จากออกไปนอกบ้านทุกวัน ก็กลายเป็นต้องอยู่บ้าน ทานข้าวที่ร้านอาหาร ก็กลายมาเป็นเดลิเวอรี่ จากชีวิตปกติ ก็ต้องใส่หน้ากากอนามัย พกเจลล้างมือทุกวัน
การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กระทบต่อชีวิตของทุกคนแน่นอน ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต การทำงาน ไปจนถึงภาพใหญ่อย่างเศรษฐกิจ สังคมเมือง และการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่ง สถาบันนโยบายสาธารณะ และการพัฒนา ก็ได้จัดเสวนาออนไลน์ประเด็นนี้ที่ว่า ‘New World Paradigm: ไวรัส เปลี่ยนโลก’ ที่พูดคุยกับ อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านว่า การระบาดของไวรัสในครั้งนี้ จะเปลี่ยนสังคมเมือง ภูมิรัฐศาสตร์ และโลกโซเชียลมีเดีย อย่างไร?
ซึ่งอย่างแรก เราก็ได้เห็นกันแล้วว่า การระบาดของไวรัสในไทยตอนนี้ ก็เปลี่ยนให้งานเสวนา ให้ต้องกลายเป็นระบบออนไลน์ ผ่านไลฟ์ และ ZOOM ที่ผู้เสวนาแต่ละท่าน ไม่ได้มาอยู่ร่วมกัน แยกกันตามแต่ละที่ แต่ถูกเชื่อมโยงกันผ่านอินเทอร์เน็ตแทน
ชีวิตความเป็นเมืองที่หายไป จากการถูกลดความหนาแน่น และแทนที่ด้วยระยะห่าง
รถที่เคยติดทุกเช้า-เย็น คนบนรถไฟฟ้า รถเมล์ที่เคยแน่นเอี๊ยด ห้างสรรพสินค้าที่มีคนเดินพลุกพล่าน ตอนนี้ภาพเหล่านั้น กลับกลายเป็น พื้นที่โล่งๆ ว่างเปล่า มีกลุ่มคนเพียงเล็กน้อยบางตาเท่านั้น เราเห็นภาพเมืองที่เปลี่ยนไปจากการระบาดของไวรัส พร้อมๆ กับข่าวแรงงานต่างจังหวัดหลายหมื่นคน ที่เดินทางกลับภูมิเลาเนา เมื่อห้าง หรือสถานที่ต่างๆ ที่เป็นที่ทำงานของพวกเขาประกาศปิดทำการชั่วคราว
อ.ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ นักวิจัยคนเมือง 4.0 ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ หัวหน้าสายงาน Foresight and Futures Lab สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ก็ได้เล่าเสวนาให้เราฟังในหัวข้อ ไวรัสเปลี่ยนชีวิตคนและชีวิตเมือง
ซึ่งในจุดแรก อาจารย์ก็ชี้ให้เราเห็นว่า ความเป็นเมือง หรือ Urbanization มันมาพร้อมกับการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน และจำนวนคนในเมืองที่เพิ่มมากขึ้น โดยนอกจากประชากรเมืองที่เพิ่มขึ้นแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ ‘โลกาภิวัตน์’ เมืองมีสนามบิน มีการเดินทาง มีนักท่องเที่ยง และยังดึงดูดคน ดึงดูดงาน และโอกาสต่างๆ
แต่เมื่อเกิดไวรัสแล้ว เราจะเห็นได้ว่า นโยบายหนึ่งที่รัฐทั้งใน และต่างประเทศต่างขอความร่วมมือจากประชาชนคนการ Social Distancing หรือการมีระยะห่างทางสังคม ซึ่ง อ.ว่านก็บอกว่า ความหนาแน่นของเมืองที่เป็นความเสี่ยงของการระบาด ก็มีการจัดการลดความเสี่ยง ลดความหนาแน่น และลดการเดินทาง
“บ้านเราไม่เท่ากัน”
อ.ว่านมองว่า เมื่อมีการลดการเดินทาง ลดความหนาแน่น และให้ประชาชนอยู่ในบ้าน แต่บ้านของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน พื้นที่ไม่เท่ากัน ก็เกิดคำถามที่ว่า คนที่บ้านเล็ก หรืออยู่ในคอนโดที่มีพื้นที่เล็กๆ จะอยู่ไหวไหม ซึ่งเมื่อพวกเขาอยู่ไม่ไหว สิ่งที่ตามมาคือ การตัดสินใจเดินทางกลับบ้านในภูมิเลานำเดิม แต่ก็ยังต้องจ่ายค่าเช่าอยู่ นี่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าถึงระดับของการกักกัน เพราะบ้านของแต่ละคนไม่เท่ากัน
ในด้านการลดงาน ให้เปลี่ยนไปทำงานอยู่ที่บ้าน หรือ Work From Home อ.ว่านก็บอกว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ทำงานออนไลน์ได้ เช่น แม่ค้าหาบแร่ พนักงานทำความสะอาด ทั้งอีกมุมนึง การลดงานยังสะเทือนเศรษฐกิจในท้องถนนมากที่สุด โดยไม่มีกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจเกิดขึ้นเลยด้วย
อ.ว่านตั้งคำถามต่อว่า พอลดภารกิจของเมือง ก็เกิดคำถามว่าจะใช้ชีวิตในเมืองทำไม ? เพราะความเป็นเมืองที่เป็นพื้นที่ดึงดูดแหล่งเรียนรู้ แหล่งรายได้หายไป จึงไม่ได้มีเหตุผลให้ใช้ชีวิตในเมือง และยังอาจเป็นสัญญาณที่จะบอกว่า เมืองไม่ได้ให้ความสุขคนหรือเปล่า เพราะถ้าให้ความสุขในเมือง เขาก็อาจจะไม่ต้องกลับบ้าน ถ้าเมืองไม่มีเงิน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ ทั้งพื้นที่เมืองที่เคยมากับความหนาแน่น กลายเป็นความปลอดโปร่งโล่งสบาย แต่อีกมุม ก็ทำให้ชีวิตความเป็นเมืองหายไปด้วย
“เหตุการณ์ COVID-19 มันทำให้คิดว่า อนาคตพึงประสงค์จะเป็นยังไง ?”
อาจารย์มองว่า เหตุการณ์นี้ จะทำให้เห็นว่าในยามคับขัน รัฐต้องบริหารให้ตรงตามความต้องการของคน แต่ต้องกลับมาถามว่า รัฐรู้จักเมืองดีพอหรือไม่ ว่าคนที่อยู่ในเมืองคือใคร มาจากไหน เพราะถ้ารู้จักแล้ว จะรู้ว่า เขาต้องการความช่วยเหลืออย่างไร และดึงลักษณะความต้องการแต่ละคนออกมา ซึ่งเป็นประเด็นที่จะทำให้เรารับภัยพิบัติในอนาคตได้ และไม่ใช่แค่กับคนเมืองในมหานครกรุงเทพฯ จังหวัดอื่นๆ เอง ก็ต้องรู้จักคนในแต่ละจังหวัดด้วย
ซึ่งอาจารย์เสนอว่า เราต้องเริ่มเริ่มเก็บ database และเป็น Digitalization เพราะในอนาคต ไม่ได้มีภัยแค่ COVID-19 หรือโรคระบาด และการเข้าใจประชากรที่ละเอียดจะเป็นประเด็นที่สำคัญ
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีวิกฤตในหลายๆ ครั้ง แต่โรคระบาดนั้น ไม่เหมือนภัยทั่วไป ซึ่ง อ.ว่านมองว่า ภัยในอดีต เราต้องร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน แต่สำหรับโรคระบาดนั้น ทำให้เราต้องห่างกัน ซึ่งสำหรับเมืองเอง ที่ผ่านมา เมืองคือการแบ่งปัน แบ่งที่พัก แบ่งที่ทำงาน มี co-working space เช่าคอนโด และมีรูมเมท แบ่งที่นอน หรือตลาด ที่เป็นพื้นที่แบ่งปันอาหาร แม้แต่ด้านขนส่งสาธารณะเอง ก็ยิ่งเป็นการใช้ร่วมกัน ซึ่งเป็นการแบ่งปันทรัพยากร
แต่เมื่อเกิดการระบาดนั้น สิ่งที่จำเป็นคำถามต่อในอนาคต คือ ความแน่นอนของอนาคตเมือง เส้นการแชร์พื้นที่กับคนทั่วไป กับ พื้นที่ส่วนตัวจะเป็นอย่างไร ? ทั้งความร่วมมือที่เปลี่ยนไป ไปอยู่ในโลกออนไลน์นั้น ก็ผลักให้คนบางกลุ่มไม่ได้เข้าร่วมด้วย รวมถึงว่า เมืองเองต้องเอาความสุข และคุณภาพชีวิตคนกลับมาให้ได้ด้วย
เศรษฐกิจโลกเปลี่ยน อุดมการณ์โลกเปลี่ยน และผู้นำโลกก็อาจจะเปลี่ยนด้วย
จากไวรัส ที่มีจุดเริ่มต้นในจีน แพร่ระบาดในประเทศ ได้ขยายออกไปเป็นการระบาดใหญ่ระดับโลก ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ร่วมกันแน่นอน ซึ่งในมุมการเมืองระหว่างประเทศ หรือภูมิรัฐศาสตร์โลก ก็จะทำให้บทบาทของผู้นำโลก และแนวคิดต่างๆ เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาพูดในมุมมองของอาจารย์ว่า ภูมิรัฐศาสตร์โลกและระบบการจัดการทั่วโลก จะเปลี่ยนไปอย่างไร ?
อาจารย์มองว่าไวรัสนั้น จะทำให้โลกเปลี่ยนไปใน 3 ประเด็นหลักๆ คือ
1.) การทวนกระแสโลกาภิวัฒน์
2.) ความสำคัญของการคิดใหม่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ
3.) การผงาดขึ้นมาของจีน จุดจบการนำเดี่ยวของสหรัฐ
โดยที่ผ่านมา ประเด็นเหล่านี้ก็ถูกหยิบมาพูดกันซักระยะแล้ว ตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นมาเป็น ปธน.สหรัฐ ในช่วงสงครามการค้า หรือกระแสชาตินิยมในแต่ละชาติที่เพิ่มขึ้น แต่มันก็จะถูกพูด และหายไป กลับมาเป็นแบบเดิม แต่ว่าการระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้น อาจจะตอกย้ำให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในระยะยาวก็เป็นได้
“ความเข้าใจผิดของ COVID-19 หลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องระยะสั้น หลายคนเปรียบกับไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือซาร์ส แต่เราต้องเปรียบกับไข้หวัดสเปน 1 ปี 8 เดือน” อาจารย์อาร์มกล่าว ทั้งยังอธิบายต่อว่า ในช่วงแรก หลายคนมองว่า การระบาดเป็นปัญหาของจีน เดี๋ยวก็ฟื้น แต่ตอนนี้เราก็เห็นว่า มันกลายเป็นเรื่องระดับโลก และมีแนวโน้มว่า เป็นเรื่องระยะยาว อาจจะระบาดได้หลายระลอก ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อย่าง วัคซีน ยา และความร่วมมือจากประชาชน
หนึ่งเรื่องสำคัญระดับโลก ที่ อ.อาร์มมองว่าหลายประเทศต้องทบทวน คือ การคิดถึง Global Supply Chain ใหม่ เพราะจีนที่เป็นแหล่งสำคัญ เกิดการระบาด และเกิดการกระทบยิ่งใหญ่มาก ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องคิดถึงการลดความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง พยายามเชื่อมโยงในประเทศให้มากขึ้นด้วย ทั้งในอีกมุมหนึ่ง สิ่งที่เกี่ยวข้องคือกระแสชาตินิยม ที่เราเห็นการรับมือของหลายประเทศ มีการประกาศปิดพรมแดน หรือที่ทรัมป์เองเรียกไวรัสว่าเป็น China Virus ขณะที่โฆษกจีน บอกว่า ไวรัสอาจมาจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการทำไวรัสให้เป็นประเด็นการเมือง หรือชาตินิยม
ทั้งจากเหตุการณ์นี้ เรายังจะเห็นการร่วมมือในระดับองค์การระดับโลก ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ทั้ง WHO ไม่ได้มีบทบาทนำเท่าที่ควรจะมีเมื่อเทียบกับแต่ละประเทศ ออกมาออกมาตรการ ทางเลือก
อ.อาร์ม อธิบายว่า สิ่งที่ทำให้ COVID-19 เปลี่ยนโลก ไม่ได้มาจากแค่การระบาดที่จีนเท่านั้น แต่สาเหตุที่เปลี่ยนเพราะการระบาดในตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ตอนที่เริ่มที่อู่ฮั่น สื่อในฮ่องกงบอกว่าจะต้องใช้มาตรการเข้มงวด เพื่อที่จะไม่ซ้ำรอย แต่ตอนนั้นเราไม่เห็นการแพนิก ในตะวันตก แต่ตอนนี้เราก็เห็นการใช้มาตรการเข้มงวดที่เกิดขึ้นทั่วโลก
“การจัดการของสหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำโลก จะมีนัยยะมหาศาลต่อระเบียบโลกในอนาคต”
โดยตอนนี้ อาจารย์เล่าว่า ปัจจัยในการจัดการของสหรัฐฯ ยังไม่แน่นอนว่าจะสำเร็จ หรือล้มเหลว ซึ่งก็อาจจะสำเร็จได้ เพราะ สหรัฐฯ เป็นผู้นำในการผลิตสิ่งใหม่ๆ ทั้งนวัตกรรม ยา วัคซีน และหากมีมาตรการการรับมือที่เหมาะสม รวมถึงอาจจะล้มเหลวได้ จากความเหลื่อมล้ำ และระบบการแพทย์ของสหรัฐ ที่ยังไม่ใช่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนจนจำนวนนึง ยังไม่สามารถเข้าถึงแพทย์ได้ ซึ่งทำให้ไวรัสลุกลามได้
นอกจากนี้ ในมุมด้านเศรษฐกิจเอง นักคิดของสหรัฐฯ ต่างก็มองว่า มีความจำเป็นที่ต้องคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความรุนแรงในสหรัฐ เช่น ความเหลื่อมล้ำ หรือแม้แต่กระแส Universal Basic Income ก็กลับมา การแจกเงินให้ประชาชน หรือแม้แต่แนวคิดของ เบอร์นี แซนเดอร์ ผู้สมัครชิงตำแหน่ง ปธน. พรรคเดโมแครต ที่ต้องการระบบประกันสุขภาพที่เข้มแข็งมากขึ้นก็จะโต้กลับรัฐบาลด้วย
อีกหนึ่งประเด็น ที่ต้องจับตามองต่อจากนี้ คือการผงาดของจีน ที่อาจเป็นจุดจบการนำเดี่ยวของสหรัฐฯ ซึ่งต้องรอดูว่า สหรัฐฯ จะรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสได้แค่ไหน ขณะที่ในตอนนี้ สถานการณ์การระบาดของจีนดีขึ้น มีกระแสชื่นชมจีน มีภาพของจีนในเวทีโลกในด้านบวก ซึ่งจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบ 2 โมเดลที่ต่างกัน
และไม่เพียงแค่โมเดลของจีน หรือสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ อ.อาร์มยังชี้ให้เห็นว่า โลกจะเห็นโมเดลและทางเลือกในการแก้ปัญหา และรับมือต่างๆ อื่นมากมาย เช่น เกาหลีใต้ ที่ก็ไม่ได้ใช้แบบจีน แต่ก็ประสบความสำเร็จ หรือแม้แต่สิงคโปร์ ที่มีจุดเด่นในการติดตามผู้ติดเชื้อ และแจ้งข้อมูลข่าวสารที่โปร่งใส
แต่ถึงอย่างนั้น แม้ว่าสถานการณ์ในจีนจะดีขึ้น แต่ อาจารย์ก็สรุปให้เห็นว่า เศรษฐกิจของจีนต่อจากนี้ ก็จะแย่ และติดลบ แต่ว่าประเด็นสำคัญคือ อาจจะแย่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ รักษาเศรษฐกิจในประเทศไว้ได้ ตอกย้ำโมเดล และเทรนด์ที่จีนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เศรษฐกิจการบริโภค ที่ทำให้จีนจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ แม้อาจจะไม่ได้โตเท่าสมัยก่อน
อ.อาร์ม ได้สรุปพร้อมตั้งคำถามเกี่ยวกับประเทศไทย ไว้ว่า ไทยอาจจะต้องรับมือกับไวรัส ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นปัญหาระยะยาว และไทยต้องปรับตัวในการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกในระยะยาว และสุดท้าย ในการสื่อสารกับประชาชน และทิศทางการแก้ไขปัญหา ต้องมีความคิดใหม่ ในระบบระเบียบต่างๆ ด้วย
พลังของโซเชียลมีเดีย กลายเป็นช่องทางให้รัฐบาลฟังเสียงประชาชนได้
โซเชียลมีเดีย กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเราอยู่แล้ว แต่ในภาวะที่เกิดโรคระบาด โซเชียลมีเดีย ยิ่งเป็นช่องที่ที่ประชาชนสะท้อนปัญหา และมุมมอง ไปถึงแชร์ข่าวสารต่างๆ ด้วย ซึ่งคุณกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้มาเสวนาให้เราฟังถึงมุมมองในประเด็นนี้
คุณกล้า ชี้ว่า สิ่งที่เชื่อมเราในปัจจุบัน คือโซเชียลมีเดีย ในอนาคตพลังของการสื่อสาร ที่เคยอยู่ในสัมปทาน (ทีวี หนังสือพิมพ์) จะหายไป ไม่อยู่ในอำนาจรัฐ เป็นพลังของเทคโนโลยี ซึ่งพอคนใช้โซเชียลเยอะๆ เป็นเรื่องข้อมูล เป็นที่ๆ เดียวที่คนเข้าไปแชร์ มันสามารถติดต่อ และไปดึงข้อมูลบางอย่างเพื่อมาทำความเข้าใจได้ โดยเฉพาะข้อมูลสาธารณะ ว่าคนทั้งประเทศคิดอะไรกันอยู่ มองยังไง ตระหนกยังไง ทำให้เราเข้าใจว่า คนในประเทศมองโควิดยังไง
ซึ่งจากข้อมูลที่ไวซ์ไซท์รวบรวมมา ก็แสดงว่าประชาชนใช้โซเชียลมีเดีย กับการพูดถึงเรื่องของโรคระบาดกันมาก ซึ่งถือว่ามากกว่าในช่วงไข้หวัดนกระบาด แม้ว่าตอนนั้น ยังไม่ใช่ยุคดิจิทัลด้วย โดยในการเสวนา คุณกล้าได้เปิดเผยข้อมูลการพูดถึง COVID-19 ของคนไทยในโลกออนไลน์ ซึ่งจะเห็นว่า มักจะมีการพูดคุยมากขึ้น ในช่วงที่มีข่าวต่างๆ เช่น วันที่พบคนไทยรายแรกติดเชื้อ หรือวันที่มีข่าว ปู่-ย่า ติดเชื้อ หลังกลับมาจากญี่ปุ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ คุณโซเชียลมีเดีย ยังเป็นช่องทางหนึ่งที่แพร่ข่าวปลอม หรือ fake news ไปจำนวนมาก ทั้งมุมของการรักษาอาการ แถลงการณ์ของรัฐบาล การประกาศต่างๆ ซึ่งโซเชียลมีเดีย แพร่กระจายความหวาดระแวง โดยเฉพาะในช่วงนี้ แต่ถึงอย่างนั้น โซเชียลเองก็แพร่ขยายเรื่องดี โดยคุณกล้า ได้ยกตัวอย่างตอนพี่ตูนวิ่งเพื่อรับบริจาคเครื่องมือการแพทย์ ก็ได้กระแสจากโซเชียลมีเดียร่วมกันผลักดัน
สุดท้ายแล้ว คุณกล้ายังมองว่า การสื่อสารที่ปราศจากการฟัง ถือว่าไม่มีประสิทธิภาพ โดยได้ขอให้รัฐบาลฟังประชาชนให้มากขึ้น ซึ่งการฟังประชาชนทั้งประเทศ หรือ 70 ล้านคน อาจจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่คุณกล้าก็มองว่า การใช้เทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย จะช่วยรัฐได้ว่า สิ่งที่ต้องตอบคำถามประชาชนคืออะไร รวมไปถึงว่า ตอนนี้ประชาชนกำลังคิดอะไร ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย