ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 วิกฤตด้านอาหารอย่างรุนแรงได้เกิดขึ้นที่จุดศูนย์กลางของสงครามในทวีปยุโรป มันทั้งราคาแพงขึ้นและขาดตลาด ทหารต่างรันทดจากภาวะขาดอาหาร เนื่องจากคนงานเกษตรกรรมส่วนใหญ่ต่างได้รับคัดเลือกเข้ารับราชการทหารเพื่อไปรบ รวมไปถึงฟาร์มต่างๆ บางส่วนถูกเปลี่ยนไปเป็นสนามรบ เป็นผลให้ภาระการป้อนวัตถุดิบอาหารแก่ฝ่ายพันธมิตรทั่วยุโรปรวมถึงแผ่นดินสหรัฐอเมริกาต้องตกอยู่กับสหรัฐอเมริกาแต่เพียงผู้เดียวไปโดยปริยาย
ในช่วงเดือนมีนาคมปีค.ศ.1917 เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชาร์ลส์ เลทรอปแพค หนึ่งในห้าคนที่ร่ำรวยที่สุดในสหรัฐอเมริกาตอนนั้น ผู้ได้รับการชื่นชมเรื่องการลงทุนที่ชาญฉลาด จนกลายเป็นเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลในสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอแผนหนึ่งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดเพื่อพยุงสินค้าเกษตรกรรมรวมถึงก่อนที่ทหารและประชาชนจะพ่ายแพ้สงครามอย่างอับอายเนื่องจากไม่มีเสบียงเพียงพอ
ชาร์ลส์ได้เสนอให้จัดตั้ง ‘สวนสงครามแห่งชาติ’ (National War Garden Commission) เพื่อส่งเสริมให้ชาวอเมริกันมีส่วนสนับสนุนส่วนร่วมในการทำสงคราม และการฟื้นฟูวิกฤติด้านอาหาร
สวนสงครามคืออะไร? มันคือด้วยนโยบายที่สนับสนุนให้ประชาชนต่างปลูกผักผลไม้ ดูแลรักษาให้เติบโต จากนั้นจึงเก็บเกี่ยวเก็บผักและผลไม้ของตนเอง โดยบางส่วนเก็บไว้กินเองในครอบครัวและชุมชน บางส่วนขายส่งออกไปยังฝ่ายพันธมิตรในสงคราม
แน่นอนว่ามันไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำสั่งงูๆ ปลาๆ
ที่โยนให้ประชาชนรับผิดชอบตนเองดั่งผู้นำที่ไม่มีวิสัยทัศน์
เพราะการที่ประชาชนจะทำได้นั้นส่วนหนึ่ง
ก็ต้องมาจากการสนับสนุนของรัฐบาล
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนด้วยการให้ประชาชนได้ใช้ที่ดินเปล่าจำนวนมากที่ยังไม่ได้ทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นบริเวณโรงเรียน บริษัท สวนสาธารณะ สวนหลังบ้าน หรือแม้แต่ที่ดินเปล่าใดๆ ที่มีอยู่
การผลักดันระดับท้องถิ่นก็สำคัญเช่นกัน สมาคมต่างๆ ในท้องถิ่นต่างส่งเสริมและรณรงค์การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปลูกพืชผลอย่างแข็งขัน ชาวสวนมือใหม่มือสมัครเล่นต่างได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีการปลูกพืชผักการดูแล การป้องกันโรคและแมลงรบกวน และตามมาด้วยการเก็บพืชผลรวมถึงการรักษามัน
ความพยายามดังกล่าวได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดีเยี่ยม แม่บ้านหลายคนใช้เวลาว่างของตนสร้างรายได้เพิ่มเติมเป็นกอบเป็นกำ เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ธรรมชาติและการเกษตร รวมไปถึงการประกอบอาชีพ โรงเรียนหลายแห่งใช้พื้นที่ของตนเองปลูกพืชผลหลายไร่จนรัฐบาลกลางได้ริเริ่มจัดตั้งกองทัพสวนโรงเรียนแห่งสหรัฐอเมริกา(U.S. School Garden Army : USSGA) เพื่อระดมเด็กๆ เข้าเป็น ‘พลปลูกพืช’ กำลังพลที่สำคัญยิ่งยวดที่ป้อนอาหารให้แก่กองทัพสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร
ต่อมาเมื่อประชาชนมากมายนั้นให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจนได้พืชผลส่งไปรบที่มากเพียงพอ รัฐบาลจึงเริ่มหันมามองการส่งออก พวกเขาเริ่มพัฒนานำผลผลิตที่ได้ไปทำการบรรจุกระป๋องและกรรมวิธีการทำให้แห้ง เพื่อช่วยให้ผู้คนได้ต่างเก็บรักษาพืชผลให้มีอายุยาวนานขึ้น และส่งออกไปยังพื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น
ผลผลิตที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ถั่ว หัวบีต กะหล่ำปลี แครอท คะน้า ผักกาด ถั่วลันเตา มะเขือเทศ สควอช และสวิสชาร์ด ส่วนโปรตีน รัฐบาลได้พยายามปันเนื้อสัตว์ให้สำหรับทหารเป็นหลัก ชาวอเมริกันในประเทศต่างถูกผลักดันให้รับประทานเนื้อสัตว์น้อยลง และหันมาทานถั่วและไข่ หรือเครื่องในสัตว์ให้มากขึ้น
ความสำเร็จนี้ทำให้สหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย หันมาสนับสนุนให้ผู้คนปลูกพืชผลด้วยเช่นกัน เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยลดภาระด้านการจัดแหล่งอาหารแก่กองทัพเท่านั้น แต่มันยังเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับประชาชนอีกด้วย เพราะสวนเหล่านี้นับว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้ประเทศของตนชนะสงคราม ชาวสวนทั้งมือเก่ามือใหม่ต่างมีความจะรู้สึกว่าตนเองนั้นได้ช่วยเหลือประเทศ และยังได้รับผลตอบแทนจากผลผลิตที่ปลูก
ในปีค.ศ.1917 มีสวนใหม่ผุดขึ้นในสหรัฐอเมริกากว่า 3 ล้านแห่ง และกลายเป็น 5.2 ล้านสวนในปีค.ศ.1918 ซึ่งสร้างผลผลิตผลไม้และผักกระป๋องได้กว่าประมาณ 1.37 ล้านลิตร หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ลงในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 พวกเขาได้ประกาศให้สวนเหล่านี้ชื่อว่า ‘สวนแห่งชัยชนะ’ หรือ ‘Victory Garden’ แม้สงครามจะได้ยุติลงแล้ว แต่ผู้คนจำนวนมากยังคงดูแลรักษาสวนเหล่านี้จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง
ไม่นานหลังจากสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง
‘สวนแห่งชัยชนะ’ ที่ยังคงดำเนินมาอยู่เรื่อยๆ
ก็เริ่มกลับมาทำหน้าที่ช่วยเหลือประเทศอีกครั้ง
พืชผลบางส่วนจากเคยส่งออกถูกเปลี่ยนเส้นทางไปยังกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในต่างประเทศโดยเฉพาะทวีปยุโรป ในปีค.ศ.1942 หลังจากสหรัฐอเมริกาประกาศเข้าสงครามอย่างเต็มตัว ชาวอเมริกันในประเทศต่างปลูกผักและผลไม้ในว่างตรงไหนก็ตามที่พวกเขาสามารถหาได้ ตั้งแต่บนดาดฟ้าอพาร์ตเมนต์ สวนหลังบ้าน ไปจนถึงที่รกร้างว่างเปล่า
รัฐบาลทั่วประเทศต่างส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ที่มีประสบการณ์มากมายแนะนำวิธีการแก่คนในท้องถิ่นถึงวิธีเพิ่มผลผลิตของสวนด้วยการปลูกแบบต่อเนื่อง รวมถึงให้บันทึกอัตราการงอกของเมล็ดพืช บันทึกโรคหรือแมลงที่อาจพบเจอ การลดขยะหลังเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพผลผลิตของสวนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อไป
เกือบสองในสามของครัวเรือนอเมริกันมีส่วนร่วมในการปลูก แม้แต่ เอเลนอร์ รูสเวลต์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของประธานาธิบดี แฟรงคลิน รูสเวลต์ ก็ยังปลูกสวนแห่งชัยชนะบนสนามหญ้าของทำเนียบขาว
‘สวนแห่งชัยชนะ’ ในสงครามโลกครั้งที่สองประสบความสำเร็จมากกว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พวกเขาสามารถส่งเสริมขวัญกำลังใจแก่ทหารและประชาชน ไร้ปัญหาการขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศและสงคราม ด้วยน้ำมือน้ำแรงของครอบครัวกว่า 15 ล้านครอบครัวที่ได้ปลูกสวนแห่งชัยชนะกว่า 20 ล้านแห่ง ซึ่งผลิตอาหารได้ประมาณ 8 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของผักและผลไม้สดที่บริโภคทั้งหมดในประเทศสหรัฐอเมริกา
เรามิอาจปฏิเสธได้ว่าในบรรดาสัญลักษณ์แห่งความทรงจำอันโด่งดังต่างๆ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้นที่น่าจดจำพอๆ กับสวนแห่งชัยชนะในสหรัฐอเมริกา พื้นที่ว่างในประเทศ สวนบนดาดฟ้า และสวนหลังบ้านที่ต่างประดับประดาไปด้วยหัวบีท บร็อคโคลี่ หรือผักโขม ต่างเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาได้รับชัยชนะในสงคราม ด้วยแรงผลักดันจากรัฐบาล องค์กร และประชาชนที่มุ่งมั่นทำงานด้วยกัน ปลุกความเป็นปึกแผ่นของประเทศให้แข็งแรง เพราะหากรัฐบาลไร้ซึ่งประสิทธิภาพแล้วไซร้ ก็คงไม่มีใครเชื่อถือและร่วมมือตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก