เมื่อเราเห็นข่าวความรุนแรงทางเพศจากผู้เคยกระทำผิดซ้ำๆ ความมั่นใจของเราในระบบเรือนจำและมนุษย์สั่นคลอนเสมอ
จากกรณีคดีฆาตกรรมเซลส์ขายรถที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าผู้ต้องหามีประวัติการก่อคดีมาแล้ว 5 ครั้ง โดยในจำนวนนั้นๆ 3 ครั้งเป็นคดีทางเพศ เมื่อปี 2561 เคยถูกจับกุมแล้ว แต่พ้นโทษออกมาเมื่อปี 2565 และกระทำเหตุอนาจารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 แต่ระหว่างช่วงดำเนินคดีกลับก่อเหตุอีกครั้งเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566
หลังจากอ่านและคิดเกี่ยวกับคดีดังกล่าว คำถามที่ผุดกลับขึ้นมาคือ ทำไมคนคนหนึ่งที่เคยทำผิดและเข้าเรือนจำซึ่งตามอุดมคติแล้วเข้าไปเพื่อบำบัด จึงยังก่อเหตุซ้ำ? เป็นเพียงเพราะ ‘ความชั่วร้าย’ อย่างนั้นหรือ? แล้วเมื่อมองในมุมที่กว้างออกไปจากบุคคล ‘การเกิดซ้ำ’ นั้นอยู่ในระดับสังคมเสียด้วยซ้ำหรือเปล่า? หากระบบเรือนจำของเรายังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ทางออกของเราควรเป็นอย่างไร?
The MATTER จึงชวนคุยกับ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมอาชญากร คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ เมล–เมลดา ฉัตรวิสสุตา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง THAT MAD WOMAN เพจที่พูดเกี่ยวกับแนวคิดและการขับเคลื่อนเรื่องเฟมินิสต์และความเท่าเทียมทางเพศบนอินสตาแกรม เพื่อหามุมมอง ความรู้ และทางออกที่อาจเป็นไปได้ของปัญหาที่แพร่หลายดังกล่าวในสังคม
อะไรทำให้อาชญากรคนหนึ่งกระทำผิดซ้ำ? จากมุมมองของนักอาชญวิทยา ดร.ตฤณห์ ได้ให้คำตอบที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือความผิดปกติด้านพฤตินิสัย บุคลิกภาพ และปัจจัยทางจิตเวช “อาชญากรที่กระทำผิดซ้ำจะมีความผิดปกติที่สมองส่วนที่เรียกว่า Ventromedial Prefrontal Cortex ซึ่งสมองส่วนนี้จะมีขนาดเล็กกว่าคนปกติ 11% และมีกิจกรรมทางสมองที่ตื่นตัวน้อยกว่าคนทั่วไปในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นผู้กระทำผิดแบบติดเป็นนิสัย”
เขาเจาะจงมายังคดีเกี่ยวกับความรุนแรงและคดีทางเพศว่า ในแง่สมองมักพบว่าสมองส่วนที่ชื่อ Amygdala มีความตื่นตัวและเปราะบางเป็นพิเศษทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ นั่นรวมไปถึงอาการโมโหร้ายและความต้องการทางเพศ ซึ่งนำไปสู่ความไม่สามารถควบคุมสัญชาตญาณดิบของตัวเองได้ด้วย
นอกจากเรื่องของสมอง ดร.ตฤณห์ ยังพาเราไปมองในแง่ความไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษทางกฎหมาย เขายกตัวอย่างประเด็นคดียาเสพติด คดีที่ตามสถิติแล้วมีเปอร์เซ็นต์การทำผิดซ้ำเยอะที่สุด ส่วนหนึ่งมาจากอาการติดยาที่ไม่ได้รับการบำบัดที่ถูกต้อง แต่อีกปัจจัยคือหลังจากลดทอนความเป็นอาชญากรรม (Decriminalization) เมื่อปี 2564 ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อบำบัดผู้ติดยากลับคืนสังคม เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดสมัครใจเข้าบำบัดรักษาเป็นผู้ป่วยแทนผู้กระทำผิด ส่งผลให้ผู้เสพยารายอื่นเห็นว่าการทำผิดในประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องรายแรงอีกต่อไป
หลากหลายเสียงพูดเกี่ยวกับกระบวนการการลงโทษที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการร์รูปแบบเดิมซ้ำๆ ดร.ตฤณห์ ให้ความเห็นว่าการทำผิดซ้ำแล้วลงโทษด้วยการจำคุกแบบเดิมทำให้ผู้กระทำผิดไม่เข็ดหลาบ “จากการทำงานวิจัยและลงภาคสนามสัมภาษณ์นักโทษที่อยู่ในเรือนจำ มีหลายรายที่กล่าวว่าทำผิดอย่างมากก็แค่ติดคุก ผมรู้อยู่แล้วว่าในคุกมันเป็นยังไง ครั้งแรกกลัวมาก ครั้งต่อมาไม่กลัวแล้ว”
เมลให้ความเห็นในประเด็นเดียวกันว่า “การลงโทษที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้ผู้กระทำผิดมองว่ามันเป็นเรื่องเล็ก เมื่อรู้ว่าทำไปก็ไม่ได้รับโทษร้ายแรง จึงเปิดโอกาสให้สามารถทำผิดซ้ำๆ” ความเห็นที่สะท้อนมุมมองเดียวกับ ดร.ตฤณห์ และเสริมว่า “กฎหมายที่ไม่ครอบคลุมความรุนแรงทางเพศทั้งหมดและไม่มีประสิทธิภาพเป็นการปิดโอกาสในการช่วยเหลือเหยื่อ ทำให้เหยื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องใช้ชีวิตด้วยความกลัวต่อไป”
ในแง่มุมสังคม ‘การเกิดซ้ำ’ นั้นไม่ได้หมายความเพียงว่าอาชญากรคนหนึ่งสามารถทำความผิดแบบเดิมๆ ซ้ำ แต่คือปัญหาความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคม เมื่อเราถามเกี่ยวกับแหล่งต้นตอของมัน เมลพูดย้อนไปยังระบอบที่ถูกปลูกฝังอยู่ในสังคมของเราอย่าง ‘ปิตาธิปไตย’ (Patriarchy)
เมลกล่าวว่า สาเหตุที่ผู้ชายก่อเหตุข่มขืนผู้หญิงนั้นมีเรื่องมิติทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างแรกคือผู้ชายสามารถแสดงความต้องการทางเพศได้มากกว่าผู้หญิง รวมไปถึงความรู้สึกมีอำนาจและพละกำลังมากกว่าผู้หญิง ซึ่งบ่อยครั้งแนวคิดนั้นอยู่ในจิตใต้สำนึกเสียด้วยซ้ำ
“แล้วถ้าถามว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น ก็เพราะปิตาธิปไตยปลูกฝังผู้ชายมานานว่าเขาต้องมีความเป็นชายแท้ (ที่เป็นพิษ) เช่น ต้องแข็งแกร่งตลอดเวลา ห้ามร้องไห้ และสิ่งที่แย่ที่สุดซึ่งผู้ชายเป็นได้ก็คือ ผู้หญิง ยิ่งมีความเป็นชายแท้มากเท่าไหร่ ยิ่งได้รับอำนาจ ความเคารพ และการสนับสนุนให้แสดงอำนาจนี้ออกมาได้ ก่อให้เกิดทัศนคติว่าเราสามารถไปครอบครองเพศอื่นๆ ได้” เมลพูด พร้อมวาดภาพปัญหาที่กว้างกว่าบุคคล ซึ่งเป็นปัญหาที่ค่านิยมและการปลูกฝังที่กว้างขวางไปในระดับสังคม
แล้วเราต้องทำยังไง? มุมมองของนักกิจกรรมและนักอาชญวิทยาจึงจำเป็นทั้งคู่ เนื่องจากทั้ง 2 ส่วนนั้นสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงระยะยาว ในมุมมองของเมล การแก้ไขนั้นต้องเริ่มจากการปลูกฝังมุมมองต่อมิติทางเพศที่เท่าเทียมมากขึ้น ผ่านการเรียนการสอนและการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในสังคม พร้อมทั้งปลูกฝังการสร้างความเมตตา การควบคุมตนเอง และความเข้าใจต่อกันและกันในสังคม เหล่านี้จะสามารถช่วยป้องกันอาชญากรรมได้ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย “ไม่ควรทำหน้าที่เตือน แต่ควรมีหน้าที่ลงโทษให้บทเรียนที่เท่าเทียมกับผลกระทบที่เหยื่อได้รับ”
ส่วนในมุมของ ดร.ตฤณห์ การแก้ไขนั้นต้องเริ่มจากฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอาชญากรรม แล้วบูรณาการงานวิจัยแก้ไขปัญหานักโทษที่ทำผิดซ้ำ เพื่อสร้างวิธีการลงโทษที่มีประสิทธิภาพและหลาบจำมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เขาในฐานะนักอาชญวิทยาไม่มองว่าการลงโทษด้วยการประหารชีวิตคือทางแก้ที่ถูกต้อง เนื่องจากผู้กระทำผิดจะมีโอกาสตัดสินใจฆาตกรรมเหยื่อหลังข่มขืนสูงกว่าเดิม “การประหารคือความเมตตาที่ให้กับฆาตกรมากกว่าการลิดรอนอิสรภาพตลอดชีวิต” เขากล่าว
เมื่อถามถึงรูปแบบการลงโทษที่สามารถลดอาชญากรรมทางเพศ เขาอธิบายว่าผู้กระทำผิดรูปแบบดังกล่าวมีอัตราการกระทำผิดซ้ำสูง หากอ้างอิงจากสถิติอัตรากระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวในปีงบประมาณ 2562 พบว่าผู้กระทำผิดรูปแบบดังกล่าวจะทำผิดซ้ำสูงที่สุดในปีที่ 3 ของการติดตามพฤติกรรม “หมายความว่ายิ่งห่างจากการกระทำผิดนาน ไม่ได้หมายความว่าจะไม่กระทำผิดซ้ำอีก” ดร.ตฤณห์ กล่าวและเสริมว่าระยะเวลา 3 ปีหลังพ้นโทษนั้นเป็นเวลาที่ไม่เพียงพอ
เขาเสนอว่าในความเห็นส่วนตัว การลงโทษควรเป็นการจำกัดพื้นที่ในการอยู่อาศัยและจำกัดอาชีพที่อาชญากรสามารถประกอบได้ โดยเป็นอาชีพที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและอยู่ในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบได้อย่างสะดวก เพื่อติดตามพฤติกรรมอย่างน้อย 10-20 ปีในกรณีเยาวชน แต่หากกระทำผิดเกินอายุ 20 ปีนั้นควรถูกลงโทษด้วยวิธีที่มีความหนักหนามากขึ้น เช่น การฉีดให้ไข่ฝ่อ
อ้างอิงข้อมูลจาก