The original show is fighting for tolerance. Our fight is for acceptance.” – Tan France
Queer Eye คือรายการเรียลลิตี้โชว์แนวเมคโอเวอร์ 8 ตอนทาง Netflix ที่นำรายการ Queer Eye for the Straight Guy ที่เคยฉายทางทีวีในปี 2003 กลับมาทำใหม่ และได้ใจคนดูไปตั้งแต่เดือนแรกที่เข้าฉาย
หลักการง่ายๆ Queer Eye จะให้คนทางบ้าน (โดยในซีซั่นแรกนี้จะเบสที่รัฐจอร์เจียเท่านั้น) เสนอชื่อเข้ามาว่าอยากให้รายการพา The Fab Five ไปเมคโอเวอร์ใคร ในเวอร์ชั่นใหม่มี Fab Five 5 คน คือ Bobby Berk ผู้เชี่ยวชาญด้านดีไซน์ อารมณ์มายโฮม บ้านและสวน Antoni Poroski ฝ่ายอาหาร ลักษณะงานคล้ายคุณชาคริต Jonathan Van Ness ผู้เชี่ยวชาญด้านกรูมมิ่ง ดูแลหนวดเคราและใบหน้าไปจนปลายผม 15 เซนฯ Tan France ดูเรื่องแฟชั่น และ Karamo Brown ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมที่พูดออกมาก็แทบจะโคว้ตได้ทุกคำ และมีความไลฟ์โค้ชอยู่บ้าง
เวลา 45 นาที (บวกลบนิดหน่อย) ที่ในตอนแรกคิดในใจว่าจะดูจบไหมแต่กลับผ่านไปไวกว่าที่คิด เสียงหัวเราะและน้ำตา จะพาคุณปล่อยไหลไปรวดเดียวจบทั้ง 8 ตอน
เริ่มตั้งแต่เรื่องราวของชายวัย 57 ที่คิดว่าตัวเองน่าเกลียด หนุ่มนักพัฒนาแอพฯ ที่สร้างกำแพงไว้ในใจ เขารู้เรื่องราวของเพื่อนและเพื่อนร่วมงานมากมาย แต่กลับไม่มีใครรู้เรื่องเรื่องราวของเขานัก เรื่องราวของอดีตนากวิกโยธินหนุ่มคลั่งปาร์ตี้ที่มีคอสตูมเวียร์ดๆ และเอนเตอร์เทนคนชอบปาร์ตี้ได้มากมายแต่กลับไม่ค่อยได้เชื่อมความสัมพันธ์หรือออกไปไหนกับครอบครัว
ไปจนเรื่องของชายหนุ่มผิวสีที่เสียใจเพราะไม่ได้ Coming out กับพ่อผู้จากไป พ่อผู้เป็นแบบอย่างในหลายๆ ด้าน เขาอยากบอกเรื่องนี้กับแม่เลี้ยงซึ่งเป็นคนสำคัญในชีวิตแต่ก็กลัวความสัมพันธ์จะแย่ลงจึงได้แต่ปกปิดเอาไว้ ทั้งที่อยากจะแต่งงานกับแฟนหนุ่ม และอยากให้เธอยังเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต
ยังไม่พอ The Fab Five พาเราไปรีดีไซน์บ้านของชายคริสเตียนลูก 6 และพิธีแต่งงานที่ภรรยาของเธอไม่เคยได้รับ จากนั้นโดดไปที่เรื่องราวนักลงทุนหนุ่มที่อาศัยอยู่ในบ้านคุณยาย ตกแต่งภายในด้วยสไตล์ยุค 70s Fab Five ก็ช่วยให้เขาเจาะเอากาลเวลาที่ห่อหุ้มตัวเองเอาไว้ออกมา เพื่อค้นหาสไตล์ที่แท้จริงของตน
หรือเรื่องราวของ แสตนด์ อัพ คอมเมดี้ ผู้อาศัยอยู่กับพ่อและไม่มีความมั่นใจใดๆ ในตัวเอง และสุดท้าย พนักงานดับเพลิงผู้ต้องการให้พลิกโฉมสถานี และให้ Fab Five ช่วยเตรียมการงานการกุศลของสถานี ที่จะนำรายได้ไปสมทบทุนการฝึกซ้อม
สิ่งที่ทำให้ Queer Eye แตกต่างจากรายการเมคโอเวอร์ทั่วไป คือการพลิกโฉมผู้เข้าร่วมทั้งภายนอกและภายใน หรืออาจเรียกอย่างเขินๆ เพราะมันบังเอิญคล้ายๆ แท็กโฆษณาผลิตภัณฑ์ความงามว่า “เมคโอเวอร์จากภายในสู่ภายนอก”
ระยะเวลา 1 สัปดาห์ ที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงผู้ถูก nominate นั้น Fab Five ได้ปลดล็อกความรู้สึกที่ติดค้างภายในจิตใจของผู้ร่วมรายการ ในขณะเดียวกันก็ได้เยียวยาบาดแผลในจิตใจตนเช่นกัน
เช่นในบทสนทนาระหว่าง Karamo ฝ่ายวัฒนธรรม กับ Cory ตำรวจผู้เข้าร่วมรายการ ที่แสดงให้เห็นถึงความหวั่นวิตกของเขา หรือก็คือความหวั่นใจของคนดำต่อตำรวจ
Karamo : ตอน Henry (เพื่อตำรวจที่เสนอชื่อ Cory เข้าร่วมรายการ) เรียกเราจอดรถ ผมสติแตกในทันที ผมคิดว่าถ้าถูกดึงออกไปจากรถแบบนั้นมันต้องเกิดเรื่องแน่ๆ ลูกของผมไม่อยากทำใบขับขี่ เพราะเขากลัวว่าตำรวจจะเรียกให้เขาจอดรถและยิงเขา แน่นอนว่าประเด็นของผมคือ ไม่อยากให้เหมารวมว่าคนดำทั้งหมดคืออาชญากร เพราะบางครั้งพวกเราก็รู้สึกแบบนั้น
Cory : และตำรวจทุกคนก็ไม่อยากถูกเหมารวมว่าไม่ดีเหมือนกัน ผมก็ถูกตราหน้าว่าเป็นหนึ่งใน 10% ที่ปรากฏตามสื่อ ใช้กำลังเกินเหตุ และฆ่าคนผิวดำทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น เราเพิ่งมีเหตุที่กวินเนตต์เคาน์ตี้ มีตำรวจเตะเข้าที่หน้าชายคนหนึ่งหลังจากใส่กุญแจมือแล้ว และไม่มีอะไรที่ทำให้เรื่องนี้ถูกต้องได้
จบบทสนทนา Karamo โล่งใจและราวกับได้รับการเยียวยา หลังได้ยินคำยอมรับจากปากตำรวจ ว่าบางครั้งตำรวจเองก็ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และแน่นอน Karamo ไม่ได้บอกว่าบทสนทนาของตำรวจและเกย์คนหนึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ในสหรัฐอเมริกาได้ แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้ตระหนักรู้ว่าที่นี่ มีเรื่องนี้ที่เป็นปัญหาอยู่
นอกจากประเด็น Black Lifes Matter และเรื่องการ Come out ของชาว LGBT รายการนี้ยังพาเราไปสำรวจบางคอนเซ็ปต์อ่อนไหวที่เราอาจไม่ทันได้คิด
ใน EP แรก ระหว่างทางไปร้านขายฟูก Tom Jackson ถาม Bobby
Tom : คุณแต่งงานหรือยัง?
Bobby : ผมแต่งงานแล้ว เราอยู่กินกันมา 13 ปี กว่าจะแต่งได้ถูกกฎหมายก็ 5 ปีก่อนนี่เอง
Tom : คุณเป็นสามีหรือภรรยา?
Jonathan : นี่เป็นความเข้าใจผิด
Bobby : ใช่ มาอธิบายเรื่องนี้กัน That’s a little sexist ทอม
Tom : ผมต้องขอโทษด้วย
Jonathan : นิดหน่อย ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ในฐานะเกย์ ผมเจอเรื่องนี้ตอนที่ผมมีชีวิตคู่ “Who wear the pants?” แม้แต่กับคู่รักชายหญิง ผมมองว่าเส้นแบ่งพวกนี้มันไม่ชัดเจนอีกต่อไปแล้ว และไม่ว่าบทบาทของคุณคืออะไร ไม่ว่าคุณเป็นดวงจันทร์หรือพระอาทิตย์ พระจันทร์จะมีพลังแบบผู้หญิงหน่อย พระอาทิตย์ก็จะแบบผู้ชายหน่อย ผมว่ามันเป็นข้อดีนะถ้าเรามีทั้งสองอย่าง
Bobby : We both wear the pants.
คำตอบของ Jonathan และ Bobby ทั้งทำเอาเราตบเข่าฉาดอยู่หน้าจอและรู้สึกหน้าชาไปพร้อมๆ กัน เพราะก็เคยถามเพื่อนเกย์แบบนี้อยู่บ้าง
เมื่อดูจบทั้ง 8 ตอน นอกจากจะเฝ้ารอซีซั่น 2 ให้มาไวๆ ในใจก็ชวนตั้งคำถามว่า การแต่งตัวในแบบที่เรารู้สึกสบายแต่ไม่ได้เป็นการแต่งกายในกระแสนั้นต้องเมคโอเวอร์ไหม การที่เราเป็นคนแบบหนึ่งในที่ทำงาน เป็นอีกแบบหนึ่งกับเพื่อน และเป็นคนละคนเมื่ออยู่บ้านคนเดียวนั้น เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงเลยหรือ การมีบ้านเป็นหลุมหลบภัยและเป็นพื้นที่ส่วนตัวนั้นถือเป็นเรื่องผิดบาปหรือไม่ และต้องใช้เงินมากมายแค่ไหนในการจะเมคโอเวอร์ตัวเอง และรีโนเวทบ้านใหม่ให้เป็นอย่างฝัน
แต่ที่แน่ๆ ดูแล้วแม้จะไม่ได้อยากลุกขึ้นมาเปิดห้องชวนเพื่อนมาปาร์ตี้ หรือเปลี่ยนจากคนที่ชอบแฮงก์เอาท์เฉพาะคนรู้จักไปมิงเกิลกับคนใหม่ๆ แต่อย่างน้อยๆ ดูแล้วก็อยากจะลุกขึ้นมาเก็บห้องที่รกไม่แพ้คนที่ถูกเสนอชื่อไปในแต่ละตอน (เขินอาย เอามือม้วนชายเสื้อ) และแต่งตัวเพื่อตัวเองอยู่บ้างเหมือนกัน
และแม้ Queer Eye จะเข้าถึงคนดูหมู่มากจนถึงขนาดมีวลีใหม่แทน ‘Netflix and chill’ ว่า ‘Queer Eye and cry’ และได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกมากมายจากหลายๆ สื่อ แต่ในขณะเดียวกันนักวิจารณ์บางกลุ่มก็บอกว่า Queer Eye นั้นไม่เควียร์เลย – และเลิกเสียทีกับการที่เอาเกย์มาเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมเควียร์ทั้งหมด