เป็นเวลาถึง 6 ปี หรือถ้าจะระบุให้ชัดๆ ก็คือนับตั้งแต่งานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 85 ที่จัดขึ้นในปีค.ศ. 2013 จนถึงงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 90 ที่จัดขึ้นในปี 2018 ที่รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมได้ถูกยึดครองเอาไว้ด้วยผลงานของทาง Disney กับ Pixar จนกระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 2019 ตามเวลาในประเทศไทย ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Spider-Man: Into The Spider-Verse ก็สามารถหยุดสถิติการได้รับรางวัลประเภทนี้ของทาง Disney/Pixar ได้สำเร็จ
เหตุการณ์นี้ทำให้ใครหลายๆ คนที่เกาะติดรางวัลออสการ์สาขานี้ยิ่งรู้สึก ‘ลุ้นกันตัวเกร็ง’ มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะว่านี่คือการทำลายบัลลังก์ของ Disney/Pixar เท่านั้น แต่มันยังแสดงให้เห็นถึงทิศทางที่ดีขึ้นของรางวัลสาขานี้ที่หลายคนมองว่า ดูมีความ ‘เบลอ’ มากที่สุดสาขาหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เลยอยากจะมาย้อนให้ดูว่า รางวัลออสการ์สาขานี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วงานที่ไม่ใช่ของ Disney/Pixar มีเรื่องอะไรบ้างที่เคยคว้ารางวัลออสการ์กลับบ้าน
กว่าที่รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมจะถือกำเนิด
ต้องย้อนไปไกลสักนิดว่า ในช่วงยุค 1980-1990 สตูดิโออนิเมชั่นส่วนใหญ่ในอเมริกาขยับตัวไปทำอนิเมชั่นสำหรับฉายทางโทรทัศน์มากกว่า กลุ่มคนที่ยังทำภาพยนตร์ฉายนั้นมีจำนวนไม่มากนัก ที่พอจะเป็นคู่แข่งชัดเจน ก็คือผลงานของ Don Bluth ทีมงานเก่าของ Disney ที่ออกไปร่วมมือกับผู้สร้างหนังคนอื่นแล้วสร้างงาน อย่าง The Land Before Tiem (1988) หรือ Anastasia (1997)
เมื่อมีคู่แข่งน้อย Disney ที่กลับมาตั้งหลักจัดทำภาพยนตร์อนิเมชั่นอย่างมีแบบแผนที่มั่นคงจึงยึดครองตลาดในระดับที่ว่า ‘Beauty And The Beast’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์การ์ตูนได้มีโอกาสเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 1991 เลยทีเดียว
เวลาผ่านไปจนถึงช่วงกลางปี 1990 ได้เกิดเหตุการณ์หลายอย่างขึ้น อาทิ พ่อมดของฮอลลีวูดอย่าง Steven Spielberg กับอดีตผู้บริหารของ Disney อย่าง Jeffrey Katzenberg และ David Geffen ได้ออกมาก่อตั้งบริษัท DreamWorks ซึ่งอุทิศแผนกหนึ่งให้กับการผลิตภาพยนตร์อนิเมชั่น หรือการที่ Pixar สามารถเจรจาปิดดีลให้ทาง Disney ช่วยจัดจำหน่ายภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ใช้กราฟิกสร้างจากคอมพิวเตอร์เต็มรูปแบบอย่าง Toy Story ในปี 1994 หรือแม้แต่เหตุการณ์ความโด่งดังของเกม Pokemon จนทำให้มีการเอาภาพยนตร์อนิเมะจากเกมดังกล่าวไปฉายในอเมริกาในปี 1999
ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ภาพยนตร์อนิเมชั่นวนเวียนอยู่ในตลาดหนังมากขึ้น เป็นที่คุ้นเคยของคนดูมากขึ้น และสุดท้าย เมื่อมีภาพยนตร์อนิเมชั่นที่น่าสนใจเข้าฉายอย่างต่อเนื่อง รางวัลออสการ์จึงเปิดสาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยม ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 74 และเป็นรางวัลที่อยู่ยาวมาจนถึงปัจจุบันนี้
แล้วแบบนี้ Disney กับ Pixar คว้ารางวัลสาขานี้กลับบ้านไปแล้วกี่ครั้ง?
คำตอบของคำถามนี้ ถ้าตอบแบบง่ายๆ เร็วๆ ก็บอกได้ว่า ทาง Disney กับ Pixar คว้ารางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมมาแล้ว 12 ครั้ง จากการแจกรางวัลทั้งหมด 18 ครั้ง ซึ่งภาพยนตร์ของทาง Pixar ได้รางวัลไป 9 ครั้ง และได้ในชื่อของ Disney อยู่ 3 ครั้ง
กระนั้นถ้าเปลี่ยนคำถามว่า แล้ว ‘ภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ Disney เป็นผู้จัดจำหน่าย’ ล่ะได้ไปกี่ครั้ง รางวัลออสการ์ที่ Disney/Pixar เคยได้รับก็จะกลายเป็น 13 ครั้งแทน เนื่องจากภาพยนตร์เรื่อง Spirited Away ของทาง Studio Ghibli ถูกจัดจำหน่ายในอเมริกาโดยทาง Disney แต่เราคิดว่าถ้าจะนับจำนวนกันจริงๆ การนับรางวัลจากสตูดิโอของผู้สร้างน่าจะถูกต้องกว่า ซึ่งถ้าเรียบเรียงรายชื่อภาพยนตร์ที่ทาง Disney/Pixar ได้รางวัลก็จะเป็นรายชื่อดังนี้
– Finding Nemo ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 76 เมื่อปี 2004
– The Incredibles ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 77 เมื่อปี 2005
– Ratatouille ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 80 เมื่อปี 2008
– WALL-E ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 81 เมื่อปี 2009
– Up ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 82 เมื่อปี 2010
– Toy Story 3 ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 83 เมื่อปี 2011
– Brave ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 85 เมื่อปี 2013
– Frozen ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 86 เมื่อปี 2014
– Big Hero 6 ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 87 เมื่อปี 2015
– Inside Out ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 88 เมื่อปี 2016
– Zootopia ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 89 เมื่อปี 2017
– Coco ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 90 เมื่อปี 2018
แล้วภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ ที่ได้รางวัลออสการ์สาขานี้ล่ะ?
ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ของทาง Disney/Pixar ที่ไปไกลจนสามารถคว้ารางวัลออสการ์กลับบ้านได้นั้นมีทั้งหมด 6 เรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ได้แก่
Shrek จากทาง Dreamwokrs Animation ที่ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 74 ซึ่งเป็นครั้งแรกในการประกวดรางวัลสาขานี้
Spirited Away จากทาง Studio Ghibli ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 75 ที่จนถึง ณ เวลานี้ (ปี 2019) ก็ยังเป็นภาพยนตร์อนิเมะจากญี่ปุ่นเพียงเรื่องเดียวที่คว้ารางวัลออสการ์กลับบ้านไปได้
Wallace & Gromit: The Curse Of The Were-Rabbit จากทาง Aardman Animations ร่วมกับทาง Dreamworks Animation ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 78 ซึ่งถือว่าเป็นภาพยนตร์สต็อปอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ชนะรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยม
Happy Feet จากทาง Animal Logics สตูดิโออนิเมชั่นจากออสเตรเลียในเครือ Fox ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 79
Rango จากทาง Nickelodeon Movies ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 84 ซึ่งปีดังกล่าวเป็นปีที่ไม่มีภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Disney/Pixar ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมเลยแม้แต่เรื่องเดียว
Spider-Man: Into The Spider-Verse จากทาง Sony Pictures Animation ได้รับรางวัลจากงานประกาศรางวัลออสาร์ครั้งที่ 91
ที่น่าสังเกตก็คือภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลออสการ์สาขานี้ในช่วงแรกๆ นั้นไม่ใช่งานของทาง Disney/Pixar ในขณะเดียวกันเราก็ยังได้เห็นว่า รางวัลออสการ์สาขานี้ยังเปิดพื้นที่ให้อนิเมชั่นทุกสไตล์อยู่ เพียงแค่ว่าถ้ามองภาพรวมอาจจะรู้สึกว่ามีเพียงแค่ภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ใช้กราฟฟิกคอมพิวเตอร์ที่ได้รับรางวัลเยอะจนทำให้เกิดภาพจำว่ามีแค่อนิเมชั่นแนวนี้เท่านั้นที่ชนะรางวัล
ปัญหาที่ยังค้างคาของรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยม
การที่รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมตกไปอยู่ในมือของทาง Disney/Pixar เสียเยอะ ก็มีเหตุมาจากปัญหาใหญ่ของออสการ์สาขานี้ที่ก็มีมาโดยตลอด นั่นก็คือการที่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงของรางวัลออสการ์ น้อยคนที่จะเปิดดูภาพยนตร์อนิเมชั่นที่เข้าชิงทุกเรื่องจริงๆ ทำให้หลายๆ คนที่มีสิทธิ์โหวตใช้วิธีตัดสินใจจากการ ‘อ้างอิงโฆษณา’ หรือ ‘อ้างอิงของที่ลูกหลานรู้จัก’ มากกว่า (และเราเคยพูดถึงเรื่องนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง)
แม้ว่าปัจจุบันนี้จะมีการปรับกติกาไปมาก อาทิ การให้พื้นที่คนทำงานในวงการอนิเมชั่นมาเป็นคณะกรรมการเพิ่ม การให้ที่นั่งผู้ชมเพศหญิงเพิ่มมากขึ้น รวมถึงรางวัลออสการ์หลายๆ สาขาก็บังคับให้ผู้ลงคะแนนเสียงจะต้องรับชมภาพยนตร์ทุกเรื่องที่เข้าชิงก่อนที่จะโหวต กระนั้นในสาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยมก็ยังไม่มีกฎข้อบังคับนี้ และทำให้การโหวตผู้ชนะรางวัลออสการ์ในปีที่ผ่านๆ มายังเหวี่ยงไปอยู่กับ Disney/Pixar
แต่ก็ไม่ใช่ว่าการปรับเปลี่ยนของรางวัลออสการ์ที่เกิดขึ้นจะไม่มีผลดีเอาเสียเลย เพราะถ้าย้อนกลับไปดูรายชื่อหนังที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ในช่วง 5 ปีหลังนี้มีภาพยนตร์อนิเมชั่นสายอินดี้เข้ามาแทรกมากขึ้นแม้ว่าจะไม่มีเรื่องใดไปถึงฝันเลยก็ตาม แต่ก็ช่วยทำให้เห็นว่า ยังมีบุคลากรที่รู้เรื่องอนิเมชั่นเข้ามาช่วยคัดเลือกมากขึ้นแล้วจริงๆ
ถ้าอย่างนั้นอนาคตของรางวัลสาขานี้จะเป็นเช่นไร
ว่ากันตรงๆ รางวัลออสการ์สาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยมก็คงจะยังมอบรางวัลให้กับอนิเมชั่นที่ได้รับความนิยมสูงในอเมริกาเป็นหลักเหมือนก่อนหน้านี้อยู่ดี และก็คงจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่คณะกรรมการของรางวัลออสการ์จะปรับตัวจนถึงจุดที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนักเพราะรางวัลออสการ์ในสาขาอื่นๆ ก็เกิดปัญหาในลักษณะแบบเดียวกันนี้อยู่บ่อยๆ ยกตัวอย่างเช่นปัญหาของ #OscarsSoWhite ก็ใช้เวลาราว 2-3 ปี จนในปี 2019 นี้ ที่เวทีออสการ์มีความหลากหลายของผู้เข้าชิงกับผู้ได้รับรางวัลมากที่สุดครั้งหนึ่ง (ถึงจะมีดราม่าอยู่บ้าง อย่างเรื่องของ Spike Lee)
อย่างรางวัลในสาขาแอนิเมชั่นขนาดสั้นยอดเยี่ยม ที่เรื่อง Bao เป็นผู้ได้รับรางวัลก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนเอเซีย และผู้กำกับของเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกของรางวัลสาขานี้
เพราะฉะนั้นสำหรับรางวัลออสการ์แล้ว ในฐานะคนดูแบบผู้เขียนก็ได้แต่ติดตามแล้วก็ลุ้นต่อไปว่าในภายภาคหน้า คณะกรรมการรางวัลออสการ์จะตั้งใจรับชมภาพยนตร์อนิเมชั่นมากขึ้น เหมือนที่พวกเขาเปิดใจรับชมภาพยนตร์กลุ่มอื่นๆ มาก่อนแล้ว (ไม่ว่าจะอย่างดุษฏี หรือ โดนกฎข้อบังคับก็ตามที)
สำหรับท่านใดสนใจรางวัลที่เกี่ยวกับงานอนิเมชั่นในระดับนานาชาติที่เข้มข้นกว่าเวทีออสการ์ เราขอแนะนำให้ติดตามรางวัล ‘Annie Award’ ที่เป็นเวทีสำหรับงานอนิเมชั่นโดยเฉพาะ และมีการแยกย่อยรางวัลออกหลายสาขาทั้งในฝั่งภาพยนตร์กับฝั่งโทรทัศน์อีกด้วย
และไม่ว่าอนิเมชั่นเรื่องที่คุณชอบจะเข้าชิงรางวัลออสการ์หรือไม่ ก็อย่าลืมอุดหนุนผลงานของผู้สร้างที่คุณชอบตามช่องทางถูกต้องตามกฎหมายกันด้วยนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก