เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 พร้อมกับธีม “urban‘NICE’zation เมือง – มิตร – ดี” โดยชวนนักออกแบบ กลุ่มธุรกิจ เจ้าของกิจการและผู้คนในย่านต่างๆ ถึง 9 ย่าน มาร่วมกันออกแบบเมืองที่ดีขึ้น
เราเลยอยากชวนไปดู 4 นิทรรศการที่เล่าปัญหาและความหวังของเมืองได้อย่างน่าสนใจ โดยสามารถแวะเวียนไปเยี่ยมชมกันได้ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้
01 Bangkok Spoken: ภาพถ่ายเล่าปัญหาและการปรับตัวของคนเมือง
พิกัด Bangkok Spoken TCDC ชั้น 1
‘Bangkok Spoken’ คือนิทรรศการภาพถ่ายที่บอกเล่าปัญหาภายในเมืองอย่างภาพที่มีป้ายโฆษณาชีวิตดีๆ ตัดกับตึกเก่าทางด้านหลัง ชวนให้เกิดคำถามถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบจากการติดป้ายสูงใกล้ที่พักอาศัย ไปจนถึงวิธีการปรับตัวของผู้คนท่ามกลางข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ภาพการปักดอกไม้ปลอมไว้กับต้นไม้จริง บ่งบอกถึงความต้องการธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว แต่ไม่มีทั้งเวลาดูแลและพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ หรือภาพร้านที่วางหนังสือกองโตไว้ด้านหน้าให้ผู้คนอ่านฟรี เพราะอยากให้มีห้องสมุดขนาดย่อมในเมืองใหญ่ โดยเบื้องหน้านิทรรศการแห่งนี้ยังนำเสนอทางออกผ่านดีไซน์หลากหลาย ในนิทรรศการ Better City อีกด้วย
02 Circular Cafe’: ขยะจากการกินดื่มที่ถูกตีความใหม่ สู่ข้าวของเครื่องใช้ดีไซน์เก๋
พิกัด Circular Cafe’TCDC ชั้น 5
ยุคสมัยที่มองไปทางไหนก็เห็นคาเฟ่บ่งบอกถึงไลฟ์สไตล์การกินดื่มของผู้คนยุคนี้ สิ่งที่ตามมาเลยเป็นขยะจากการบริโภค แม้ว่ายุคนี้เราจะสนับสนุนให้นำแก้วมาเอง ใช้วัสดุย่อยสลายได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีขยะจากร้านอาหารเครื่องดื่มอีกมหาศาลที่ต้องถูกทิ้งแล้วสร้างมลพิษให้กับโลก
นิทรรศการ ‘Circular Cafe’ จึงนำขยะเหล่านี้มาต่อยอดให้กลายเป็นของตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ และสารพัดสิ่งที่ใช้ได้จริงพร้อมดีไซน์เก๋ เช่น หลอดบรรจุอาหารสำเร็จรูปในห้องแลปที่กลายเป็นแจกัน แผ่นสำหรับตกแต่งผนังที่ผลิตจากแก้วพลาสติกผสมกากกาแฟ ส่วนโซนที่เราชอบที่สุดคงจะเป็นการนำขยะมาทำเป็นเครื่องประดับพร้อมกิมมิกเล็กๆ ให้เราได้ทายก่อนว่าของชิ้นนี้ทำมาจากอะไร ก่อนจะเปิดดูเฉลยในช่อง Original Material ซึ่งหลายชิ้นๆ ก็เซอร์ไพรซ์เราได้เหมือนกัน
03 รสชาติ บำรุงเมือง: เพราะเมืองคือส่วนผสมของผู้คนหลากหลาย
พิกัด ร้านอิ่มในเมือง ถนนตีทอง
นอกจากการสื่อสารปัญหาภายในเมืองแล้ว ยังมีกิจกรรมที่สะท้อนภาพความหลากหลายของคนเมืองว่าไม่ได้มีแค่ ‘คนกรุงเทพฯ’ เท่านั้น
อ.ดร.นิพัทธ์ชนก นาจพินิจ เริ่มจากการไปเดินสำรวจตลาดตรอกหม้อ แล้วพบว่าเต็มไปด้วยวัตถุดิบอาหารอีสาน เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปเลยพบว่ามีชุมชนคนอีสานที่อยู่ในย่านนี้มาหลาย 10 ปี โดยเฉพาะคนโคราช เลยกลายเป็นกิจกรรม ‘รสชาติ บำรุงเมือง ตอนผัดหมี่โคราช vs ผัดไทย โดย อ.ดร.นิพัทธ์ชนก นาจพินิจ’ ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนโคราชผ่านเมนู ‘ผัดหมี่โคราช’ ที่แตกต่างไปจากผัดไทย อย่างเส้นเหนียวหนึบที่เกิดจากการปลูกข้าวในแหล่งน้ำน้อย หรือรสเข้มข้นจัดจ้าน เพราะวัตถุดิบในพื้นที่มีจำกัด เลยต้องทำรสจัดให้สามารถกินคู่กับข้าวได้
แต่นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มเท่านั้นเพราะ ‘รสชาติ บำรุงเมือง’ ยังมีทั้งการบรรยาย สารคดีบอกเรื่องราวผู้คนในย่านตรอกหม้อ จัดเวิร์กช็อปสาธิตการทำอาหาร ไปจนถึงการพาชมตลาดและร้านอาหารในย่านอีกด้วย
04 Bangpho Wood Street: เมื่องานศิลปะและพื้นที่สาธารณะคือจุดเชื่อมคนหลากหลายในเมืองใหญ่
พิกัด ย่านบางโพ
ย่านใหม่แกะกล่องของ Bangkok Design Week ปีนี้คือ ‘ย่านบางโพ’ ที่มีกิจกรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Wood Street Pavilion ในศาลเจ้าแม่ทับทิม และอีกหลากหลายกิจกรรมที่พาไปสัมผัสวิถีชีวิตของช่างไม้ และกลิ่นอายวัฒนธรรมไทยเชื้อสายจีน
การสร้างพื้นที่สาธารณะและนำงานดีไซน์มาผสานกับจุดเด่นของบางโพ ช่วยให้ย่านที่ก่อนหน้านี้อาจจะมีแค่คนที่อยากซื้อเฟอร์นิเจอร์หรือสนใจงานไม้แวะเวียนเข้ามา กลายเป็นย่านที่มีชีวิตชีวา และมีผู้คนที่หลากหลายเข้ามาทำความรู้จักพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งนี้มากยิ่งขึ้น