การอ่านหนังสือบางเล่มเปลี่ยนวิธีการมองโลกของเรา
ไม่ได้หมายความว่า เราเปลี่ยนความคิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่จากที่เรามองบางอย่างแล้วไม่เห็นอะไร เรากลับมองเห็นมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ราวกับหนังสือเล่มนั้นๆ เป็นเลนส์ที่ทำให้เรามองทะลุปรุโปร่งผ่านฉากหน้าและเนื้อหนัง ไปยังโครงสร้างและโครงกระดูกภายในบางสิ่งบางอย่าง และหนังสือเล่มนั้นสำหรับปี 2566 คือ The Story Paradox ด้านมืดของพลังการเล่าเรื่อง โดยโจนาธาน ก็อตชอลล์ (Jonathan Gottschall) ที่ชวนให้เราระแวงต่อเสียงต่างๆ รอบกาย ตั้งแต่ผู้ประกาศข่าวยามเช้า การประชุมรัฐสภา หรือเสียงเจื้อยแจ้ววุ่นวายของโซเชียลมีเดีย
คงเป็นความรู้สึกที่ไม่ต่างจากผู้แปลนัก “อิมเป็นคนขี้ระแวงอยู่แล้ว” อิม—ไอริสา ชั้นศิริ พูดบนเวทีในงาน BIBLIO HOMEMADE เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และ 2 เดือนถัดมา เราได้เข้าใจความรู้สึกนั้น หลังจากได้สัมผัสตัวหนังสือที่เธอเป็นผู้พิถีพิถันในการแปลความออกมา เราจึงอยากจะพาทุกๆ คนไปพูดคุยกับคุณอิม เกี่ยวกับการแปลหนังสือ ธรรมชาติของความจริงในมุมมองเธอ และอำนาจอันมองไม่เห็นของการเล่าเรื่องที่แทรกซึมตัวอยู่ในทุกห้วงขณะชีวิตของเรา
ก่อนจะแปลหนังสือเล่มนี้ คุณอิมมีไอเดียเกี่ยวกับคำว่า ‘ความจริง’ และ ‘การเล่าเรื่อง’ ไหม?
พูดถึงความจริงก็เป็นคำถามเชิงปรัชญาเนอะ ความจริงคืออะไร? เราถูกจริตกับหนังสือเล่มนี้ เพราะมันตรงกับสิ่งที่เราเรียนมาหลายอย่าง เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความอยากจะค้นหาสิ่งที่เรียกว่าความจริงของมนุษย์มาโดยตลอด เราถึงได้มีนักปรัชญาที่ตามหามัน เพราะฉะนั้นมุมมองต่อความจริงที่เรามีอยู่แล้ว คือมุมมองล่าสุดเลยว่า ความจริงเป็นสิ่งประกอบสร้าง ซึ่งมันตรงจริตกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ
สิ่งหนึ่งที่เราว้าวคือคอนเซ็ปต์ของการเล่าเรื่อง เมื่อพูดถึงการเล่าเรื่องในตอนแรก เราก็จะรู้สึกว่ามันคือการเล่าสู่กันฟัง เราไปรับรู้อะไรสักอย่างมา แล้วเราก็เอามาเล่าให้ฟังกัน ซึ่งการเล่านี้มันอาจไม่ได้ตรงกับสิ่งที่เราเห็นมากับตา แต่มันคือการเล่าของเราผ่านมุมมองตัวเอง ทำให้เรานึกถึงเกมเกมหนึ่ง เกมกระซิบที่เราเล่นกันในงานรับน้อง กระซิบกันต่อมาจากคนแรก แล้วดูว่าพอไปถึงคนสุดท้ายแล้วเขาจะได้ยินว่าอะไร เราเข้าใจอยู่แล้วว่าการเล่าเรื่องคือแบบนี้ อาจจะเรียกว่ามันไม่ได้ถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้น 100% แต่จะมีองค์ประกอบของความเป็นเรื่องแต่งที่มาจากมุมมอง และการรับรู้ของผู้เล่าอีกที
ทีนี้พอมาอ่านเรื่องนี้แล้ว พบว่าการเล่าเรื่องไม่ได้มีแค่การเล่าสู่กันฟัง หรือการถ่ายทอดสิ่งที่เห็นมาผ่านมุมมอง มันมีฟังก์ชั่นอีกอย่าง คือเล่าโดยมีจุดประสงค์ บางทีเราไม่ได้เล่าเพียงเพื่อจะแจ้งให้ทราบ แต่เล่าเพื่อโน้มน้าว และที่สำคัญ คุณโจนาธานยังบอกว่า เราไม่ได้เล่าเรื่องเพียงเพื่อโน้มน้าวคนอื่น แต่เราโน้มน้าวตัวเราเองด้วย ตรงนี้แหละที่ทำให้เรามองเปลี่ยนไปว่าเรื่องเล่ามันมีอำนาจ ตอนเราโพสต์แชร์หนังสือ เราก็บอกไปเลยว่า นี่คือหนังสือที่จะทำให้เด็กวรรณคดีและเด็กการละครลุกขึ้นมาผงาดอีกครั้ง เพราะเรามีอำนาจ
การเล่าเรื่องจะมีอำนาจขนาดนั้นได้ยังไง?
คำถามมาถูกที่ถูกเวลามากๆ เลย เราลองหันไปมองสิ่งที่อยู่ในข่าวสารของเรา สงครามที่อิสราเอล ศาสนา ประวัติศาสนาถือเป็นการเล่าเรื่องอย่างหนึ่งเหมือนกัน นี่คือพลังของการเล่าเรื่อง เรื่องเล่าของฝั่งปาเลสไตน์เชื่อว่า ยิวกดขี่พวกเขามานานมากแล้ว คือไวยากรณ์สากลที่บอกว่ายิวเป็นตัวร้าย กลุ่มฮามาสเป็นฮีโร่ที่ต่อสู้กับปีศาจร้ายอยู่ นี่คือหนึ่งเรื่องเล่า อีกหนึ่งเรื่องเล่าคือฝั่งยิวพูดว่า ที่แห่งนี้คือดินแดนพันธสัญญาของเขา สิ่งที่ฮามาสทำก่อให้เกิดความตายเยอะมากๆ ทั้งทำร้ายเด็ก ผู้หญิง นักท่องเที่ยว จับคนเป็นตัวประกัน
สิ่งที่เราจะบอกก็คือ การเล่าเรื่องมีพลังในขนาดที่เมื่อมองไปทั้ง 2 ฝั่ง
มันสามารถก่อสงคราม มันทำลายสังคมลงได้จริงๆ
เราเรียกสิ่งนี้ว่าสงครามของเรื่องเล่าด้วยได้หรือเปล่า?
ได้เลยค่ะ เรื่องเล่าเหล่านี้มันแตกต่างจากสมัยโบราณด้วย เพราะถ้าลองไปดูทวิตเตอร์ มันจะมีคลิปจากฝั่งฮามาสที่ปล่อยออกมาว่า เขาเข้าไปหาผู้หญิงกับเด็กชาวยิวแล้วช่วยพวกเขา เรื่องเล่าในคลิปคือ “เห็นไหม เขามีมนุษยธรรมนะ เขาไม่ได้ทำร้ายผู้หญิงกับเด็ก พวกเขาดูแลและพาไปอยู่ที่ปลอดภัยนะ” อะไรแบบนั้น ยิวต่างหากที่ทำร้ายพวกเขามาตลอด
ไม่นานมานี้คุณสรยุทธก็เพิ่งใช้คำว่า ‘สงครามข่าวสาร’ แต่ในมุมของเรา ข่าวสารคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ตอนนี้มันคือสงครามเรื่องเล่าแบบเต็มรูปแบบ
ถ้าทุกคนมีความจริงและเรื่องเล่าของตัวเองแบบนี้ แล้วคุณค่าของข้อเท็จจริงมีมากหรือน้อยขนาดไหน?
เรายังไม่ต้องมองไปถึงอิสราเอลก็ได้ในประเด็นนี้ ลองมองมาที่สังคมของเรา เรามีกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมืองฝั่งต่างๆ ที่มีเรื่องเล่าเพื่อยึดโยง และยึดเหนี่ยวความเชื่ออะไรบางอย่าง ถ้ามองไปอีกที่ แล้วความจริงหรือข้อเท็จจริงมีค่ามากขนาดไหน เรามองไปที่ตัวเราเองก็ได้ สมมติมีคนมาพูดกับเราว่า ให้บอกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเราซิ เราก็จะบอกว่าเราเป็นผู้หญิง เราจบจากไหน โน่นนี่นั่น มันก็ยังมีความสำคัญในแง่ที่มันยังยึดโยงและยึดอัตลักษณ์ของเรา ข้อเท็จจริงเหล่านั้นก็ก่อร่างมุมมองของเรา และข้อเท็จจริงยังเป็นเส้นทางในการดำเนินชีวิตของเราอยู่
อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องปรับนิยามของการใช้คำว่า ความจริงหรือข้อเท็จจริงเสียใหม่ ตามแบบที่นักคิดฝั่งตะวันตกเข้าใจกันว่า จริงๆ มันคือสิ่งที่ประกอบสร้างขึ้นจากหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่มันถูกกรองผ่านมุมมอง ผ่านความเชื่อ ผ่านวัฒนธรรม และคำสั่งสอนอีกที
แปลเรื่องนี้ยากหรือเปล่า?
เป็นเล่มที่แปลยากลำดับต้นๆ ในชีวิตการทำงานเลยนะ มันยากเพราะนักเขียนเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดี วิธีการเขียนของเขาจะเหมือนเราอ่านผลงานของนักเขียนโพสต์โมเดิร์นคนหนึ่งเลย เป็นเสน่ห์ของเล่มนี้ที่ว่าเขาเลือกเล่าให้คล้ายกับนิยายหรือเรื่องแต่ง ซึ่งมันจะถูกจริตคนที่เป็นสายวรรณคดี แต่ว่าในขณะเดียวกัน มันก็ยากตรงที่เราจะหาวิธีถ่ายทอดงานของเขาให้ออกมารู้เรื่องได้ยังไง บางจุดเราก็แปลตรงเป๊ะไม่ได้ ถ้าเราจะถอดความไปเลยเนี่ย ภาระมันจะไปตกที่คนอ่าน
อิมแปลมาทั้ง Fiction และ Non-fiction มันจะมีความแตกต่างกันอยู่ พอเป็นเรื่องแต่ง เราต้องเคารพในน้ำเสียงของนักเขียน ด้วยการเก็บสำนวนและความสวิงสวาย เก็บสไตล์ของเขาเอาไว้ แต่ว่าพอเป็นงาน Non-fiction เป้าหมายของคนทำงานรูปแบบนี้หลายๆ คน คือการทำให้คนอ่านเข้าใจงานเขียนมากที่สุด เพราะฉะนั้นบางจุดเราจะเก็บการเปรียบเปรยหรือโวหารภาพพจน์ ไวยากรณ์แบบฝรั่งๆ เอาไว้หมดมันเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าเราก็พยายามให้ใกล้เคียงที่สุด ให้ได้ความเป็นคุณโจนาธานมากที่สุด
เมื่อแปลเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเล่าเรื่อง มันนำพาความยากมาด้วยไหม?
ต้องเท้าความก่อนว่า เราเป็นคนเรียนวรรณคดีที่ธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ปริญญาตรี แล้วก็มาต่อปริญญาโท เราอยู่กับมันมา 10 ปี เพราะว่าช่วงเรียนจบแล้วมาทำงานแปล เราก็ยังมีโอกาสแวะเวียนไปสอนคณะศิลปกรรม ไปสอนเกี่ยวกับเรื่องแต่ง วนอยู่กับการวิเคราะห์ เราก็เลยรู้สึกว่า เออ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยนะ ตอนที่เราเรียน เราก็สนใจละครเวทีที่พูดถึงละครเวที หรือนิยายที่พูดถึงนิยาย อะไรพวกนั้นอยู่แล้ว แล้วพอมาเจอเรื่องนี้ มันคือหนังสือที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับการเล่าเรื่องอีกที มีความทับซ้อนกันเป็นเหมือนตุ๊กตารัสเซีย ซึ่งเราก็ว้าวกับมัน
การเป็นคนที่ ‘คุ้นเคย’ กับเรื่องประมาณนี้ เป็นอุปสรรคในการสื่อสารเรื่องเหล่านั้นไปยังคนที่ไม่คุ้นเคยหรือเปล่า?
หนึ่งในโจทย์ของเราคือ เราคุ้นเคย แต่เราต้องทำยังไงก็ได้ให้คนอื่นเข้าใจด้วย เวลาเราทำงาน เราจะนึกถึงหน้าคุณแม่ นึกถึงหน้าของคนอ่าน คนที่เขาไม่ได้เรียนมากับเรา เราอยากให้เขาเข้าถึงตรงนี้ได้ ให้เขาเห็นในเสน่ห์ของสิ่งที่เราเรียน สิ่งที่เราได้คลุกคลีมา สิ่งที่เราเคยได้ไปถ่ายทอดให้รุ่นน้องเข้าใจมา พยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงได้มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เรียนวรรณคดี คลุกคลีตีโมงอยู่ในแวดวงวรรณกรรม ให้เป็นคนทั่วไปที่สนใจธรรมชาติของการเล่าเรื่อง อยากให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่เราอยู่กับมันมา และตกหลุมรักมัน
มีวิธีการถ่ายทอดให้ออกมาเข้าถึงง่ายไหม?
พยายามใช้คำที่เรียบง่ายมากที่สุดค่ะ เราเคยพูดว่างานเขียนควรเป็นประชาธิปไตย เราอิงจากคำว่าประชาธิปไตย คือการที่ทุกคนเท่าเทียมกัน อำนาจเป็นของทุกคน อย่างนั้นอำนาจในการเข้าถึงความรู้ หรือสิ่งที่พวกเขาอยากอ่านก็ควรจะเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นเราก็เลยพยายามใช้ภาษาที่คิดว่าทุกคนน่าจะเข้าใจง่ายที่สุด ไม่สวิงสวายมาก ต้องขอบคุณตั้งแต่ต้นฉบับด้วย เพราะรู้สึกว่าตัวผู้เขียน เขียนเรื่องเกี่ยวกับวรรณกรรม เรื่องที่จริงๆ ค่อนข้างมีความนามธรรมสูง แต่เขาเขียนอย่างเข้าใจง่ายมาก หากเทียบกับสิ่งที่เราเคยอ่าน
เรารู้สึกว่าคนนี้คือนักวิชาการ ที่ถ้าเราได้อ่านงานของเขาตอนยังเรียนอยู่ มันคงเปิดโลกอย่างมาก เพราะอุปสรรคของการเป็นนักศึกษาอายุ 19-20 ปี และคนทั่วไปต้องเจอ คือมุมมองว่าวรรณกรรมและวรรณคดี เป็นเรื่องของชนชั้นนำของอำมาตย์มีอันจะกิน คุณสบายอยู่กับบ้านคุณก็เลยวิจารณ์วรรณกรรมกัน มันทำให้วรรณกรรมกลายเป็นเรื่องจับต้องไม่ได้ จับต้องไม่ได้มากเสียจนเมื่อลูกสักคนเลือกไปเรียนวรรณกรรมหรือการละคร พ่อแม่จะนึกไม่ออกเลยว่า จบไปลูกจะเป็นอะไร? ทั้งหมดอาจเพียงเพราะเขาเองก็ไม่เคยมีโอกาสได้รู้ว่า สิ่งเหล่านี้มันสามารถต่อยอดเป็นอย่างอื่นได้
ถ้าบริษัทสักบริษัทอยากจะสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมา แน่นอนว่าคุณต้องการคนที่เล่าเรื่องเก่งไปอยู่ในบริษัท พรรคการเมืองสักพักจะสร้างภาพลักษณ์ให้ถูกใจประชาชนส่วนใหญ่ คุณก็ต้องใช้นักเล่าเรื่องที่เก่งเหมือนกัน ย้อนกลับไปว่า เราอยากให้คนทั่วไป ลองอ่านเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ลอยฟุ้ง หรือที่เรียนไปแล้วไม่มีประโยชน์
พอทำเล่มนี้แล้ว มุมมองต่อโลกรอบตัวของเราแตกต่างออกไปบ้างหรือเปล่า?
สำหรับอิม เราเป็นคนขี้ระแวงอยู่แล้ว เวลาอ่านวรรณกรรมหรือบทละครเวที มันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ผู้เล่าที่ไว้ใจไม่ได้’ (Unreliable Narrator) เราก็เลยรู้สึกว่า เราฟังข่าว หรืออ่านข่าว อ่านคอนเทนต์ของใครสักคน เราก็จะตั้งคำถามในใจอยู่แล้วว่า เรื่องต่างๆ เหล่านี้มันเชื่อถือได้มากแค่ไหน
มองย้อนกลับไปช่วงหาเสียงกัน เราเป็นคนดูช่อง 3 ที่ค่อนข้างกระแสหลัก เราก็สงสัยว่าสิ่งที่เราได้รับจากช่องนี้ ช่องอื่นๆ ที่ ‘เฉพาะกลุ่ม’ กว่านี้ได้รับมันเหมือนเราหรือเปล่า? เราก็เลยไปเปิดดูกับแม่ว่าเขานำเสนออะไรกัน เราถึงได้รู้ว่ามันก็มีความไว้ใจไม่ได้อย่างที่เราบอกจริงๆ ผู้เล่าที่ไว้ใจไม่ได้ ไม่ได้มีอยู่แค่ในวรรณกรรมที่เราเรียน แต่แทรกซึมอยู่ทั่วไปในชีวิตจริง แทรกซึมอยู่แม้แต่ในตัวเราเอง ถ้าเรามีเรื่องกับใคร เวลาเราเล่าให้เพื่อนฟัง อีกฝั่งก็ต้องไม่ดีอยู่แล้วปะ?
ถ้าถามว่าหนังสือเล่มนี้เปลี่ยนอะไร ในขณะที่เราเป็นคนระแวงอยู่แล้วว่าเรื่องเล่าและการรับสารผ่านสื่อ มันไว้ใจไม่ได้ 100% หนังสือเล่มนี้พาเราไปไกลกว่าเดิมนิดหน่อยคือ เรื่องเล่ามันมีหลายมุม เราต้องยอมรับว่าคนอื่นรับเรื่องเล่ามุมอื่นมา และความคิดเห็นของเราไม่ตรงกันได้ อย่างที่คุณโจนาธานสรุปมาเลยว่า อย่าเกลียดคนที่เชื่อเรื่องเล่า เพราะแบบเดียวกับที่เขาเชื่อในเรื่องเล่าจากฝั่งที่เขารับมา เราเองก็ต้องยอมรับว่า เราก็กำลังเชื่อและถูกโน้มน้าวไปกับเรื่องเล่าของฝั่งที่เราเลือกรับเหมือนกัน ซึ่งมันจะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น การปะทะกัน ตีกันมันอาจจะลดน้อยลงได้
มีเรื่องเล่าในสังคมไทยแบบไหนที่คิดว่าน่าเป็นห่วงหรือเปล่า?
เป็นเรื่องที่เพิ่งผ่านพ้นมาที่พารากอน เราว่าเรื่องเล่าในสังคมซึ่งน่าเป็นห่วงที่สุดตอนนี้อยู่ในระดับครอบครัว คือเรื่องเล่าที่พ่อแม่เล่าให้ลูกฟัง พวกเราเติบโตมากับการสอนว่า ลูกที่ดี คือลูกที่เรียนเก่ง เข้ามหาวิทยาลัยระดับท็อปได้ เด็กที่เก่ง คือเด็กที่พูดได้หลายภาษา เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเล่าที่น่ากลัวมาก เพราะเราได้เห็นแล้วว่าผลจากแรงกดดันของเรื่องเล่านี้เป็นยังไง ซึ่งไม่ใช่ว่าแม่ไม่หวังดีนะ เรารับรู้ได้ว่าพ่อแม่ของเราหวังดีกับเรา เพราะมันเป็นเรื่องเล่าที่เขารับรู้มาจากตายายอีกทีว่า มันคือทางที่นำไปสู่ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ แต่พอไปพบกับส่วนผสมที่ผิด มันก็อาจนำไปสู่ผลอันเลวร้ายได้แบบที่เกิดขึ้น
เรื่องเล่าอย่างเด็กที่ดีต้องไม่เล่นเกมอย่างนี้ ไม่ใช่เลย คนที่เล่นเกมก็ไม่ใช่คนไม่เก่ง ไม่ใช่คนไม่มีอนาคต เรารู้สึกว่าเรื่องเล่าที่พ่อแม่ควรเล่าให้แก่ลูก คือไม่ว่าลูกจะเลือกทำอะไร ขอให้เลือกในสิ่งที่ลูกมีความสุขกับชีวิตของเขา ไม่ใช่เพียงเงินทอง หรือความต้องการที่จะอยู่เหนือสุดกว่าใคร คิดว่าสังคมต้องตื่นรู้ว่าการเล่าเรื่องคืออะไร มันแทรกซึมอยู่ในชีวิตของเรามากขนาดไหน การเล่าเรื่องมีพลังมากขนาดไหน ถ้าทุกคนเข้าใจมัน เราคิดว่าเรื่องแบบนี้คงจะลดน้อยลง
มีเรื่องเล่าที่ตัวเองเชื่อมากๆ แล้วอยู่มาวันหนึ่งเราก็ตื่นไหม?
ถ้าเป็นในภาพใหญ่ อาจมาจากการแปลหนังสือของ Be(ing) นี่แหละ คือที่ผ่านมา มนุษย์ไม่เคยไร้หัวใจ Humankind ตอนเราเรียนปริญญาตรี เราได้เรียนวิชาโทเป็นวิชาจิตวิทยาด้วย มีสิ่งที่อยู่ในตำราเรียนว่า มันมีการทดลองว่าพอมนุษย์มาอยู่ด้วยกัน พวกเขาจะก้าวร้าว แต่สิ่งที่ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองไปจากการอ่านเล่มนั้นคือ รุตเกอร์ เบรกแมน (Rutger Bregman) ผู้เขียนที่มาทำลายความเชื่ออันผิดพลาดนี้มาตลอด เพราะไอ้การทดลองที่บอกว่า เมื่อบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป มนุษย์จะทำตัวก้าวร้าวเนี่ย ไม่ใช่เรื่องจริง การทดลองที่อิมกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเรียนในวิชาจิตวิทยามาตลอด แล้วได้ผลสรุปแบบนั้นมันถูกจัดทำขึ้นไปครึ่งหนึ่ง มีการแทรกแซงของนักวิจัย เราว้าวและรู้สึกว่าหนังสือเล่มนั้นมันเปลี่ยนมุมมองของเราเหมือนกันว่า ถึงจะไม่มีกฎหมายหรืออะไรมากำกับมนุษย์ โดยธรรมชาติมนุษย์นั้นดีต่อกัน พร้อมที่จะช่วยเหลือกัน เพราะเราเป็นสัตว์สังคม
อย่างนั้นก็แปลว่างานวิจัยที่เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือที่สุดในหมู่วิชาการ อาจไม่จริงเสมอไป?
เราก็ช็อกนะ เพราะเราเรียนมา มันเป็นตำราเรียนนะ! เขาทำแบบนี้ได้ยังไง! อย่างนี้เราก็ต้องอัปเดตความรู้กันเรื่อยๆ
สรุปแล้วทำไมเราต้องคุยถึงการเล่าเรื่อง? มันเกี่ยวกับเรายังไง?
จริงๆ แล้วเรื่องเล่ามันเกี่ยวกับทุกมิติในชีวิตของเราเลยนะ สมมติเราคุยกันและอิมถามว่า คุณมีความฝันไหม? แล้วคุณตอบว่าผมอยากเป็นเจ้าของสำนักข่าวในสักวันหนึ่ง อยากเป็นหัวหน้า นั่นมันก็คือการเล่าเรื่องอย่างหนึ่ง และเรื่องเรื่องนั้นก็เป็นสิ่งที่โน้มน้าวตัวคุณเองด้วยเหมือนกัน ว่าเราต้องไปถึงจุดนั้น หรือเราก็โน้มน้าวตัวเราด้วยว่า เราจะมองเพื่อนใหม่คนนี้ยังไง เมื่อเขาอยากเป็นคนที่ไปถึงจุดที่มีสำนักข่าวเป็นของตัวเอง
นอกจากนั้นการเล่าเรื่องก็ยังมีเรื่องความเชื่อ เรื่องศาสนา สายมู มันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์อยู่แล้ว การมองโลกก็ด้วย เราได้รับเรื่องเล่าแบบไหนมาจากโรงเรียน จากครอบครัว จากสังคมเพื่อน มันคือเรื่องเล่าที่ส่งผลต่อมุมมองการมองโลก การดำเนินชีวิต และทางเลือกของชีวิตเรา