เขาอ่านประกาศนั้นจาก facebook ในวันที่ 8 กุมภา ตอนค่ำ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ต้นทางได้โพสถึง โครงการนี้ เขาเคยเห็นคนทำหนังรุ่นพี่-รุ่นน้องหอบเอา project มา pitch ที่นี้ บางเรื่องหนังก็เสร็จดี บางเรื่อง ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นว่าจะมีวี่แววที่จะได้ทำ สรุปหนังต่างๆ ที่เคยมาพิช ส่วนใหญ่แล้วหาเงินจากต่างชาติได้จริงหรือไม่ เขารู้คร่าวๆ แหละ ว่าการหาเงินจากต่างประเทศนั้นยากมากเพราะต้องแข่งกับคนทั้งโลก แต่ที่เศร้ากว่าคือ หนังที่เขาจะทำนั้นคงไม่มีโอกาสหาเงินจากค่ายหนังในประเทศเลยต่างหาก
เขาคือคนทำหนังสั้นไทยคนนึงที่เคยมีผลงานฉายหลายที่ทั่วโลกจากเรื่อง อวสานซาวน์แมน(และอื่นๆ) แต่ทุกวันนี้เขาก็หาเงินมาทำหนังยาวเรื่อง “อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง” ไม่สำเร็จเสียที เขาจึงอยากลองไปหาทุนนอกประเทศ และเขียนบันทึกเกี่ยวกับคานส์ ภาพยนตร์นานาชาติที่สำคัญที่สุดในโลก ที่เขาเองก็ไม่เคยเหยียบมาก่อน เขาเดาว่าบันทึกนี้ที่จะเกี่ยวกับ การไปเทศกาลคานส์ครั้งแรก การดูหนังที่ยากลำบาก วัฒนธรรมคนฝรั่งเศสโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการดูหนัง ชีวิตและการหาเงินของคนทำหนัง
กระทรวงวัฒนธรรมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
สมัครอีกทีดีมั้ย สมัครไปก็ไม่รู้จะหาเงินได้มั้ย แต่อย่างน้อยก็มีคนออกค่าใช้จ่าย ถ้าไม่สมัคร คนอื่นในประเทศก็สมัครอยู่ดี เขาจำความรู้สึกอิจฉาที่คนอื่นๆ ได้รับเลือกให้ไปในปีก่อนๆ ได้ดี เอกสารก็เดิมๆ เตรียมได้โดยไม่เสียเวลาเท่าไร นอกจากเวลาแล้วต้นทุนที่เขาจะเสียก็มีแค่ค่าปริ้นต์เอกสารที่ผู้ออกทุนเขียนไว้ว่าต้องการ 12 ชุด บทของเขามี 70 หน้า สงสัยต้องซีร็อกซ์ตามมหาลัยจะได้ถูกกว่า
รู้ตัวอีกทีเขาหอบเอกสารและโบก taxi มาลงที่หน้าตึกของกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว เขาชอบการมาส่งมอบด้วยตัวเองเพราะเขาเป็นคนขี้ระแวง เขาเคยได้ยินเรื่องเอกสารหาย เลยอยากตัดปัญหาเรื่องพวกนี้
ในที่สุดเมื่อต้นเดือนเมษาก็มีโทรศัพท์โทรเข้ามาที่บ้าน “จากกระทรวงวัฒนธรรมนะครับ โปรเจกต์ของน้องได้รับเลือกไป Thai-Pitch นะ ยังไงวันรุ่งขึ้น ถ้าไม่ติดอะไรก็มาประชุมที่กระทรวงด้วยนะครับ”
ที่ห้องประชุมพี่เจ้าหน้าที่ได้แจกแจงคร่าวๆ ถึงเรื่องวันเวลาเดินทางและกิจกรรมที่ต้องเข้าร่วมรวมถึงการลงทะเบียนเพื่อรับ accreditation จากเทศกาล โดยกระทรวงบอกว่าให้ต่างคนต่างทำจะสะดวกที่สุด การลงทะเบียนครั้งนี้จะต้องเสียค่าลงทะเบียน 100 ยูโร (เพราะเลยช่วง free register แต่ยังดีที่กระทรวงจะจ่ายให้) หนำซ้ำ เทศกาลจะไม่รับรองว่าคุณจะได้ festival batch ด้วย ขึ้นอยู่กับหลักฐานและผลงานของคุณในอดีต (100ยูโร = festival accreditation ถือเป็นเกณฑ์ต่ำถ้าอยากสูงส่งขึ้นก็สามารถอัพเป็น Market แต่ต้องจ่าย 400 ยูโร แต่จะมีโอกาสเข้าร่วมดูหนังได้ง่ายขึ้นรวมถึงการฉายของ market screening)
หลังจากออกจากกรุงเทพประมาณ 16 ชั่วโมง(รวมเวลาแวะเปลี่ยนเครื่องที่มิวนิค) เขาและคณะ (เจ้าหน้าที่กระทรวง นักข่าว คนทำหนัง) ก็หอบร่างมาถึงสนามบินนีซ ขึ้นรถ shuttle ที่กระทรวงจัดหามาให้ และในที่สุดเขาก็มาถึงเมืองคานส์แล้ว ที่พักที่กระทรวงเลือกให้ แม้ว่าจะห่างไกลจากตัวเทศกาล(15 นาที โดยรถเมล์ 45-50 นาทีโดยการเดิน) แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่พักนั้นสะดวกสบาย วิวทิวทัศน์งดงามตามท้องเรื่องฝรั่งเศสใต้ เขาเก็บของที่จำเป็นใส่ย่าม รอเวลาที่นัดรถ shuttle ไปส่งที่เทศกาล โอ้ นี่สิ สุดท้ายก็ตื่นเต้นจนได้
รับน้อง
แน่นอนว่าไม่ว่าจะเทศกาลอะไร สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกก็คือเอา accreditation ซึ่งที่คานส์นี่ ถ้าไม่มีเจ้าป้ายห้อยคอ นอกจากจะดูหนังไม่ได้แล้ว ยังจะไม่สามารถเดินไปเดินมาในอีกหลายส่วน ทั้ง film market หรือ international pavilion ที่แต่ละ pavillion อยากจัดแสดง หรืออยากขายอะไรก็แล้วแต่ คานส์เองก็เหมือนชอบจะรับน้องคนที่มาครั้งแรก ด้วยการตัดสิทธิพิเศษพื้นฐานบางอย่าง และจะเพิ่มสิทธินั้นให้กับคนที่มาบ่อยๆ หรือมี connection สำคัญเช่น เคยมีหนังได้รับเลือก เคยเป็นกรรมการตัดสิน สปอนเซอร์ คนซื้อ paviliion เหล่านั้นจะเป็นชนชั้นสูงไปโดยอัตโนมัติ
และต่อมาก็ถึงเวลาการจองตั๋วหนังล่วงหน้า ช่วงเวลาที่ชนชั้นกำลังจะมีผล ทุกคนที่มี badge จะได้รับรหัสไว้ทำการขอตั๋วออนไลน์แต่ เอ๊ะ ทำไมในใบสมัครของเขาเพียงคนเดียวถึงไม่มี code มาให้ “ถ้าไม่มีcode ก็ใช้เลขที่อยู่บนบัตรนั้นแหละ” คนทำหนังรุ่นพี่ท่านนึงบอกเขา เขาทำตามและเขาก็สามารถล๊อกอินเพื่อไปพบกับข้อความที่ว่า “คนอย่างนายทำได้แค่ต่อแถวนะ”
ในทางกลับกับ พี่คนทำหนังคนนึงที่ใช้ batch market เพราะเกิดปัญหาระหว่างขอ visa พอจองหนังที่อยากดู 20 นาทีต่อมาพี่เขาก็ได้รับอีเมล และเมื่อเอาอีเมลมาแสกน รอยยิ้มของชัยชนะที่ได้นั่งชั้น Balcony ก็ปรากฏตามภาพ
เขางอแงกับทุกคนที่ชวนคุยกับเขาเรื่องนี้ พี่นักวิจารณ์หนังชาวไทยอีกท่าน พูดว่า นี่ไงล่ะ คำขวัญฝรั่งเศส เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ (Liberté, Égalité, Fraternité) โอ้โห ในภาพก็มี 3 สีเป็นธงชาติฝรั่งเศสพอดีเลย อะไรจะ mise-en-scene ขนาดนี้นะ แต่โดยสรุปงอแงไปชนชั้นก็ไม่สูงขึ้
เขาตัดสินใจเดินไปต่อแถวของหนังสายอื่นคนเดียว โดยเพื่อนร่วมทริปต่างแยกย้ายไปทำธุระของแต่ละคน ทีแรกเขาตั้งใจจะไปดูหนังสั้นแต่จนแล้วจนเล่า เลยเวลาฉายมาตั้ง15 นาทีแล้ว คนดูก็ยังไม่ได้เดินเข้าอยู่ดี เขามาค้นพบภายหลังว่าเขามาผิดโรง แต่นั่นแหละ จะเปลี่ยนไปที่อื่นก็คงไม่ได้ดู เขาเสี่ยงต่อแถวที่เดิมต่อและสามารถเข้าไปดูหนังได้ แต่ที่นั่งดีดีถูกจับจองไปหมดเพราะรอบนี้เป็นรอบฉายโรงเล็กของหนัง special screening
คนฝรั่งเศสเป็นคนชอบแสดงออก
การฉายกำลังจะเริ่ม เจ้าหน้าที่เทศกาลกล่าวแนะนำหนังและผู้กำกับเป็นภาษาฝรั่งเศส คนต่างยืนต้อนรับและตบมือให้กับผู้กำกับสูงวัยท่านนี้ยาวนานเกือบ 2-3 นาที หนังเรื่องนี้เป็นหนังสารคดีสไตล์หนังบ้าน พูดถึงชีวิตของผู้สูงวัย การจากลา และใดใดหนังค่อนข้างจริงใจมาก หลังหนังจบคนที่ชอบหนังก็ตบมืออย่างยาวนาน เคยมีคนพูดว่า ที่คานส์ ถ้าคนชอบหนังจะตบมือนานกว่าปกติ และในทางตรงกันข้ามถ้าคนเกลียดหนังก็จะ โห่ เช่นกัน หรือถ้าหนังเรื่องไหนเสียงแตก คนตบมือก็ตบมือไป คนโห่ก็โห่ไป แต่หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้ไปตบตีอะไรกันต่อ เต็มที่ก็คงแค่เบ้ปากใส่คนที่รสนิยมไม่ตรงกัน
การแสดงออกนี้ก็คือวัฒนธรรมการวิจารณ์รูปแบบหนึ่ง คนที่นี่เชื่อว่า การพูดคุย การวิจารณ์ การรับฟัง มันจะต่อยอดบทสนทนาที่นำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น เขาคิดย้อนไปสมัยในห้องเรียนในไทย เวลาอาจารย์ให้เสนอความคิดเห็นอะไร เขาและเพื่อนร่วมชั้นต่างนิ่งเงียบ
เข้าสู่วันที่ 2 ชาวคณะคนทำหนังไทยต่างได้บัตรสายประกวดหลักรอบ 13.45 เขาที่ไม่ได้จึงตัดสินใจจะมาต่อแถวตั้งแต่12.30 แต่มีคนมารออยู่ที่นี้จำนวนเยอะมาก คนที่ไม่มีบัตรเหมือนเขามารอก่อนหนังฉายชั่วโมงกว่า หนังเรื่องนี้คือ ‘atlantique’ ของผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศส เชื้อสายเซเนกัล marti diop ซึ่งถือเป็นเรื่องฮือฮาไม่น้อยที่ ผู้กำกับจะทำหนังยาวเรื่องแรกแล้วได้เข้าสายประกวดหลักของเทศกาลระดับคานส์
รอบนี้ที่เขามาต่อแถวถือเป็นรอบ re-run ครั้งที่ 3 แล้ว แต่หนังก็ยัง popular ตามที่ได้เห็นในรูป เขารอต่อไปเรื่อยๆ แถว last minute ก็ค่อยๆได้มีโอกาสให้เข้าโรงทีละคน 2 คนแล้วก็หยุด และก็เป็นอย่างงี้อีกพักนึง จนถึงเวลาประมาณ 5 นาทีก่อนการฉาย อยู่ดีๆ เจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วของเทศกาลก็พูดอะไรซักอย่างเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ภาพที่ตามมาคือ คนที่มีบัตร market ได้โชว์ batch สีดำแล้วต่างได้เข้าไป เขาค่อยๆ เลื่อนไปตามแถวและเจอเจ้าหน้าที่ในระยะประชิดพร้อมกับโชว์ batch festival สีส้มต่ำต้อยให้เจ้าหน้าที่ดู
เจ้าหน้าที่ดูและตอบกลับมาอย่างรวดเร็วเป็นเสียงต่ำๆ ว่า“ผ่าด้อง ยูแฮ้ฟทู่เว้ท” (คุณต้องรอก่อน) และในขณะเดียวกันก็โบกมือให้พวกบัตรดำเข้าก่อน เขาเหลือบไปเห็นสายตาคนข้างๆ ที่ห้อยบัตรฟ้า หรือ cinephile ซึ่งน่าจะเป็นชนชั้นที่โอกาสน้อยลงกว่าเขาอีกได้แต่ยืนลุ้น
เวลาผ่านไปไม่กี่อึดใจเมื่อเจ้าหน้าที่มั่นใจว่าไม่มีพวกบัตรสีดำเหลือข้างนอกแล้ว ก็ถึงคราวของเขาบ้าง เขารีบเดินเข้าโรงด้วยความสบายใจถึงแม้ว่าจะได้ที่นั่งซ้ายสุดๆ แต่ถึงกระนั้นเมื่อลองนั่งดูจริงๆ ก็พบว่าดูได้ ไม่รู้สึกรำคาญอะไรนอกจากว่าพอดูจบแล้วรู้สึกปวดคอเพราะเขานั่งริมมา 3 เรื่องติดแล้ว
การเปิดซุ้ม Thai-Pavillion
เมื่อหนังจบก็พอดีกับเวลาเปิดซุ้ม ไทย-พาวิลเลี่ยน เขาเดินไปถึงก็เห็นได้ถึงความคึกคัก ไม่รู้ว่าคนเหล่านี้มาจากไหนหรือสนใจจะลงทุนอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์ในไทย หรือแค่รอเวลาเปิด booth อย่างเป็นทางการแล้วจะได้ไปกินเป๊าะเปี๊ยะ แต่ก็ต้องยอมรับว่า booth นั้นแน่นขนัด พิธีกรกล่าวแนะนำคร่าวๆ เกี่ยวกับวัตุประสงค์ของ booth รวมถึงแนะนำ โปรเจกต์ทั้ง 3 ที่จะมาร่วมพิชในอีก 2 วันข้างหน้า ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น เมื่อได้ถ่ายรูปรวมเสร็จ
เขาลัดเลาะไป booth เพื่อนบ้านที่ติดกันซึ่งเป็น booth ของประเทศสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ ที่นั่นก็มีปาร์ตี้เปิด pavilion เหมือนกัน คนเขาบอกว่าไปเทศกาลภาพยนตร์ต้องไปปาร์ตี้ มันเหมือนไปปรากฏตัวให้เกิด connection และอย่างอื่นจะตามมาแต่สำหรับเขา เขาก็เหมือนไปหาที่กินฟรี และหาความเฮฮา เสียมากกว่าธุรกิจ
เขาเจอเพื่อนคนทำหนังต่างประเทศทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ เมื่อจบปาร์ตี้หนึ่ง อีกปาร์ตี้ของประเทศอื่นก็เริ่ม เข้าเดินไปต่อที่อิสราเอล ปาร์ตี้กับกลุ่มเพื่อนชาวอินโดนีเซีย ที่นั่นเขาไม่รู้จักใครและไม่ได้คิดจะหวังไปถ่ายทำอะไรที่นั่น แต่เหมือนทางอิสราเอลก็จะรู้ด้วยว่าเขากะจะมากินฟรี เขาเลยบอกว่าถ้าจะมากินเหล้าเฉยๆ ไม่ได้ อย่างน้อยคุณต้องเต้นกับเรา รู้ตัวอีกทีเขาวางแก้วไวน์แล้วก็เซิ้งอยู่พักใหญ่
และเมื่อปาร์ตี้อิสราเอลจบ เขาก็ไปต่ออีกหลายปาร์ตี้ แต่ไม่มีใจความสำคัญแต่อย่างใด
แถวผิดชีวิตอด
วันนี้ชาวแก๊งคนทำหนังไทยตัดสินใจจะไปดูหนังรอบเที่ยงพร้อมๆ กัน โดยเป็นหนังในส่วนของ ‘Director Fortnight’ หรือประหนึ่งสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ฝรั่งเศส เขาและเหล่าชาวแก็งได้แต่หวังว่าฝนตกขนาดนี้คนคงไม่เยอะมาก แต่กระนั้นเมื่อถึงหน้าโรงประมาณ 11 โมง (ก่อนหนังฉาย 1 ชั่วโมง) เขาต่อแถวเลยออกมานอกเต้นท์
“ลองต่อแถวไปก่อน” ถึงแม้แถวจะยาวแต่พอเขาและชาวแก็งได้ต่อแถว ก็มีคนมาต่อแถวมากขึ้นเรื่อยๆ
เขาคิดว่า “ถ้าคนมาต่อหลังเราเขายังหวังว่าจะได้ เราก็ควรจะได้” ระหว่างนั้นพวกเขาก็หยอกล้ออะไรกันไปเรื่อย ทำเป็นเดาว่าคนรอบข้างคุยเรื่องอะไรกัน ผ่านเวลาไปเกือบครึ่งชั่วโมง
แถวก็เริ่มขยับแล้วก็หยุดใหม่เป็นพักๆ section นี้ขึ้นชื่อว่าได้ดูยากเพราะโรงเล็กรอบน้อย แต่ทุกครั้งที่หันไปเห็นปลายแถวเราก็มีความหวัง พวกเขารออีกไม่นานแถวก็ค่อยๆ เคลื่อนอีกครั้ง เพียงแต่ว่าครั้งนั้นเอง คนฝรั่งเศสข้างหน้าก็หันมาคุยด้วย
“เอ็กคิ้ว มัวร์ แคน ไอซียัว แบดจ์” (ขอดูบัตรหน่อยครับ) เขาโชว์ป้ายห้อยคอให้ชาวฝรั่งเศสคนนั้นดู “โอ ไอ ตซิ้ง ยูแฮฟทูคิวแอดดิอาเถ่อไซ้ด์ ดิสไลน์อิสฟอร์ทิกเก็ต” (ผมว่าพวกคุณต้องไปต่ออีกแถวนะครับ แถวนี้สำหรับคนมีบัตร) พวกเขามองหน้ากันเลิกลั่กแล้วดูคนรอบข้างต่างก็มีตั๋ว ไม่ก็ batch เฉพาะของ section นี้
เมื่อรู้ตัวว่าผิดพลาด ทั้งหมดได้ย้ายไปต่อแถวอีกฝั่ง แต่เมื่อเห็นอีกฝั่งที่ยาวสุดๆ รวมถึงการที่เขาเสียเวลาเข้าแถวผิดฝั่งอยู่ครึ่งชั่วโมง “ไปกินข้าวกันเหอะ” เสียงนึงดังขึ้น “กินอาหารไทยนะพี่” อีกเสียงเสนอ
“การที่เราไม่ได้ดูหนังที่เราไม่รู้ว่าควรดูหรือเปล่าคงไม่ใช่เรื่องผิดพลาดอะไรมั้ง” เขาพยายามพูดจาให้คมคาย ทั้งๆ ที่ประโยคดังกล่าวโคตรไม่ make sense เน้นผลลัพธ์คือไปกินข้าว
หลังจากกินข้าวเที่ยงเสร็จทุกคนต่างว่าง เขาปลีกตัวไปดูหนังสั้นและตามต่อด้วยหนังจีนสายประกวดเรื่อง ‘The wild goose lake’ ที่เขาได้ตั๋วมาจากเพื่อนบราซิลคนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นรอบ premiere ถ้าไม่ได้ตั๋ว โอกาสต่อแถวแล้วได้ดูมีน้อยมาก เพราะเป็นรอบดาราเดินพรม
เขาต้องเข้าไปรอในโรงก่อนประมาณ 45 นาที หลังจากนั้นดาราจะเริ่มเดินพรมแดง หนังจีนเรื่องนี้มีนักแสดงสาวสวย ทุกคนต่างปรบมือ แต่เสียงตบมือดังสุดดันเกิดขึ้นตอนที่ เควนติน ตารันติโน่ มาเดินพรมแดงเพื่อดูหนังเรื่องนี้ เสียงเฮดังกว่าผู้กำกับรอบนี้เองเสียอีก บ้าบอเสียจริงๆ แล้วตอนนั้น เขาเองก็ดันไม่ยอมถ่ายรูปตารันติโน่ซะอีก เขาเสียดายขณะเขียนบทความย้อนหลัง
meeting plan
ตาราง meeting ออกประมาณ 2-3 วันก่อนเดินทาง เขาศึกษาคร่าวๆ และพบว่าตัวเองมีนัดทั้งสิ้น 20 กว่านัดในรอบ 2 วัน บางคนเป็นคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว บางคน เขาพอรู้ว่าบริษัทนั้นๆ ทำอะไร บางคนเคยนัดเจอไปแล้ว แม้ไม่มีที่ท่าว่าจะลงทุนแต่ก็ยังอุตส่าห์นัดมา คนที่มาพบเขามีทั้ง Producer ทั้งจากฝรั่งเศสและที่อื่น ทั้งคนที่ดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนในยุโรป เจ้าหน้าที่เทศกาลอื่นๆ ที่มา scout project หรือ sale agent ที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยลงทุนกับผู้กำกับหน้าใหม่แต่มาทำความรู้จักไว้ก่อน แต่จะตัดสินใจอีกทีตอนหนังเสร็จ
meeting ค่อยๆ ผ่านไป สิ่งที่น่าเบื่อคือการพูดเหมือนเดิม 20 กว่ารอบ แต่แล้วก็พอมีข่าวดีบ้างเช่น มี producer ชาวฝรั่งเศส และ producer ชาวฮอลแลนด์ที่เคยได้ดูหนังสั้นของเขามาก่อนและชอบมาก สนใจอยากร่วมสมัครทุนไปพร้อมกับ project จึงขออ่านบท แน่นอนว่ามันยังไม่ได้เงิน แต่ถ้าไม่มีโปรดิวเซอร์ยุโรปก็ไม่สามารถสมัครกองทุนในยุโรปได้
ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร ตอนนั้นเขามีความหวัง เขาขอบคุณหนังสั้นทุกเรื่องที่เขาเคยทำ ขอบคุณทีมงานที่เคยช่วย ขอบคุณตัวเองที่ผลักดันจะทำมันออกมา เขาขอบคุณทุกอย่างอยู่ในใจ
ประหนึ่งตัวเองได้กล่าว speech บทเวทีแม้ความเป็นจริงเขายังไม่มีเงินเพิ่มซักบาท
เราจะเจอคนทุกประเภทที่คานส์
อะไรคือความแตกต่างระหว่างคานส์กับเทศกาลอื่น เขาลองพิจารณาย้อนกลับเมื่อวันสุดท้ายมาถึง นอกจากเรื่องความเรื่องมาก ความยิ่งใหญ่หนังบางรอบต้องใส tuxedo ผู้หญิงใส่ชุดราตรี เพื่อเป็นการให้เกียรติภาพยนตร์ เขาคิดว่าคนแม่งมาเยอะชิบหายนี่แหละ สิ่งที่คานส์แตกต่างจากที่อื่น
คนเยอะอาจจะทำให้ดูหนังยากขึ้น แต่คนเยอะก็มีโอกาสเกิดธุรกิจได้เยอะตามมาจริงๆ และคนเยอะก็ยังเป็นการยืนยันว่าภาพยนตร์เป็นสิ่งที่คนทั้งโลกนั้นยังสนใจ เขารู้สึก ทั้งๆ ที่คนที่เคยมาปีก่อนหน้าเขาทุกคนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปีนี้คนน้อยลง
แล้วใครบ้างที่เขาเห็นที่คานส์?
คนทำหนังและทีมงาน programmer เทศกาลต่างๆ โปรดิวเซอร์ sales agent ผู้จัดจำหน่าย คนทำ moderator คนวิจารณ์ นักข่าว สื่อต่างๆ ดาราพรมแดง sponsor เทศกาลที่เป็นแบรนด์สินค้า อาจารย์ และคณะนักเรียน คนบ้าดาราที่มารอดูดารา ค่ายหนัง ลูกจ้างกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ คนดำที่มาขายร่มเวลาฝนตก นักท่องเที่ยวทั้งหลาย คนมาเปิดหมวกด้วยการเต้น คาโปเอล่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
คนกำมะลอที่แนะนำตัวเองว่าทำหนังแต่ก็ไม่เคยเห็นเขาทำหนังเสร็จซักเรื่อง “เราจะเจอคนทุกประเภทที่คานส์”
เขาพบเจอไปแล้วหลายประเภท สิ่งที่ยืนยันข้อมูลเดิมอีกครั้งคือ มันมีอาชีพหลายอาชีพที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ ซึ่งในประเทศไทย เราหาคนประกอบอาชีพนั้นยากมาก เช่น คนเป็น programmer เทศกาลหนัง หรือคนทำ q-a
สิ่งที่เขาไม่ชอบที่สุดของคานส์ก็คือช่วงปิดถนนพรมแดงนี่แหละ เขารู้ตัวอีกทีตอนติดที่บริเวณปิดถนนรอบพรมแดงของหนังเควนตินที่มี Leonardo Dicaprio มาร่วม กว่าจะเบียดเสียดออกจากวงตรงนี้ใช้เวลานานกว่า 10 นาทีจากช่วงเวลาปกติ ถ้ารู้ตัวทัน เขาจะเดินอ้อม แต่นี่พอไม่ทันก็เลยถือโอกาสถ่ายรูปมาฝากแทน แม้เขาจะไม่พยายามมากพอที่จะถ่ายให้ติดดารา
filmmaker talk
แก็งไทยบางส่วนได้ชวนเพื่อนสิงคโปร์กินข้าวกัน เขาเหล่านั้นต่างพูดคุยเรื่องเดิมบ้าง เรื่องใหม่บ้าง แต่ก็ยินดีที่ได้เจอเพื่อนต่างชาติที่รู้จักกันมากว่า 5-6 ปีและยังหากินอยู่กับสิ่งเดียวกัน หลังจากกินกันเสร็จ เขาคิดว่าเขาคงไม่สามารถดูหนังได้เพิ่มแล้วในทริปนี้ และดูเหมือนเพวกเขายังอยากชิลกันต่อ ดังนั้นจึงชี้ชวนไปดูหนังที่ชายหาดที่เป็น special screening ที่จะฉาย surprise ฟิล์ม (ซึ่งคือ Crouching Tiger, Hidden Dragon)
พวกเขาได้ตระเตรียมไวน์จำนวนหนึ่งเพื่อไปกินข้างหลัง คนที่นี้ยังต่อแถวมาดูหนังเยอะเหมือนเดิม จากนั้นบทสนทนาก็เกิดขึ้นไปเรื่อยต่อเรื่อย จนพระอาทิตย์ตกดิน หนังเริ่มไปได้ไม่นานเรารู้ว่า ไม่มีซับอังกฤษ แต่จริงๆ ไม่ได้มีใครในหมู่พวกเราตั้งใจมาดูหนังเรื่องนี้จริงๆ จังๆ อยู่แล้ว เราต่างแยกย้ายอำลาและเชื่อว่าจะได้พบเจอกันในเร็ววันที่ไหนก็ตาม
เขารู้ดีว่าเขาสิ่งที่เขาเขียนนั้นมันก็แค่เรื่องราวเพียงแค่ไม่กี่เปอเซนต์ของทริป สิ่งที่ไม่ได้เล่าคือ บทสนทนาระหว่างเดินไปกินข้าว ระหว่างไปรอดูหนัง ตอนรอเครื่องบิน
การอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมอาชีพทำให้เขาโดดเดี่ยวน้อยลงในบางครั้ง ถ้าจะกล่าวแบบโรแมนติกเกินไป แต่มันก็ช่วยเยียวยาคนแบบพวกเขา การเล่นตลก พูดเพ้อเจ้อ นินทาคนบางประเภท เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขดี
รู้ตัวอีกทีก็ถึงเวลาขึ้นเครื่อง โชคดีว่าเที่ยวบินสุดท้ายจากแฟรงเฟิตมากรุงเทพนั้นค่อนข้างว่าง ทุกคนต่างแยกย้ายเพื่อไปนั่งยืดขา เขาเอนตัวลงหลับตาแต่จริงๆ แล้วนอนไม่ค่อยหลับ สมองของเขามีเรื่องต้องคิดหลายอย่าง เขามีเรื่องต้องสะสางจำนวนนึงเมื่อกลับไปถึงเมืองไทย
สิ่งหนึ่งก็คือต้องบันทึกทริปนี้เป็นตัวอักษรให้เสร็จ
เขาหวังว่าจะมีสื่อออนไลน์ซักที่ยอมตีพิมพ์บทความนี้
เขายังหวังเหมือนกับที่เขายังหวังกับหนังยาวของเขา
“ถ้าไม่ซื้อหวยก็ไม่ถูกหวย”
เขาแค่อยากจบบทความด้วยคำว่าหวย
ขอขอบคุณ กระทรวงวัฒนธรรม ผู้ร่วมทริป และเพื่อนทุกคนที่เจอ