เดือนพฤษภาคมนับเป็นเดือนเกิดของ ชินจัง โนฮาระ ชิโนะสุเกะ ที่เกิดในวันที่ 5 พฤษภาคม แต่จะว่าไปแล้วในการ์ตูนเรื่องนี้ ชินจังไม่เคยฉลองวันเกิดและยังคงเป็นเด็กชายแก่แดดอายุ 5 ขวบตลอดไป
เครยอน ชินจัง นับเป็นเด็ก 5 ขวบอีกหนึ่งคนที่เป็นอมตะ ถ้ามองย้อนไป ชินจังเริ่มตีพิมพ์เป็นตอนๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ตัวเรื่องว่าด้วยชีวิตสมัยใหม่ เป็นชีวิตครอบครัวชนชั้นกลางแบบธรรมดาๆ ที่เราเองแม้แต่อยู่ในประเทศไทยก็มีชีวิตคล้ายๆ กับบ้านโนฮาระที่อยู่ชานเมือง เป็นเมืองรอบนอกของโตเกียว ฮิโรชิในฐานะหัวหน้าครอบครัว โหนรถไฟไปทำงานในเมืองทุกๆ วัน ส่วนมิซาเอะก็สาละวนในฐานะแม่บ้าน ดูแลลูกที่ต่อมามีถึง 2 คน แต่ความตลกของชินจังอยู่ในชีวิตประจำวันและเรื่องธรรมดาๆ ที่มีเจ้าชินจังและตัวละครอื่นๆ ช่วยสร้างเรื่องให้ชีวิตประจำวันนี้ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป
หัวใจอย่างหนึ่งในเรื่องชินจัง คือการมีชีวิตที่มีความสุข ไม่ว่าชินจังหรือชะตากรรมต่างๆ จะทำให้ตัวละครทั้งหลายปวดหัวแค่ไหน เมื่อเราลองดูชีวิตที่น่าปวดหัวของครอบครัวโนฮาระและตัวละครอื่นๆ แล้ว ในด้านหนึ่งทำให้เราเห็นว่าชีวิตประจำวันมีความโกลาหล ไม่ว่าจะด้วยชะตากรรมหรือชินโนสุเกะที่ช่วยทำให้ชีวิตยุ่งยากขึ้น แต่ในที่สุดแล้ว ชีวิตสมัยใหม่แบบในเรื่องชินจังสะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่กายภาพหรือเมืองที่ดีนั้น ทำให้ความวุ่นวายในชีวิตทั่วไปไม่หายนะมากจนเกินไป เมืองของญี่ปุ่นเป็นเมืองที่ดีต่อเด็ก โอบอุ้มและช่วยให้ทั้งเด็กและผู้คนเติบโตได้อย่างแข็งแรง
เมืองเป็นสนามเด็กเล่นของเด็กๆ
นึกภาพว่าหากเป็นบ้านเราเอง สำหรับเด็กๆ ถนนที่พ้นไปจากรั้วบ้านทั้งหมดถือเป็นพื้นที่อันตราย แต่สำหรับชินจัง พื้นที่เมืองของญี่ปุ่นนับเป็นพื้นที่ปลอดภัย และนับเป็นสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่ของเด็กๆ ชินจังสามารถปั่นจักรยานสามล้อไปพื้นที่ใกล้ๆ บ้านได้ ไปซื้อของที่มิซาเอะฝากซื้อ และพาเจ้าชิโร่ไปเดินเล่นได้
นอกจากเมืองจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กๆ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระแล้ว เมืองยังนับเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้และการเติบโต ถ้าเราเคยดูรายการ Old Enough! รายการเรียลลิตี้ของญี่ปุ่นที่ให้เด็กอนุบาลทำภารกิจด้วยตัวเอง ภารกิจที่ส่วนใหญ่คือการเดินไปยังสถานที่ต่างๆ ในละแวกบ้าน ไปซื้อของบ้าง รับของบ้าง หรือไปส่งของบ้าง ในการ์ตูนเรื่องชินจังเอง นอกจากชินจังและผองเพื่อนจะไปจ่ายกับข้าวและเดินเตร่ไปในย่านรอบๆ ได้อย่างสบายใจแล้ว ยังมีตอนที่ไอย์จังผู้ไม่เคยไปจ่ายตลาด อยากจะไปจ่ายตลาดเพื่อแสดงถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย
การเดินในเมืองนับเป็นวีถีชีวิตสำคัญของเด็กญี่ปุ่น การส่งเสริมเมืองที่เดินได้และปลอดภัยมีหลายองค์ประกอบ หนึ่งในนั้นคือกิจวัตรการเดินไปโรงเรียนของเด็กๆ วัยประถม เด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องเดินไปโรงเรียนเอง อย่างแรกคือการมีโรงเรียนอยู่ในละแวกบ้าน ผังเมืองของญี่ปุ่นมักมีลักษณะเป็นบล็อกขนาดใหญ่ วงด้านในมักเป็นเขตชุมชน โดยชุมชนนั้นจะทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาเพื่อช่วยดูแลเด็กๆ ในขณะเดียวกัน ทัศนคติพื้นฐานเช่นการขับรถของผู้คนก็ถูกปลูกฝังในเรื่องการให้ทางและการระมัดระวังคนเดินเท้า มากกว่าจะให้สิทธิพิเศษกับคนขับรถ
ความเป็นละแวกบ้าน มีความสำคัญทั้งการทำให้เมืองเป็นพื้นที่ของผู้คน ตัวอย่างสำคัญของความเป็นย่านคือ การที่มิซาเอะสามารถขี่จักรยานไปส่งชินจังได้ในทุกๆ เช้า เมื่อชินจังตื่นหรือแต่งตัวไม่ทันขึ้นรถโรงเรียน แม้จะลำบากหน่อย แต่ก็ได้ออกกำลังกายและยังสามารถพาลูกไปส่งโรงเรียนได้ทันเวลา
สนามเด็กเล่นจิ๋ว
นอกจากบ้านและโรงเรียนแล้ว พื้นที่เที่ยวเตร่สำคัญของชินจังและเพื่อนคือ สนามเด็กเล่น เจ้าสนามเด็กเล่นขนาดเล็กที่เราพบเห็นได้ในการ์ตูนและหนังเรื่องอื่นๆ นับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของเมืองของญี่ปุ่น เป็นหมุดหมายหนึ่งของการพัฒนาที่สะท้อนความคิดในการสร้างเมืองของผู้คน โดยเฉพาะการสร้างเมืองขึ้นใหม่ในยุคหลังภัยพิบัติและความยากลำบาก
โดยทั่วไป สวนสาธารณะขนาดเล็กที่เราอาจจะเรียกว่าเป็นสนามเด็กเล่นจิ๋ว เป็นพื้นที่ของเมืองที่จะสร้างไว้ใกล้กับโรงเรียนอนุบาล จุดกำเนิดหนึ่งของสวนขนาดเล็กนี้ ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1923 ญี่ปุ่นในยุคนั้นถือว่าผ่านวิกฤตมาอย่างโชกโชน เป็นปีที่เขตคันโตในญี่ปุ่นเผชิญกับแผ่นดินไหวใหญ่ สำหรับการพัฒนาเมืองสมัยนั้นจึงมองว่า เมื่อกรุงโตเกียวราบเป็นหน้ากลองแล้ว เมืองเองก็ควรจะสร้างพื้นที่ขึ้นใหม่ โดยหนึ่งในกลยุทธ์นี้คือการเพิ่มพื้นที่เล่นให้เด็กๆ
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ กรุงโตเกียวได้จัดการสร้างสวนสาธารณะที่เป็นสนามเด็กเล่นขนาดเล็กขึ้นทั่วเมือง โดยมีโรงเรียนประถม และด้วยแนวคิดดังกล่าว กรุงโตเกียวจึงได้จัดสร้างสวนสาธารณะขนาดเล็กทั้งหมด 52 แห่งขึ้นพร้อมๆ กับการฟื้นฟูเมือง สวนสาธารณะขนาดเล็กนี้จึงกลายเป็นหัวใจเล็กๆ ของการใช้ชีวิต เป็นทั้งพื้นที่หย่อนใจ เป็นทั้งพื้นที่ส่งเสริมสุขภาพสำหรับเด็กและผู้คนโดยทั่วไป
แน่นอนว่าการเปิดพื้นที่เมืองให้เป็นพื้นที่ของเด็กๆ นับเป็นหลักคิดพื้นฐานว่าพื้นที่เมืองควรเป็นของทุกคน การมีพื้นที่เมืองที่ให้เด็กวิ่งเล่นได้ มีพื้นที่สีเขียว และสนามเด็กเล่นเล็กๆ จึงเป็นการส่งเสริมสุขภาพของเด็กๆ และผู้คนในหลายด้าน เพราะพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ที่เปิดกว้างนั้นช่วยส่งเสริมการออกกำลังกายและสุขภาพกายที่ดี นอกจากนี้ พื้นที่เล็กๆ เหล่านี้ยังเป็นพื้นที่ส่งเสริมความเป็นชุมชน เด็กๆ ได้ออกมาเล่นด้วยกัน มีปฏิสัมพันธ์กันทั้งกับเด็กเองและกับชุมชน เราจะเห็นว่าการ์ตูนในเรื่องนี้หลายครั้งที่เด็กได้เจอกับตัวละครอื่นๆ ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือได้ช่วยคุณลุงหรือเด็กคนอื่น ก็ล้วนเพราะมีเมืองใหญ่ที่ปลอดภัยเป็นฉากหลัง
ชีวิตวุ่นวายที่พอใช้ได้
ความตลกหนึ่งของชินจังคือการเสียดสีชีวิตครอบครัว โดยทั่วไปครอบครัวโนฮาระมักจะถูกล้อว่าเป็นครอบครัวระดับกลางๆ ยิ่งเทียบกับครอบครัวบ้านคาซามะ บ้านชินจังซึ่งเป็นบ้าน 2 ชั้นและต้องผ่อนอีก 20 กว่าปี ฮิโรชิ หัวหน้าครอบครัว เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร ส่วนมิซาเอะก็ต้องบริหารจัดการความเป็นไปของบ้าน ประหยัดบ้าง ชักหน้าไม่ถึงหลังบ้าง
ทว่าโดยรวมแล้ว ครอบครัวโนฮาระก็ไม่ได้ว่าด้วยเรื่องราวของความยากจนแต่อย่างใด เพราะเป็นครอบครัวที่มีกินมีใช้ มีรถ 1 คัน มีลูก 2 คน มีหมา 1 ตัว มีเงินและเวลาไปท่องเที่ยวพักร้อนทั้งในประเทศ ต่างประเทศ มีข้าวกินครบทุกมื้อ และออกไปกินข้าวนอกบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นครอบครัวที่มีความมั่นคงในการใช้ชีวิตระดับหนึ่ง
ในแง่มุมเล็กๆ ของการใช้ชีวิต บ้านชินจังมีพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ค่อนข้างดี สามารถเดินไปสถานีรถไฟจากบ้านได้ ชินจังสามารถไปรับพ่อที่สถานีได้ ย่านและละแวกบ้านก็ค่อนข้างปลอดภัย มีความเป็นชุมชน มีป้าข้างบ้านที่ขี้เม้าท์ แต่ก็พึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือกันได้ บางครั้งมีจุดเล็กๆ เช่น ชินจังต้องเรียนรู้เรื่องการเก็บและเอาขยะไปทิ้งตามวันและเวลา การไปป้อมตำรวจ การเจอกับพนักงานดับเพลิงหรือภาคส่วนอื่นๆ ทั้งหมดนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับบริบทของเมืองที่เกื้อกูลดูแลซึ่งกันและกัน
ชีวิตที่ดีของชินจังจึงสัมพันธ์กับบริบทการพัฒนาเมืองไปจนถึงการเมืองในหลายๆ ด้าน แม้จะมีการบ่นเรื่องผ่อนบ้านนานแต่ฮิโรชิก็สามารถซื้อบ้านไหว บ้านโนฮาระสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนและครอบคลุม อยู่ในย่านที่สงบสุข สะอาด และปลอดภัย บางครั้งมิซาเอะป่วยกระดูกหัก ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องบ่นเรื่องค่าใช้จ่าย และไม่กลายเป็นเรื่องราวถึงขั้นล้มละลายเพราะค่ารักษา
ครอบครัวโนฮาระถึงจะดูน่าปวดหัวและบ้าๆ บอๆ แต่ด้วยบริบทต่างๆ เราเองก็มั่นใจได้ว่าครอบครัวของชินจังจะสามารถเติบโตไปได้อย่างแข็งแรงและปลอดภัย ในการเติบโตนี้ก็มีเงื่อนไขของชีวิตที่ดีที่สัมพันธ์กับเมือง เช่น เป็นเมืองที่มองเห็นเด็กๆ และเป็นเมืองที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้เติบโต โดยทั้งหมดนั้นเกี่ยวข้องกับผังเมืองและนโยบายที่ส่งเสริมการเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ครบถ้วนและครอบคลุม
ในเรื่อง ชินจังไม่ต้องเสี่ยงถูกรถชนในทุกๆ วัน รถไฟฟ้าอาจจะแน่นบ้าง แต่ก็ไม่ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ คุณตาจากต่างจังหวัดจะมาหาครอบครัวโนฮาระก็ใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องรอสงกรานต์และนั่งหลังขดหลังแข็งอยู่ที่ บขส.
อ้างอิงข้อมูลจาก