกว่า “All the faces flashing by… said hello, we’ve said goodbye” ตอนฟังครั้งแรกก็ร้าวนะ และเหงา แต่มันเป็นความเหงาในบริบทเมือง คือเราเห็นภาพชีวิตที่เต็มไปด้วยใบหน้าของคนที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิตก่อนจะแยกย้ายไปคนละทาง สุดท้ายเราอาจจะนึกขึ้นได้ว่า การพานพบเพื่อลาจากนั้นอาจจะเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย ถ้าเราโชคดี เราอาจจะได้เจอกันอีกในชีวิตหลังจากนี้ คือ ชีวิตนี้ไม่ได้เจอกันแล้ว เจออีกทีชาติหน้า ชาตินี้คงเหลือแค่ความทรงจำก็พอ
แต่ฉบับภาษาไทย การเริ่มประโยคด้วยการบอกว่า เจอใครคนหนึ่ง นานมาแล้วก็ยังคิดถึง ในแง่นี้ ใบหน้าที่เราคิดถึงขึ้นมาอาจจะมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เป็นใบหน้าที่เรามีความผูกพันธ์ทางอารมณ์มากเป็นพิเศษ ในช่วงแรกๆ เราแทบจะรู้สึกว่าเรายังไถ่ถอนความรู้สึกออกมาจากความทรงจำช่วงนั้นได้ไม่หมด คือ เกือบจะจมลงในความอาลัยถึงช่วงเวลาที่ผ่านพ้นไป แต่ช่วงหลังๆ ตัวเพลงเองก็ได้จุดประกายความรู้สึกบางอย่างว่า “อยากรู้ถ้าเธอยังไม่ไป” ซึ่งในใจเราก็คงตอบว่าไม่ หลังจากนั้นเราก็จะเริ่มให้คำตอบกับตัวเองว่า ทุกวันนี้มันดีอยู่แล้ว เป็นเรื่องดี สิ่งที่เรามอบให้คือคำขอบคุณและความปรารถนาดี
รัก-อาลัย
ตรงนี้อาจจะพอใช้คำอธิบายเบื้องต้นเรื่องพลังของความทรงจำได้ ด้วยการแยกระหว่างภาวะ ‘โหยหาอดีต’ (nostalgia) และภาวะโหยหาอาลัย (melancholy) ภาวะโหยหาอดีตเป็นภาวะที่ไม่เชิงว่าสุขหรือเศร้า แต่คือการหวนคิดถึงวันวานที่สวยงาม แต่นัยสำคัญหนึ่งของการโหยหาอดีตคือเราไม่ได้อยากจะกลับไปในช่วงเวลานั้น เราแค่คิดถึงมันและปล่อยผ่านไป แนวคิดเรื่องการโหยหาอดีตได้รับการนิยามขึ้นในศตวรรษที่ 17 โดยนายแพทย์ชาวสวิสที่อธิบายภาวะคิดถึงบ้านของทหารชาวกรีซ ที่มีความรู้สึกคิดถึงและโหยหาบ้านเกิด แต่ก็ไม่ได้อยากจะเดินทางกลับไปอยู่บ้านที่เฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด
อันที่จริงภาวะโหยหาอดีต บางครั้งก็ส่งผลกับปัจจุบันและถือว่าเป็นภาวะทางจิตใจแบบหนึ่ง คู่เทียบเคียงของการโหยหาอดีต คือ ภาวะโหยหาอาลัย (melancholy) อาการโหยหาอาลัยในบางบริบทมีความสัมพันธ์กับการโหยหาอดีต คือ เป็นการรอคอยและผูกพันธ์อยู่กับอดีต มีนัยของความอาดูรเป็นองค์ประกอบ (แต่อาการโหยหาอดีตที่ยึดติดและอยากหมุนเวลากลับไปก็มีปัญหาเช่นกัน)
ฟังก์ชั่นหนึ่งของการคิดถึงอดีตในด้านหนึ่งจึงอาจไม่ใช่แค่การคิดถึงอดีตและอยากย้อนกลับไปสู่อดีตเอง ในการโหยหาอดีตที่ส่งผลเชิงบวกอาจสัมพันธ์กับการที่เราเข้าใจภาวะของโลก สัจธรรมง่ายๆ คือการพานพบเพื่อลาจาก การที่เรามองเห็นเส้นทางชีวิตที่หลากหลาย และความงดงามของชีวิตนั้นอยู่ที่การตัดไขว้เข้าหากันก่อนที่จะแยกไปสู่โครงข่ายอันสลับซับซ้อนต่อไป
สุดทางของความสัมพันธ์
อุปมาเรื่องความสัมพันธ์ด้วยเส้นทางและถนนก็เลยมีความซับซ้อนและอาจพอทำให้เราเข้าใจความเป็นไป พร้อมยิ้มให้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ แม้จะมีน้ำตาคลอเบ้าอยู่ก็ตาม เวลาเราพูดถึงจุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์เรามักนึกถึงทางตัน แต่ถ้าเรามองในแง่ของเส้นทางจำนวนมากที่บรรจบและแยกออกจากกันอันเป็นอุปมาธรรมดาของเมือง ก็อาจจะทำให้เราเจ็บกับความทรงจำได้น้อยลง
ในข้อเขียนหนึ่งของ เบอร์ตาน รัสเซล พูดว่า ความรักเมื่อถึงที่สุดแล้ว ประกอบขึ้นด้วยความปิติและความยินดี (Love at its fullest is an indissoluble combination of the two elements, delight and well-wishing.) คำว่ายินดีในที่นี้น่าจะหมายความได้ว่าเป็นความปรารถนาดี เมื่อเรารักใครอย่างถึงที่สุด เราก็มีแต่มอบความรู้สึกที่ดีที่สุดให้เพียงเท่านั้น
ในแง่นี้คือ ความรู้สึกที่เราหวังว่าอีกฝ่ายจะมีชีวิตที่ดีกันต่อไป โดยที่เราเองก็ไม่ได้เหนี่ยวรั้งหรือตั้งเงื่อนไขว่า ชีวิตที่ดีนั้นต้องมีตัวเราเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย (ฟังดูร้าวราน) แต่ถ้าเราผ่านความสัมพันธ์มาได้บ้าง เราเองก็อาจจะพอเข้าใจว่าการฉีกออกจากกันของเส้นทางนั้น หลายครั้งไม่ใช่ความผิดพลาดหรือความถูกต้อง แต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่เหลื่อมซ้อนไม่ลงรูปรอยซึ่งกันและกัน
สุดท้าย เมื่อเราหวนนึกถึงใครบางคน คิดถึงบางช่วงเวลา สิ่งที่เรามอบให้คือความยินดี ไม่ว่าจะเป็นความยิดดีในการแยกทางซึ่งกันและกัน และยินดีต่อชีวิตที่มีเส้นทางเฉพาะของกันและกัน
หัวใจที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งคือคำถามที่ผ่านเข้ามาในใจและเราเองก็อาจจะตอบไปโดยไม่จำเป็นต้องนึกคิดขึ้นอย่างจริงจัง คือ การยืนยันกับตัวเองว่า การเลือกดึงเส้นทางที่แยกจากกันไปแล้วให้กลับเข้ามาสู่หนทางเดียวกันอีกครั้ง ถ้าเลือกได้ เราก็ไม่ทำ
ให้ชีวิตของเราเป็นเพียงความทรงจำ และรักษาเพียงความรู้สึกที่ดีต่อกันไว้
จนกว่าจะพบกันใหม่ ที่อาจไม่ใช่ในลมหายของช่วงชีวิตนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart