“We gather stones never knowing what they’ll mean.
Some to throw, some to make a diamond ring.”
เราเก็บกรวดหินเหล่านั้นมาโดยไม่รู้ว่ามันมีความหมายอะไร
บ้างก็เอาไว้ขว้างปา บ้างก็เอาไปทำแหวนเพชร
คำร้องจากบทเพลงของศิลปินชื่อดัง เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) หญิงสาววัย 30 ปี ที่ไม่ว่าจะปล่อยเพลงออกมากี่ครั้ง ก็เรียกเสียงฮือฮาจากผู้คนทั่วโลกได้เสมอ ถือว่าเธอเป็นหนึ่งในศิลปินที่ทรงอิทธิพลของยุคนี้เลยก็ว่าได้
ในช่วงปีที่ทุกอย่างวุ่นวายไปเสียหมดนี้ จู่ๆ เหล่าแฟนเพลงของสวิฟต์ก็ต้องร้องกรี๊ด เมื่อเธอปล่อยอัลบั้มล่าสุด ‘folklore’ ออกมาทีเดียว 16 แทร็ก โดยที่ไม่มีสัญญาณล่วงหน้ามาก่อน ราวกับว่า เธอต้องการพาทุกคนหลุดพ้นไปจากความอิรุงตุงนังของปี ค.ศ.2020 เสียอย่างนั้น
แต่นอกจากการขึ้นชาร์ตบิลบอร์ดอันดับ 1 ภายในเวลา 24 ชั่วโมงของเทย์เลอร์แล้ว สิ่งที่หลายคนพูดถึงจากอัลบั้มล่าสุดของเธอก็คือ การเติบโต ที่ฉายชัดผ่านเนื้อเพลงที่เธอแต่งด้วยตัวเองนั่นเอง
“I knew you tried to change the ending, Peter losing Wendy.”
ท่าทีและภาพลักษณ์ของสวิฟต์ที่ใครหลายคนจดจำได้ คงไม่พ้นข่าวดราม่าต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับศิลปินสาวคนนี้ ทั้งเรื่องความรัก ความสัมพันธ์กับเซเลบคนอื่นๆ แล้วด้วยความที่สวิฟต์เป็นศิลปินที่ความสามารถในการแต่งเพลงและร้องเพลงสูงมาก ก็ยิ่งทำให้สปอตไลท์ของสื่อจับจ้องสวิฟต์ไปทุกท่วงท่า
สวิฟต์ต้องเจอกับมรสุมครั้งใหญ่ เมื่อถูกคานเย่ เวสต์ (Kanye West) และคิม คาร์เดเชี่ยน (Kim Kardashian) ปล่อยคลิปเสียงที่แฉว่าเธอรับรู้เรื่องการปล่อยเพลงของเวสต์ และเนื้อร้องที่พูดถึงตัวสวิฟต์เอง ทั้งที่ก่อนหน้านั้น เธอยืนกรานว่าไม่รู้เรื่องมาโดยตลอด จนโดนกระแสโจมตีว่าเป็นงูพิษ และเกิด #TaylorSwiftIsOverParty ที่ติดอันดับโลกไปเลยทีเดียว
หลังจากนั้น สวิฟต์ก็หายหน้าหายตาไปจากสื่ออยู่พักใหญ่ ก่อนจะกลับมาพร้อมกับอัลบั้ม reputation ที่เปลี่ยนลุค เปลี่ยนแนว ราวกับเอาคำด่าต่างๆ ที่เธอพบเจอมาเป็นแรงใจในการเขียนเพลง พร้อมทั้งออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อย่างที่เธอไม่เคยทำมาก่อน และยังแสดงตัวเป็นกระบอกเสียงให้กับการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย
และแล้ว เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็มีคนปล่อยคลิปเสียงการสนทนาระหว่าง เวสต์-คาร์เดเชี่ยน และสวิฟต์ แบบเวอร์ชั่นเต็มๆ ออกมา ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่า สวิฟต์พูดความจริงมาตลอด จนเกิดเป็นกระแส #TaylorToldTheTruth ที่ติดอันดับไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน
จากเรื่องราวต่างๆ ที่เธอเผชิญมานั้น กลายมาเป็นสิ่งที่ฉายชัดผ่านบทเพลงที่สวิฟต์แต่งเอง นั่นคือ การเติบโต ที่ผ่านความเจ็บปวดจากประสบการณ์ และช่วงวัยที่ผ่านมา
“Our coming of age has come and gone”
บางครั้ง ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตก็ดูเป็นเรื่องยากลำบากเอาเสียเหลือเกิน จนอาจพูดได้ว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยนะ ที่เราจะใช้ชีวิตผ่านไปในแต่ละวันได้
ความยากลำบากนั้น บางทีอาจมาจากการเปลี่ยนผ่านบทบาทของชีวิต ที่ทำให้กิจวัตรประจำวันและวิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นเหมือนหนึ่งในมิชชั่นที่เราต้องผ่านช่วงเวลาอันเปราะบางนี้ไปให้ได้
โดยจุดที่เราต้องเปลี่ยนจากสภาวะที่เป็น ‘เด็ก’ เพื่อเปลี่ยนผ่านเป็น ‘ผู้ใหญ่’ คือช่วงที่เรียกว่า ‘coming of age’ ซึ่งก็หมายถึง ภาวะอันยากลำบาก ที่เราต้องก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ไปสู่อีกช่วงเวลาหนึ่งนั่นเอง
แต่จริงๆ แล้ว ในแต่ละวัฒนธรรมก็มีการกำหนดเกณฑ์ coming of age ที่แตกต่างกันออกไป บางวัฒนธรรมก็อาจแบ่งเกณฑ์จากความบริสุทธิ์ ซึ่งในบางที่ก็ยึดเอา ‘พรหมจรรย์’ เป็นตัวกำหนดความบริสุทธิ์นั้น หรือบางที่ก็กำหนดจากการมีอายุครบเกณฑ์ที่จะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตามกฎหมาย
ขณะที่อีกวัฒนธรรมหนึ่งก็อาจกำหนดจากการที่คนๆ หนึ่งรับประสบการณ์ต่างๆ มามากมาย จนความเป็นเด็กของคนเหล่านั้นถูกกลบซ่อนไป หรือบางที แม้แต่การต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง ก็ถือเป็นเกณฑ์ในการข้ามผ่านช่วงวัยด้วยเช่นกัน
แต่ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์แบบไหน coming of age ก็เป็นช่วงเวลาสำคัญของชีวิตที่มีความท้าทายต่อตัวเรากันทั้งนั้น ซึ่งสำหรับสวิฟต์แล้ว เรามองเห็นการเติบโตของเธอได้อย่างชัดเจน ผ่านตัวอักษรที่ร้อยเรียงอยู่ในเนื้อเพลง และบรรยากาศที่ฟุ้งออกมาจากบทเพลงเหล่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตที่เปลี่ยนผ่านไปอีกช่วงวัยหนึ่งได้เป็นอย่างดี
โดยเราคงคุ้นชินกับเรื่องราว coming of age จากสื่อต่างๆ อย่างภาพยนตร์และวรรณกรรมกันอยู่แล้ว ซึ่งในเรื่องราวของสื่อเหล่านั้น ก็มักจะสะท้อนให้เห็นว่า กว่าที่ตัวละครมทั้งหลายจะกลับมายิ้มและหัวเราะได้อีกครั้ง พวกเขาเหล่านั้นต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก และปาดน้ำตากันมาแล้วทั้งนั้น
แล้วเมื่ออัลบั้มล่าสุดของสวิฟต์ปล่อยออกมา เราแอบเห็นบางคนบอกว่า “ยินดีเหลือเกินที่สวิฟต์ ‘คนเก่า’ กลับมารับโทรศัพท์เสียที” จากท่อนที่เธอเคยร้องไว้ในเพลง Look what you made me do ซึ่งเธอบอกว่า ‘โทษทีนะ ตอนนี้เทย์เลอร์คนเดิมมารับโทรศัพท์ไม่ได้ เพราะเธอตายไปแล้ว’
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีอีกหลายเสียงที่แย้งว่า นี่ไม่ใช่ทั้งสวิฟต์คนเก่าหรือคนใหม่ทั้งนั้น แต่เธอคือสวิฟต์ที่เติบโตขึ้นจากความปวดร้าวทั้งหมดที่ผ่านมาในชีวิตต่างหาก
ถึงจะบอกว่าต้องผ่านช่วยวัยแห่งความเจ็บปวด แต่สงสัยไหมว่า ทำไมเราต้องเจ็บปวดก่อน ถึงจะเติบโตได้?
คำว่า ‘ความเจ็บปวด’ เป็นประสบการณ์ที่ถูกมองอยู่ในแง่ลบ และเป็นสิ่งเราก็มักจะหาทางหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้กันอยู่เสมอ ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะไม่ว่าใครก็ไม่อยากเจอกับความเจ็บปวดกันทั้งนั้นแหละ และมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกนะ ที่เรามักจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่พาตัวเองไปเจ็บปวด เพราะอารมณ์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ดังนั้น หลายคนจึงมองว่าความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง เพราะเป็นวิธีที่จะช่วยให้เราใช้ชีวิตต่อไปได้
แต่น่าเสียดายที่โลกใบนี้ไม่อนุญาตให้เราพบเจอแต่ความสุขเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ความเจ็บปวดจึงเป็นผลลัพธ์ของชีวิตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเราจำเป็นต้องรับมือกับผลลัพธ์ที่ว่านี้ ไม่ว่าเราจะยินดีหรือไม่ก็ตาม
“And if you never bleed, you’re never gonna grow”
ขณะเดียวกัน เมื่อเราได้เจอกับความเจ็บปวดครั้งแรกไปแล้ว เราก็จะสามารถเรียนรู้ และนำเอาความเจ็บปวดนั้นมาเป็นบทเรียนให้เราสามารถรับมือกับความเจ็บปวดครั้งต่อๆ ไปได้ดีขึ้นนั่นเอง
“มันค่อนข้างจะเชยนิดหน่อย ถ้าเราจะบอกว่า เราเรียนรู้จากความผิดพลาดมากกว่าความสำเร็จ” แอนดี้ วิลส์ (Andy Wills) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก University of Exeter กล่าว
แต่ถึงอย่างนั้น ผลจากการทดลองจากงานวิจัยของแอนดี้ ก็พบว่า สมองของเราตอบสนองด้วยการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่ซ้ำเดิมได้รวดเร็วมาก และสัญญาณของสมองก็จะตอบสนองกับปัญหาแต่ละอย่างแตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ วิธีที่หลายคนชอบใช้เพื่อป้องกันตัวเองจากความเศร้าก็คือ การฝืนให้ตัวเอง ‘คิดบวก’ ไว้เยอะๆ แต่ปัญหาก็คือ วิธีการนี้ ไม่ได้ช่วยให้ความเศร้าหรือความเจ็บปวดจางหายไปเลย ซ้ำยิ่งเป็นการเอาความรู้สึกเหล่านั้น ไปซ่อนไว้ใต้พรมเสียมากกว่า
นั่นหมายความว่า ภายใต้พรมความคิดของเรานั้น ก็จะมีแต่ความรู้สึกที่เราไม่สามารถจัดการได้ทับถมอยู่ในตัวเรา และก็ขึ้นอยู่กับเวลาที่ความรู้สึกเหล่านั้นจะล้นทะลักออกมา จนไม่เหลือทางเลือกอื่นให้เรา นอกจากรับมือกับมันให้ได้เท่านั้น
“Hell was the journey but it brought me heaven”
แปลว่า เราจำเป็นต้องรับมือกับมันให้ได้ก่อน ถึงจะเติบโตขึ้นหรือเปล่านะ?
นิยามของความว่าการเติบโต อาจดูเหมือนต้องผ่านขั้นตอน กระบวนการต่างๆ ให้เสร็จสิ้นไปเสียก่อน แต่จากถ้อยคำที่แฝงอยู่ในบทเพลงของสวิฟต์ กลับทำให้เราคิดว่า จริงๆ แล้ว เราสามารถเติบโตไปได้ ในระหว่างทางที่เรากำลังรับมือกับความเจ็บปวดอยู่เหมือนกันนะ
เพราะตราบใดที่ชีวิตเรายังดำเนินต่อ ก็ไม่มีทางรู้หรอกว่า บทสรุปที่เราได้รับมา ณ ตอนนั้น เป็นผลลัพธ์สุดท้ายของการเรียนรู้ในชีวิตแล้วหรือยัง แต่ที่รู้ก็คือ เรื่องราวที่เข้ามาในชีวิต ล้วนเป็นองค์ประกอบที่คอยเติมเต็มการเติบโตของเรา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างแน่นอน เหมือนกับที่สวิฟต์ ต้องฝ่าฟันมรสุมชีวิตมามากมาย กว่าจะมาถึงจุดเรามองเห็นการเติบโตของเธออย่างชัดเจน
ซึ่งไม่แน่ว่า บางที เธอเองก็อาจยังต้องต่อสู้กับบาดแผลจากความเจ็บปวดนั้น ไปพร้อมๆ กับบทเพลงเหล่านี้ก็เป็นได้
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก