มีลิสต์หนังสือในใจจะไปซื้อกันในงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้กันแล้วรึยัง?
ถ้ายัง The MATTER ไปชวนบรรณาธิการจาก 7 สำนักพิมพ์ 7 รสชาติให้มาร่วมกันป้ายยาหนังสือของสำนักพิมพ์ตัวเองกันมา ไม่ว่าจะเรื่องแต่งหรือเรื่องจริง จะนักเขียนไทยหรือหนังสือแปล รับรองว่าไม่ว่าจะเอาไปอ่าน เอาไปสะสม หรือเอาไว้ก่อนก็ต้องเข้าตาสักเล่มแน่นอน!
Salmon Books
ยอดคนเงินเหลือ (CHECK YOUR BALANCE)
เขียนโดย ลงทุนศาสตร์
เพราะแซลมอนไม่เคยทำหนังสือเรื่องเงินๆ ทองๆ มาก่อน จึงได้ชวน ‘ลงทุนศาสตร์’ เจ้าของหนังสือ ‘Money Lecture ลงทุนครั้งเดียวใช้ได้ทั้งชีวิต’ และ ‘Stock Lecture ลงทุนหุ้นได้ในเล่มเดียว’ มาแบ่งปันความรู้ขั้นพื้นฐานที่สุด คือการเช็คพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองในด้านต่างๆ ทั้งการเก็บออม การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การจัดการความเสี่ยง การลงทุน พร้อมคำแนะนำง่ายๆ ว่าเช็คแล้วต้องทำอย่างไรต่อถึงจะมีเงินเหลือใช้ เหมาะกับคนที่ไม่เคยวางแผนการเงินมาก่อน อ่านจบแล้วเหมาะนำไปปรับใช้ให้บาลานซ์กับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง
ไม่ใช่มนุษย์ และตัวตนอื่นๆ (DIVINE BEING)
เขียนโดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
รวมเรื่องสั้นไซไฟ-แฟนตาซีที่มีคอนเซ็ปต์เล่นล้อกับความเปลี่ยนแปลงของ ‘ช่วงเวลา’ และ ‘ตัวตน’ เช่น ผู้คนในเมืองที่แรกเกิดเป็นเพศหญิง แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งจะกลายเป็นชาย กลุ่มคนที่ย้อนเวลาไปเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง บันทึกการพูดคุยกับนักเดินทางทางเวลา เขียนโดย ‘จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท’ เจ้าของผลงาน ‘สิงโตนอกคอก’ ที่ได้ซีไรต์ประเภทเรื่องสั้นเมื่อปี 2560 เชื่อมือได้เลยว่าอ่านแล้วสนุก แม้จะเป็นเรื่องสั้นที่มีขนาดยาวสักหน่อย แต่ทั้งพลอตเรื่องและภาษาเชื่อว่าถ้าได้อ่านแล้วจะวางไม่ลง
เรื่องจริงหวังแต่ง (LOVEZINE )
เขียนโดย นภษร และ เฟื่องฟู
หนังสือคอนเซ็ปต์ที่เล่าเรื่องความรักความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นทีละนิดของคู่รัก ‘นภษร’ หรือเพจ ‘น้องนอนในห้องลองเสื้อ’ กับ ‘เฟื่องฟู’ เจ้าของโรงคั่วกาแฟ Hands and Heart และหุ้นส่วนร้านกาแฟ Pridi แม้จะดูเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เพราะทั้งคู่คัดสรรบางโมเมนต์ที่พิเศษราวกับภาพยนตร์รักสักเรื่อง ถ่ายทอดออกมาด้วยการเล่าแบบเรื่องแต่ง ทำให้คนอ่านอินและร่วมลุ้นไปกับความรักครั้งนี้เหมือนเวลาเชียร์นางเอกกับพระเอกในซีรีส์เกาหลี จนอาจคิดอยากบันทึกช่วงเวลาดีๆ กับคนรักแบบนี้บ้าง
THE FLATSHARE ที่พักใจกลางคุณ
เขียนโดย เบธ โอ’เลียรี
เรื่องราวของหญิงสาวอยากหาห้องพักราคาถูก กับชายหนุ่มที่ทำงานกะดึก แล้วอยากปล่อยห้องเช่าในช่วงกลางวันเพื่อหาเงินเพิ่ม ทำให้ทั้งคู่ต้องพักห้องเดียวกัน นอนเตียงเดียวกัน แต่ไม่เคยเจอกันเลย ได้ทำความรู้จักกันผ่านอาหารที่แบ่งกันกิน และพูดคุยผ่านโพสต์อิตที่เขียนข้อความถึงกัน เป็นนวนิยายขายดีที่แปลไปแล้ว 26 ภาษา ถูกนำไปทำเป็นซีรีส์ ซึ่งมากไปกว่าความป๊อปและพล็อตแบบหนังรอมคอม ก็ยังมีการสอดแทรกประเด็นร่วมสมัยทางสังคมไว้อีกด้วย
กองฯ งาน / พื้นฐาน / อาชีพ (SAL-ARYMAN)
เขียนโดย ปฏิกาล ภาคกาย
บันทึกประสบการณ์การทำงานในกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์แซลมอนกว่า 12 ปี ตั้งแต่วันแรกที่เข้าวงการแบบจับต้นชนปลายไม่ถูก ค่อยๆ เรียนรู้กระบวนการทำหนังสือ จนก้าวขึ้นมาเป็นบรรณาธิการบริหาร คิดว่าเล่มนี้น่าจะเหมาะกับคนที่เป็นแฟนคลับสำนักพิมพ์ เพราะเล่มนี้ก็เหมือนเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของแซลมอน มีทั้งการเล่าที่มาที่ไปของหนังสือหลายเล่ม นักเขียนหลายคน และเหมาะสำหรับคนที่อยากเห็นว่ากว่าจะเป็นหนังสือแต่ละเล่ม (ของแซลมอน) ต้องผ่านอะไรมาบ้าง
AVOCADO books
ทัวร์คนบาปกับคำสาปฟาโรห์
เขียนโดย บุญมนัสสวัสดี ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา
บันทึกการเดินทางของคณะทัวร์ชาวไทย 22 ชีวิตที่ไปผจญชะตากรรมร่วมกันที่ประเทศอียิปต์ จนทำให้การเดินทางครั้งนี้ฮือฮาทั่วโลกทวิตเตอร์จากการที่แฮชแท็ก #อียิปต์อีสัส ติดเทรนด์ต่อเนื่องหลายวัน ครั้งนี้กลับมาอีกครั้งในรูปแบบหนังสือเล่มที่เล่าทุกรายละเอียด ทุกเหตุการณ์ แถมยังเพิ่มเกร็ดประวัติศาสตร์และอารยธรรมอียิปต์ให้อีกด้วย ใครคิดถึงอียิปต์ หรืออยากลองไปสัมผัสประเทศอียิปต์ อย่าพลาด!
Walking on the sun ทุก ๆ วันบนดวงอาทิตย์
เขียนโดย ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ
บันทึกประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น 2 ปี ของอดีตช่างภาพชาวไทยที่ลาออกจากงานประจำไปเรียนภาษาญี่ปุ่น ทั้งเรื่องเล่าสุดเรื้อนเกี่ยวกับเพื่อนนักเรียนนานาชาติ เพื่อนร่วมหอ อ่านสนุกอย่างกับเราอยู่ในห้องเรียนด้วย แถมยังมีเรื่องเล่าจากการปั่นจักรยานผจญภัยหลายเมืองในญี่ปุ่นเพื่อถ่ายภาพประกอบนิตยสารดังอีกด้วย หนังสือเล่มนี้เคยพิมพ์แล้ว 4 ครั้ง เมื่อหลายปีก่อน ครั้งนี้กลับมาพิมพ์ใหม่พร้อมภาพประกอบใหม่ทั้งเล่ม แฟนๆ ตอง—ชนพัฒน์ พลาดไม่ได้เป็นอันขาด
Talking to the moon ขอสาบสูญใต้เงาจันทร์
เขียนโดย ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ
รวมเรื่องสั้น 8 เรื่องที่อ่านง่าย เข้าใจไม่ยาก แต่อาจจะทำร้ายจิตใจเราได้เหมือนกัน แต่ละเรื่องดัดแปลงจากประสบการณ์ของชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ ผู้เขียน “Walking on the sun ทุกๆ วันบนดวงอาทิตย์” ที่ได้พบได้สัมผัสขณะใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ทั้งหมดเป็นเรื่องราวของคนธรรมดาที่ผสมเข้ากับทั้งวิทยาศาสตร์ เรื่องลี้ลับ และการดำเนินชีวิต ความคิด การกระทำที่เรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยความรู้สึกลึกๆ ที่ลึกจนยากจะคาดเดาตอนจบ
Drag Queen และซูเปอร์ฮีโร่คนอื่น ๆ
เขียนโดย ณพรรธน์
รวมเรื่องสั้น 8 เรื่อง แนววิทยาศาสตร์-แฟนตาซี ที่ขนกันมาตั้งแต่ซูเปอร์ฮีโร่ มนุษย์กลายพันธุ์ วาฬบินได้ ฯลฯ รับรองเลยว่าอ่านแล้วจะได้เปิดโลก เปิดจินตนาการ และเปิดใจให้ได้ตั้งคำถามกับทุกเรื่องรอบตัวที่เกิดขึ้นทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก ผ่านการเล่าเรื่องหลายกลวิธีที่ทำให้รู้สึกว้าวไปจนจบเล่ม นอกจากนั้นรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ยังเต็มเปี่ยมด้วยประเด็นที่ทำให้เข้าใจความหลากหลายและความเท่าเทียมในสังคมมากขึ้นอีกด้วย
มติชน
ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ฉบับปรับปรุงใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ 14)
เขียนโดย คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร
ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพียงบทบันทึกถึงเหตุการณ์ที่ล่วงไป ภายใต้อดีตและความทรงจำ ‘แห่งชาติ’ อันเป็นหนึ่งเดียว แท้จริงแล้วเต็มไปด้วยรอยปริแยกและความไม่ลงรอย ทั้งซับซ้อนและสอดประสาน
ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 14 (ปรับปรุงใหม่) โดยคริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร ฉายภาพกระแสความเปลี่ยนแปลงหลากมิติที่ค่อยๆ ก่อรูปนับตั้งแต่ยุคก่อนกรุงเทพฯ สู่ ‘รัฐชาติ’ และสังคมไทยร่วมสมัยทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองรวมถึงวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เราเข้าใจความเป็นรัฐชาติอันหนึ่งอันเดียวซึ่งไม่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวอย่างแท้จริงได้อย่างชัดเจนลุ่มลึกยิ่งขึ้น
โดยฉบับนี้คือการปรับปรุงเนื้อหาใหม่ตลอดเล่มให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นและต่อจุดของเรื่องราวเพื่อฉายภาพการเมืองไทยร่วมสมัยมาจนถึงปี 2564 อันเป็นห้วงเวลาที่สังคมไทยและสังคมโลกเผชิญหน้าความเปลี่ยนแปลงพลิกผันครั้งใหญ่
ทาสไท(ย): อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ
เขียนโดย ญาณินี ไพทยวัฒน์
ความรับรู้เรื่องการเลิกทาสในสังคมไทยมักถูกอธิบายในฐานะสัญลักษณ์แห่งความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง เหล่าราษฎรทั้งหลายรอดพ้นจากการกดขี่ของนายทาสและเป็นไทแก่ตัวได้ ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระปิยมหาราช คำอธิบายเช่นนี้คงมิอาจทรงพลังได้ หากปราศจากการผลิตซ้ำนานนับศตวรรษตั้งแต่หลังการเลิกทาสในปี 2448 เป็นต้นมา
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มุ่งสืบค้นเรื่องราวในอดีตอันยาวนานของทาสไทย กลับกันสิ่งที่ผู้อ่านจะได้เจอคือ การฉายภาพ ‘วาทกรรมทาสไทย’ ในสื่อต่างๆ ที่แทบจะทั้งหมดต่างเดินตามรอยรัฐและชนชั้นนำอย่างไม่แตกแถว เมื่อนึกถึงทาส ก็ย่อมนึกถึงคนเลิกทาส กลายเป็นภาพจำที่ยากจะแยกออกจากกัน
แด่ทุกต้นกล้าความฝัน: ประวัติศาสตร์ กรณีศึกษา และเส้นทางการต่อสู้สู่รัฐสวัสดิการ
เขียนโดย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
เราล้วนอยากมีชีวิตที่ดี มีสังคมที่ทุกคนสามารถยืนหยัดอย่างเป็นสุขและสมศักดิ์ศรีกันถ้วนหน้า แต่ทำไมความปรารถนาเหล่านั้นกลับถูกมองเป็นเพียงความฝันอันเลื่อนลอยหรือห่างไกล แม้กระทั่งในสายตาของเราเอง?
สำรวจเบื้องหลังเส้นทาง ปัญหา และหัวใจของแนวคิดรัฐสวัสดิการผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์และประสบการณ์ของแต่ละพื้นที่ ทั้งจากกลุ่มประเทศนอร์ดิก กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก รวมถึงประเทศไทย เพื่อยืนยันความจริงที่ว่าจะเป็นที่ไหนหรือเมื่อใด สังคมที่คนเท่ากันย่อมเป็นไปได้ และชีวิตที่ทุกคนสุขเสมอหน้าไม่ใช่เพียงนิยายยูโทเปีย
The Last Mughal – เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง
เขียนโดย William Dalrymple / สุภัตรา ภูมิประภาส แปล
“…ฤดูหนาวเมืองร่างกุ้ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1862 หลังหมดมรสุมไม่นาน ร่างหนึ่งซึ่งห่อหุ้มไว้ด้วยผ้าห่อศพถูกทหารอังกฤษกลุ่มเล็กๆ นำมายังหลุมศพไร้นามด้านหลังของกำแพงปิดล้อมคุกแห่งหนึ่ง…”
ร่างที่ถูกฝังกลบในหลุมฝังศพไร้นามที่ซุกซ่อนอยู่ด้านหลังกำแพงปิดล้อมคุกนั้นคือจักรพรรดิบะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ผู้ได้กลายเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โมกุลในยุคสมัยที่อังกฤษรุกคืบ ลงมือฝังกลบชีวิตไปพร้อมกับเรื่องราวของพระองค์ ศาสนสถานถูกทำลาย ผู้คนถูกฆ่า กวีถูกเผา ปกปิดร่องรอยความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโมกุลที่ดำรงอยู่มานานกว่า 300 ปี
หากแต่ในกาลต่อมายังมีเอกสาร บทกวี บันทึก และจดหมายของทั้งชาวอินเดียและชาวอังกฤษ บางส่วนที่เหลือรอดซึ่งฉายให้เห็นสิ่งที่สูญหายไปในอีกหลากมุม โดยเฉพาะเอกสารการก่อกบฏว่าด้วยเดลีในปี 1857 ซึ่งถูกค้นพบโดยวิลเลียม ดัลริมเพิล (William Dalrymple) ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแหวกม่านกาลเวลา พาเราสวมกูรตะเข้าไปสำรวจความตึงเครียดในราชสำนักจักรวรรดิโมกุลอย่างที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนและไม่เคยถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มใด
เทวา มนตรา คาถา เกจิ: ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน(ไทย)นิยม (Capitalism Magic Thailand: Modernity with Enchantment)
เขียนโดย Peter A. Jackson / วิราวรรณ นฤปิติ แปล
โอม จงรวย ขอให้เงินทองไหลมาเทมา ทำมาค้าขึ้น…
ในโลกสมัยใหม่ที่ไสยศาสตร์ถูกมองว่าเป็นความงมงายและล้าหลัง ทว่าการเช่าพระเครื่องเพื่อเสริมโชคลาภบารมี การกราบไหว้ขอเงินขอทอง การทรงเจ้าเข้าผี การนับถือเกจิอาจารย์ และอีกสารพัดพิธีกรรมกลับเฟื่องฟูขึ้นในประเทศไทย สวนทางกับยุคแห่งเทคโนโลยีและความก้าวหน้า
ชวนผู้อ่านมองผ่านม่านหมอกควันธูป สำรวจความเชื่อและการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลากหลายรูปแบบท่ามกลางกระแสประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจรุ่งเรืองถึงขีดสุดในทศวรรษ 2520-2530 ไปจนถึงช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 การเกิดขึ้นของทุน(ไทย)นิยมอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งช่วยคลี่ขยายความมูเตลูให้รุ่งเรืองเฟื่องฟูในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
Bibli/Be(ing)
ชายมหัศจรรย์ผู้ทำให้โลกรู้จักจิบลิ
ผู้เขียน สตีฟ อัลเพิร์ต / ผู้แปล เพียงขวัญ ลักษณ์แสงวิไล
คงมีน้อยคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อสตูดิโอจิบลิ สตูดิโอผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันสัญชาติญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทว่าอาจมีไม่กี่คนที่ทราบว่า มีชายชาวอเมริกันคนหนึ่งเป็นโต้โผในการทำให้ภาพยนตร์ของจิบลิออกมาโลดแล่นนอกประเทศญี่ปุ่นและมีแฟนคลับอยู่ทั่วทุกมุมโลกอย่างทุกวันนี้ ใครคนนั้นก็คือ สตีฟ อัลเพิร์ต (Steve Alpert) ผู้บริหารระดับสูงของสตูดิโอจิบลิ มีบทบาทสำคัญในช่วงที่ภาพยนตร์จิบลิเริ่มขายลิขสิทธิ์ในต่างแดน
หนังสือ “ชายมหัศจรรย์ผู้ทำให้โลกรู้จักจิบลิ” จะว่าเป็นอัตชีวประวัติแนวธุรกิจก็ใช่ จะว่าเป็นเรื่องเล่าที่สนุกสนาน แทรกมุกตลกก็ใช่ และอีกด้านสำคัญคือ การอธิบายถึงวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่นอย่างถึงพริกถึงขิง ผ่านมุมมองของคนต่างชาติที่ต้องปรับตัว รับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าต่างๆ
สตีฟจะพาผู้อ่านร่วมทริปท่องไปในโลกการทำงานของจิบลิ อยู่กับเขาในขณะที่เขาแบกม้วนฟิล์มภาพยนตร์ขนาดใหญ่ขึ้นเครื่องบินไปแคลิฟอร์เนีย นั่งข้างๆ เขาในตอนที่โดน ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) ตะโกนใส่รับมือกับเหล่านักการตลาดของดิสนีย์ และร่วมในงานประกาศรางวัลออสการ์ที่ภาพยนตร์เรื่อง Spirited Away คว้ามาได้
อย่าบอกให้สู้อีกได้ไหม เพราะฉันอาจไม่มีวันหายดี
ผู้เขียน จางหมิ่นจู้ / ผู้แปล สุภาพิศ โชติธรรมวัฒนา
ถึงจะไม่หายดีก็ไม่เห็นเป็นไร แค่ขอมีชีวิตต่อไปในแบบที่ตัวฉันเป็น
หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคซึมเศร้าตั้งแต่ช่วงมัธยมปลายและพยายามต่อสู้กับโรคอยู่นานหลายปีแต่อาการกลับไม่ดีขึ้น จางหมิ่นจู้ ตัดสินใจศึกษาต่อด้านจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ตนเป็น ควบคู่ไปกับการรักษาในโรงพยาบาลและบำบัดตัวเอง
หนังสือเล่มนี้ต่างไปจากหนังสือที่พูดถึงโรคซึมเศร้าเล่มอื่นๆ ตรงที่ผู้เขียนนำประสบการณ์ตรงของตัวเองในฐานะผู้ป่วยมาหลอมรวมเข้ากับทฤษฎีและความรู้ทางจิตวิทยา เพื่อให้ตนเองและผู้อื่นนำความรู้มาใช้รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต พร้อมคำแนะนำที่ช่วยให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเองอย่างเป็นระบบ และได้รู้จักแง่มุมต่างๆ ของโรคซึมเศร้ามากขึ้น เพื่อให้คนที่เผชิญหน้ากับโรคนี้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุขอีกครั้ง
เพราะการรักษามักต้องใช้เวลานาน และเมื่อเริ่มดีขึ้นก็อาจมีบางอย่างกระตุ้นให้อาการกลับมากำเริบได้อีก จุดเริ่มต้นของการแก้ปมที่ยุ่งเหยิงคือการลอง ‘ทำความเข้าใจ’ เสียก่อน ทั้งการทําความเข้าใจตัวเองที่กำลังทนทุกข์ รวมไปถึงคนรอบตัวที่อาจจะกำลังเผชิญสถานการณ์ไม่ต่างกัน
บ้านพักใจโอบไออุ่นทะเล
ผู้เขียน โมริซาวะ อากิโอะ / ผู้แปล ฉัตรขวัญ อดิศัย
…ชีวิตมีจังหวะที่เหมาะสมของมันเสมอ สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ลืมว่า ตัวตนของเรามีคุณค่าโดยไม่ต้องรอให้ใครมาตัดสิน
ในช่วงเวลาที่หัวใจกำลังสับสนอย่างหนัก หลังจากสูญเสียทั้งงาน เงิน และคนรัก เอมิริ หญิงสาววัย 25 ก็ตัดสินใจหนี พร้อมหอบหิ้วหัวใจอันบอบช้ำมุ่งสู่บ้านของคุณตาที่อาศัยอยู่ตามลำพักกับสุนัขชราพันธุ์ชิบะที่ทัตสึอุระหมู่บ้านชาวประมงอันห่างไกล
ขณะที่อยู่บ้านของคุณตาผู้มีอาชีพทำกระดิ่งลม คุณตาสอนให้เอมิริทำสิ่งต่างๆ ทั้งตกปลา ทำอาหาร กระทั่งลับมีดทำครัวเล่มเล็กเก่าๆ ที่คุณตาใช้แล่ปลาเสมอ ทว่ากิจวัตรประจำวันแสนธรรมดาที่เรามักหลงลืมความหมายของมันไป กลับช่วยขัดเกลาให้เอมิริกลายเป็นคนใหม่ และหัวใจก็ได้รับการเยียวยาอย่างคาดไม่ถึง
เรื่องราวการเติบโตและการเริ่มต้นใหม่ในเมืองริมทะเลของหญิงสาวคนหนึ่งที่พยายามเรียนรู้ เข้มแข็ง ยอมรับบาดแผลจากอดีต และก้าวต่อไปข้างหน้า โดยมีคุณตาและคนรอบข้างคอยซัพพอร์ต พร้อมด้วยเมนูอุ่นๆ จากครอบครัวที่ช่วยรักษาบาดแผลในหัวใจ
หากไม่เคยเจ็บ คงไม่ซึ้งถึงความสุข
ผู้เขียน พอล บลูม / ผู้แปล พรรณรวี อกนิษฐาภิชาติ
ในชีวิตมนุษย์ย่อมประกอบไปด้วยความสุขและความทุกข์ หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเราคงเรียกได้ไม่เต็มปากว่าชีวิต ในมุมมองของพอล บลูม ความทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยความสมัครใจในปริมาณที่พอดิบพอดี สามารถสร้างและส่งเสริมความสุขได้ ความทุกข์เป็นส่วนสำคัญของกิจกรรมที่มีความหมายหลายกิจกรรม และสนับสนุนการแสวงหาความหมายของชีวิต ทำนองว่า “เจ็บปวดแต่คุ้มค่า”
เพราะความทุกข์นั้นมีประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งในแง่ชีวภาพและความรู้สึก ความเจ็บทำให้เราจดจำประสบการณ์เหล่านี้ไว้เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงมันในอนาคต ความทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจสามารถสร้างความสุข และเป็นส่วนสำคัญของการบรรลุเป้าหมายที่สูงขึ้น
ในหนังสือเล่มนี้ เราจึงมาทำความเข้าใจเรื่องทุกข์ๆ ที่เราพึงพอใจ และเปิดโอกาสให้เราเข้าใจทางเลือกที่จะทุกข์ใจของคนอื่นด้วย
เรามีความสุขและโอบรับความทุกข์บางอย่างไว้ได้ เพื่อเติมชีวิตให้เต็มความหมาย แต่จะด้วยสัดส่วนเท่าไร ด้วยความยากลำบากประเภทใด และในระหว่างที่กำลังเผชิญหน้าความทุกข์นั้น แท้จริงเรากำลังเรียนรู้อะไรหรือเปล่า เราขอชวนให้หาคำตอบนี้ไปด้วยกัน
แม่มดกิกิผจญภัย 3 ตอน กิกิกับแม่มดปริศนา
ผู้เขียน เอโกะ คาโดโนะ / ผู้แปล เมธี ธรรมพิภพ
พบกับภาคต่อของนวนิยายที่ทุกคนรอคอย #แม่มดกิกิผจญภัย ในช่วงเวลาที่ก้าวกระโดดไปอีกนิด เป็นตอนที่กิกิอายุสิบหกปี กิจการไปรษณีย์ด่วนแม่มดยังคงดำเนินไปด้วยดี แม่มดน้อยจากต่างเมืองคนนี้ยังคงได้รับความไว้วางใจจากชาวเมืองโคริโกะ กิกิกับจิจิช่วยกันจัดส่งข้าวของด้วยกันอย่างขยันขันแข็ง และมีอีกสองงานเพิ่มขึ้นมา คือ ปลูกพืชสมุนไพร และปรุงยาสมุนไพรแก้จาม
ทุกอย่างดำเนินไปอย่างสงบสุขพอควร การเป็นแม่มดหนึ่งเดียวในเมืองที่ตัวเองตกหลุมรักและได้ใช้พลังเวทมนตร์เท่าที่มีทำประโยชน์ให้คนอื่นที่ให้กิกิรู้สึกภูมิใจในตัวเอง มั่นใจว่าตัวเอง ‘จำเป็น’ ต่อเมืองโคริโกะ
กระทั่ง ‘เกะเกะ’ เด็กหญิงผู้มีที่มาที่ไปเป็นปริศนาปรากฎตัวขึ้น และดูเหมือนว่าเกะเกะจงใจเดินตามรอยกิกิและทำตัวเป็นคู่แข่งกับกิกิขึ้นมา ใบขณะเดียวกับชาวเมืองก็เหมือนจะชื่นชอบและยอมรับในตัวเกะเกะขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กิกิที่เคยใช้ชีวิตด้วยความร่าเริงสนุกสนานทุกวันคล้ายจะหายไป เธอยังจำเป็นต่อเมืองนี้อีกไหม ? กิกิเริ่มไม่มั่นใจแล้ว
กิกิวัยสิบหกปีกำลังเผชิญหน้ากับคำถามสำคัญซึ่งสั่นคลอนถึง ‘ตัวตน’ ที่เคยภูมิใจและเชื่อมั่นอีกครั้ง และครั้งนี้กิกิจะตัดสินใจอย่างไร นี่คือ แม่มดกิกิผจญภัย 3 ตอน กิกิกับแม่มดปริศนา ภาคต่อของแม่มดน้อยที่ใครหลายคนหลงรัก และเราเชื่อว่าแฟนๆ กิกิมากมายยังคงรอดูเธอเติบโตไปด้วยกันเหมือนกับเรา
เม่นวรรณกรรม
ช่องว่างระหว่างความหมาย
เขียนโดย ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์
เรื่องราวของตัวละครเอกในวัยนักเรียนมัธยมปลายที่ต้องผ่านความคาดหวังของครอบครัว เพื่อเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันเขาพยายามค้นหาความหมายของชีวิตผ่านสิ่งที่ตัวเองเลือก ไม่ว่าจะเป็นกีฬา ภาพยนตร์ หรือเพลง ในระหว่างนั้นเขายังพบกับมิตรภาพระหว่างเพื่อน คนรัก ความขัดแย้งของเขากับพ่อไปถึงจุดที่ทั้งสองต้องยอมละทิ้งตัวตนและความคาดหวัง
‘ช่องว่างระหว่างความหมาย’ นวนิยายสั้นในแบบ Coming of Age หรือนวนิยายก้าวผ่านวัย ของภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ ทำให้ผู้อ่าน’หวนกลับไปนึกถึงอดีต และมองชีวิตของตัวละครทาบทับเป็นบทเรียน นี่คือยุคที่ทุกคนต้องผ่านมันไปให้ได้ ไม่ว่าเรื่องราวจะออกมาจะดีจะร้าย นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นเหมือนประตุที่เปิดไปสู่อดีตอีกครั้ง
Bookscape
ฝึกใจได้ เป็นนายอารมณ์
เขียนโดย Thibaut Meurisse / สุญญาตา เมี้ยนละม้าย แปล
ชีวิตแต่ละวันมีเรื่องราวมากมายแวะเวียนเปลี่ยนผ่านเข้ามา ทั้งเรื่องสุข ทุกข์ เศร้า เครียด หรือวิตกกังวล แต่จะมีสักกี่ครั้งที่เราหันกลับมาถามตัวเองว่า “ตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร?” หนังสือเล่มนี้จะชวนคุณมาทำความรู้จักอารมณ์แบบเจาะลึก ตั้งแต่การค้นหาคำตอบว่าอารมณ์คืออะไรและมีไว้เพื่ออะไร และสำรวจสิ่งต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ รวมถึงทำความรู้จัก ‘สูตรอารมณ์’ เพื่อเข้าใจกลไกและรับมือได้ถูกจุด
ผู้เขียนยังชวนคุณเปลี่ยนความรู้สึกลบๆ อารมณ์ร้ายๆ ให้กลายเป็นเครื่องมือในการเติบโตของเราอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความอิจฉา ซึ่งอาจกลายเป็นเข็มทิศค้นหาความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ในใจ และความรู้สึกหดหู่ขาดแรงจูงใจที่อาจหมายถึงสัญญาณบอกว่าได้เวลาออกแบบชีวิตใหม่เสียที นอกจากนี้ยังมีแบบฝึกหัดท้ายเล่มให้ได้ลองตั้งคำถามกับตัวเองอย่างจริงจัง เพื่อให้เข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งกว่าเดิมอีกด้วย เรียกได้ว่า ฝึกใจได้ เป็นนายอารมณ์ เล่มนี้จะเป็น ‘คู่มือปฏิบัติใ’” ที่มีประโยชน์ สำหรับการใช้งานอารมณ์อย่างชาญฉลาดในทุกช่วงเวลาของชีวิต
Clean: วิทยาศาสตร์ผิวหนังแนวใหม่ เพื่อสุขภาพและความงามแบบน้อยแต่มาก
เขียนโดย James Hamblin / พรนริศร์ ลีลาอาภรณ์ แปล
เคยสงสัยไหมว่ากิจวัตรเพื่อรักษาความสะอาดและความงามของมนุษย์จะไปสิ้นสุดที่ไหนกัน กวาดพื้นแล้วต้องถูพื้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือเปล่า แล้วจะใช้สบู่ชนิดไหนอาบน้ำดีละ ใช้เซรั่มที่มีกรดไฮยาลูโรนิกหรือใช้ครีมที่มีเปปไทด์ดีนะ หรือจริงๆ แล้วเรากำลังเต้นไปตามจังหวะแผนการตลาดของเจ้าของผลิตภัณฑ์เหล่านี้โดยไม่เคยตั้งคำถามว่าอะไรกันแน่ที่จำเป็นจริงๆ ต่อเรา
หนังสือเล่มนี้จะปฏิวัติความเข้าใจว่าด้วยความสะอาดและสุขภาพผิวหนังที่ดี ด้วยการแนะนำให้รู้จัก ‘จุลชีวิน’ สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง ในร่างกาย และรอบตัวเรา เป็นทั้งเกราะป้องกันร่างกายและอวัยวะที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ก่อนเฉลยว่าวิธีรักษาความสะอาดและดูแลสุขภาพที่แท้จริงอาจไม่ได้มากขั้นตอนอย่างที่เราเข้าใจ เพียงรักษาสมดุลของชุมชนจุลชีวินเหล่านี้ ด้วยวิธีที่น้อยแต่มากอย่างเหลือเชื่อเท่านั้นเอง
ญี่ปุ่นป็อป: จากประดิษฐกรรมแห่งฝันสู่มหาอำนาจทางจินตนาการ
เขียนโดย Matt Alt / โมโตกิ ลักษมีวัฒนา แปล
ดาบพิฆาตอสูร กุเดทามะ นินเทนโดสวิตช์ เพลย์สเตชั่น… ย้อนเวลาไปอีกหน่อย อีวานเกเลียน โปเกมอน กันดั้ม เกมบอย แพ็ก-แมน มาริโอ้… ย้อนเวลาไปอีกหน่อย เฮลโลคิตตี้ อุลตร้าแมน คาราโอเกะ วอล์กแมน… ย้อนเวลาไปอีกหน่อย ก็อดซิลลา เจ้าหนูปรมาณู โจสิงห์สังเวียน รถกระป๋อง… ย้อนเวลาไปอีกหน่อย ญี่ปุ่นเพิ่งแพ้สงคราม
หากย้อนกลับไปในช่วงนั้น ยากจะคิดว่าญี่ปุ่นฟื้นจากเถ้าถ่านกลายเป็นเสือเศรษฐกิจและส่งออกจินตนาการไปทั่วโลกได้อย่างไร
นี่คือประวัติศาสตร์การฟื้นคืนชีพอันน่าทึ่งของประเทศแห่งหนึ่ง ที่เล่าผ่านสินค้าต่างๆ ที่มีความหมายในระดับจิตวิญญาณ และมีน้ำหนักทางวัฒนธรรมพอๆ กับดาวเคราะห์สักดวง
หากอยากอ่าน non-fiction ชั้นดี อุดมข้อมูล หนักแน่นบทวิเคราะห์ เรื่องเล่าสนุกวางไม่ลง พร้อมพาตะลุยดงของเล่นและนวัตกรรมแดนปลาดิบโดยนักข่าวฝรั่งแฟนพันธุ์แท้ญี่ปุ่นแบบหาอ่านที่ไหนไม่ได้ อย่าพลาด ญี่ปุ่นป๊อป เล่มนี้!
วิชาอารมณ์ขัน: ฝึกลับคมอารมณ์ขันแบบจริงจัง เติมอาวุธลับให้โลกธุรกิจและชีวิตส่วนตัว
เขียนโดย เจนนิเฟอร์ อาเคอร์ และ นาโอมิ แบ็กโดนัส / ไอริสา ชั้นศิริ แปล
เจนนิเฟอร์ อาเคอร์ (Jennifer Aaker) และ นาโอมิ แบ็กโดนัส (Naomi Bagdonas) สองอาจารย์ผู้รังสรรค์คอร์ส Humor: Serious Business จากหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ตอบคำถามว่าอารมณ์ขันทำงานอย่างไร เล่นมุกอย่างไรไม่ให้ล้ำเส้น เราจะสร้างวัฒนธรรมขี้เล่นในองค์กรได้หรือไม่ และเราจะแปลงอารมณ์ขันให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างไร พร้อมกรณีตัวอย่างอ่านสนุกมากมายจากทั้งเวทีเดี่ยวไมโครโฟน โต๊ะเจรจาธุรกิจ ทำเนียบขาว จนถึงสตูดิโอพิกซาร์
อารมณ์ขันคือพลังวิเศษที่พวกเราทุกคนมีอยู่ในตัว วิชาอารมณ์ขัน จะปลุกพลังนั้นขึ้นมา ลับคมอาวุธให้คุณยิงมุกนัดเดียวได้ผลหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความประทับใจแรกพบ สื่อสารคำวิจารณ์ที่ยากจะพูด บ่มเพาะวัฒนธรรมความเชื่อใจในองค์กร สร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เอื้อให้ความคิดสร้างสรรค์เติบโต หรือเพิ่มความเป็นมนุษย์ให้ผู้นำ
ขอแค่หัดชงนิด ตบหน่อย แล้วปลดปล่อยพลังอารมณ์ขันในตัวคุณ!
รถด่วนขบวนปรัชญา: เดินทางค้นหาบทเรียนชีวิตกับโสเครตีสและผองเพื่อน
เขียนโดย Eric Weiner / ณัฐกานต์ อมาตยกุล แปล
ขอต้อนรับสู่รถด่วนขบวนปรัชญา การเดินทางแสนพิเศษซึ่งไฮไลต์ไม่ได้อยู่ที่จุดหมายปลายทางอลังการ ไม่มีมื้ออาหารหรูหรา แต่มีเพื่อนร่วมทางทรงปัญญาและบทสนทนารสล้ำลึกให้คุณได้ละเลียดตลอดทาง บทรถไฟสายปรัชญาขบวนนี้
อย่าเพิ่งถอยหนีเมื่อได้ยินคำว่าปรัชญา เพราะเนื้อหาในเล่มนี้ไม่ได้เข้าใจยากชนิดต้องปีนบันไดอ่าน ผู้เขียนรับบทหัวหน้าคณะทัวร์อารมณ์ดี ชวนนักปรัชญาลงมานั่งสบตาพูดคุยด้วยภาษาเรียบง่าย ร่วมค้นหาแนวทางการใช้ชีวิตในทุกอิริยาบถพื้นฐาน ตั้งแต่การตื่นนอน-เดิน-มอง-ฟัง ไปจนถึงการต่อสู้ การแก่ตัว และการตาย ผ่านมุมมองอันลุ่มลึกคมคายจากนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ อาทิ โสเครตีส ขงจื่อ เอพิคิวรัส รุสโซ และอื่นๆ อีกมากมายที่ยกขบวนมาร่วมแลกเปลี่ยนบทสนทนาว่าด้วยวิธีใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย จากมุมมองของมนุษย์เดินดินคนหนึ่งที่ดิ้นรนค้นหา “ฮาวทูใช้ชีวิตให้ดี” ในแบบของตัวเอง
Library House
เลือดสีม่วง (The Color Purple)
เขียนโดย อลิซ วอล์เกอร์ / ไอริสา ชั้นศิริ แปล
The Color Purple คือนวนิยายรางวัลพูลิตเซอร์ ประจำปี 1983 โดยอลิซ วอล์เกอร์ (Alice Walker) โดยเธอเป็นนักเขียนผิวดำคนแรกที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ชีวิตเต็มไปด้วยอุปสรรคของเธอทั้งจากชีวิตส่วนตัวและประสบการณ์คนผิวดำสหรัฐอเมริกาส่งผลต่องานเขียนของเธอ รวมถึงชิ้นนี้ที่เล่าถึงการพัดพราก ความเชื่อและความไม่เชื่อต่อพระเจ้าและธรรมชาติมนุษย์ การให้อภัยและปลอบประโลม และความสัมพันธ์ที่ไม่อาจตัดขาดจากกันได้
ความรักของนักท่องเวลา (The Time Traveler’s Wife)
เขียนโดย ออดรีย์ นิฟเฟเนกเกอร์ / นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์ แปล
หนังสือว่าด้วยเรื่องราวความรักของเส้นทางชีวิตของเฮนรีกับแคลร์ นักท่องเวลาและภรรยาของเขาที่ต้องเจอกับการพบเจอ การพลัดพราก และการย้อนมาพบกันใหม่วนเวียนไปราวกับไม่มีจุดสิ้นสุด ในขณะที่เขาทิ้งรอยสัมผัสรักอันแสนดื่มด่ำไว้ในหัวใจของหญิงสาว แต่แล้วก็ปล่อยให้เธอรอคอยเขาครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อที่จะได้กลับมาเจอกันอีกเพียงชั่วคราว ตราบจนธรรมชาติของเวลากับโชคชะตานำพาให้พบและจากลา
กา(กบาทสี)ชาด (KRASNY KREST หรือ RED CROSSES)
เขียนโดย ซาชา ฟีลีเปนกา / ช้องนาง ปรีชาเจริญศิลป์ แปล
เมื่อซาชาย้ายเข้ามาอยู่อพาร์ตเมนต์แห่งใหม่ เขาได้พบกับเพื่อนบ้านหญิงชราวัยเก้าสิบป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ผู้เขียนกากบาทสีชาดบนบานประตูไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกให้ตัวเองกลับเข้าบ้านถูก แต่ทาเทียนา อเล็กเซเยฟนา ไม่ใช่คนแก่เลอะเลือนทั่วไป และเรื่องราวมากมายที่เธอยังจำได้และถ่ายทอดให้เขาฟังนั้นเป็นเสมือนประวัติศาสตร์สำคัญอีกหน้าหนึ่งจากยุคสงคราม