‘แผ่นดินไหวเล็กๆ และสึนามิในทะเล
บ้านเรือนที่นี่จึงสร้างขึ้นได้รวดเร็ว พอๆ กับที่มันพังลงมา
เพราะความตายอยู่ในทุกอณูของอากาศ ทะเล และแผ่นดินของเรา’
Shōgun (2024) เป็นซีรีส์ที่น่าประทับใจ ด้วยตัวเรื่องและงานโปรดักชั่นที่ละเอียดถี่ถ้วนในการพาเรากลับไปยังญี่ปุ่นสมัยศักดินา พาเรากลับไปยังดินแดนของเหล่าไดเมียวและการแย่งชิงอำนาจ นอกจากการความประณีตของโพคดัคชั่นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ซีรีส์พาเราไปสัมผัสคือความลึกลับเบื้องหลังความเป็นญี่ปุ่น การปะทะกันของความคิดจากการเดินทางเข้ามาของนักเดินชาวตะวันตก กับดินแดนที่ให้ความสำคัญกับการตายเสมอกับการมีชีวิต
แน่นอนว่า Shōgun เป็นซีรีส์สร้างจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในชื่อเดียวกันของเจมส์ คราเวล (James Clavell) ทหารผ่านศึกสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง นักเขียนและนักเขียนบทภาพยนตร์ ตัวนวนิยายอิงประวัติศาสตร์แต่เลือกที่จะสร้างตัวละครขึ้นใหม่ คืออิงกับบุคคลในประวัติศาสตร์แต่เปลี่ยนชื่อ คงไว้เพียงแค่ความคล้ายเช่น โยชิ โทรานากะ ไดเมียวผู้เป็นผู้นำหลักของเรื่อง อ้างอิงจาก โทคุกาวะ อิเอยะสุ (Tokugawa Ieyasu) ไดเมียวผู้ซึ่งต่อมารวมอำนาจและสถาปนาระบบโชกุนของตระกูลโทคุกาวะเป็นคนแรก
บริบทของเรื่องวางไว้ในปี 1600 ในสมัยนั้นญี่ปุ่นปกครองด้วยระบบขุนศึกศักดินา มีการตั้งตนหรือกระจายอำนาจการปกครองเป็นก๊กเหล่าตามพื้นที่ปกครองของตน ในภาวะสงครามและการสู้รบ ผู้นำสำคัญคือไทโกะผู้รวมอำนาจการปกครองไว้ได้เสียชีวิตลง ผู้สืบทอดยังเด็กเกินไป ไทโกะจึงได้แต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการทั้งห้าเป็นผู้ครองอำนาจและดูแลทายาทก่อนจะขึ้นสู่อำนาจต่อไป ความเข้มข้นของ Shōgun คือการเลือกช่วงเวลาของการแช่งชิงอำนาจ และที่เข้มข้นไปกว่านั้นคือการสร้างการปะทะกันทางความคิดและบริบทอันซับซ้อนของญี่ปุ่นในยุคที่เริ่มเข้าสู่การเมืองโลก มีการเข้ามาของชาติตะวันตกที่เริ่มแผ่อิทธิพลเข้าสู่ดินแดนบูรพทิศ สู่เกาะเล็กๆ ที่ต่างฝ่ายต่างมองว่าอีกฝ่ายเป็นคนเถื่อนกว่าตน
กลิ่นของความตายในอณูอากาศ
นวนิยายเรื่อง Shōgun เผยแพร่ในปี 1975 นวนิยายขึ้นแท่นนวนิยายขายดีคือในปี 1990 ขายได้ 15 ล้านเล่มทั่วโลก ตัวเรื่องเล่าผ่านสายตาของ ‘จอห์น แบคธอว์น’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากวิลเลียม อดัมน์ (William Adams) หรือ มิอุระ อันจิน (Miura Anjin) นักเดินเรือชาวอังกฤษคนแรกที่เดินทางมาถึงญี่ปุ่นในช่วงสงครามกลางเมือง ชายผู้กลายเป็นที่ปรึกษาของอิเอยะสุและได้รับยศซามูไรเมื่ออิเอยะสุขึ้นเป็นโชกุนแล้ว ตัวละครสำคัญอีกตัวคือท่านหญิงมาริโกะซึ่งก็อ้างอิงกับบุคคลในประวัติศาสตร์คือโฮโซกาว่า กราระซะ (Hosokawa Gracia) ผู้หญิงชนชั้นสูงผู้เปลี่ยนมานับถือคาทอลิก
แกนหลักหนึ่งของเรื่องจึงค่อนข้างมีเส้นเรื่องเป็นนวนิยายโรมานซ์ คือพูดถึงการต่อสู้ เติบโตของนักเดินทางผิวขาว การพบรักกับสุภาพสตรีชั้นสูง ได้รับการยอมรับจากนายเหนือหัวผู้เป็นเจ้าชีวิตของผู้คนบนเกาะ สายตาของการมองญี่ปุ่นและดินแดนอื่นจึงค่อนข้างถูกมองด้วยสายตาของชาวตะวันตก การปะทะกันที่ค่อนข้างสำคัญคือการปะทะกันของความคิด โดยเฉพาะการมาถึงของมุมมองแบบตะวันตกที่เป็นตัวแทนของความมีอารยะ การมีเทคโนโลยีที่สูงกว่า
ทว่า มุมมองของตะวันตกที่มองตะวันออกในเรื่องโชกุน มีความซับซ้อน คือโลกตะวันออกมีความแปลกประหลาด ทว่ามีความน่าหลงใหล เราจะเห็นว่าด้วยบริบทยุคศักดินาของญี่ปุ่น ในสายตาของชาวตะวันตกที่เริ่มมีความคิดแบบสมัยใหม่ แนวคิดเรื่องการสวามิภักดิ์ที่ปรากฏในเรื่อง คือการอุทิศชีวิตให้กับคน หรืออะไรบางอย่างยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเอง
การปะทะกันของความคิดที่ตรงข้ามกันของความเป็นตะวันตกและตะวันออก คือแนวคิดของความเป็นปัจเจกชนกับแนวคิดแบบรวมกลุ่ม ถ้าเรามองแบบตะวันตกหรือโลกสมัยใหม่ เราจะให้ความสำคัญกับตัวเรา การกระทำ การครอบครอง แต่ในมุมมองแบบตะวัน ตัวละครในบริบทญี่ปุ่นศักดินาจะมองความเป็นไปโดยมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพที่ยิ่งใหญ่กว่าตน ตัวตนของคนหนึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบ มีหน้าที่จะบรรลุไป
ความตายจึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของเรื่อง เพื่อผลของสิ่งอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่าตน การสละชีวิตนับเป็นเรื่องสามัญและพึงกระทำในมุมมองแบบบูชิโด เราจะเห็นถึงการสังหารตั้งแต่การลงมือฆ่าทารกอันเป็นลูกหลานหรือการคว้านท้องเพื่อรักษาสันติภาพที่ในมุมมองแบบตะวันตกหรือมุมมองในปัจจุบันเป็นเรื่องที่เกือบจะนิยามได้ว่าไร้สาระ
ด้วยความยอกย้อนของตัวเรื่อง คำอธิบายที่น่าสนใจในการอธิบายความคิดและความเป็นไปของความเป็นตะวันออกในความคิดของความเป็นญี่ปุ่นรวมไปถึงหน้าตาของบ้านเรือน พิธีกรรมและความเป็นไปอื่นๆ คือการที่มาริโกะอธิบายโดยเชื่อมโยงธรรมชาติของเกาะคือการเป็นดินแดนภัยพิบัติขณะเกิดแผ่นดินไหวให้อันจินฟัง ญี่ปุ่นเป็นดินแดนที่ความตายอาจไม่สำคัญกับผู้คน เป็นที่ๆ ผู้คนอยู่ใกล้กับความตาย บ้านเรือนถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วพอๆ กับเวลาที่มันพังลงมา
ประเด็นเรื่องการปะทะกันของความคิดและความเชื่อค่อนข้างสลับซับซ้อน ด้วยบริบทของญี่ปุ่นในยุคนั้นที่ตัวการเมืองของญี่ปุ่นเองก็มีความสัมพันธ์ทั้งกับมิติทางศาสนา การเข้ามาของกลุ่มคาทอลิกที่เข้ามาพร้อมกับการแผ่อำนาจและการผูกขาดการค้าของสเปน การมาถึงของโปรเตสแตนต์ ไปจนถึงการมีอยู่ของความเชื่อดั้งเดิมที่ได้อิทธิพลจากชินโตและพุทธ บางส่วนผู้เขียนค่อนข้างย้อนไปวิพากษ์คริสตศาสนา เช่น กลุ่มคริสเตียนที่เต็มไปด้วยความละโมบ ในภาพรวมค่อนข้างเชิดชูมุมมองของโลกตะวันออก
ความเป็นอารยะที่ยอกย้อน
ในงานเขียนที่ว่าด้วยการเดินทางของชาวตะวันตกไปสู่ดินแดนตะวันออกมักเกี่ยวข้องกับการล่าอาณานิคม อันที่จริงประเด็นเรื่องความคิดและความเชื่อของตะวันออกและตะวันตกถ้าเราอ่านด้วยแนวคิดเรื่องบูรพคดีนิยม (Orientalism) การสร้างภาพความเป็นตะวันตกและตะวันออกมักถูกสร้างขึ้นบนแกนของความเป็นคู่ตรงข้ามซึ่งในคู่ตรงข้ามนั้น แกนสำคัญหนึ่งคือความเป็นอารยะและความป่าเถื่อน (civilize/barbaric)
อันที่จริงญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในอารยธรรมที่คัดง้างกับการล่าอาณานิคม ด้วยความคิดของญี่ปุ่นที่มองว่าตัวเองเป็นชาติที่มีอารยธรรมและมองว่าคนตะวันออกผิวขาวเป็นพวกคนป่าหรือคนเถื่อน ซึ่งในระนาบเดียวกันเราก็จะเห็นว่าตัวเอกอย่าง จอห์น แบล็คธอว์นเองก็พูดถึงเกาะญี่ปุ่นเมื่อแรกเหยียบว่าเป็นดินแดนป่าเถื่อน ผู้คนฆ่าฟันกันอย่างไม่มีอารยธรรม ซึ่งอารยธรรมหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วคือการมีชีวิตและการมอบความตายให้กัน ด้านหนึ่งมองเรื่องการรักษาชีวิต อีกด้านมองเรื่องการยอมสละชีวิตเพื่อเป็นส่วนหนึ่ง
ความเป็นสมัยใหม่หรือความศิวิไลซ์ที่ยอกย้อนและเป็นรูปธรรมที่สุดคือการมีอยู่ของเมืองมหานคร เราจะเห็นภาพของเมืองโอซาก้าที่มีความยิ่งใหญ่ นวัตกรรมการก่อสร้างปราสาทที่น่าทึ่ง บางส่วนของเรื่องเริ่มพูดถึงการสร้างเมืองใหม่คือเมืองเอโดะ มีการจัดสรรพื้นที่ให้กับนางโลมซึ่งนำไปสู่การเกิดขึ้นของย่านเริงรมย์ซึ่งเป็นที่มาของย่านโยชิวาระในปัจจุบัน
คู่ตรงข้ามเรื่องความมีอารยะและความไร้อารยะนั้นถูกท้าทายโดยตลอดเรื่อง การแนวคิดเรื่องการเปลือยกายที่สัมพันธ์กับการประเพณีการอาบน้ำร้อน การรับประทานอาหารดิบ เช่น ปลาดิบไปจนถึงอาหารหมักดอง การร่วมเสพสมกันของชายหญิงที่อาจมีนัยตรงข้ามกับแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ที่มองจากมุมของวิคตอเรียนหรือกระทั่งแนวคิดผัวเดียวเมียเดียวและสถาบันการแต่งงาน บางช่วงตัวเอกที่เป็นชาวตะวันตกกลับสะอิดสะเอียนกับวัฒนธรรมของคนผิวขาวที่กลับกลายเป็นดูป่าเถื่อน เมื่อเขาได้มองผ่านมุมมองแบบญี่ปุ่นไปแล้ว
ตรงนี้เองที่ทั้งนวนิยายและซีรีส์เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น มีข้อวิจารณ์ว่าในที่สุดประสบการณ์ที่ตัวละครเอกคือชาวต่างชาติได้พบอาจเป็นความฝันหนึ่งของเรื่องราวการเดินทางผจญภัยของชายผิวขาว เช่นคำอธิบายว่าแท้ที่จริงแล้วชาวญี่ปุ่นจะยินดีเปลือยกายลงอาบน้ำต่อหน้าชาวต่างชาติจริงไหม ไม่นับการร่วมเรียงเคียงหมอนกับพวกคนป่าเถื่อนที่ตัวใหญ่เหมือนยักษ์ หญิงชั้นสูงเช่นมาริโกะอาจไม่มีวันได้พบเจอกับชายอื่นที่ไม่ใช่ญาติของตน อันที่จริง ในบริบทประวัติศาสตร์ ไม่มีหลักฐานว่าตัวละครที่เป็นที่มาของมาริโกะและจอห์น แบคธอว์นคือวิลเลียม อาดัมและซาระดะนั้นเคยพบกัน
อย่างไรก็ตามนวนิยายโชกุนซึ่งอาจรวมถึงซีรีส์ที่กำลังฉายอยู่ ถ้ามองย้อนไป นวนิยายได้จุดกระแสความสนใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้กับโลกใบนี้ ในปี 1980 มหาวิทยาลัยที่อเมริกานำโดยอาจารย์เฮนรี่ สมิธ (Henry Smith) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียได้ออกหนังสือรวมบทความ ‘เรียนรู้จากโชกุน (Learning From Shogun) ที่ว่าด้วยวัฒนธรรมญี่ปุ่นทั้งในมุมญี่ปุ่นศึกษาและวัฒนธรรมศึกษา เป็นการใช้หนังสือเป็นทางเข้าเพื่ออธิบายมิติทางประวัติศาสตร์และมุมมองอื่นๆ ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงไปจนถึงเอเชียศึกษา
หนึ่งในความคิดที่ถูกเขียนไว้ในคือแม้ว่าโชกุนอาจเป็นเรื่องที่มีความคลาดเคลื่อนทางประวัติศาสตร์ แต่ตัวเรื่องได้พาโลกใบนี้ไปรู้จักกับแนวคิดใหม่ๆ คือบูชิโดและวิถีของเหล่าซามูไร เป็นเมล็ดพันธุ์สำคัญของความรักในวัฒนธรรมญี่ปุ่นซึ่งเบ่งบานขึ้นในทศวรรษต่อมา ซึ่งถ้าเราดูโชกุนในเวอร์ชั่นปัจจุบัน เราเองก็อาจได้มองจากมุมมองของคนปัจจุบันและมองย้อนไปยังบางวิถี ได้ทดลองมองโลกในมุมอื่นๆ โดยเฉพาะในมุมที่ลดทอนตัวตนของเราลง และตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของโลก เป็นก้อนหินในสายธารอันยิ่งใหญ่ เป็นการตีความความหนักหนาของยุคเซ็นโกคุและปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอดในชะตาชีวิตได้ยืดหยุ่นขึ้น เหมือนกับบ้านที่พังและพร้อมจะสร้างใหม่ได้เสมอ
อ้างอิงจาก