“…มันค่อนข้างจำเป็นบ้างในสังคมตึงเครียด และการเดินทางไปร้านเหล้ามันง่ายกว่าไปโบสถ์ เราจึงพบตัวเองและเพื่อนพ้องในนั้นเกือบทุกเย็น…” – ‘รงค์ วงษ์สวรรค์
อาว์’รงค์ หรือพญาอินทรีย์แห่งสวนอักษร เป็นนักเขียนที่ชอบละเลียดสุราเป็นที่สุด เพราะอาว์’รงค์ถือว่าการดื่มเหล้าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เหล้านี้ต้องใส่น้ำแข็งกี่ก้อน ไปจนถึงขนาดของแก้ว “จะกินเหล้าก็ต้องรู้จักว่านี่เหล้าอะไร กินยังไง กินเมื่อไร รัมคืออะไร กินเมื่อไร วอดก้ากินเมื่อไร ต้องรู้จัก เพราะการเรียนรู้เป็นศิลปะการใช้ชีวิต”
แล้วนักเขียนคนอื่นๆ ล่ะ ชอบดื่มอะไรกันบ้างหนอ The MATTER ขอพาไปรู้จักสุราเมรัยอันดับหนึ่งในดวงใจของ 7 นักเขียน พร้อมรสชาติและความรู้สึกตอนละเลียดพวกมัน เตรียมเครื่องดื่มสุดโปรดของคุณให้พร้อมแล้วไปอ่านกัน (อ้าว วันนี้เขาไม่ให้ขายนี่ โทษทีคุณขา)
1. อุทิศ เหมะมูล
“Surly Darkness คือเบียร์ในดวงใจตอนนี้เพราะเพิ่งได้ดื่มมาหมาดๆ ที่ Mikkeller bar
สไตล์ Russian Imperial Stout เบียร์สีดำนวลเนียนและข้น เด่นที่สมดุลดีมากทั้งๆ แอลกอฮอล์ 11 % รสและกลิ่นทั้งดาร์กชอกโกแลต วานิลลาและหวานเชอร์รี่ แทรกด้วยสัมผัสแบบวิสกี้สวยๆ ทั้งหมดนี้มีความเข้มข้นของมวลสารสูง แต่ดื่มแล้วกลับเบาเนียนลื่นยังกับดื่มสายน้ำตกเย็นๆ ว่าไปนั่น เหมือนกินช็อกโกแลตฟัดจ์งามๆ ครับ”
2. คำ ผกา
“ชอบไวน์ Riesling ของเยอรมัน จริงๆ แล้ว Riesling ของแคลิฟอร์เนียก็ดี แต่อาจจะเป็นความยึดมั่นถือมั่นบางอย่างว่า ถ้าเป็น Riesling จากเยอรมันจะสบายใจกว่า (เรื่องทางจิตล้วนๆ เพราะไม่ได้เชี่ยวชาญไวน์ขนาดจะแยกสี กลิ่น รสได้ขนาดนั้น) ชอบ Riesling เพราะเป็นไวน์ขาวกลิ่นหอมแบบดอกไม้ มีความหวานสดชื่น และต่อให้เป็นแบบ Dry ก็ทิ้งกลิ่นดอกไม้อบอวลอยู่ดี คนอื่นอาจจะชอบ Riesling เพราะมันไปกันได้ดีกับอาหารไทย แต่แขกชอบดื่ม Riesling กับองุ่นเขียวแล้วตัดด้วยบลูชีสอีกที
ถ้าจะให้เขียนแบบเพ้อๆ หน่อย ว่าอยากจิบ Riesling ที่ไหนอย่างไร ในอุดมคติเลย คือ นั่งบนระเบียงห้องนอนบ้านที่เชียงใหม่ในฤดูหนาวที่อากาศแห้งๆ แดดใสๆ มีกลิ่นดอกแก้วดอกพิกุลมาตามลม แล้วจิบ Riesling ตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ ของวันกับเพื่อนที่รู้ใจและรักไวน์เหมือนกันค่ะ ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริงคือ ซื้อ Riesling ขวดที่ถูกที่สุด แช่เย็น กินที่ไหนก็ได้ก่อนนอน”
3. อนุสรณ์ ติปยานนท์
“เบียร์ในดวงใจผมคือเบียร์ลาวโกลด์ครับ รสชาติละมุนมาก ออกนุ่มกว่าเบียร์ลาวปกติ เหมือนไฮนีเก้น ข้อแรก มันไม่ซ่าส์หรือมีก๊าซมากจนเกินไป ข้อสอง มันไม่ขมจนขนาดขื่นคอ และข้อสาม มันมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ที่เวลาดื่มยามเหนื่อยทำให้สดชื่นมากๆ ครั้งนึงดื่มสองขวดกำลังดี ขวดแรก เปิดศึก ขวดสองลิ้มรส ดื่มยามแดดตรงหัวดีที่สุด”
4. จิราภรณ์ วิหวา
“เบียร์ลาวดำ เจ้มจ้น จัดจ้าน ราคาเยา มีติดตู้เย็นเสมอ คือรู้สึกว่าลาเกอร์เบียร์เหลืองๆ ใสๆ มันขมปร่าๆ แต่พอมากินเบียร์ดำ ความขมมันเข้มและแน่นดี เบียร์ดำทั่วไปมันแรงเกินอะค่ะ เมาง่าย แต่เบียร์ลาวดำนี่มันอยู่ตรงกลางดี คือรสเข้มนะ แต่ไม่เมาเท่า ติดหวานนิดๆ กินง่าย
สตอรี่มีนิดหน่อย เคยไปสัมภาษณ์โรงงานเบยลาว แล้วเขารับแขกด้วยเบียร์ ประทับใจ แล้วพอได้ลองเบียร์ดำ นี่ยอมแบกกลับไทยเลยนะ เวลาไปร้านเหล้าแล้วมีเบียร์ลาวดำจะตื่นเต้นจนเพื่อนล้อ คือรักและคิดถึงมาก ตอนหลังหาซื้อได้ทั่วไป แถมถูกด้วย จึงเป็นเบียร์ประจำตู้เย็น วันไหนชีวิตระทม จะไปเปิดเบียร์เย็นเจี๊ยบแล้วดื่มอึกใหญ่ เพื่อปลอบใจว่าวันนี้มันก็ยังดีอยู่บ้างน่ะ”
5. จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
“วีทเบียร์ของ my beer friend มันมีชื่อว่า Chiang Mai Accent วีทเบียร์มันจะเป็นเบียร์แนว hoegaarden น่ะ ซึ่งหมักจากมอลต์ ยีสต์ และดอกฮ็อพ แต่ของมายเบียร์เฟรนด์จะใช้ข้าวสาลีของอำเภอสะเมิงมาหมักลงไปด้วย ชอบเพราะมันนุ่มและหอมดี รวมทั้งมีรสออกเปรี้ยวและหวานนิดๆ (เราไม่ชอบดื่มเบียร์ขม) ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น และดื่มตอนไหนก็ได้เพราะมันไม่หนัก สายๆ ก็ได้ แต่ชอบดื่มตอนบ่ายแก่ๆ ที่ฝนตก คิดว่ามันเป็นเบียร์ที่เหมาะกับวัยรุ่นอายุยี่สิบต้นๆ อย่างเราดี
สำหรับใครที่สนใจ ทุกเย็นวันศุกร์ my beer friend จะเปิดร้านเล็กๆ อยู่ในตรอกริมถนนช้างม่อย (เชียงใหม่) จะสลับเบียร์มาขาย แต่หลักๆ ก็มีวีทเบียร์ตัวนี้แหละ บางทีอาจขายคู่กับ ipa, porter หรือคราฟท์เบียร์ของเมืองนอก
my beer friend เคยทำเบียร์เอดิชั่นพิเศษที่เคยเสิร์ฟในงานแต่งงานเราด้วย เป็นวีทเบียร์ผสมกับพวก passion fruit และมะม่วง อันนั้นน่ะชอบมากๆ เขาไม่ทำขายแล้ว ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน เจอกันทีไรก็ยุให้เขาทำอยู่”
6. วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
“เลือกซัปโปโร เพราะได้กินในที่ที่น่าจดจำเลยทำให้ชอบไปด้วย คือตอนนั้นไปตามหาบาร์แห่งนึงชื่อ la jetee มาจากชื่อหนังของ Chris Marker เป็นบาร์ที่คนทำหนังไปกันในโตเกียว ในบาร์มีโปสเตอร์หนังของวิมแฮร์โซก ป้าเจ้าของบาร์เล่าว่า Chris Marker ก็เคยมา
ตอนนั้นฝนตกแล้วก็อากาศเย็น บาร์เล็กมากและค่อนข้างอุ่น พอเจ้าของบาร์ซึ่งเป็นคุณป้าคนนึงเอาเบียร์มาเสิร์ฟ ป้าก็แถมเต้าหู้เย็นมาด้วย การกินเบียร์ลาเกอร์พื้นๆ ในคืนฝนตกแล้วคุยเรื่องหนังไปเรื่อยๆ มันสดชื่นมากๆ ไม่รู้มาก่อนว่าเต้าหู้เย็นกินกับเบียร์แล้วจะสดชื่นขนาดนี้”
7. ฆนาธร ขาวสนิท
“อันดับหนึ่งในดวงใจ แต่ก็เป็นไปในแง่ที่เราคงไม่กลับไปดื่มมันอีกแล้วด้วยนะครับ คงเป็น ‘เหล้าขาวน้ำแดง’ จำเพาะต้องใส่ในถุงหูหิ้วชนิดไว้ใส่น้ำอัดลมเท่านั้นด้วยนะ สั่งน้ำแดงใส่ถุงก่อน แล้วซื้อเหล้าขาวชนิดแบ่งขายใส่ขวดพวกกระทิงแดง เอ็มร้อยห้าสิบ และค่อยๆ ผสมมันลงไป คือเรารู้จักมันครั้งแรกตอนปี 1 สมัยเป็นนักเรียนศิลปะไส้แห้ง
เราคิดว่ามันเป็นตัวอธิบายรสชาติของชีวิตสมัยนั้นได้ดี มันมีทั้งความร้อนนรกในอกของความขบถช่วงหนุ่มสาว และความกลัวเกรงต่ออำนาจบางอย่างที่เราไม่เคยรู้จัก อยากขบถกินเหล้าในห้องเรียนในขณะที่อาจารย์สอนอะไรแบบนี้ แต่ก็ไม่กล้าเลยต้องกลบเกลื่อนด้วยสีสันของน้ำแดง เราคิดว่า รสชาติของมันให้ภาพที่ชัดเจนของสมัยนั้นได้ดี–กร้าว แสบคอ ร้อนแรงอย่างคนหนุ่ม และก็หวานไร้เดียงสา ด้วยความเขลาและเยาว์วัยอะครับ”