งานหนังสือเดือนตุลา เวียนมาอีกครั้งแล้วจ้าาาา กำตังค์กันไว้หรือยัง?
สำหรับมหกรรมหนังสือแห่งชาติ เดือนตุลาคม พ.ศ.2564 รอบนี้ก็มีความพิเศษกับการจัดงานแบบ Hybrid Book Fair ที่จัดทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ผ่านการชวนบรรดาร้านหนังสือต่างๆ มาเป็นพื้นที่ขายหนังสือ สำหรับคนที่รู้สึกว่า ไม่ได้! ฉันอยากจับหนังสือจริงก่อนซื้อ
ซึ่งการที่งานหนังสือกลับมาทั้งที แม้จะยังจัดงานเต็มที่ไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าเราจะต้องพลาดหนังสือดีๆ ของปีนี้ไป เราจึงชวนบรรณาธิการจากหลากหลายสำนักพิมพ์มาแนะนำหนังสือของตัวให้นักอ่านได้รู้จัก พร้อมกับเหตุผลว่าทำไมเล่มนี้ต้องมี และจะช่วยเยียวยาชีวิตช่วงนี้ได้ยังไงบ้าง ในวันที่โลกยังคงอยู่กับวิกฤตต่างๆ ช่วงนี้
P.S. Publishing
Be Fairy, Be Real พายุ พระอาทิตย์ อิทธิฤทธิ์ แฮปปี้!
ปัฐน์ เขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : ชีวิตคือการเดินทางไกล บางครั้งคุณเพิ่งรู้ตัวว่ากำลังพลัดหลงกับจิตวิญญาณของตัวเอง บางครั้งคุณรู้สึกเหมือนกำลังว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรแห่งความสิ้นหวัง กระทั่งใครสักคนยื่นความช่วยเหลือหนึ่งมาให้คุณคว้าไว้ สิ่งนั้นคือเศษซากของความหวังที่มีชื่อเรียกแตกต่างกัน บางคนอาจเรียกมันว่าศาสนา บางคนอาจเรียกมันว่าดนตรีร็อก หมูกระทะ เบียร์ ศิลปะ ยาต้านเศร้า และสำหรับคุณบางคน สิ่งนั้นอาจเป็นเรื่องเล็กกะจ้อยร่อยอย่างเช่นสีเสื้อที่คุณจะใส่ในวันพรุ่งนี้ อาจไม่ใช่เพราะคุณศรัทธามันนักหนา แต่เพราะอยากหาอะไรมาปลดเปลื้องตัวเองออกจากความสิ้นหวังรายวัน เหมือนที่หลายคนชอบดูดวงเวลารู้สึกมืดมนไร้หนทาง เพียงเพื่อเก็บรักษาฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนชีวิตเอาไว้ สิ่งนั้นคืออะไรหรือ? ก็ความหวังน่ะสิ
รวมเรื่องสั้นมนุษย์และแฟรี่ เป็นเรื่องราวสายมูของเหล่าตัวละครที่ไม่ยอมหมดหวัง แฟรี่สู้ชีวิตในวันโลกแตก หญิงสาวที่จิกหัวตบตีกันเพื่อความงามอันล้ำค่า สาวน้อยเวทมนตร์ที่ยินยอมจะเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อช่วยชีวิตคนรัก กลุ่มคนที่ช่วยกันทำพิธีไล่ผีเพื่อปลดแอกภาวะทุกข์ยากของประเทศ ทุกชีวิตดิ้นรน เดินทางไกล ต่อสู้ด้วยพลังแห่งความหื่นกระหายอยากเติบโต อยากใช้ชีวิต อยากเยียวยารักษาบาดแผลของตัวเอง ทั้งหมดนี้ถูกกล่าวถึงผ่านเรื่องเล่าทางไสยศาสตร์ เวทมนตร์ จิตวิญญาณ กระบวนการฮีลลิ่งในหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่อ้อมกอดของการปลอบประโลมอย่างอ่อนโยน จากคำบอกเล่าของปัฐน์ นี่คือการดันหลังแรงๆ ด้วยจริตเพื่อนสาวแบบสับๆ สู้เขาสิวะอีหญิง! แกต้องทำได้! แกทำได้!
JULY การกลับมาของดวงตาดาวฤกษ์
ตินกานต์, จรณ์ ยวนเจริญ เขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : “ความเจ็บปวดจะบรรเทา หากเรายอมลบลืม หรือแสร้งทำเป็นลบลืม”
ธุรกิจกลางคืนกำลังจะตายหรืออาจตายไปแล้ว ความฝันของคนหนุ่มสาวถูกพรากจาก ชนชั้นต่ำกว่าอีลีทถูกลอยแพให้ลืมตาอ้าปากไม่ได้ คติประจำใจที่ผู้มีอำนาจมอบให้ประชาชนใช้ต่อสู้กับโรคระบาดคือตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ชีวิตดำเนินด้วยความหวาดกลัวระแวดระวังไม่ต่างอะไรกับปีก่อน ภายใต้คำสวยหรูที่รัฐพร่ำบอกว่านิวนอร์มอล ความคับแค้นยิ่งกัดกินเมื่ออิสรภาพในเขตแดนอื่นปรากฏ การมองดูผู้คนโบยบินอย่างอิสระตอกย้ำถึงโซ่ตรวนที่ยึดเราให้ติดแหง่กอยู่กับที่
JULY การกลับมาของดวงตาดาวฤกษ์ เล่าถึงชีวิตของผู้คนในกรงขังซ้อนกรงขังในภาวะของการรักษาระยะห่างทางสังคม กรงใหญ่ที่อยู่ร่วมกันเป็นฉากหลังของประเทศโลกที่สามซึ่งกำลังทอดทิ้งคนตัวเล็กตัวน้อยให้โดดเดี่ยวสิ้นหวัง ส่วนกรงเล็กคับแคบซึ่งขังเดี่ยวคนกลุ่มนั้นไว้คือความบัดซบต่างที่มาของชีวิต ความเจ็บป่วยของคนเป็นแม่ ทางที่ไม่มีให้เลือกของคนเป็นลูก รักข้างเดียวไม่สมหวัง รอยแผลเป็นของความทรงจำที่บีบรัดใจจนเจ็บแสบรวดร้าว
ตัวอักษรในหน้ากระดาษถัดๆ ไปอาจพาผู้มีประสบการณ์ร่วมจมดิ่งลงไปหาหลุมดำมืดที่มีชื่อเรียกว่าคุกของคนพังๆ เยียวยาปลอบประโลมรอยแตกสลายผ่านเรื่องเศร้าที่ตอนจบไม่ใช่ความสุขสันต์นิรันดร แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณ ที่สักวันจะคายเราออกจากกรงขังโสโครกของสัตว์เดรัจฉานไร้ค่า จนกว่าจะถึงเวลานั้น ระหว่างร้องตะโกนเรียกหาการปลดปล่อยจนสุดเสียง จงอย่าหมดหวัง โปรด…อย่าหมดหวัง
We Should All Go To Hell เราทุกคนควรลงนรก
บริษฎ์ พงศ์วัชร์ เขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : ถ้าคุณเอือมระอากับเผด็จการเส็งเคร็ง สะอิดสะเอียนกับการหมอบกราบบูชาสมมติเทพ มีปัญหาคาใจอยากต่อกรกับพวกสถาปนาตัวเป็นพระเจ้า นวนิยายขนาดสั้นเล่มนี้คือคำตอบและทางหนีทีไล่ We Should All Go To Hell เราทุกคนควรลงนรก นิยายดิสโทเปียว่าด้วยเรื่องรักสามเส้า กลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่างมนุษย์และพระเจ้า เรื่องราวรอบรัศมีหนึ่งร้อยกิโลเมตรแห่งความเวิ้งว้าง ความสัมพันธ์ที่อ้างอิงสมการสามตัวแปร อัตราเร็วหลุดพ้น การทรยศหักหลัง ความปรารถนา สันดานดิบในระดับโมเลกุล และการกลับไปที่ ‘ความไม่รัก’ เพื่อจะรักกันได้อีกครั้ง
ตัวละครหลักของนิยายเรื่องนี้ประกอบด้วย เดซี่โสเภณีสุดวายป่วง / ธารชายหนุ่มผู้ประสบปัญหาจู๋ไม่แข็ง / ไอรีนเนิร์ดคณิตศาสตร์ผู้ตามหาตัว Y ในสมการสามตัวแปรซึ่งเอาแต่พูดว่าต้องไปแล้ว ในความหมายของการไปจากชีวิตเดิมๆ นี่คือนิยายจากนักเขียนไทยที่เต็มไปด้วยสำนวนโฉบเฉี่ยว ทิ้งขว้างจังหวะการเล่าแบบไม่สนใจใยดีความต่อเนื่อง ตัดสลับแบบเทคนิคการตัดต่อภาพยนต์ ทำให้คนอ่านตามติดตัวชีวิตละครอย่างสนุกสุดสวิงริงโก้ พร้อมทั้งล้อเล่นกับความหยาบคายในจิตใจ อ่อนไหวไปกับความรักในรูปแบบที่ต่างออกไป และเศร้าซึมลึกที่ผู้อ่านจะได้ร่วมประสบการณ์ โลดแล่นไปพร้อมกับเพลงของเดอะบีเทิลส์ กับเวลา 11 วันบนถนนรอบๆ รัศมีหนึ่งร้อยกิโลเมตรแห่งความเวิ้งว้าง / 1 เดือนสำหรับการตกหลุมรัก / 1 ปี ในโรงแรมโกโรโกโส / 1 คืนที่ไม่อาจหวนคืน
Bookscape
สหรัฐอเมริกา: ประวัติศาสตร์ (ไม่รู้จบ) แห่งเสรีภาพและความเท่าเทียม
James West Davidson เขียน, สุนันทา วรรณสินธ์ เบล แปล
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดในเซ็ต A Little History ที่มีแฟนๆ ติดตามอย่างเหนียวแน่น สหรัฐอเมริกา: ประวัติศาสตร์ (ไม่รู้จบ) แห่งเสรีภาพและความเท่าเทียม จะพาผู้อ่านร่วมออกเดินทางพร้อมเรือของโคลัมบัสไปเทียบท่ายัง “ดินแดนใหม่” แล้วเดินทางผ่านเหตุการณ์สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสงครามกลางเมือง สงครามโลก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สงครามเย็น หรือการก่อการร้าย 911 พร้อมทำความรู้จักผู้คน ตั้งแต่ประธานาธิบดี เหล่านักการเมือง พ่อค้า ผู้อพยพ ไปจนถึงทาส ที่ร่วมกันก่อสร้างประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาขึ้นมา
ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกามิใช่เพียงเรื่องราวการสร้างประเทศแห่งหนึ่ง แต่เป็นเรื่องราวของการตั้งคำถาม ต่อสู้ ดิ้นรนครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทาง นั่นคือเสรีภาพและความเท่าเทียม อันเป็นอุดมการณ์สำคัญของประเทศประชาธิปไตย นี่จึงเป็นบทเรียนสำคัญของทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยและคนไทย ในโมงยามนี้ที่เราเองก็ตั้งคำถาม ต่อสู้ ดิ้นรนเพื่อแสวงหาเสรีภาพและความเท่าเทียมเช่นกัน
สยามปฏิวัติ: จาก ‘ฝันละเมอ’ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่อภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕
รวมนักเขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : รวมงานเขียนต้นธารความคิด ‘ประชาธิปไตย’ ชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รวบรวมบทบันทึกความคิดประชาธิปไตยไทยตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผ่านเอกสารประวัติศาสตร์ต้นธารปฏิวัติสยาม ตั้งแต่คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 สมัยรัชกาลที่ 5 โดย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์และคณะ, “ว่าด้วยความฝันละเมอแต่มิใช่นอนหลับ” โดย เทียนวรรณ, “ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ” โดย ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) หัวหน้าคณะ ร.ศ. 130, “มนุษยภาพ” โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ จนถึงประกาศคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475 ที่เชื่อกันว่าปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เขียน
แม้ข้อเขียนเหล่านี้จะผ่านกาลเวลามาหลายแผ่นดิน ทว่ายังคงร่วมสมัยและแหลมคมอย่างยิ่ง นี่คือหลักฐานแห่งความฝันใฝ่ของเหล่าคนเบื้องล่างผู้ “แลไปข้างหน้า” และเป็นมรดกทางปัญญาที่ชนรุ่นหลังผู้ฝันใฝ่ในประชาธิปไตยและความเท่าเทียมเสมอหน้าของมนุษย์ควรศึกษาและใคร่ครวญ เพื่อฉายทางสู่อนาคตที่อุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยแห่งสยามกลายเป็นความจริง หาใช่เพียง “ฝันละเมอ” ในยามตื่นอีกต่อไป
Limitless: ปลดล็อกศักยภาพสมอง ปลุกพลังความคิด สู่ชีวิตไร้ขีดจำกัด
Jim Kwik เขียน, พิชญ์สินี คงประชา แปล
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : ในยุคที่เต็มไปด้วยความกดดันและภาพความสำเร็จของคนอื่นๆ บนโลกออนไลน์ เป็นเรื่องง่ายที่คุณจะรู้สึกเหมือนตัวเอง “ไม่เก่งอะไรสักอย่าง” Jim Kwik ผู้เขียน Limitless ก็เช่นกัน เขาเคยประสบอุบัติเหตุทางสมองจนคิดว่าตัวเอง “สมองช้า” และไม่มีวันไปได้ไกล ทว่าเขาได้ก้าวผ่านอุปสรรคจนกลายเป็นโค้ชสมองของเหล่าผู้มีชื่อเสียงจากหลายแวดวง ทั้งโอปราห์ วินฟรีย์ วิล สมิธ หรืออีลอน มัสก์
นี่ไม่ใช่หนังสือ How–to ที่โบยตีเราให้เดินหน้าสู่เป้าหมายแบบไม่มีลิมิต ชีวิตเกินร้อย แต่เป็นหนังสือที่บอกว่าทุกคน “ดีพอ” และมีศักยภาพในตัว ขอเพียงรู้วิธีปลดล็อกศักยภาพนั้น โดยอาศัยโมเดล 3M: Mindset–Motivation–Method เพื่อปรับกรอบความคิด ปลุกแรงบันดาลใจ และนำเสนอเคล็ดวิธีต่างๆ เพื่อยกระดับความสามารถของเรา เช่น การฝึกความจำ เทคนิคการอ่านเร็ว การเข้าสู่ภาวะลื่นไหล ฯลฯ
Limitless ไม่ได้บอกว่าการซึ่งไร้ขีดจำกัดหมายถึงความสมบูรณ์แบบ เรายังคงไม่สมบูรณ์แบบเหมือนเดิม แต่ความไม่สมบูรณ์แบบนั้นจะไม่ใช่กำแพงที่คอย “จำกัด” เราอีกต่อไป
Salmon Books
หิมาลัยต้องกลับไปฟัง
คัมภีร์ สรวมศิริ เขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : บันทึกการไปออกค่ายแพทย์อาสาที่
สิ่งมีชีวิตในโรงแรม (Retrospective Edition)
วิชัย เขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : บันทึกประสบการณ์
Have a Good Die วันนี้คือวันตายของเจ้า!
PPONG เขียน
SALT
ตุ๋นพันล้าน วาฬลวงโลก (Billion dollar whale)
Tom Wright, Bradley Hope เขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : เงินมหาศาล 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยกว่า 135,000 ล้านบาท ถูกยักยอกออกไปจากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมาเลเซีย หรือ 1MDB นานติดต่อกันหลายปี จนสุดท้ายกลายเป็นข่าวอื้อฉาวระดับโลก โจ โลว์ คือผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังอาชญากรรมครั้งประวัติศาสตร์นี้
ในปี 2009 กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมาเลเซีย หรือรู้จักกันในนาม 1MDB ถูกก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลของนาจิบ ราซัค กองทุนนี้มีเป้าหมายจะลงทุนในกิจการต่างๆ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้รัฐบาลมาเลเซีย แต่ไม่กี่ปีให้หลัง 1MDB กลับขาดทุนย่อยยับ! เพราะเงินทั้งหมดนั้นไม่ได้ถูกนำไปลงทุนจริงๆ แต่กลับถูก ‘ยักยอก’ เข้ากระเป๋าโจ โลว์และพรรคพวกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ผ่านวิธีอันแยบยลเพื่อตบตาผู้คนและธนาคารต่างๆ ไม่ให้เกิดความคลางแคลงใจในการไหลเข้าออกของเงินเหล่านั้น
นอกจากจะใช้ปิดปากเหล่าผู้สมคบคิดและนายธนาคารรายทางแล้ว โจ โลว์ ก็นำเงินที่ยักยอกมาไปจัดปาร์ตี้ที่สุดแสนจะฟุ่มเฟือย เลี้ยงดูเพื่อนฝูงและคนในวงการบันเทิงระดับฮอลลีวูดครั้งละเป็นล้านดอลลาร์ ใช้ซื้อที่พักทั้งบ้านและอพาตเมนต์สุดหรูในเมืองใหญ่ต่างๆ ช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมและอัญมณีให้ทั้งตัวเองและครอบครัวของนาจิบ ราซัค รวมถึงใช้เป็นทุนสร้างหนังฟอร์มยักษ์อย่าง ‘The Wolf of Wall Street’ อีกด้วย
ทอม ไรต์ และ แบรดลีย์ โฮป สองนักข่าวแห่ง Wall Street Journal ‘แฉ’ ความจริงเบื้องหลังอาชญากรรมสะท้านโลกของโจ โลว์ แบบหมดเปลือกในหนังสือ ‘ตุ๋นพันล้าน วาฬลวงโลก’ ตีแผ่ให้เห็นทุกเล่ห์เหลี่ยมและเครือข่ายของบรรดานักธุรกิจชนชั้นกลางที่หาผลประโยชน์โดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย โยงใยไปถึงธนาคารระดับโลก ผู้สอบบัญชี สำนักงานกฎหมาย ชี้คตะวันออกกลาง และรัฐบาลมาเลเซีย
นี่คืออาชญากรรมและภัยคุกคามทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 21!
ฝ่าสัญญาณฉุกเฉิน (All Systems Red)
Martha Wells เขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : นิยายเล่มแรกจากชุด บันทึกบอตสังหาร หนึ่งในนิยายชุดขายดีแห่ง New York Times และ USA Today ที่ได้รับรางวัล Best Novella จาก Hugo Award และ Nebula Award และยังได้รับรางวัลจาก Alex Award และ Locus Award ทั้งหมดนี้ในปีเดียวกัน!
การเดินทางสำรวจบนดาวเคราะห์จำเป็นต้องมี ‘บอต’ รักษาความปลอดภัยติดตามไปด้วย เพื่อคอยอารักขามนุษย์ในคณะสำรวจ
แต่บอตที่เช่ามาในราคาถูก ก็มักจะได้ปัญหามาเป็นของแถม…
จะเป็นอย่างไรถ้าบอตถูกแฮ็ก มอดูลควบคุมถูกเปลี่ยนเป็นมอดูลปฏิปักษ์ จาก ‘บอตรักษาความปลอดภัย’ กลายเป็น ‘บอตฆาตกร’
บนดาวเคราะห์ว่างเปล่าดวงนี้ คณะสำรวจกลุ่มหนึ่งขาดการติดต่อไปอย่างน่าสงสัย คณะสำรวจอีกกลุ่มพร้อมบอตรักษาความปลอดภัยจึงเดินทางไปตรวจสอบ
สิ่งที่พบทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป รวมถึงความไว้วางใจที่ทุกคนมีให้บอตใกล้ตัว…
เงินไม่ใช่พระเจ้า (What Money Can’t Buy)
Michael J. Sandel เขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : ในยุคที่ ‘ลัทธิบูชาตลาด’ กำลังเฟื่องฟู การขยายตัวของตลาดที่แทรกซึมเข้าไปยังทุกมิติของสังคม แทรกซึมเข้าไปยังชีวิตผู้คน แทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวัน นักเศรษฐศาสตร์มักจะคิดเอาเองว่าตลาดนั้นไร้ชีวิต ไม่ส่งผลใดๆ ต่อสินค้าที่มันแลกเปลี่ยน แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิด…
ตลาดทิ้งร่องรอยของมันเอาไว้ บางครั้งคุณค่าของตลาดก็เบียดขับคุณค่านอกตลาดที่ควรค่าแก่การใส่ใจ
‘ไมเคิล แซนเดล’ นักปรัชญาเศรษฐศาสตร์การเมืองและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เจ้าของผลงานหนังสือยอดนิยมอย่าง ‘ความยุติธรรม’ กลับมาจุดประกายคำถามสำคัญในยุคตลาดเสรีเฟื่องฟูในหนังสือ ‘เงินไม่ใช่พระเจ้า’ เล่มนี้ว่า “เราอยากได้สังคมที่ทุกส่ิงซื้อได้หรือเปล่า? หรือว่าสังคมมีคุณค่าทางศีลธรรมและคุณค่าทางพลเมืองบางอย่างที่ตลาดไม่ให้ความสำคัญ และเงินก็ซื้อไม่ได้?”
‘เงินไม่ใช่พระเจ้า’ กล่าวถึง ‘ตลาดกับศีลธรรม’ ผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงให้สังคมและในหลายประเทศ ว่าพลังอำนาจของ ‘เงิน’ ที่นับวันยิ่ง ‘ใหญ่’ ขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่เหนือศีลธรรมไปแล้ว บางสิ่งบางอย่างที่เงินเคยซื้อไม่ได้ ปัจจุบันก็ถูกเงินซื้อไปได้อย่างง่ายดาย
ตัวอย่างเช่น สิทธิยิงแรดดำใกล้สูญพันธุ์ 150,000 เหรียญสหรัฐในแอฟริกาใต้, สิทธิปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ 18 เหรียญสหรัฐต่อตันของสหภาพยุโรป หรือการจ่ายเงิน 82 เหรียญสหรัฐเพื่อยกระดับห้องขังที่ดีกว่าเดิมสำหรับนักโทษที่ไม่ได้กระทำความผิดคดีอุกฉกรรจ์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
‘ยุคแห่งลัทธิตลาดเหนือทุกสิ่ง’ ที่ทุกอย่างซื้อได้ด้วยเงิน ความเป็นเสรีนิยมเติบโตขึ้นอย่างไม่มีท่าทางจะหยุด จนอาจเลยคานกั้นของศีลธรรมไปแล้ว บทบาทของตลาดคืออะไร? อำนาจของเงินควรมีมากน้อยแค่ไหน?
และเราอยากอยู่ในโลกที่ทุกสิ่งซื้อได้ด้วยเงินจริงๆ หรือเปล่า?
สำนักพิมพ์ มติชน
เขียนจีนให้เป็นไทย
สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ เขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : รู้จัก ‘จีน’ มหาอำนาจใหม่ของโลก ผ่านความสัมพันธ์ไทย-จีน โลกวิชาการ และการทูตในยุคสงครามเย็น
เมื่อจีนขยายอิทธิพลลงมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงท้ายสงครามเย็น พร้อมกันกับที่สหรัฐอเมริกาถอนทหารออกไป ความสัมพันธ์ที่เย็นชาระหว่างไทย-จีนจำเป็นต้องเปลี่ยนไป พร้อมๆ กับการปรับตัวของสังคมไทยในทุกด้าน ทั้งการยอมรับคนจีนในประเทศไทย การให้พื้นที่คนจีนในประวัติศาสตร์ชาติ และการเขียนประวัติศาสตร์ไทยใหม่ ผลงานเล่มนี้โดยสิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ คืออีกหนึ่งงานประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ที่สนุกและเข้มข้นเกินกว่าที่เราจะปล่อยให้คุณพลาด โดยเฉพาะในยามที่จีนมหามิตร (อำนาจ) ใหม่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทนำมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคุณจะรู้ว่าสายสัมพันธ์ระหว่างชาติที่ไม่อาจ “ด้อยค่า(?)” ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาแค่ในระยะเวลาสั้นๆ!
วินาทีไร้น้ำหนัก
วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ เขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : สำรวจคุณค่าและความหมายของ ‘ชีวิต’ ผ่านเรื่องราวของผู้คนหลากที่มา ต่างที่หมาย ซึ่งร่วมเผชิญช่วงชีวิตสุดท้ายด้วยกันในห้วงเวลาไร้น้ำหนัก
ในโมงยามของการเปลี่ยนแปลงบนโลกที่รุดหน้าจนเราก้าวตามไม่ทัน ในวันที่โลกทำให้เราต้องเผชิญความรู้สึกหดหู่ เคว้งคว้าง อ้างว้าง โดดเดี่ยว จมอยู่ในห้วงความคิด กระทั่งต้องเฝ้าถามตัวเองนับครั้งไม่ถ้วนว่า “เราจะทำอย่างไรต่อไปดี”
วินาทีไร้น้ำหนัก นวนิยายเรื่องแรกในชีวิตของ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ อดีตบรรณาธิการนิตยสารและคอลัมนิสต์มากฝีมือ เลือกถ่ายทอดเรื่องราวความหมายของชีวิตตนเองและผู้อื่นที่ล้วนมีเป้าหมาย ความสุข ความทรงจำที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่มนุษย์เงินเดือน พนักงานเสิร์ฟอาหาร สถาปนิก คนขับรถรับจ้าง พนักงานแคชเชียร์ นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงหมาจรจัด ที่มาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันใน “อุบัติเหตุครั้งใหญ่” ซึ่งท้ายที่สุดอาจช่วยให้คุณได้พบเจอกับความหมายและคำตอบของใจตัวเอง
ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง?
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : เรามักได้ยินคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า ศาสนานั้นบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไร้ซึ่งมลทินมัวหมอง และแยกขาดจากเรื่องการเมือง แต่ลองอ่านเล่มนี้แล้วตั้งคำถามตัวโตๆ ไปด้วยกันกับเราดูสิว่า เส้นพรมแดนที่กั้นขวางระหว่างการเมืองกับศาสนานั้นมีอยู่จริงแน่หรือ?
ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง? เล่มนี้จะพาคุณร่วมเดินทางทะลุพรมแดนความเชื่อทั้งในอินเดียและไทย เพื่อไขปริศนาความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการเมือง ไม่ว่าจะพุทธ พราหมณ์ ผี ที่จริงๆ ก็ล้วนแต่นัวๆ เนียๆ กับเรื่องการเมือง จากนั้นตบท้ายเน้นๆ ด้วยข้อเสนอปฏิรูปศาสนาที่อาจเป็นทั้งทางเลือกและทางรอดในโลกสมัยใหม่
ในวันที่ศาสนาถูกตั้งคำถามว่ายังจำเป็นอยู่ไหม หนังสือเล่มนี้จะช่วยพลิกหามุมมองใหม่ๆ ของความเป็นไปได้ที่จะอยู่ร่วมกัน
สำนักพิมพ์ บันลือบุ๊คส์
ขายหัวเราะ CLASSIC SERIES: จุ๋มจิ๋ม
จุ๋มจิ๋ม เขียน
Imagine is More
ต้อม ขายหัวเราะ เขียน
Laugh is More
ต่าย ขายหัวเราะ เขียน
สำนักพิมพ์ Biblio / Being
ที่ผ่านมา มนุษย์ไม่เคยไร้หัวใจ
รุตเกอร์ เบรกแมน เขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้มีความหวังและมองโลกในแง่ดีมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาสถานการณ์รอบตัวและเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อส่วนใหญ่จะเป็นข่าวร้ายเสียมาก แต่เล่มนี้เป็นเหมือนแว่นขยายที่ขยายด้านดีของมนุษย์ให้ชัดเจนขึ้น โดยขยายให้เห็นตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษของเราไล่มาจนปัจจุบัน อ่านจบจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่ว่าจะยุคสมัยไหน มนุษย์ก็เจอเรื่องร้ายๆมาตลอด มิหนำซ้ำเรื่องแย่ๆเหล่านั้นบางทีก็มาจากมนุษย์ด้วยกันเอง แต่ก็มนุษย์ด้วยกันเองอีกนั่นแหระที่ใจดี หยิบยื่นความช่วยเหลือให้กันมาตลอด ดังนั้น หากใครที่กำลังท้อแท้กับชีวิตลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดู แล้วจะรู้ว่าความหวังยังมีเสมอ
ยังไงฉันก็จะเลิกงานตรงเวลาค่ะ
อาเกโนะ คาเอรุโกะ เขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : ยังไงฉันก็จะเลิกงานตรงเวลาค่ะ (Watashi, Teiji de Kaerimasu) เขียนโดย อาเกโนะ คาเอรุโกะ ว่าด้วยสาวออฟฟิศชื่อ “ยุย” ผู้ตั้งปณิธานไว้ว่าเธอจะเลิกงานตรงเวลา จะตั้งใจทำงานในเวลาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อที่จะได้ใช้เวลาหลังเลิกงานไปกับการกินเบียร์และอาหารที่ชอบ หรือจะทำอะไรก็ตามแต่ที่เป็นการใช้ชีวิต ทว่าอุปสรรคของเธอก็คือเจ้านายคนใหม่ที่มาพร้อมโปรเจกต์สุดหิน ซึ่งทำให้เธอต้องเสี่ยงที่จะต้องทำงานล่วงเวลา จนพังทลายช่วงเวลาความสุขหลังเลิกงานของเธอไป
แม้ว่าพล็อตเรื่องจะดูสนุกสนาน รวมทั้งวิธีการเล่าก็สอดแทรกอารมณ์ขันไว้ตลอดทั้งเรื่อง แต่มองลึกลงไปในรายละเอียด เราจะได้เห็นการปะทะกันระหว่างคนสองขั้ว มีทั้งคนที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อองค์กร ไม่ขาดลามาสายเพื่อหวังที่จะได้ก้าวหน้าในอาชีพ กับคนที่คิดว่าการทำงานควรอยู่แค่ในออฟฟิศเท่านั้น เพราะชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว และความน่าเจ็บปวดอย่างถึงที่สุดคือไม่ว่าจะเป็นคนบ้างาน หรือคนที่รักงานแค่ในเวลา ความทุ่มเทของพวกเขาเพื่อให้งานออกมาสำเร็จก็อาจเป็นแค่เครื่องมือให้คนที่อยู่สูงกว่าเอาตัวรอดไปเท่านั้น ซึ่งเมื่อนิยายเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ออกมาก็ได้รับการนำไปสร้างเป็นซีรีส์ญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมสูงทันทีในปี ค.ศ.2019 ในชื่อ “I Will Not Work Overtime, Period!” แม้ว่าในตอนนี้หลายคนก็ทำงานแบบ work from home แต่การต้องทำงานล่วงเวลาก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจจะถึงเวลาแล้วที่ต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติเวลาทำงานเสียใหม่ โดยเริ่มต้นง่ายๆ จากนิยายเล่มนี้
ฉันไม่ได้อ่อนไหว เธอนั่นแหละที่ทำเกินไป
ยูอึนจ็อง เขียน
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : ในโลกยุคโซเชียลที่การติดต่อสื่อสารเจริญก้าวหน้าจนเราสามารถพูดคุยและได้เห็นชีวิตของผู้คนมากมายอย่างรวดเร็วและไร้ขีดจำกัดนี้ เป็นยุคที่คนเราติดต่อกันได้อย่างสะดวกสบาย แต่ก็มีโอกาสกระทบกระทั่งความรู้สึกกันได้มากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม จนทำให้คนเรารู้สึกโดดเดี่ยวและซึมเศร้ากันมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในทุกรูปแบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ เราทุกคนล้วนยืนอยู่บนเส้นแบ่งอารมณ์และความรู้สึกของกันและกันเสมอ นั่นแปลว่าเราต่างก็มีโอกาสล้ำเส้นหรือตกเป็นฝ่ายถูกล้ำเส้นความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน หากไม่อยากตกเป็นฝ่ายเสียใจเพราะคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นง่าย ๆ มาเรียนรู้ที่จะปกป้องหัวใจของตัวเองให้ปลอดภัยจากผู้คนรอบข้างที่อาจเผลอก้าวเข้ามาทำร้ายความรู้สึกไปกับหนังสือ ฉันไม่ได้อ่อนไหว เธอนั่นแหละที่ทำเกินไป หนังสือจิตวิทยาอ่านสนุกที่เขียนโดยจิตแพทย์ชาวเกาหลี ที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับผู้คนรอบข้างไม่โดดเดี่ยวและเจ็บปวดอีกต่อไป
สำนักพิมพ์ Library House
เพียงหนึ่งไจเดียว
เทรซี เชวาเลียร์ เขียน, รสวรรณ พึ่งสุจริต แปล, Mongol Navy ออกแบบปก
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : นวนิยายที่จะทำให้เห็นพลังของหญิงโสดตัวคนเดียวที่รู้จักหัวใจตัวเอง ต้องดิ้นรนต่อสู้กับหน้าที่การงานที่ไม่เอื้อให้มั่งคั่งความสุข และตระหนักถึงหนทางข้างหน้าที่ต้องค้นหาวิธีเดินต่อไปเอง – ไวโอเลต ตัวละครเป็นพนักงานพิมพ์ดีดประจำบริษัทประกัน สูญเสียผู้เป็นที่รักในส่งคราม มีแม่ผู้ไม่ดูดายแต่ในบางครั้งกลับเรียกร้องการดูแล ความกดดันทั้งหลายกลายเป็นแรงผลักดันทำให้เธอดิ้นรนค้นหาสีสันและความหมายใหม่ๆ โดยไปร่วมกลุ่มช่างปักภูษา ถวายงานปักเบาะรองนั่งในมหาวิหาร และกิจกรรมนั้นก็ทำให้เธอได้เจอเพื่อนใหม่และได้ตกหลุมรัก
เพียงหนึ่งไจเดียว คือหัวใจหนึ่งดวงของผู้หญิงโสดคนหนึ่ง ที่ต้องเข้มแข็งแม้เปราะบาง ต้องไม่หวาดหวั่นแม้วิตกกริ่งเกรง และต้องอยู่คนเดียวให้ได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
เพราะความรักมิอาจเร่งร้อน
ดานีเอลา ครีน เขียน, ปิยะกัลย์ สินประเสริฐ แปล, Mongol Navy ออกแบบปก
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : นวนิยายแปลจากภาษาเยอรมันที่จะช่วยปรับหรือลบภาพจำว่าชาวเยอรมันขึงขังเย็นชา นี่คือเรื่องรักของผู้หญิงเยอรมันห้าคนที่ไม่เคยรู้จักกัน แต่กลับมาเกี่ยวข้องกันผ่านโชคชะตาและความรักด้านมุมต่างๆ ภายใต้โครงสร้างของความเป็นลูกสาว เป็นภรรยา เป็นแม่ หรือกระทั่งเป็นหญิงคนนอกของครอบครัวคนอื่น ทำให้นวนิยายเล่มนี้มีทลายกรอบของลักษณะทางชาติพันธุ์ และแสดงตัวว่านี่คือนวนิยายแห่งยุคสมัยในโลกสมัยใหม่ ที่ไม่ว่าเราจะมีชีวิตรักในพื้นที่ใด เราอาจมีความคล้ายใครสักคนระหว่าง เพาลา,ยูดิท,บรีดา, มาลิกา และโยรินเดอ (หนังสือเล่มนี้ได้รับทุนสนับสนุนการแปลจาก Gothe-Institut)
เด็กหญิงน้ำตาล
โอลก้า โกรมาว่า เขียน, ช้องนาง ปรีชาเจริญศิลป์ แปล, คนธรัตน์ เตชะไตรศร ออกแบบปก
คำแนะนำจากบรรณาธิการ : เราอาจคุ้นเคยกับวรรณกรรมเยาวชนระหว่างหรือหลังสงครามที่ดำเนินเรื่องด้วยเด็กผู้ชาย แต่เด็กหญิงน้ำตาลเล่มนี้คือเรื่องราวของเด็กหญิงชาวรัสเซียที่ต้องลี้ภัยสงครามกับแม่ ระเหเร่ร่อนไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองด้วยหัวใจที่แข็งแกร่ง เหมือนกับที่พ่อของเธอเคยสอนไว้ว่า ‘คนเก่งไม่เกรงกลัวสิ่งใด มีแต่คนเท่านั้นที่จะรู้สึกกลัว หากว่าคุณไม่กลัวอะไร คุณก็จะไม่รู้สึกลัว เมื่อนั้นคุณก็จะเป็นคนกล้าหาญ’ หนังสือเล่มนี้คือรูปแบบหนึ่งของการส่งกำลังใจให้กันไม่ว่าสิ่งที่คุณเผชิญอยู่นั้นจะเป็นสงครามของอะไร เหมือนกับที่เด็กหญิงน้ำตาลและแม่ก็ใช้หนังสือและเรื่องเล่าคอยปลอบประโลมใจในระหว่างที่ชีวิตยังไม่ถึงแสงสว่างปลายอุโมงค์ (หนังสือเล่มนี้ได้รับทุนสนับสนุนการแปลจาก Mikhail Prokhorov Charitable Foundation)