สูดอากาศเข้าไปให้เต็มปอด แล้วมองไปยังสีเขียวขจีที่รายล้อมอยู่โดยรอบ
เราใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการเดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึง อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งกินพื้นที่ครอบคลุมหลายอำเภอในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และยังเป็นป่าต้นน้ำธารที่สำคัญของประเทศอีกด้วย
ทันที่ที่ไปถึง เจ้าหน้าที่ก็พาเราเข้าไปนั่งพูดคุยกันก่อนเล็กน้อย เพื่อทำความเข้าใจรู้จักกับเพื่อนร่วมทางคนอื่นๆ และรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ประจำอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
สำหรับประเทศของเรานั้น มีอุทยานแห่งชาติทั้งหมด 155 แห่ง โดยอุทยานแห่งชาติกุยบุรีนั้น มีสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นป่าผืนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกติดต่อกับชายแดนพม่า ที่ประกอบด้วยป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิดอีกด้วย
โปรแกรมแรกในการเข้าป่า ก็คือการเดินชม และศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ระยะ 1.3 กิโลเมตร โดยทางเดินป่าช่วงแรกนั้นค่อนข้างกว้าง ประกอบกับอากาศที่เย็นสบาย และท้องฟ้าที่มีเมฆครื้ม เหมือนฝนจะตก (แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า เป็นเรื่องปกติของท้องฟ้าในแถบนี้) ปิดบังแสงแดดเอาไว้ ทำให้อากาศไม่ร้อนมากนัก เดินชมสิ่งต่างๆ ได้อย่างสบายๆ
เราเห็นต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์เรียงรายอยู่ตามทาง แต่ต้นไม้ที่เป็นไฮไลท์ของป่านี้ก็คือ ต้นตะเคียนทอง และไม้จันทน์หอม ซึ่งในป่าแห่งนี้ มีไม้จันท์หอมที่มีอายุยืนนานกว่าร้อยปีอยู่หลายต้น ถึงอย่างนั้น ไม้จันทน์หอมกลับไม่ได้มีขนาดลำต้นที่ใหญ่โตเหมือนต้นไม้อายุร้อยปีชนิดอื่นๆ
“ต้นไม้พวกนี้โตช้า ใช้เวลานานมากๆ กว่าจะโตได้ทีละนิดๆ” สมนึก กลิ่นหอม เจ้าหน้าที่อุทยานที่เป็นคนพาเราเดินชมเส้นทางนี้กล่าว
ทางเดินเริ่มแคบลงเรื่อยๆ เมื่อเราเดินเข้าไปลึกขึ้น มีกิ่งไม้น้อยใหญ่มาขว้างกั้นอยู่บ้าง แต่ทางเดินที่คนมองว่าแคบนี้ เจ้าหน้าที่กลับบอกว่า ช้างป่าสามารถเดินผ่านไปได้สบาย ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด
มีบางครั้งที่สมนึกหยุดนำทาง แล้วเงี่ยหูฟังเสียงร้องของสัตว์ในป่า เราแอบคาดหวังในใจว่าจะมีช้างป่าโผล่ออกมาให้เห็นบ้าง แต่สมนึกบอกว่า เป็นไปได้ยากมาก เพราะเราเดินเข้าป่ากันมาหลายคน และสัตว์ป่าก็มีประสาทสัมผัสไวเกินกว่าจะอยู่รอให้พวกเราไปเห็น
พอเราถามไปว่า ป่าผืนนี้มีช้างอยู่ประมาณกี่ตัว สมนึกตอบกลับมาว่า ประมาณ 230 ตัว แต่นั่นเป็นตัวเลขที่บันทึกไว้นานหลายปีแล้ว ตอนนี้น่าจะเปลี่ยนไปเยอะแล้ว
ขณะเดียวกัน สมนึกก็เล่าให้เราฟังว่า ป่ากุยบุรีเอง ก็มีปัญหาที่คล้ายคลึงกับป่าอื่นๆ นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างคนที่พักอาศัยอยู่ในระแวกนี้กับช้างป่า ที่มักไปกินพืชผลทางการเกษตรที่ผู้คนปลูกเอาไว้ เช่น อ้อย กล้วย ทุเรียน ซึ่งเป็นพืชที่ให้พลังงานสูง และผู้คนก็มักจะปกป้องพืชผลที่พวกเขาปลูก ด้วยการวางกับดัก ซึ่งอาจทำให้ช้างตกใจ หรือตายได้
นั่นจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่จะต้องเข้ามาช่วยดูแล ไกล่เกลี่ย เพื่อไม่ให้เกิดการะปะทะกันระหว่างช้างและผู้คน
เส้นทางเดินป่านี้เป็นแบบระยะสั้น จึงใช้เวลากันไม่นานมาก เราออกจากป่ามาแบบที่ไม่ได้เจอช้างอย่างที่ใจหวัง มีเพียงแต่มูลช้าง รอยตีน กับต้นไม้ที่ล้มลงมา โดยเจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่า คงเป็นฝีมือของช้างสักตัว ที่อยากเดินฟาดอะไรเล่นๆ อยู่ในป่า
เราพักทานข้าวเอาแรงกันไม่นานมาก ก่อนจะขึ้นรถเดินทางไปยังเส้นทางชมสัตว์ป่าของอุทยานแห่งชาติกุยบุรีกันต่อในช่วงบ่าย ด้วยระยะเวลาเพียง 10 นาที จากปากทางเข้าอุทยานฯ โดยก่อนจะเข้าไปได้นั้น ต้องผ่านซุ้มตรวจวัดไข้ ที่มีเจลแอลกอฮอล์ และพรมฆ่าเชื้อ ที่ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้คนที่แวะเวียนปฏิบัติตามกันก่อน จากนั้น เราก็เดินไปขึ้นรถกระบะ โดยเจ้าหน้าที่จากองค์กร WWF ให้เหตุผลว่า เพื่อให้เราสอดส่องสัตว์ป่าได้สะดวก
จุดแรกที่รถขับเข้าไปจอด คือทุ่งหญ้าโล่งแจ้ง ที่มีโป่งเทียม หรือก็คือจุดสำหรับเพิ่มแร่ธาตุที่จำเป็นต่อสัตว์ป่า เพื่อให้สัตว์ป่าอย่าง เก้ง กวาง กระทิง จิ้งจอก และหมาใน มากินได้ โดยโป่งเทียมนั้นจะเสื่อมสภาพลงทุกๆ 3-6 เดือน จึงต้องเติมแร่ธาตุให้ เพื่อเป็นสารอาหารให้กับสัตว์ป่า
เพื่อที่จะเติมสารอาหารนั้น เราต้องขุดดิน เพื่อเปิดหน้าดินออกประมาณ 30 เซนติเมตร เมื่อขุดเสร็จแล้ว ค่อยเติมผงเกลือทะเลที่ไม่ได้ผ่านการฟอกขาว เกลือแร่ และแคลเซียม เพื่อเป็นสารอาหารให้กับสัตว์ป่า พอโรยเสร็จ ก็เอาดินที่ขุดออกมานั้น กลบกลับคืนลงไปในโป่งเทียม
พอขุดดินเติมอาหารให้สัตว์ป่าเสร็จ เจ้าหน้าที่ก็พาพวกเราไปล้างกระทะน้ำต่อ ซึ่งกระทะน้ำที่ว่านี้ มีลักษณะเป็นแอ่งปูนขนาดใหญ่ ภาพที่เราเห็นคือ น้ำในแอ่งนั้นมีตะไคร้สีเขียวข้นจนมองไม่ออกเลยว่า กระทะลึกขนาดไหน เจ้าหน้าที่ก็ให้พวกเราช่วยกันวิดน้ำออกอยู่พักหนึ่ง กว่าน้ำในกระทะจะหมด
พอน้ำหมดแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ใช้รถฉีดน้ำ ฉีดพ่นน้ำลงไปในแอ่งเล็กน้อย เพื่อล้างเอาคราบสกปรกออก เราก็พากกันวิดน้ำออกอีกรอบ แล้วเจ้าหน้าที่จึงเปิดน้ำให้กลับมาเต็มแอ่งอีกครั้ง
สาเหตุที่ต้องมีกระทะก็เพราะว่า ในหน้าร้อน น้ำจะแล้งมากๆ จนสัตว์ป่าอาจจะไม่มีน้ำกินได้ เจ้าหน้าที่จึงต้องทำกระทะนี้ไว้ เพื่อให้สัตว์ป่ามีน้ำกินตลอดปี แต่ถ้าไม่มาทำความสะอาดเลย กระทะเหล่านี้ก็จะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคให้กับสัตว์ป่าแทน
หลังเสร็จภารกิจนี้ เราก็เติมพลังด้วยเสบียงที่เตรียมไว้กันเล็กน้อย ก่อนจะขึ้นรถ ออกเดินไปทางยังจุดต่อไป ซึ่งก็คือทุ่งหญ้าโล่งแจ้ง ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์กินพืชทั้งหลาย โดยเจ้าหน้าที่เหล่าให้เราฟังว่า หญ้าที่นำมาปลูกในทุ่งนี้ ไม่ใช่หญ้าท้องถิ่น แต่เป็นหญ้ารูซี่ (Ruzi Grass) ซึ่งเป็นต้นกึ่งเลื้อยกึ่งตั้ง ที่จะไม่ขึ้นสูงจนเป็นภาระในการจัดการกับเจ้าหน้าที่ ทั้งยังมีคุณสมบัติที่ทนต่อการเหยียบย่ำของสัตว์ป่าอีกด้วย
แต่ตอนที่พวกเราไปถึงนั้น ทุ่งหน้าโล่งแจ้งนี้ก็ไม่มีสัตว์ตัวใดอยู่ในรัศมีเลย เจ้าหน้าที่เลยพาเราไปดูกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap หรือ Trail Camera) แทน
กล้องดักจับภาพที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรีนั้น ได้รับการสนับสนุนจัดซื้อ ตามโครงการ Living Asian Forest ในประเทศไทย โดยกล้องที่มีระบบการทำงานด้วยลำแสงอินฟราเรด สามารถจับภาพความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตในป่า ที่เดินตัดผ่านระบบกล้องโดยอัตโนมัติได้ โดยไม่ให้สัตว์รู้ตัว
เหล่านักวิจัยจะใช้กล้องนี้ในการสำรวจ และประเมินความหนาแน่นของประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่ โดยจะต้องติดกล้องเอาไว้ 2 ตัวในหนึ่งจุด และให้กล้องตั้งอยู่ขนานกันสองข้าง เพราะจะได้เก็บภาพของสัตว์ป่าได้ทั้งสองด้าน
หลังจากดูกล้องดักจับภาพสัตว์ป่าเสร็จ เราก็เดินกลับมาที่รถ เพื่อจะเตรียมตัวไปยังจุดต่อไป แต่ก่อนจะขึ้นรถ เจ้าหน้าที่ชี้ให้เห็นรอยตีนของลูกกระทิง ที่เห็นเด่นชัดอยู่บนพื้น ซึ่งแปลว่า เรากำลังอยู่ในละแวกเดียวกันกับกระทิงแล้ว
กระทิง จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 ซึ่งก็คือ สัตว์ป่าประเภทที่คนนิยมนำเนื้อมาปรุงอาหาร หรือถูกล่าในการกีฬา ทั้งยังเป็น 1 ใน 51 สัตว์ป่า ตามบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I ) ซึ่งมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย
จากนั้น เราก็ขึ้นรถและไปยังจุดชมสัตว์ ซึ่งเป็นผาที่มองไปถึงเขาอีกฝากได้ แล้วเราก็ได้เจอฝูงกระทิงสมใจอยาก แม้จะอยู่ไกลลิบมากๆ ก็ตาม ซึ่งฝูงกระทิงที่เราเจอนั้น ยืนนิ่งไม่ขยับอยู่พักหนึ่ง
ช่างภาพสัตว์ป่าที่ร่วมคณะมาด้วยกันเล่าว่า ปกติสัตว์ป่าจะมีประสาทสัมผัสที่ดีมากๆ และพวกมันคงรับรู้ได้ว่าเราอยู่ในป่า แต่กระแสลมก็ช่วยพัดให้กลิ่นของคนไปคนละทางกับฝูงกระทิง พวกมันเลยก้มลงไปเล็มกินหญ้ากันต่อ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เลนส์กล้องที่เราพกไปด้วยในทริปนี้ ทำให้เรามองเห็นกระทิงได้เป็นเพียงจุดสีดำๆ เล็กๆ เท่านั้น ช่างภาพจากนิตยสารสารคดี เลยอาสาให้ยืมเลนส์กล้องระยะโฟกัส 300 mm ทำให้เราได้ภาพกระทิงในระยะที่ใกล้ขึ้น (ขอบคุณค่า)
ระหว่างสอดส่องฝูงกระทิงกันอยู่ ข้างล่างผาก็มีสิ่งมีชีวิตสีส้มวิ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่บอกว่า นั่นคือเก้ง แต่น้องวิ่งผ่านไปเร็วมากๆ จนเราไม่สามารถเก็บภาพมาได้
พอชมกระทิงกันเสร็จแล้ว เราก็ขึ้นรถเพื่อเตรียมย้ายไปยังจุดชมสัตว์ต่อไป แต่ระหว่างทาง เราได้เจอกับกระทิงอีกฝูง กำลังเล็มกินหญ้ากันอยู่กลางป่า คราวนี้อยู่ในระยะใกล้มากๆ พวกเราเลยได้ถ่ายภาพและเชยชมกันอยู่บนกระบะรถ ซึ่งกระทิงแต่ละตัวก็ไม่ได้มีท่าทางตื่นกลัวกันแต่อย่างใด
ช่างภาพที่เชี่ยวชาญการถ่ายภาพสัตว์ป่า เล่าอีกว่า คงเป็นเพราะอุทยานแห่งนี้ มีคนขับรถเข้ามาเที่ยวชมสัตว์ป่าอยู่เป็นประจำ กระทิงก็เลยคุ้นชินกับการมาของคนที่อยู่บนรถยนต์ แต่หากเราลงจากรถไปเมื่อไหร่ กระทิงจะถือว่านี่เป็นพฤติกรรมที่ผิดแปลกจากปกติ และจะวิ่งหนีไปทันที
ช่วงที่กำลังรัวชัตเตอร์กันอยู่นั้น มีกระทิงอีกตัวหนึ่ง วิ่งข้ามมาจากอีกฝั่งของป่า พอข้ามไปอยู่ใกล้กับฝูงกระทิงที่เราชมกันอยู่นั้น มันก็ยืนพักโดยที่ขาหลังไม่แตะลงพื้น อาการเหมือนสัตว์บาดเจ็บ
เจ้าหน้าที่คาดเดาว่า กระทิงตัวนี้อาจจะเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยก็ได้ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคติดต่อ และหากกระทิงเป็นโรคนี้ ก็คงต้องตายแน่ๆ แต่เจ้าหน้าที่ก็จะไม่เข้ายุ่งเกี่ยว เพราะถือว่าเป็นเรื่องปกติในผืนป่า และเป็นการคัดสรรตามธรรมชาติ
แต่ก็มีอีกหนึ่งความเป็นไปได้ว่า กระทิงตัวนี้อาจจะไปโดนบ่วงของนายพราน ซึ่งวางล่อสัตว์อยู่ในป่าเขาก็ได้เช่นกัน
พอชมกันได้หนำใจ เราก็เคลื่อนย้ายกันไปต่อที่หอชมสัตว์อีกหนึ่งจุด ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมักพบช้างป่ากันเป็นประจำ แต่น่าเสียดายที่เราไม่ได้เจอกับช้างป่าเลย จึงเปลี่ยนไปนั่งกินลมชมวิว ดูแมกไม้และฝูงนกอยู่พักหนึ่ง จึงค่อยเดินทางกลับ
ระหว่างทางออกจากป่า เราได้เจอกับกระทิงตัวใหญ่อีก 2 ตัว แต่ทั้งคู่พรางตัวอยู่หลังต้นไม้ เลยไม่สามารถเก็บภาพกลับมาได้ และก็ทำให้เรารู้ว่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีฝูงกระทิงอยู่เป็นจำนวนมาก สมกับคำล่ำลือจริงๆ
เราออกจากป่ามาในช่วง 18.00 น. มีฝนพรำลงมาเล็กน้อย เจ้าหน้าที่เล่าว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่ช้างจะเริ่มออกมาแล้ว แต่อุทยานก็เปิดให้เข้าชมได้ถึงแค่ 18.00 น. เท่านั้น เราเลยไม่ได้ไปยังจุดที่คาดว่าช้างจะโผล่ออกมา
เราพักรับประทานอาหารกันในช่วงค่ำ แล้วประมาณ 20.00 น. ช่างภาพจาก ‘Full Frame ช่างภาพสุดขั้ว’ ก็มาสอนเรื่องเทคนิคการถ่ายภาพสัตว์ป่า การครีเอทมุมกล้อง และแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องของการเฝ้าส่องสัตว์นานข้ามวันข้ามคืน หรือบางครั้งอาจกินเวลานานหลายปี รวมถึง เรื่องของการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ด้วย
สิ่งที่ช่างภาพแต่ละคนเล่าเหมือนกันก็คือ หนึ่งในสัตว์ที่หายากและจับภาพได้ยากมากๆ ก็คือ เสือโคร่ง เพราะเป็นสัตว์นักล่าที่ไวต่อกลิ่นและเสียงเป็นอย่างมาก ประกอบกับคำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่กล่าวว่า ไม่ได้พบเจอเสือในป่านี้มานานแล้ว เห็นเพียงแต่ร่องรอยบางอย่าง ที่พวกมันทิ้งเอาไว้ ถึงทำให้รู้ว่าป่าแห่งนี้ยังมีเสืออยู่
พอเสร็จสิ้นกิจกรรมทั้งหมด เราก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน เพื่อตื่นเช้ามาและเดินทางกลับมากรุงเทพฯ ในวันต่อมา
ระหว่างทางกลับบ้าน เรานึกถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทริปนี้ โดยเฉพาะเรื่องราวของช่างภาพผู้เชี่ยวชาญที่เล่าว่า ภาพบางภาพต้องใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะถ่ายมาได้ ไม่ใช่แค่เรื่องของจังหวะเวลาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสภาพผืนป่าที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ทำให้สัตว์ป่ายังคงอาศัยอยู่ หรือเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนพวกเขาสามารถถ่ายภาพสวยๆ เหล่านั้นมาได้