แม่ๆ ตื่นแต่เช้าตรู่ แก่งแย่งต่อคิวจองคิวเพื่อสมัครโรงเรียนสอนพิเศษ แถมยังต้องจองที่นั่งให้ลูกๆ ได้นั่งเรียนหน้าๆ ลูกๆ เองเลิกเรียนแล้ว ก็ต้องไปกวดวิชาถึงดึก หลังคลาสก็ต้องคอยทำการบ้านจากโรงเรียนกวดวิชา
ภาพสะท้อนวงการการศึกษา และโรงเรียนกวดวิชาในเกาหลี ที่เราเห็นจากซีรีส์เกาหลี Crash Course in Romance ที่ถึงแม้ว่า จะเป็นซีรีส์โรแมนติกคอมมาดี้ แต่ก็ด้วยการเล่าเรื่องชีวิตของชเวชียอล พระเอกที่เป็นอาจารย์สอนคณิตท็อปสตาร์ของวงการกวดวิชา และนัมแฮงซอน น้าสาวที่เลี้ยงหลานสาววัยมัธยมปลายเหมือนลูกแท้ๆ ทำให้เราได้เห็นภาพสะท้อนของเหล่านักเรียนในเกาหลี ที่คร่ำเคร่งร่ำเรียนทั้งในโรงเรียน และการแข่งขันในสถาบันกวดวิชา
จากภาพเหล่านี้ ก็ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะไปตามหาคำตอบด้วยการพูดคุยกับครูชาวเกาหลีในสถาบันกวดวิชา และนักเรียนเกาหลีที่ผ่านประสบการณ์ในโรงเรียนกวดวิชามาตั้งแต่เด็ก จนถึงปัจจุบันว่า วงการกวดวิชาเกาหลี เข้มข้นขนาดไหน นักเรียนเกาหลี และกวดวิชาขาดกันไม่ได้จริงไหม และทำไมเกาหลีใต้ ถึงมีระบบการศึกษาที่ตึงเครียดกันขนาดนี้
ฮักวอน กับวัฒนธรรมการเรียนพิเศษ
โรงเรียนกวดวิชา หรือที่เกาหลีใต้เรียกว่า ‘ฮักวอน’ มักถูกสะท้อนออกมาผ่านซีรีส์ที่พูดถึงประเด็นการศึกษาของเกาหลี ไม่ใช่แค่ซีรีส์ Crash Course in Romance แต่ไม่ว่าจะเป็น SKY Castle ที่ครอบครัวเข้มงวดกับการส่งลูกๆ ไปเรียนพิเศษ รวมถึงยังมีชั้นเรียนพิเศษสุดโหดที่ควบคุมแม้กระทั่งเวลาชีวิตอื่นๆ หรือว่า Extraordinary Attorney Woo Youngwoo ที่แม้จะเกี่ยวกับทนาย แต่ก็มีเคสของลูกชายเจ้าของโรงเรียนกวดวิชา ที่ต้องการพาเด็กๆ ประถม ซึ่งต้องเรียนพิเศษทุกวันอย่างคร่ำเครียด ได้ออกไปเล่นสนุก และปลดปล่อย
เป็นที่รู้ๆ กันว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการศึกษาเข้มข้น หนักหน่วง และนักเรียนต้องเจอความเครียด จึงเรียกได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ที่วัฒนธรรมฮักวอน เป็นส่วนหนึ่งควบคู่กับการศึกษาภาคบังคับในโรงเรียน และเหล่านักเรียนเอง ต่างก็ล้วนผ่านประสบการณ์การเข้าเรียนในชั้นเรียนฮักวอนด้วย โดยจากการสำรวจในปี 2019 แสดงให้เห็นว่า 74.8% ของนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยมปลายได้เข้าเรียนในฮักวอน โดยนักเรียนชั้นประถมนั้นมากถึง 83.5% นักเรียนชั้นมัธยมต้น 71.4% และนักเรียนมัธยมปลาย 67.9%
รวมถึงค่าเฉลี่ยในการส่งลูกไปเรียนที่สถาบันฮักวอนนั้น ยังมากถึง ₩429,000 ต่อเดือน (ประมาณ 11,573 บาท) โดยค่าเรียนฮักวอนมักจะอยู่ที่ประมาณ ₩300,000 ต่อเดือน (8,000 บาท) หมายความว่าโดยเฉลี่ยนักเรียนจะเข้าร่วมชั้นเรียนฮักวอนอย่างน้อย 1 หรือ 2 ครั้ง
ดาอิน นักศึกษาจบใหม่ ผู้เริ่มงานได้ 2 เดือนเล่าว่า ถึงแม้เธอจะเรียนจบ ทำงานแล้ว ทุกวันนี้ เธอเองก็ยังเข้าเรียนที่ฮักวอนอยู่
“ตอน ม.ปลาย ฉันเองก็เข้าเรียนชั้นภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ โดยประมาณหนึ่งอาทิตย์ จะเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ 2 ครั้ง และเรียนพิเศษคณิตศาสตร์ 2 ครั้ง ส่วนประมาณ 2 เดือนก่อน ในขณะที่เตรียมตัวหางาน ฉันเริ่มเรียนภาษาอังกฤษคลาส TOEIC โดยตอนนี้ก็ยังไปเรียนพิเศษ TOEIC หลังจากเลิกงาน 3 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2 ชั่วโมง”
ฉันเลือกเรียนที่สถาบัน TOEIC เพราะพวกเขาสามารถช่วยให้ฉันทำคะแนนเพิ่มได้เร็ว ที่สถาบันกวดวิชาจัดการนักเรียนอย่างเป็นระบบ เช่น ให้หนังสือแก้โจทย์ของโรงเรียนกวดวิชา สมุดคำศัพท์ภาษาอังกฤษ และทำการตรวจการบ้านทุกวัน ดังนั้นเราจึงสามารถทำคะแนน TOEIC ได้ในระยะเวลาอันสั้น ตั้งแต่เข้าเรียนที่ฮักวอน คะแนนของฉันจาก 715 คะแนน เพิ่มขึ้นเป็น 840 คะแนน” นี่คือเหตุผลที่เธอยังคงเข้าชั้นเรียนฮักวอนอยู่ ซึ่งในเกาหลีเอง ชั้นเรียนฮักวอน หรือห้องเรียนติวสอบ ไม่ได้มีแค่สำหรับนักเรียนมัธยม แต่ยังไปถึงการติวสอบเข้าทำงาน อย่างคลาสติวเข้าบริษัทเอกชน ไปถึงติวสอบราชการเลยด้วย
ด้านอึนจู นักศึกษาวัย 21 ปี เล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์การเข้าเรียนในฮักวอนของเธอว่า เธอเริ่มชั้นเรียนฮักวอนตั้งแต่ 5 ขวบ “ฉันเริ่มเรียนพิเศษเพื่อเรียนภาษาเกาหลีและยังคงเรียนพิเศษต่อเนื่องจนถึงมัธยมปลาย แม้ว่าเวลาจะแตกต่างกันไป แต่ปกติหลังจากเลิกเรียนแล้ว ฉันไปเรียนพิเศษทุกวัน ตอนประถมฉันเรียนเปียโน และโรงเรียนสอนศิลปะพร้อมกับสถาบันที่ดูแลทุกวิชา ตอนมัธยมต้นและมัธยมปลาย ฉันเรียนภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และภาษาเกาหลี ฉันเป็นนักเรียนที่ไปฮักวอนทุกวันหลังเลิกเรียน ปกติถ้าโรงเรียนเลิกตอน 5 โมง เวลากลับบ้านคือ 5 ทุ่ม”
“พ่อแม่ชาวเกาหลีคิดว่าลูกๆ ของพวกเขาจะไม่สามารถเรียนได้ดี ถ้าพวกเขาไม่ไปเรียนพิเศษ พ่อแม่ยังคงส่งลูกไปเรียนพิเศษเพราะคิดว่าลูกๆ ของพวกเขาสามารถเรียนรู้ได้อย่างถูกต้องโดยการไปเรียนพิเศษ แบบไม่มีพักเลย! นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังเลือกสถาบันการศึกษาเป็นพื้นฐานหากต้องการเรียนรู้บางสิ่งบางอย่าง นั่นกลายเป็นวัฒนธรรมที่เกาหลีไม่มีคลาสอะไรที่โรงเรียนสอนพิเศษไม่มี มีแม้กระทั่งครูที่สอนการกระโดดเชือกเพื่อประเมินผลการเรียนของเด็ก ฉันเองก็เป็นนักเรียนคนหนึ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมทั่วไปเช่นนั้น เมื่อเด็กๆ รอบๆ ตัวฉันไปเรียนพิเศษ ฉันก็ไปเรียนพิเศษตามธรรมชาติ จนเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน”
การแข่งขันแย่งชิงที่นั่งในกวดวิชา และการเรียนที่เข้มข้นยิ่งกว่าในโรงเรียน
และถ้าที่ไทยมีตึกอุ๊ หรือตึกวรรณสรที่เป็นแหล่งรวมโรงเรียนกวดวิชา เกาหลีใต้เองก็มีย่านกังนัม และซอโซ ที่เราจะเห็นฮักวอนมากมาย และช่วงเวลา 4 ทุ่ม เมื่อชั้นเรียนฮักวอนเลิก คุณสามารถสังเกตเห็นนักเรียนหลายร้อยคนจากฮักวอนหลั่งไหลออกมาบนถนน บนรถบัส หรือเหล่าผู้ปกครองที่รอรับบุตรหลาน จนทำให้การจราจรในเขตเหล่านี้ติดขัดในช่วงเวลานี้
อึนจูเองก็บอกว่า ภาพในซีรีส์ที่แม่ๆ รอรับ หรือไปต่อคิวหน้าฮักวอนนั้น มีจริงๆ ในเกาหลี โดยแม่ๆ ที่ไปรับลูกที่โรงเรียนหลังเลิกเรียน และรอรับต่อที่สถาบันกวดวิชานั้น ถูกเรียกว่า ‘ฮักวอนไรดิ้ง’ “ไม่เพียงแต่กังนัมเท่านั้น แต่บริเวณในเขตโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้วย แม่หลายคนก็เป็นเช่นนั้น แม่เหล่านั้นยืนต่อแถวรอคิวแทนลูก ๆ ของพวกเขาและกระตือรือร้นเพื่อให้ลูกๆ ได้เข้าเรียนชั้นเรียนที่ดี ในความเป็นจริงสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของเกาหลีสามารถเข้าเรียนได้หากมีเงิน ทั้งยังมีระบบที่สถาบันกวดวิชาบางแห่งอนุญาตให้เด็กเข้าเรียนได้หลังจากผ่านการทดสอบระดับ แต่ส่วนใหญ่แล้วการเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงไม่ใช่เรื่องยากเลยหากมีเงิน” เธอเล่า
ด้านดาอินเล่าว่า ตอนนี้เธอเข้าเรียนฮักวอนในฐานะพนักงานบริษัท สภาพแวดล้อมเลยแตกต่างจากนักเรียนที่เตรียมสอบ แต่ถึงอย่างนั้น คลาสเรียนของเธอก็เป็นคาบของอาจารย์ชื่อดัง ที่รับนักเรียน 100 คนในคลาส และมีคลาสเรียนถึงวันละ 4 ครั้ง แต่ก็จะเต็มใน 2-3 วันที่เปิดรับสมัคร เพราะเป็นคลาสที่มีชื่อเสียงด้วย
พวกเธอยังเล่าเหมือนกันว่า ในโรงเรียนกวดวิชานั้น ไม่ใช่แค่มาเรียนถึงดึก แล้วก็กลับเท่านั้น แต่ยังมีการบ้านมากมายที่ต้องทำ อย่างที่เราเห็นบังซูอาในซีรีส์ Crash Course in Romance ที่เอาการบ้านมานั่งทำในห้องเรียนในโรงเรียน รวมถึงยังมีความกดดันอื่นๆ ในห้องเรียนด้วย แต่เหตุผลหนึ่งที่ดาอินเลือกเรียนกวดวิชานั้น ก็เพราะตารางที่โรงเรียนเตรียมไว้ให้ส่งผลต่อการทำคะแนนที่ดีขึ้น “ถ้าคุณทำตามตารางงานที่โรงเรียนเตรียมไว้อย่างเคร่งครัด คะแนนของคุณก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่ก็มีความกดดันอยู่เหมือนกัน ฉันไม่แน่ใจว่าทุกโรงเรียนสอนพิเศษเป็นแบบนั้นหรือเปล่า แต่การบ้านในสถาบันกวดวิชาที่ฉันเรียนอยู่มีเยอะมาก (การแก้โจทย์มากกว่า 50 ข้อ การเขียนโน้ตคำตอบที่ผิด ไวยากรณ์ และจำคำศัพท์ 50 คำต่อวัน) ทำให้รู้สึกกดดันว่า ถ้าคุณทำการบ้านไม่ได้ คุณจะตามตารางเรียนไม่ทัน
สถาบันกวดวิชาเองก็มีแรงกดดันต่อ ‘ลัทธิความสามารถ’ ยกตัวอย่างเช่น ครูสอนพิเศษมักจะพูดว่า “ถ้าคุณเล่น คะแนนจะไม่เพิ่มขึ้น คนอื่นๆ จะเรียนหนักแค่ไหนตอนที่พวกเธอเล่นกัน พวกเขาจัดตารางการบ้านให้ แล้วจะทำคะแนนได้อย่างไรถ้าพวกเธอมัวแต่เล่น?” มันกดดันมากเหมือนกันเวลาได้ยิน
อึนจูเองก็บอกว่า ฮักวอนนั้นช่วยพัฒนาความสามารถเธอ แต่วัฒนธรรมนี้ก็สร้างความกดดันให้เธอมากเช่นกัน “จริงๆ ถ้าเป็นวิชาที่ฉันเรียนเพราะอยากเรียน กวดวิชาก็ช่วยได้ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ฉันคิดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีฮักวอน การเรียนรู้ซ้ำๆ และการแก้โจทย์ปัญหาในสถาบันกวดวิชาช่วยได้มากในการสอบ และฉันคิดว่าถ้าไม่ใช่สถาบันกวดวิชา ฉันก็คงไม่ได้เรียนมากขนาดนั้น และเพราะว่าฉันเป็นคนที่มีนิสัยกลัวการถูกเกลียดจากใครสักคน ฉันจึงตั้งใจเรียนเพื่อไม่ให้โดนครูดุ แต่ตอนอยู่ชั้น ม.3 ฉันมีการบ้านให้แก้โจทย์เลขที่เยอะมากๆ และต้องทำทั้งหมดภายใน 1 สัปดาห์ นั่นทำให้ฉันเลือกที่ลาออกจากฮักวอนนั้น ตอนนั้นเองที่ฉันรู้สึกว่าแรงกดดันที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดสถานการณ์ที่อยากยอมแพ้แทน”
คิริน อาจารย์สอนภาษาเกาหลีในโรงเรียนกวดวิชา ที่ทำงานสอน 5 วันต่อสัปดาห์ก็เล่าว่า เธอยอมรับว่าภาพแบบในซีรีส์ที่แม่ๆ ต่อคิวยาวๆ ทุ่มเทให้ลูกๆ ได้เรียนชั้นดีๆ ในฮักวอน อาจจะดูโอเว่อร์ไปหน่อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีเลยในเกาหลี “แต่มันก็ไม่ใช่ว่านักเรียนทุกคนและสถาบันกวดวิชาในเกาหลีเป็นแบบนั้น ฉันคิดว่าพ่อแม่และนักเรียนไปเรียนเพื่อการศึกษาที่ดีขึ้น แต่มันจะดี ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าทั้งตัวนักเรียนและตัวผู้ปกครองต้องการตรงกัน ฉันว่าถ้าแค่นักเรียนหรือผู้ปกครองต้องการ เพียงฝ่ายเดียว มันจะเป็นการบังคับและกดดันในสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นั้น และเป็นวิธีการเรียนการสอนที่ไม่ดีนัก”
เธอยังเล่าต่ออีกว่า การศึกษาในเกาหลีเปลี่ยนไปมาก เริ่มมีโรงเรียนที่ไม่ได้กดดันด้านวิชาการ และการศึกษาของเด็กๆ “มีโรงเรียนที่เน้นในด้านศิลปะและกีฬาที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นทุกวันนี้ โรงเรียนและสถาบันกวดวิชาจึงมีคลาสเรียนให้นักเรียนเกาหลีหลากหลายเช่นการเต้น ร้องเพลง เปียโน กีฬา”
เกาหลีใต้ ประเทศที่การศึกษาและชื่อเสียงมหาวิทยาลัย ยังเป็นเรื่องสำคัญ
การสอบซูนึง หรือเอนทรานซ์ในเกาหลี ถือเป็นอีเวนต์ใหญ่ในชีวิตของเด็กเกาหลีมากๆ ทำให้หลายคนร่ำเรียนอย่างคร่ำเคร่งทั้งในโรงเรียนและในกวดวิชาเพื่อการสอบนี้ อีกทั้งในเกาหลีเอง ยังถือว่าเป็นวันสำคัญ ที่เครื่องบินจะหยุดบิน เพราะรบกวนสมาธินักเรียน ตำรวจจะคอยขับรถอำนวยความสะดวกให้นักเรียนไปเข้าสอบ และแม่ๆ จะไปสวดภาวนาตามวัด ตามโบสถ์
“ชีวิตในรั้วการศึกษา 12 ปี (ประถม+มัธยมต้น+มัธยมปลาย) เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสอบซูนึง”ดาอินเล่าว่าที่เกาหลีใต้มีคำพูดนี้อยู่ และสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในเกาหลียังคงแข็งแกร่งอยู่ เพราะว่าการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไหน มีผลอย่างมากต่ออนาคตของเรา
อึนจูก็มองเช่นกันว่า ในเกาหลียังมีคนจำนวนมากที่เชื่อว่าชีวิตจะประสบความสำเร็จหากสอบเอ็นทรานซ์ได้ดี “เด็กๆ จึงเรียนอย่างหนัก เพื่อให้สอบเอ็นทรานซ์ได้ดีตามความเชื่อแปลกๆ นี้ สิ่งที่น่าเศร้าคือ มีนักเรียนจำนวนมากเลือกที่จะฆ่าตัวตายในวันสอบซูนึง และในเกาหลีมีนักเรียนจำนวนมากที่หลงทางหรือเลือกสิ่งที่ไม่ดีเนื่องจากความเครียดทางวิชาการ ทั้งยังมีพ่อแม่ และครูยังตีนักเรียนด้วยความคิดที่ว่าถ้าเด็กทำข้อสอบได้ไม่ดี ชีวิตของเขาก็จะถูกทำลายเช่นกัน”
หลังจากพูดคุยกับทั้ง 3 คน ถึงประสบการณ์กับฮักวอน และการศึกษาในเกาหลี ทั้ง 3 คนก็บอกกับเราว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกาหลียังมีปัญหาเรื่องการศึกษาอยู่มาก เราจึงถามคำถามสุดท้าย ถึงสิ่งที่พวกเธออยากจะเปลี่ยนในระบบการศึกษาของเกาหลีใต้
ดาอินบอกว่า เกาหลีใต้มีมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่เรียกว่า SKY (มหาวิทยาลัยโซล, มหาวิทยาลัยโคเรีย, มหาวิทยาลัยยอนเซ) แต่เทรนด์ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า มีนักเรียนจำนวนมากที่สอบเข้าได้ในมหาวิทยาลัยเหล่านี้ แต่ไม่เข้าเรียน และเลือกที่จะเตรียมตัวเพื่อสอบในโรงเรียนแพทย์แทน (ซึ่งถ้าสอบไม่ติดแพทย์ ก็ยังคงสถานะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเหล่านี้) โดยเธอคิดว่าการเข้าโรงเรียนแพทย์ จะสามารถหาเงินในอนาคตได้ดีกว่าการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และสามารถสร้างชีวิตที่มั่นคงได้
“ระบบการศึกษาของเกาหลีเผชิญปัญหาเกี่ยวกับความสามารถ และการสนใจเพียงแค่ชื่อของมหาวิทยาลัย ฉันคิดว่าตอนนี้บริษัทควรจ้างงานโดยใช้ระบบการปกปิดสถาบันในตอนสมัครงาน ซึ่งในยุคของอดีต ประธานาธิบดี มุนแจอิน เขาได้เริ่มระบบนั้นกับหน่วยงานของรัฐ แต่รัฐบาลปัจจุบันของยุนซอกยอลได้ยกเลิกระบบนั้นไป” ดาอินเล่า
“ยิ่งนักเรียนพึ่งพาสถาบันกวดวิชามากเท่าไหร่ ความสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนก็ยิ่งลดลง” อึนจูมองว่า เกาหลีใต้พึ่งพาสถาบันกวดวิชามากเกินไป จนอาจขาดความสามารถเรียนรู้ชีวิตที่แท้จริง “นักเรียนและผู้ปกครองจำนวนมากรู้สึกกระวนกระวายใจหากไม่มีฮักวอน และทุกคนเชื่อว่าพวกเขาจะต้องไปที่ฮักวอนเพื่อให้ได้คะแนนที่ดี เพื่อเรียนกับครูที่ดี และตำราเรียนที่ดี ซึ่งสุดท้ายก็เป็นเหมือนวังวนที่ต้องเข้าเรียนฮักวอนเพิ่มอีก และท้ายที่สุดทำให้เราลืมวิธีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และการเรียนคนเดียวด้วยตนเอง กลายเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ
เธอยังบอกว่า ภายใต้วัฒนธรรม ‘ปัลลีปัลลี’ หรือที่ทุกอย่างเร่งรีบรวดเร็วไปหมดนั้น การศึกษาก็กลายเป็นสิ่งที่นักเรียนต้องเรียนรู้ให้ได้อย่างรวดเร็ว “เด็กๆ เลยต้องเรียน และทำการบ้านตลอดทั้งคืน แต่ในที่สุดพวกเขาก็ลืมทุกอย่างหลังจากผ่านไปใน 1 เดือน โดยไม่รู้เลยว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง การศึกษาที่แท้จริงเป็นสิ่งจำเป็น การศึกษาที่ทำให้เด็กได้จำ และเรียนรู้ เข้าไปอยู่ในชีวิต และใจของเด็กๆ รวมถึงฉันคิดว่ามันเป็นความผิดพลาดอย่างมากที่ในเกาหลีการศึกษาของโรงเรียนกวดวิชา ฮักวอนเอกชนมีอำนาจมากกว่าการศึกษาของรัฐ สิ่งนี้จะนำไปสู่ปัญหาสังคมที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต”
ในฐานะครู คิรินเองก็หวังว่าการเรียนรู้ จะไม่ใช่เพื่อการสอนให้เด็กนำไปใช้ในการสอบ และเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น
“จริงๆ ฉันอยากให้พวกเด็กๆ มีเวลา ที่จะหาคำตอบ ว่าทำไมพวกเขาถึงต้องเรียนหนังสือ ทำไมถึงไปโรงเรียน เพราะช่วงเวลาการเป็นนักเรียน เป็นช่วงเวลาที่ตัวตนและความเชื่อมั่นในตัวเองก่อตัวขึ้น ฉันว่านักเรียนต้องการเวลาในการค้นหาตัวเองว่าคาดหวัง และอยากเป็นอะไร ไม่ใช่ตัวตนที่สังคมคาดหวัง และนอกจากการเลี้ยงลูกๆ เพื่อให้พ่อแม่ และสังคมพึงพอใจ ไม่เพียงแค่ต้องฉลาดอย่างเดียว ฉันว่าการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนก็เป็นเรื่องจำเป็นต่อการเรียนในอนาคตของนักเรียน”