ในที่สุดงานสัปดาห์หนังสือกำลังกลับมาจัดในที่ที่เราคุ้นเคยแล้ว
หนังสือทุกเล่มมีค่าในตัวของมัน แต่ในโลกที่มีหนังสือจำนวนไม่สิ้นสุด และเงินในมือมีที่จำกัด การเลือกหนังสือให้เข้ามือตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่อาศัยกำลังสูงมากๆ The MATTER เลยขอเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ไปคุยกับสำนักพิมพ์ 9 สำนักพิมพ์เพื่อให้บรรณาธิการมาร่วม ‘ป้ายยา’ หนังสือที่น่าสนใจของพวกเขาในงานหนังสือตุลาคม 2565 กัน
ฟ้าเดียวกัน
ทุนนิยมเจ้า : ชนชั้น ความมั่งคั่ง และสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย
เขียนโดย ปวงชน อุนจะนำ
งานของปวงชนมีจุดเด่นคือการผสมผสานทฤษฎีมาร์กซิสต์คลาสสิคว่าด้วยชนชั้นทางสังคม แนวคิดเรื่อง ‘ประเพณีประดิษฐ์’ ของอีริค ฮอบส์บอว์ม และการต่อยอดแนวคิดว่าด้วย ‘การแบ่งร่างสถาบันกษัตริย์’ ของเอิร์นสต์ คันโทโรวิคซ์ มาทำความเข้าใจสถาบันกษัตริย์ไทย โดยบทวิเคราะห์ของเขาฉายให้เห็นภาพความเป็นมาและเป็นไปของ ‘สถาบันกษัตริย์กระฎุมพี’ ในประเทศไทย และเมื่อรวมกับวิธีวิทยาการศึกษาเปรียบเทียบเข้ามาใช้ด้วยแล้ว เขาก็สามารถชี้ให้เราเห็นถึงความโดดเด่นทุกมุมของสถาบันกษัตริย์ไทย
นอกจากนี้ ขณะที่งานศึกษาสถาบันกษัตริย์ไทยก่อนหน้านี้มักให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับชนชั้นนำและสถาบันทางการเมืองต่างๆ แต่หนังสือเล่มนี้กลับช่วยเติมเต็มความเข้าใจถึงปฏิสัมพันธ์ของมวลชนอย่างนักธุรกิจชั้นนำ ชนชั้นกลางในเมือง ชาวนาชาวไร่ และแรงงานภาคอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมไทย
ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย
เขียนโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ
การยกมือปืนป๊อปคอร์นเป็นฮีโร่ การลดทอนค่าของผู้เห็นต่าง การต่อสู้เชิงการเมืองและวัฒนธรรมเพื่อกำหนดหรือสร้างคำนิยามความหมายชุดใหม่ให้กับสิ่งที่ตนเรียกร้อง
‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย’ เป็นหนังสือที่ศึกษาปรากฏการณ์ของ กปปส. ระหว่างปี 2556-2557 โดยประจักษ์ ก้องกีรติวิเคราะห์อัตลักษณ์การเป็น ‘คนดี’ และการเมืองแบบคุณธรรมที่กปปส.สร้างขึ้น และผลักให้คู่ตรงข้ามของตัวเองซึ่งก็คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์และผู้สนับสนุนเป็นศัตรู และแทบไม่เป็นมนุษย์อีกต่อไป
การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด เส้นทางและอนาคตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก
เขียนโดย อะกิระ ซุเอะฮิโระ (Akira Suehiro)
หนังสือเกี่ยวกับการศึกษาเศรษฐกิจไทยผ่านบริบทเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและโลกเล่มนี้เผยให้ผู้อ่านเห็นว่า ความสำเร็จและความล้มเหลวของเศรษฐกิจไทยไม่ใช่เรื่องของตำนานเสื่อผืนหมอนใบของบรรดาเจ้าสัว ความสามารถของเทคโนแครตที่ประกาศตัวว่าปราศจากผลประโยชน์ส่วนตน หรือความมีเสถียรภาพของรัฐบาลเผด็จการแบบสฤษดิ์ ธนะรัชต์/ประชาธิปไตยครึ่งใบในยุคเปรม ติณสูลานนท์ อย่างที่เราคุ้นเคยเท่านั้น แต่มีปัจจัยภายนอกมากำหนดอีกไม่น้อย
เช่นหากมองไปยังเครือซีพีหรืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย ความสามารถทางสังคมในการสร้างเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่การเปิดให้กลไกตลาดทำงานเต็มที่หรือการเข้าแทรกแซงตลาดโดยรัฐเท่านั้นที่จะนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจเอเชียตะวันออก
P.S. Publising
ผีเสื้อลัดวงจร
เขียนโดย สุพัตรา เกริกสกุล
ผีเสื้อลัดวงจรเป็นบทกวีกึ่งนิยายขนาดสั้นเกี่ยวกับความเศร้าที่หาสาเหตุไม่ได้ของหญิงสาวในโลกเสมือน ผู้ไม่เชื่อในความรักและความหวัง แต่ในความขมขื่นและความเจ็บปวดใต้โลกใบใหญ่ที่แบกเอาไว้ด้วยสองมือ เธอไขว่คว้าหาอิสรภาพด้วยการซ่อนตัวเองไว้ในกรงขัง คล้ายผีเสื้อที่บินร่อนอวดโฉม สยายปีกหยอกล้อมวลดอกไม้ เปิดการแสดงเริงระบำกลางอากาศเพื่อหลอกตัวเองว่าไม่เคยผ่านห้วงวงจรที่เจ็บปวดทุกข์ทรมานมาก่อน
ความทรงจำปะติดปะต่อกันผ่านความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวกับสิ่งของในปัจจุบัน สถานที่ในอดีต ผู้คนในอนาคต น้ำยาลบความผิด ราวตากผ้าสีน้ำตา ตึกระฟ้า บทสนทนากับพระเจ้า หนังสือเล่มนี้จะพาไปสำรวจสภาวะล่มสลายภายในตัวเอง การมองหาประกายความหวัง การปล่อยวางทุกการกักขัง หรือแค่สัมผัสความบันเทิงที่ผลิตจากการพังทลายก็ได้
ชั่วขณะหนึ่ง
เขียนโดย ภูภุช กนิษฐชาต
อีโก้นั้นทั้งแข็งแรงและเปราะบางพอๆ กับอำนาจขององคชาติในสังคมชายเป็นใหญ่และระบบชนชั้นในสังคม หนังสือเกี่ยวกับผู้ชายอีโก้สูงในโลกดิสโทเปียที่โรคซึมเศร้าระบาดเล่มนี้ประกอบสร้างด้วยความเชื่อปนข้อเท็จจริงที่ว่าความล้มเหลวหลายแง่ในสังคมที่ทุกคนกำลังเผชิญมีต้นตอสืบเนื่องมานาน เพียงอัดอั้นและเพิ่งมาระเบิดตัวให้คนที่ยังมองไม่เห็นได้มองเห็นชัดเจนในนามของโรคภัย ทั้งทุนนิยมกดขี่ ราชการล้มเหลว ความเหลื่อมล้ำ สุขภาพจิต และรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ “น่าเศร้าที่ประเทศนี้บีบให้คนเลือกจะก้มหน้ามากกว่าเงย”
เมษาลาตะวัน
เขียนโดย September’s Blue
เรื่องร้ายเกิดในวันอากาศดี เรื่องดีเกิดกลางฝนห่าใหญ่ การจากลาเกิดใต้ฟ้ากระจ่างใส ความทรงจำสร้างได้กลางพายุ
บันทึกของเมษาทิ้งหลักฐานไว้ว่าอย่างนั้น มันเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายสามคน ถูกนิยามและนิยามตัวเองเป็นสิ่งแปลกปลอมปะปนอยู่ในเมืองเล็กๆ เชื่อมโยงกันด้วยความรู้สึกของการเป็นคนนอกไม่ว่าในที่ไหน เมื่อไหร่ ไม่เป็นส่วนหนึ่งของอะไรทั้งสิ้น ความโหยหาการมีบ้านให้กลับ ความเป็นอื่นจากครอบครัว การตั้งคำถามกับการหลบหนีจากพ่อแม่หากพ่อแม่ไม่อนุญาต
ในโลกที่ไม่มีใครเติบโต เด็กน้อยจะล้อมวงหัวเราะ หยอกล้อ เที่ยวเล่นกันอย่างไม่รู้หน่าย แต่ความเป็นจริงฤดูกาลมักผ่านผันไปพร้อมกับชีวิตที่ไร้ปรานี มีเพียงความทรงจำที่จะกักขังทุกอย่างไว้ให้ท้องฟ้าแจ่มใส ฝนพรมชุ่มฉ่ำใจเสมอ นิยายเล่มนี้คือจดหมายรักแด่ทุกคำอธิษฐานของผู้ไม่เป็นที่รัก เราต่างผลัดกันปลอบประโลมอย่างโง่งม ไม่มีบ้าน ไม่เข้าพวก แปลกแยก – ใช่ เราเหมือนกัน
Broccoli book
Laziness Does Not Exist (ผ่อนชีวิต บิดขี้เกียจ)
เขียนโดย เดวอน พรินซ์ / แปลโดยพรรษรัตน์ พลสุวรรณา
เมื่อไรก็ตามที่เราเหนื่อยล้าหรือปฏิเสธใคร เรากลับมักโทษตัวเองว่าเราไม่พยายามมากพอ วลีเช่น ‘ต้องโปรดักทีฟนะ’ ‘ต้องได้เกียรตินิยมนะ’ ‘ขยันสิจะได้รวย’ ทำหน้าที่คล้ายยากล่อมประสาทให้เรายัดตารางงานจนแน่นขนัด พร้อมทั้งวัดคุณค่าของตัวเองจากจำนวนงานที่ทำเสร็จ หากจะมีสักวันที่เราอยาก ‘นอนโง่ๆ’ เรากลับรู้สึกผิดและมองว่าเราไม่ขยันเลยสักนิด แถมบางครั้งยังมองว่าคนที่ไม่เอาการเอางานและทำอะไรไม่สำเร็จสักทีเป็นคนขี้เกียจและล้มเหลวอีกต่างหาก
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกให้เอาชนะขีดจำกัด แต่จะเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงและรากฐานทางจิตวิทยาของ ‘ความขี้เกียจ’ รวมทั้งสาเหตุที่ทำไมเราถึงยังรู้สึกว่า ‘ฉันยังดีไม่พอ’ ทั้งที่ปัจจุบันคือยุคสมัยที่ผู้คนทำงานหนักมากเป็นประวัติการณ์ เพื่อให้คุณโอบรับความขี้เกียจและผ่อนชีวิตไปพร้อมกัน
Bibli/Be(ing)
บริการสุดท้ายแด่ผู้ตาย เก็บกวาดความแตกสลายของชีวิต
เขียนโดย คิมวัน / แปลโดยมินตรา อินทรารัตน์
หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านไปพบกับเรื่องราวของบุคคลต่างๆ ผ่านข้าวของที่ผู้เขียนและทีมงานต้องเก็บไปทิ้ง ตั้งแต่เรื่องของหญิงสาวที่เก็บขยะไว้จนล้นห้องและจบชีวิตตัวเองบนกองขยะนั้น และคู่สามีภรรยาที่ฆ่าตัวตายพร้อมกันบนเตียงในห้องที่สะสมของแต่งบ้านเกี่ยวกับความรัก
แม้หนังสือจะเล่าถึงความตายอย่างโจ่งแจ้ง ความรู้สึกที่ให้กลับไม่อาจพูดได้เต็มปากว่า ‘หดหู่’ เสียทีเดียว อาจเป็นเพราะนักเขียนกล่าวไว้ว่าชีวิตและความตายเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน เช่นนั้นแล้วการอ่านเกี่ยวกับความตายก็คือการอ่านเกี่ยวกับชีวิตด้วยเช่นกัน ผู้เขียนจึงเชื้อเชิญให้เราเข้าไปสัมผัสมันทั้งคู่จากมุมมองที่อ่อนโยนและความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะเข้าใจเจ้าของห้องผู้ล่วงลับทุกคนที่เขาได้มีโอกาสเข้าไปทำความสะอาดบ้านให้
บ้านวิกลคนประหลาด,
เขียนโดย อุเก็ตสึ / แปลโดยฉัตรขวัญ อดิศัย
จะเป็นอย่างไรเมื่อวลี ‘บ้านไม่ใช่เซฟโซน’ กลายเป็นหนังสือ? เมื่อนักเขียนอิสระผู้เชี่ยวชาญเรื่องลี้ลับ ได้รับคำไหว้วานให้ช่วยตรวจสอบความผิดปกติเล็กๆ จุดหนึ่งภายในบ้านที่กำลังประกาศขาย
บ้าน สถานที่ที่คนเราใช้ชีวิต เติบโต และควรจะปกป้องคุ้มครองเราจากทุกข์ภัยภายนอกเกิดความผิดปกติแม้เล็กน้อย บางครั้งมันอาจแปลได้ถึงความลับอันดำมืด บ้านที่ดูอบอุ่นแสนสุข ครอบครัวดูรักใคร่กลมเกลียว อาจมีเบื้องหลังที่คนนอกไม่อาจล่วงรู้ หลายครั้งเบื้องหลังที่ว่าคือความรุนแรงที่คนในครอบครัวกระทำต่อกัน และคงเป็นคำถามให้เรากลับมาทบทวนว่าในฐานะคนนอกและในฐานะมนุษย์ เมื่อมองเห็นความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ในความเป็นจริงแล้วเราจะช่วยเหลือกันอย่างไรได้บ้าง?
คู่มือฝึกฝนให้เป็นคนใจดี This book will make you kinder : An empathy handbook
เขียนโดย เฮนรี เจมส์ การ์เร็ตต์ / แปลโดย เพียงขวัญ ลักษณ์แสงวิไล
ความใจดีมีเมตตาของมนุษย์นั้นเกิดจากความเห็นอกเห็นใจ และความไม่รู้ (ignorance) บางประการที่เรามี คือสิ่งที่ไปปิดกั้นความเห็นอกเห็นใจไม่ให้ทำงานได้เต็มที่ เมื่อเรารู้เท่าทันความไม่รู้นั้นๆ แล้วฝึกฝนการรับฟังผู้อื่น เราทุกคนจะสามารถยกระดับความเห็นอกเห็นใจในตัวเองขึ้นได้ และเมื่อมีคนใจดีจำนวนมากขึ้น มันก็จะนำพาไปสู่สังคมที่ใจดีมีเมตตาต่อกันเป็นลำดับ นั่นคือความเชื่อของนักเขียน
ความเห็นอกเห็นใจคือส่วนสำคัญของสมการ มันสามารถเปลี่ยนสังคมที่เฉยชาหรือใจร้ายใส่กันในบางครั้งให้กลายเป็นพื้นที่น่าอยู่ขึ้น เราเองเชื่อมั่นในมนุษย์ว่าสังคมที่ปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับทุกคนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง
SALT
อาทาเดีย
เขียนโดย ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
อาทาเดียเป็นหนังสือที่แบ่งเป็น fiction และ non-fiction โดยส่วนแรกที่เป็นนิยายจะฉายภาพเมืองแห่งอนาคต ‘อาทาเดีย’ ที่ผู้เขียนจินตนาการไว้ว่าจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เมืองในปี 2053 ที่ทุกย่างก้าวของสมาชิกถูกจับตาจาก AI ที่ว่ากันว่าฉลาดเสียจนคนรุ่นใหม่ของเมืองไม่อาจจะทนได้อีกต่อไป ส่วนเนื้อหาครึ่งหลังที่เป็น non-fiction นั้นจะนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในนิยายมาขยายความ และวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ เพื่อให้เข้าใจว่าสังคมกับข้อมูลควรเดินคู่กันไปในทิศทางไหน และรู้เท่าทันข้อมูลเหล่านั้น
อายัดอำมหิต
เขียนโดย บิลล์ บราวเดอร์ (Bill Browder) / แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล
สำหรับใครที่สงสัยว่าทำไมคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลรัสเซียถึงจบชีวิตลงอย่างเป็นปริศนา หนังสือเล่มนี้จะทำให้รู้เบื้องหลังทั้งหมด
เรื่องราวของบิลล์ บราวเดอร์ นักลงทุนรายใหญ่ในรัสเซีย ที่กลายมาเป็น ‘ศัตรูหมายเลขหนึ่ง’ ของวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย โดยจุดเริ่มต้นคือบราวเดอร์และทีมงานเริ่มศึกษาและติดตามเงินภาษี 230 ล้านดอลลาร์ที่ถูกยักยอกไป โดยเงินก้อนดังกล่าวเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของแผนการขโมยและฟอกเงินนับแสนล้านดอลลาร์ของรัสเซีย และใครก็ตามที่มาขัดขวางแผนการนี้จะต้องถูกกำจัด
มนุษยกาญ่า
เขียนโดย สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
มนุษย์เรียกตัวเองว่า ‘โฮโม เซเปียนส์’ หรือที่แปลว่า ‘มนุษย์ฉลาด’ ผู้ที่ยิ่งพัฒนาไปมากเท่าไร เขายิ่งตัดขาดจาก ‘กาญ่า’ ที่หมายถึงแนวคิดทางนิเวศวิทยาที่มองว่าโลกทั้งใบเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวกันที่ประกอบไปด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ที่พึ่งพาอาศัยกันมากเท่านั้น หนังสือเล่มนี้ชวนกลับมาฟื้นสัมพันธ์กับสรรพชีวิตรอบตัว
ทุกวันนี้เราเผชิญกับสภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติต่างๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และหากเรายังมีความคิดว่ามนุษย์ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติแล้ว ปัญหานี้ก็อาจสายเกินแก้ หนังสือเล่มนี้จึงเสนอวิธีการฟื้นสัมพันธ์กับธรรมชาติ เพื่อให้เรารู้สึกว่าเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของกาญ่า เมื่อเรารับรู้และรู้สึก เราจะเริ่มรักและเข้าอกเข้าใจ และอยากดูแลรักษากาญ่าต่อไป
Library House
ชบาม่วง (Purple Hibiscus)
เขียนโดย ชิมามันดา อึนโกซี อะดิชี / แปลโดยจุฑามาศ แอนเนียน
ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นเห็นมุมมองของนักเขียนจากไนจีเรีย หนังสืออบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของอาหารพื้นบ้าน กลิ่นอายของวิถีชีวิตชุมชม เสน่ห์แรกเริ่มที่ดึงดูดคนอ่านให้อยากติดตามเรื่องราวจนคุณอาจอยากจัดกระเป๋าเดินทางเพื่อไปท่องเที่ยว และยิ่งเมื่อได้รู้จักชีวิตตัวละครอย่างคัมบิลี และจาจา สองพี่น้องอย่างลึกซึ้งในแต่ละหน้าแล้ว เราจะเห็นว่าชีวิตที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการปกครองทั้งจากรัฐและบิดาเคร่งศาสนานั้นสร้างความกดดัน ความกดดันที่ทำให้พวกเขาต้องเป็นไปตามความต้องการของคนที่มีอำนาจเหนือกว่า
แม้จะมีระยะทางห่างออกไป ประสบการณ์เหล่านั้นไม่ห่างเลย ชีวิตที่มีเงื่อนไขแบบนี้มีให้เห็นมากมายในโลก และที่ประเทศไทยเราเองด้วย อะดิชีร้อยเรียงฉากแห่งความรุนแรง ความอบอุ่นปลอดภัย ความสะเทือนใจ และความหวังไว้ด้วยกันด้วยพรสวรรค์ทางการเขียนของเธอจนเรายากที่จะปฏิเสธได้
เมื่อบรรดานางฟ้าพักผ่อน (When the Angels are Resting)
เขียนโดย มารีนา อารัมชตัม / แปลโดยณัฐชีวัน เมฆรัตนกุลพัฒน์
เราอาจคุ้นเคยนวนิยายรัสเซียจากงานระดับตำนาน คลาสสิก ที่เขียนโดยนักเขียนเบอร์ใหญ่ เปิดให้ตีความมากมาย และบ่อยครั้งข่มขื่น แต่ไม่ใช่หนังสือรัสเซียทุกเล่มต้องรสเหมือนว้อดก้าเสียหมด
เมื่อบรรดานางฟ้าพักผ่อนเป็นวรรณกรรมเยาวชนสดใส ว่าด้วยเรื่องการบ่มเพาะให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีแนวคิดว่าทุกคนมีนางฟ้าคอยปกปักรักษา ถ้าใครดื้อ สร้างปัญหา นางฟ้าก็จะทำงานหนัก แต่ถ้าพวกเขาทำตัวดี นางฟ้าจะได้พักหรือไม่ก็มีเวลาไปช่วยคนอื่น และเมื่อนางฟ้าได้ช่วยคนอื่น เท่ากับว่าเด็กทุกคนได้ช่วยคนอื่นและโลกนี้ไปด้วย
นวนิยายพร้อมภาพประกอบเล่มนี้น่าสนใจตรงที่สอดแทรกหลักคิดจิตวิทยาเด็ก ผ่านสายตาของผู้ใหญ่ในเรื่อง ทั้งคุณแม่ คุณตา คุณครู บุคคลสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้เด็กทุกคนเดินไปตามทางที่เหมาะสมถูกควร
วรรณกรรมโอสถน้อย (The Little Literary Pharmacy)
เขียนโดย เอเลนา โมลินี / แปลโดยอัมรา ผางน้ำคำ
ว่าด้วยชีวิตแสนห่อเหี่ยวและเกือบจะสิ้นหวังของหญิงสาวคนหนึ่งที่เบิร์นเอาต์ไปกับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่แล้วก็ฮึดก่อร่างสร้างถนนให้ตัวเองได้ใหม่ เธอกรุยทางเปิดร้านหนังสือเล็กๆ ที่มีแนวคิดว่าหนังสือทุกเล่มคือยา เช่นนั้นแล้วร้านหนังสือคือศาลาโอสถที่สามารถรักษาอาการทางใจให้แก่ผู้คนทั้งหลายได้ ขอเพียงค้นหาและเอาตำรับยาขนานต่างๆ ไปอ่าน หนังสือที่เหมาะกับอาการป่วยใจจะช่วยบรรเทาความหมองหม่นได้ และเหนืออื่นใด เจ้าของร้านหนังสือต้องสวมบทคนปรุงยา เพราะเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในศาลาโอสถเฉพาะทางแบบนี้
Salmon Book
คุณเคนต์และข้าพเจ้า MS. KENT & ME
เขียนโดย LADYS
ผลงานนวนิยายแซฟฟิค (Sapphic) โดย ลาดิด (LADYS) นักเขียนอิสระที่โดดเด่นเรื่องการใช้ภาษาและการเล่าเรื่องเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางกลับไปบ้านริมทะเลของคุณย่าผู้ล่วงลับ ตัวละคร ‘ข้าพเจ้า’ ต้องจัดการขายทรัพย์สินภายในบ้าน ในระหว่างเก็บของเขาพบกับไดอารี่ของคุณย่าที่เขียนถึง ‘คุณเคนต์’ โดยอธิบายแค่ว่าเธอคือหญิงหน้าตาสะสวย พิการ และเพี้ยน ‘ข้าพเจ้า’ จึงเริ่มสอดส่องตามหาเธอ ก่อนจะได้พบ ทำความรู้จัก และได้ออกตามหาพื้นที่ที่หัวใจใฝ่ฝันไปพร้อมๆ กัน
INSIGHT JOB สิ่งมีชีวิตคิดโฆษณา
เขียนโดย วิชัย
‘วิชัย’ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์และผู้ร่วมก่อตั้ง Salmon House เจ้าของผลงานหนังสือฮิตอย่าง ‘สิ่งมีชีวิตในโรงแรม’ กลับมาเขียนหนังสือเล่มใหม่ในรอบ 7 ปี โดยครั้งนี้เป็นการเล่าถึงไอเดียและเรื่องเล่าเบื้องหลังของงานโฆษณาฮิตและวิดีโอไวรัลที่ Salmon House ทำมาตลอด 8 ปี
ตั้งแต่การตีโจทย์บรีฟของลูกค้า ช่วงขบคิดหา ‘อินไซต์’ ที่จะทำให้โปรดักต์ของลูกค้าเข้าถึงคนดู รวมถึงขั้นตอนสุมหัวคิดบทโฆษณา ช่วงถ่ายทำ ไปจนถึงตัดต่อ และสำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานด้านนี้ก็ยังสนุกกับเรื่องเล่าของวิชัยได้ เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็น ‘ฮาวทู’ แต่เป็นการแชร์ที่มาที่ไป ว่ากว่าจะเป็นผลงานแต่ละชิ้นมันผ่านอะไรมาบ้าง ด้วยภาษามันๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา
CONVERSATION WITH FRIENDS แค่เพื่อนคุย
เขียนโดย แซลลี รูนีย์ (Sally Rooney) / แปลโดย นัทธมน เปรมสำราญ
นวนิยายที่เล่าผ่านความรู้สึกของ ‘ฟรานเซส’ นักศึกษาวัยยี่สิบเอ็ดผู้ทะเยอทะยานอยากเป็นนักเขียน วันหนึ่งถูก ‘เมลิสซา’ นักเขียนชื่อดังสัมภาษณ์ลงนิตยสารร่วมกับ ‘บ๊อบบี้’ เพื่อนสนิทและอดีตคนรัก ก่อนที่ทั้งคู่จะถูกชักชวนไปเยือนบ้านหรู และได้พบกับ ‘นิก’ นักแสดงหนุ่มหล่อสามีของเมลิสซา จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ซับซ้อนชวนปวดหัวของคนสี่คน
ผลงานเล่มนี้เป็นนวนิยายเรื่องแรกของ ‘แซลลี รูนีย์’ (Sally Rooney) ที่ทำให้เธอถูกจับตามองในแวดวงหนังสือต่างประเทศ ก่อนจะมีผลงานชื่อดังในลำดับถัดมาอย่าง ‘Normal People’ ซึ่งเรานำมาแปลไทยไปแล้วก่อนหน้านี้ในชื่อ ‘ปกติคือไม่รัก’ โดยทั้งสองเรื่องยังถูกนำไปทำเป็นซีรีส์อีกด้วย
DREAMOCRACY ประชาธิปไตยไม่ใช่ฝัน
เขียนโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ
รวมบทความ ถ้อยคำบนเวที และคำแถลงในสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วยคำถาม มุมมอง ความเห็นถึงประเด็นต่างๆ ในสังคม และการบริหารประเทศ ตั้งแต่การจัดสรรงบประมาณ การกระจายอำนาจ แผนเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ไปจนกติกาการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยที่ดีไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน
ผลงานหนังสือเล่มที่ 2 ต่อจาก ‘WHY SO DEMOCRACY ประชาธิปไตยมีดีอะไร’ ของพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล ผู้อยากเห็นประเทศไทยก้าวไกลไปข้างหน้า ความต่างจากเล่มก่อนคือประเด็นที่เข้มข้น เน้นไปที่การนำหลักการและกลไกประชาธิปไตยมาแปรรูปให้เป็นนโยบายที่จะทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน
UNTITLED CASE: PIECE / MAKER คน / สับ / สิ่งของ
เขียนโดย ยชญ์ บรรพพงศ์ และธัญวัฒน์ อิพภูดม
ผลงานเล่มที่ 2 จากคู่หูนักเล่าเรื่องลี้ลับสยองขวัญ โฮสต์พอดแคสต์รายการ ‘Untitled Case’ โดยเล่มนี้มาในธีมที่ชื่อว่า ‘คน / สับ / สิ่งของ’ ประกอบไปด้วย 20 เรื่องเล่าจากสิ่งของรอบตัว 10 ชิ้นที่จะทำให้เรามองภาพของพวกมันเปลี่ยนไป ตั้งแต่หน้ากากที่ใช้เพื่อรำลึกถึงคนรักที่จากไป กระเป๋าเดินทางลึกลับกลางทะเลที่มีชิ้นส่วนมนุษย์ ภาพถ่ายและวิดีโอบันทึกความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อกัน หรือส้วมในฐานะของสถานที่เกิดเหตุคดีลี้ลับ
มติชน
ข้างขึ้นข้างแรม
เขียนโดย ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ
รวมบทกวีวิพากษ์การเมืองและวิจารณ์สังคมวัฒนธรรมของสองกุมารสยาม โดยรวบรวมผลงานที่แต่งระหว่างต้นปี 2559 ถึงกลางปี 2565 นอกจากจะเป็นเหมือนบันทึกมุมมอง แง่คิด และความเห็นของทั้งคู่ผ่านห้วงเวลา โคลงของขรรค์ชัย บุนปาน และกลอนของสุจิตต์ วงษ์เทศ ยังเผยให้เห็นทั้งมุมมืดและด้านสว่าง พร้อมทั้งให้ความรื่นรมย์และเปี่ยมอรรถรสทางวรรณศิลป์ด้วย
MORE เปิดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหมื่นปี
เขียนโดย ฟิลิป ค็อกแกน / แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ
รอบตัวเราล้วนเต็มไปด้วยสิ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ระบบการเงิน ตลอดจนการคมนาคมขนส่ง
แม้แต่สิ่งพื้นฐานที่สุดในชีวิตประจำวันอย่างยาสีฟัน ที่เราอาจมองเห็นเพียงส่วนประกอบพื้นฐาน ตัวยา ฝา หลอด กล่อง แต่จะมีสักกี่คนที่เห็นลึกไปถึงกระบวนการขุดค้นวัตถุดิบ สายพานการผลิต ตลอดจนการขนส่งมาสู่พ่อค้าคนกลาง ก่อนจะถูกจับจ่ายซื้อขายจนมาอยู่ในห้องน้ำที่บ้านของเรา ใครจะเชื่อว่ากระบวนการเหล่านี้ผ่านมือคนนับพัน และผ่านวิวัฒนาการมานับหมื่นปี ฟิลิป ค็อกแกน คอลัมนิสต์จาก The Economist พาเราสืบย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของมวลมนุษยชาติ ในหนังสือเล่มนี้ ลัดเลาะไปตามเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้เราก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์
เทพเจ้าจีน ในกรุงเทพฯ
เขียนโดย ผศ. ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช
ใครจะรู้ว่าศาลเจ้าที่เคยไปขอพรตอนเด็กๆ (หรือตอนนี้) ล้วนมีประวัติความเป็นมาและเบื้องหลังความเชื่อสัมพันธ์กับคนจีนหลากหลายกลุ่มภาษา ตั้งแต่ แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน แคะ ไหหลำ กวางตุ้ง ซึ่งผศ. ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช อธิบายความสัมพันธ์ต่างๆ นี้ ผ่านประวัติเทพเจ้าที่ประดิษฐานในศาล เรื่องรูปแบบเครื่องแต่งกายของเทพเจ้า และเล่าเรื่องความเชื่อผ่านรูปแบบศิลปกรรมผ่านประติมากรรมเทพเจ้าในศาลต่างๆ
ซึ่งอีกหนึ่งความสนุกคือเมื่ออ่านแล้วจะพบว่านอกจากเทพเจ้าจะมาจากความเชื่อจีนแล้ว เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ บางองค์ที่แท้เป็นลูกผสมไทย-จีน ที่หยิบผสมจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ หาที่จีนไม่เจอ
รัฐสยดสยอง
เขียนโดย ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์
ภาวะความศิวิไลซ์ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 มักจะถูกนำเสนอด้วยมุมมองด้านสว่างและดีงามเป็นหลัก ทว่าด้านที่มืดมิดและปิดลับกลับไม่ค่อยถูกพูดถึงสักเท่าไร ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะเปิดเผยกลไกของ ‘ระบอบความสยดสยอง’ ที่รัฐสยามสร้างขึ้นมาควบคุมราษฎรให้อยู่ใต้อาณัติ ผู้อ่านจะได้เห็นบทบาทของเหล่าผู้จัดการความสยดสยองที่ทำหน้าที่เก็บกวาดซากศพ ของโสโครก โรคระบาด และปกปิดการลงทัณฑ์ที่รุนแรงมิให้ปรากฏสู่สายตาสาธารณชน
ย้อนรอยโฮ่ง ตามรอยเหมียว
เรียบเรียงโดย Hu Chuan-an / แปลโดย อารยา เทพสถิตย์ศิลป์
หนังสือเล่มนี้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเกาะไต้หวัน พร้อมพาเรานั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปสำรวจเรื่องราวระหว่างแมว หมา และมนุษย์ในประวัติศาสตร์ฉบับย่อยง่ายและเป็นกันเอง
เริ่มตั้งแต่อารยธรรมโบราณจนถึงทุกวันนี้ หนังสือเล่มนี้จะแสดงให้เห็นว่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แมวและหมานอกจากมีบทบาทเป็นผู้เยียวยาจิตใจ เป็นมิตรสหายแล้ว ยังเป็นเทพเจ้าสำหรับเคารพบูชาด้วย และอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เห็นว่าเราเองก็เป็นผู้เปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของแมวและหมาให้มาอยู่เคียงข้างในอารยธรรมมนุษย์เช่นกัน
Bookscape
องค์กรไม่กลัว: สร้างองค์กรที่เปี่ยมประสิทธิภาพ สร้างสรรค์ และมีความเป็นมนุษย์ ด้วยแนวคิด “ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา”
เขียนโดย เอมี ซี. เอ็ดมอนด์สัน / แปลโดยทิพย์นภา หวนสุริยา
ในศตวรรษที่ 21 ไม่มีองค์กรไหนจะอยู่ได้ด้วยวัฒนธรรมความกลัว
คุณทำงานด้วยความกลัวอยู่หรือเปล่า? กลัวผิดพลาด? กลัวเสนอไอเดียไม่เข้าท่า? ไม่กล้าออกความเห็นที่ประชุม? ไม่กล้าทักท้วงหัวหน้าเพราะกลัวโดนเพ่งเล็ง? ถ้าคุณหรือองค์กรของคุณมีภาวะแบบนี้ ถึงเวลาปฏิวัติความกลัวด้วย ‘ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา’!
องค์กรต่างๆ มักมุ่งโฟกัสที่ความสำเร็จและประสิทธิภาพการทำงาน แต่เอมี ซี. เอ็ดมอนด์สัน ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยธุรกิจฮาร์วาร์ด สะกิดเราว่ามีปัจจัยหนึ่งที่หลายคนมองข้าม นั่นคือ การสร้าง ‘ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา’ ในองค์กร เพื่อให้ทุกคนกล้าแลกเปลี่ยนความเห็น คิดนอกกรอบ มีเสรีภาพที่จะทดลองและไม่กลัวที่จะล้มเหลวหรืออับอาย โดยมีตัวอย่างจากองค์กรต่างๆ ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวจากปัจจัยนี้ เช่น พิกซาร์ นาซา กูเกิลเอ็กซ์ โฟล์คสวาเกน ฯลฯ
นี่แหละทรราชย์ Graphic Edition: 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20
เขียนโดย ทิโมธี สไนเดอร์ / ภาพประกอบโดย นอรา ครุก / แปลโดย สายพิณ ศุพุทธมงคล แปล
ทรราชย์คืออะไร? และเราเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ว่าด้วยทรราชย์ได้บ้าง?
หนังสือเล่มนี้ชวนวิเคราะห์บทเรียนจากประเทศที่เคยถูกปกครองด้วยระบอบทรราชย์ตลอดศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่การขึ้นสู่อำนาจ การใช้อำนาจ และผลสืบเนื่องที่คุกคามทั้งสิทธิเสรีภาพและชีวิตของเรา พร้อมแนะวิธีต่อสู้ไม่ให้ประชาธิปไตยถูกบ่อนทำลายกลายเป็นทรราชย์
ทิโมธี สไนเดอร์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล พาเราท่องกาลเวลาย้อนไปสมัยนาซีเยอรมนี ยุโรปตะวันออก โซเวียต ฟาสซิสต์ คอมมิวนิสต์ มาจนถึงเหตุการณ์ร่วมสมัยอย่างกรณีของทรัมป์และปูติน
เป็นเรื่องปกติที่เวลาอ่านหนังสือแล้ว ความคิดความรู้สึกของเราจะกระโดดข้ามไปมาระหว่างเนื้อหาในหนังสือกับประสบการณ์ภายในตัวเรา หนังสือเล่มนี้พาเราอ่านประวัติศาสตร์โลก แล้วประวัติศาสตร์โลกก็พาเราเดินทางกลับมาที่ประวัติศาสตร์ของประเทศเราและตัวเราเอง พร้อมด้วยความหวังว่าจะไม่เกิดเรื่องซ้ำรอยแบบในหนังสือ
หรือหากเกิดไปแล้ว ก็หวังว่าเราจะสร้างอนาคตใหม่ที่ไม่ซ้ำรอยอดีตและปัจจุบัน
คณิตคิดพลาด: รวมเรื่องวายป่วงในวันที่คณิตศาสตร์รู้พลั้ง
เขียนโดย แมท พาร์กเกอร์ / แปลโดย สกุลรัตน์ บวรสันติสุทธิ์
“เราเรียนคณิตศาสตร์ไปทำไม?” เชื่อว่าเราทุกคนเคยถามคำถามนี้ แมท พาร์กเกอร์ นักคณิตศาสตร์ผู้ผันตัวมาเป็นนักเดี่ยวไมโครโฟน พาเราไปสำรวจโลกของตัวเลขที่ซ่อนอยู่รอบตัว และหาคำตอบว่าคณิตศาสตร์สำคัญอย่างไร ผ่านตัวอย่างสุดวายป่วงที่ล้วนเริ่มต้นมาจากข้อผิดพลาดทางคณิตศาสตร์เล็กจ้อย
ความผิดพลาดทางคณิตศาสตร์เกิดได้ทุกที่และมีตัวอย่างสนุกๆ อยู่มากมายในประวัติศาสตร์ กระทั่งในที่ที่ไม่น่าจะพลาดที่สุดอย่างองค์การนาซา วันร้ายคืนร้ายก็เกิดแปลงหน่วยผิดขึ้นมาจนทำให้ยานอวกาศพุ่งชนดาวอังคาร ทีมชาติรัสเซียเคยไปแข่งโอลิมปิกไม่ทันเพราะดันคำนวณปฏิทินไม่เหมือนชาวบ้าน และพนักงานบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งดัน ‘นิ้วอ้วน’ กรอกข้อมูลเข้าระบบจนทำให้บริษัทขายหุ้น 610,000 หุ้นไปในราคาเพียงหนึ่งเยน!
ถ้ารักคณิตศาสตร์ รับรองว่าจะต้องหลงรักเรื่องราวเนิร์ดๆ ในเล่มนี้ ส่วนคนที่ไม่อินเลิฟกับเลขเท่าไร อ่านแล้วจะได้เข้าใจความสำคัญของคณิตศาสตร์ต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น และอาจมองเห็นคณิตศาสตร์น่ารักหรืออย่างน้อยก็น่าขันขึ้นอีกสักนิด