“เราไม่สามารถแยกประสบการณ์การทำหน้าที่ของพยาบาลในสงครามโลกครั้งที่ 1 ออกจากการประกอบสร้างความเป็นคนขาวได้”
เป็นคำกล่าวของ ซัมราห์นี บอนเนอร์จี (Samraghni Bonnerjee) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธัมเบรีย (Northumbria University) ในงานเสวนา Writing Woman, Writing War ที่จัดขึ้นโดยสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
อาจารย์บอนเนอร์จี มีความสนใจทางวิชาการด้านบันทึกชีวิตศึกษา (life-writing studies) สตรีศึกษา สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และประวัติศาสตร์อาณานิคมและหลังอาณานิคม ซึ่งเสวนาในครั้งนี้ มิ่ง ปัญหา อาจารย์สาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ รับหน้าที่เป็นผู้สรุปเสวนานี้เป็นภาษาไทย
การบรรยายนี้จะขับเน้นสองประเด็นหลักคือ การหยิบยกบันทึกชีวิตของพยาบาลผิวขาวในแนวหน้าสงครามโลกครั้งที่ 1 (world war I) ให้เข้ามาอยู่ในศูนย์กลางของการศึกษาบันทึกชีวิตในสมัยสงคราม เนื่องจากที่ผ่านมาเรื่องราวในสงครามดังกล่าว มักจะได้รับการศึกษาผ่านเสียงของผู้ชายผิวขาวเป็นหลัก รวมถึงการชี้ให้เห็นถึงการสร้าง ‘ความเป็นคนขาว’ (whiteness) ของพยาบาลสตรีผิวขาวในบันทึกเหล่านี้ เมื่อต้องรักษาผู้ป่วยผิวสีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผิวขาวอีกด้วย
The MATTER จึงสรุปเสวนา Writing Woman, Writing War เพื่อให้ทุกคนได้เห็นเรื่องราวในมิติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 1 ผ่านการสำรวจบันทึกของพยาบาลหญิงผิวขาวผู้ทำงานด่านหน้า ซึ่งตลอดที่ผ่านมามุมมองเหล่านี้มักไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก
อาจารย์บอนเนอร์จี เริ่มบรรยายว่า สงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของความเป็นผู้ชายเท่านั้นเพราะผู้หญิงถูกห้ามเข้าร่วมรบ ดังนั้น บันทึกในช่วงเวลาดังกล่าวจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ เป็นบันทึก และเป็นเรื่องราวของผู้ชาย
เช่น อัตชีวประวัติจากสนามเพลาะของโรเบิร์ต เกรฟส์ (Robert Graves) ที่ชื่อว่า Goodbye to All That ปี 1929 และผลงานของ ซีกฟรีด แซสซูน (Siegfried Sassoon) Memoirs of an Infantry Officer ปี 1930 และอื่นๆ อีกมากมาย ที่บันทึกเรื่องราวและประสบการณ์ของตนเองในฐานะทหาร หรือเจ้าหน้าที่แนวหน้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งการบันทึกข้างต้นยิ่งตอกย้ำความเป็นชายโดยแก่นสารของสงครามดังกล่าว
ดังนั้น การบรรยายจึงเน้นหนักไปที่การสำรวจงานประเภทบันทึกชีวิตของสตรี ที่เป็นพยาบาลทหารในโรงพยาบาลที่ตั้งในสนามรบ หรือโรงพยาบาลที่บริเตน รวมทั้งผู้หญิงที่ทำหน้าที่ขนย้ายผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาล
“ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ฉันอ่านวิเคราะห์ใช้ชีวิตและเดินทางเข้าออกแนวรบใกล้เขตฉนวน (No Man’s Land) หรือทำงานในโรงพยาบาลสงครามในแนวหน้าฝั่งตะวันตก อินเดียตะวันตก อียิปต์ แนวหน้าเมโสโปเตเมีย (อิรักและปาเลสไตน์) กรีซ เซอร์เบีย ปาปัวนิวกินี”
อาจารย์ย้ำว่า ความเป็นคนขาว (whiteness) จะเป็นจุดสำคัญที่ปรากฏในงานเขียนของพวกเธอ เพราะต้องดูแลผู้ป่วยหลากหลายชาติพันธุ์ ฉะนั้นแล้ว วงศาวิทยา (genealogy) แนวการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมของความขาวนั้น ถูกประกอบสร้างขึ้นในโรงพยาบาลช่วงสงคราม
โดยมีวัฒนธรรมอาณานิคมแทรกซึมอยู่ เพราะการปฏิบัติของพยาบาลผิวขาวที่มีต่อทหารผิวขาว การก่อสร้างความเป็นคนขาวนั้นไม่ปรากฏให้เห็น ทว่าหากพวกเธอพบเจอทหารหรือผู้ป่วยผิวสีอื่น พยาบาลเหล่านี้จะสร้างความขาวขึ้น เพื่อต้านความไม่เป็นคนขาว (non-whiteness) ซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในบันทึกของพวกเธอ
ผลงานเขียนที่อาจารย์บอนเนอร์จีนำมาเป็นตัวอย่างได้แก่ Not So Quiet โดย เฮเลน เซนน่า สมิธ (Helen Zenna Smith) The Backwash of War โดย เอลเลน นิวโบลด์ ลา มอตต์ (Ellen N. LA Motte) และ The Forbidden Zone โดย แมรี่ บอร์เดน (Mary Borden)
- Not So Quiet พรรณนาถึงสงครามโดยมุ่งเป้าไปที่การแสดงความกล้าหาญและการเสียสละ ซึ่งผู้เขียนนําเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้หญิง ที่มีบทบาทในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
- The Backwash of War เรื่องราวเน้นย้ำถึงบทบาทของพยาบาลที่เกิดความรู้สึกขัดแย้งในตัวเอง ขณะที่ต้องพยายามรักษาชีวิตท่ามกลางนรกแห่งการทําลายล้าง จนนำไปสู่คำถามที่ว่า “หน้าที่ที่แท้จริงของเธอ (ผู้เขียน) ต่อผู้ป่วยคืออะไร?” เช่น เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่า ควรช่วยเหลือชีวิตทหารเพื่อให้พวกเขากลับไปสู้รบในสนามเพลาะอันเลวร้ายอีกครั้งหรือไม่
- The Forbidden Zone ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับบทบาทที่ขาดไม่ได้ของผู้หญิงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเนื้อหาในหนังสือแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงโดยเฉพาะพยาบาลเป็นเสาหลักท่ามกลางความโหดร้ายของสงคราม อย่างไรก็ตาม พวกเธอต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายภายในสภาพแวดล้อมที่ครอบงําโดยผู้ชาย นอกจากนี้ บอร์เดนหรือนักเขียนยังบรรยายายถึงความบอบช้ำทางอารมณ์ที่ทหารต้องเผชิญ ซึ่งในปัจจุบันโรคดังกล่าวมีชื่อว่า ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) บอร์เดนยังย้ำว่า บาดแผลทางใจจากสงครามนั้นลึกกว่าการบาดเจ็บทางร่างกาย ซึ่งถือเป็นหลักฐานชิ้นแรกๆ ที่อธิบาย psychological trauma
พวกเราที่ดูแลชาวฝรั่งเศสและชาวเบลเยียม มองเข้าไปในจิตใจและจิตวิญญาณของผู้ป่วย เราเห็นบาดแผลในหัวใจ และเรายังตระหนักถึงความขุ่นเคืองทางศีลธรรม ที่เข้าครอบงำจิตใจของพวกเขา ใช่ มีอะไรที่ต้องทำมากกว่า การเช็ดและพันบาดแผลและล้างโคลนออกจากเสื้อผ้า
โรงแรมทั้งหมดได้รับการร้องขอจากรัฐให้ถูกใช้เป็นโรงพยาบาล .. เป็นเรื่องแปลกที่ได้เห็นชาวอัลจีเรีย ชาวโมร็อกโก และชาวเซเนกัลผิวดำที่อยู่ท่ามกลางกชาวฝรั่งเศสและเบลเยียม ที่ได้รับบาดเจ็บและนอนอยู่บนเตียงอันงดงามในห้องรับรองซึ่งถูกตกแต่งอย่างหรูหรา
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้กลายเป็นวอร์ด เป็นเรื่องดีที่ชาวฝรั่งเศสทำเช่นนี้และปฏิบัติต่อทหารทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ต่างกับอังกฤษที่มีการแยกโรงพยาบาลให้กับกองทหารอินเดียโดยเฉพาะ (Edla Wortabet, British Journal of Nursing: 343-44)
“บันทึกเหล่านี้นอกจากกล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงในสงครามโลก แต่ยังชี้ให้เห็นการสร้างความเป็นคนขาวของพยาบาลสตรีผิวขาว เมื่อพวกเธอต้องรักษาผู้ป่วยผิวสีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผิวขาว”
อาจารย์มิ่งสรุปเสริมว่า กลุ่มงานเขียนนี้ที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงใน conflict writing ทว่าการศึกษาผลงานเหล่านี้ทำให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่เกิดขึ้นท่ามกลางพยาบาลอาสาสมัคร (Voluntary Aid Detachments) ที่ไม่มีประสบการณ์เฉพาะทาง จึงได้รับหน้าที่ทำความสะอาด และงานอื่นเล็กๆ น้อยๆ ในขณะที่ผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาด้านนี้มาโดยเฉพาะ ก็จะมีหน้าที่รักษาคนไข้ เช่น ทำแผล ดังนั้นบันทึกเหล่านี้จะพบประเด็นเรื่องชนชั้นอยู่เป็นระยะ
เมื่อเธอต้องการพูดกับฉัน เธอมักจะตะโกนว่า “Narse!” ยกเว้นตอนที่เธอจำเป็นต้องเจาะจงชื่อของฉัน – ‘Narse! Narse! V.A.narse อยู่ที่ไหน! ทําไมเธอถึงไม่กวาดพื้นตรงนี้ – หรือทําเตียงนี้ – หรือล้างถังนี้ – หรืองานอะไรก็ตาม (Vera Brittain, Testament of Youth: 170)
ยิ่งพยาบาลอาสาถูกสั่งให้ทํางานที่ถูกมอบหมายนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งนำไปสู่การรับผิดชอบงานที่พื้นฐานมากขึ้นเท่านั้น ที่ St Jude’s ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้รับประสบการณ์ในการรักษาโรคมาลาเรียและปอดบวม แม้ว่าฉันจะเคยเรียนรู้มันจากมอลตาและหอผู้ป่วยที่เมืองอีทาเพิลส์ (Vera Brittain, Testament of Youth, 451)
บอนเนอร์จี ยังเสนอว่า การศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1 ย่อมเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์อาณานิคม (history of colonialism) เสมอ แม้การศึกษาอย่างแรกมักจะนำไปสู่การเลี่ยงอย่างหลังก็ตาม และงานเขียนเกี่ยวกับสงครามของสตรีและการทำงานในสงครามนั้นไม่อาจเข้าใจได้นอกบริบทอาณานิคม ซึ่งเป็นเบื้องหลังของทั้งสงคราม
“เราไม่สามารถแยกประสบการณ์ของพยาบาล ออกจากการประกอบสร้างความเป็นคนขาว”
เพราะการเล่าสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับผู้ที่มีผิวสีอื่นๆ ในบันทึก ก่อให้เกิดการความรู้สึกนึกคิดความเป็นคนขาว โดยเหยียดชาติพันธุ์อย่างเห็นได้ชัด และยังก่อให้เกิดความตึงเครียดของหมู่นายทหารผิวขาว ที่รู้สึกไม่ไม่สบายใจที่พยาบาลผิวขาวต้องดูแลคนไข้ผิวสี เลยมีการย้ายเจ้าหน้าที่เหล่านี้ออกจากโรงพยาบาลที่รักษาคนผิวสี และมอบหมายให้พยาบาลผู้ชายมาดูแลแทน
มีหลักฐานที่เขียนขึ้นโดย ฮาเวล็อค ชาร์ลส์ (Haverock Charles) พลีตรีและแพทย์ชาวอังกฤษ ที่ประณามการจ้างพยาบาลหญิงให้มาดูแลกองทหารอินเดียว่า “ผมบอกคุณ [เลขาธิการทหาร] แล้ว เราต้องปกป้องเรื่องอื้อฉาวนี้ด้วยการพยาบาลเหล่านี้หยุดให้บริการ”
อาจารย์มิ่ง ยกตัวอย่างว่า มีการระบุชี้ว่าเจ้าหน้าที่ชาวเซเนกัล [ชาวแอฟริกัน] กินเนื้อมนุษย์หรือเปล่า หรือบางครั้งรู้สึกขัดหูขัดตาที่ต้องดูแลและรักษาคนไข้กลุ่มนี้ ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่คนขาวยังก็ตีกันเอง พยาบาลออสเตรเลียที่ระบุว่าตัวเองเป็นอังกฤษ ทั้งๆ ที่ ออสเตรเลียกลายเป็นดินแดนและประเทศใหม่ไปแล้ว ซึ่งพวกเธอทะเลาะกับพยาบาลอังกฤษในประเด็นที่ว่าใคร ‘ขาว’ กว่ากัน
“การศึกษาบันทึกพยาบาลเหล่านี้ไม่ควรถูกมองแยกขาดจากจักรวรรดินิยม เราจะดึงเสียงของผู้หญิงที่หายไปในบริบทสงคราม ซึ่งสามารถวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้เป็นการลดทอนการทำงานอย่างหนักของผู้หญิง การศึกษานำไปสู่การสร้างบริบท ตัวตน และเรื่องราวของพวกเธอให้ชัดเจนมากขึ้น” อาจารย์มิ่ง ระบุทิ้งท้าย