ช่วงปลายปีแบบนี้ เราอาจจะกลับมานอนดูการ์ตูนกันยาวๆ หลายคนอาจจะเลือกเรื่องที่คุ้นเคย ดูเพลินๆ จบในตอนไม่ต้องคิดอะไรมาก ซึ่งทางยูทูบก็มีช่องเจ้าของลิขสิทธิชินจัง ที่ทั้งทยอยอัปตอนใหม่ๆ ช่วงนี้ก็เริ่มมีตอนเก่าขึ้นมาให้เราดูกันเป็นชุดๆ ด้วย
ทว่า ชินจัง (เครยอนชินจัง, Crayon Shin-chan) เป็นการ์ตูนโปรดของใครหลายคน โดยเฉพาะวัยรุ่น Gen Y ที่เกิดแถวๆ ปี 2530 เจ้าชินจังเนี่ยในตอนนั้นก็สร้างปัญหาเหมือนกัน เพราะสังคม—พ่อแม่—มองว่าชินจังไม่ใช่การ์ตูนที่ดี เจ้าชินจังมันทะเล้น ทะลึ่ง ชอบเล่นอวัยวะเพศบ้าง พูดจาบ้าๆ บอๆ ทำตัวสร้างหายนะให้กับชีวิตของคนรอบข้างบ้าง ชินจังจึงตกอยู่ในการ์ตูนประเภทที่ถูกเพ่งเล็งและมองว่า ‘ไม่เหมาะสำหรับเด็ก’ เท่าไหร่
อันที่จริง ในยุค 2540 ช่วงที่ชินจังกำลังทยอยออกเป็นตอนๆ และก็เป็นที่นิยมอยู่ในประเทศไทยนั้น มุมมองต่อการ์ตูนบ้านเราก็เริ่มมีการถกเถียงโต้แย้งกันเกิดขึ้น หนึ่งในความคิดของช่วงนั้นคือ การ์ตูนแบบชินจัง ถ้าเด็กอ่านก็อาจจะสนุกในระดับหนึ่ง แต่พวกวัยรุ่นเองที่เป็นหนึ่งในแฟนชินจังก็กำลังเติบโตขึ้น ความคิดหนึ่งต่อชินจังคือ แม้ว่าตัวเรื่องจะดูเป็นการ์ตูน มีเด็กเป็นตัวเล่าเรื่องหลัก แต่อันที่จริง เรื่องราวที่มันปั่นป่วนหรือประเด็นต่างๆ ที่ถูกพูดถึงในเรื่อง มันล้วนเป็น ‘เรื่องของผู้ใหญ่’ ทั้งนั้น ชินจังกำลังชี้ให้เห็นปัญหาและชีวิตที่คนในสังคมสมัยใหม่แบบเราๆ กำลังเผชิญดิ้นรนอยู่
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเรานิยามชินจังอย่างกว้างๆ เจ้าชินจังนั้นนับเป็นการ์ตูนตลกประเภทหนึ่ง ดังนั้นแล้ว การที่เรากลับมานอนดูหรืออ่านชินจังกันอีกครั้งเมื่อเราโตขึ้น เราเองอาจจะเข้าใจหรือเกิดความขำกับเรื่องราวน่าปวดหัวที่มีเจ้าชินจังเป็นแกนหลักความป่วนได้ ความตลกที่เรามีต่อชินจังในแง่นี้ เมื่อคิดทบทวนไปจนสุดแล้ว มันคือความขำที่เราเองกลับมาขำชีวิตความเป็นไปของเรา เมื่อเราอยู่ในช่วงวัยแบบมิซาเอะแล้วเริ่มถูกล้อเลียนพุง หรือเราเริ่มกลายเป็นฮิโรชิที่ต้องผ่อนบ้านต่อไป ในด้านหนึ่งการ์ตูนที่ดูบ้าๆ บอๆ เช่นชินจัง ในความตลกขบขันนั้นกลับกำลังยั่วล้อและวิพากษ์วิจารณ์สังคม
ชินจังกับความตลกในบริบททศวรรษ 2540
ว่าด้วยความตลก รวมถึงการเข้ามาได้รับความนิยมของการ์ตูนหรือตัวบททางวัฒนธรรม สำหรับชินจังก็มีบทความวิชาการที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง เป็นบทความจากอาจารย์มนวัธน์ พรหมรัตน์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เผยแพร่ในวารสารวิชาการเมื่อปี 2558 งานศึกษาพาเราไปสำรวมความนิยมของชินจังที่เกิดขึ้นหลังจากแปลเป็นภาษาไทยในปี 2539 งานศึกษาชิ้นนี้พาเราย้อนกลับไปยังช่วงปี 2540 ที่ชินจังเข้ามากระแสในสังคมไทยและพาเราย้อนไปยังบริบทของสังคมไทยที่เริ่มเปลี่ยนแปลงหลังปี 2530 เป็นต้นมา
งานศึกษาดังกล่าวเสนอว่า ชินจังนับเป็นความตลกที่สัมพันธ์กับ ‘ความรู้สึกตลกรูปแบบใหม่’ ที่สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงทศวรรษ 2530 พูดง่ายๆ คือ ทำไมเราถึงขำกับเรื่องราวในชินจัง และในชินจังมันมีอะไรที่เราตลกได้ ข้อเสนอสำคัญคือ เพราะว่าสังคมไทยในยุคนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกันกับบริบทโลก เราเกิดวิถีชีวิตสมัยใหม่ เกิดความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบท บทบาททางสังคมเช่นหน้าที่และบทบาทของชายและหญิง วิถีชีวิตร่วมสมัยต่างๆ เป็นสิ่งที่สังคมไทยปรับเปลี่ยนไปจนสอดคล้องกับมุกและวิถีชีวิตที่ถูกเล่าในเรื่องชินจังแล้ว
งานวิจัยจากชินจังเมื่อปี 2558 เลยทำให้เรานึกอะไรได้หลายอย่าง ทั้งภาวะโลกาภิวัตน์และความเป็นเมือง (cosmopolitanism) ในสมัยนั้นส่งผลกับความรู้สึกตลกขบขันของเรา ทั้งยังสัมพันธ์กับการนำเข้าส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมด้วย อีกด้านก็อาจจะสอดคล้องกับข้อถกเถียงร่วมสมัย (ช่วงปี 2540 เป็นต้นมา) ที่บอกว่าชินจังไม่เชิงว่าเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก คือการที่เราจะขำหรือเก็ตมุกในชินจังมากหรือน้อยนั้น สัมพันธ์กับประสบการณ์และความเข้าใจชีวิตด้วย
ความน่าสนใจของความตลกที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เดิมเราอาจจะตลกกับพฤติกรรมประหลาด ความด้อยสติปัญญาหรือความรุนแรง แต่ความตลกที่ก่อตัวขึ้นใหม่นี้สัมพันธ์กับบริบทมากขึ้น โดยชินจังนั้นก็เล่นกับบริบทสังคมสมัยใหม่และสังคมเมือง เป็นความตลกที่เกิดจากความล้มเหลวในการจัดการสิ่งต่างๆ หรือจัดวางตัวเองไปตามที่กรอบของสังคมได้วางไว้ให้ ความตลกส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในเรื่องราวของชินจังจึงสัมพันธ์กับครรลองของสังคมญี่ปุ่นสมัยใหญ่ที่เคร่งครัดและเคร่งเครียด โดยสังคมไทยเองอาจจะไม่ได้มีความเคร่งเครียดหรือมีค่านิยมที่เหมือนกับบริบทสังคมญี่ปุ่นในเรื่อง แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยก็พอจะทำให้เราเข้าใจและนึกขันไปกับตัวละครที่หัวหมุนไปตามสังคมและความกดดันของสังคมร่วมสมัยได้ไม่ยากนัก
เมื่อเรากลายเป็นฮิโรชิ มิซาเอะ หรือคุณครูมัตซึซากะ
จากวัยรุ่นปี 2540 วันเวลาผ่านไปจนเรานอนดูชินจังทางยูทูบ แล้วเราก็พบว่า มิซาเอะ อายุ 29 ปี ฮิโรชิ อายุ 35 ปี คุณครูมัตซึซากะอายุ 24 ปี แน่นอนว่าเราที่อายุ 30 กว่า ชีวิตยังล่องลอย บางคนเข้าใจการใช้ชีวิตของฮิโรชิที่วิ่งวุ่นไปทำงาน หาเงินผ่อนรถและผ่อนบ้าน ใช้ชีวิตปวดหัวกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้าและลูกค้า หรือเราเองก็ต่างเข้าใจการต่อสู้กับไขมันชั้นพุง คอยตอบคำถามเรื่องการไม่มีแฟนและการออกเดตที่ไม่มีที่สิ้นสุด
ความชวนหัวของชินจังคือการเอาชีวิตจริงมาทำให้เละๆ เทะๆ ตัวละครแบบชินจังถ้าวิเคราะห์อย่างจริงจัง นับได้ว่าชินจังเป็นตัวละครที่ปฏิเสธข้อกำหนดและระบบกฏเกณฑ์ที่สังคมกำหนดไว้ ความป่วนของชินจังทำให้ระเบียบของชีวิต ระเบียบของโลกสมัยใหม่ปั่นป่วนและสั่นคลอนลง สังคมบอกว่าห้ามเปิดเผยร่างกาย ห้ามพูดเรื่องเพศ ห้ามพูดสิ่งที่ทุกคนคิดอยู่ในใจออกมา สังคมบอกว่าต้องทำหรือห้ามทำอะไร โตไปต้องเป็นแบบไหน ชินจังด้วยความเป็นเด็ก(เปรต) ทำให้ระบบระเบียบนั้นพังหรือกระทั่งถูกตั้งคำถาม
นอกจากตัวชินจังเองที่ทำหน้าที่ปั่นป่วนระเบียบของสังคมแล้ว หลายครั้งตัวเรื่องก็ให้ภาพของสังคมร่วมสมัยที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ชีวิตสมัยใหม่อย่างเปิดเผย เช่นการให้ภาพของความเหลื่อมล้ำทางสังคม เราจะเห็นการส่งต่อความมั่งคั่ง การเลี้ยงดูลูกที่แตกต่างกันโดยมีอนาคตที่เคร่งครัดเกินไปเช่นคาซามะคุง ตอนหลังหนักข้อขึ้นเมื่อมีไอจังมาเรียนด้วย หลายครั้งตัวเรื่องล้อเลียนขนบของความเป็นเพศ เช่นความคาดหวังที่สังคมกดทับผู้หญิง การล้อเลียนสถานะของแม่บ้านของมิซาเอะที่แม้จะปวดหัวแต่ก็มีความปั่นป่วนในตัวเอง การแสวงหาสามีที่ยอดเยี่ยมและร่ำรวยของคุณครูมัตซึซากะ ครอบครัวเนเน่จังที่ให้ภาพความเป็นกุลสตรีที่ลึกๆ แล้วมีการใช้ความรุนแรงเพื่อระบายความรู้สึกที่ความเป็นหญิงและสังคมกดทับเอาไว้
ความหวัง ตัวตนและความหลากหลายในสังคมร่วมสมัย
ถ้าพูดเผินๆ เราอาจรู้สึกว่าเรื่องมันแอบเครียด และเราเองเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วมาดูซ้ำพร้อมตกอยู่ในสถานะแบบตัวละครในเรื่อง เราก็แอบเครียด แต่ด้วยความชวนหัวของเรื่อง สุดท้ายเราเองก็เหมือนได้เห็นการที่ชินจังและความเป็นไปต่างๆ มันกำลังล้อเลียนและทำให้เห็นว่าความกดดันของสังคมอาจจะไม่สลักสำคัญขนาดนั้น ความเขื่อ ความตึงเครียดและเงื่อนไขต่างๆ อาจจะไร้สาระไร้แก่นสารพอๆ กับที่ชินจังและครอบครัวโนะฮาราเป็น
ที่สำคัญคือความหลากหลายและแง่มุมของความเป็นมนุษย์ในตัวละครต่างๆ คือตัวเรื่องนอกจากจะให้ภาพความป่วนของเราจากสังคมแล้ว ตัวละครที่เหมือนกับเราต่างก็กำลังมีวิธีการที่ต่อรองกับสังคมที่เต็มไปด้วยระเบียบแบบแผน เมื่อเราดูชินจังไปเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มเห็นความหลากหลายของตัวละคร เราเริ่มเห็นว่าคาซามะคุงจริงๆ แล้วก็มีความแปลกประหลาดและถูกสังคมกดทับ ตัวละครแปลกๆ เช่นโบจังก็มีความสุขในแบบของตัวเอง มาซาโอะคุงที่ขี้แยแต่หลายครั้งก็กลายเป็นฮีโร่ ป้าข้างบ้านที่กลายเป็นมิตรมากกว่าศัตรู ตัวละครที่ทั้งแสบสันและร้าวรานเช่นคุณครูอูเมะสุดท้ายก็ยังเดินหน้าต่อสู้และเติบโตอย่างเฟียร์ซๆ ต่อไปแม้ว่าจะน้ำตานองหน้าในบางตอนก็ตาม
แกนของเรื่องเกือบทั้งหมด จึงพูดถึงหายนะที่เกิดจากชินจังหรือเกิดจากชีวิตประจำวันที่เฆี่ยนตีเรา แต่เรื่องราวทั้งหมดภายในเมืองอันแสนวุ่นวายนั้น เราเองต่างดำเนินชีวิตไปบนแง่มุมอื่นๆ เราต่างมีความหวัง มีมิตรภาพ มีความเอื้ออาทรในการดูแลซึ่งกันและกัน มีครอบครัว มีครู ลูกศิษย์ที่พาให้ชีวิตของเราก้าวไปข้างหน้า ในโลกและผู้คนที่แสนจะยุ่งเหยิงใบนี้
สุดท้าย แม้ว่าสังคมไทยจะก้าวผ่านความคิดเรื่องสื่อการ์ตูนต้องสอนศีลธรรมไหม การ์ตูนที่มีความไม่เหมาะสมคืออะไร หรือการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็กไหม ในช่วงวัยที่เราเองเคยได้อ่านและเฝ้ารอชินจังในช่วงเรียน ม.ปลาย จนได้ข่าวเศร้าจากการจากไปของผู้เขียน จนล่าสุดชินจังก็ได้หวนคืนโลกดิจิทัลทั้งตอนเก่าและตอนใหม่
ในความขบขันและน่าปวดหัวของสังคมญี่ปุ่นที่อาจจะมีบริบทเมื่อสิบปีก่อน ทุกวันนี้อาจจะยังทันสมัย และเมื่อเราเองอายุเท่าฮิโรชิ และกลายเป็นฮิโรชิหรือมิซาเอะ การได้กลับมาดูชินจังอีกครั้งก็อาจทำให้เราทั้งขำ ทั้งขมขื่นในประสบการณ์ที่เราใกล้ชิดกับตัวละครทั้งหลายและความปั่นป่วนของชีวิต ที่อันที่จริง มีหรือไม่มีชินจังในชีวิตจริงก็ดูจะน่าปวดหัวเท่าๆ กัน ซึ่งสุดท้าย เราเองก็อาจจะได้กลับมาขำกับชีวิตที่บ้าบอที่เราผ่านมันมาได้ ได้มองเห็นผู้คนที่อยู่ข้างๆ เรา ในความไร้สาระไร้แก่นสารที่เคยเถียงกันเมื่อ 20 ปีก่อน อาจจะกลายเป็นพื้นที่ที่ให้พลังในการออกไปสู่กับความบ้าบอของโลกอีกครั้งในปีต่อๆ ไป
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Krittaporn Tochan
Proofreader: Tangpanitan Manjaiwong