วงการเพลงบ้านเรา เติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีแนวเพลงใหม่ๆ เติบโต มีศิลปินหน้าใหม่ แต่ภาพที่ขาดหายในวงการ คือภาพของวงบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป แนว T-POP มีสมาชิกวงหลายคน มีท่าเต้นติดตา มีเพลงติดหู
แต่ล่าสุด ค่าย 4nologue ได้เปิดตัว เดบิวต์วงบอยกรุ๊ปกลุ่มใหม่ ที่มีสมาชิก 4 คน ในชื่อ ‘Trinity’ ที่หวังว่าจะการร้อง การเต้น และความสามารถของพวกเขา จะเข้ามามีบทบาทในวงการเพลงไทย และถึงขั้นโด่งดังไปถึงวงการเพลงอินเตอร์เลยด้วย
เราจึงมาคุยกับ ‘วุธ อนุวัติ วิเชียรณรัตน์’ ประธานกรรมการบริหารบริษัท 4nologue ว่า ทำไมจากการทำออกาไนซ์ และงานผู้จัดศิลปิน ถึงตัดสินใจมาเดบิวต์บอยกรุ๊ปของตัวเองเลยในยุคนี้ กระบวนการฝึก และผลิตศิลปินของค่าย ประสบการณ์การทำงานกับค่ายเพลงเกาหลีที่มีมายาวนาน นำมาปรับใช้ยังไงบ้าง และทิศทางของ 4nologue ในอนาคต จะครอบคลุมวงการเอนเตอร์เทนเมนท์ไทยแค่ไหน
ตอนนี้ออฟฟิศของ 4nologue ดูใหญ่โตมาก มีจุดเริ่มต้นยังไง
เราเริ่มจากไม่มีออฟฟิศ ตอนนั้นที่เราเริ่มอยากเปิดบริษัท มันไม่พร้อมหรอก เราก็ทำงานที่ร้านกาแฟ หลังจากนั้นเริ่มมีพนักงาน 3 คน เราก็ใช้บ้านของพนักงานเป็นออฟฟิศ แล้วก็มาจนถึง 3-4 ปีต่อมา เราไปเช่าตึกแถวพระราม 4 ชั้น 1 เป็นของคนอื่น เราก็ทำงานกันชั้นบน ต่อมาเราคนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็ย้ายที่อีก 2 แห่ง ก่อนที่จะมาเป็นออฟฟิศ 4nologue อย่างทุกวันนี้
ทุกที่เราขยายขึ้นเรื่อยๆ เพราะใหญ่ขึ้น พนักงานเราเยอะขึ้น ที่นี่เราใช้เวลาสร้าง 2 ปี เพราะเราก็ทำงานไป เก็บเงินไป ทำได้ทีละส่วน แต่มันเป็นออฟฟิศที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของเราจริงๆ เราอยากให้คนเห็นแล้ว รู้ว่า 4nologue เป็นแบบนี้ มีความน่าตื่นเต้น มีความลึกลับ มีความครีเอทีฟ และน่าสนใจ เราเลยมาใส่ในงานดีไซน์ ซึ่งตอนนี้เรามีพนักงานเกือบๆ 80 คน ซี่งเราก็ไม่เคยคิดว่า บริษัทจะใหญ่ขึ้นขนาดนี้
ช่วงนี้ ถือว่าเป็นช่วงขาขึ้นของบริษัท
บริษัทขาขึ้นมาตลอด จริงๆ ตอนที่เราทำงาน เราไม่รู้ว่ามันจะขึ้น หรือมันจะลง แต่ว่าเราก็ตั้งใจทำ เราก็รู้สึกมันข้ึนมาตลอด เพราะเรามีงานที่มากขึ้น มีลูกค้าที่มากขึ้น มีพนักงานที่เพิ่มขึ้น ความรับผิดชอบต่างๆ ก็ใหญ่ขึ้น เริ่มมีรูปแบบงานที่หลากหลายขึ้น ไม่ได้มีแค่อีเวนท์ หรือคอนเสิร์ต เราเริ่มมีศิลปินของตัวเอง มันก็มากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างที่บอกว่าตอนนี้มีศิลปินของตัวเองแล้ว ทำไม 4nologue ถึงตัดสินใจขยายมาทำวงการนี้
จริงๆ เราทำงานกับศิลปินมา 13 ปี ก่อนหน้านี้เราก็ทำงานเกี่ยวกับเพลงมาตลอดรวม 16 ปี ตอนนั้นเทรนด์เกาหลีก็เข้ามาในประเทศไทยแล้ว ตั้งแต่ที่เขาเข้ามา เราก็อยู่ในแวดวงนี้ เราเห็น MV เห็นการทำงานของเขา เรารู้สึกประทับใจว่า ทำไมคนไทยถึงให้การตอบรับศิลปินเกาหลี ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ภาษาที่เราฟังรู้เรื่อง ไม่ใช่สไตล์ที่เราเข้าใจ อะไรที่ทำให้คนสนใจ ก็เลยดึงเราไปทำงานตรงนั้นก่อน เช่นทำคอนเสิร์ต ทำพรีเซนเตอร์
ในระหว่างที่เราทำงานตรงนั้น เราทำงานไป เราก็ได้เรียนรู้ เรียนรู้การวางเป้าหมายแบบเขา เรียนรู้วิธีคิดในการเป็นผู้นำแบบเขา มันทำให้เรามีความรู้สึกว่า วันนึงเราอยากเอาความรู้ตรงนี้ เอาสิ่งที่ได้ทำงานกับเขา มาใช้กับศิลปินไทย นั่นหมายถึงว่า ที่เอามาใช้คือ วิธีการสร้างศิลปิน กระบวนการการฝึกซ้อม ความเชื่อในความรับผิดชอบ ระเบียบวินัยตรงนี้ เราเชื่อว่าจะนำไปสร้างศิลปินได้ ไม่ว่าชาติไหนจะเอาไปทำ เราเชื่อว่าจะสร้างศิลปินที่ดีได้ แต่แค่เรารอจุดที่เราพร้อมจริงๆ เรียกได้ว่า เราก็รอมา 13 ปี
ทำไมถึงคิดว่า ตอนนี้คือจุดที่พร้อมแล้ว เดบิวต์วงตอนนี้ ปีนี้เลย
ตัววุธเอง มีความเชื่อส่วนตัวว่า ถ้าเราทำอะไรก็ตาม ถ้าคิดว่ามันไม่สุดจริงๆ หรือไม่ดีจริงๆ เราจะไม่ทำ เราจะศึกษาจนเรามั่นใจว่า เราพร้อม และถึงจะทำออกมา
13 ปีที่เราศึกษา เราคิดว่าพร้อม พร้อมในมุมที่ว่า เรามีทรัพยากรที่ดีแล้ว คือ 1 เรามีศิลปินที่เราวาง และคิดว่าใช่ ในด้านคาแรคเตอร์ เรามีการบ่ม และฝึกซ้อมเขามาหลายปี เรามีวิธีคิดที่ทั้งค่าย และศิลปินมองไปในทางเดียวกัน เรามีตัวทีมงานที่มีประสิทธิภาพ และประสบการณ์ในวงการดนตรี เข้ามาอยู่ใน 4nologue ช่วง 1-2 ปีนี้
เราไม่ได้มองว่าเราดีที่สุด แต่ภายใน เรามองว่าเราพร้อมที่จะทำชิ้นงานนี้ ปล่อยออกไปให้คนดูช่วยตัดสินว่า ‘ศิลปินแบบนี้ คุณชอบเขาไหม ? มันใช่แล้วหรือยัง มันดีแล้วหรือยังที่จะทำให้คุณมาชอบ ?’
ประเทศไทยไม่มีวงบอยแบนด์ มานานพอสมควร ทำไมถึงคิดกลับมาทำวง T-POP และคิดว่าจะโด่งดังอีกครั้ง
จริงๆ เราทำงาน เราก็มีความหวัง เราฝันอย่างมีวิธีการในการทำ ฝันอย่างค่อยๆ สะสมประสบการณ์ อย่างที่บอก พอถึงจุดนึงที่พร้อม เราตัดสินใจได้ไม่ยากเลย ไม่ได้ใช้เวลาคิดอะไรนานเลย คิดแค่ว่าเราจะลุย เราก็แค่ลุย
ถามว่าที่ผ่านมา เราเห็นไหมว่ามีการทำวงแบบนี้ เราก็เห็น ผมมองว่าแต่ละวงที่เคยออกมา และยังอยู่ทุกวันนี้ ไม่มีใครที่ดี หรือแย่ แต่มันเป็นเรื่องของสไตล์ และการนำเสนอมากกว่า วันนี้ 4nologue รู้สึกว่า เราอยากนำเสนอสไตล์นี้ คือสไตล์ International Standard หรือ World Standard แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าศิลปินของเราเก่งที่สุดในโลก แต่เราใช้การตัดสินว่า ต่อให้คุณเป็นคนชาติไหน ไทยหรือจีน เวลาที่เราฟังเพลง เช่นเพลงสากล ไม่ว่าร้องเพลงอะไร ภาษาอะไร ถ้ามีมาตรฐานเราจะเข้าใจมัน เราจะรู้สึกกับมันได้ เราไปคอนเสิร์ตเกาหลี เราฟังไม่ออก แต่เรารู้สึกสนุก แสดงว่าภาษาดนตรีมันสื่อสารกันได้ แปลว่าภาษาดนตรีนี้ มันสื่อสารกันได้
คำว่า standard นี้แหละที่เอามาใช้ แปลว่าศิลปินต้องร้องเก่ง เต้นเก่ง ไม่ใช่แค่ร้องได้ เต้นได้ ต้องธรรมชาติ ต้องเป็นตัวของตัวเอง นี่คือส่วนผสมที่เราคิดว่า ถ้าเป็นศิลปินจะต้องมีส่วนผสมแบบนี้
ก่อนหน้านี้ 4nologue มี 9×9 โปรเจ็คต์นี้ ต่างกับวง ‘Trinity’ ยังไง
9×9 เป็นแค่โปรเจ็คต์ แต่ Trinity ไม่ใช่โปรเจ็กต์ Trinity คือศิลปินจริง เป็นการฟอร์มวงถาวร วงจะอยู่ตลอดไป ตราบเท่าที่แฟนๆ ยังตอบรับ และตัวศิลปินยังอยากทำอยู่
ตัว 9×9 เป็นโปรเจ็กต์ที่เรียกว่า ‘Pilot’ หมายถึงว่า เราอยากรวมตัวอเวนเจอร์ในเชิงของศิลปินที่อยู่ต่างค่าย แต่เรามีข้อจำกัดคือมีกำหนดเวลาที่ชัดเจนใน 1 ปี เพราะมันเป็นสิ่งที่เหนื่อยมาก ทุ่มเทมาก ต้องมีการเสียสละไม่รับงาน เขาขาดรายได้ไป เพราะต้องเอาเวลามาฝึก เรารู้สึกว่าความเหนื่อยทุกอย่างมันควรมีลิมิต ที่ให้เขารู้ว่า เขาควรเหนื่อยถึงเมื่อไหร่ เราจึงกำหนดว่า 1 ปี และเราก็ทำงานให้เต็มที่ นี่คือสิ่งที่เราบอกทีมงาน พาร์ทเนอร์ และตัวศิลปิน ว่าเราจะไปอิมแพ็ค อารีน่าให้ได้ ถ้าทุกคนตกลงตรงกัน เราจะไปด้วยกัน ซึ่งสุดท้ายเราทำมันได้
วุธถึงมองว่า มันเป็น Pilot โปรเจ็กต์ที่ว่า ถ้าคุณร้องไม่ได้ เต้นไม่ได้ ถ้าฝึกจริงจัง คุณจะทำได้ นี่คือสิ่งที่ 4nologue อยากสร้างความเชื่อตรงนี้ว่า ทุกคนทำได้ ถ้าฝึก ต่อมาคือเราสร้างความเชื่อให้กับแฟนคลับ และผู้ชม ว่าเขาเลือกคนไม่ผิด คนที่เขาจะกรี๊ด และจะตาม เพราะคนกลุ่มนี้เขาทุ่มเททำเพื่อคุณ ทั้ง 9 คน ค่อนข้างได้รับผลตอบรับที่ดีมาก เพราะเขาแสดงให้เห็นว่า เขาทำจริงๆ ฝึกจริงๆ มีความพยายามจริงๆ เพื่อแฟนคลับ
อย่างที่ 3 เราสร้างความเชื่อให้กับลูกค้า หรือสปอนเซอร์ที่เข้ามา เพราะว่าใน 9 คน มีหลายคนที่หน้าใหม่เลย วันนี้คุณต้องมาเป็นเงินให้กับเรา เราต้องมีความเชื่อจริงๆ ว่าเราจะทำได้ นี่คือสิ่งที่เราพูดกับลูกค้า เขาเชื่อเรา และมาซัพพอร์ตเรา พอความเชื่อตรง 3 ส่วนนี้มันเกิด มันเลยรันวงการได้ จึงเกิด 9×9 มันถึงได้รับการตอบรับ และสำเร็จแบบนั้น
เมื่อ 9×9 จบ วุธแฮปปี้ ในมุมที่ว่าทุกคนประสบความสำเร็จ มีหน้าที่การงานที่ดีขึ้น Trinity จึงเป็นความเชื่อมั่นที่ต่อจาก 9×9 ว่า ถ้าเราฝึกต่อ เราก็จะมีความสามารถมากขึ้น เพราะที่นี่ถูกสร้างมาว่า ไม่มีใครเก่งที่สุด ทุกคนเก่งได้อีก ดีได้อีก ดังนั้น เราก็เอาความคิดนี้แหละมาคุยกัน และเราก็ฝึกต่อ
เอาง่ายๆ เดือนนึงมี 30 วัน 16 วันคือการซ้อม เกินครึ่งคือการซ้อม สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ปลูกฝังในตัวศิลปิน ว่าเราอยากพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้แฟนคลับรู้สึกว่า เขาเลือกคนไม่ผิดที่จะมาชอบ
Trinity เป็นการตัดสินใจฟอร์มวงหลัง 9×9 หรือเปล่า
ไม่ใช่ ในวันที่เราทำ 9×9 6 เดือนแรกลูกผีลูกคนมากๆ ไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นอย่างไร เพราะแต่ละคนไม่เท่ากันเลย บางคนดังมาก บางคนยังไม่ดังเลย บางคนเต้นไม่ได้ บางคนร้องเพลงเพี้ยน แต่ว่าพอเริ่มผ่านไปซัก 9 เดือน 10 เดือน เราก็เริ่มเห็นว่ามันไปได้
ตอนนั้น มีน้อง 3 คน ที่สังกัดอยู่ใน 4nologue อยู่แล้ว นั่นก็คือ ปอร์เช่ เติร์ด และแจ๊คกี้ ช่วงเดือนที่ 8-9 4nologue ก็คิดไว้แล้วว่า ถ้าไปได้ดี เราทำให้น้อง 3 คนนี้ต่อดีกว่า เพราะน้องทั้ง 3 คนตั้งใจจะเป็นศิลปินอยู่แล้ว บังเอิญพอโปรเจ็กต์จบ เจมมี่เจมส์หมดสัญญากับนาดาว เขาก็ย้ายมาอยู่กับ 4nologue จึงทำให้เกิด Trinity ที่มี 4 คน
ตอนแรกวางแผนว่ามี 3 คน เลยทำให้วงชื่อ Trinity ด้วยหรือเปล่า
เราตั้ง Trinity ไว้แต่แรก เพราะคิดว่าจะมี 3 คน คอนเซ็ปต์ที่เราคิดไว้มันคือ 3 เหลี่ยมจริงๆ แต่ 3 เหลี่ยมที่มันสมบูรณ์มันต้องมี 4 ด้าน คือพิรามิด 4 ด้าน บังเอิญเป็นคอนเซ็ปต์ที่ได้ เราเลยใช้ชื่อวงเดิม เพราะ 4 ด้านจะทำให้มีจุดยอดสูงสุด ทุกคนเห็นด้วยกับคอนเซ็ปต์นี้ เราเลยตกลงใช้ชื่อเดิม
วางคอนเซ็ปต์ของวงไว้อย่างไร
คอนเซ็ปต์ของวงชัดเจนมาก วงนี้เป็นบอยกรุ๊ปที่วางจากคาแรคเตอร์ ซึ่ง 4 คนนี้คาแรคเตอร์ต่างกันชัดเจน เราก็มองว่าคาแรคเตอร์ที่ต่างกันนี้ มันเปรียบเทียบได้กับอะไรบ้าง เราก็มองถึงการสร้างโลกนี้ขึ้นมา มันประกอบด้วยอากาศธาตุ เป็นภาษาไทยก็คือ ดิน น้ำ ลง ไฟ แต่เราก็เจาะลึกลงไปในแต่ละคาแรคเตอร์อีก
เมื่อเทียบกับโทนการร้อง การใช้สีสันทั้งหมด มันคืออาร์ตไดเรคเตอร์ที่ถูกวางไว้เป็นคอนเซ็ปต์ แต่ละคนคือดิน น้ำ ลม ไฟ คาแรคเตอร์ที่ต่างกัน สไตล์การร้อง แฟชั่นที่ต่างกัน ผสมผสานอาร์ตกับเพลง และคาแรคเตอร์ของสมาชิกกลายเป็นวง ถ้าเราฟังอัลบั้มแรก มีทั้งหมด 4 เพลง มีทุกแนวที่เรามองว่าคนไหนเหมาะกับแนวไหน แต่ละเพลงเราจะให้ทุกคนจะมีซีนของตัวเอง
มีกระบวนการคัดเลือกศิลปินเข้ามาในค่ายยังไง
ยากมาก ที่นี่ต้องมีการออดิชั่น สมมุติคนนึงใช้เวลาออดิชั่น 2 ชั่วโมง เราใช้เวลาคุยกันอย่างน้อยชั่วโมงครึ่ง ให้ร้องเพลง และเต้นนิดหน่อย เพราะเราคิดว่า เราไม่ใช่รายการออดิชั่น เราไม่ได้ต้องการคนที่เก่งที่สุด แต่เราต้องการคนที่ใช่ที่สุดในมุมของเรา คนที่ใช่ในอันดับแรกคือ สู้ และอดทนหรือเปล่า แบ่งเวลาได้หรือเปล่า รับแรงกดดันได้ไหม ถ้าต้องเรียนไปด้วย ฝึกไปด้วย รอได้ไหม อาจจะรอ 2 ปี หรือ 3 ปี รอได้หรือเปล่า เพราะว่าถ้าไม่ดีจริง ก็จะไม่ได้ออก
เราไม่ใช่โมเดลลิ่ง ที่ไปตามหาคนสวย หล่อ เอางานให้เขาทำ และโปรโมทเขาเลย ไม่ใช่แบบนั้น ที่นี่ถ้าเข้ามาแล้ว เราฝึก และเก็บตัว ทั้งเรายังมีระบบที่คัดออกทุก 3 เดือน เพราะจะมีการสอบย่อยทุก 30 วัน สอบย่อยครั้งที่ 1-2 จะได้รับคอมเมนต์ เรื่องที่ต้องแก้ไขกลับไป ซึ่งในการสอบใหญ่ทุก 3 เดือน ถ้าไม่ผ่าน ต้องออกเลย เรามองว่าเป็นสิ่งที่แฟร์ เพราะคุณก็ไม่ต้องเสียเวลากับเรา ตอนนี้เราก็ฝึกเด็กกลุ่มนึงอยู่ เราฝึกมาปีครึ่งแล้ว ทุก 3 เดือนก็ยังมีคนออกไปเรื่อยๆ
ดูระบบแล้วค่อนข้างจะคล้ายกับระบบเด็กฝึกหัดของเกาหลีเลย
หลายคนถามวุธบ่อยมากว่า คุณก็อปเกาหลีหรือเปล่า อย่าเรียกว่าก็อปนะ เพราะว่าตอนนี้ เกาหลี หรือ K-POP คือ mainstream ของโลก ศิลปินเขาดังไปทั้งโลก T-POP อยู่ตรงไหนไม่รู้ แต่เราพยายามสร้างอยู่ เรามองว่าอะไรที่มันดีในกระบวนการของการฝึกฝน เราก็ควรเอามาใช้ เหมือนการเรียนหนังสือ ถ้าหลักสูตรมันดี เราก็นำมาปรับ
ถ้าเกิดวันนี้สวิตเซอร์แลนด์มีหลักสูตรที่ดี สร้างศิลปินได้ เราก็จะไปเอามา ที่ไหนทำดีเราก็จะเอามา แต่เราจะไม่เอาสไตล์มา แต่การฝึกฝน มันก็มาพร้อมการลงทุน เพราะคนที่มาสอน ไม่มีใครมาสอนฟรีๆ การฝึก การสอนต้องใช้เงิน
นี่คือสิ่งที่ทำให้วงการในบ้านเราขับเคลื่อนไปได้ยาก เพราะว่าถ้าการลงทุนไม่เกิด เด็กก็คุณภาพไม่ถึง พอคุณภาพไม่ถึง ก็ไม่มีใครมาสนใจเรา 4nologue มองว่าตรงนี้สำคัญที่สุด คือจุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปินคือต้องฝึก และการฝึกต้องลงทุน
ตอนนี้ปล่อยเพลง ปล่อย MV ออกมาแล้ว คิดว่าต้องรับมือยังไง กับความเห็นที่มองว่า วงดูเหมือนก็อปเกาหลี K-POP มาเลย
ในการทำงาน ผมว่าเราเปิดรับทุกอย่าง คำติ คำชม พอใจ หรือไม่พอใจ ผมว่าให้มีคนพูดถึงงานเราไม่ว่าจะเป็นทางไหนก็ตาม เราแฮปปี้ อย่าลืมว่าประเทศไทยเราไม่มีศิลปินแบบนี้มานาน เกาหลีมีมา 16-17 ปี อะไรที่เราทำแล้วไปเหมือน หรือคล้ายเขานิดเดียว มันก็เหมือนว่าเราทำตามเขาแล้ว บางทีบอกว่าเหมือน ยังดีกว่าบอกว่าก็อป
เราก็เข้าใจคนที่วิจารณ์ สำหรับผม เกาหลีคือมาตรฐาน ถ้าเขามีมาตรฐานเขาไปทั้งโลกได้ ในทางกลับกันคือ ไม่ว่าจะมีคำติ ชม หรืออะไรก็ตาม เรารับรองว่าเราจะเอามาปรับปรุงแน่นอน แต่อะไรที่ดูเป็นความเห็นที่ไร้สาระมาก เราก็ไม่สนใจ เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนมาก เราต้องฝึก ต้องทำขนาดนั้น เพราะเราอยากได้มาตรฐาน เราไม่อยากได้แค่ความคล้าย เราอยากได้มาตรฐานที่เป็น original จริงๆ แต่ตอนนี้เรามาทีหลังเขา
K-POP เขาก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง คิดว่าถ้าเราทำ T-POP เอกลักษณ์ของเราจะเป็นแบบไหน
คำว่าเอกลักษณ์จะมาทีหลัง คำว่ามาตรฐานต้องมาก่อน ถามว่าตอนเราฟัง K-POP กว่าเราจะเก็ท เข้าใจมันได้ก็ใช้เวลา T-POP ก็เหมือนกัน
ผมจำได้สมัยเด็ก ผมดูวงแบบแร็ปเตอร์ กามิกาเซ่ ซึ่งมันก็หายไปนานมากแล้ว ถามว่าเอกลักษณ์ของมันตอนนี้คืออะไร มันไม่มี ต้องสร้างใหม่ แต่เมื่อเราจะสร้างเอกลักษณ์ใหม่ 4nolouge ก็ย้อนกลับมาที่คำแรก เราเอามาตรฐานให้ได้ก่อน ร้องและเต้นให้เก่ง เป็นตัวจริงให้ได้ในทุกด้าน พอมาตรฐานได้ เอกลักษณ์จะมาเอง มันต้องใช้เวลา วันนี้ถ้าเกิดทุกคนเริ่มด้วยมาตรฐานก่อน ไม่ว่าจะค่ายไหนในประเทศไทย ถ้ามีมาตรฐาน เอกลักษณ์จะเกิด แต่ 4nolouge ทำคนเดียวไม่ได้ เรามีแค่วงเดียวไม่พอหรอก เราต้องช่วยกันทำทั้งวงการ
วางเป้าหมายของวงไว้ยังไง
เราวางไว้สุดๆ เพราะทุกวันนี้ เราดึงศิลปินมาเหนื่อยกับเรา 3 ปี ทั้งทีมเราทำงานกันหนักมาก เราต้องคาดหวัง ถ้าเราไม่หวังเราจะไปไม่ถึง วันนี้สิ่งที่เราคาดหวังคือ อยากได้ยินเพลงไทยในตลาดโลก อยากทำเอเชียทัวร์ และเวิร์ลทัวร์
ถามย้อนกลับมาว่าเราจะไปถึงตรงนั้นได้ยังไง เราเลยต้องทำตอนนี้ให้ดีที่สุด ทำทุกชิ้นงานให้ดีที่สุด ให้เด็กเราเก่งที่สุด คือต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เราเชื่อว่าถ้าเราไม่หยุดพัฒนา เรามีโอกาสไปถึงจุดนั้นว่า
นอกจาก trinity แล้ว วางแผนจะมีวงอื่นๆ
วางแผนทั้งหมด ไม่มีอันไหนที่ทำแล้วบังเอิญ มีเด็กฝึกหัด มีแผนจะทำกี่วง เราวางไว้หมดเลย ไม่ได้จะมีเยอะมาก อาจจะมีแค่ 3-4 วง ซึ่งจะทยอยออกมาให้เห็นตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะเริ่มเห็นวงอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ trinity เพราะว่าเรามองว่าวงเดียวไม่พอ เราต้องการที่กว้างกว่านั้น และจะมีคาแรคเตอร์อื่นๆ สไตล์อื่นๆ ออกมาให้ได้เห็นแน่นอน
มีบอยกรุ๊ปแล้ว จะมีเกิร์ลกรุ๊ปไหม
มีแน่นอน ปีหน้าเจอกัน
พอคิดว่า 4nolouge จะมีหลายวง จะทำวงหลายแนวแล้ว มองภาพวงการเพลงไทยในอนาคตยังไง
ผมเคยพูดไว้ว่า เราอยากเป็นทีมชาติด้าน entertainment หมายถึงว่าเราอยากให้คนไทยออกมาเชียร์ศิลปินเหมือนเชียร์บอล เวลาเราเห็นคนเชียร์เต็มสนาม เรารู้สึกดีมาก จะแพ้ หรือชนะไม่เป็นไรแต่อยากให้คนมาเชียร์
อย่างที่เราบอกวันนี้คนจะติ จะชมเรา ไม่เป็นไรเลย อย่างน้อยขอแค่คนเห็นผลงานเรา หรือสนใจ เราดีใจแล้ว วันนี้ผมอยากเห็นวงการเพลงไทยขับเคลื่อนไปได้ แบบที่เกาหลีใต้ทำได้ เราอยากเป็นส่วนสำคัญใน GDP ของประเทศนี้บ้าง เราอยากเป็นรัฐบาลด้าน entertainment ที่ตั้งใจทำสิ่งนั้นจริงๆ เรารู้สึกว่ามันต้องได้
ผมมองกลับมาที่จุดแรก มันขาดแค่ความเชื่อ การฝึกฝน เราอยากทำสิ่งนี้ออกมาให้เยอะๆ ให้อุตสาหกรรมนี้มันไปได้ ถ้าทำแล้วเวิร์ก เราก็อยากให้หลายๆ ค่ายทำออกมาอีก เหมือนที่เกาหลีเขามีหลายค่าย และเขาทำแข่งกันสนุกมาก พอถึงเวลาเขาก็ร่วมมือกัน ถึงเวลามันก็ก้าวหน้าไปได้ อยากให้ภาพอุตสาหกรรมบันเทิงไทยมันไปแบบนั้นได้ ให้ศิลปินแจมกันได้ เราอยากเห็นภาพนั้นมากๆ
อีกมุมนึง 4nolouge ก็ทำงานด้านออกาไนเซอร์ ผู้จัดงานคอนเสิร์ต และแฟนมีตฯ ในวงเกาหลีมานาน ทำงานในจุดนี้เป็นอย่างไรบ้าง แตกต่าง หรือมีจุดยากอะไรบ้าง
เราสนุกที่ทำงานกับเกาหลี ถามจุดนี้ ในปีที่ 13 ว่าอะไรยาก เรามองว่าไม่ยากแล้ว ถ้าถามตอน 3 ปีแรก ว่าเป็นอย่างไร บอกได้เลยว่ายากมาก ยากตรงที่ว่าเขามีกฎระเบียบเยอะ มีข้อจำกัดเยอะ เราไม่เข้าใจในตอนแรกว่า ทำไมถึงถ่ายรูปไม่ได้ ทำไมเดินแบบนี้ไม่ได้ จนเราเรียนรู้ว่ามันคือกระบวนจัดการศิลปิน (artist management) และเรามองว่ามันไม่ใช่สไตล์เกาหลี แต่จริงๆ มันคือสไตล์ international ที่เราไม่มีประสบการณ์ เราจึงไม่เข้าใจ แต่บังเอิญเราโชคดีมากที่เราทำเป็นบริษัทแรกๆ ในประเทศไทย
พอเริ่มปีที่ 5-6 แล้ว เราจับทางเขาได้แล้ว มันทำให้เราทำงานง่ายขึ้น สมู๊ทขึ้น แล้วพอเราจับทางได้ เราก็เริ่มจับมุมเขาได้ว่า ถ้าเข้าทำแบบนี้ แล้วมันจะเป็นอย่างนี้ จะได้แบบไหน ทุกวันนี้เราเลยมองว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ยาก และไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่เป็นเรื่องที่สนุก เพราะว่าแต่ละค่ายไม่เหมือนกัน แต่ละศิลปินไม่เหมือนกัน พอเราได้เรียนรู้เยอะๆ ก็เหมือนเราได้อัพเกรดความรู้ตัวเองตลอดเวลา ทุกวันนี้ก็ยังสนุกอยู่
ปัจจุบัน วง K-Pop มีเยอะมาก 4nolouge ตัดสินใจอย่างไรว่าจะจัดงานกับวงไหน เป็นผู้จัดนักแสดงคนไหน
อันดับแรก เราชอบคนที่เก่ง คนเก่งคือคนที่สนุก คนดูจะซื้อ คนดูจะตาม ถ้าวันนี้เราเสียเวลาไปดูคอนเสิร์ต 2 ชั่วโมง เรารู้สึกคุ้มที่เราได้ดู อย่างที่ 2 เราเลือกวงที่มีคนไทย เราเลือก GOT7 เพราะมีคนไทย มีแบมแบม หรือ Blackpink เองก็มีลิซ่าอยู่ตรงนั้น เราทำโฆษณา AIS ที่เขาเป็นพรีเซนเตอร์อยู่ทุกวันนี้ นี่คือส่วนหนึ่งที่ 4nolouge ทำ เพราะเราอยากชูว่า คนไทยเก่ง นี่จึงเป็นหนึ่งเกณฑ์ที่เราเลือก
ตอนนี้ก็มีคอนเสิร์ต แฟนมีตในไทยเยอะมาก มีผู้จัดที่มากขึ้นด้วย ผู้จัดเองก็ค่อนข้างต้องรับเสียงวิจารณ์จากแฟนคลับเยอะมากๆ 4nolouge มีวิธีจัดการยังไงกับตรงนี้
ย้อนไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ผมว่าเราเป็นผู้จัดอันดับ 1 ที่โดนด่า แต่อย่างที่เราบอกว่า เราทำงานกับศิลปิน มีคนมาติชมเรา เราเปิดโลก เราชอบคำติที่มีสาระมากๆ เพราะสิ่งเหล่านี้มันทำให้เราโดนด่าน้อยลง ใช้ประสบการณ์ที่ทำคอนเสิร์ต เราปรับตัว เราก็ไม่อยากโดนด่าไปตลอด
คนดูสำคัญกับเรามาก ถ้าเขาไม่ซื้อบัตรเรา เราจะอยู่ได้ยังไง ศิลปินจะอยู่ได้ยังไง 4nolouge เราใช้คำว่าเราบาลานซ์ เราก็อยากบอกแฟนคลับตรงนี้ ว่าสิ่งที่แฟนคลับอยากได้ เราให้ไม่ได้หมด แต่เราให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะให้ได้ บางครั้งเราต้องดูแลศิลปิน ดูแลค่าย และดูแลแฟนคลับ เราต้องหาจุดที่ดีที่สุด และบาลานซ์ที่สุด นี่คือสิ่งที่ 4nolouge ปรับตัว
และ 4nolouge ยึดว่า ถ้าอะไรที่มันคือจุดที่พอดีสำหรับทุกคนแล้ว เราจะยึดแบบนี้ ทำแบบนี้ แล้วนำไปอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่าเป็นแบบนี้นะ เราปรับตัวตลอดจากคำติ เราจึงรู้สึกว่าทุกวันนี้เรามีกำลังใจมากขึ้น และขอบคุณแฟนคลับทุกคน ทุกค่ายที่เข้าใจการทำงานของเรา เราก็ดีใจที่เราโดนด่าน้อยลงเยอะมากๆ ทีมงานทุกคนก็แฮปปี้ ศิลปินก็แฮปปี้
ช่วงที่เจอฟีดแบ็กด้านลบเยอะๆ เครียดมากไหม
เครียดนะ เราบอกทุกคนว่าเราไม่ใช่มืออาชีพ แต่เราทำสิ่งนี้เป็นอาชีพ เราอยากอยู่กับอาชีพนี้ไปนานๆ เพราะเรารักอาชีพนี้ เรารักเสียงเพลง เราชอบทำคอนเสิร์ต ถ้าเราไม่รัก เราคงไม่ปล่อยให้มันขาดทุนมา 7 ปี โดยที่เรายังทำมันต่อไป เราเพิ่งมาได้กำไรปีที่ 8 เรายอมขาดทุนเพราะเรารักจริงๆ เราถึงพยายามปรับปรุง แล้วในวันนี้พอมีฟีดแบ็กด้านบวก เราก็ดีใจ
นอกจากมีคอนเสิร์ตที่มากขึ้น ก็มีการพูดถึงตั๋วคอนเสิร์ตที่แพงมากขึ้นเรื่อยๆ ในมุมผู้จัดมองเรื่องนี้ยังไง
4nolouge เป็นบริษัทนึงที่ราคาค่อนข้างถูก และชัดเจน แฟนมีต กับคอนเสิร์ตต่างกัน แฟนมีตของ 4nolouge ราคาจะค่อนข้างถูก เพราะโชว์ไม่ได้ใหญ่ โปรดักชันส์ไม่ได้เต็ม ราคาก็จะไม่แพง ส่วนคอนเสิร์ต โปรดักชันส์ใหญ่ขึ้น เพลงเยอะขึ้น ร้องเพลงในคอนเสิร์ตก็มีค่าลิขสิทธิ์ คือมันมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก
บัตรคอนเสิร์ตของ 4nolouge เราปรับขึ้นปีละ 100-200 บาท ผมกล้าพูดว่า ราคาของเราค่อนข้างเหมาะสม ผมเข้าใจที่ว่าหลายคนยังเป็นนักเรียน แต่ถ้าคุณไปดูคอนเสิร์ต 4nolouge เราพูดได้ว่าเราไม่เคยน้อย ศิลปินเราก็ไม่เคยดร็อป เราเต็มที่ตลอด เราไม่เคยลดสเกล ถ้าขาดทุน เพราะเรามองว่า การจัดคอนเสิร์ตมันต้องมีองค์ประกอบของความสมบูรณ์แบบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเสียง แสง ภาพ มันทำให้คนดูมีความสุข และเราจะไม่ลดสเกลนั้น
ในอนาคตอยากจะขยายไปดูศิลปินตะวันตก หรือศิลปินชาติอื่นๆ ไหม
จริงๆ เราชอบงานเพลงทุกชนิด ถ้ามีโอกาส เราก็อยากทำ เพราะเราก็อยากเรียนรู้เหมือนกันว่าฝั่งยุโรป หรือฝั่งอเมริกาเขาทำงานกันยังไง เราอยากเรียนรู้เยอะ
เราเห็น 4nolouge ในหลายด้านมากๆ ทั้งค่ายเพลง ออกาไนเซอร์ ทำโฆษณา มองอนาคต 4nolouge ยังไง และเราจะเรียก 4nolouge ได้ว่าเป็นบริษัทอะไร
4nolouge เป็นสิ่งที่หาคำจำกัดความได้ยาก ทุกวันนี้คนดูคอนเสิร์ตเกาหลีรู้จักเราในนามโปรโมเตอร์ คนจัดคอนเสิร์ต เอเจนซี่จะรู้จักเราในมุมที่ว่า เราทำโฆษณา หรือถ้าเป็นวงการลูกค้าฝ่ายตรงอีกกลุ่ม จะเห็นว่าเราทำอีเวนท์ เขารู้จักเราในแต่ละด้านกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ 4nolouge เป็นแกนคือเราทำ teen entertainment
ไม่ว่าคุณจะเรียก 4nolouge ว่าเป็นอะไรก็ตาม แต่เราจะสร้าง millenium culture เป็นวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ ที่มีหลากหลายสไตล์ อาทิเช่น เพลง อีเวนท์ คอนเสิร์ต โฆษณา หรืออะไรก็ตามที่เป็น millenium culture และเราจะเชื่อมต่อทุกอย่างให้เข้าด้วยกัน
หรือถ้าลูกค้ากลุ่มไหน อยากได้ตลาดกลุ่ม teen เขาจะนึกถึงเรา เพราะเรามีทั้ง database ทั้งแฟนคลับของศิลปิน ทั้งไทย และเกาหลี เราใช้คำว่า ‘the creator of millenuim culture = 4nolouge’