หลังจากกระแส #แบนเมียจำเป็น และ #ข่มขืนผ่านจอพอกันที เป็นเทรนด์ขึ้นมาเมื่อกลางเดือนก่อน ซึ่งเกิดจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการนำเอาบทข่มขืนมาผลิตซ้ำเรื่อยๆ ซึ่งชวนตั้งคำถามว่าทำไมฉากข่มขืนถึงยังมีอยู่ในสังคม และมีขึ้นด้วยเหตุผลใด
ไม่กี่ปีก่อนมีบทความที่พูดถึงคำว่าข่มขืนที่ในไทยมีอีกคำในการใช้คือ ‘ปล้ำ’ ซึ่งเป็นการลดทอนความรุนแรงของการข่มขืนให้เหลือเพียงการกระทำอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อาชญากรรม ซึ่งละครไทยเองก็มีการใช้คำคำนี้ในการโปรโมทหรือกล่าวถึงเหตุการณ์ข่มขืนอยู่เสมอ
เมื่อได้คุยกับเพจ นักเขียนบทปลดแอก ซึ่งเป็นเพจของกลุ่มผู้เขียนบทละครไทย ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเขียนบทในละครไทย ทางเพจได้บอกกับเราว่า
“ถ้าหมายถึงฉากพระเอกข่มขืนนางเอกต้องบอกว่าในยุคนี้ไม่เห็นแล้วนะ คือส่วนมากฉากพวกนี้มักจะมาจากนิยายเก่าๆ เป็น Fantasy ของคนสมัยก่อน ส่วนฉากข่มขืนในประเด็นอื่น ขึ้นอยู่กับเจตนาว่าจะเล่าเพื่ออะไร อย่างในละครล่าสุดที่เป็นประเด็นเพราะมีการโทษเหยื่อเกิดขึ้น
“ส่วนตัวคิดว่าประเด็นข่มขืนในละครยังมีอยู่ได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบในการทำ ไม่งั้นเราคงจะไม่มีละครดีๆ ที่พูดเพื่อเหยื่อข่มขืน แต่อยากเสนอให้มีการจำกัดเรทละคร ไม่ใช่ฉายช่วงเวลาที่เป็นเรท ท (ทุกวัย)”
“คนในวงการส่วนมากไม่ได้ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องเมียจำเป็น ปรากฏการณ์แบนเมียจำเป็น ทำให้คนในวงการตื่นตัวและต้องทำงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น”
แค่ไหนเรียกข่มขืน?
คำนิยามตามมาตรา 276 วรรคสองที่ว่า “การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดย การใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น”
โดย iLaw ให้ความเห็นกับกฎหมายฉบับนี้ว่า “เมื่อพิจารณาบริบทแวดล้อมโดยรวมแล้ว เจตนาของการแก้ไขกฎหมายคงมีเพียงการขยายขอบเขตเพียงเพศของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ สิ่งที่กระทำ และอวัยวะที่ถูกกระทำ แต่คงไม่ได้ตั้งใจจะขยายขอบเขตการกระทำออกไปด้วย เพราะเมื่อดูถึงการใช้คำในวรรคสองของมาตรา 276 แล้ว ใช้คำว่า “การกระทำชำเรา… หมายความว่า….การใช้…กระทำกับ…” การใช้คำว่า “กระทำกับ” อาจหมายถึง “กระทำชำเรากับ” ก็เป็นได้ ดังนั้น การนำกฎหมายข่มขืนฉบับแก้ไขใหม่มาใช้ คงต้องยึดกับพฤติกรรมการล่วงล้ำหรือสอดใส่ หากไม่มีการกระทำดังกล่าว จะถือว่าเป็นการกระทำชำเราไม่ได้ ”
แต่ในที่นี่เราอยากไปให้ไกลกว่าแค่การข่มขืน = การสอดใส่หรือล่วงล้ำ เพียงอย่างเดียว ยิ่งในละครไทยที่มีคนดูอยู่มากมาย เมื่อการข่มขืนนั้นเกิดขึ้นจาก non-consensual sex ความพยายามในการข่มขืนนั้นจึงเป็นเรื่องที่อาจสร้างความกระทบกระเทือนทางจิตใจได้ตั้งแต่เริ่มการฉุดลากไป ดังนั้นฉากข่มขืนหรือความพยายามในการข่มขืนที่เกิดขึ้นบนจอแก้วนี้จึงชวนตั้งคำถามว่ามีความจำเป็นแค่ไหนในบทละคร
The MATTER ไปสำรวจฉากข่มขืนในละครช่องต่างๆ ได้แก่ ช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง ONE 31 ช่อง 8 ช่อง GMM TV ที่ฉายในช่วงปี 2020 ซึ่งเราสำรวจเฉพาะละครช่วงไพร์มไทม์ หรือที่รู้จักกันว่าเป็นละครหลังข่าว ที่มักเป็นช่วงที่มีคนดูสูงสุด
ซึ่งจากการสำรวจของเราพบว่าละครยังมีการใช้ฉากข่มขืนเพื่อเป็นเหตุการณ์ให้ตัวละครเอกชายเข้าไปช่วยเหลือ และผู้ถูกกระทำเป็นผู้หญิงเกือบทั้งหมด แต่หลังการพยายามข่มขืนและได้รับการช่วยเหลือจากตัวละครอื่นๆ แล้ว ไม่มีฉากของการแจ้งความหรือเอาเรื่องกับผู้กระทำผิด แต่มักปล่อยไป หรือพยายามลืมเหตุการณ์แล้วนี้ บางเรื่องมีการพูดเพื่อกล่าวโทษเหยื่อ เช่น อย่าไว้ใจคนอื่นมากไป พูดโกหก แต่ก็มีบางเรื่องลุกขึ้นมาโต้แย้งว่าผู้กระทำไม่มีสิทธิทำเช่นนี้ ไม่ใช่ความผิดของเหยื่อ
ซึ่งจริงๆ แล้วประเด็นการข่มขืนนั้นยังสามารถใส่ได้หากไม่นำเสนอ rape culture และ victim blaming หรือเป็นเพียงฉากที่ทำให้ตัวละครชายกลายเป็นฮีโร่ที่มาช่วยเหลือ และคงจะดียิ่งขึ้นหากนำเสนอกระบวนการยุติธรรมที่รับฟังเสียงของผู้ถูกกระทำมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เสียงของบุคคลที่ถูกข่มขืนสามารถเปล่งเสียงของพวกเธอได้ในชีวิตจริง
แต่ละช่องเป็นยังไงบ้าง?
ช่อง 7
ในปี 2020 ช่อง 7 เผยแพร่ละครในช่วงไพร์มไทม์ ทั้งหมด 17 เรื่อง ซึ่งมีฉากข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศทั้งหมด 9 เรื่อง โดยส่วนใหญ่มักเป็นคนร้ายที่เข้ามาล่วงละเมิดทางเพศ ถึง 8 เรื่อง คิดเป็น 66% ที่มีคนร้ายเป็นผู้กระทำ โดยผู้ถูกกระทำมักเป็นนางเอกที่คิดเป็น 58% ของผู้ถูกกระทำทั้งหมด
โดยเหตุผลของการพยายามข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศมีทั้ง ล่วงละเมิดทางเพศ เมา หึงหวง แก้แค้น และขู่บังคับ และหลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ไม่ได้มีการแจ้งความ และมะกเก็บไว้เป็นความลับ ไม่บอกใคร
ในละคร ‘คนเหนือฅน’ ตัวละเอกหญิงถูกคนร้ายซึ่งเป็นผู้คุมในคุกพยายามเข้ามาข่มขืน เธอจึงทำร้ายร่างกายเหล่าผู้คุม จนโดนสอบสวนและถูกย้ายไปยังสถานีตำรวจที่ต่างจังหวัด โดยไม่มีการช่วยเหลือสืบสวนจากภายในด้วยกันเอง นี่คือหนึ่งในวิธีการที่ไม่ยุติธรรมและเป็นการโทษเหยื่อที่พยายามป้องกันตัว
หรือในละคร ‘ปีกหงษ์’ ที่นำเอาฉากข่มขืนมาโปรโมท และให้ตัวละครเอกชายเป็นคนข่มขืนตัวละครเอกหญิงด้วยความแค้นและหึงหวง สุดท้ายก็ยังคงให้ตัวละครทั้งสองลงเอยด้วยการครองคู่กัน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง
ช่อง 3
ในส่วนของช่อง 3 ปีนี้มีละครทั้งหมด 16 เรื่อง และมีละครที่ใส่ฉากการพยายามข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศอยู่ 8 เรื่อง โดยผู้กระทำที่มีจำนวนมากที่สุดคือตัวละครแฟนเก่าที่มีสัดส่วน 37% จากตัวละครที่เป็นผู้กระทำทั้งหมด ในส่วนของผู้ถูกกระทำนั้น ตัวละครรอง ไม่ว่าจะเป็นแม่ เพื่อนนางเอก กลายเป็นผู้ที่ถูกกระทำมากที่สุด คือ 62%
โดยในช่วงปี 2020 มีอยู่เรื่องหนึ่งที่นำเสนอว่าตัวละครชายก็เป็นฝ่ายที่ถูกกระทำได้เช่นกัน นั่นคือมาจากเรื่อง ตราบฟ้ามีตะวัน ที่ตัวละครเอกหญิงพยายามจะเข้ามาข่มขืนตัวละครเอกชาย แต่พอถูกจับได้ ก็โกหกว่าตัวละครเอกชายนั้นเป็ฯฝ่ายพยายามข่มขืน จนทำให้ตัวละครเอกชายต้องหนีไปที่อื่น แต่สุดท้ายเรื่องดำเนินให้ทั้งสองกลับมาเจอกันและรักกัน
ส่วนเหตุผลในการกระทำนั้นไม่ต่างกันมากจากช่อง 7 คือ ต้องการสำเร็จความใคร่ส่วนตัว เมา เรียกร้องความสนใจ หรือแอบชอบอีกฝ่าย และหลังเกิดเหตุการณ์ก็มีผลที่ไม่ต่างกันมากนักคือมักเก็บไว้เป็นความลับ ไม่แจ้งความหรือดำเนินคดี
มีละครเรื่อง พยากรณ์ซ่อนรัก ที่น้องสาวของตัวละครเอกชายนั้นถูกแฟนเก่าข่มขืน จนกลายเป็นทรอม่า และกระทบกระเทือนจิตใจหนัก ในฉากที่น้องสาวได้เจอแฟนเก่าอีกครั้ง เธอถึงขั้นร้องไห้และควบตุมตัวเองไม่อยู่ แต่ไม่ได้มีฉากของการเข้ารับการบำบัด หรือแจ้งความใดๆ ช่วยเหลือเธอแต่อย่างใด
ช่อง 8
ช่อง 8 มีละครเพียงสองเรื่องในปี 2020 ช่วงไพร์มไทม์ โดยทั้งสองเรื่องนั้นก็มีการใส่ฉากล่วงละเมิดทางเพศและการพยายามข่มขืนเข้ามา โดยเป็นการกระทำที่เกิดจากคนร้ายที่เข้ามาพยายามล่วงละเมิดทางเพศตัวละครหญิง ที่เรื่องหนึ่งคือตัวละครเอกหญิง อีกเรื่องคือน้องสาวของตัวละครเอกชาย
โดยเหตุผลของการกระทำคือ การพยายามสำเร็จความใคร่ของตน และเหตุการณ์หลังจากนั้น คือพยายามเก็บเป็นความลับ และพยายามตามล้างแค้น
ช่อง ONE 31
ในปี 2020 ช่อง ONE 31 มีละครฉาย 9 เรื่องในช่วงไพร์มไทม์ (เฉพาะช่วงสองทุ่ม) และมีเพียงเรื่องเดียวที่มีฉากการล่วงละเมิดทางเพศ เรื่องนั้นคือ เพลงรักเจ้าพระยา ที่มีฉากตัวละครเอกหญิงถูกคนร้ายพยายามข่มขืนเพราะต้องการเอาชนะและสำเร็จความใคร่ของตน โดยพ่อของเธอเป็นคนมาช่วยเหลือไว้ แต่ก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงฉากการรล่งละเมิดทางเพศนี้ในตอนต่อๆ ไป ก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อีก
นอกจากนี้มีตัวละครรองผู้หญิงอีกคนถูกนำเสนอด้วยฉาก ตัวละครชายที่เป็นคนใกล้ตัวฝันว่าได้ข่มขืนเธอ และนำเอาฉากข่มขืนมาทำเป็นฉากสนุกสนาน และหลังจากนั้นตัวละครชายคนนี้กับตัวละครรองผู้หญิงก็มีเซ็กซ์กันด้วยความเมา ไม่ได้มาจากความยินยอม 100% แต่ก็จบลงที่ทั้งคู่รักกัน
ช่อง GMM TV
GMM TV มีละครทั้งหมด 8 เรื่อง และมีละครที่มีฉากล่วงละเมิดทางเพศอยู่ 4 เรื่อง โดยตัวละครที่ถูกกระทำคือตัวละครเอกหญิง คิดเป็น 80% จากตัวละครที่โดนกระทำ ในขณะที่ผู้กระทำคือคนร้าย 60% นอกนั้นเป็น ตัวเอกชายและคนใกล้ตัว
ในละคร เริงริตา มีการเทคแอ็กชั่นที่เพิ่มขึ้นคือมีการแจ้งตำรวจ แต่เพียงฉากโทรแจ้งเท่านั้น และไม่มีฉากใดๆ เพิ่มเติม ส่วนในละคร เนื้อใน มีบทพูดที่ต่อว่าการกระทำของตัวละครชายว่าเป็นผู้ชายไม่ได้แปลว่าเหนือกว่าคนอื่น ในขณะที่เหตุการณ์ที่ตามมาอื่นๆ ไม่ต่างกันคือ พยายามเก็บเป็นความลับ ไม่บอกใคร มีเรื่องที่เป็นการพยายามใช้ความรุนแรงจากตัวละครเอกชายต่อตัวละครเอกหญิงที่สุดท้ายทั้งคู่ก็รักกัน
โดยเหตุผลของผู้กระทำมีทั้งการสำเร็จความใคร่ของตนเอง เมา และต้องการสั่งสอน
ถึงแม้ละครที่ให้ตัวละครเอกชายข่มขืนตัวละครเอกหญิงจะมีจำนวนน้อยลงมาก ซึ่งนับว่าทางช่องและผู้จัดอาจเริ่มเข้าใจประเด็นความรุนแรงและการผลิตซ้ำบทข่มขืนเช่นนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้วการคงอยู่ของฉากข่มขืนที่ยังมีอยู่ในปัจจุบันนั้น ก็ยังคงควรถูกตั้งคำถามว่าใส่เข้ามาเพื่ออะไร และประเด็นที่ต้องการนำเสนอคืออะไร ไม่ใช่เพียงฉากที่เอาไว้ใช้สร้างฮีโร่ หรือเป็นแค่หนึ่งในรูปแบบการกระทำที่จะทำให้ตัวละครหญิงดูน่าสงสาร แต่กระบวนการออกแบบฉากหรือบทหลังจากนั้น ถึงเวลาที่ต้องออกมาบอกกล่าวเป็นกระบอกเสียงให้กับคนที่เคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายหรือการล่วงละเมิดที่ยังคงถูกปิดปากเพียงเพราะเสียงของพวกเขาไม่เคยดังพอว่าพวกเขาควรได้รับการรับฟังและไม่โดนตัดสินอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
หมายเหตุ : บางเรื่องมีฉากล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืนมากกว่า 1 ฉาก ทำให้มีจำนวนตัวละครที่ถูกข่มขืนมากกว่าจำนวนเรื่องที่ฉาย / รวบรวมเฉพาะละคร (Drama) ไม่นับซีรีส์ (Series)
อ้างอิงข้อมูลจาก