บางครั้งงานศิลปะไม่ได้มีไว้เพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ศิลปะยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ศิลปินเลือกใช้เพื่อนำเสนอมุมมองหรือความคิดเห็นบางอย่างที่มีต่อสังคม แล้วเป็นสื่อกลางนำเสนอข้อความส่งต่อไปยังผู้ที่ได้พบเห็น ซึ่ง Street Art ก็เป็นงานศิลปะที่ทำหน้าที่นั้นได้เป็นอย่างดี
Alex Face หรือ พัชรพล แตงรื่น ก็เป็นศิลปิน Street Art คนหนึ่งที่ใช้ศิลปะถ่ายทอดความคิดเห็นของเขาผ่านคาแรคเตอร์เด็ก 3 ตา ที่หลายคนอาจจะเคยเห็นผ่านตากันมาบ้าง และครั้งล่าสุดที่คาแรคเตอร์เด็กของเขาไปโผล่ที่เมืองยะลานั้น ก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากคนในชุมชน
ด้วยคาแรคเตอร์อันโดดเด่นไม่เหมือนใคร The MATTER จึงไปคุยกับ Alex ว่า เขาได้ไอเดีย Street Art นี้มาจากไหน คาแรคเตอร์เด็กสื่อถึงอะไร และมันให้มุมมองทางสังคมในด้านใด รวมถึงผลงานของเขาช่วยผลักดันสังคมได้ขนาดไหนแล้ว
The MATTER : ทำไมถึงเริ่มที่จะมาทำ Street Art และคาแรคเตอร์เด็กมีที่มาอย่างไร
Alex Face : สมัยก่อนเราเราชอบเล่นสเกตบอร์ด ชอบ graffiti ได้รับวัฒนธรรม hip-hop มาจากการฟังเพลง และเริ่มที่จะ TAG (การเขียนหรือพ่นชื่อตัวเองลงบนกำแพง) ก่อนที่จะมาเป็น Street Art และเราก็เรียนศิลปะอยู่ด้วย จึงเริ่มพ่นเป็นรูป จากที่เราพ่นแต่ graffiti ไม่ได้พ่นเป็นรูปอะไร ก็เริ่มพ่นเป็นคาแรคเตอร์ขึ้นมา เริ่มจากเอางานที่เราเรียนมาพ่นก่อน ก็กลายเป็นว่าเราชอบพ่นคาแรคเตอร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งก็เป็นหน้า Face เรา มันเหมือนการเสนอหน้าไปตามที่ต่างๆ กระจายหน้าไป say hello กับทุกคนที่เห็น เป็นเหมือนการประกาศตัวตน put your name everywhere แต่เรารู้สึกว่า ถ้าไป put my name เราก็อยากได้ message ที่ไปเสนอหน้าตามสภาพแวดล้อมต่างๆ อยากให้คนจำหน้านี้ว่ามันคืออะไร ก็กลายเป็น Alex face ขึ้นมา
เริ่มพ่นหน้าอยู่ประมาณ 7-8 ปี ต่อมาเรามีครอบครัว มีลูกก็เลยได้แรงบันดาลใจอันใหม่เป็นเด็ก แต่เราก็ยังพ่นหน้าอยู่นะ ซึ่งก็เริ่มพ่นหน้าเด็กหลังจากที่มีลูก ด้วยสภาวะตอนนั้น ด้วยอารมณ์หลายๆ อย่างก็เลยอินกับเด็กมาก เหมือนมีความกังวลในอนาคตว่าลูกเราจะเป็นยังไง เกิดคำถามกับสังคม จากที่เราไม่ได้สนใจ เพราะเราไม่ได้มีครอบครัว แต่พอเรามีครอบครัวแล้วชีวิตมันเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด เราเลยต้องมาสนใจสังคมมากขึ้น เพราะลูกเราต้องโตมาในสังคมนี้ ก็เลยกลายเป็นว่าเราพ่นเด็กเพื่อให้คนดูแล้วรู้สึกว่าเด็กกำลังกังวลกับอะไรในอนาคตหรือเปล่า
The MATTER : อยากให้อธิบายเกี่ยวกับคาแรคเตอร์เด็ก เรื่องดวงตาที่ 3 ว่ามีที่มายังไง และทำไมตาทั้งสองข้างถึงเป็นสีน้ำเงินและแดง
Alex Face : เราเปรียบตาที่สามเสมือนเป็นตาที่เอาไว้ระวังภัยต่างๆ เวลาพ่น เพราะถนนเป็นสภาพแวดล้อมที่ขวักไขว่ รถวิ่งไปวิ่งมา โดยเฉพาะในกรุงเทพ เรารู้สึกว่ากรุงเทพมันอันตรายเรื่องจราจร เหมือนกับต้องมองซ้ายมองขวาตลอด ซึ่งตาก็ต้องเอาไว้มองอีกด้านนึงเสมอเพื่อความปลอดภัย และอีกด้านนึงเราเชื่อว่า มันมีสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาปกติ เช่น คลื่นต่างๆ และพลังงานบางอย่างที่เราไม่สามารถเข้าใจมันได้ ซึ่งเอามาล้อกับบริบทของสังคมไทยหลายๆ อย่าง
ส่วนตาสีแดงสีน้ำเงิน ความจริงแล้วมันเกิดจากอุบัติเหตุ ตอนเราทำงานแล้วสีมันหมด ตอนนั้นก็พ่นสีน้ำเงินไป เลยได้นั่งคิดดู สักพักก็คิดว่าคนเรามันก็ต้องมีสองบุคลิก แมวบางตัวก็ยังมีตาสองสีเลย คนเราก็มีสองมุม เราเองก็เป็นทั้งคนดี บางครั้งเราก็ไม่ดี บางทีเราก็เป็นคนดีกับสักคน บางครั้งก็เป็นคนไม่ดีกับอีกคน แต่เราไม่ใช่คนดี 100% หรอก และเราก็ไม่ใช่คนไม่ดี 100% ซึ่งก็เหมือนกับมุมแดงและมุมน้ำเงิน ของการต่อสู้ ก็เลยพ่นสีแดง น้ำเงิน หลังจากนั้นก็เป็นไอเดีย ซึ่งก็ทำต่อมาเรื่อยๆ ทำให้มีสองบุคลิกในคนเดียว
The MATTER : ที่ผ่านมาเคยพ่นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางสังคมไหม
Alex Face : สถานการณ์บ้านเมืองนี่แหละ เป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เราออกไปพ่น เช่น บ้านเราก็มีการประท้วงต่างๆ เราก็ออกไปพ่น ซึ่งมันก็เป็นหน้าที่ของเราที่เป็นคนทำงานด้านศิลปะจะต้องพูด แสดงความคิดเห็นของเราผ่านศิลปะ
อย่างตอนที่ประท้วงกัน เราไม่รู้สึกว่าอยู่ฝั่งไหน มุมมองของเราก็เกี่ยวกับเด็กอย่างเดียว เราคิดว่าเด็กไม่ควรไปอยู่ในที่ชุมนุม ซึ่งให้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ อย่าเอาข้อมูลและความเกลียดชังไปใส่หัวเด็กตั้งแต่เขายังเล็ก ซึ่งการประท้วงเราก็รู้ๆ อยู่ว่า มันเป็นเรื่องการพูดจารุนแรง แล้วเด็กก็จะคิดว่าฝั่งตรงข้ามมันไม่ดี เราก็เลยไปพ่นประมาณว่า อย่าพาเด็กไปชุมนุม ซึ่งหลังจากที่พ่นไปประมาณสามวัน ก็มีระเบิด M79 โดนเด็กไปสองคน
The MATTER : อยากจะบอกอะไรกับสังคมจากการทำโปรเจกต์ที่จังหวัดยะลา และทำแล้วมีผลตอบรับยังไง
Alex Face : ตอนแรกกลุ่ม 3AM ซึ่งเป็นคนที่ยะลา เขาผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มา เขาอยากจะทำให้ยะลามีกิจกรรม มีความสดชื่นขึ้นมาอีกครั้ง เขาก็เลยชวนเรา เราก็อยากไปอยู่แล้วเพราะมี message ให้พ่นเยอะ แต่ไปถึงก็ไม่ได้น่ากลัวแบบที่คิด พ่นเสร็จ คนเขาก็เอารูปไปลงในเฟซบุ๊ก กระจายออกไป เป็นที่ฮือฮามากๆ เพราะยะลาไม่มีกิจกรรมแบบนี้มานานมากแล้ว ก่อนหน้านั้นมันเงียบมากๆ หลังจากที่เราพ่นคนก็ออกมาเอนจอย ออกมาถ่ายรูปมากขึ้น เหมือนชุมชนมันกลับมา เราเลยรู้สึกว่า งานศิลปะมีพลังจริงๆ ซึ่งคนจัดก็ดีใจ เราเองก็ดีใจ
The MATTER : คิดว่า Street Art สามารถเปลี่ยนอะไรต่อสังคมได้ยังไงบ้าง
Alex Face : จริงๆ Street Art เป็นงานศิลปะที่เรียกร้องอะไรมาตั้งแต่แรก สามารถมีแรงผลักดันได้ในระดับนึงไม่ว่าจะมากหรือน้อย อย่างน้อยคนเห็นก็จะได้คิดอะไรแน่นอน สวยไม่สวย ชอบไม่ชอบก็ไม่รู้ แต่ว่าตอนนี้กลายเป็นว่า มันช่วยทำให้เมืองมีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้นมาได้ อย่างยะลา เมืองกลับมาชีวิตชีวา หลายๆ เมืองก็เริ่มเอาโมเดลนี้ไปทำ ก็เลยทำให้มีสีสันขึ้นมาจริงๆ เพราะมันร่วมสมัยไปแล้ว ถ้ามันจัดให้ถูกที่ถูกเวลา มันก็จะสร้างแลนด์มาร์ก เพราะพฤติกรรมคนมันเปลี่ยน คนต้องไปถ่ายรูป ก็กลายเป็นว่าคนต้องไป ก็สามารถดึงดูดคนไปในสถานที่นั้น พอคนเริ่มไป ของก็ขายได้มากขึ้น ร้านเล็กๆ ก็มีคนมาซื้อน้ำ มันก็สามารถทำให้เศรษฐกิจเคลื่อนตัว เพราะคนต้องออกนอกสถานที่ มันทำให้มีความเคลื่อนไหวในเมือง ซึ่งเห็นได้เลย เช่น เราไปพ่นที่ไหน แม่ค้าแถวนั้นก็จะบอกกับเราว่า เขาขายดีเลยนะ อย่าลบได้มั้ย อะไรแบบนี้ (555)
The MATTER : ในอนาคตจะมีโปรเจกต์อะไรมั้ย หรือมองตัวเองในอีก 5 ปีข้างหน้ายังไง
Alex Face : คิดว่ายังคงพ่นเหมือนเดิม พยายามพ่นอะไรที่ต้องใช้แรงเยอะๆ ให้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะคิดว่ายังมีแรงอยู่ เพราะอีกมุมนึงพ่นสีมันใช้แรงเยอะมากนะ เสียสุขภาพอีก ตากแดดทั้งวันด้วย ถ้ามันไม่สนุกก็เหนื่อย
ติดตามผลงานของ Alex Face ต่อได้ที่ : https://www.instagram.com/alexfacebkk/