ข่าวคราวมรณกรรมของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ แว่วมาสู่ผมขณะกำลังระหกระเหินลมหายใจท่ามกลางบรรยากาศประเทศฝรั่งเศส ฉับพลันทันใด ผมก็หมายมั่นเลยว่าจะต้องเขียนอะไรสักอย่างถึงนักเขียนผู้นี้ แน่นอนล่ะ คงมีใครต่อใครเอ่ยอ้างเรื่องราวของเขาไปไม่น้อย แต่สิ่งที่ผมปรารถนานำเสนอปรนเปรอสายตาคุณผู้อ่านเกี่ยวกับหนังสือเล่มสำคัญซึ่งอาจินต์ได้อ่านตอนเขาทำงานอยู่ในเหมืองแร่กระโสม หรือ Krasom Tin Dredging อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงาช่วงปีพุทธศักราช 2492-2496
ด้วยวัยหนุ่มแน่นอายุประมาณ 20 ต้นๆ กลางๆ อาจินต์ ปัญจพรรค์ต้องอำลาชีวิตนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพราะถูก ‘รีไทร์’ แล้วไปกรำงานหนัก ณ เหมืองแร่กระโสม แห่งดินแดนห่างไกลและทุรกันดารในเขตจังหวัดพังงา เรื่องราวเหล่านี้หากใครสนใจใคร่ทราบรายละเอียด สามารถหาหนังสือ เหมืองแร่ ฉบับสมบูรณ์ มาอ่านได้ หรือใครชอบเบิ่งแบบภาพยนตร์ลองรับชม มหา’ลัยเหมืองแร่
อาจินต์เคยเขียนเล่าไว้ ที่นั่นไม่ค่อยมีหนังสือสำหรับอ่านเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เป็นนักเขียนเลย อ้อ! ควรบอกอีกว่า ห้วงยามนั้น อดีตนักเรียนวิศวะหนุ่มจากพระนครมิแคล้วเปี่ยมล้นความใฝ่ฝันจะเป็นนักประพันธ์ แม้ดูเหมือนความคาดหวังค่อยๆ เลือนรางเต็มที เขาพยายามส่งงานเขียนต่างๆ ไปให้นิตยสารในพระนครเสมอ อาศัยส่งต้นฉบับผ่านพี่สาวคือ ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ซึ่งเธอเริ่มเป็นนักเขียนหญิงมีชื่อเสียงแล้ว คนหนุ่มจากเหมืองแร่ใช้นามปากกาว่า ‘จินตเทพ’ อย่างเช่น ช่วงแรกๆ ที่เขามาถึงพังงาใหม่ๆ และทำงานช่างตีเหล็กค่าแรงวันละ 60 บาทที่เหมืองเหนือ (ก่อนที่จะย้ายมาทำงานผู้ช่วยนายฝรั่งที่เหมืองกระโสม) ก็ได้เขียนเรื่อง ‘จดหมายจากเมืองใต้’ บรรยายความโศกเศร้าระหว่างเดินทางจากพระนครมาทำงานเหมืองส่งไปให้ชอุ่มที่ประจำกองบรรณาธิการหนังสือโฆษณาสาร ของกรมโฆษณาการ พองานเขียนดังกล่าวลงตีพิมพ์ไป 2 ฉบับ มีผู้อ่านเขียนจดหมายมาต่อว่า ‘จินตเทพ’ ที่โจมตีโรงแรมในอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรังมากเกินไป ต้นฉบับ ‘จดหมายจากเมืองใต้’ อีกชิ้นที่ส่งมาอันเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายถูกสั่งระงับไม่ให้ลงพิมพ์ เพราะบรรณาธิการเกรงว่าผู้เขียนที่เพิ่งเริ่มต้นจะเสียอนาคต
กาลเวลาในเหมืองแร่ล่วงผ่านแรมปี ชอุ่ม ปัญจพรรค์ เปิดเจอเรื่องสั้น ‘ในทะเลมีเศรษฐศาสตร์’ ในลิ้นชักของน้องชายที่เขียนไว้ก่อนระเห็จมาพังงา เธออ่านดูแล้วชอบใจจึงนำไปให้ ‘อิงอร’ นักประพันธ์ลือนามเจ้าของสำนวนปากกาจุ่มน้ำผึ้งช่วยอ่าน ‘อิงอร’ อ่านแล้วเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่เป็น ‘เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก’ พร้อมส่งต่อยังประหยัด ศ. นาคะนาท บรรณาธิการหนังสือที่กำลังโด่งดังสุดขีด ประหยัดอ่านและนำลงพิมพ์ในนิตยสารเล่มหนึ่ง อาจินต์บอกเขาจำไม่ได้ว่านิตยสารอะไร แต่ชอุ่ม “…ได้ส่งจดหมายมาพร้อมกับหนังสือฉบับนั้น แล้วบอกด้วยว่าผู้อ่านเขียนจดหมายมาขอให้จินตเทพเขียนอีก บรรณาธิการก็ขอมา” ถึงแม้อาจินต์จะลืม แต่ผมกลับค้นพบว่าชื่อนิตยสารคือ พิมพ์ไทยวันจันทร์
ครั้นรับทราบข่าวดีจากพี่สาว อาจินต์อ่านทวนเรื่องสั้นของตนซ้ำๆ เย็นๆ ค่ำๆ ก็เดินจากเหมืองเข้าไปในตลาดที่ห่างราว 3-4 กิโลเมตร เขาไม่เพียงแต่สมัครสมาชิก พิมพ์ไทยวันจันทร์ หากได้สมัครสมาชิกนิตยสารรายสัปดาห์ Leader ที่ออกโดยสอ เสถบุตร ไว้ฝึกฝนภาษาอังกฤษ บนกระดาษพิมพ์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษสลับกันไปทุกหน้า เรื่องแปลหนึ่งในนิตยสารนี้ที่อาจินต์จดจำได้แม่นยำคือ ‘หมอลามก’ หรือ The Strange case of Dr. Jekyll and Mr. Hyde มิหนำซ้ำ ยังมีคอลัมน์ที่อดีตนักเรียนนอกจากอังกฤษรวมถึงเป็นผู้พากเพียรจัดทำปทานุกรมไทย-อังกฤษเมื่อคราวตกอับในสภาพนักโทษการเมืองบนเกาะตะรุเตาและเกาะเต่าเยี่ยงสอ เสถบุตร คอยตอบปัญหาให้ผู้อ่านที่สงสัยเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ อดีตนักเรียนวิศวะที่ตอนแรกภาษาอังกฤษไม่ดีนักจึงได้พัฒนาทักษะทางด้านภาษาจากนิตยสาร Leader และการทำงานในเหมืองร่วมกับนายฝรั่งชาวออสเตรเลีย
อาจินต์สบโอกาสไปตลาดบ่อยๆ เพื่อไปรับนิตยสารที่ตนสมัครสมาชิกไว้ เขาเดินไปกลับเหมืองพลางดื่มเบียร์พลางๆ ทั้งยังมุมานะเขียนเรื่องสั้น ‘ผู้กล้าหาญ’ ส่งไปอีกชิ้น ซึ่งได้ลงตีพิมพ์ แต่ผู้อ่านและบรรณาธิการไม่ส่งเสียงตอบรับเท่าชิ้นก่อน คนหนุ่มชักหมดกำลังใจ
ร้านกาแฟประจำเหมืองซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว พื้นดินไม่เทปูน เรียกขานติดปากชาวเหมืองว่า ‘โรงโกปี๊’ คำว่า ‘โกปี๊’ ก็เพี้ยนมาจาก coffee นั่นแหละครับ ในร้านมีนิตยสารเริงรมย์ให้อ่าน แต่ส่วนใหญ่เป็นเศษกระดาษขาดวิ่นและยับเยิน เจ้าของร้านซื้อมาเป็นกิโลเพื่อเอามาห่อของ อย่างไรก็ดี อาจินต์ได้อ่านนิยายบู๊แห่งยุคผ่านนิตยสารพวกนี้ แต่ก็ต้องสะดุดตรงหน้ากระดาษที่ถูกฉีกขาดหายไปเยอะ
ยังมีหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษซึ่งนายฝรั่งรับมาจากออสเตรเลีย บ๋อยประจำบ้านพักมักหิ้วมาชั่งกิโลขายที่ร้านกาแฟ อาจินต์จะขอแก้เชือกมัดแล้วเอามาพลิกเปิดอ่านดูเล่นๆ สิ่งหนึ่งที่อดีตนักเรียนวิศวะรู้สึกสะดุดตาสะดุดใจมากคือบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์พบโฆษณาขายเครื่องรับโทรทัศน์ เขาเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่ามันจะมีเครื่องแบบนี้จริงๆในโลก ตอนนั้นอาจินต์ไม่คาดนึกหรอกครับว่าเวลาถัดต่อมา เขาจะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกโทรทัศน์ของเมืองไทย ถ้าคุณผู้อ่านสนใจแล้ว ย่อมเพลิดเพลินกับหนังสือ ยักษ์ปากเหลี่ยม แน่ๆ
จดหมายจากชอุ่ม ปัญจพรรค์ ผู้เป็นพี่สาวที่เขียนไปถามข่าวคราวทุกข์สุขเป็นอะไรบางอย่างที่อ่านแล้วพอจะดื่มด่ำหัวใจได้บ้าง แต่กระนั้น ตามวิถีชาวเหมือง อาจินต์ใช้เงินซื้อเหล้าและล็อตเตอรี่เสียมากกว่าจ่ายค่าหนังสือ กระทั่งเขาได้พบหนังสือปกแข็งสำคัญเล่มหนึ่ง
ช่วงปลายปีพุทธศักราช 2493 เป็นต้นไป มีอยู่หนหนึ่งอาจินต์ได้เข้าไปในตัวอำเภอ ขณะเดินทอดน่องในร้านหนังสือเล็กๆ ประจำตลาด สายตาเขาเหลือบเห็นหนังสือปกแข็งเล่มหนึ่งวางขาย ปรากฏชื่อเรื่อง คนไทยในฮอลลีวูด เขียนโดยสุนทร ชูพันธุ์ อดีตนักเรียนวิศวะหนุ่มตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มดังกล่าว มาดหมายจะเอามานอนอ่านเล่นในเหมืองแร่เพื่อทบทวนเรื่องหนังฝรั่งทดแทนความเงียบเหงาภายหลังจากไม่ได้ดูภาพยนตร์เลยนานแรมปี หนังสือเล่มนี้กลับส่งผลให้อาจินต์ทำความรู้จักวิธีใช้สำนวนภาษาอย่างปราดเปรียว การถ่ายทอดเนื้อหาการเดินทางอันตื่นเต้นของผู้เขียนที่ไปดูงานสร้างภาพยนตร์ในฮอลลีวูด รวมถึงพบปะบุคคลสำคัญและดารานักแสดงที่นั่น
“ผู้เขียนเป็นวิศวบัณฑิตได้ยศทางทหารเรือ แต่ไปดูงานภาพยนตร์ อ่านแล้วนึกถึงตัวเอง เรียนวิศวไม่จบ อยู่เรือเหมือนกันคือ เรือขุดแร่ แต่ไม่ได้ดูแม้แต่ภาพยนตร์…” นั่นคือความในใจและอารมณ์ของอาจินต์หลังจากเขาละเลียดอ่านหนังสือคนไทยในฮอลลีวูด อย่างโปรดปรานและชุบชูแรงบันดาลใจให้พยายามเขียนหนังสือ
อดีตนักเรียนวิศวะเขียนจดหมายถึงชอุ่ม ผู้เป็นพี่สาว บอกให้ช่วยส่งหนังสืออื่นๆ ที่เขียนโดย สุนทร ชูพันธุ์ จากพระนครมาให้เพิ่มเติมอีก ทว่า ในชีวิตของสุนทร ชูพันธุ์ เขาเขียน คนไทยในฮอลลีวูดแค่เล่มเดียว แล้วก็ไม่เขียนหนังสืออะไรอีกเลย
สุนทร ชูพันธุ์ ช่างเป็นคนที่น่าสนใจยิ่ง ผมเองคุ้นเคยชื่อเขามาเนิ่นนานก่อนหน้าที่จะทราบว่าอาจินต์เคยอ่านหนังสือของเขาในเหมืองแร่กระโสม เคยเจอหนังสือเล่มสำคัญของเขาเช่นกันตามร้านหนังสือเก่าซึ่งตั้งราคาไว้สูงลิบลิ่ว ความปรารถนาใคร่อ่านของผมประสบความสำเร็จก็ด้วยน้ำใจกรุณาจากอาจารย์ต้น อนุสรณ์ ติปยานนท์ ที่พอล่วงรู้ว่าผมอยากอ่านก็ยินดีมอบหนังสือ คนไทยในฮอลลีวูดไว้ให้เลยหนึ่งเล่มเมื่อสักเกือบสองปีก่อน จึงขอขอบคุณอีกครั้ง ณ ที่นี้
อันที่จริง คนไทยผู้ได้ไปโลดแล่นชีวิตในฮอลลีวูดช่วงทศวรรษ 2490 นั้น ใช่จะมีเพียงสุนทร ชูพันธุ์ หากพบเรื่องราวอันน่าสนุกสนานของใครต่อใครอีกหลายคน และย่อมจะเล่าได้ยืดยาวทีเดียว ผมคงต้องขออนุญาตยกเอาไว้มานำเสนอต่อคุณผู้อ่านในภายหลังนะครับ
กิจการเหมืองแร่กระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ขาดทุนล่มลงในปีพุทธศักราช 2496 อาจินต์เดินทางหวนกลับคืนพระนคร โดยนายฝรั่งชาวออสเตรเลียซื้อตั๋วเครื่องบินราคา 600 บาทให้เขา อดีตนักเรียนวิศวะที่ผ่านการกรำงานหนักในเหมืองจังหวัดพังงาเล่าว่า “มาถึงกรุงเทพฯ ในปีที่สะพานกรุงธนฯ กำลังสร้าง รถรางทุกคันกำลังแขวนป้าย ‘โคคา โคล่า’กรุงเทพฯกำลังเคลื่อนไหวทุกซอกซอย แต่ข้าพเจ้ากลับเดินในซอกซอยเหล่านั้นเพื่อหางานทำ และพักการเดินอันเหน็ดเหนื่อยในโรงหนังชั้นสอง ซึ่งริเริ่มระบบซื้อตั๋วครั้งเดียวนั่งได้ตลอดวันอยู่ที่เชิงสะพานคนละฟากกับโรงหนังคิงส์..”
โรงหนังแบบที่อาจินต์กล่าวถึง ตอนนั้นมีอยู่เพียงโรงเดียว แล้วรู้ไหมล่ะว่าใครเป็นคนคิดที่จะทำและดำเนินการ ใช่ครับ! เขาชื่อสุนทร ชูพันธุ์ ซึ่งได้นำเอารูปแบบโรงหนังลักษณะนี้มาจากฮอลลีวูด โดยหลักๆ เน้นฉายหนังคาวบอย
การที่อาจินต์เพลิดเพลินทอดสายตากับจอภาพยนตร์ในโรงหนังระบบตั๋วเดียวดูได้ทั้งวันของสุนทร ชูพันธุ์บ่อยๆ เขายิ่งค่อยๆ สะสมพล็อตเรื่องจากหนังต่างๆ นานาสิงไว้ในสมอง จนที่สุดเมื่อคนหนุ่มผู้ปราศจากปริญญาบัตรหมดหวังจะสมัครงานใดๆ เขาตัดสินใจซื้อกระดาษฟุลสแก๊ปหนึ่งโหลมาจากร้านค้าปากตรอกทางเข้าบ้าน แล้วนั่งลงกลั่นเอาประสบการณ์แห่งชีวิตเคลื่อนไหวปากกาให้กลายเป็นตัวอักษรบนหน้ากระดาษ
นักประพันธ์ผู้เลื่องลือในนามอาจินต์ ปัญจพรรค์ทุกวันนี้ และเพิ่งประหนึ่งกัปตันชราถอนสมอล่องเรืออำลาบรรณพิภพไปแล้ว อาจกล่าวได้ว่า เขาเริ่มต้นที่นั่น! ในวันวานแห่งเหมืองแร่กระโสม ที่ซึ่งความหนุ่มแน่นสะสมกลิ่นอายสนิมแร่ไว้เต็มปอด ในวันวานแห่งโรงหนังชั้นสองที่เสียค่าตั๋วครั้งเดียวก็สามารถสะสมพล็อตเรื่องจากหนังไว้เต็มสมองได้เป็นวันๆ
แน่ล่ะ ปฏิเสธมิได้เลยว่า ‘คนไทยในฮอลลีวูด’ เยี่ยงสุนทร ชูพันธุ์ ย่อมมีส่วนเป็นแรงดาลใจให้คนหนุ่มคนหนึ่งแห่งทศวรรษ 2490 ได้กลายมาเป็นนักเขียนสำคัญของประเทศไทย
อ้างอิงข้อมูลจาก
- แน่งน้อย ปัญจพรรค์. ชีวประวัติอาจินต์ ปัญจพรรค์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2548.
- สุนทร ชูพันธุ์. คนไทยในฮอลลีวูด.พระนคร:สุนทร, 2493.
- อาจินต์ ปัญจพรรค์. ยักษ์ปากเหลี่ยม.กรุงเทพฯ: หมึกจีน, 2533.
- อาจินต์ ปัญจพรรค์. โอ้ละหนอน้ำหมึก.กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2544.
- อาจินต์ ปัญจพรรค์. เหมืองแร่ ฉบับสมบูรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555