กลับเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเรียนออนไลน์กันอีกครั้ง เมื่อโรค COVID-19 ยังคงวนเวียนอยู่กับเรา ไม่ไปไหนเสียที
นี่เป็นครั้งที่สามแล้วกับการเรียนออนไลน์ในสถานศึกษา ซึ่งสองครั้งก่อนหน้านี้ เราต่างได้ยินเสียงถึงปัญหาความไม่พร้อมทางอุปกรณ์การเรียน จำนวนงานที่เกินกำลังของนักเรียน ภาระงานที่เพิ่มล้นของครู รวมไปถึง นโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐที่ไปไม่ถึงมือผู้ปกครองและนักเรียนมาตลอด
แล้วพอมาถึงครั้งที่สามนี้ นอกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เปลี่ยนมือจาก ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ มาเป็น ตรีนุช เทียนทอง แล้ว กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับเปลี่ยนอะไรกับการเรียนออนไลน์อีกบ้าง ได้นำบทเรียนจากสถานการณ์เมื่อปีก่อนมาปรับใช้ไหม แล้วตอนนี้ การเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ดีขึ้นหรือแย่ลงกันนะ?
The MATTER รวบรวมเสียงสะท้อนจากครูผู้ต้องสอนแบบออนไลน์กันอีกครั้ง เพื่อฟังว่า มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นบ้าง และปัญหาไหนยังคงอยู่ รวมถึงมุมมองของครูแต่ละคนที่มีต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
COVID-19 กับการสอนของครู
“ถ้าเป็นแง่วิธีการ เราว่าการเรียนแบบออนไลน์ดีขึ้นจากปีก่อน เพราะเด็กเริ่มชินกันแล้ว แต่ในแง่วิชาการหรือการเรียนรู้ ไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่ เพราะครูไม่สามารถสอนได้อย่างเต็มที่ เด็กอยู่หน้าจอ อาจจะเสียสมาธิไปกับอย่างอื่นแล้ว”
ครูอธิวัชร์ วงษ์ขวัญเมือง จากโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่กล่าว ซึ่งเขาได้เปรียบเทียบผลตอบรับของการสอนออนไลน์เมื่อปีที่แล้วว่า มีเสียงบ่นจากผู้ปกครองและนักเรียนเยอะมาก แต่ในครั้งนี้ ทุกฝ่ายเตรียมตัวเตรียมใจกันแล้วว่า ต้องได้สอนออนไลน์กันอีกครั้งหนึ่ง
คำตอบของครูอธิวัชร์ คล้ายคลึงกับความคิดเห็นของครูร่มเกล้า ช้างน้อย จากโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ซึ่งมองว่า การสอนออนไลน์รอบนี้สนุกกว่ารอบก่อน ด้วยความที่เด็กพร้อมมากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา โดยครูร่มเกล้าเล่าว่า การสอนออนไลน์ครั้งที่ผ่านมานั้น ตัวครูเองยังไม่มีชุดความรู้อะไรมาก่อน เหมือนกำลังตกใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในครั้งนี้ ครูได้เอาชุดความรู้จากครั้งที่แล้วมาปรับ มาเตรียมการสอนให้ตรงกับรูปแบบการเรียนมากขึ้น เป็นการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ที่ผ่านมาก
“การสอนออนไลน์มันไม่มีตำรา มันต้องได้ประสบการณ์แล้วสร้างเป็นองค์ความรู้ขึ้นมาเอง ทำการจัดการความรู้ (knowledge management) แล้วพอมันได้ชุดความรู้ตรงนี้ ผลคือมันเวิร์กกว่าตอนนั้นไม่รู้กี่สิบเท่า”
ครูธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากโรงเรียนราชดำริ กล่าวว่า โรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทดลองเรียนกันเมื่อปีที่แล้ว ก่อนเปิดเทอมจริงๆ ไปรอบนึง แล้วเดือนกรกฎาคม นักเรียนก็ได้กลับไปโรงเรียน แต่สลับกันมาเรียน แล้วก็เป็นอย่างนั้นมาจนเปิดเทอม 2 ก็กลับมาเรียนปกติ 100% จนกระทั่งธันวาคมก็เกิดระบาดที่สมุทรสาครจนมากระจายในกรุงเทพฯ อีก ทำให้ปลายธันวาคมและมกราคมทั้งเดือน ต้องกลายเป็นการสอนออนไลน์แบบ 100%
“ถามว่ามีอะไรเปลี่ยนไปไหม ผมคิดว่าอย่างแรกคือ ครูกับนักเรียนเริ่มปรับตัวได้เร็วขึ้น หมายความว่า ช่วงปีที่ผ่านมา มันเป็นช่วงการลองผิดลองถูก ทำให้ครั้งนี้เราปรับตัวได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังเจออุปสรรคอยู่บ้าง”
ครูธนวรรธน์ยกตัวอย่างถึงเรื่อง การใช้ Google Education ของระบบของโรงเรียน ซึ่งเมื่อปีที่แล้วไม่ค่อนมีครูใช้ แอพพลิเคชั่นที่ครูส่วนใหญ่ใช้คือไลน์ พอมาปีนี้ หลายคนเลยต้องเริ่มต้นกันใหม่
เขายังเล่าด้วยว่า ในสถานการณ์ที่ได้กลับไปเรียนแบบปกติ จากเดิมที่ครูไม่ได้ใช้อะไรพวกนี้เลย แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ต้องใช้คู่กัน คือมีทั้งห้องเรียนปกติ และมี Google Classroom มี Line มีช่องทางติดต่อสื่อสาร และต้องหาสื่อต่างๆ ให้นักเรียนได้เรียนควบคู่กันไป เลยกลายเป็นส่วนเสริมว่า เดี๋ยวกลับมาเรียนในห้องมันก็มีตัวนี้มาเป็นตัวช่วยเสริมจากการเรียนการสอนเดิมปกติไปอีก ซึ่งเขามองว่า นี่คือเรื่องที่ดี
“แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่เดิม และยังไม่สามารถแก้ได้ก็คือ ยังมีเด็กที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์หรืออินเทอร์เน็ตได้อยู่ หรือสิ่งแวดล้อมของเด็กเองไม่ได้เหมาะต่อการเรียนรู้ คือบางทีมันก็สุดมือ เราไม่รู้ว่าจะแก้ยังไง ต้องไปตามบริบท ตามธรรมชาติของผู้เรียน ดังนั้น คนสอนเองจะต้องเหนื่อยหน่อย กับการหารูปแบบหรือวิธีการที่หลากหลายมากพอที่จะสอดรับกับข้อจำกัดของเด็กนักเรียน”
แต่ครูธนวรรธน์ก็กล่าวว่า นี่เป็นมุมมองของผู้สอนที่อยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ถ้าเป็นพื้นที่อื่นๆ จะมีประเด็นที่แตกต่างกันไป ซึ่งครูยอดรัก ธรรมกิจ จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีษะเกษ เล่าว่า การต้องสอนในช่วง COVID-19 รอบนี้ หนักหน่วงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มามาก
“ในหมู่บ้านมีคนป่วย พอจะเริ่มสอนก็มีปัญหากันหมดเลย ตอนนี้โรงเรียนไม่ได้สอนออนไลน์เลย เพราะว่าคนป่วยเยอะมาก ในชุมชนก็มีคนป่วย เลยต้องยกเลิก แล้วกำหนดเปิดเทอมก็เลื่อนไปมา ไม่มีจุดที่ชัดเจน ผอ.เลยมีนโยบายว่า ยังไม่ต้องสอนอะไร แล้วให้ครูกักตัวอยู่ที่บ้านก่อน งดการติดต่อกับเด็กๆ ด้วย”
ครูยอดรักเล่าต่อว่า ตอนนี้ครูต้องเตรียมเปิดการสอนกันหนักมาก โดยต้องสำรวจเด็กตั้งแต่รู้ว่าจะเลื่อนเปิดเทอมรอบแรก รอบวันที่ 16 พฤษภาคม ก็มีการสำรวจเด็กเลยว่า ทุกคนอยู่ที่ไหน ให้แจ้งมาครู แล้วครูก็จะโทรติดต่อสอบถาม ซึ่งผลการสำรวจตอนนี้ พบว่า นักเรียนอยู่ที่บ้านตัวเองครบทุกคนแล้ว หมายความว่า โรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ปกติ
สำหรับโรงเรียนที่ครูยอดรักสอนนั้น ไม่สามารถจัดสอนแบบออนไลน์ได้ เพราะอุปกรณ์ในการเรียนของนักเรียนไม่เพียงพอ ซึ่งเขาเล่าว่า เป็นปัญหาเดิมที่มีมาตั้งแต่การระบาดรอบก่อนๆ รวมถึง การสอนผ่านทางทีวีก็อาจใช้ได้กับนักเรียนชั้นมัธยมขึ้นไป แต่ถ้าเป็นเด็กเล็ก ก็ทำไม่ได้เลย เพราะพวกเขายังไม่สามารถจดจ่อกับหน้าจอได้ทั้งวัน
ครูยอดรักเล่าด้วยว่า ครูต้องเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่าง คล้ายกับว่า ต้องมีโรงพยาบาลสนามไว้ 1 ห้อง เผื่อกรณีที่มีนักเรียนไม่สบาย และต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ สถานที่ทั่วทั้งโรงเรียน รวมถึงต้องแบ่งเวรคุณครูเพื่อเตรียมรับเด็กตอนเช้า และเช็คข้อมูลนักเรียนจากเอกสารที่ตระเตรียมไว้ให้ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้นักเรียนเซ็นต์เอกสารว่าตัวเองอยู่บ้าน ไม่ได้เดินทางออกไปไหน โดยมีผู้ปกครองและผู้ใหญ่บ้านเป็นคนรับรองให้ ส่วนในกรณีที่มีนักเรียนบางคนเดินทางออกนอกพื้นที่ก็ต้องกักตัวให้ครบตามกำหนด และต้องมีผลตรวจ COVID-19 เป็นลบก่อน จึงจะเปิดทำการเรียนการสอนได้ในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ได้
“มาตรการมันเข้มขึ้น เพราะในจังหวัดมีคนติดเชื้อเยอะขึ้น เด็กมาโรงเรียนเราก็ต้องให้แยกตัวกันหมดเลย แยกโต๊ะ กินข้าวที่ห้อง พักเสร็จก็กลับเข้าห้องเลย งดกิจกรรมกลางแจ้งทั้งหมด หลังเลิกเรียนก็มีประตูแบ่งเขตให้ ออกประตูใครประตูมัน งดให้ผู้ปกครองเข้ามาในโรงเรียน ส่วนวิชากลางแจ้งอย่างลูกเสือหรือพลศึกษา ก็ต้องให้เรียนแต่ทฤษฎีไปก่อน”
ขณะที่ ครูมะปราง (สงวนนามสกุล) จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี เล่าว่า โรงเรียนของเธอไม่ได้เตรียมล่วงหน้าสำหรับการเรียนออนไลน์มากนัก เพราะตั้งใจจะให้กลับไปเรียนที่โรงเรียนเช่นกัน โดยจะมีการแบ่งห้องเรียน แล้วให้ครูเดินสอนแทน
สาเหตุที่โรงเรียนของเธอไม่ให้สอนแบบออนไลน์ เพราะในโรงเรียนมีเด็กอยู่หลากหลาย ทั้งจากในเมืองและในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีอุปกรณ์การเรียนไม่พร้อมสำหรับเรียนออนไลน์ ผอ.จึงให้เปิดสอนที่โรงเรียนแทน พร้อมกับให้ครูในโรงเรียนได้อัพเนื้อหาการสอนขึ้นในเว็บไซต์ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เด็กที่เข้าถึงเว็บไซต์ได้ เตรียมความพร้อมล่วงหน้ากันไปก่อน ส่วนเด็กที่ยังไม่พร้อมก็จะมาทบทวนให้ในวันเปิดเทอม
ภาระงานที่เพิ่มขึ้น
เมื่อต้องปรับรูปแบบการสอน การเตรียมความพร้อมก็คงเพิ่มตามขึ้นไปด้วย ครูธนวรรธน์กล่าวว่า พอต้องสอนออนไลน์ ครูก็ต้องวางแผนว่า ต้องอัดคลิปสอนไหม หรือจะหาสื่อจากไหนให้เด็ก ซึ่งเป็นงานที่ใช้พลังงานเยอะเหมือนกัน
“ผมไม่ได้มองเป็นภาระด้านลบนะ มองเป็นด้านบวก เพราะมันเป็นตัวช่วยให้เห็นว่า การเรียนการสอนมันควรเป็นอย่างนี้จริงๆ และในเวลาปกติครูควรจะมีเวลาทำอะไรแบบนี้ด้วยซ้ำ”
แต่พอเป็นโรงเรียนรัฐบาล ครูธนวรรธน์ก็เล่าว่า ครูจะต้องทำรายงานส่งไปให้โรงเรียนด้วย เป็นภาระที่เพิ่มมากับครู แทนที่จะได้เตรียมสอนในคาบถัดไป
“ผมไม่ได้บอกว่า ครูไม่ต้องทำเลยนะ แต่รายงานมันควรจะมีความหมาย คือโรงเรียน ผู้บริหาร หรือเขต ใครก็ตามที่เอาข้อมูลตรงนี้ไป ต้องทำให้เห็นว่ามันจะย้อนกลับมาเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจอะไรบางอย่างที่จะมาซัพพอร์ตครูได้ หรือจะเป็นตัวมาช่วยครูได้ แต่หลายครั้งโรงเรียนมักจะให้รายงานไปแล้วก็จบ”
“เช่น รายงานไปว่าเด็กคนนี้ไม่ได้เข้าเรียนเลย เด็กห้องนี้เข้าอยู่ครึ่งเดียว มา 2-3 สัปดาห์ แล้วไม่ได้มาอีก แล้วโรงเรียนต้องช่วยยังไงต่อ หรือเรารายงานไปว่า เด็กไม่มีอุปกรณ์ แล้วโรงเรียนทำอะไรต่อ บางที่ก็อาจจะทำ แต่ส่วนใหญ่เท่าที่เห็นก็ไม่ได้ทำอะไร ครูเลยรู้สึกมันเป็นการรายงานที่ไม่มีความหมาย เหมือนเราสั่งการบ้านเด็ก แล้วเด็กไม่รู้ว่าที่สั่งให้ทำ ฉันทำไปเพื่ออะไร ฉันจะรู้เรื่องนี้ไปทำไม ครูเองก็เหมือนกัน ”
เช่นเดียวกับครูร่มเกล้า ที่ใช้สื่อการสอนหลากหลายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่ได้รู้สึกว่าภาระงานเพิ่มขึ้นมากนัก แต่เขาก็เล่าถึงเพื่อนครูคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้วิธีการในการสอนมาก่อน แล้วต้องมาปรับตัวเอาในช่วงที่ต้องสอนออนไลน์
ส่วนครูอธิวัชร์ ก็มองว่า ครูในโรงเรียนเอกชนเองก็ต้องคุยกันมากขึ้น ว่าจะทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงเด็กๆ ได้ เพราะแม้ว่าเด็กๆ ในโรงเรียนของเขาจะค่อนข้างมีฐานะ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์การเรียนกันอยู่บ้างเช่นกัน รวมทั้ง ต้องสื่อสารผ่านผู้ปกครองมากขึ้น ทำให้ครูต้องเตรียมงานกันมากขึ้นไปด้วย พร้อมเสนอว่า ในโรงเรียนอื่นๆ โดยเฉพาะโรงเรียนรัฐบาล จำเป็นต้องพูดคุยกันให้มากขึ้นด้วย
“ส่วนกลางต้องมี knowledge management คอยบอกว่า ถ้าสอนออนไลน์ควรจะมีสเต็ปยังไง ไม่ใช่ให้ครูไปหาแผนมาสอนเองตามหน่วยชี้วัด ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับการเรียนในห้อง มันควรจะมีตัวชี้วัดที่แยกมาสำหรับออนไลน์ และมีกำหนดว่า ครูสั่งงานให้เด็กได้เท่าไหร่ ไม่อย่างนั้นภาระมันจะไปตกที่เด็ก”
ขณะที่ โรงเรียนในต่างจังหวัดซึ่งต้องเปิดสอนที่โรงเรียนนั้น ครูมะปรางเล่าว่า ภาระงานครูก็ยังเพิ่มขึ้นเหมือนกับปีก่อน เพราะครูต้องแบ่งการสอนออกเป็นสองห้อง รวมทั้ง ยังต้องไปเยี่ยมบ้านเด็กนักเรียนแบบครบทุกคน จากเดิมที่จะไปเยี่ยมแค่บางคนเท่านั้น
“ตอนแรก ไปเยี่ยมเฉพาะบ้านของเด็กที่ดูมีปัญหา หรือมีแววว่าจะมีปัญหา ตอนนี้ เราต้องลงไปดูให้ครบทุกคนว่าเขาขาดอะไรบ้าง มี 40 คน ก็ต้องไปทั้ง 40 คน บ้านแต่ละคนก็ห่างจากโรงเรียนประมาณ 10-20 กิโลเมตร แล้วไม่ใช่บ้านติดริมถนน บางคนต้องเข้าซอย เข้าหมู่บ้าน ก็คงจะเสี่ยงเจอกับ COVID-19 เหมือนปีที่แล้วแหละ”
ก่อนหน้านี้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศไว้ว่า เตรียมฉีดวัคซีน COVID-19 ให้ครูและบุคลากรในโรงเรียนกว่า 600,000 คน ทั้งภาครัฐและเอกชน ก่อนเปิดเทอมในวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ครูมะปรางกล่าวว่า เธอได้คิวฉีดวัคซีนวันที่ 13 สิงหาคม ซึ่งไม่ใช่ก่อนเปิดเทอม
เมื่อถามว่า มีครูที่ได้รับวัคซีนไปบ้างแล้วหรือยัง ครูมะปรางก็ตอบว่า มีคนที่ได้ฉีดแล้วอยู่บ้างเช่นกัน แต่ก็มีบางคนที่ได้ฉีดวัคซีน โดยไม่ได้มาจากการใช้สิทธิลงทะเบียนกับภาครัฐ แต่เป็นคิวที่แทรกตามโรงพยาบาลและศูนย์อนามัยที่ระดมฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุก่อน
ขณะที่ครูยอดรัก ซึ่งสอนในโรงเรียนที่ต้องเรียนที่โรงเรียนเหมือนกัน ก็บอกว่า ภาระงานของครูเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะต้องมีมาตรการป้องกันและดูแลเด็ก ไม่ได้ทำแค่สอนหนังสืออย่างเดียว เช่น มีนโยบายว่า เด็กเรียนครบ 1 ชั่วโมงแล้วต้องทำความสะอาดห้องเรียน ทำให้ครูต้องมาดูแลในส่วนนี้ด้วย พร้อมกับงานเอกสารต่างๆ ที่ยังต้องทำเหมือนเดิม
ครูยอดรัก ยังเล่าถึงปัญหาการเลื่อนเปิดเทอมหลายครั้งว่า พอเลื่อนเปิดเทอม ครูก็ต้องหาเวลาสอนชดเชยให้กับเด็ก ซึ่งตอนนี้เวลาเรียนในเทอมแรกของปีการศึกษา 2564 นั้น หายไปแล้ว 18 วัน เท่ากับว่า ครูจะต้องหาวันอื่นๆ มาสอนชดเชยให้กับเด็ก พร้อมกับต้องปรับลดเนื้อหาในหลายวิชา เน้นเฉพาะส่วนที่เป็นตัวสำคัญจริงๆ และปรับเนื้อหาให้กระชับขึ้น ไม่อย่างนั้นเด็กก็จะเหนื่อยล้า เพราะต้องเรียนเยอะเกินไป
ครูมองนโยบายจากกระทรวงศึกษาฯ ว่าอย่างไรบ้าง?
ขอพากลับไปดูปฏิทินการเปิดภาคเรียนของปีการศึกษา 2564 ที่ตอนแรกกำหนดไว้เป็นวันที่ 17 พฤษภาคม แต่เพราะการระบาดของ COVID-19 ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง รมว.ศึกษาธิการจึงประกาศเลื่อนเปิดเทอมเป็นวันที่ 1 มิถุนายนแทน
แต่ก่อนจะเปิดเทอมครึ่งเดือน กระทรวงศึกษาฯ ก็ออกประกาศให้เลื่อนเปิดเทอมอีกครั้ง เป็นวันที่ 14 มิถุนายนแทน พร้อมกำหนดว่าหากสถานศึกษาไหนอยู่ในพื้นที่ควบคุม หรือพื้นที่สีส้ม แล้วต้องการเปิดภาคเรียนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ให้สถานศึกษาประเมินความพร้อมตามระบบกระทรวงสาธารณสุข และต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อนด้วย ส่วนโรงเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ได้แก่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ หากต้องการเปิดสอนก่อน ก็จัดสอนได้แบบออนไลน์และออนแอร์เท่านั้น
นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้กระทบปฏิทินการสอบอีก กระทรวงศึกษาฯ ยังกำหนดด้วยว่า ทุกโรงเรียนต้องปิดเทอมพร้อมกันในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ แม้แต่ละโรงเรียนจะเปิดเทอมไม่พร้อมกันก็ตาม
และหลังจากเปิดภาคเรียนแล้ว ก็ออกแนวทางการจัดการเรียนรู้ไว้ 5 รูปแบบ คือ On-site เรียนที่โรงเรียน, On-air เรียนผ่าน DLTV, On-demand เรียนผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ, On-line เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต, On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน
คำถามก็คือ แนวทางเหล่านี้จากกระทรวงศึกษาธิการ ตอบโจทย์แค่ไหนในสายตาของครูผู้ปฏิบัติงาน?
“กระทรวงออกนโยบายที่วนอยู่บนหอคอยงาช้างมากเลย บอกแต่ว่า ให้โรงเรียนเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้เอง จัดการเรียนรู้เอง ประเมินตัวเอง โดยที่กระทรวงไม่ฟันธงเลยว่า โรงเรียนเป็นแบบนี้จะต้องทำยังไง แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า โรงเรียนต้องทำทุกอย่างเอง” ครูยอดรักตอบ
เขายังยกตัวอย่างต่อด้วยว่า โรงเรียนต้องคอยรายงานไปที่เขตการศึกษาว่า ในสภาพปัจจุบันของหมู่บ้าน/ชุมชน มีผู้ป่วยไหม แล้วเปิดเรียนได้ขนาดไหน เรียนได้เต็ม 100% หรือเปล่า ซึ่งถ้าเป็นโรงเรียนที่มีเด็กเยอะ โรงเรียนก็ต้องทำสำรวจเยอะไปด้วย
“นโยบายที่กระทรวงศึกษาฯ ออกมา มันกลวงมาเลย เช่น on-air กับ online ซึ่งบางที่มันไม่ได้อยู่แล้ว เพราะถึงแม้เด็กจะมีทีวีจริง แต่มันเป็นฟรีทีวี ไม่ใช่ช่องที่เป็นสัญญาณอินเทอร์เน็ต การเรียนทางไกลเลยยากมากสำหรับเด็กต่างจังหวัด”
ครูยอดรักเล่าต่อว่า หากจะให้เรียนออนไลน์ผ่าน Live ของเฟซบุ๊ก หรือ Zoom ก็มีปัญหาเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต ขนาดในชั้นมัธยมเองก็ใช้วิธีการสื่อสารกับครูแค่ไลน์หรือเฟซบุ๊กเท่านั้น หรือเด็กบางคนมีสมาร์ทโฟนก็จริง แต่ก็ไม่สามารถที่จะโหลดงานได้ เพราะหน่วยความจำน้อย รับไฟล์ใหญ่ๆ ไม่ไหว
“เราอยากให้กระทรวงชัดเจนว่า มีแนวทางอะไรในกรณีที่โรงเรียนจะเปิดการเรียนการสอน เช่น นโยบายสอนชดเชย เวลาเด็กหายไป 18 วัน มันไม่ได้หายไปเพราะโรงเรียนอยากให้หายไป อยากให้กระทรวงนับวันที่เด็กมาเรียนจริง ไม่ต้องมาสอนชดเชยต่อ เพราะเด็กเหนื่อยล้ามากๆ กับการที่ต้องมาเรียนชดเชยวันหยุด เลยอยากให้กระทรวงชัดเจนในเรื่องเวลาเรียน และมาตรการป้องกัน รวมถึง เรื่องของวัคซีนเอง กระทรวงก็ไม่มีความชัดเจนเลยว่า ครูจะต้องได้รับวัคซีนไหม แล้วเด็กจะได้เมื่อไหร่ หรือกรณีที่มีเด็กป่วยขึ้นมา โรงเรียนจะต้องรับมือยังไงบ้าง บอกมาเลย 1 2 3 4 แต่นี่ไม่มีเลย กลายเป็นว่า โรงเรียนต้องมาวางมาตรการกันเอง”
ครูมะปรางก็เล่าถึงประเด็นการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนรู้ ซึ่งเป็นปัญหามาตั้งแต่การระบาดในรอบก่อน แต่ครั้งนี้ก็ยังไม่ได้มีความช่วยเหลืออะไรเพิ่มเติม ซึ่งนักเรียนบางคนในโรงเรียนที่เธอสอนนั้น ก็ยังไม่มีทีวี หรือบางบ้านก็มีโทรศัพท์แค่เครื่องเดียวด้วยซ้ำ
“เรื่องความช่วยเหลือจากกระทรวงศึกษาฯ ก็เหมือนรอบที่แล้วเลย คือเขาไม่ได้มาลงช่วย แต่ยื่นคำสั่งมาว่า ให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาดูแลความเรียบร้อยกันเอง”
ขณะที่ ผู้ที่สอนในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่าง ครูธนวรรธน์ ก็ตั้งคำถามถึงผลลัพธ์จากการเก็บข้อมูลไปประเมินการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งคุณครูได้ทำไปเมื่อปีที่แล้ว ว่าจนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่เห็นผลอะไรเพิ่มเติมเลย
“มันมีคำถามของครูจำนวนมากเลยว่า ปีที่แล้วก็สำรวจข้อมูล ปีนี้ก็สำรวจข้อมูล แต่ที่สำรวจไปปีที่แล้วยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย แล้วคำพูดของท่านรัฐมนตรีตอนอภิปรายงบประมาณที่บอกว่า ถึงไม่มีอินเทอร์เน็ตก็ไม่เป็นไร แต่ทุกบ้านมีทีวี เรียนผ่านจอทีวีได้ เฮ้ย นี่ได้อ่านข้อมูลที่รายงานกันไปบ้างหรือเปล่า”
ด้านครูร่มเกล้าก็มองว่า สิ่งที่ภาครัฐช่วยเหลือครูในการสอนช่วง COVID-19 ระลอกนี้คือ การไม่บังคับให้ครูไปสอนในพื้นที่เท่านั้น แต่ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ ก็ยังไม่มีเพิ่มเติม ทั้งยังมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเรียนออนไลน์นี้ เป็นระเบิดเวลาที่ถูกตั้งไว้นานแล้ว
“ในโรงเรียนรัฐบาล ครูต้องซื้อคอมฯ โทรศัพท์ และโปรเน็ตเอง ซึ่งทั้งหมดก็มาจากเงินเดือนครู ทำให้ครูต้องเป็น ‘ผู้เสียสละ’ ในการไปซื้อของเหล่านี้ และค่าแรงที่ควรจะเป็นของตัวเอง ก็ต้องถูกเบียดบังไป ชีวิตที่ควรจะมีความสุขในมิติอื่น ก็กลายเป็นว่าครูไปมีความสุขไม่ได้ มีแต่ความทุกข์ พอมีความสุขไม่ได้ ความเสียสละที่เขาบอกว่าเป็นสิ่งที่ดี ก็กลายมาเป็น ‘บุญคุณ’ กับเด็กว่า ‘ฉันทำเพื่อแกขนาดนี้นะ’ ทั้งที่จริงๆ มันไม่ควรจะเป็นบุญคุณ มันควรเป็นหน้าที่ที่ภาครัฐต้องจัดการให้ต่างหาก พอครูต้องมาทำเอง ก็เลยกลายเป็นวัฒนธรรมแย่ๆ ไป”
เขายังมองต่อด้วยว่า สิ่งที่ควรจะเป็นอุปกรณ์พื้นฐานในการเรียนรู้ยุคปัจจุบัน ไม่ใช่หนังสือเรียนอีกแล้ว ภาครัฐต้องขยับเพดานขึ้นไปอีก นักเรียนควรมีโทรศัพท์มือถือ มีสมาร์ทโฟน iPad หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ซัพพอร์ททุกคน ไม่ว่าจะรวยหรือจนก็ตาม
“คนรวยจะไม่เอาก็ได้ เพราะอาจจะมีของที่ดีกว่า แต่มันก็ต้องให้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งนี้ผมว่าภาครัฐจัดการได้ ตอนที่เขาคำนวณงบฯ เขาคำนวณเป็นรายหัว โดยบอกว่าเด็กลดลง ก็เลยลดงบประมาณการศึกษาไป 20,000 กว่าล้าน ซึ่งในความเป็นจริง iPad เครื่องละหมื่นกว่า ก็ช่วยเด็กได้ตั้ง 22 ล้านคนแล้วนะ แล้วถ้าเราซื้อเยอะขนาดนั้น ก็ไปดีลกับ Apple เพื่อขอส่วนลดได้ อาจจะได้ทั้ง iPad และปากกา ในราคา 10,000 กว่าบาทสำหรับช่วงนี้ ทุกคนก็เรียนได้ ปีนี้สนับสนุนเรื่องนี้ แล้วปีหน้าค่อยสนับสนุนสัญญาณก็ยังได้ แต่นี่มันปีนึงแล้ว เขากลับยังไม่ทำอะไรเลย”
แม้จะไม่ได้ช่วยเหลือกันในเรื่องของอุปกรณ์ แต่เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ออกนโยบายจัดอบรมออนไลน์ ‘สร้างทางเลือกการศึกษา ก่อนเปิดภาคเรียน ฝ่าวิกฤตโควิด-19’ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับครูกับบุคลากรทางการศึกษา โดยมีติวเตอร์ชื่อดัง มาเป็นวิทยากรคอยสร้างแรงบันดาลใจ และแนวทางการเรียนรู้ก่อนเปิดเทอม
แต่นโยบายนี้ก็ถูกโต้กลับจากทั้งครูและนักวิชาการด้านการศึกษา โดยครูธนวรรธน์ กล่าวถึงนโยบายนี้ว่า เป็นนโยบายที่สะท้อนวิธีคิดของกระทรวงที่มองครูเป็นแก้วเปล่า ต้องหาคนเก่งๆ มาบรรยายให้ครูฟัง แต่กลับไม่เคยมีพื้นที่ที่พัฒนาครูโดยเอาครูผู้ปฏิบัติงานจริงมาพูดคุยกัน แล้วเอาปัญหาหรือข้อค้นพบจากที่ครูแต่ละคนเจอ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้เกิดองค์ความรู้และวิธีปฏิบัติใหม่ๆ
เขาเล่าว่า นโยบายที่ออกมานั้น สะท้อนความเป็นระบบราชการรวมศูนย์และความเหลื่อมล้ำ รวมถึงวิธีคิดแบบผลักปัญหาให้กับปัจเจก ซึ่งทำให้ครูต้องดิ้นรน แก้ปัญหาเอง แต่ไม่ได้มองหาปัญหาเชิงโครงสร้างว่า จริงๆ แล้ว ปัญหาที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ มีโครงสร้างไหนที่เป็นปัญหาแล้วต้องไปแก้บ้าง เพื่อดึงและปรับโครงสร้างนั้นให้มันเป็นธรรมมากขึ้น ให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ไม่ใช่แค่เรื่องของการเรียนออนไลน์เท่านั้น แต่ครูธนวรรธน์ยังมองไปถึงในสถานการณ์ปกติทั่วไป ที่สะท้อนถึงความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในระบบราชการ แม้จะมีรายงานเยอะแยะไปหมด แต่ก็มีเพียงปริมาณ ไม่มีคุณภาพ เบื้องบนสั่งนโยบายอะไรลงมา ข้างล่างก็จะไม่ค่อยได้รายงานปัญหา และกลายเป็นว่า ไม่มีใครกล้าพูดปัญหากับผู้ที่อยู่เบื้องบนตรงๆ
“ในระบบวัฒนธรรมของเราเอง สังคมเราเอง ระบบการศึกษาเราไม่ได้เปิดรับการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมันสะท้อนถึงวิธีคิดแบบอำนาจนิยม หมายถึงว่า เราไม่กล้าไปท้าทายหรือตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ เขาสั่งมายังไงเราก็ต้องทำอย่างนั้น แล้วเราไม่กล้าบอกหรอกว่า ที่สั่งมามันทำไม่ได้ มันไม่เหมาะ มันไม่ควรทำ”
ประเด็นนี้ สะท้อนให้เห็นเด่นชัดในนโยบายหรือแนวทางแปลกๆ ที่หลายโรงเรียนออกกันมาในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์ เช่น ให้เด็กใส่ชุดนักเรียนขณะเรียนออนไลน์ ให้ผู้ปกครองถ่ายรูปเด็กนั่งเรียนเพื่อส่งให้ครูประเมิน รวมถึง การที่นักเรียนต้องเคารพธงชาติผ่าน Zoom
“จริงๆ มันก็เป็นเรื่องที่เกิดอยู่แล้วแหละ แค่เปลี่ยนรูปแบบ ซึ่งก็สะท้อนความไม่สมเหตุสมผลและความเป็นอำนาจนิยมแบบสุดขั้ว พอเราเจอปัญหาแบบนี้ เราก็ควรลดอะไรที่มันไม่จำเป็น ตอนนี้เราก็เลยเริ่มกลับมาตั้งคำถามแล้วว่า มีอะไรที่มันจำเป็นและสำคัญ”
“สุดท้ายผมก็จะบอกว่า มันก็สะท้อนสิ่งที่เป็นอยู่นั่นแหละ และแม้ว่าเราจะเจอสถานการณ์อย่างนี้ ก็ยังสลัดออกไปจากในระบบการศึกษาและในสังคมไทยไม่ได้อยู่ดี”