Magunga Williams ร้านหนังสือออนไลน์ในเคนย่าที่มีแต่หนังสือของชาวแอฟริกันเป็นหลัก บอกว่า ถึงชาวเคนย่าจะเริ่มมีการศึกษามากขึ้น สามารถอ่านออกเขียนได้และชอบอ่านหนังสือมากขึ้น แต่การจะหางานเขียนอ่านนั้นกลับมีจำกัด ยิ่งงานเขียนของชาวแอฟริกันเองยิ่งหาอ่านได้ยาก ดังนั้นเลยเปิดร้านออนไลน์ที่ขายแต่หนังสือของชาวแอฟริกันขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อส่งเสริมให้คนอ่านงานเขียนที่หลากหลายขึ้น
ถ้าพูดเรื่องความหลากหลาย สำหรับบ้านเราก็ถือว่ายังค่อนข้างจำกัดอยู่ The MATTER เองแม้จะเสนอเรื่องหนังสือหนังหา วรรณกรรมต่างๆ หลายต่อหลายครั้ง แต่ในอันดับทั้งหลายก็ดูเหมือนว่าจะมีงานของนักเขียนผิวสีเชื้อสายแอฟริกันไม่มากนัก ทั้งที่จริงๆ แล้วงานวรรณกรรมของนักเขียนผิวสีเป็นงานเขียนที่เต็มไปด้วยพลัง เป็นน้ำเสียงของกลุ่มคนที่ถูกกดทับ กีดกัน และใช้งานเขียนเป็นส่วนหนี่งของการต่อสู้ ต่อต้าน ต่อรอง และบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง
ในวงวรรณกรรมระดับโลก มีนักเขียนผิวสีที่ได้รับการยอมรับและเชิดชูในพลังสร้างสรรค์จากผลงานที่ลุ่มลึก โดดเด่น และมีเอกลักษณ์ แต่ดูเหมือนว่าเราจะยังไม่ค่อยได้ทำความรู้จักกับเขาหรือเธอเหล่านั้นเท่าไหร่นัก The MATTER จึงอยากชวนมารู้จักเหล่านักเขียนผิวสีที่มีฝีมือไม่ธรรมดากัน
Toni Morrison
Toni Morrison เป็นหนึ่งในนักเขียนหญิงอเมริกันผิวสีร่วมสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง เธอเป็นทั้งนักเขียนนวนิยาย บรรณาธิการ และเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Princeton โดยได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1993 และรางวัลทางวรรณกรรมอีกจำนวนนับไม่ถ้วน นวนิยายของเธอมีลักษณะพิเศษที่เต็มไปด้วยความลุ่มลึก จัดจ้าน และแปลกประหลาด
งานเขียนของเธอเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยถูกบันทึกไว้ของอเมริกา ‘Beloved‘ ใช้วิธีการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนและใช้เรื่องเหนือธรรมชาติเข้ามาประกอบ ความเหนือธรรมชาตินี้ก็เป็นเหมือนการเล่าถึงอีกด้านของประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ถูกกำกับด้วยการเล่าเรื่องแบบเดิม โดยงานชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้กับ ‘คนกว่า 60 ล้านคน’ อันหมายถึงคนแอฟริกันและลูกหลานที่เสียชีวิตจากการค้าทาส
Chinua Achebe
Chinua Achebe เป็นนักเขียน กวี และนักวิจารณ์ชาวไนจีเรีย ‘Things Fall Apart’ (แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ‘ก่อนรัตติกาลจะดับสูญ’) เป็นผลงานชิ้นแรกที่โด่งดังที่สุดของเขา Things Fall Apart เล่าถึงชนพื้นเมืองในแอฟริกาและผลกระทบของการล่าอาณานิคม ผลงานชิ้นดังกล่าวกลายเป็นต้นแบบหนึ่งของวรรณกรรมแอฟริกันร่วมสมัย และกล่าวกันว่าถูกนำไปอ่านมากที่สุดเล่มหนึ่ง นอกจากนี้ Achebe ยังเป็นนักวิชาการและนักวิจารณ์ เคยเขียนบทความวิเคราะห์นวนิยายชื่อดัง ‘Heart of Darkness’ ของ Joseph Conrad ว่าเป็นงานที่เหยียดผิว (racist) ในช่วงท้ายของชีวิต Achebe ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านแอฟริกันศึกษาที่มหาวิทยาลัย Brown ในสหรัฐฯ และดำรงตำแหน่งจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2556 ขณะที่มีอายุได้ 82 ปี
Maya Angelou
นักเขียนหญิงที่ถ่ายทอดแง่มุมอันละเอียดลึกซึ้งและปัญหาของตัวตนของผู้หญิงผิวสี Maya Angelou เป็นทั้งนักเขียน กวี และนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ได้รับรางวัลในหลากสาขา งานเขียนชิ้นแรก ‘I Know Why the Caged Bird Sings’ เป็นงานเขียนเชิงอัตชีวประวัติที่เล่าเรื่องราวการเติบโตขึ้นในฐานะผู้หญิงผิวสี งานเขียนดังกล่าวใช้วิธีการผสานเรื่องเล่าแบบบันเทิงคดี (fiction) เข้ากับงานเขียนแนวบันทึกเรื่องราวชีวิตทำให้นักวิจารณ์มองว่าเป็นการขยายประเภทงานเขียนแนวอัตชีวประวัติไปสู่วิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ ประเด็นสำคัญในงานของเธอคือการต่อสู้จากอคติต่างๆ ที่มีต่อผู้หญิงและวัฒนธรรมของคนผิวดำ โดยมีแกนหลักของเรื่องอยู่ที่การเหยียดผิว ตัวตน ครอบครัว และการเดินทาง Maya Angelou เสียชีวิตในปี 2014 ขณะที่อายุ 86 ปี
Ngugi Wa Thiongo
Ngugi Wa Thiongo ก็คล้ายๆ กับเฮียมู มุราคามิของเราที่ใครๆ ก็ลุ้นว่าพี่แกน่าจะได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมกับเขาซะที งานเขียนของ Ngugi มีทั้งนวนิยาย บทละคร เรื่องสั้น บทความ ทั้งบทวิจารณ์วรรณกรรมและงานวิพากษ์สังคม นวนิยายของเขาให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องอำนาจและการต่อสู้กับการล่าอาณานิคม งานเขียนเชิงวิชาการชื่อ ‘Decolonising the Mind: the Politics of Language in African Literature’ เป็นรวมงานเขียนที่เน้นเรื่องผลกระทบของการล่าอาณานิคมในระดับของภาษาและวัฒนธรรม เป็นงานวิชาการแนวหลังอาณานิคมศึกษาของ Ngugi ที่เป็นที่รู้จักและได้รับการอ้างถึงในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง
Frederick Douglass
Frederick Douglass ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นคนผิวสีระดับตำนาน ตัว Douglass เองเคยเป็นทาส และได้หลบหนีจนกระทั่งกลายเป็นนักเคลื่อนไหวต่อสู้ และเป็นส่วนหนึ่งของการปลดแอกทาสผิวสีผ่านงานเขียนทั้งสุนทรพจน์ บันทึกอัตชีวประวัติจากการเป็นทาสและการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของตัวเอง งานเขียนเช่น ‘Narrative of the Life of Frederick Douglass, an American Slave’ เป็นหนึ่งในงานที่ถือกันว่าส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยทาสขึ้น โดยหลังสงครามกลางเมือง Douglass เองก็ยังคงเป็นผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิและเขียนบันทึกเรื่องราวชีวิตชิ้นที่สองในชื่อ ‘Life and Times of Frederick Douglass’ เป็นบันทึกที่ครอบคลุมประสบการณ์ของคนผิวดำในช่วงสงครามกลางเมืองของอเมริกา โดยตัวเขาเองเป็นคนอเมริกัน แอฟริกันคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าแข่งขันในตำแหน่งรองประธานาธิบดีในปี 1872
Alice Walker
การเป็นคนดำว่าแย่แล้ว ลองเป็นผู้หญิงสิยิ่งแย่กว่า Alice Walker เป็นเจ้าผลงานสำคัญชื่อ ‘The Color Purple‘ งานเขียนที่ได้รางวัลสำคัญระดับชาติของอเมริกาสองรางวัลคือ National Book Award และ the Pulitzer Prize สาขาบันเทิงคดี The Color Purple พูดถึงการกดขี่ ความรุนแรง และประเด็นเรื่องการข่มขืนที่ผู้หญิงผิวดำต้องเผชิญหน้า สีม่วงจึงหมายถึงร่องรอยของการถูกทำร้าย สีของความฟกช้ำ โดยนวนิยายดังกล่าวถูกเอาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ กำกับโดย Steven Spielberg โดยมี Whoopi Goldberg และ Oprah Winfrey ร่วมแสดงนำ
W.E.B. Du Bois
W.E.B. Du Bois เป็นนักวิชาการและนักต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวดำคนสำคัญ Du Bois เป็นแอฟริกันอเมริกันคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Harvard และมีผลงานเขียนมากมายโดยเฉพาะบทความและงานศึกษาเชิงวิชาการ งานเขียนสำคัญของเขาได้แก่ ‘The Philadelphia Negro: A Social Study’ ตีพิมพ์ในปี 1899 โดยพูดถึงอุปสรรคของชายผิวสีที่เรียกว่า ‘the talented tenth’ คือแนวโน้วที่ชายผิวดำจะเป็นผู้นำได้มีโอกาสแค่ 1 ใน 10 เท่านั้น และในงานเขียนชื่อ ‘The Souls of Black Folk’ รวมบทความ 14 ชิ้น ก็เป็นงานที่เสนอแนวคิดที่ต่อต้านเรื่องความเหนือกว่าของคนผิวขาวในระดับชีววิทยา และเสนอความคิดที่ให้การสนับสนุนสิทธิและความเสมอภาคของสตรีด้วย