การเล่าเรื่องในภาพยนตร์ สามารถสร้างความสนุกให้กับคนดูได้ด้วยเทคนิคต่างๆ หลอกล่อให้หลงทาง เน้นย้ำถึงอารมณ์ ชวนให้มีความรู้สึกร่วม หรือแม้แต่ทำให้เราต้องตัดสินใจเอาเองว่าเรื่องไหนคือเรื่องจริง ‘Rashomon’ การเล่าความจริงจากหลากหลายมุม หนึ่งเหตุการณ์ ต่างตัวละคร ต่างช่วงเวลา แต่ทำไมนะ ต้องเรียกชื่อการเล่าแบบนี้ว่าราโชมอนด้วย
เรื่องจริงของเรา เรื่องจริงของเขา เรื่องจริงของเธอ อาจเหมือนกันบางส่วน ผิดจากกันหลายส่วน จริงสำหรับอีกคน อาจจะไม่จริงสำหรับอีกคน ด้วยผัสสะและมุมมองของแต่ละคน ทำให้ประสบการณ์ที่ได้รับจากเหตุการณ์เดียวกัน อาจไม่เหมือนกัน เราพบเจอเรื่องแบบนี้กันบ่อยๆ ในโลกความเป็นจริง แต่สำหรับโลกภาพยนตร์ นี่ยังไม่ใช่เรื่องใหม่มากนัก
เมื่อ ค.ศ.1950 ภาพยนตร์เรื่อง ‘Rashomon’ ผลงานการกำกับโดย ‘อากิระ คุโรซาวะ (Akira Kurosawa)’ ดัดแปลงจากเรื่องสั้น ‘In a Grove’ ผลงานจาก ‘เรียวโนะสุเกะ อากุตางาวะ (Ryunosuke Akutagawa)’ ได้เข้าฉายบนจอเงินว่าด้วย เรื่องราวการสืบสวนคดีฆาตกรรมซามูไรในป่า ผ่านพยานปากเอกที่ต่างเล่าเรื่องจากมุมมองของตนเอง การเล่าเรื่องจึงเล่าผ่านสายตาของแต่ละตัวละคร เหตุการณ์เดียวกัน แต่เรื่องราวดันออกมาไม่เหมือนกัน สุดท้ายนั้น ใครพูดความจริง ใครกำลังปิดบังความจริง เป็นหน้าที่ของคนดูที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง
แล้วการเล่าเรื่องแบบนี้ แบบที่เป็นเหตุการณ์เดียวกัน ผ่านแต่ละตัวละครเนี่ย มันเพิ่งมีเอาตอนเรื่อง Rashomon ของอากิระ คุโรซาวะนี่แหละ ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้จึงไม่ได้หยุดอยู่ที่รางวัลจากหลากหลายเวที แต่รวมไปถึงการสร้าง ‘Rashomon Effect’ การเล่าเรื่องเดียวกันจากหลายมุมมอง ที่มาจากชื่อภาพยนตร์ของเขา จนกลายเป็นว่า การเล่าเรื่องแบบนี้ ไม่ว่าจะในภาพยนตร์หรือชีวิตจริง ก็จะใช้ชื่อราโชมอนนี้เช่นกัน และคำว่าราโชมอนนั้น เป็นชื่อประตูที่ตัวละครได้นั่งพูดคุยกันถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
ความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้ น่าจะเป็นการสร้างความแปลกใหม่ให้โลกภาพยนตร์ จนเทคนิคนี้ถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์หลังจากนั้นอยู่เรื่อยมา ตัวภาพยนตร์ราโชมอนต้นฉบันนั้น ค่อนข้างซับซ้อนกว่าที่คิดไว้ แต่ถ้าใครอยากเสพงานภาพที่โดดเด่นไม่แพ้การเล่าเรื่อง ก็ยังคงแนะนำให้เป็นหนังที่น่าดูอีกเรื่อง ส่วนเรามีซีรีส์และภาพยนตร์ที่เล่าด้วยเทคนิคนี้ แบบฉบับดูง่าย ไม่ซับซ้อนมาแนะนำ 3 เรื่อง ให้เลือกดูตามอัธยาศัย
‘The Usual Suspects’ ผลงานการกำกับโดย ‘ไบรอัน ซิงเกอร์ (Bryan Singer)’ เรื่องนี้ไม่ได้เล่าผ่านตัวละครนั้นด้วยตัวเอง แต่เป็นการเล่าโดยคนๆ เดียว เล่าแทนคนอื่นในหลายๆ มุมมอง ซึ่งก็ปั่นป่วนชวนปวดหัวไม่แพ้กัน เหตุการณ์ปล้นรถบรรทุกที่เชื่อมโยงไปถึงการฆาตกรรมบนเรือ ซึ่งการเล่าเรื่อแบบนี้นี่แหละที่จะทำให้เราสงสัยในทุกตัวละคร จนจับไม่ได้ไล่ไม่ทันว่าใครกันแน่คือคนร้ายตัวจริง
ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลี ‘The Handmaiden’ ผลงานการกำกับโดย ‘ปาร์ก ชางอุค (Chan-wook Park)’ เจ้าของผลงานเดียวกับ ‘Oldboy’ ภาพยนตร์เกาหลีขึ้นหิ้ง เรื่องนี้ก็สร้างความประทับใจให้เราได้ไม่แพ้กัน เรื่องราวของนักต้มตุ๋นที่ว่าจ้างสาวน้อยคนหนึ่ง ให้ไปเป็นคนใช้ของคุณหนูผู้มีอันจะกิน ให้คอยเป่าหู บวกคะแนนให้กับเขา เพื่อปูทางให้เขาได้แต่งงานกับคุณหนู ไม่ใช่ด้วยความรัก ความเสน่หา แต่ด้วยเงินตราที่เขาเฝ้ารออยู่ทุกครั้งที่ก้าวเข้าบ้านของเธอ
ปิดท้ายไปด้วยซีรีส์ดราม่าเข้มข้น ‘The Affair’ จากช่อง SHOWTIME เรื่องนี้จะเล่าตามแบบฉบับราโชมอนไม่มีผิดเพี้ยน หนึ่งเหตุการณ์ ย้อนกลับไปเล่าจากแต่ละตัวละคร ว่าด้วยเรื่องรักสามเส้าของนักเขียนวัยกลางคน ที่มีครอบครัวแสนอบอุ่น ด้วยแรงดึงดูด ด้วยเสน่ห์ หรืออะไรก็ตามเขาไปพัวพันกับสาวเสิร์ฟที่เพิ่งพบเจอกันอย่างถลำลึก ไกลเกินกว่าจะถอนตัว กลายเป็นคนดูนี่แหละ ที่อยากจะรู้ไปด้วยว่าสุดท้ายแล้วเขาจะทำยังไงกับปมทับไปมาที่ตัวเองผูกไว้
การเล่าเรื่องแบบนี้ ช่วยให้เราเห็นลักษณะนิสัย ทัศนคติของแต่ละตัวละครได้เป็นอย่างดี อาจช่วยให้เราเข้าใจในโลกความเป็นจริงด้วยว่า ทำไมการพูดเรื่องเดียวกัน ต่างคนถึงต่างความคิดกันไปได้ไกลขนาดนั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก