“เดิมที ตำแหน่งองค์รัชทายาท ไม่ใช่ตำแหน่งที่เป็นตั้งแต่เกิด แต่เป็นการสร้างขึ้นมาต่างหาก”
เป็นเรื่องปกติที่เราจะเห็นภาพของแม่ คอยจัดแจงชีวิตให้ลูกๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า การเรียน และอาจจะไปถึงเรื่องแฟน ในซีรีส์เกาหลี Under The Queen’s Umbrella เราก็ได้เห็นภาพนี้ โดยเปลี่ยนแบ็กกราวด์มาเป็นสมัยโชซอน ที่พระราชินีอิมฮวารยอง หรือท่านแม่ของเหล่าเจ้าชายที่คอยจัดแจงชีวิต วางแผนอนาคต และเตรียมการเพื่อให้องค์ชายได้กลายเป็นองค์รัชทายาท
แม้ว่าเนื้อเรื่องจะอิงจากสมัยโชซอน แต่บทของซีรีส์ รวมถึงตัวละครกลับเป็นไม่ได้มีส่วนใดๆ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จริงในสมัยโชซอนเลย โดยเป็นบทที่ถูกแต่งขึ้นมาทั้งสิ้น แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีประวัติศาสตร์บางส่วนที่เราสามารถนำมาหยิบเล่าได้ จากเกร็ดเล็กน้อยในซีรีส์เรื่องนี้ รวมไปจุดที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์จริงของการขึ้นสืบสานวงตระกูลของราชวงศ์ และความโมเดิร์นที่ซีรีส์เรื่องนี้ใส่เข้ามา ทำให้ได้เห็นภาพสถานการณ์ปัจจุบัน แม้จะเล่าเรื่องในสมัยโชซอนก็ตาม
กษัตริย์ลีโฮในซีรีส์ และกษัตริย์ลีโฮในประวัติศาสตร์โชซอน
บางครั้งในซีรีส์เกาหลีเองก็มีการหยิบตัวละครจากประวัติศาสตร์มาสร้างเป็นเรื่องราว หรืออาจจะมีการแต่งเติมเส้นเรื่องในเวอร์ชั่นต่างๆ และแม้ Under The Queen’s Umbrella จะประกาศว่าไม่ได้อ้างอิงจากตัวละครไหนในประวัติศาสตร์ แต่ในยุคโชซอนนั้น ก็กษัตริย์ที่มีพระนามว่า ‘ลีโฮ’ อยู่จริงๆ
ในซีรีส์นั้น กษัตริย์ลีโฮขึ้นเป็นองค์รัชทายาทและกษัตริย์ได้ ไม่ใช่เพราะเป็นลูกชายคนโตของกษัตริย์กับพระราชินี แต่เขาเป็นลูกชายของสนมเอกที่ขึ้นมาเป็นองค์รัชทายาท ครองบัลลังก์ได้ เพราะแม่ของเขาวางแผนวางยาพิษ และปลงพระชนม์องค์รัชทายาท จนเกิดกระบวนการแทคฮยอน ที่แข่งขันกันระหว่างเจ้าชาย เพื่อหาคนที่ดี และเหมาะสมที่จะรับตำแหน่งรัชทายาท
แต่ในประวัติศาสตร์จริง ลีโฮที่ต่อมามีพระนามว่ากษัตริย์อินจง กษัตริย์คนที่ 12 ของโชซอนนั้น กลับต่างกันลิบลับ เพราะมีนักประวัติศาสตร์ที่เชื่อว่า เขาถูกยาพิษจนสวรรคต โดยในฐานะที่เป็นพระโอรสองค์แรก เขาได้ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่ประสูติ และสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาหลังจากการสวรรคต ซึ่งในตอนนั้นมีอายุเพียง 29 พรรษา
กษัตริย์หนุ่มผู้มีความทะเยอทะยานอย่างมาก และพยายามปฏิรูประบบในยุคนั้นที่เต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งเป็นมรดกตกทอดของการปฏิรูปที่ล้มเหลวในรัชสมัยของพระราชบิดา แต่ถึงอย่างนั้นเขาครองตำแหน่งได้เพียง 9 เดือนเท่านั้น ก่อจะสวรรคตตามพระราชบิดาในปีต่อมา โดยนักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า เขาถูกวางยาพิษ เพื่อให้น้องชายต่างมารดาได้ขึ้นครองบัลลังก์ ทั้งตามพงศาวดารที่ไม่เป็นทางการ มีเรื่องเล่าว่าพระราชินีมุนจอง สนมลำดับ 3 ของบิดา ได้เป็นคนลอบวางยาพิษด้วย
ก่อนหน้านั้นมีการเล่าว่าพระราชินีมุนจองเกลียดชังกษัตริย์อินจง แต่อยู่ๆ วันหนึ่งก็ได้แสดงความรัก และยอมรับพระองค์ในฐานะกษัตริย์ เมื่อกษัตริย์อินจงเสด็จไปทำพิธีแสดงความเคารพ และทานต็อกที่เตรียมไว้ให้ แต่ภายหลังเขาได้ล้มป่วยลงอย่างช้าๆ ก่อนจะสวรรคตไปอย่างลึกลับ ส่งผลให้นักประวัติศาสตร์เคลือบแคลง และตั้งข้อสงสัยว่าพระองค์ถูกวางยาพิษ ทั้งหลังการสวรรคต ลูกชายของราชินีมุนจอง หรือน้องชายต่างมารดา ก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์มยองจอง ขณะที่มีอายุเพียง 12 พรรษาเท่านั้น ทำให้มุนจอง ได้ขึ้นกลายเป็นราชินีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีฝ่ายที่บอกว่า เรื่องราวของยาพิษเป็นแค่ข่าวลือที่ถูกสร้างขึ้นมา และตัวพระองค์เองก็มีร่างกายที่อ่อนแอ และประชวรบ่อยอยู่แล้วด้วย โดยมีการบันทึกในพงศาวดารโชซอนว่า 1 เดือนก่อนที่พระองค์จะเสียชีวิตนั้น ทรงมีร่างกายทรุดโทรมอย่างมาก แต่ก็ปฏิเสธที่จะเข้ารับการรักษาตัว
ผู้ชายที่แต่งเป็นหญิง ในประวัติศาสตร์เกาหลี
ในซีรีส์เกาหลีบางเรื่อง เราได้เห็นตัวละครผู้หญิงแต่งกายเป็นชาย แต่ในเรื่องนี้ เราได้เห็นฉากที่องค์ชายกเยซองที่ต้องหลบซ่อนรสนิยมทางเพศ และแอบแต่งกายเป็นหญิง ซึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์ของเกาหลีนั้น มีหลายครั้งที่บันทึกถึงผู้หญิงที่แต่งตัวเป็นชาย และน้อยนักที่จะบันทึกเรื่องราวของชายแต่งหญิง แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การไม่ยอมรับการแต่งกายข้ามเพศ และทัศนคติที่มองว่าเป็นเรื่องผิดปกติถึงขั้นร้ายแรง
โดยแม้จะไม่ใช่กรณีชายที่แต่งหญิง แต่ก็มีการบันทึกถึงกษัตริย์ฮเยกง ในสมัยอาณาจักรชิลลา ที่สมัยเด็กมีพฤติกรรมคล้ายๆ การออกสาว และแสดงความเป็นผู้หญิงว่า “ชอบเล่นเกมของผู้หญิงและเตะถุงไหมเสมอ” แต่ถึงอย่างนั้นในบันทึกอื่นก็อธิบายว่าพระองค์ไม่ได้ซ่อนความเป็นหญิง และรับตำแหน่งกษัตริย์ แต่บุคลิกของพระองค์คือคนที่ควรเกิดมาเป็นผู้หญิงด้วย
นอกจากสมัยชิลลาแล้ว ยังมีการบันทึกถึงชายที่แต่งเป็นหญิงในงานทางการในช่วงปลายราชวงศ์โครยอ ในหนังสือที่บันทึกโดย นักปราชญ์ และนักกวี จองยักยอง โดยในบันทึกเล่าว่า ในงานฉลองที่กษัตริย์ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่าน ได้มีการปรากฏตัวของนักเต้นชายที่แต่งตัวด้วยชุดผู้หญิง ซึ่งเขายืนกรานว่าควรยกเลิกงานนี้ เพราะจะเป็นเรื่องตลกสำหรับคนรุ่นต่อไปหากได้เห็นการแต่งตัวข้ามเพศของชายเป็นหญิง
นักปราชญ์อีกคนที่บันทึก และแสดงความเห็นถึงการที่ชายแต่งตัวเป็นหญิงคือ อีอก นักวิชาการลัทธิขงจื่อใหม่ ที่บันทึกถึงจุดยืนว่า ผู้ชายไม่ควรแต่งตัวข้ามเพศ หนึ่งในตัวอย่างที่แสดงถึงจุดยืนเขาคือ การกล่าวถึงราชวงศ์หมิงของจีน ซึ่งเข้าย้ำว่า การที่ผู้ชายในสมัยราชวงศ์หมิงที่โกนคิ้ว แต่งหน้า และแต่งตัวเป็นผู้หญิง มักทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมหลังจากเข้าหาผู้หญิง และย้ำว่าพวกเขาควรถูกประหารชีวิต กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเขาเน้นย้ำถึงมุมมองของเขาที่ว่าผู้ชายที่แต่งกายเลียนแบบผู้หญิงควรถูกลงโทษถึงตายด้วยการตัดชิ้นส่วนอวัยวะด้วย
นอกจากการบันทึกชายแต่งข้ามเพศหญิง ที่มีน้อยกว่าแล้ว ยังเห็นได้ชัดว่า มุมมองของหญิงที่แต่งเป็นชายนั้น เบาและอ่อนกว่าผู้ชายที่แต่งกายเป็นหญิงด้วยที่มักถูกปฏิเสธอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับในซีรีส์ที่พระพันปีถึงกับกล่าวว่า ความผิดของเจ้าชายกเยซองนั้น ถึงขั้นการประหารชีวิต
การสะท้อนภาพความหวังของแม่ และประเด็นร่วมสมัยที่สอดแทรกในซีรีส์ประวัติศาสตร์
ในซีรีส์เราเห็นภาพ ‘แทคฮยอน’ การแข่งขันที่ดุเดือดของเจ้าชาย เพื่อที่จะคัดเลือกผู้มารับตำแหน่งองค์รัชทายาท ซึ่งไม่เพียงแค่เหล่าเจ้าชาย แต่เหล่าพระมารดา พระพันปี ไปถึงเสนาบดี ก็ถึงขั้นแข่งขันกันทางอำนาจเพื่อให้เกิดกระบวนการแทคฮยอนขึ้นมาให้ได้
ยุคโชซอนนั้น ความเชื่อขงจื่อถือว่ามีอิทธิพลอย่างสูง สถาบันกษัตริย์เคร่งครัดในเรื่องการสืบทอดบัลลังก์ทางสายเลือด ที่พระราชโอรสองค์แรกที่เกิดจากพระราชินีต้องสืบทอดตำแหน่งมาก แต่ในทางกลับกัน ในบรรดากษัตริย์ทั้งหมด 27 พระองค์ (บางแห่งนับ 26) มีเพียง 8 พระองค์เท่านั้นที่สืบทอดอำนาจในฐานะลูกชายคนโต แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า แทคฮยอนเป็นกระบวนการที่ทำได้อย่างอิสระ เพราะหากพระราชโอรสองค์โตมีปัญหา พระโอรสในลำดับต่อไป ก็สามารถขึ้นมาแทนในตำแหน่งได้ ทั้งในช่วงปลายราชวงศ์โชซอน ยังมีปัญหาเรื่องการที่พระราชินี หรือสนมไม่มีลูก ซึ่งต้องหาคนมาสืบทอดบัลลังก์ด้วย
ในซีรีส์เอง แทคฮยอนยังสะท้อนการแข่งขันของพระราชินี และเหล่าสนม ที่หวังรักษาอำนาจ ไต่เต้า และให้ลูกได้ดี ในประเด็นนี้ ไม่ได้สะท้อนแค่เพียงสมัยโชซอนเท่านั้น อย่างฉากที่เจ้าชายรวมตัวกันที่จงฮักเพื่อเรียน หรือที่แม่ๆ แอบตามหาติวเตอร์ จ้างครูที่เชี่ยวชาญอย่างลับๆ เพื่อเตรียมการให้ลูกๆ ในการสอบ ก็เปรียบกับระบบการศึกษาในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเกาหลีที่ยังมีการติวสอบแบบเคร่งเครียด และการส่งลูกไปสถาบันกวดวิชากันอย่างจริงจัง ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังปรากฎอยู่ในซีรีส์เกาหลีสมัยใหม่อยู่เรื่อยๆ อย่างเช่น Sky Castle หรือ Extraordinary Attorney Woo
ซีรีส์นี้ ยังเล่าเรื่องผ่านผู้หญิงเป็นตัวละครหลัก และถูกมองว่าไม่ได้ใช้ผู้หญิงเป็นแค่ตัวประกอบ หรือวัตถุด้วย โดยยุนซอกจิน ศาสตราจารย์จากสาขาภาษาและวรรณคดีเกาหลีใน มหาวิทยาลัยชุงนัมพูดถึงประเด็นนี้ว่า “ซีรีส์นี้สร้างความแตกต่าง จากงานอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน เพราะไม่ได้ทำให้ตัวละครหญิงเป็นเพียงวัตถุ แต่วางให้ตัวละครหญิงเป็นตัวเอกที่นำเรื่องราว ด้วยความปรารถนาที่จะให้ลูกชายของพวกเธอเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป”
และ “แม้ว่าโชซอนจะเป็นสังคมศักดินาที่เคร่งครัดตามมรดกทางสายเลือดและลำดับชั้น แต่ก็น่าสนใจที่ตัวละครเอกไม่ยอมรับชะตากรรมที่ถูกกำหนดไว้แล้ว และเชื่อว่าพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ผ่านการต่อสู้และการทำงานหนัก” เธอกล่าว
รวมไปถึงประเด็นที่ยังคงมักเป็นข้อพิพาทและที่ถกเถียงในเกาหลี อย่างเรื่องการข้ามเพศ แม้ว่าเรื่องนี้จะมีแบ็กกราวด์เป็นประวัติศาสตร์ แต่ก็พยายามใส่ประเด็นการยอมรับสิ่งที่ลูกเป็น ผ่านตัวพระราชินีด้วย โดยนักวิจารณ์ กงฮีจอง กล่าวว่า “การแสดงในเรื่องนี้ ยังแตกต่างจากละครอิงประวัติศาสตร์เรื่องอื่นๆ เนื่องจากไม่เพียงใช้ความลับของเจ้าชายกเยซองในการแต่งหน้าและแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสตรีเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่เน้นย้ำถึงราชินีฮวารยองในฐานะแม่ที่เข้าใจอัตลักษณ์ทางเพศของลูกชาย”
ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า แม้เกาหลีใต้จะสร้างซีรีส์ประวัติศาสตร์ ที่ย้อนยุคไปหลายร้อยปี ในสมัยที่ยังมีระบบศักดินา มีสถาบันกษัตริย์ รวมถึงมีวัฒนธรรมเก่าแก่ ที่อาจไม่ทันสมัยกับยุคปัจจุบัน แต่ในทางกลับกันก็พยายามใส่ประเด็นร่วมสมัยเข้าไป เพื่อสะท้อนภาพสังคมปัจจุบัน และเล่าเรื่องราวของโชซอนได้ควบคู่กัน
อ้างอิงจาก