Street Art นับเป็นงานศิลปะชนิดหนึ่ง การวาดรูปหรือข้อความบนลงกำแพงสาธารณะ โดยใช้สเปรย์ พู่กัน หรือสติ๊กเกอร์บอมบ์ เป็นเปรียบเสมือนข้อความที่จะสื่อสารเพื่อบอกเล่าความคิดเห็นบางอย่าง การเสียดสีการเมืองในบางมุม รวมถึงสะท้อนภาพส่วนหนึ่งในสังคมให้กับผู้คนที่ได้พบเห็น
ก้อง–กันตภณ เมธีกุล เป็นศิลปินไทยคนหนึ่งที่เลือกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสตรีทอาร์ต เขาจบจากคณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากนั้นก็ทำงานโฆษณาอยู่ 3-4 ปี ก่อนที่จะย้ายไปอาศัยอยู่นิวยอร์ก และมีชื่อเสียงจากงานสตรีทอาร์ตของตัวเอง จนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Street Art New York Community
The MATTER สนใจชวนก้องมาคุยถึงจุดเริ่มต้นการสร้างชื่อเสียงในฐานะศิลปินสตีทอาร์ตไทยในนิวยอร์ก แรงบันดาลใจที่ก่อให้เกิดสไตล์งานอันโดดเด่น รวมถึงสังคมชีวิตการทำงานในนิวยอร์ก
The MATTER : ทำไมถึงเลือกที่จะมา paint ลงบนกำแพง และมีวิธีสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักได้ยังไง
ก้อง : ขอเล่ากลับไปตอนแรกว่า ตอนเราเป็น illustrator ที่ไทย เราทำงานทุกวันในออฟฟิศซึ่งมีคนยอมรับระดับนึงเวลาอยู่ไทย มีคนเทคแคร์เราดี เป็น safe zone มากๆ พอมาอยู่ในเมืองนอกมันเหงา เพราะมันเปลี่ยนที่เปลี่ยนทาง ต้องหาเพื่อนใหม่หมดเลย อยู่ที่นี่เราเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไม่มีใครรู้ว่าเราวาดรูปได้ ทำงานอาร์ตได้ เราเลยค่อยๆ ดาวน์ลง ปรับตัวเยอะมาก เรารู้สึกกดดันตัวเองเพราะใช้เงินที่บ้านเยอะ อยู่นี่ใช้เงินก็เป็นแสนแล้ว ถึงเราจะประหยัดมากๆ เพราะเราก็ไม่ได้ขอเงินที่บ้านมา 4-5 ปีแล้ว มีให้พ่อให้แม่ด้วย แต่พอเงินมันไม่พอ เราก็ต้องไปขอที่บ้าน ซึ่งมันเครียดมากจริงๆ ก็เลยคิดว่าอยากจะวาดอะไรที่รู้สึกติดอยู่กับตัวเอง ให้รู้สึกปลดปล่อย เลยวาดโปรเจกต์นี้ขึ้นมา
เราสร้างประตูขึ้นมาเป็นหลุมดำ สีดำเป็นตัวแทนของความที่ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ข้างใน เพราะฉะนั้นเราจะสามารถไปไหนก็ได้ เรารู้สึกว่ามันเป็นการวาร์ปไปในที่ต่างๆ ที่เราอยากไป เราก็เริ่มวาดใส่กระดาษก่อน ซึ่งโปรเจกต์นี้เป็นเรื่องของอิสระ ก็เลยรู้สึกว่า media ที่ใช้ไม่น่าใช่กระดาษ ก็มีพี่คนนึงแนะนำให้ไปทำ sticker bomb ซึ่งฮิตมากในนิวยอร์ก ด้วยการที่งานเรามันเป็นประตูกลมๆ เวลาไปแปะที่ไหนมันจะมีเรื่องราว ซึ่งเราสามารถสร้างคอนเทนต์ได้ตลอด เราก็บอมบ์ไปเรื่อยๆ สักพัก The New Yorker ก็แท็กเรามาในอินสตาแกรม พอคนเห็นเยอะขึ้น เราก็เลยได้ไปวาดของ Street Art New York Community มันเป็น Art Space ก็ไปวาดเลยทั้ง Manhattan กับ Brooklyn แล้วก็มีคนให้ไป paint ตามที่ต่างๆ มากขึ้น agency โฆษณาก็เข้ามาหา
The MATTER : ใช้เวลานานไหมกว่าจะมีคนมาเห็นงานตัวเอง
ก้อง : เราว่าประมาณสองเดือนก็เห็นงานเราแล้ว เราไม่ใช่คนนิวยอร์ก เพื่อนฝรั่งก็ไม่ได้เยอะซึ่งเราว่ามันเป็นวิธีที่เร็วมากเลย
The MATTER : นิยามสไตล์งานของตัวเองว่ายังไงบ้าง
ก้อง : เป็น minimal เข้าใจง่าย เส้นง่ายๆ คลีนๆ แต่ตอนนี้กำลังคิดอยู่ว่าจะเพิ่มสไตล์มากขึ้น แต่ยัง keep หลุมดำไว้อยู่ ตอนนี้ทำให้คนจำแบบนี้ไปก่อน
The MATTER : ในแง่ของการทำงานสังคมที่ไทยกับนิวยอร์กต่างกันแค่ไหน และมีความท้าทายยังไงบ้าง
ก้อง : เราว่าต่างเยอะมาก แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ คอนเนกชั่นสำคัญเหมือนกันในอาชีพสายอาร์ต นิวยอร์กเป็นเมืองคอนเนกชั่นเลย คล้ายๆ ที่ไทย ซึ่งที่ไทยยากตรงที่ว่า ถ้าเราโนเนม ลูกค้าจะไม่ค่อยเลือกเรา ลูกค้าจะ base on follower กับยอดไลก์ เพราะตอนเราเป็นครีเอทีฟอยู่ไทยเวลาเราเสนออาร์ตติสต์ ลูกค้าจะขอยอดไลก์ ขอ follower ก่อน ส่วนสไตล์งานมันไม่ได้สำคัญมากขนาดนั้น เช่น ชอบคนนี้แต่ดังไม่เท่าคนนั้น เลยเอาคนนั้นดีกว่า งานก็พอๆ กัน ซึ่งเรารู้สึกว่า การที่จะให้โอกาสหน้าใหม่ยากมาก แต่นิวยอร์กเป็นเมืองที่ว่าเอาพอร์ตมาคุยกัน เพราะที่ได้ไปวาดของ Street Art New York เราว่ามันใหญ่มาก ถ้าคุณงานโอเค คุณได้ทำ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร นี่คือสิ่งที่เราได้รับนะ เขาเคารพกันมาก ค่อนข้างแฟร์ และไม่ค่อยมีชนชั้นแบบไทยมาก คือ ทุกอายุเท่ากันหมด
The MATTER : ในอนาคตจะมีโปรเจกต์อะไรมั้ยหรือว่ามองตัวเองในอนาคตยังไง
ก้อง : เราอยากเป็นอาร์ตติสต์ รู้สึกว่าตัวเองตอนนี้ก็เหมือนเป็นอาร์ตติสต์มากขึ้น มันเกิดจากความ homesick ของเรา เราได้ทำงานที่เราอยากทำจริงๆ เราพึ่งเคยเอางานที่ไม่มีลูกค้าไปโชว์ ซึ่งมันแฮปปี้มาก เหมือนเราได้บอกอะไรกับคนอื่น ซึ่งถ้ากลับไทยก็อยากจะทำสตูดิโอเวิร์กช็อป อยากขายกาแฟข้างล่าง ข้างบนก็เป็นเวิร์กชอป เป็นแกลเลอรี่