ในขณะที่บทสรุปของสงคราม Infinity war มีอยู่ถึง 14,000,605 วิธี โดยตัวเลขเหล่านี้อาจมาจากผลพวงของการ ‘ตัดสินใจเลือก’ ของตัวละครใดตัวละครหนึ่งในจักรวาล MCU หรือถ้าลองมองดูทางเลือกและบทสรุปของประเทศตอนนี้? โอเค คงต้องข้ามไปก่อน…
พูดถึง ‘ตัวเลือก’ ทำให้นึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เพิ่งตีพิมพ์และวางจำหน่ายไปในช่วงงานหนังสือที่ผ่านมา ซึ่งก็คือ ผจญภัยตามใครเลือก โดย กิตติพล สรัคคานนท์ ที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ Salmon Books เป็นหนังสือแนวเกมทางเลือกที่ให้คนอ่านได้สวมบทบาทเป็นตัวละครสามตัว ไม่ว่าจะ หญิงสาวผู้กลายเป็นผู้ต้องสงสัย เจ้าหน้าที่ผู้เคร่งครัด หรือนักเขียนที่กำลังหลงทางกับการเริ่มต้นเขียนหนังสือสักเล่ม
จะว่าไปแล้วกลวิธีการเล่าเรื่องในหนังสือเล่มนี้อาจจะดูเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับใครบางคน แต่หากอ้างจากหนังสือเล่มนี้ หนังสือรูปแบบนี้มีมาตั้งแต่ต้นศตวรรษ 1970 และที่ดูจะเป็นที่รู้จักก็คือ The adventures of you หรือหลายคนอาจจะรู้จักผ่านเกม interactive ที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้ หรือในตอนนี้อาจต้องพูดถึงหนังจาก Netflix ไม่ว่าจะเป็น Black Mirror : Bandersnatch หรือล่าสุดกับ Wild vs You ซึ่งวิธีของการอ่านหนังสือเล่มนี้ก็คงไม่ต่าง
แต่หากยังนึกภาพไม่ออก นี่คือตัวอย่างทางเลือกจากหนังสือที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้เป็นคน ‘เลือก’ สิ่งที่จะเกิดขึ้น
“…การพิจารณาคดีทั้งหมดใช้วิธีปิดลับ การต่อสู้ทางกฎหมายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันสร้างความหวาดวิตกกังวลใจให้คุณ แต่คุณก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะเมื่อยิ่งค้นลงไปคุณก็ได้ทราบว่าหน่วยงานและองค์กรช่วยเหลือนักโทษคดีร้ายแรงได้ถูกสั่งปิดและกวาดล้างไปเกือบหมดแล้ว”
คุณรู้สึกสิ้นหวังและยอมรับคำตัดสิน
[พลิกไปหน้า112]
คุณตัดสินใจหนี
[พลิกไปหน้า 52]
หนังสือจะเล่าเรื่องที่ผู้เขียนวางโครงเอาไว้อย่างซับซ้อนและคนอ่านมีหน้าที่เปิดไปตามสิ่งที่ผู้เขียนบอกไว้ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ทุกเรื่อง ทุกฉาก เป็นการเล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา บางย่อหน้าก็เต็มไปด้วยรายชื่อคนในแวดวงวิชาการจนอาจทำให้เรางงไปบ้าง แต่ไม่ว่าคนอ่านจะเป็นใคร เชื่อว่าจะเข้าใจสถานการณ์ในเรื่องได้ไม่ยาก เป็นจินตนาการที่เอาโลกความเป็นจริงมาจับวางได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ เนื้อเรื่องเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าที่หากเราสวมบทบาทเป็นนักเขียน เราก็จะติดอยู่กับคำถามว่าเราเขียนเรื่องนี้ไปทำไม หรือถ้าเราได้เป็นตัวละครในเรื่องเล่าของนักเขียนคนนั้น เรื่องก็จะพูดถึงคดีแปลกประหลาดที่ไม่ว่าใครก็ตกเป็นผู้ต้องสงสัยได้
ความสนุกของหนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้อยู่ที่เนื้อเรื่องเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อยู่ที่การตรวจสอบความคิดของเราในตอนที่เลือกนั่นเอง เพราะแน่นอนว่าการอ่านหนังสือทำให้คนอ่านได้มีเวลาคิดมากขึ้นก่อนตัดสินใจเลือก ไม่ได้เป็นการเลือกตามสัญชาตญานเหมือนตอนที่ได้เล่นเกมซึ่งมีเวลาจำกัดกว่า นี่จึงเป็นการใช้สมองส่วนจิตสำนึกในการไตร่ตรองล้วนๆ ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนึ่งในหนังสือที่อยากชวนให้ลองมาอ่านดูสักครั้ง ในโลกที่เทคโนโลยีทำให้เรารู้สึกเหมือนตัวเองมีทางเลือกมากมาย
แท้จริงแล้วมันคือทางเลือกจริงๆ หรือเปล่า
แล้วทางเลือกนั้นเราใช้กฎเกณฑ์หรือจริยธรรมใดในการเลือก
ทางเลือกของเรา?
แน่ใจได้ยังไงว่าเรา ‘เลือก’ ด้วยความเป็นเราจริงๆ? เพราะหากใครได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบอาจจะเห็นว่า หนึ่ง—เราเลือกได้แค่สองทาง จะเปิดหน้านั้นหรือจะเปิดหน้านี้ ในทางเลือกที่มีมันคือการล็อกเส้นทางไว้ จนกว่าเราจะไม่เลือกอะไรเลยที่ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเหมือนกัน และสอง—สิ่งที่บรรยายในหน้าที่เราเลือกก็อาจจะไม่ใช่ภาพที่เราคิดว่ามันจะเกิดขึ้น ดังนั้นท้ายที่สุดแล้วเรามีทางเลือกจริงๆ หรือเปล่า
แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้ทำให้นึกถึงขอถกเถียงทางปรัชญาที่หลายคนน่าจะได้ยินมาเป็นพันครั้งเกี่ยวกับ free will หรือเจตจำนงเสรี ซึ่งสรุปง่ายๆ ว่าถ้าเชื่อว่าเราสามารถ ‘เลือก’ ที่จะทำอะไรก็ได้อย่างอิสระ (เพราะไม่ได้ขอตังค์ใคร) ก็จะเป็นฝ่ายที่เชื่อใน ‘free will’ แต่ถ้าเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เลือกมีสาเหตุที่ทำให้เราเลือกก็จะเป็นฝ่ายที่เชื่อใน ‘determinism’ ทั้งสองฝ่ายคือคู่ตรงข้ามความเชื่อกันอย่างสิ้นเชิง เพราะฝ่ายหนึ่งมองว่าตัวเองมีอิสระในการตัดสินใจเลือก ในขณะที่อีกฝ่ายมองว่าตัวเองไม่ได้มีอิสระที่จะตัดสินใจเลือก แต่เกิดจากสาเหตุบางอย่างเช่น ประสบการณ์ พระเจ้า หรือการบังคับ
ยกตัวอย่าง ถ้ามีตัวเลือกให้ว่าเราจะเลือกขโมยเงินจากพ่อแม่หรือไม่ ถ้าเชื่อใน free will เราก็จะตัดสินใจเลือกว่าจะขโมยหรือไม่ขโมย โดยมองว่าเป็นอิสระของเราที่จะเลือกกระทำสิ่งนั้น แค่นั้น แต่ถ้าเราเชื่อใน determinism ก็จะมองว่ามีอะไรบางอย่างมาบังคับให้เราตัดสินใจทำแบบนั้น เช่น เลือกขโมยเพราะต้องการเงินไปใช้ หรือเลือกไม่ขโมยเพราะเป็นเรื่องผิดบาป
และนี่ก็เป็นทางเลือกว่าแต่ละคนจะเชื่อแบบไหนด้วย
แต่มากไปกว่านั้น การอ่านหนังสือ ผจญภัยตามใครเลือก อาจพาเราไปไกลกว่าการถามตัวเองว่ามนุษย์มี free will รึเปล่า แม้จะเป็นหนังสือที่มีทางเลือกที่พาไปสู่บทสรุป 11 แบบ คนอ่านบางคนอาจจะรู้สึกสนุกกับการได้เลือก ในขณะที่บางคนอาจจะสงสัยว่านี่เราได้เลือกจริงๆ รึเปล่า เพราะมันก็ยังเป็นการบังคับให้คนอ่านอ่านตามที่ผู้เขียนกำหนดไว้
แต่ที่บอกว่าพาไปไกลกว่า เพราะนอกจากการสงสัยเรื่องการ ‘เลือก’ หรือ ‘ไม่เลือก’ แล้ว อีกคำถามที่หนังสือเล่มนี้อาจอยากให้ลองสังเกตไม่ใช่เรื่องของการ ‘เลือกอะไร’ แต่คือ ‘เราเลือกเพราะอะไร’ ซึ่งจะช่วยทำให้เราได้ตรวจสอบความคิดตัวเองมากขึ้น เพราะในระบบการศึกษาของประเทศนี้มักเจอคำถามว่าสิ่งนี้คืออะไร สิ่งนั้นคืออะไร แต่น้อยครั้งที่จะถามกันว่า ‘ทำไม’ จึงมีสิ่งนั้น
แน่นอนว่าเราจะเลือกไม่อ่านหนังสือเล่มนี้ก็ได้เหมือนกัน มันก็เป็นหนึ่งในทางเลือกนะ แต่ ‘ทำไม’ ถึงเลือกไม่ลองอ่านล่ะ?
อ้างอิงข้อมูลจาก