Nosferatu (2024) ที่กำกับโดย โรเบิร์ต เอ็กเกอรส์ (Robert Eggers) เป็นเรื่องราวการอัญเชิญแวมไพร์โบราณ ที่รู้จักกันในชื่อ เคานต์ ออร์ล็อค (Count Orlok) โดย เอลเลน ฮัตเตอร์ (Ellen Hutter) ผ่านการเชื่อมต่อระหว่างเธอกับอาณาจักรวิญญาณ
เรื่องราวเกี่ยวกับ Nosferatu ยังสามารถย้อนไปในปี 1922 ภาพยนตร์เงียบสัญชาติเยอรมัน Nosferatu: A Symphony of Horror กำกับโดย เอฟ. วี. มูร์เนา (F. W. Murnau) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวตำนานของ ‘เคานต์แดร็กคูล่า’ ถูกฉายรอบปฐมทัศน์ในเบอร์ลิน ซึ่งเป็นเวลาที่ความทรงจำร่วมเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยังคงสดใหม่
ทั้งนี้ แม้ว่า Nosferatu เวอร์ชั่นต้นฉบับจะผ่านมาราวร้อยปีแล้ว แต่อาจด้วยความระทึกขวัญและความน่าจดจำ ทำให้ผลงานชิ้นนี้ยังเป็นที่พูดถึงจวบจนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หากมองลึกเข้าไปในผลงานอันน่าหวั่นกลัวนี้ เราอาจเห็นภาพบางอย่าง ที่เกี่ยวเนื่องกับความรู้สึกของผู้คนและสังคมเยอรมันในห้วงเวลานั้น

Nosferatu (2024) cr. FOCUS FEATURES LLC. ALL RIGHTS RESERVED.
Nosferatu ผลงานที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อสะท้อนความทุกข์ทน
สงคราม ความหิวโหย ความเจ็บป่วย การสูญเสีย ความไร้ซึ่งยุติธรรมในเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถูกสะท้อนออกมาเป็น เคานต์ ออร์ล็อค (Count Orlok) แวมไพร์ผู้ชั่วร้าย หรืออีกสมญานามคือ นอสเฟอราตู (Nosferatu) ที่ไม่ใช่ชื่อของตัวละคร แต่เป็นคําที่ไว้เรียกแวมไพร์ ที่มีรากภาษามาจากโรมาเนียโบราณ
เคานต์ ออร์ล็อก ถูกปลุกขึ้นมาเพื่อกัดกินผู้คน ด้วยการสร้างความเจ็บปวดอันแสนสาหัสทั้งด้านจิตใจและกายภาพ ซึ่งออร์ล็อกแตกต่างจากแวมไพร์ตนอื่น เพราะยากที่จัดการให้สิ้นซาก ไม่ต่างกับปัญหาที่คนเยอรมันต้องประสบพบเจอเรื่อยๆ หลังสงครามจบลง

Nosferatu (2024) cr. FOCUS FEATURES LLC. ALL RIGHTS RESERVED.
อย่างไรก็ดี จุดกำเนิดของที่แท้จริงของมัน มาจากคำบอกเล่าของแม่ชีออร์โธดอกซ์ (Orthodox) ที่กล่าวกับ โทมัส ฮัตเตอร์ (Thomas Hutter) สามีของเอลเลนว่า “เคานต์ขายวิญญาณของตัวเองให้กับปีศาจและเวทมนตร์อันดำมืด ขณะที่เขายังเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา”
ความปรารถนาเดียวที่แวมไพร์ตนนี้ต้องการคือ การครอบครองเอลเลน ผู้ซึ่งเรียกหา เคานต์ ออร์ล็อก เนื่องด้วยความรู้สึกหิวกระหายความปรารถนาใครสักคน เพื่อมาเติมเต็มความรู้สึกโดดเดี่ยวของเธอ
เมื่อแวมไพร์ตนนี้เยือนวิสบอร์ก (Wisborg) – เมืองสมมติในเยอรมนี ทั่วทั้งเมืองถูกหนูครอบงำและโรคระบาดรุมเร้าทันที มีแต่ความโกลาหล ผู้คนต่างล้มตาย และเรียกร้องหาพระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้เอลเลนถือเป็นผู้เดียว ที่มีอำนาจในการหยุดยั้งฝันร้ายดังกล่าว

Nosferatu (2024) cr. FOCUS FEATURES LLC. ALL RIGHTS RESERVED.
สังคมผุพังในเยอรมัน เมื่อกลายเป็นผู้แพ้ ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ภาพความผุพังของสังคม ที่เป็นพื้นหลังของเรื่อง เป็นเหมือนกระจกสะท้อนสังคมเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (World War I) หรือที่เรียกว่า มหาสงคราม (The Great War) เริ่มขึ้นในปี 1914 หลังจากการลอบสังหารอาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย (Archuke Franz Ferdinand of Austria)
การฆาตกรรมดังกล่าวเปรียบเป็นฟืนขนาดใหญ่ ที่ถูกจับโยนเข้าไปในความขัดแย้งที่กำลังร้อนละอุ จากความขัดแย้งได้กลายเป็นสงครามที่ลามไปทั่วยุโรป และกินเวลาไปถึงปี 1918 ซึ่งตัวละครในสนามการสู้รบในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่
- ฝ่ายมหาอำนาจกลาง (the Central Powers) เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี บัลแกเรีย และจักรวรรดิออตโตมัน
- ฝ่ายสัมพันธมิตร (the Allied Powers) บริเตนใหญ่ ฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาลี โรมาเนีย แคนาดา ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ดี การปะทะกันของทั้งสองฝั่งจะเป็นในรูปแบบสงครามสนามเพลาะ ที่ต่างฝ่ายต่างรอกันว่าใครจะเป็นผู้บุกก่อน ดังนั้นทหารหนุ่มจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ อยู่ในหลุมดินที่เปรียบเสมือนเป็นบ้านชั่วคราว ที่ไว้ทั้งหลบภัย ใช้ชีวิต และเตรียมการต่อสู้

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง cr. HISTORY
สนามเพลาะจึงกลายเป็นทุกอย่างสำหรับพวกเขา แต่ด้วยพื้นที่ที่ไม่เอื้อต่อสุขอนามัยที่ดี จึงมีหนูยั้วเยี้ยอยู่เต็มทุกอณู ทำให้ทหารหลายต่อหลายคนล้มป่วยและสภาพจิตใจย่ำแย่
‘หนู’ ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจ ที่เหล่าทหารต้องคอยปัดหรือกำจัดทิ้ง ระหว่างอยู่ในสนามเพลาะ พวกมันทั้งแย่งอาหาร หรือแม้แต่เกาะตามเนื้อตัวของทหาร และที่เลวร้ายที่สุดคงจะหนีไม่พ้นการเกิดโรคระบาดที่มาจากหนู (the plague of rats) จนมีการออกคำสั่งให้กำจัดหนูอย่างจริงจัง ด้วยยาพิษ สุนัข รวมถึงการจัดการแข่งขันกีฬาจับหนู ที่ยิ่งจับมากเท่าไร ก็ยิ่งได้รับเงินตอบแทนมากเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าสนามเพลาะเป็นศูนย์รวมของ หนู และโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งตรงกับสมญานามของ เคานต์ ออร์ล็อก ที่ถูกบรรยายว่าเป็นแวมไพร์ที่นำมาซึ่งโรคระบาดและหนู นอกจากนี้ หากลงลึกไปที่ชีวประวัติของผู้สร้าง Nosferatu เวอร์ชั่นต้นฉบับ จะพบว่า เอฟ. วี. มูร์เนา เคยเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอีกด้วย

cr. IWM (Q 115420)
จุดตกต่ำของเยอรมนี กลายเป็นแรงบันดาลใจ

เยอรมนี cr. Bundesarchiv
แม้สงครามจะยุติลงแล้ว แต่ความน่าสะพรึงกลัวของมหาสงคราม ยังทำให้ผู้คนต่างจดจำความเจ็บปวด ที่ยังคงทิ้งร่องรอยเอาไว้ มิหนำซ้ำหากกล่าวในภาพใหญ่ การสู้รบที่กินเวลานานหลายปี ส่งผลกระทบต่อการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับเยอรมนี
เยอรมนีถูกลงโทษอย่างรุนแรงตามข้อกําหนดของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles) ขณะที่สาธารณรัฐไวมาร์ หรือสาธารณรัฐเยอรมนี (Weimar Republic) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ก็ต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งในทางการเมืองและสังคม
ประชาชนในเยอรมันถูกทำให้กลายเป็นผู้แพ้โดยสมบูรณ์แบบ ด้วยจำนวนทหารที่สูญเสียไปในสนามเพลาะ และการเผชิญกับความอดยากและโรคภัยไข้เจ็บ ที่พลเมืองชาวเยอรมันจำเป็นต้องกล้ำกลืนรับหลังจากนั้น

cr. FOCUS FEATURES LLC. ALL RIGHTS RESERVED.
เนื่องจากเงินทุกมาร์ก–ค่าเงินเยอรมันในตอนนั้น จะถูกนำไปเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม (war reparations) การจ่ายค่าชดเชยทั้งในรูปแบบทรัพย์สินและเครื่องมือ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 23,600 ล้านมาร์ก เปรียบเป็นเงินปัจจุบันอยู่ที่ราว 12.5 พันล้านดอลลาร์ให้กับฝ่ายพันธมิตร ส่งผลให้เยอรมนีตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
ดังนั้นการชดเชยความเสียหายจากสงคราม สำหรับประชาชนชาวเยอรมันมองว่าไม่เป็นธรรม จนสร้างความขุ่นเคือง และอัดอั้นตันใจให้แก่สังคมเยอรมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะพวกเขารู้สึกว่าเยอรมนีไม่ควรแบกความรับผิดชอบอยู่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ถือเป็นชนวนสำคัญ ที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
อาจกล่าวได้ว่า ‘ความตาย’ ถือเป็นธีมหลักในการพรรณนาเรื่องราวใน Nosferatu และ เคานต์ ออร์ล็อก ก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเปรียบเป็นสงครามและความโหดร้าย ที่สังคมเยอรมันในตอนนั้นต้องประสบ
อ้างอิงจาก