เวลาพูดถึง ของปลอม ของเก๊ ของเทียม เราก็มักจะมองว่าของเหล่านั้นไม่ดี ไม่เหมาะสม และอาจจะไม่ถูกกฎหมายในบางกรณี แต่ก็มีอยู่บ้างเหมือนกันนะที่ของเก๊กลายเป็นการสร้างความบันเทิงให้กับคนกลุ่มหนึ่งได้อย่างไม่น่าเชื่อ แล้วในขณะเดียวกันก็อาจจะบอกเล่าเรื่องราวของสังคมในช่วงนั้นได้อย่างดีเช่นกัน และเรื่องที่เราจะหยิบจับมาพูดถึงในวันนี้คือกลุ่มภาพยนตร์ที่ถูกเรียกว่า Mockumentary หรือสารคดีปลอม นั่นเอง
ถ้าจะอธิบายกันเร็วๆ mockumentary คือการบอกเล่าเรื่องราวในลักษณะของสารคดีที่ดูสมจริง มีน้ำหนัก แต่ประเด็นที่ถูกเล่าใน mockumentary จะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากจินตนาการแทน ตัวอย่างแรกๆ ของสื่อบันเทิงในลักษณะนี้คือเมื่อครั้งที่ละครวิทยุ The War of The Worlds ที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ เอช. จี. เวลส์ ออกอากาศในปี 1938 ทางสถานีวิทยุ CBS ที่ได้เลือกเล่าเรื่องราวด้วยสไตล์การเล่าข่าว ทำให้คนที่ไม่ได้เปิดมาฟังช่วงแรกของรายการเชื่อว่าการรุกรานจากต่างดาวหรือจากชาติศัตรูนั้นเป็นเรื่องจริง จนกลายเป็นความวุ่นวายในตอนนั้น แต่จะนับว่าเป็น mockumentary ก็ไม่ได้เสียทีเดียวเพราะไม่ใช่ความจงใจของผู้จัดทำในยุคนั้น
หลังจากนั้นก็มีคนเริ่มวิธีการเล่าเรื่องแบบสมจริงให้กับเรื่องแต่งมาใช้งานต่อบ้าง โดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะใช้กับมุกข่าวในวันเอพริลฟูลเดย์ ส่วนฝั่งหนังที่จับเอาวิธีเล่าแบบนี้มาร้อยเรียงจริงจังจนได้รับความนิยมทั้งในส่วนคนดูและนักวิจารณ์ ก็คือภาพยนตร์เรื่อง A Hard Day’s Night นำแสดงโดยวง The Beatles ที่ออกฉายในปี 1964 แม้ในเรื่องจะเซ็ตฉากและเขียนบทไว้ แต่การเล่าเรื่องแบบจริงจังตัดสลับกับการแทรกเพลงจนหนังมีความเป็นสารคดี ซึ่งสไตล์ของหนังเรื่องนี้ก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้หนัง mockumentary ที่บูมอย่างเต็มตัวอีกทีในช่วงยุค 1980
ในขณะที่สารคดีปกติจะพาเราไปอีกมุมหนึ่งของสังคม ไม่ก็อีกมุมหนึ่งของโลก เพื่อรับชมความรู้ใหม่ๆ หรือบางทีก็เป็นการเล่าเรื่องราวที่อาจถูกหลายคนมองข้ามได้โดยง่าย ฝั่งสารคดีปลอมมักจะเป็นการบอกเล่าเชิงประชดที่เน้นบันเทิง แต่ก็ยังมีสาระอยู่บ้าง อย่างการสะท้อนสังคมในช่วงที่หนังเหล่านั้นถูกสร้างขึ้น และหากบอกว่า ของเก๊ ชิ้นนี้ไร้สาระก็คงไม่ถูกต้องนัก ด้วยความที่ว่าก่อนจะเดินเรื่องปลอมๆ ให้จริงจัง ส่วนใหญ่ทีมงานก็ต้องทำความรู้จักโจทย์ของตัวเองก่อน ไม่อย่างนั้นจะดูไม่สมจริง และบางครั้งการตั้งใจหาข้อมูลเพื่อมาทำของปลอม ก็ทำให้คนในวงการของจริงเชื่อกันด้วยนะว่าทีมงานที่พวกเขาให้สัมภาษณ์อยู่นั้นไม่ใช่ทีมงานสารคดีเก๊
หลายๆ ครั้ง mockumentary ก็จงใจที่จะหยอดความตลกเข้าไปเพื่อให้คนดูพอจะรู้ตัวว่า เรื่องที่พวกเขาดูอยู่นั้นไม่ใช่สารคดีที่มาจากเรื่องจริงเสียทีเดียว…หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘แซะ’ นั่นล่ะครับ และนั่นทำให้คนทำหนังกลุ่มหนึ่งตั้งใจทำหนังแนวนี้ออกมาให้คนดูทั่วโลกได้ติดตามกัน ซึ่งวันนี้เราจะหยิบยกตัวอย่างที่น่าสนใจของหนังแนวนี้มาด้วยครับ
This Is Spinal Tap (1984) – สารคดีปลอมเริ่มบูมก็เพราะเรื่องนี้
นี่คือภาพยนตร์ที่ติดตามย่างก้าวการเดินทางครั้งใหม่ของยอดวงร็อคจากเกาะอังกฤษ Spinal Tap ที่ตัดสินใจเปิดทัวร์ในสหรัฐอเมริกา เพื่อโปรโมทอัลบั้ม Smell The Glove ที่มีชื่อเสียงอื้อฉาวด้วยภาพปกที่ล่อแหลมส่อให้เกิดทางเพศ ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ได้พูดคุยกับทางวงซึ่งมีประวัติยาวนานนับตั้งแต่วงยังเป็นแนวร็อคแอนด์โรล ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาเล่นแนวเฮฟวี่เมทัลในภายหลัง นอกจากนี้วงยังมีประวัติแปลกๆ อย่างการเปลี่ยนมือกลองบ่อยครั้ง จากเหตุลึกลับต่างๆ เช่น อยู่ๆ ก็มีไฟไหม้บนเวทีไปเลย หนังเรื่องนี้ยังพาไปรับชมมุมส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคน และสุดท้ายพวกเขาจะได้กลับมาประสบความสำเร็จเหมือนที่เคยรับมาก่อนหรือไม่
ย้ำอีกทีว่านี่เป็นสารคดีปลอม และวง Spinal Tap ก็ไม่ใช่วงดนตรีที่เคยมีมาก่อนหนังจะเริ่มฉายแต่อย่างใด หนังแค่จับเอาสารคดีของวงร็อคหลายๆ วงที่บูมขึ้นมาในช่วงก่อนหน้านั้นเล็กน้อยมาเป็นประเด็นแซะจนสุดทาง หนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นหนังที่ทำให้ คำว่า ‘mockumentary’ ได้รับความนิยมในวงกว้างอย่างจริงจัง และมุกหนึ่งในเรื่องนี้ได้กลายเป็นมุกที่ฝรั่งใช้กันจนถึงปัจจุบันอย่าง มุก ‘Up To Eleven’ ที่หมายถึงการทำอะไรให้สุดขีดสุดกำลัง (อย่างที่ Celine Dion ด่า Dead Pool ใน MV เพลง Ash) มาจากการที่สารคดีปลอมเรื่องนี้ไปสำรวจห้องเก็บกีตาร์ของ ไนเจล ทัฟเนล (Nigel Tufnel) มือกีตาร์ของวง Spinal Tap ที่สั่งทำแอมป์กีตาร์แบบพิเศษที่เปิดเสียงได้ดังได้ถึงเบอร์ 11 เหนือกว่าแอมป์ของชาวบ้านทั่วไปถึงหนึ่งขั้น
ตัวหนังได้รับความนิยมทั้งจากคนดู คนทำหนัง หรือแม้แต่นักดนตรีตัวจริงก็ยังอินเรื่องนี้ ทำให้วงปลอมๆ จากในหนังได้มีโอกาสออกอัลบั้มอย่างจริงจังถึงสามอัลบั้ม (…มีร้องเพลงคู่กับนักร้องดังอย่าง Cher แล้วก็มีนักกีตาร์ดังอย่าง จอหน์ เมเยอร์, ฟิล คอลเลน กับ สตีฟ ไวล์ มาแจมด้วยล่ะ) มีอัลบั้มแยกของนักร้องนำอีกหนึ่งอัลบั้ม และยังได้ออกตอนต่อในซีรีส์ทีวี ที่สำคัญที่สุดก็คือการกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับ mockumentary เรื่องอื่นๆ ว่าถ้าจะทำหนังแนวนี้ มันต้องทำให้ได้ถึงเรื่องนี้
Borat (2006) – mockumentary ที่ดังทั่วโลกแถมมีรางวัลลูกโลกทองคำการันตี
ต้องไล่เรียงกันก่อนว่า ซาช่า บารอน โคเอน (Sacha Baron Cohen) นักแสดงตลกจากอังกฤษนั้นถนัดนักล่ะในการรับบทเป็นบุคคลอื่น เขามีร่างอวตารหลายร่าง แล้วเขาก็จริงจังกับการรับบทถึงขั้นเขาต้องดัดสำนวนพูด แปลงสำเนียงภาษา ทำให้คนเชื่อว่าเขาไม่ใช่คนเดียวกันกับตัวจริงของเขา รวมถึงชอบเล่นมุกแซะชาวบ้าน ระดับที่บางมุกคนโดนพาดพิงขำไม่ค่อยออกเลยทีเดียว และเขาก็ยังเป็นดารานำควบกับการเป็นผู้เขียนบทร่วมของ mockumentary ที่น่าจะเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งอย่าง Borat! Cultural Learnings Of America For Make Benefit Glorious Nation Of Kazakhstan
Borat (ขอใช้ชื่อแบบย่อ) เป็นสารคดีปลอมที่เล่าเรื่องของ โบแร็ต นักข่าวจากประเทศสมมติชื่อ ‘คาซัคสถาน’ ที่เดินทางมาถ่ายทำสารคดี ‘ประเทศที่ดีที่สุดในโลก’ โดยทิ้งเอาชีวิตสุดยากจนของบ้านเกิดไว้เบื้องหลัง เมื่อมาถึงอเมริกาเขาก็ตื่นตะลึงกับวัฒนกรรมที่แสนจะแตกต่างกัน อย่างการพบว่ามีอ่างล้างหน้าพร้อมที่กดน้ำตั้งอยู่พร้อมใช้งานในโรงแรม เป็นอาทิ นอกจากนี้เขายังแสดงความสนใจต่ออเมริกาด้วยการพยายามศึกษาเรื่องมารยาทต่างๆ พร้อมพูดคุยกับนักการเมืองในอเมริกา และศึกษาเรื่องราวอื่นๆ อีกมาก เพื่อที่จะนำเรื่องที่ดีไปพัฒนาประเทศของเขาเอง
สารคดีปลอมสนิทเรื่องนี้ได้รับความนิยมจากคนดูไม่ใช่น้อย แถมยังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ และได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ในสาขาหนังตลกหรือหนังเพลง ตัวเนื้อหาของหนังถึงจะมีมุกรบกวนชาวบ้านและสังคมออกมาเพียบ แถมยังมีเรื่องราวการเหยียดเพศ เหยียดผิว เหยียดเผ่าพันธุ์ เหยียดอาชีพ ฯลฯ แต่ก็ชวนคิดว่ามุกส่วนหนึ่งก็ถูกนำมาจากสังคมอเมริกาในช่วงนั้นเองด้วยเช่นกัน
ถึงจะเป็นหนัง mockumentary ที่คนน่าจะรู้จักมากที่สุด แต่นี่ไม่ใช่หนังที่เหมาะกับคนดูทุกคนเท่าไหร่นัก แถมหนังเรื่องนี้ยังถูกหลายๆ คนทำการฟ้องร้องด้วยความที่หนังไปทำลายภาพลักษณ์ของอะไรหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง รวมถึงว่าหลังจากนี้ ผลงาน ซาช่า บารอน โคเอน ที่ยังเน้นแซะแบบเกินเลยก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าหนังเรื่องนี้ ทำอะไรมากไปก็ใช่ว่าใครเขาจะทนไหวอะเนอะ
The Gods Must Be Crazy (1980) – mockumentary ทีคนไทยคุ้นเคย
ชีวิตคนป่าในทะเลทรายกาลาฮารีกำลังจะเปลี่ยนไปหลังจากที่นักบินคนหนึ่งได้โยนขวนโค้กลงมาจากเครื่องบิน แต่ขวดนั้นดันทนทานและทำให้เหล่าคนป่าที่เจอขวดใบนี้ต่างคิดว่านี่เป็นวัตถุที่เทวดาส่งมาให้ พวกเขาจึงใช้มันกระทำกิจกรรมหลายอย่าง จนกระทั่งคนในเผ่าต่างสนใจแย่งชิงขวดเป็นของตัวเอง เมื่อเกิดความวุ่นวายเช่นนี้ ซี จึงเสวนากับเหล่าผู้เฒ่าในเผ่าและตัดสินใจจะนำขวดดังกล่าวไปทิ้งที่สุดขอบโลก ระหว่างการเดินทางนี้ ซี ได้เจอกับเทคโนโลยีสมัยใหม่และต้องเจออะไรที่ไม่คุ้นเคยอีกมาก จนไม่น่าเชื่อว่านี่จะเป็นการเดินทางเพื่อทิ้งขวดเป็นขวดเดียว
ชื่ออังกฤษของภาพยนตร์จากประเทศแอฟริกาใต้เรื่องนี้อาจจะไม่สะกิดใจเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่านี่คือ เทวดาท่าจะบ๊อง ซึ่งนำแสดงโดย นิเชา หลายท่านน่าจะร้องอ๋อกันบ้าง ตัวหนังถูกถ่ายทำและออกฉายก่อนกระแสความนิยมของ mockumentary จะติดตลาด แต่พอดีว่าผู้กำกับเคยสร้างภาพยนตร์สารคดีมาก่อน จึงตั้งใจเล่าเนื้อเรื่องส่วนหนึ่งของหนังด้วยสไตล์ที่เขาถนัด แถมเสียงต้นฉบับก็ตั้งใจให้นักพากย์สารคดีชื่อดังของแอฟริกาใต้เป็นผู้พากย์ ส่งผลให้คนส่วนหนึ่งเชื่อว่าเรื่องราวของ ซี เกิดขึ้นจริง หรือถ้าพูดว่า นี่มันหนัง mockumentary Before It Was Cool ก็อาจจะพอได้นะ
หนังได้รับความนิยมทั้งจากคนดูและนักวิจารณ์จากความใสซื่อของตัวละคร ซี, ความสวยงามของธรรมชาติ และมุกตลกที่สดใส จนได้ถูกสร้างภาคต่ออย่างเป็นทางการอีกหนึ่งภาค (ภาคอื่นๆ หลังจากนั้นที่นิเชาร่วมเล่นเป็นภาพยนตร์ฮ่องกง แต่ยังจ้างนักพากย์แอฟริกาใต้ท่านเดิมมาพากย์เสียงประกอบ) ก่อนที่ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้จะเสียชีวิตในปี 1996 ส่วนนักแสดงนำอย่าง นิเชา เสียชีวิตในปี 2003 จากวัณโรคดื้อยา
Darkside Of The Moon (2002) – อำให้ถึงกึ๋น
กล่าวกันว่าโครงการอวกาศ อพอลโล 11 นั้นมีโอกาสไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทางอเมริกาก็ไม่อาจจะเสียหน้าได้ทำให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกซันตัดสินใจว่าจ้างให้ สแตนลีย์ คิวบริก ที่เคยสร้างภาพของสถานีอวกาศอย่างน่าเชื่อถือในภาพยนตร์ 2001: A Space Odyssey มาเป็นผู้กำกับ ก่อนเรื่องราวจะเล่าไปเรื่อยๆ ว่าตอนแรกนั้น คูบริก เคยปฏิเสธงานที่ว่านี้ไปก่อนจะกลับมาตัดสินใจกำกับฉากถ่ายการลงจอดบนดวงจันทร์ให้ภายหลัง ไม่ใช่ว่ายานอพอลโล 11 นั้นไปไม่ถึงดวงจันทร์ แต่เพราะภาพที่ถ่ายทำบนดวงจันทร์นั้นคุณภาพแย่เกินกว่าที่จะนำมาออกอากาศได้ หลังจากคลิปถ่ายทำลงดวงจันทร์ได้ถูกนำไปออกอากาศแล้ว
ประธานาธิบดีนิกซันก็เกิดกลัวความจะแตกจึงได้สั่งให้สังหารทีมงานสร้างฉากบนดวงจันทร์นั้นทั้งหมด ยกเว้นตัวผู้กำกับคูบริกที่ไม่ถูกฆ่า เวลาผ่านไปห้าปีทาง สแตนลีย์ คิวบริก ได้ติดต่อทาง NASA เพื่อขอยืมเลนส์แบบที่เคยใช้ถ่ายฉากดวงจันทร์เพื่อไปถ่ายหนังเรื่องอื่น ทำให้ประธานาธิบดีรุ่นถัดจากนิกซันคิดว่าคิวบริกวางแผนจะเผยความจริง และพยายามฆ่าผู้กำกับดัง แต่ผู้กำกับชื่อก้องก็รู้ทันว่าจะโดนปิดปาก เขาจึงตัดสินใจอยู่ในบ้านของตนเองอยู่จนจบชีวิต…
แล้วหนังก็จบลง…พร้อมข้อความย้ำตอนเครดิตขึ้นว่านี่เป็นแค่สารคดีปลอมเท่านั้น!
สารคดีเก๊จากฝรั่งเศสเรื่องนี้ เล่าเรื่องแบบโคตรจริงจัง มิหนำซ้ำคนที่มาปรากฎตัวในหนังก็เป็นตัวจริงเสียงจริง ทั้งภรรยาม่ายของคูบริก, บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับโครงการอพอลลโล 11 อย่าง บัซ อัลดริน ซึ่งผู้กำกับหนังได้ฟุตเทจเหล่านี้มาเพราะเขาบอกคนเหล่านี้ว่าจะทำสารคดีเกี่ยวกับการสร้างหนัง 2001: A Space Odyssey
ส่วนตัวละครกลุ่มนักการเมืองทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ อันนั้นเขาใช้วิธีตัดต่อผลงานสารคดี (ของจริง) ที่เขาเคยกำกับ มาตัดต่อใหม่ให้สอดคล้องกับเรื่องปลอมๆ ที่ตัวผู้กำกับอยากเล่า แล้วเสริมเข้าไปด้วย พยานปลอมๆ ที่นำเอาชื่อมาจากตัวละครจากหนังดังของผู้กำกับ สแตนลีย์ คิวบริก กับ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก อย่าง แจ็ก ทอร์เรนซ์ (จากหนัง Shining) ทำให้คนรู้สึกว่าชื่อเหล่านี้มันคุ้นหู ต้องเป็นคนดังที่พอรู้จักแน่นอน
หนังจริงๆ เป็นเชิงแซะกลุ่มคนที่ไม่เชื่อว่าทาง NASA ส่งยานอพอลโล 11 ไปถึงดวงจันทร์จริง และในทางกลับกันกลุ่มคนที่เชื่อแบบนั้นหลายคนก็เอาหนังสารคดีปลอมนี้ไปอ้างอิงว่าเป็นหลักฐานของเรื่องนี้ …บ่งบอกได้นิดหน่อยว่า คนอ่านหนังสือไม่ละเอียดกระจายตัวอยู่ทั่วโลกจริงๆ นะ
Otaku No Video (1991) – แทรกยาขมกลางขนมหวานด้วยสารคดีหลอก
ภาพยนตร์ลูกผสมระหว่างอนิเมชั่นกับสารคดีปลอมที่พูดถึงชีวิตของเหล่าโอตาคุการ์ตูนในช่วงยุค 1980 เนื้อเรื่องของฝั่งอนิเมชั่นนั้นบอกเล่าว่าชีวิตของคนธรรมดาคนหนึ่งจะกระโดดเข้ามาเป็นโอตาคุได้อย่างไร ก่อนที่ช่วงหลังเขามุ่งมั่นจะสร้างดินแดนที่เหล่าโอตาคุสามารถปลดปล่อยความเป็นตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งการเล่าเรื่องส่วนนี้ ดำเนินเรื่องแบบตรงไปตรงมา ส่วนฝั่งสารคดีปลอมนั้นจะเป็นการสัมภาษณ์กลุ่มคนที่เคยเป็นโอตาคุแล้วกลับไปใช้ชีวิตปกติ
ก่อนที่การสัมภาษณ์จะนำพาไปถึงจุดหักมุมที่ว่าจริงๆ แล้วคนที่ออกมาคุยด้วยแต่ละคนทำตัวตรงข้ามกับที่สัมภาษณ์โดยตลอด อย่างที่คนหนึ่งบอกว่าละทิ้งชีวิตความชอบการ์ตูนไปแล้วแต่ยังเก็บงำความต้องการของตัวเองเอาไว้ อย่างคนคอสเพลย์ที่กลับมาตั้งใจทำงาน แต่ดันยังเก็บอุปกรณ์สำหรับคอสเพลย์ไว้ที่ลิ้นชักในออฟฟิศ หรือ ฮิคิโคโมริที่ตั้งใจอัดรายการดังๆ สำหรับโอตาคุในยุคนั้นเพื่อแลกเปลี่ยนกับคนอื่นแต่เจ้าตัวดันไม่เคยเปิดดูรายการที่ตัวเองอัดไว้สักรายการ นอกจากบทสัมภาษณ์ ในตัวสารคดีเองก็มีอินโฟกราฟิกยุคเก่าที่มีผู้บรรยาออกมาอธิบายในเชิงที่ชวนให้คิดว่าตั้งใจจิกกัดคนที่โดนสัมภาษณ์หรือเปล่าเป็นระยะๆ
ด้วยความเป็นหนังลูกผสมระหว่างการ์ตูนกับสารคดี เลยอาจทำให้หนังดูยากไปสักนิดสำหรับคนที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมโอตาคุของญี่ปุ่นมาก่อนเลย แต่สำหรับคนที่พอจะจับใจความของวัฒนธรรมนี้ได้บ้างน่าจะได้สะดุดใจในช่วงเวลาที่เป็นสารคดีปลอมว่านั่นเป็นการวิพากษ์กลุ่ม ‘แฟนผู้คลั่งไคล้’ กลุ่มนี้ ว่าบางทีพวกเขาอาจจะแค่คลั่งจนเกินเลยแล้วมองข้ามสิ่งที่คนทำงานสื่ออยากนำเสนอนอกจากความบันเทิง และด้วยความที่ทีมงานที่สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ Gainax ที่มีผลงานอนิเมชั่นน่าจดจำอย่าง Nadia: The Secret of Blue Water, Neon Genesis Evangelion ฯลฯ เราจึงเดาลำบากว่า พวกเขาตั้งใจวิจารณ์กลุ่มลูกค้าของเขาแบบอ้อมๆ หรือ แค่หยิกแกมหหยอกปนแซะกันแน่
Lake Mungo (2008) – mockumentary ชวนหลอน
เรื่องเริ่มต้นด้วยการเสียชีวิตของ อลิซ ปาล์มเมอร์ ที่เธอได้จมน้ำในทะเลสสาป ก่อนที่เรื่องราวจะค่อยๆ โยกย้ายไปพูดคุยกับคนรอบตัวของเด็กสาวเกี่ยวกับการจากไปก่อนวัยอันควร จนกระทั่งเริ่มีความผิดปกติเกิดขึ้นในภาพถ่ายที่ แมทธิว พี่ชายของเธอถ่ายรูปสวนหลังบ้านที่ปกติพวกเขาจะทำการถ่ายเดือนละหนึ่งครั้ง แต่ในเดือนหนึ่งกลับมีเงาของน้องสาวที่น่าจะตายแล้วกลับมาปรากฎตัวอยู่ จากนั้นแมทธิวติดตั้งกล้องรอบบ้าน ก็พบว่ามีภาพของน้องสาวมาปรากฎตัวอยู่หลายครั้ง เมื่อไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น จึงมีการขุดศพของอลิซขึ้นมาตรวจสอบอีกครั้งก่อนจะพบว่าเธอตายแล้วจริงๆ
ก่อนเรื่องราวจะพลิกผันว่า คลิปและภาพผีสิงในเรื่องก่อนหน้านี้เป็นของที่ แมทธิว ทำขึ้นมาปลอมๆ แต่เป้าประสงค์ของเขาคือการได้เปิดโลงศพขึ้นมาให้แม่ของเขาได้เห็นหน้า และถือเป็นการสมานแผลที่เกิดขึ้นในครอบครัว ทว่าเรื่องราวของสารคดีที่ถ่ายทำชีวิตของคนในบ้านนี้ยังไม่จบเพราะมีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นทำให้เราต้องสืบเรื่องราวต่อไปว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับ อลิซ กันแน่
ปกติแล้วหนังผี มักจะไม่นิยมเล่าเรื่องแบบ mockumentary โดยตรง แต่จะเลี่ยงไปเล่าเรื่องด้วยการใช้วิธีเล่นแบบ Found Footage หรือแนวบังเอิญเจอคลิปกันเสียมากกว่า แต่หนังจากประเทศออสเตรเลียเรื่องนี้เลือกจะเดินหน้าเล่าเรื่องอย่างสารคดีเก๊แบบเต็มตัว ด้วยการระบุโครงเรื่องไว้คร่าวๆ แล้วเปิดโอกาสให้นักแสดงด้นบทพูดสดๆ หน้ากล้อง แล้วก็ใช้การถ่ายทำด้วยกล้องหลายประเภท แล้วตัดต่อคลิปเหล่านั้นเข้ากัน จนทำให้บรรยากาศในเรื่องดูเหมือนสารคดีของจริง และยังคงบรรยากาสความเป็นหนังผีเหนือธรรมชาติไว้ได้ดี
ตัวหนังอาจจะมีความงงเล็กน้อยโดยเฉพาะในช่วงเฉลยตอนท้ายสุด อาจจะเพราะว่าเรื่องราวความตายในใจแต่ละคนไม่เหมือนกัน และหนังก็เหมือนจะอยากให้คนไปคิดกันต่อเองว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
อ้างอิงข้อมูลจาก
The History of the Mockumentary Artform