เคยใจหล่นไปที่ตาตุ่มเมื่อตัวละครสักตัวที่เราชอบมีแฟลชแบ็กหรือเปล่า?
หรือเมื่อพวกเขาได้ตอนสบายๆ สักตอน ที่แก้ไขปมตัวละครของพวกเขาตลอดเรื่องได้อย่างเรียบร้อย การเฉลยเหตุผลที่ตัวเขาเป็นในแบบที่ตัวเองเป็น หรืออาจจะการปลดล็อกท่าไม้ตายในการต่อสู้ครั้งสำคัญ เราแทบจะได้กลิ่น ‘โดนัท’ โชยมาในอีกไม่กี่ตอนถัดไปได้เลย และเมื่อความตายของพวกเขามาถึงจริงๆ บางสิ่งในตัวเราก็ไม่เหมือนเดิม ซึ่งบ่อยครั้งมันทิ้งหลุมเวิ้งว้างให้กับเราตลอดการดูหรืออ่านเรื่องนั้นๆ ต่อไป และบางทีความเวิ้งว้างนี้อาจตามไปถึงตอนจบพร้อมความคิดที่ว่า “ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ เขาคงจะมีความสุข”
อาจจะฟังดูเกินจริงสำหรับหลายๆ คน แต่ความรู้สึกของการเห็นเน็ด สตาร์คถูกประหารอย่างอยุติธรรมในเกมออฟโทรนซีซั่นแรก หรือจะเป็นการแตะหน้าผากครั้งสุดท้ายของอุจิฮะ อิทาจินั้นทำเอาเราสงสัยเหมือนกันว่า อะไรทำให้เรารู้สึกกับตัวละครที่ก่อขึ้นมาจากกระดาษและน้ำหมึก จากบทและการแสดงได้มากเท่านี้
เมื่อซีรีส์เป็นมากกว่าซีรีส์
แน่นอนว่าสื่อบันเทิงแต่ละเรื่องทำงานกับเราแตกต่างกันออกไป เราอาจจะดูหนังแอ็กชั่นบางเรื่องเพื่อเอาซีนบู๊ล้างผลาญ อาจดูซิตคอมเพื่อดูชีวิตและสถานการณ์วายป่วงที่ตัวละครต้องเจอ แต่สำหรับบางเรื่องก็ถูกออกแบบมาว่านอกจากมันจะให้ความบันเทิงแล้ว มันยังจับต้องจิตใจและตัวตนของเราไปพร้อมๆ กันด้วย
ในงานวิจัยเกี่ยวกับความรู้สึกหลังจากรายการโทรทัศน์ที่คนคนหนึ่งชื่นชอบจบลงโดยคริสเทล รัสเซล (Cristel Russell) และโฮป ชอว์ (Hope Schau) นักวิจัยจากคณะบริหาร มหาวิทยาลัยเป็ปเปอร์ไดน์ และมหาวิทยาลัยอาริโซน่าตามลำดับ เล่าถึงเหตุผลของความรู้สึกสูญเสียและการใช้ชีวิตร่วมกับความสูญเสียนั้นๆ เมื่อเราต้องแยกทางกับโชว์ที่อยู่กับเรามานานและหลงรักการเล่าเรื่องทั้งหมดของมัน
ข้อสรุปของงานวิจัยมีว่าความรุนแรงและรูปแบบการจบของมันนั้นมีผลต่อความรุนแรงในความรู้สึกที่พวกเขามา และการจบแบบตัดจบหรือเจ๊งนั้นทำให้ผู้บริโภคอาลัยมันด้วยวิธีเดียวกันกับที่พวกเขาอาลัยคนรู้จักเสียชีวิต ‘พวกเขาจัดการกับความสูญเสียนี้แบบเดียวกับความสูญเสียทางกายภาพ โดยการหาผู้คนที่รู้สึกแบบเดียวกับตัวเขาเพื่อรำลึกถึงช่วงเวลาดีๆ ที่เคยมีอยู่เมื่อโชว์ยังไม่ตาย’ รัสเซลพูด
แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องความตายของตัวละคร นี่เป็นตัวอย่างที่วาดภาพให้เราเห็นว่าสื่อบันเทิงนั้นสามารถนำความรู้สึกสูญเสียจริงๆ มาสู่เราได้ โดยรัสเซลให้เหตุผลว่า ‘ทีวีซีรีส์สร้างและคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ของสังคมและวัฒนธรรม พวกมันสามารถคงความสัมพันธ์เหล่านั้นได้อย่างแข็งแกร่งเพราะพวกมันเป็นเรื่องเล่าที่ค่อยๆ คลายออกเมื่อเวลาผ่านไป ให้เวลาผู้ชมของมันพูดคุยวิเคราะห์ต่อกันและกันเกี่ยวกับเรื่องราวและตัวละคร…อาจจะดีหรือไม่ดี เทรนด์ของสังคมหลากหลายผุดกำเนิดมาจากซีรีส์โทรทัศน์ และกลายเปลี่ยนมาเป็นภาษาทางวัฒนธรรมและชีวิตประจำวันของเราในโลกจริง’
โดยโฮปสังเกตการณ์แฟนด้อมของโชว์ เช่น Entourage หรือ The Sopranos เป็นเวลาหลายปี เธอพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างซีรีส์และผู้ชมนั้นไม่ได้เหมือนกับคนและสื่อบันเทิง แต่เป็นเพื่อนมากกว่า และนั่นรวมไปถึงตัวละครที่เขาชอบด้วยนั่นเอง
แล้วอะไรทำให้เรารักตัวละคร?
อย่างนั้นแล้วนอกจากเวลาที่ซีรีส์หรือการเล่าเรื่องแบบค่อยๆ เล่าหลายๆ ตอนให้ได้ มันมีเหตุผลอะไรอีกที่ทำให้เรารู้สึกว่าพวกเขาเหมือนเพื่อนและคนรู้จักของเรา?
จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยคลีฟแลนด์ โรเบิร์ต ราวนีย์ (Robert Rowney) กล่าวกับฮัฟฟิงตันโพสต์ในประเด็นเรื่องความตายของตัวละครในซีรีส์ Grey’s Anatomy ว่า ‘ตัวละครเหล่านี้เป็นหนทางหลีกหนีจากความตึงเครียดของชีวิต…การดูซีรีส์เหล่านี้อนุญาตให้เราได้ผ่อนแรงกดดันออกจากตัวเองชั่วครู่คราว และเรายังได้พบเจอกับแง่มุมต่างๆ ในชีวิตของตัวละคร ความสูญเสีย ความรัก และความโศกของพวกเขา ทุกอย่างที่เป็นมนุษย์’
‘และในที่สุดเราจะเริ่มเห็นอกเห็นใจเขา สร้างความเกาะเกี่ยว เราเริ่มเห็นชิ้นส่วนของตัวเองอยู่ในพวกเขา’ โรเบิร์ตพูดต่อ
เมื่อรู้อย่างนี้ก็เกิดความเข้าใจขึ้นมาในอีกระดับเกี่ยวกับการออกแบบความตายในสื่อต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นหลังจากเรื่องราวของคนคนนั้นกำลังจะสมบูรณ์ ปมที่มัดไว้อย่างแน่นหนาคลายออกแล้ว หรือการทำหน้าที่สุดท้ายเพื่อส่งคบเพลิงแห่งความหวังไปสู่คนอื่นๆ ในเรื่อง การที่นักเขียนเลือกเวลานั้นในการเขียนฉากตายให้ตัวละครนั้นคือการบีบเค้นนำความเป็นมนุษย์สุดท้ายของเขาออกมาเพื่อสร้างแรงกระทบสูงสุดให้แก่ผู้อ่าน
และนั่นอาจทำให้เราเข้าใจความเศร้าที่เกิดขึ้นมาหลังจากนั้นมากขึ้นไปอีก เพราะนอกจากมันเหมือนการสูญเสียเพื่อนแล้ว การเห็นตัวเองในตัวละครก็คือการที่เราจินตนาการตัวเองไปยืนอยู่ในจุดเดียวกันกับพวกเขา ได้รู้สึกถึงหนทางที่เขาเดินมาเพื่อมาถึงจุดที่เขาอยู่ และได้จินตนาการว่าความสูญเสียของเขานั้นเหมือนกับความสูญเสียของเรา ซึ่งนั่นอาจใช้ได้กับทั้งความตายของตัวละครโปรด และกับทั้งความตายของตัวละครที่เป็นที่รักของทุกคนในเรื่องด้วย เพราะในนัยหนึ่งความสัมพันธ์ที่เขามีในเรื่อง ก็กลายเป็นความสัมพันธ์ของเราไปพร้อมๆ กันด้วยเหมือนกัน
โลกจริงแยกกับเรื่องแต่งขนาดไหนกัน?
แต่มันก็ ‘แค่เรื่องแต่ง’ หรือเปล่า? เรารู้อยู่แก่ใจว่ามันเป็นเรื่องไม่จริงหรือเปล่า? แล้วทำไมถึงยังรู้สึกกับมันมากขนาดนั้น?
การ์ตูนเรื่องแขนกลคนแปรธาตุมีเหตุการณ์มากมายในเรื่องที่ได้รับแรงบ้นดาลใจมาจากเหตุการณ์จริงๆ ในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับที่สตาร์วอร์ได้รับแรงบันดาลใจโดยตรงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และ Black Mirror ก็สร้างขึ้นด้วยการบริหารความคิดเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีอันน่าเป็นห่วงของโลกปัจจุบัน
และนั่นเป็นเพียงสามตัวอย่าง ไม่ว่าการเขียนเรื่องแต่งจะหลุดโลกด้วยการจินตนาการถึงจักรวาลอันไกลโพ้น ระบบพลังและเวทมนตร์ที่ไม่มีอยู่จริง เทคโนโลยีที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือการสร้างรัฐบาลและระบบการปกครองที่ไม่มีใครพบเห็นในโลกมาก่อน การแต่งเรื่องไม่ได้เกิดขึ้นในตัวของมันเอง และเรื่องแต่งไม่ได้แปลว่าเรื่องไม่จริง เพราะในแง่มุมหนึ่งมันสะท้อนถึงโลก ถึงอดีต ถึงมนุษย์ ถึงอนาคต และถึงความเป็นจริงอยู่เสมอ ซึ่งเราก็สามารถพูดแบบนั้นได้เช่นเดียวกันเมื่อพูดถึงการเขียนตัวละคร
พระเอกการ์ตูนโชเน็นคือภาพสะท้อนเด็กผู้ชายวัยมัธยมที่กำลังจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในโลกที่เขายังไม่เข้าใจ หรือตัวละครจาก House of the dragon แม้จะเป็นคนที่ต่างชนชั้น ต่างโลก ต่างยุคกันกับเรา เราก็เข้าใจพวกเขาผ่านความเข้าใจในโลกของเรา เป็นพ่อ เป็นแม่ เราอาจไม่ได้เป็นอัศวิน แต่เราก็เป็นคนที่มีความรับผิดชอบและถูกวางความคาดหวัง และถึงเราจะไม่ได้เป็นราชินีหรือเจ้าหญิง เราก็เข้าใจถึงระบบที่ความเป็นชายกดทับความเป็นหญิง
และในทางกลับกัน เราสามารถเรียกวิธีที่เรามองโลกความเป็นจริงว่าแตกต่างจากโลกของเรื่องแต่งได้มากน้อยเพียงไหน? นึกถึงความทรงจำที่น่าจดจำที่สุดของตัวเอง หรือความทรงจำที่เรารังเกียจแต่ไม่อาจเอามันออกไปได้ เรานึกถึงมันอย่างที่มันเกิดมากขนาดไหน?
เราอาจตอบคำถามนั้นได้จากการดูผลงานในชีวิตของอลิซาเบธ ลอฟตัส (Elizabeth Loftus) จิตแพทย์และศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ผู้ศึกษาเกี่ยวกับความทรงจำมนุษย์และความทรงจำที่ผิดพลาด เช่น มีความเชื่อว่าตัวเองถูกลักพาตัวโดยมนุษย์ต่างดาวหรือเชื่อว่าตัวเองเป็นเหยื่อการถูกล่วงละเมิดทั้งๆ ที่พวกเขาไม่เคยโดน
อลัน อัลดา (Alan Alda) นักแสดงชาวอเมริกันเข้าร่วมปิกนิกกับลูกศิษย์ของอลิซาเบธ ลอฟตัส เมื่อลูกศิษย์หยิบยื่นจากไข่ต้มให้กับเขา อลันปฏิเสธที่จะรับมัน โดยเขาอธิบายว่าเขามีความทรงจำไม่ดีเกี่ยวกับไข่ต้มในวัยเด็กของเขา เพราะเขาจำได้ว่าในวัยเด็กเขาเคยกินไข่ต้มแล้วมันทำให้ท้องไส้ของเขาปั่นป่วนเป็นอย่างมาก
สิ่งที่น่าแปลกที่สุดคือเรื่องนั้นไม่เคยเกิดขึ้นกับอลัน แต่เป็นความทรงจำที่อลิซาเบธปลูกฝังให้กับเขาในการทดลองเกี่ยวกับการปลูกข้อมูลเท็จลงในหัวของคน เธอทำการทดลองเช่นนี้ด้วยวิธีหลากหลายทั้งในและนอกบรรยากาศการทดลอง และผลของการทดลองเหล่านี้ล้วนทำซ้ำได้เป็นร้อยครั้ง ถ้าฟังดูเหนือจริง เราคงต้องบอกว่าหนึ่งในคำยอดฮิตของปีสองปีที่ผ่านมาคือคำว่า Gaslight นั่นแปลว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยกว่าเพียงในการทดลอง
การพบเจอกับโลกความจริงของเราไม่ใช่เพียงการรับรู้ข้อเท็จจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราหรือโลกเท่านั้น แต่มันมีกระบวนการของการตีความข้อเท็จจริงเหล่านั้นออกมาให้เราเข้าใจ ได้มีความเห็นต่อมัน การเก็บความจริงเหล่านั้นด้วยความทรงจำ นึกถึงมันในแบบที่เราเข้าใจ ห้วงเวลาเองก็มอบฟิลเตอร์ต่างๆ ให้กับมันได้ อาจจะสีกุหลาบ หรือเกรดสีดำมืด อย่างนั้นแล้วความทรงจำเหล่านั้นใกล้กันกับข้อเท็จจริง หรือกับนิยายและภาพยนตร์มากกว่ากัน?
ทั้งหมดนี้คือเพื่อบอกว่าเรื่องแต่งและเรื่องจริงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมากกว่าที่เราคิด เช่นนั้นแล้วแม้จะเป็นเรื่องแต่ง ความรู้สึกของเราต่อมันอาจเป็นความจริงได้แน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก