ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ สิ่งหนึ่งที่ใครๆ ให้ความสนใจอย่างมากในช่วงนี้คือเรื่องของสุราเมรัย นั่นจึงนำมาสู่การ ‘เล่า’ ผ่านตัวอักษรที่คุณผู้อ่านกำลังจะได้ยลในห้วงยามที่มีการห้ามขาย ‘เหล้า’ เกิดขึ้น
สุราและเครื่องดื่มมึนเมาทั้งหลายมิใช่ของแปลกสำหรับสังคมไทยนับแต่อดีตจนปัจจุบัน เรียกว่าเป็นอะไรที่พบเห็นในชีวิตประจำวันเลยทีเดียว คนไทยทุกชนชั้นดื่มเหล้ากันปกติ อาจผิดแผกแตกต่างบ้างโดยลักษณะและประเภทเมรัย เช่น ขุนนางนิยมสุราแบบตะวันตกหรือจำพวกเหล้าองุ่น ส่วนชาวบ้านนิยมน้ำหมักจำพวกกระแช่สาโท ยิ่งวาระงานรื่นเริงเฉลิมฉลอง ถ้าขาดเหล้าไป อารมณ์รื่นรมย์ในงานพลันจะถดถอยกร่อยลงทันทีเชียว
อีกประเด็นที่เคียงขนานมากับการดื่มเหล้าคงมิพ้นความตระหนักถึงโทษของการเสพสุรายาเมา ซึ่งเดิมทีดูเหมือนในสังคมไทยมิได้แสดงความกังวลจนออกมาตรการต่อเรื่องนี้จริงจังเท่าไหร่นัก แม้การดื่มเหล้าเมายาจะนับเข้าข่ายผิดศีลห้าของศาสนาพุทธ และมีการสร้างภาพลักษณ์เชิงลบให้คนเมาที่ควบคุมสติสัมปชัญญะไม่ได้กลายเป็นคนชั่วเป็นผู้ร้ายก็ตามเถอะ แต่ชาวสยามยังลิ้มรสเหล้าได้ตราบใดที่ไม่ประพฤติตนขัดต่อกฎหมายของรัฐอย่างรุนแรง เช่น ไปพัวพันกับเหล้าเถื่อนหรือการทุจริตอื่นๆ เป็นต้น ทางด้านรัฐเองก็รับผลประโยชน์รายได้จากภาษีเหล้า
หากทัศนะของชาวต่างชาติหรือฝรั่งที่เข้ามาพำนักในเมืองไทยกลับมองการดื่มเหล้าเป็นปัญหาร้ายกาจพึงแก้ไข เฉกเช่นกรณีในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2465 (ค.ศ.1992) ที่นายเย.เอ.เอกิ้น (J.A.Eakin) ขณะอยู่เมืองเพชรบุรี มณฑลราชบุรีได้เขียนจดหมายถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ (เปลี่ยนชื่อจากกระทรวงธรรมการมาเป็นกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี พ.ศ. 2462 พอปีพ.ศ. 2469 ก็เปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อกระทรวงธรรมการอีก กระทั่งเปลี่ยนไปเป็นกระทรวงศึกษาธิการในปี พ.ศ. 2484) มีใจความว่า การที่เขาตระเวนไปหลายจังหวัด ทำให้รู้สึกกังวลที่เจอะเจอผู้คนได้รับผลกระทบร้ายแรงจากการเสพสุราและของมึนเมา นายเอกิ้นเข้าใจดีว่าประเทศสยามตอนนั้นยังไม่สามารถออกกฎหมายห้ามประชากรบริโภคสุราแบบเดียวกับที่ปรากฏในสหรัฐอเมริกา เขาจึงเสนอแนวทางที่รัฐบาลสยามพอจะดำเนินการควบคุมได้คือ หนึ่ง ต้องจัดให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนอย่างเป็นระบบเพื่อบ่งชี้ให้นักเรียนเห็นโทษของการดื่มเหล้า และสอง ต้องมีสื่อนำเสนอเนื้อหาสนับสนุนการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยนำเอาแนวคิดของศาสนาพุทธ อิสลาม และคริสเตียนมาผสมผสานกัน ในสหรัฐอเมริกามีการจัดทำหนังสือแบบเรียนว่าด้วยโทษของการเสพสุราออกเผยแพร่ ในเมืองไทยจึงควรให้คณะมิชชันนารีแปลและเรียบเรียงหนังสือเล่มดังกล่าวจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยโดยไม่คิดค่าแปลเลย
นายเย.เอ.เอกิ้น เคยเป็นผู้บริหารโรงเรียน กลางทศวรรษ 2440 เขาได้ย้ายโรงเรียน ‘สำเหร่บอยคริสเตียนไฮสกูล’ จากฝั่งธนบุรีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งอยู่ถนนประมวญ ใช้ชื่อโรงเรียนว่า ‘บางกอกคริสเตียนไฮสกูล’ ปัจจุบันก็คือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ครั้นทศวรรษ 2450 นายเอกิ้นขอลาออกไปปฏิบัติงานด้านศาสนาที่เมืองเพชรบุรีเรื่อยมา
แท้แล้ว ทางการสยามผลิตหนังสือสุขวิทยาต่างๆ ที่สอดแทรกเรื่องโทษของการบริโภคสุราไว้เช่นกัน ผู้เคยเรียนเคยอ่านตำราย่อมทราบข้อมูลดี กระนั้น มิอาจปฏิเสธได้หรอกว่า การดื่มเหล้ายังกลายเป็นเครื่องสะท้อนความทันสมัย ความมีรสนิยมในสังคมไทย โดยเฉพาะการลิ้มรสสุราฝรั่ง ฉะนั้น ต่อให้รู้ดีว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่คนก็ยินดีจะดื่มในปริมาณพอเหมาะเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ความมีรสนิยมและการเข้าสมาคมของตนเอง ที่สำคัญคือดื่มสุราแล้วจะต้องไม่มึนเมาจนขาดสติสัมปชัญญะ
เมื่อมีผู้บริโภคครึกครื้น กิจการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็คึกคัก ในกรุงเทพฯ ปรากฏร้านจำหน่ายสุราต่างประเทศตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2440 เป็นต้นมาเกินกว่า 500 ร้าน และคงเพิ่มจำนวนร้านขึ้นในช่วงทศวรรษ 2450 ถึงทศวรรษ 2480 มีทั้งร้านขายเหล้าชั้นเลิศ และร้านเหล้าๆ ทั่วไป ร้านเหล้าหรูๆ ที่คนสามารถไปนั่งดื่มในร้านได้หรือมีลักษณะคล้ายๆ บาร์นั้น เดิมทีมักจะเป็นส่วนหนึ่งของโฮเต็ล
ต่อมาช่วงทศวรรษ 2470 พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ได้เปิดบาร์สุราขึ้นที่ห้างและโรงน้ำแข็งของตนเป็นอาคารสูง 6 ชั้นเชิงสะพานพิทยเสถียร จัดจำหน่ายสุราต่างประเทศและเบียร์สดที่นำเข้ามาจากเมืองนอก มีอาหารกับแกล้มแบบฝรั่งเช่น หมูแฮมบีบมะนาวราด ไส้กรอกฝรั่ง มันฝรั่งทอดกรอบและเนยแข็ง ในบาร์อากาศเย็นฉ่ำเพราะอยู่บริเวณโรงน้ำแข็ง เปิดตั้งแต่ 11.00 – 20.00 น. เลิกกิจการในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ยังมีบาร์ซ่วนหลีของพ่อค้าชาวจีนกวางตุ้งตั้งอยู่ถนนพาหุรัด ไม่เพียงโด่งดังเรื่องขายเหล้า แต่ยังเย้ายวนนักเที่ยวด้วยการเปิดฟลอร์เต้นลีลาศ หรือจะเป็นร้านเหล้าสี่กั๊กเสาชิงช้าอย่างร้านฮั่วหลง ร้านฮั่งตุ่น ร้านธงฮงตรงสี่กั๊กพระยาศรี ร้านเม่งฮวด บางลำภู และโฮเต็ลตุ้นกี่ หัวลำโพง ซึ่งมีกับแกล้มเมนูเด็ดคือเนื้อสันสลัดผัก หรือถ้างบประมาณน้อยก็ยังมีร้านยองดา (ยาดองสมุนไพรกับเหล้าโรง)
กระแสความตื่นตัวเรื่องเหล้ายังยืนยันได้จากประกาศโฆษณาตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 2450 เรื่อยมาถึงทศวรรษ 2480 ช่วงแรกๆ มักเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เช่น หนังสือพิมพ์ กรุงเทพเดลิเมล์ ในปี พ.ศ. 2456 มีโฆษณาเหล้ายาอาแมร์ ปิกอง (Amer Picon) ของฝรั่งเศส
ยังมีจำพวกเหล้าวิสกี้ (Whisky) ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเหล้าวิสกี้ผลิตจากสก็อตแลนด์ (Scotch whisky) เช่นยี่ห้อล๊อกช์เนสส์ (Loch Ness) ที่ห้างพิศาลพานิชเป็นเอเยนต์จำหน่าย และยี่ห้อร๊อบรอย (Rob Roy) และคอนยัค (Cognac) ที่ห้างสรรพานิชเป็นเอเยนต์ ส่วนวิสกี้ยี่ห้อที่มีชื่อเสียงมากๆ ในเมืองไทยทศวรรษ 2460 และทศวรรษ 2470 คือ Dewar’s White Label Whisky ของ ยอนเดวา (John Dewar) หรือที่นักดื่มเรียกขานติดปากว่า “ตราขาว” ในปี พ.ศ. 2466 จํารัส สายะโสภณ ถึงกับนำเอาชื่อเหล้ายี่ห้อนี้ไปตั้งเป็นชื่อนิยายร้อยกรอง ‘ยอนเดวา’ ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ตั้งแต่เล่ม 7 ตอนที่ 9 เดือนกันยายนไปจนถึงเล่ม 7 ตอนที่ 12 เดือนธันวาคม ถ่ายทอดเรื่องราวสงครามระหว่างสุราโดยเอาชื่อยี่ห้อเหล้ามาตั้งเป็นชื่อตัวละครเช่น คิงก์ยอร์ชวิสกี้หรือยอนเดวา, ฮาร์วี่, พระนางโซดา, เกาเหลียง, ซาเก, แชมเปญ, บางยี่ขันชาญไชยศรี และกระแช่
กล่าวคือ คิงก์ยอร์ชวิสกี้หรือยอนเดวา พระราชาแห่งอัษฎงค์ประเทศจะยกทัพไปตีอเมริกา เพราะอเมริกาห้ามเหล้าจากอัษฎงค์ประเทศไปขาย เทวดาจีนนามเกาเหลียงมาขัดขวางยอนเดวาจนแทบจมมหาสมุทรแคนาดา ส่วนเทวดาญี่ปุ่นนามซาเกมาช่วยเหลือไว้ให้รอดชีวิต ยอนเดวาล่องเรือมาปากอ่าวกรุงสยาม พบเสนาบดีนามบางยี่ขันชาญไชยศรีกับแม่ทัพนามกระแช่ห้ามมิให้ยอนเดวาเข้าพระนคร ยอนเดวาจึงต้องกลับอัษฎงค์ประเทศ แล้วต่อมาได้ให้แชมเปญยกกองทัพเรือมาโจมตีสยาม แม่ทัพมีทั้งมิสเตอร์เวอร์มุท ปรินซ์ยอนนี่วอกเกอร์วิสกี้ และบรั่นดี กองทัพเรือของยอนเดวาพ่ายแพ้เพราะกระแช่คุมเครื่องบินกองอากาศยานมาโจมตี ยอนเดวาถอยทัพเรือ แล้วคราวหลังยกทัพมาตีสยามทางฝั่งอีสานที่เมืองอุดร ภูเวียง ภูเขียว แต่ก็แพ้กองทัพสยามไปอีกหน
นอกเหนือจากสุราฝรั่งแล้ว ก็มีสุราจากโรงเหล้าของไทยเอง เช่น เหล้าจากโรงต้มกลั่นบางยี่ขัน หรือสุราของคนจีน ในความทรงจำของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เคยมีคนจีนพายเรือล่องคลองบางหลวงเข้ามาขายเหล้า
ถ้าคุณผู้อ่านยังไม่เหน็ดเหนื่อยดวงตา ผมใคร่จักนำทุกท่านไปสัมผัสเครื่องดื่มอีกประเภท นั่นคือ เบียร์ เดิมที เบียร์ที่เห็นลงประกาศโฆษณาตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ล้วนเป็นเบียร์ต่างประเทศ ถ้าเป็นเบียร์ของฝรั่งตะวันตกก็จะมีพวกไฮเนเก้น (Heineken) และฟาส์สเบียร์ (Fassbier) จากเยอรมันที่โปรยถ้อยคำว่า “มีรสโอชา,หอมหวาน เปนเบียร์ที่เกิดมาในโลกกว่า ๒๐ ปี เปนของเยอรมัน ซึ่งเปนบ่อเกิดของเจ้าแห่งเบียร์ นักปราชญ์แยกธาตุแล้วรับรองว่าปรุงขึ้นจากข้าวชนิด ๑ และผสมกับเครื่องซึ่งเปนประโยชน์แกร่างกายและบำรุงโลหิต” ยิ่งช่วงปลายทศวรรษ 2460 และทศวรรษ 2470 เบียร์ยี่ห้อที่มีชื่อเสียงมากในเมืองไทยคือ เบียร์สัปโปโร (Sapporo) เบียร์กิริน (Kirin) และเบียร์อาซาฮี (Asahi) ของญี่ปุ่น และเบียร์ไทเกอร์ (Tiger) ของสิงคโปร์ซึ่งตอนนั้นยังอยู่ในการปกครองของอังกฤษ (เบียร์นี้ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1931 หรือ พ.ศ. 2474)
ในปี พ.ศ. 2476 พระยาภิรมย์ภักดีเปิดบริษัทผลิตเบียร์แห่งแรกของไทยคือบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ซึ่งมุ่งผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ที่ราคาถูกกว่าเบียร์ต่างประเทศ จึงทำให้มีเบียร์ไทยเกิดขึ้นมาหลากหลายชื่อได้แก่ เบียร์สิงห์ อันมีทั้งตราสิงห์แดง (ที่มิได้หมายถึงชาวรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และตราสิงห์ขาว (ที่มิได้หมายถึงชาวรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่), เบียร์นางสาว, เบียร์ว่าวทอง และเบียร์สงกรานต์ เป็นต้น ด้วยความนิยมดื่มเบียร์ของชาวไทย จึงปรากฏกิจการสถานบันเทิงที่เรียกว่า “เบียร์ฮอลล์” อยู่หลายแห่ง
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เบียร์ยังถูกนำมาเชื่อมโยงกับระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญด้วย เช่น เบียร์ตรานรสิงห์ ที่โฆษณาว่าเป็นเบียร์ประชาธิปไตย หรือในงานฉลองรัฐธรรมนูญ เดือนธันวาคม ก่อนหน้าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ถ้าใครไปเที่ยวชมงานจะสังเกตเห็นการนำเบียร์ญี่ปุ่นทั้งอาซาฮี กิริน และซัปโปโรมาออกร้านเสมอๆ
สิ่งหนึ่งที่หนุ่มๆ ยุคนั้นสนใจก็คือหญิงสาวกับเบียร์ ย้อนไปในปี พ.ศ. 2471 บาร์เกษมสุข สนามน้ำจืดเป็นแห่งแรกที่ให้ผู้หญิงมาเสิร์ฟเบียร์ต่างประเทศกับลูกค้า แต่พอยุคประชาธิปไตย มักเห็นภาพผู้หญิงถ่ายคู่ในลักษณะที่เธอเป็นคล้ายๆ ‘พรีเซ็นเตอร์’ เบียร์ไทยบ่อยๆ เช่น ภาพผู้หญิงยืนถ่ายภาพกับเบียร์สิงห์และเบียร์นางสาว ในปี พ.ศ. 2479
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาเมืองไทย รัฐบาลได้ประกาศให้ร้านค้าห้ามจำหน่ายสุราระหว่าง 22.00 น.ถึง 05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ส่งผลให้บรรยากาศครื่นเครงซบเซาลงไปครันๆ แต่ก็ปรากฏเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องการดื่ม ‘เหล้า’ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มักมีชีวิตพัวพันกับการบริโภคสุรา ได้แก่ กลุ่มนักเขียนนักประพันธ์อยู่เนืองๆ เช่น ชิต บุรทัต นักดื่มตัวยงพอเมาถึงกับกล่าววสันตดิลกฉันท์เรื่องเหล้าพรั่งพรูออกมาอย่างไหลลื่น โดยไม่ผิดฉันทลักษณ์ ท่ามกลางภาวะสงคราม แม้สุราฝรั่งจะหาดื่มยากเพราะเรือสินค้าต่างประเทศเข้ามามิได้ แต่เหล้าโรงก็ยังพอจะหาแก้ขัด นักเขียนบางรายถึงจะต้องเอากางเกงไปจำนำมาซื้อเหล้าดื่มก็มี ภาพของนักเขียนกับเหล้ามองมุมหนึ่งก็เป็นความเริงโลด เป็นเรื่องสนุกๆ แต่พอมองอีกมุม ก็พบการฉายภาพที่นักเขียนส่วนใหญ่จบชีวิตด้วยพิษสุราทำลายร่างกายทรุดโทรม
พอสงครามโลกปิดฉากลง สถานการณ์บ้านเมืองฟื้นฟู ก็ดูเหมือนว่าการดื่มเหล้าได้กลับมาเป็นที่นิยม กิจการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีความหลากหลายขึ้น เช่น ตอนหลังสงครามสงบหมาดใหม่ เจ้าของนามแฝง ‘บรรเลง’ ได้ไปดูงานการผลิตสุราของโรงเหล้าบางยี่ขัน แล้วกลับมาเขียนสิ่งที่เขารับรู้เป็นบทความชื่อ ‘ตระเวนโรงเหล้าบางยี่ขัน’ ลงพิมพ์ใน ประชามิตร ฉบับที่ 190 ประจำวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2489 มีถ้อยความตอนหนึ่งว่า “สถิติการขายเหล้าของโรงงานนี้ ขายเปนประจำวันละ ๗๐๐ เท และไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย…”
เรื่องเกี่ยวกับ ‘เหล้า’ ในประวัติศาสตร์ไทยยังมีอีกมากมายเหลือเกินจนสามารถ ‘เล่า’ มิรู้จบได้อีกหลายๆหน แต่ที่สาธยายมาครานี้ ก็น่าจะพอทำให้เห็นคร่าวๆแล้วว่า สำหรับสังคมไทยนั้น การบริโภคสุราเป็นทั้งกระแสความนิยมอันล้นพ้นและข้อตระหนักกังวลไปพร้อมๆ กันนับแต่อดีตจวบปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
หจช.ศธ. 9/51 นายเย. เอ. อีกิน จะแปลหนังสือว่าด้วยโทษแห่งการเสพย์สุราเปนภาษาไทยจำหน่ายโดยไม่คิดค่า ( 10-16 ส.ค. 2465)
กรุงเทพเดลิเมล์ ( 2456)
กรุงเทพวารศัพท์ (19 มีนาคม 2475)
กรุงเทพวารศัพท์ ( 6 มกราคม 2476)
กรุงเทพวารศัพท์ (13 กันยายน 2476)
กรุงเทพวารศัพท์ (23 กันยายน 2477)
กรุงเทพวารศัพท์ (9 พฤศจิกายน 2478)
กรุงเทพวารศัพท์ (10 พฤษภาคม 2479)
กรุงเทพวารศัพท์ (14 พฤษภาคม 2480)
กรุงเทพวารศัพท์ (15 พฤษภาคม 2480)
กาญจนาคพันธุ์. กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้ .พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพ : สารดคี, 2542
จำรัส สายะโสภณ. เมรัยละคร ยอนเดวา. กรุงเทพฯ: มติชน, 2539
บรรเลง. “ตระเวนโรงเหล้าบางยี่ขัน.” ประชามิตร ฉ. 190 (1 กันยายน 2489)
ยุธิษเฐียร. เกล็ดจากอดีต. พระนคร : บำรุงสาส์น, 2513
ยุธิษเฐียร. ขุดจากอดีต. พระนคร : โอเดียนสโตร์, 2514
ยุวรี โชคสวนทรัพย์. กิจการสถานบันเทิงในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2488 – 2545. วิทยานิพนธ์ปริญญา
อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศึกษา ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัย
ศิลปากร
สมานมิตรบรรเทอง (15 พฤศจิกายน 2470)
ส.พลายน้อย. วันก่อนคืนเก่า ชีวิตชาวไทยสมัยบ้านยังดีเมืองยังงาม. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ,2543
หลักเมือง (20 ตุลาคม 2483)