Toy Story ถือว่าเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นคอมพิวเตอร์กราฟิกที่เดินทางมาอย่างยาวนาน เพราะถ้านับช่วงเวลาตั้งแต่ภาค 1 ออกฉายจนถึงปีค.ศ. 2019 ภาพยนตร์ชุดนี้ก็มีอายุอานาม 24 ปีแล้ว แถมในปีนี้ก็จะมีภาค 4 ออกมาให้ติดตามกันอีก
โดยเรื่องราวของ Toy Story 4 นั้นเล่าถึง Woody, Buzz Lightyear, Bo Peep และ Jessie ที่ย้ายไปอยู่กับ Bonnie แต่ก็มีการผจญภัยครั้งใหม่เกิดขึ้น หลังจากที่ Bonnie ได้สร้างของเล่นจากส้อมและเส้นด้ายในชั่วโมงศิลปะ แล้วตั้งชื่อว่า Forky แต่ทว่าเจ้าของเล่นชิ้นใหม่นี้ยังมึนงงกับภาวะหน้าที่การเป็นของเล่นของตัวเองแล้วหนีออกจากมือเจ้าของ เลยทำให้ Woody กับเพื่อนต้องออกไปผจญภัยกันอีกครั้ง
ในภาคนี้ นอกจากตัวละครหลักๆ จะอยู่กันครบถ้วนแล้ว ก็จะมีตัวละครสมทบหน้าใหม่ อย่าง Forky ที่เรากล่าวถึงไป รวมถึง Ducky กับ Bunny ตุ๊กตาเป็ดกับกระต่ายจอมปล่อยมุก ที่ได้สองดาราสายตลกฝั่งอเมริกาอย่าง Keegan-Michael Key กับ Jordan Peele (ท่านหลังนี้เป็นคนเดียวกับผู้กำกับ Get Out และ Us) มารับบทบาทที่เหมือนกับสวมบทเป็นตัวเองในโลกของเล่น และ Duke Caboom ตุ๊กตายอดนักซิ่งมอเตอร์ไซค์แนวเสี่ยงตาย แต่จริงๆ ตัวของเล่นไม่สามารถกระโดดหวือหวาแบบที่โฆษณาระบุไว้ ซึ่งตุ๊กตาตัวนี้ได้ Keanu Reeves มาพากย์เสียงด้วย
The MATTER จึงขอถือโอกาสนี้มาเล่าเรื่องราวและรายละเอียดเกี่ยวกับของเล่นบางชิ้นในภาพยนตร์ชุดนี้กัน
Woody
ตุ๊กตา Woody ถ้าว่ากันตามท้องเรื่อง Toy Story แล้ว เป็นตุ๊กตาชักรอกที่มาจากรายการทีวีสำหรับเด็ก Woody’s Roundup แต่ถ้าอ้างอิงจากเบื้องหลังในการสร้างภาพยนตร์แล้ว ที่มาที่ไปของWoody มาจาก ตุ๊กตาชักรอก Casper ของผู้กำกับ John Lasseter ในวัยเด็ก
ทั้งนี้ถ้าย้อนไปตอนร่างบทแรกของภาพยนตร์ Toy Story ตุ๊กตา Woody นั้นจะไม่ใช่ตุ๊กตาคาวบอย แต่เป็นตุ๊กตาหุ่นเชิดทรงคาวบอย แต่มีการปรับเปลี่ยนเพราะทีมงานหลายคนมองว่า ตุ๊กตาหุ่นเชิดแบบนั้นมันน่ากลัวเกินความเป็นของเล่นเด็กไปสักหน่อย จนกระทั่ง Toy Story 4 ที่นำเอาตุ๊กตาหุ่นเชิดมาร่วมเป็นตัวละครสมทบด้วยนั่นเอง
Buzz Lightyear
Buzz ถือว่าเป็นของเล่นใหม่ แต่ถ้าย้อนดูรายละเอียดกันสักหน่อย จริงๆ แล้ว ของเล่นชิ้นนี้กลับมีแรงบันดาลใจมาจาก G.I. Joe ของเล่นทหารล้ำยุค ที่ผู้กำกับ John Lasseter เคยมีในวัยเด็ก และของเล่นใหม่นี่เองที่ทำให้ตุ๊กตา Casper ตกกระป๋องจากของเล่นชิ้นโปรดไป
แต่ก่อนจะได้ชื่อ Buzz Lightyear ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากชื่อของ Buzz Aldrin นักบินอวกาศคนที่สองที่เดินบนดวงจันทร์ กับ คำว่า Lightyear (ปีแสง) ที่บ่งบอกว่าเป็นการเดินทางไปในอวกาศอันไกลโพ้น ตัวละครตัวนี้เคยใช้ชื่อว่า Lunar Larry กับ Tempus from Morph มาก่อน
และจริงๆ แล้วก่อนจะปรับบทให้เป็นตุ๊กตานักบินอวกาศ ทาง Pixar เคยวางแผนจะใช้ Tinny หุ่นตีกลองจากอนิเมชั่นขนาดสั้นเรื่อง ‘Tin Toy’ มาเป็นตัวเอก แต่มีการเขียนบทแล้วพบว่า ของเล่นสังกะสีอาจจะไม่ใช่เทรนด์ของเด็กในยุคที่หนังออกฉาย เลยปรับบทจนกลายเป็น Buzz ในที่สุด
ทั้งนี้ของเล่นที่คล้ายๆ G.I. Joe ก็มีปรากฎอยู่ในภาพยนตร์ Toy Story ภาคแรก แต่ใช้ชื่อเป็น Combat Carl แทน
Bo Peep
ตุ๊กตาเครื่องถ้วยเปลือกไข่ (porcelain) ที่ถูกสร้างเป็นทรงหญิงสาวเลี้ยงแกะ และถูกชงให้เป็นคู่กุ๊กกิ๊กกับ Woody มาตั้งแต่ Toy Story ภาคแรก เชื่อกันว่าตัวละครตัวนี้ถูกสร้างมาตามนิทานหญิงเลี้ยงแกะกับชายกวาดปล่องไฟ (The Shepherdess and The Chimney Sweep) ซึ่งตัวละครในนิทานดังกล่าวนั้นก็เป็นตุ๊กตาเครื่องถ้วยเปลือกไข่ที่มีชีวิตและเคลื่อนไหวได้ ในลักษณะเดียวกับเรื่องราวใน Toy Story นั่นเอง
เดิมทีแล้ว ทาง Pixar เขียนบทภาพยนตร์ให้บทบาทนี้เป็นของตุ๊กตาสาวน้อยอย่าง Barbie แต่ย้อนกลับไปตอนที่ Toy Story ยังไม่ออกฉาย ไม่มีใครมั่นใจว่า Pixar จะสร้างผลงานที่ได้เรื่องราวหรือไม่ ทาง Mattel ที่เป็นเจ้าของสิทธิ์ Barbie เลยปฏิเสธไป (บางแหล่งข่าวกล่าวว่า ณ ตอนนั้น Mattel ปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าไม่อยากให้ Barbie มีการแสดงความรู้สึก เพราะ Barbie แต่ละคนนั้นล้วนขึ้นอยู่กับจินตนาการของเจ้าของตุ๊กตาแต่ละคน) แต่เมื่อภาพยนตร์ทำรายได้ดี คำวิจารณ์สวย Mattel ก็ยอมให้ใช้ตุ๊กตา Barbie มาปรากฎในหนัง Toy Story 2 ก่อนจะส่งหนุ่ม Ken ตามมาใน Toy Story 3 อย่างที่หลายท่านได้เห็นกันแล้ว
ทั้งนี้ แฟน Toy Story วิเคราะห์กันว่า Bo Peep นั้นมาอยู่ในการครอบครองของเด็กชาย Andy ได้อย่างไร เพราะของเล่นชิ้นนี้ดูแตกหักง่าย แต่มีคำอธิบายว่า เพราะของเล่นชิ้นนี้เป็นของที่แม่ของ Andy ส่งต่อให้ลูกชาย (กล่าวกันว่าที่ Bo Peep โดนลดบทใน Toy Story 3 ก็เพราะเนื้อเรื่องที่ของเล่นสุ่มเสี่ยงจะโดนทำลาย และตุ๊กตาเครื่องถ้วยเปลือกไข่น่าจะพังก่อนใครนั่นเอง) ส่วน Barbie กับของเล่นสไตล์เด็กผู้หญิงชิ้นอื่นๆ ตามท้องเรื่องของ Toy Story 3 นั้นเป็นของ Molly น้องสาวของ Andy
Jessie
ตุ๊กตาชักรอกสาวน้อยนักโยเดล ตามท้องเรื่องเป็นตัวละครจากรายการทีวีสำหรับเด็ก Woody’s Roundup เช่นเดียวกับ Woody ที่ดีไซน์ออกมาให้เป็นสาวสตรอง และออกผจญภัยร่วมกับ Woody และ Buzz ได้อย่างไม่เคอะเขิน
แต่ก่อนที่จะลงตัวในดีไซน์ที่เราเห็นกันนั้น ตัวละครของเธอเคยได้รับการดีไซน์เป็นต้นกระบองเพชรสาวที่ชื่อว่า Señorita Cactus (ซินญอริต้า แคคตัส) และรับบทเป็นตัวร้ายของภาคอีกต่างหาก แต่โชคดีที่ Pixar ตัดสินใจเปลี่ยนให้เธอเป็นสาวคาวเกิร์ล โดยอ้างอิงดีไซน์มาจากตัวละครเอกของภาพยนตร์ ‘Calamity Jane’ (ซึ่งเป็นหนังที่อ้างอิงประวัติของ Martha Jane Canary หรือ Calamity Jane ในโลกแห่งความจริงอีกที) แทน
Hamm
Hamm นั้นหมูกระปุกออมสิน ถ้าจะพูดตามทฤษฏีแล้ว เจ้าตัวก็อาจจะไม่ได้เป็นของเล่น แต่พอดีว่าเจ้าหมูตัวนี้โดนปฏิบัติเหมือนเป็นตุ๊กตาด้วย ก็เลยกลายเป็นหนึ่งในพวกพ้องของเล่นตัวเด่นของ Toy Story แล้วก็เพราะที่ไปที่มาของ Hamm นั้นชัดเจน เราเลยจะขอพูดถึงเหตุที่ว่าทำไมกระปุกออมสินถึงได้ถูกสร้างเป็นรูปหมูกัน
ย้อนกลับไปก่อนที่จะมีธนาคารแบบยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่ประชาชนก็ยังเก็บเงินไว้ที่บ้าน หรือที่เราๆ ท่านๆ มักจะแซวกันว่า ‘เก็บเงินไว้ในไห’ ตามตัวอักษรนั่นล่ะ แต่ที่มาของคำว่ากระปุกออมสิน หรือ Piggy Bank ในภาษาอังกฤษจะมีรายละเอียดมากกว่านั้นอีกเล็กน้อย ก็เพราะเจ้าไหที่เก็บเงินในสมัยยุคกลางของชาวยุโรปนั้นมักจะทำมาจากดินสีส้มที่ถูกเรียกว่า ‘Pygg’ ไหไหนที่เอามาหยอดเงินเก็บก็จะถูกเรียกว่า ‘Pygg Pot’ เมื่อเวลาผันผ่านไป เจ้าคำว่า Pygg ในภาษาอังกฤษก็ค่อยๆ วิวัฒนาการจนเปลี่ยนแปลงเป็นคำว่า Pigge ก่อนจะกลายเป็น Pig การวิวัฒน์ของคำที่เปลี่ยนไป เลยทำให้เกิดเทรนด์การสร้างกระปุกออมสินรูปหมูขึ้นมา
นอกจากภาษาอังกฤษ ที่ทำให้เกิดการภาพหมูกระปุกออมสิน ในวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศก็ยังมีความเชื่อว่า ‘หมู’ เป็นสัตว์ที่นำพาความสมบูรณ์ จึงมีการสร้างเครื่องปั้นดินเผารูปหมูในการเก็บของมีค่าไว้เช่นกัน แต่อาจจะสร้างเป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กกว่ากระปุกออมสินของทวีปยุโรป ก่อนที่เทรนด์จากโลกตะวันตกจะขยายไปทั่วโลก จนเราเห็นกระปุกออมสินรูปหมูกันเป็นปกติในปัจจุบันนี้
ทั้งนี้ Hamm ใน Toy Story ภาคแรกนั้นถูกปิดหน้าท้องด้วยฝาปิดของตัวเอง ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนเป็นจุกคอร์กตั้งแต่ Toy Story 2 เป็นต้นมา ซึ่งถ้าเดากันเล่นๆ ฝาปิดเก่านั้นก็อาจจะหายไปเพราะ Andy เอาหมูตัวนี้มาเล่นซนกระมัง
Mr. & Mrs. Potato Head
คู่สามีภรรยาที่เป็นของเล่นเด่นในจักรวาล Toy Story ที่เป็นการเอาของเล่นที่ชื่อเดียวกันที่ทาง Hasbro ออกจำหน่ายมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1952 แต่เวอร์ชั่นที่ปรากฏตัวในภาพยนตร์ เป็นเวอร์ชั่นที่ดัดแปลงจากสินค้าที่ขายในช่วงปีค.ศ. 1980-1990 เล็กน้อย เพราะปกติแล้ว ตาของ Mr. Potato Head จะไม่ได้แยกออกจากกันเป็นคู่อย่างที่เห็นใน Toy Story แต่จะเป็นตาสองดวงเสียบลงไปในช่องเดียว
Slinky Dog
Slinky Dog เดิมทีเป็นของเล่นที่เป็นซีรีส์แยกมาจาก Slinky หรือของเล่นรูปร่างแบบสปริงที่ทำมาจากโลหะหรือพลาสติก ออกแบบโดย Helen Herrick Malsed และขายสู่ท้องตลาดในช่วงปีค.ศ. 1954 แน่นอนว่า ตุ๊กตาหมาดัชชุนด์ ที่มีช่วงลำตัวเป็น Slinky นั้นคว้าใจเด็กๆ มาตั้งแต่ยุคนั้น ก่อนจะมีการปรับดีไซน์ไปตามยุคสมัย และหยุดผลิตไปในช่วงระยะหนึ่ง
จนกระทั่งทางภาพยนตร์ Toy Story อยากจะนำของเล่นชิ้นดังกล่าว มาทำให้มีบทบาทในหนัง จึงมีการปรับดีไซน์เจ้าหมาสปริงตัวนี้กันอีกรอบหนึ่ง โดยมีเจ้าของบริษัทของเล่นอนุมัติให้ผ่าน พร้อมกับบอกว่า ดีไซน์ใหม่นั้นดูน่ารักกว่าของเดิมเสียอีก ซึ่งเราก็เห็นด้วยเพราะมันน่ารักน่าเอามาเก็บไว้ที่บ้านจริงๆ
Green Army Men
ตุ๊กตาทหารพลาสติกแบบนี้ มีหลายบริษัทที่เป็นผู้ผลิตมาตั้งช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเลยทีเดียว เลยทำให้ Pixar ไม่พลาดที่จะนำเอาของเล่นที่เด็กๆ ต้องรู้จักมาใส่ไว้ในภาพยนตร์ Toy Story และถูกตัวละครในเรื่องระบุให้เป็นมือโปรในด้านการลาดตระเวน
ด้วยความที่ของเล่นทหารพลาสติกสไตล์นี้มักจะทำฐานให้ยืนได้ง่าย เวลาที่อนิเมเตอร์ของ Pixar จะทำภาพอนิเมชั่นของเล่นชุดนี้ พวกเขาก็จะให้อนิเมเตอร์ใส่แผ่นไม้ต่างรองเท้าและฐานยืน แล้วจำลองท่าเดินแบบนั้นมาใส่ในตัว Green Army Men ที่ปรากฏตัวในภาพยนตร์ Toy Story นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก