เมื่อศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ปิดปรับปรุงบวกกับสถานการณ์ COVID-19 ทำให้งานสัปดาห์หนังสือช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งถูกเลื่อนออกไป ทั้งถูกย้ายไปจัดยังสถานที่แห่งใหม่ จนหลายคนก็บ่นว่าไกลหรืองงกับแผนผังภายในงาน และในที่สุดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ก็ได้กลับมาจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นโลเคชั่นที่ดีสำหรับเหล่านักอ่านนักเขียน เพราะนอกจากพื้นที่จะกว้างขวางแล้วยังเดินทางสะดวกอีกด้วย
แม้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่จะดูโอ่อ่าน่าเดิน แต่หลายคนน่าจะพอได้ยินข่าวคราวมาว่าค่าเช่าบูทครั้งนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีอื่นๆ เราเลยชวนเหล่าสำนักพิมพ์มาพูดคุยถึงเรื่องนี้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเช่าบูท ผลกระทบที่เกิดขึ้น และความท้าทายอื่นๆ ที่แต่ละสำนักพิมพ์กำลังเผชิญ
ค่าเช่าบูทกับศูนย์สิริกิติ์โฉมใหม่
เชื่อว่าคำถามแรกที่หลายคนสงสัยคงจะเป็น ‘ค่าเช่าบูทแพงขึ้นจริงไหม’ ซึ่ง นิวัต พุทธประสาท จากสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมให้คำตอบว่า
“ก่อนที่ศูนย์ประชุมจะปิดซ่อม มันจะมีโซนต่างๆ ที่คิดราคาไม่เท่ากัน โซน C ก็จะถูกที่สุด ส่วนในเพลนารีฮอลล์ (Plenary Hall) จะแพงกว่าเพื่อน และทางสมาคมคิดค่าบูทแบบขั้นบันได คือบูทเล็ก บูทเดียวราคาถูก ราคาต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนบูท ขณะเดียวกันศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์รูปโฉมใหม่ ไม่มีโซน C แล้ว แต่เป็นฮอลล์เดียวกันแบบที่เมืองทองธานี ดังนั้นราคาบูทที่ถูกที่สุดในงานนี้จึงเป็นบูทขนาด 3×2 เมตร แต่เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปด้วยแล้วราคาก็ยังแพงกว่าโซน C เดิม อยู่นิดหน่อย แต่ได้พื้นที่น้อยลง”
นิวัตเล่าว่าถ้าเทียบราคาบูทในเพลนารีฮอลล์ปีนี้ กับปีสุดท้ายที่จัดในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ก่อนปิดปรับปรุง จะพบว่าราคาเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อต้นทุนของสำนักพิมพ์ และกลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทางเม่นวรรณกรรมไม่ได้ไปออกบูทในปีนี้ เพราะต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ต้องหาวิธีเพิ่มยอดขาย อย่างการจัดโปรโมชั่นหรือเพิ่มของแถมให้หลากหลายขึ้น
“เราคิดว่ามันเป็นงานที่หนักเกินไปสำหรับสำนักพิมพ์เล็กๆ คือแค่ทำหนังสืออย่างเดียวก็หมดแรงแล้ว นั่นหมายความต้องไปลงทุนเพิ่มกับของแถมด้วย ประเด็นที่สอง คือราคาบูททำให้สำนักพิมพ์เล็กๆ คิดมากขึ้นว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะออกงานเหมือนก่อนหรือไม่ ในระยะยาวอาจจะเป็นไปได้ว่าสำนักพิมพ์เล็กจะลดลงหรือไม่ อาจส่งผลให้งานหนังสือหมดเสน่ห์ลงไปในเรื่องความหลากหลายหรือเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องอนาคตที่ต้องติดตามกันต่อไป”
การปรับตัวของแต่ละสำนักพิมพ์
สำหรับสำนักพิมพ์ที่ยังไม่เคยออกบูทอย่าง ‘ไลบรารี่ เฮ้าส์’ และ ‘อ่านอิตาลี’ เห็นตรงกันว่า สำนักพิมพ์ขนาดเล็กยังมีสภาพคล่องน้อย ยิ่งค่าเช่าบูทเพิ่มสูงขึ้น ก็ยิ่งกลายเป็นเรื่องยาก ถ้าอยากจะเริ่มออกบูทเพราะต้องทำให้รายได้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย หลายสำนักพิมพ์เลยเลือกที่จะฝากหนังสือไปกับบูทอื่นๆ แทน อย่างไลบรารี่ เฮ้าส์ มีหนังสือวางจำหน่ายในบูทของเคล็ดไทย กำมะหยี่ มติชน และเอ็มบุ๊คส์ ส่วนอ่านอิตาลีมีหนังสือวางจำหน่ายอยู่ที่บูทของเคล็ดไทย และเม่นวรรณกรรมที่มีหนังสือวางจำหน่ายในบูท เช่น มติชน I48, เป็ดเต่าควาย G37, คมบาง M25 ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม รังสิมา ตันสกุล จากสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ มองว่าค่าเช่าบูทที่แพงขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะการปรับปรุงสถานที่ใหม่ย่อมมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเป็นธรรมดาและราคาบูทก็ไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดที่ทำให้ทางสำนักพิมพ์ไม่ได้ออกบูทในปีนี้ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะไลบรารี่ เฮ้าส์ เน้นงานวรรณกรรมแปลเลยต้องเดินทางไปพบเอเจนซีลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ ซึ่งมักจะเป็นเวลาที่ค่อนข้างคาบเกี่ยวกับงานสัปดาห์หนังสือในประเทศไทย
ส่วนขาประจำของงานสัปดาห์หนังสืออย่าง ‘แซลมอนบุ๊คส์’ ก็ยังคงร่วมเปิดบูทภายในงานเช่นเดิม โดยปฏิกาล ภาคกาย จากสำนักพิมพ์แซลมอนบุ๊คส์ มองว่าค่าเช่าบูทเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวและยังพอจะบริหารจัดการได้
“เราว่ามันก็ส่งผลกับสำนักพิมพ์ในการออกบูท ง่ายๆ ก็คือถ้าค่าบูทขึ้นเราก็ต้องขายของให้ได้มากขึ้น เพื่อที่จะเอามาหักลบกลบหนี้ให้ได้ ซึ่งอันนี้มันจะไปส่งผลกับเรื่องที่ว่า เราจะทำยังไงกับสินค้าของเรา เราจะหาทางดึงคนเข้าบูทยังไงให้ได้มากที่สุด ชวนคนให้ไปงานหนังสือให้ได้ยังไงบ้าง หรืออาจจะกระทบเรื่องโปรโมชั่น จากที่เคยสามารถแจกของแถมได้เท่านู้นเท่านี้ ก็อาจจะต้องปรับเรตไหม แต่เราคิดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังจัดการได้ อาจจะเพราะว่าเรายังมีหนังสือที่เตรียม ที่วางแผนอยู่ พอเรารู้ว่ามันต้องมีค่าบูทเพิ่มขึ้นหรืออะไรก็ตามเพิ่มขึ้น เราก็ต้องพยายามคิดหาทางรับมือกับมัน เพราะว่าสุดท้ายแล้วในกรณีของเรา มันเป็นโจทย์มาว่าเราต้องไปออกบูท”
ปฏิกาลเล่าว่า เหตุผลที่ทำให้แซลมอนบุ๊คส์ต้องหาวิธีปรับตัวและไปออกบูทในทุกๆ ปี นอกจากเรื่องการมีเงินสดมาหมุนเวียนในสำนักพิมพ์แล้ว ยังเป็นเพราะงานนี้ทำให้เหล่านักอ่านได้มาพบปะกับนักเขียน ซึ่งทางสำนักพิมพ์ไม่ได้มีโอกาสจัดงานแบบนี้ขึ้นบ่อยๆ
กำลังซื้อคนอ่านลดลง ขณะที่รัฐยังคงไม่เหลียวแล
อย่างไรก็ตามเรื่องค่าเช่าบูท เป็นเพียงหนึ่งในความท้าทายของสำนักพิมพ์ที่ร่วมออกบูทในงานสัปดาห์หนังสือ แต่เชื่อว่าความท้าทายที่ทุกสำนักพิมพ์กำลังเจอในตอนนี้ คือต้นทุนการทำหนังสือที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กำลังซื้อของผู้คนที่ลดลงในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ และการสนับสนุนจากภาครัฐที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยทางสำนักพิมพ์ Bookscape ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า
“ที่จริงปัญหาข้าวของแพงขึ้นคงไม่ใช่แค่ราคาบูท แต่เป็นต้นทุนการทำหนังสือทั้งหมด ไม่ว่าจะราคากระดาษหรือค่าพิมพ์ ซึ่งกระทบกันทั้งวงการ สำหรับ bookscape เราพยายามไม่ผลักภาระให้คนอ่านด้วยการขึ้นราคาหนังสือจนสูงลิ่ว หรือลดการทำโปรโมชั่นในงานหนังสือลง เพราะเราไม่อยากให้หนังสือกลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเข้าถึงยากไปกว่านี้ และงานหนังสือก็เป็นวาระพิเศษที่คนทำหนังสืออย่างเราจะได้พบหน้านักอ่าน เราเองก็อยากให้นักอ่านที่แวะเวียนมาเยี่ยมเราที่บูทได้เลือกหนังสือราคาพิเศษเช่นกัน สำนักพิมพ์จึงเลือกใช้วิธีทำโปรโมชั่นพิเศษเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นยอดขายให้นักอ่านมาซื้อกับบูทเราโดยตรง เช่น ของแถมพิเศษสำหรับคนที่มาซื้อหนังสือในงาน หรือโปรโมชั่นเซ็ตราคาพิเศษที่จัดไว้หลากหลายให้นักอ่านมีตัวเลือกตามแนวทางที่สนใจ”
“สำหรับคนทำหนังสือ ยอดขายที่ได้ในงานสัปดาห์หนังสือคือส่วนที่เราจะไม่ถูกหักค่าสายส่ง ซึ่งบางคนอาจเคยทราบข้อมูลมาอยู่แล้วว่าเป็นส่วนแบ่งที่ค่อนข้างสูง การที่สำนักพิมพ์ทำการตลาดดึงคนมาซื้อตรงกับเราในงานหนังสือจึงเป็นช่องทางที่จะช่วยพยุงให้สำนักพิมพ์มีรายรับก้อนหนึ่งเข้ามาช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ให้เราต้องเพิ่มราคาหนังสือจนสูงเกินไป”
“ทั้งนี้ ในอนาคตเราก็หวังว่าจะมีความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อช่วยพยุงธุรกิจสิ่งพิมพ์ ไม่ให้ต้องตกเป็นภาระของผู้ผลิต-ผู้ขาย-ผู้ซื้อแต่เพียงฝ่ายเดียวอย่างทุกวันนี้”