กุญแจ ผู้กุมอำนาจแห่งดวงดาวเอ๋ย
จงเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของเจ้าต่อหน้าเราเถิด
ด้วยพันธสัญญาที่มี ซากุระ ขอบัญชา รีลีส
ประโยคยาวยืดข้างต้นอาจไม่ใช่คำที่เด็กยุค 90s เอามาพูดกันในสนามเด็กเล่นของโรงเรียนจนฮิต เหมือน “พลังคลื่นเต่า” หรือ “ตัวแทนแห่งดวงจันทร์จะลงทัณฑ์แกเอง” แต่ถึงอย่างนั้นหลายคนก็คุ้นหน้าคุ้นตาและจดจำเรื่องราวของสาวน้อยผู้ตามจับไพ่เวทมนตร์ อย่างเรื่องการ์ดแคปเตอร์ซากุระ หรือซากุระมือปราบไพ่ทาโรต์กันเป็นอย่างดี
อ้าว แล้วจะมาระลึกความหลังอะไรกันตอนนี้ ? มันก็มีเหตุเล็กน้อยครับ เพราะปี 2018 นี้ซากุระได้กลับมาบนจอทีวีอีกครั้ง กับภาคใหม่ที่ใช้ชื่อว่า ‘การ์ดแคปเตอร์ซากุระ เคลียร์การ์ด’ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการฉลองครบรอบวัย 20 ปี ของหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ ที่เลตมานิดนึง (หนังสือการ์ตูนเรื่องนี้พิมพ์ครั้งแรกในปี 1996) แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังเชื่อว่าหลายๆ คนก็รอรับชม และรอซื้อของจากการ์ตูนเรื่องนี้กันอยู่เป็นแน่
กอปรกับว่า ซากุระ ภาคแรกและภาคสองนั้นเว้นวรรคว่างถึง 16 ปี แต่ในเรื่องกลับทำเนียนๆ เหมือนว่าเวลาผ่านไปไม่นานนัก จึงทำให้ในโลกจริงๆ กับภาคต่อของเรื่องนั้นมีความแตกต่างกันจนเราสังเกตได้ จึงขอใช้โอกาสนี้มาบอกเล่าให้ฟังกันครับว่า มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงแล้วเกี่ยวข้องกับ การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาคเคลียร์การ์ด บ้าง
*หมายเหตุ 1 : มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องผลงานการ์ตูนของ CLAMP
*หมายเหตุ 2 : เนื้อหาในบทความนี้เราอ้างอิงเนื้อเรื่องของฉบับหนังสือการ์ตูนเป็นหลัก
*หมายเหตุ 3 : เราไม่ได้รับเงินจากผู้ถือลิขสิทธิ์เจ้าใดมา ทั้งหมดนี้แล้วล้วนเกิดจากความติ่งในตัว
เวลาเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน
ต่อให้ในการ์ตูนจะบอกว่า ภาคแรกกับภาคสองใช้เวลาไม่นานนัก (เนื้อหาในเล่มสุดท้ายของภาคแรกและเนื้อหาในตอนแรกของภาคใหม่นี่ต่อกันเลย) แต่ก็อย่างที่บอกล่ะครับ เวลาจริงมันผ่านไปตั้ง 15-16 ปี ก็ต้องส่งผลกระทบอะไรบางอย่างให้กับการ์ตูนบ้าง ที่ชัดๆ ก็เรื่องของใช้ประจำวันอย่างโทรศัพท์มือถือนี่แหละ ที่ในเล่มจบของภาคแรก ซากุระยังใช้โทรศัพท์มือถือแบบพับ แต่พอมาภาคเคลียร์การ์ด ซากุระย้ายไปใช้สมาร์ทโฟนเลื่อนจอกันแล้ว
อย่างที่สองเป็นสิ่งที่ทำให้เราสัมผัสถึงวัยที่ผ่านเลยก็คือ เครื่องเกมของเคโระจัง หรือเคลเบรอส อสูรพิทักษ์เพื่อนของซากุระ ภาคแรกเคโระจังยังเล่นเครื่องเกมเสียบตลับอยู่ พอมาตอนนี้เขาเล่นเกมที่มีจอยอนาล็อก และเล่นเกมออนไลน์ได้ แถมยังใช้สไกป์ได้อีกต่างหาก
อีกอย่างที่หน้าตาอาจเปลี่ยนไปไม่มากแต่ก็สะท้อนถึงความทันสมัย นั่นคือกล้องถ่ายวิดีโอของโทโมโยะจัง เพื่อนสนิทคนสำคัญของซากุระ ที่แม้จะดูลักษณะใกล้เคียงเดิมแต่มีศักยภาพมากขึ้นถึงจุดที่สามารถกันน้ำที่ถล่มลงมาใส่กล้องได้ง่ายๆ แต่ส่วนที่ไม่เปลี่ยนเลยก็คือโทโมโยะ ยังคงโปรโมตบริษัทของเล่นไดโดจิที่พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ เหมือนเดิม
ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปเล็กน้อยในเชิงรายละเอียด
จริงๆ เราอยากบอกตั้งแต่ด้านบนแล้วล่ะ ว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการ์ตูนเฉพาะสำหรับผู้ชายหรือผู้หญิงเท่านั้น อย่างในภาคแรกก็ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่าความรักมีหลากหลายรูปแบบ และ Ohkawa Nanase ผู้แต่งเรื่องของกลุ่ม CLAMP (กลุ่มนักวาดการ์ตูนของญี่ปุ่น) เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของหลายๆ ตัวละครใน ซากุระ ภาคแรก ว่าเป็นความตั้งใจของเธอที่จะนำเสนอความหลากหลายด้านความสัมพันธ์ และเนื่องจากแนวเรื่องนั้นส่วนใหญ่นำเสนอให้เด็กอ่าน Ohkawa จึงเลือกที่จะนำเสนอในแบบที่ค่อนข้างนุ่มนวลแต่ยังคงความเป็น Non-Binary ได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ ในเรื่องนำเสนอเนื้อหาความรักของคนสองคนที่ตกหลุมรักกันโดยไม่มีสภาพภายนอกมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเชื้อชาติ (ตามเรื่อง เชารัน เป็นคนจีน-ฮ่องกง) หรือ เพศสภาพ (อย่างตัวละครของ โทยะ กับ ยูกิโตะ ที่เป็นผู้ชายทั้งคู่) แต่อย่างใด และให้ตัวละครหลักอย่าง ซากุระ เคารพตัวตนของแต่ละบุคคลในการชอบใครก็ตามที (ในเรื่อง ซากุระ ไม่เคยมอง เชารันว่าผิดเพศตอนที่เขาชอบผู้ชายคนเดียวกับเธอ หรือ ในช่วงหลังที่ตัวละครอายุห่างกันตกหลุมรักกัน ซากุระก็ไม่ได้มองว่าเป็นความไม่เหมาะสม)
ในบทสัมภาษณ์ข้างต้น Ohkawa ยังพูดไปไกลถึงระดับที่ว่าต่อให้เชารันไม่ใช่ผู้ชาย ซากุระก็ยังเลือกที่จะเป็นคนรักของเขาจากการกระทำที่ผ่านมา ส่วนทางด้านโทโมโยะ ที่หลงรักซากุระในเชิงชู้สาว ก็ยอมรับและเข้าใจว่าซากุระรักเธอในฐานะเพื่อนสนิท ซึ่งเธอเองก็ยินดีกับการอยู่ในสถานะเพื่อนเช่นกัน เรียกได้ว่าทุกคนต่างเคารพสิทธิ์กันและกันอย่างไม่น่าเชื่อแต่ก็มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้คนอ่านคล้อยตามได้
ในภาคเคลียร์การ์ด ความสัมพันธ์ที่กล่าวถึงนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ตัวละครทั้งหมดยังคนสานต่อความสัมพันธ์ที่ก่อตัวไว้ในภาคแรก ส่วนที่เพิ่มเติมคงเป็นการแสดงออกของการคบหากันในฐานะคนรักแบบชัดเจนขึ้น อย่างฉากกุ๊กกิ๊กของซากุระกับเชารัน ที่มีมากขึ้นตามวัยเด็กม. ต้น ส่วนฝั่งโทยะกับยูกิโตะ ก็แสดงออกในฐานะคนรู้ใจกันชัดกว่าภาคก่อน
ด้วยความที่ CLAMP เปิดกว้างด้านความรักมาโดยตลอด ทำให้ในใจของเราแอบคาดหวังอยู่เล็กๆ ว่าทาง CLAMP จะปรับเนื้อหาบางส่วนให้คนอ่านกลุ่มเดิมที่ตอนนี้อายุเพิ่มขึ้นแล้วได้ฟินมากกว่าภาคแรก
ซากุระ ไม่ได้ crossover บ่อยขนาดนั้นหรอก
เรื่องนี้ชวนมึนกันนิดนึง เนื่องจากทาง CLAMP เคยเขียนเรื่อง Tsubasa Reservoir Chronicle หรือ สงครามเทพข้ามมิติ ที่จับเอาตัวละครให้เดินทางไปยังโลกหลายๆ แห่ง โดยใช้ตัวละครแทบทุกเรื่องของ CLAMP มาหมุนเวียนกัน ซึ่งบางตัวก็จะมาพร้อมกับนิสัยใกล้เคียงกับงานต้นฉบับ แถมพระเอกนางเอกของเรื่องก็ยังชื่อ ‘ซากุระ” กับ ‘เชาหลัน’ ด้วย กระนั้นส่วนใหญ่ในการ์ตูนเรื่อง Tsubasa เป็นการดึงเอาระบบตัวละครของอาจารย์เทะสึกะ โอซามุ ที่ใช้หน้าตาตัวละคร และชื่อใกล้เคียงเดิมมาผสมกับระบบพหุภพ (multiverse)
เอาเข้าจริงแล้วตัวละครจากฝั่งการ์ดแคปเตอร์ซากุระไม่ได้ข้ามเรื่องไปมากมายขนาดนั้นครับ ที่จะปรากฎตัวข้ามเรื่องจริงๆ ก็จะมีตัวของ ‘โคลว รี้ด’ ที่ข้ามไปมีบทบาททั้งใน Tsubasa Reservoir Chronicle, xxxHolic และมีการพูดถึง Magic Knight Rayearth แบบนิดหน่อย โทษฐานที่ดันเป็น ‘พ่อมดที่มีพลังมากที่สุดในโลก’ จึงกลายเป็นตัวละครปมหลักได้ซะอย่างนั้น
อีกคู่คือโทยะกับยูกิโตะ ก็ได้ไปโชว์แผ่นหลังสวยๆ ใน Tsubasa เช่นกัน แต่ส่วนนี้ก็มีคนเคยทักท้วงว่าชายหนุ่มสองคนนี้อาจไม่ได้มาจากโลกของการ์ดแคปเตอร์ซากุระ แต่เป็นเพียงตัวละครในโลกพหุภพอื่นมากกว่า
ตัวเอกอย่างซากุระ ที่รับตำแหน่ง ‘ผู้มีพลังเวทเหนือกว่า โคลว รี้ด’ ก็ได้โชว์ตัวกันเล็กๆ น้อยๆ โดยตัวคทารูปดาว ที่เธอใช้ในการ์ดแคปเตอร์ซากุระภาคแรก ได้ไปปรากฏโฉมใน xxxHolic นิดหน่อย ก่อนที่ตัวของเธอจะไปรับเชิญใน Tsubasa แบบเต็มๆ แถมยังเป็นตัวละครที่ลักษณะแก่กว่าในภาคใหม่ด้วย ซึ่งมันน่าจะเฉลยปมบางอย่างที่ยังค้างคาในฝั่ง xxxHolic กับ Tsubasa ในช่วงท้ายของภาคเคลียร์การ์ดที่กำลังเดินเรื่องอยู่
สิ่งของทั้งหลาย กำลังจะมาทำร้ายพวกคุณ!
ตอนเด็กๆ เราอาจจะไม่เฮิร์ตเรื่องนี้มาก ขั้นต่ำก็แค่เก็บหนังสือการ์ตูน แล้วก็ตามเก็บแผ่นอนิเมชั่นให้ครบ เจ็บหนักหน่อยก็ตามเก็บการ์ดจำลองที่จัดพิมพ์ขึ้นมา (เคยมีหมอดูคนหนึ่งเอามาใช้ สอนเปิดชะตาชีวิต แล้วทำเซ็ตละเมิดลิขสิทธิ์ออกขายอีกทีด้วย)
ซากุระภาคใหม่นี้ดูเหมือนทางทีมสร้างทั้งฝั่งหนังสือการ์ตูน และบริษัทผลิตอนิเมชั่นกับของเล่นจะรู้ว่า แฟนๆ ของการ์ตูนเรื่องนี้มีอยู่ทั่วโลก พวกเขาจึงออกสินค้ามามากมายตามวิสัยที่เชื่อว่ามันจะต้องมีสินค้าสักชิ้นที่โดนใจแฟนๆ แน่นอน ทั้งฟิกเกอร์ลายอลังการ, ลิปบาล์มคทาเวทมนตร์, ตุ๊กตาจากตัวละครในเรื่อง, คทาขนาดเท่าของจริง ฯลฯ
นี่ขนาดเนื้อเรื่องยังอยู่ช่วงต้นๆ นะ ถ้าการ์ตูนจบภาคแล้วคงมีอะไรออกมาขายเพิ่ม (อย่าง การ์ดชุดใหม่แบบครบทุกใบ) หรือมีคนเอาของออกมาขายต่อเป็นแน่ โลกทุนนิยมนี่มันโหดร้ายจริงๆ!
เก็บสไตล์เรื่องเก่า เพิ่มเติมปัจจัยใหม่
เวลาอาจทำให้อะไรต่อมิอะไรในการ์ดแคปเตอร์ซากุระเปลี่ยนไปบ้าง แต่ในภาคนี้ก็ยังมีจุดที่ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่เช่นกันครับ
อย่างแรกคือพล็อตหลักของเรื่องที่ยังคงตามหาการ์ดอยู่ดี ส่วนการเดินเรื่องของทาง CLAMP ยังมีความลับอมพะนำเอาไว้อีกมากตามสูตรของกลุ่มนักเขียนสาว ถ้าข้ามไปฝั่งอนิเมะแล้วนักพากย์(ญี่ปุ่น) ที่พากย์ตัวละครหลักก็ยังเป็นทีมเดิมกับภาคแรก
นอกจาก element เก่าๆ ที่ยังอยู่เช่นเดิม แต่ก็มีปัจจัยใหม่เพิ่มเติมเข้ามาด้วย อันที่ชัดเจนก็คือการ์ดชุดใหม่กับคทาใหม่ การโยกย้ายตัวละครเก่าที่เคยร่วมชั้นเรียนกับซากุระออกไป แล้วเพิ่มตัวละครใหม่ที่มีกลิ่นอายต่างกับตัวละครเซ็ตเดิมเข้ามา
และอย่างสุดท้ายก็คือคาถาใหม่ของซากุระ ที่คนดูแบบพวกเราคงต้องหัดท่องแทนคาถาเก่าที่ใช้ผนึกการ์ดใบใหม่ไม่ได้ตามประโยคด้านล่างนี้
“ผู้ไร้นายเอ๋ย จงมาสู่คทาแห่งความฝัน เพื่อเป็นพลังให้กับเรา ซีเคียว”
อ้างอิง
minimore.com