เปลี่ยนคำนี่เปลี่ยนเพื่อใคร?
ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาวรรณกรรมเยาวชนโรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) ให้ ‘เข้ากับยุคสมัย’ โดยสำนักพิมพ์ Puffin และข่าวว่านิยาย James Bond โดยเอียน เฟลมมิง (Ian Flemming) จะทำแบบเดียวกันในประเด็นคำอธิบายชาติพันธุ์ ก่อให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นมากมายจากหลากหลายฟากฝั่ง
“เพื่อให้ทุกคนสามารถมีความสุขไปกับหนังสือเหล่านี้ในยุคปัจจุบัน” คือเหตุผลที่ Puffin ให้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง เช่นคำว่า ‘enormously fat’ เป็น ‘enormous’ หรือการตัดคำว่า ‘ugly’ ออกไปในคำอธิบายตัวละครบางตัว แต่จากรีแอ็กชั่นของกลุ่ม ‘คนรุ่นใหม่’ ที่สำนักพิมพ์ต้องการจะเอนตัวเข้าหาก็ดูไม่ได้มีใครเห็นด้วยกับมัน ไม่ว่าจะเป็นด้านใดของข้อถกเถียง แม้แต่ในกลุ่มคนที่สนับสนุนความแตกต่างหลากหลายก็ตาม
ดูเหมือนว่าคำถามที่ดีกว่าทำไปเพื่อใครอาจจะเป็นทำไมมันเป็นตัวเลือกที่ดูไม่มีใครพอใจเลย
ในขณะที่ความรู้สึกเป็นเครื่องชี้วัดอะไรที่อาจจะไม่ได้ตรงไปตรงมา หรือไม่อาจเอามาวัดค่าทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่ก็อาจพูดได้ว่ามันคือตัวชี้วัดที่เรียลที่สุด เมื่อพูดเกี่ยวกับสื่อและความเห็นของมนุษย์ ฉะนั้นแล้วถ้าถามว่าเราแต่ละคนรู้สึกยังไงเกี่ยวกับข่าวความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็น่าจะมีหลากหลายความคิดเห็น หนึ่งในนั้นที่แสดงออกมาอย่างน่าสนใจคือ ความรู้สึกว่า ‘มันไม่ค่อยจริงใจ’
ไม่ใช่เพียงกับในกรณีนี้ แต่ตั้งแต่เราเห็นแบรนด์เสื้อผ้า fast fashion ทำเสื้อผ้าไลน์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เห็นแบรนด์ที่ยกย่องความหลากหลายและผู้คน แต่ก็ยังมีปัญหาเอารัดเอาเปรียบแรงงาน หรือบริษัทที่สวมหน้าของธงสีรุ้งใน Pride Month แต่ยังมีการบริจาคเงินให้กับองค์กรต่อต้านคนข้ามเพศ ครั้งแล้วครั้งเล่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาที่เราเห็นเรื่องราวเหล่านี้จนชินตา และบ่อยครั้งที่มันเข้าไปอยู่ในอีกรูปแบบหนึ่งของแผนการตลาด มากกว่าจะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความต้องการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม
และมันไม่ได้มาจากแบรนด์เดียว หรืออุตสาหกรรมเดียว แต่มันคือเทรนด์รูปแบบ ‘การขายของ’ ในห้วงเวลานั้นๆ เช่นเดียวกันกับยุคที่โฆษณาทุกโฆษณาต้องประหลาดหลุดโลก หรือต้องพูดแข็งๆ ทื่อๆ ขายของตรงๆ กับลูกค้า หรือแบรนด์ต้องมีทวิตเตอร์ที่ฉาบหน้าตัวเองให้เหมือนคนมากกว่าบริษัทหรือโปรดักส์เพื่อทัชเข้ากับใจของคน การวางภาพว่าตัวแบรนด์สนใจประเด็นสังคมก็เป็นเทรนด์ล่าสุดที่ยังอยู่ และน่าจะยังไม่จากเราไปไหนในอีกเร็วๆ นี้
แต่กรณีพิเศษของการเปลี่ยนเนื้อหาหนังสือนี้มันซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้น เพราะนอกจากประเด็นของแบรนด์และผลิตภัณฑ์แล้ว มันยังอยู่บนจุดตัดระหว่างอุตสาหกรรมหนังสือ ประวัติศาสตร์วรรณกรรม ปรัชญาศิลปะ ประเด็นความยุติธรรมทางสังคม และอีกมากมาย ทำให้บทสนทนาเกี่ยวกับประเด็นรูปแบบนี้ยากขึ้นไปกว่าเดิม เพราะมีหลากหลายแง่มุมและข้อถกเถียง จนบ่อยครั้งเราไม่รู้ว่าเรากำลังเถียงกับใครในประเด็นไหนอยู่ แต่ถ้าเราจับจ้องไปยังประเด็น ‘ความไม่จริงใจ’ ก็อาจทำให้ไขรหัสของการถกเถียงได้ในระดับหนึ่ง
เฉกเช่นเดียวกับตอนที่เราเป็นเด็ก เราทำอะไรผิด แล้วเราพยายามปฏิเสธความผิดที่เคยเกิดขึ้นนั้น การพยายามเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของหนังสือในอดีตไม่ได้ให้ความรู้สึกว่ากลุ่มคนเบื้องหลังการตัดสินใจเหล่านี้ต้องการที่จะแสดงความรับผิดชอบเกี่ยวกับคำเขียนหรือคำพูดเหล่านั้นจริงๆ แต่เป็นข้ออ้างในการพยายามชำระล้างสิ่งที่ตกสมัยด้วยความเขินอายเสียมากกว่า ไม่ว่าความตั้งใจเบื้องหลังมันจะดีขนาดไหน
และการเชื่อว่าความตั้งใจเบื้องหลังนั้นดี ก็เป็นการยกประโยชน์ให้มากกว่าอะไรทั้งสิ้น เพราะหากมองในแง่ร้าย การทำเช่นนี้ในหลายๆ กรณีดูคล้ายกับการพยายามแต่งหน้าแต่งตัวฟอกขาวให้กับหนังสือ หนัง ผู้สร้างมัน หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์และค่านิยมสังคมในห้วงเวลาที่มันถูกสร้างขึ้นที่อาจจะเป็นปัญหา เพื่อจะพามันเดินไปข้างหน้า เพราะเหล่าผู้ถือลิขสิทธิ์ไม่อาจปล่อยให้มันอยู่กับที่และไม่ทำเงินให้พวกเขา
เช่นนั้นแล้ว หากผู้อ่านก็ไม่ได้อ่านงานจริงๆ แบบที่นักเขียนเคยเขียน ผู้เขียนก็โดนตัดหั่นแบ่งเฉือนชิ้นงานของตัวเอง เหล่านักเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมก็ต้องการแสดงความรับผิดชอบมากกว่าการชำระล้างและข้ออ้าง ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครต้องการการเปลี่ยนแปลงรูปแบบนี้มากเท่าไรนัก นอกจากผู้ถือครองลิขสิทธิ์ที่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเนื้อหางานเก่าๆ จะสามารถนำมันไปถึงมือของคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงปัญหาสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ได้มากกว่า
โดย Puffin แถลงว่าในขั้นตอนการตัดสินใจเปลี่ยนเนื้อหาเหล่านี้มาจากคำแนะนำของสิ่งที่เราเรียกว่า sensitivity reader ตำแหน่งงานใหม่ที่เริ่มเพิ่มเข้ามาในสำนักพิมพ์เพื่อตรวจจับว่าเนื้อหาส่วนไหนอาจกระทบใจของนักอ่านกลุ่มไหนในสังคม ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับมันมากพอสมควร เพราะมันดูเหมือนอาชีพการเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่กรายๆ แต่ในสังคมที่เริ่มมีการตระหนักถึงกันและกันมากขึ้นในทุกวัน การมีคนที่ดูประเด็นนี้อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่สิ่งที่น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องถกมากขึ้นไปกว่าเดิมคือเราควรเอา sensitivity reader เข้าไปตรวจจับความกระทบกระทั่งในอดีตหรือไม่? ในโลกปัจจุบันข้อดีของอาชีพนี้ (หากทำงานไม่เกินขอบเขต) อาจจะมีมากกว่าข้อเสีย แต่การเอาค่านิยมปัจจุบันไปจับกับอดีตเองก็ดูจะเป็นการสร้างข้ออ้าง และพยายามหาทางออกให้กับงานเขียน รวมถึงแนวคิดที่ไม่เหมาะสมในอดีตมากกว่า ฉะนั้นทางที่ดีที่จะขับเคลื่อนบรรทัดฐานของการเขียนงานในอนาคต อาจเป็นการนำเสนอนักเขียนรุ่นใหม่แล้วพ่วงเขาเข้ากับ sensitivity reader เพื่อการสร้างงานในอนาคตที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป
และขั้นแรกของการเดินไปทางนั้นก็เคยเกิดขึ้นแล้ว แต่ว่ามันหน้าตาเป็นยังไง?
แม้จะไม่ได้ทำได้ดีในทุกกรณี และในหนังทุกเรื่องของพวกเขาที่มีปัญหาก็ตาม แต่หนึ่งในวิธีการที่เหมาะมากๆ สำหรับการ ‘แสดงความรับผิดชอบ’ คือแสดงความรับรู้เกี่ยวกับปัญหาของมันก่อนหน้าที่จะฉายหนังเก่าๆ ของพวกเขาสักเรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการ์ตูน Dumbo ที่มีตัวละครของฝูงกาที่ออกแบบมาด้วยภาพของการเหมารวมคนผิวดำในยุค 1941 ที่เป็นปัญหาการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา
“แทนที่จะนำเนื้อหานี้ออก เราเลือกที่จะรับรู้ผลกระทบที่เป็นภัยของมัน เรียนรู้จากมัน และสร้างบทสนทนาให้เราสามารถเลือกที่จะสร้างอนาคตที่ไม่กันใครออกให้ได้มากที่สุด” คือส่วนหนึ่งของคำเตือนที่ดิสนี่ย์เขียน ในขณะที่มีอีกหลากหลายประเด็นให้บริษัทยักษ์ใหญ่นี้ปรับปรุง แต่ข้อความเล็กๆ ตรงนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการสร้างทิศทาง เพื่อเดินไปสู่โลกที่มนุษย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น
นั่นคือเริ่มจากการเผชิญหน้ากับปัญหา ไม่ใช่การฟอกขาว
อ้างอิงจาก