“อย่าทำตัวเป็นเด็กนอกคอก”
เชื่อว่าเด็กไทยหลายๆ คนคุ้นเคยกับคำพูดนี้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะมาจากผู้ปกครอง คุณครู หรือแม้แต่เพื่อนสนิท เคยสงสัยไหมว่าทำไมการอยู่นอกคอกถึงเป็นเรื่องไม่ดี ทั้งที่สิ่งที่อยู่แต่ในคอก ก็มีคงแต่ ‘สัตว์เลี้ยง’ เท่านั้น แล้วเช่นนั้นทำไมการมีอิสระในตัวเอง มีอิสระทางความถึงกลายเป็นภัยในสังคมได้
หากพูดถึงซีรีส์สะท้อนระบบการศึกษาไทย หนึ่งในเรื่องที่มาแรงที่สุดในเวลานี้คงไม่พ้น ‘THE GIFTED GRADUATION’ ที่เรียกว่าชี้ประเด็นได้ถูกจุด เสียดสีได้อย่างเจ็บแสบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการศึกษาที่เอื้อแต่คนเก่ง สังคมโรงเรียนที่เต็มไปด้วยการอุปถัมภ์ กฎระเบียบต่างๆ ที่จำกัดอิสรภาพในการเป็นตัวเอง หรือแม้แต่การใช้นักเรียน เป็น ‘หนูทดลอง’
THE GIFTED บอกเล่าเรื่องราวของนักเรียนห้องกิฟต์ ซึ่งเป็นห้องเรียนพิเศษที่คัดเลือกนักเรียนที่มี ‘ศักยภาพเฉพาะตัว’ มารวมไว้ด้วยกัน โดยหนึ่งในนั้นมี ‘แปง’ นักเรียนห้องบ๊วยที่จับพลัดจับพลูมาอยู่ห้องนี้ท่ามกลางความแปลกใจของคนอื่นๆ ทันทีที่แปงเข้ามาเรียนห้องกิฟต์ เขาก็ได้ค้นพบความลับบางอย่าง ที่มีผู้อำนวยการอยู่เบื้องหลัง เขาจึงรวมตัวกับเพื่อนๆ เพื่อปฏิรูปมัน แต่แล้วความพยายามจะสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นกลับนำไปสู่การต่อสู้ทางความคิดผู้มีอำนาจในโรงเรียน และท้ายที่สุด มันก็นำมาซึ่งสถานะ ‘กบฎ’ โดยที่ไม่รู้ตัว
จุดเด่นของซีรีส์เรื่องนี้อยู่ความพยายามเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในโรงเรียน สารภาพว่าตั้งแต่ดูซีซันแรก เราเองไม่เคยคิดว่าเนื้อเรื่องจะมาพาเดินทางมาไกลได้ขนาดนี้ จากจากการต่อสู้กับระบบในโรงเรียน สู่การเปิดเผยเรื่องราวเน่าเฟะที่มีผู้มีอำนาจระดับประเทศอยู่เบื้องหลัง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่เรียกได้ว่า มีการรวบรวมเอาความต่ำตมของระบบการศึกษามายัดไว้ในเนื้อหาเพียง 26 ตอน (รวม 2 ซีซัน) ได้อย่างลงตัวที่สุด
โรงเรียน สถานบันแห่งแรกที่สอนให้รู้จักคำว่า ‘ชนชั้น’
เนื่องจากเป็นซีรีส์การศึกษา สิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือสถาบันศึกษา ‘โรงเรียนฤทธาวิทยาคม’ เป็นโรงเรียนที่มีความลับซ่อนเอาไว้ในภายใต้ห้องเรียนพิเศษ หรือเรียกว่าห้องเด็กกิฟต์นั่นเอง โดยการคัดเลือกนักเรียนเข้าห้องกิฟต์นั้นไม่ได้คัดเลือกด้วยข้อสอบคณิตศาสตร์มหาโหด หรือการเล่นแร่แปรธาตุใดๆ แต่คัดเลือกผ่าน ‘ศักยภาพ’ ที่แอบซ่อนอยู่ในตัวของนักเรียนบางคนที่รอวันถูกปลุกขึ้นมา และศักยภาพนี่แหล่ะ ที่นำมาซึ่งความวุ่นวาย และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโรงเรียน
ตลอดซีรีส์ 10 ตอนที่ผ่านมา เราได้เห็นกลุ่มเด็กกิฟต์พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โรงเรียน พยายามลดทอนอำนาจในเงามืด และสร้างสังคมที่เขาต้องการ แต่แล้วสิ่งเหล่านี้มันกลับไปขัดกับผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจบางคน จนท้ายที่สุดพวกเขาก็โดนตามล่า เพื่อกำจัดให้สิ้นซาก หรือถูกทำให้กลายเป็นพวกเดียวกับตัวเอง
ยิ่งเรื่องดำเนินไปเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เราหวนคิดถึงภาพโรงเรียนในอดีต โรงเรียนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถาบันที่สั่งสอน กล่อมเกลา และทำลายอัตลักษณ์ดั้งเดิมของเราไปโดยไม่รู้ตัว เพื่อให้เด็กทุกคนมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน และง่ายต่อการ ‘ปกครอง’
โรงเรียนอาจเป็นสถานที่ที่สอนให้เรายอมรับความหลากหลาย แต่ไม่ใช่ความแตกต่าง ตั้งแต่กฎในโรงเรียน ไปจนถึงการแบ่งแยกชนชั้นทางการศึกษา จากตัวชี้วัดที่มีชื่อว่า ‘เกรด’ ซึ่งในซีรีส์ได้สะท้อนให้เห็นปัญหานี้อย่างชัดเจน นักเรียนห้องกิฟต์จะได้รับอภิสิทธิ์เหนือเด็กธรรมดา ได้เรียนห้องที่มีอุปกรณ์พร้อม ได้แต่งกายตามใจชอบ รวมถึงได้รับการปฏิบัติจากเหล่าอาจารย์แตกต่างจากเด็กทั่วไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราทุกคนต่างรู้ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในละครเท่านั้น
นักเรียน หรือหนูทดลอง?
พาร์ทหนึ่งของซีรีส์ได้เล่าถึงการพากลุ่มเด็กนักเรียนมาทดลองเพื่อปลุกพลัง ‘ศักยภาพ’ ในตัว ซึ่งคนที่บงการเรื่องนี้ไม่ใช่คนอื่นไกล แต่เป็นผู้อำนวยการ (ผอ.) ของโรงเรียนนั่นเอง ที่หวังใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจ และความชอบธรรมของตัวเอง โดยไม่สนว่าผลลัพธ์ที่ตามมานั้นทำให้เด็กต้องสูญเสียตัวตนไปตลอดชีวิต
ในซีรีส์แสดงให้เห็นว่า ผอ. พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อรักษากลุ่มเด็กกิฟต์ไว้ แม้ว่านั่นจะเป็นการทำลายพวกเขาก็ตาม นอกจากนี้ยังหาวิธีสร้างเด็กที่มีพลังวิเศษใหม่ๆ ขึ้นมาไม่ต่างจากสร้างหนูทดลอง ก่อนจะพยายามหาทางควบคุม และใช้ประโยชน์จากศักยภาพอันมีค่า โดยไม่สนราคาที่ต้องจ่ายคืน
เราเชื่อว่านี่คืออีกหนึ่งประเด็นหลักที่ซีรีส์ต้องการจะสื่อ ที่ผ่านมาเด็กไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่าต้องสังเวยความฝันให้กับโรงเรียน เพียงเพราะอยู่ในช่วงเวลาที่ระบบการศึกษากำลังอยู่ในระหว่างทดสองรูปแบบการเรียน หรือการสอบใหม่ๆ และสุดท้ายมันก็ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า จากนั้นเด็กก็ถูกผลักออกจากระบบโรงเรียน แบกความเจ็บปวด และเริ่มต้นใช้ชีวิตอันขาดวิ่นของตัวเอง ไม่ต่างจากปลาฉลามที่โดนตัดครีบ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ผอ. จะเป็นตัวแทนของผู้มีอำนาจในสังคม เป็นผู้กำหนดทิศทาง และอนาคตของกลุ่มผู้น้อยใต้อำนาจ ซึ่งในที่นี้อาจรวมถึงเหล่านักเรียน และประชาชนทั่วไปอย่างเราๆ ด้วย แต่ซีรีส์นักเรียนพลังกิฟต์ดูคล้ายจะสื่อให้เห็นว่าการต่อสู้กับผู้มีอำนาจนั้นยาก แต่สิ่งที่ยากกว่า คือ ‘ระบบ’
ผอ.สุพจน์ คือหนึ่งในตัวละครหลักจากละครเรื่องนักเรียนพลังกิฟต์ เด็กหนุ่มที่ครั้งหนึ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น แต่หลายปีต่อมาเขาได้กลายเป็นหนึ่งในหุ่นเชิดที่อยู่ภายใต้ระบอบที่เขาเคยรังเกียจ เนื่องจากระบบต่างๆ ในสังคมมันบีบบังคับ กดทับ ให้ต้องกลายเป็นคนในแบบที่ไม่เคยคาดฝันไว้
ถ้าคำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับ ผอ.สุพจน์ และนักเรียนหลายๆ ที่ต้องขายความฝัน เพื่อแลกมาซึ่งอนาคตที่เจ็บปวด คำตอบก็คงจะเป็น ‘เพื่อความอยู่รอด’ แต่ไหนแต่ไรมา ประเทศเราไม่เคยให้ค่ากับวิชาชีพที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เด็กไทยเรียนวันละ 8 ชั่วโมงเพื่อแข่งกันสอบเข้ามหาลัยอันดับต้นๆ จากนั้นก็หาที่ทำงานที่มั่นคง และทำงานหนักจนบางครั้งก็หลงลืมความฝัน และกว่าจะรู้ตัวอีกครั้ง เราก็เป็นหนึ่งในระบบอันบิดเบี้ยวที่ครั้งหนึ่งเราเคยต่อต้าน
ระบบการศึกษาไทยไม่ได้มีปัญหาแค่ในระดับผิวเผิน แต่มันได้ฝั่งรากลึกไปในโครงสร้างอย่างแข็งแกร่งจนยากจะเปลี่ยนแปลงโดยคนคนเดียว
หรือการเปลี่ยนแปลงเป็นแค่เรื่องเพ้อฝันของเด็กๆ
หนึ่งในตัวละครที่มีอำนาจที่สุดในซีรีส์เรื่องนี้ได้กล่าวว่า “เราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเจริญที่ยังมีความสงบเรียบร้อย” ซึ่งนี่ยังถือเป็นอีกหนึ่งประโยคทองในเรื่อง The Gifted ที่หลายคนฟังแล้วต้องสะอีก เพราะมันช่างคล้ายกับสถานการณ์ในบ้านเราเหลือเกิน ‘ความเรียบร้อย’ ในบริบทนี้ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจาก การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ผู้มีอำนาจเห็นดีเห็นงาม
บางคนกล่าวว่า หากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ให้เปลี่ยนที่สเกลเล็กๆ อย่างตัวเราก่อน ถ้ามองโลกตามความเป็นจริง ตรรกะนี้มันถูกต้องจริงหรือ คำว่า ‘เปลี่ยนแปลงตัวเอง’ มีความหมายไม่ต่างจากการบอกให้เราปรับตัวให้เข้ากับระบบสังคม ระบบการศึกษาที่มีอยู่ จนวันหนึ่งเมื่อเราปรับตัวได้ เราก็จะเข้าใจว่าสิ่งที่ทำอยู่มันดี ลืมอุดมการณ์ดั้งเดิม ลืมความเจ็บปวด และถูกดูดกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน ขับเคลื่อนให้มันอยู่ต่อไป รอวันส่งต่อมันให้รุ่นน้อง รุ่นลูก เป็นวัฎจักรไม่จบสิ้น
ทุกวันนี้โลกของเราหมุนเร็วมาก เพียงแค่อยู่เฉยๆ ก็กลับเป็นคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังได้ ระบบการศึกษาก็เช่นกัน อาจจะถึงเวลาที่ต้องตั้งคำถามแล้วว่าหลักสูตรแบบเดิมยังคงเหมาะสมกับบริบทในปัจจุบันอยู่หรือไม่ อะไรที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยก็จะกลายเป็นสิ่งล้าหลัง และล่มสลายไปในที่สุด ซึ่งการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมนี่แหล่ะ ที่เป็นหน้าที่ของ ‘เด็กกิฟต์’
พันธกิจของเด็กกิฟต์ – เด็กกิฟต์คืออะไรกันแน่
เด็กกิฟต์คือกลุ่มคนที่มีศักยภาพ แต่คำว่า ‘ศักยภาพ’ ที่เหล่าเด็กกิฟต์มีไม่ใช่พลังพิเศษ แต่เป็นการ ‘ตาสว่าง’ เห็นระบบการศึกษา และสังคมอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่สิ่งที่ใครปลูกฝัง มีความฝันจะเปลี่ยนแปลงมันเพื่ออนาคตที่ดีของตัวเอง ยุติการผูกขาดอำนาจทางการศึกษาไว้ที่ใครคนเดียวที่สั่งการอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่เคยลงมาสัมผัสประสบการณ์การเรียนอย่างแท้จริงเลยสักครั้ง
หากเด็กกิฟต์ คือ ‘นักเรียนนอกรีต’ ที่หวังจะปฏิวัติระบบการศึกษาให้ดีขึ้น เราคงต้องกลับมามองดูบรรทัดฐานเดิมใหม่อีกครั้งว่า ‘ดี’ หรือ ‘เลว’ ใช้เกณฑ์อะไรกำหนด และใครเป็นผู้กำหนด
เคยถามตัวเองไหม… ว่าทำไมเราถึงไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งในการแบบการศึกษา ซึ่งเป็นอนาคตของเราเอง
เคยสงสัยไหม… ว่าเรากำลังวิ่งไล่ตามความฝัน หรือกำลังวิ่งไล่อนาคต
และเคยคิดไหม… ว่าทำไมสองสิ่งนั้นถึงไปคู่กันไม่ได้
หากดูซีรีส์เรื่องนี้ แล้วมีสักวินาทีหนึ่งที่คุณเผลอผุดคำถามเหล่านี้ขึ้นมาในหัว นั่นถือว่าคุ้มแล้วสำหรับการดูละครเพื่อความบันเทิงสักเรื่อง แต่กลับได้ตั้งคำถามถึงมาตรฐานชีวิตของเราที่อาจจะเผลอหลงลืมไปในชั่วขณะ