เราต่างรู้กันดีว่า ในช่วงโรคระบาด COVID-19 พื้นที่หรือธุรกิจที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก ได้รับผลกระทบหนักมากเมื่อขาดการเข้ามาเยี่ยมเยือนของคนต่างชาติ โดยเฉพาะจังหวัด ‘ภูเก็ต’ เมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ไข่มุกแห่งอันดามัน’
Sea Sun Sand คือ ‘ไฮไลท์’ ของจังหวัดภูเก็ต และเป็นดั่งจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยองค์ประกอบที่สวยงาม 3 อย่างนี้ จึงทำให้สมญานามไข่มุกแห่งอันดามันไม่ใช่เพียงแค่โฆษณาชวนเชื่อ แต่ช่วง COVID-19 ทำให้การมาเยี่ยมเยือนภูเก็ตเกิดอุปสรรค ไม่ใช่เพียงแค่นักท่องเท่ียวจะอดชมความงดงามของทะเล แต่ตัวเมืองภูเก็ตเอง ก็เงียบเหงาจนเกิดเป็นพิษเศรษฐกิจเช่นกัน
ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา The MATTER ได้มีโอกาสร่วมทริป TBEX หรือ Thailand Blog Exchange เพื่อลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปของภูเก็ตหลังจากเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ พร้อมทั้งพูดคุยกับคนในท้องที่ถึงการปรับตัว เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
ภูเก็ตและการเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ
“ช่วงโควิดที่ผ่านมามันเศร้ามาก แต่ก็เป็นอะไรที่ช่วยไม่ได้ อย่างโรงแรมเราเปิดเดือนกันยายน แต่ต้องมาปิดเดือนกุมภาพันธ์ ยังไม่ทันได้ลืมตาอ้าปากเลย แล้วช่วงที่เปิดใหม่ๆ ผลตอบรับดีมาก แต่ต้องมาตัดสินใจปิดในเดือนกุมภาพันธ์ เพราะคนในบ้านไม่สบายใจ” อรสา โตสว่าง กราฟิกดีไซเนอร์ชื่อดังของจังหวัดภูเก็ต และผู้สืบทอดบ้านอาจ้อ เล่าสถานการณ์ช่วงโรคระบาดให้เราฟัง ซึ่งขณะนั้น
ไม่ใช่แค่เพียงธุรกิจของเธอเท่านั้นที่เผชิญหน้ากับความยากลำบาก เพราะเรียกได้ว่าโรคระบาด COVID-19 ได้กระทบในมุมกว้างไปทั้งเกาะ วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหาร ล้วนแล้วก็ได้มาจากชาวบ้านรอบๆ ทั้งชาวเท ทั้งแม่ค้าในตลาด ซึ่งถึงแม้เธอจะปรับตัวด้วยการหันมาทำเดลิเวอรี่อาหาร แต่ปริมาณในการทำ จำนวนวัตถุดิบในการซื้อ ก็ไม่ได้มากเท่าเมื่อก่อน แต่อย่างน้อยๆ เธอก็ได้ทำอะไรเพื่อให้พนักงานของเธอยังคงได้รับค่าแรงอยู่บ้าง
อรสาอธิบายบรรยากาศในช่วงนั้นให้เราฟังต่อว่า ทุกคนอยู่ในความหวาดกลัวจากการติดโรคระบาด และจากข่าวที่ติดตามอยู่ทุกๆ วัน หลายคนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ทำให้บนท้องถนนเต็มไปด้วยความเงียบสงัด แต่ถึงอย่างนั้นธุรกิจของเธอก็ยังดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากผู้คนยังคงมีการสั่งอาหารของร้านเธออยู่เรื่อยๆ แต่ในฐานะคนที่เติบโตมากับนักท่องเที่ยว จู่ๆ วันหนึ่งพวกเขาหายไป เธอก็รู้สึกแปลกใจอย่างบอกไม่ถูก แต่ทว่า…
“เราเจอเสน่ห์ใหม่ของภูเก็ต” เธอกล่าวด้วยสีหน้ามีความสุข “มันเหมือนได้กลับไปในสมัยที่เราเป็นเด็ก ที่มีนักท่องเที่ยวอยู่ไม่กี่คน แล้วนอกนั้นก็เป็นคนภูเก็ตเดินไปเดินมา ซึ่งความเจ๋งของมันก็คือ เราได้กลับมาทักทายกันใหม่อีกครั้ง เพราะเมื่อก่อนจะเต็มไปด้วยใครก็ไม่รู้ แถมทะเลยังได้ดีท็อกซ์ ตอนนี้ทะเลสวยมาก มันเลยกลายเป็นเสน่ห์ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของเกาะนี้”
และในแง่ของการปรับตัว อรสาเล่าเพิ่มเติมว่า ผู้คนบนเกาะมีการปรับตัวอย่างดี ทั้งใส่หน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดข้างของสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ แต่เธอก็ยังหวังพึ่งรัฐเพื่อช่วยสกรีนคนที่จะเข้ามาท่องเที่ยวให้อีกที เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่ยากจะควบคุมในอนาคต
ประสบการณ์ใหม่ที่ไม่ได้มีแค่ทะเล
5 ปีที่แล้วที่เราได้สัมผัสภูเก็ตเป็นครั้งแรก แน่นอนว่ากระทู้รีวิวเป็นเครื่องมือนำทางที่สำคัญ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการดำน้ำ ดูปะการัง เดินเมืองเก่า เข้าชิมร้านอาหารขึ้นชื่อ ถือเป็นกิจกรรมที่เราห้ามพลาดเป็นอันขาด ซึ่งประสบการณ์ทั้งหมด ต่างก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ทำให้เมื่อพูดถึงภูเก็ต หลายคนจะนึกถึงคำว่า ‘แพง’
“หลายคนจะคิดว่ามาภูเก็ตต้องเสียเงินแพง จริงมั้ย?” เราโยนอีกหนึ่งคำถามไปให้อรสา เธอบอกว่าได้ยินประโยคนี้มาตลอด และได้ให้เหตุผลที่ไขข้อสงสัยนี้ได้อย่างกระจ่างชัด
“เราไม่รู้ว่าเขาไปได้ยินมาจากไหน ในความรู้สึกเรา มันอยู่ที่ว่าเขาจะเอาตัวเองไปอยู่ที่ไหนมากกว่า ถ้าไปอยู่ในแหล่งนักท่องเที่ยวเยอะๆ อย่าว่าแต่ภูเก็ตเลย ไม่ว่าเชียงใหม่หรือพัทยา ล้วนก็แพงทั้งนั้น จริงๆ เข้าไปกินบะหมี่ผัดในเมือง ก็ราคา 40-50 บาท เทียบเท่าหรืออาจจะถูกกว่าฟู้ดคอร์ตในกรุงเทพอีก
หรือถ้าถามว่าภูเก็ตแพงมั้ย เอางี้ดีกว่า ภูเก็ตไม่ถูก แต่ภูเก็ตก็ไม่แพง การไม่ถูกนั่นเพราะว่าเราอยู่บนเกาะ ทุกอย่างที่อยู่บนเกาะเราต้องซื้อมาจากที่อื่นหมดเลย ที่นี่เรามีแต่สับปะรดกับล็อบสเตอร์ ส่วนผักเราก็ซื้อมาจากที่อื่น เพราะฉะนั้นการแพงของเรา มันเป็นเพราะเราอยู่บนเกาะเล็กๆ ที่ไม่ได้มีทุกอย่างพร้อมเท่าเมืองใหญ่ แค่เอาผักใส่รถเข้าห้องเย็นมาที่นี่มันก็ถือว่าเป็นต้นทุนแล้ว”
จากคำตอบนี้ เราจึงได้ขอให้เธอลองแนะนำการเที่ยวภูเก็ตในฉบับของคนภูเก็ตจริงๆ หน่อย เริ่มแรกอรสาอธิบายว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มี 3 โลก ได้แก่ ‘โลกทะเล’ เราคงไม่ต้องพูดกันมากว่าทะเลภูเก็ตมีความสวยงามยังไง ซึ่งตั้งแต่ปิดประเทศไป คนภูเก็ตก็ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ใต้ท้องทะเลอีกเยอะแยะมาก รวมไปถึงน้ำกลับมาใสสะอาด น่าลงไปว่ายเล่นเหมือนเดิม
ต่อมาคือ ‘โลกเมืองเก่า’ ที่ได้รับรางวัล City of Gastronomy หรือเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารในปี พ.ศ.2558 แสดงให้เห็นว่าอาหารของจังหวัดภูเก็ตนั้นหลากหลาย และถูกปากคนทั่วโลกอย่างไรบ้าง โดยเมืองเก่าก็จะนำเสนอความเป็นภูเก็ต ในรูปแบบของศิลปะ วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม เธอย้ำว่า “การเดินเมืองเก่า ขอให้ใส่ชุดเปรี้ยวๆ ไปเลยนะคะ จะเก๋กู้ดมากกกกกกกก”
อย่าง ‘บ้านอาจ้อ’ ของเธอเอง ซึ่งเป็นบ้านเก่าแก่ เธอก็พยายามเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษาดูวิถีชีวิตของคน ‘บาบ๋า’ (ลูกผสมที่เกิดจากพ่อที่เป็นชาวจีน แม่เป็นคนท้องถิ่น) ในยุคหลายร้อยปีก่อน ว่ามีวิถีชีวิตอย่างไร แต่งตัวอย่างไร และมีพิธีการต่างๆ อย่างไร
สุดท้าย ‘โลกชุมชน’ หรือวิถีการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว โดยได้ความร่วมมือของคนในชุมชน ที่จะนำเสนออัตลักษณ์ของตัวเองออกมาให้สัมผัสกัน เช่น ชุมชนป่าหล่ายที่มีกระชังกุ้ง ชุมชนบ้านท่าฉัตรไชยที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านธรรมชาติ ชาวเลมอแกน หรือชุมชนบ้านแขนน บ้านเก่าแก่สมัยอยุธยา
“คงจะดีไม่น้อย ถ้าสื่อหรือนักรีวิวไม่ได้นำเสนอแค่เพียงทะเล แต่ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของชุมชนเหล่านี้ด้วย ก็จะรู้ว่าวัฒนธรรมเราดีไม่น้อยเลย”
แน่นอนว่าทริปภูเก็ตครั้งนี้ แตกต่างไปจากเมื่อ 5 ปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง การเน้นสัมผัสประสบการณ์ชุมชน ทำให้เราได้เห็นโรงตีเหล็กเก่าแก่ จิบชาหอมและชิมขนมปุ๊นเตโก้ย (ขนมสดพื้นเมือง) ที่บ้านโบราณ i46 เริงร่าไปกับบาร์เล็กๆ บรรยากาศอบอุ่นในตัวเมือง เยี่ยมชมฟาร์มกุ้งล็อบสเตอร์กลางทะเล ไหว้ศาลเจ้าเก่าแก่อันเป็นที่มาของเทศกาลกินเจชื่อดัง พร้อมกับอิ่มท้องไปด้วยอาหารพื้นเมืองหลากรส และ ‘โอ้เอ๋ว’ ที่ถูกเสิร์ฟเป็นของหวานตบท้ายเมนูคาวในทุกๆ มื้อ
ด้วยเสน่ห์และกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่นนี้ จึงทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมืองท่องเที่ยวหลายเมือง กระตุ้นที่ให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมสัมผัสกับประสบการณ์เหล่านี้มากขึ้น ทั้งวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองจริงๆ ตึกราวบ้านช่องที่มีประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ และวัฒนธรรมโบราณที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน
ภูเก็ตปรับตัวอย่างไรหลัง COVID-19
การเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ต้องรับมือกับความเสี่ยง ทำให้หลายคนเกิดความกังวลถึงการมาเยือนภูเก็ต ว่าจริงๆ แล้วที่นี่ปลอดภัยหรือไม่ และพร้อมแค่ไหนกับการรับคนต่างชาติเข้ามา ซึ่งขณะนี้ภูเก็ตก็กำลังผลักดันตัวเองให้เป็น ‘safe destination’ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความสะอาด เช่น มีมาตรการคัดกรองของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด การคัดกรองโดยรูปแบบ multi screen process และจัดเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคที่จะรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
“เราพยายามทำเรื่องมาตรฐานความสะอาดและสุขอนามัย ตอนที่คลายล็อคหรือให้คนไทยเริ่มเดินทางในประเทศได้ เราก็มีการจัดเตรียมที่ล้างมือ เจลแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์ทำความสะอาดไว้ให้ และสนุบสนันให้โรงแรมที่พักต่างๆ เข้มงวดด้านความสะอาดมากขึ้น” จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุทธา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) กล่าว ซึ่ง 3 วันที่พักอยู่ที่ภูเก็ต เราก็รู้สึกได้เลยว่าคนที่นี่เข้มงวดกับการป้องกันโรคระบาดอย่างมาก ทั้งผู้คนที่ใส่หน้ากากอนามัย และมีเจลแอลกอฮอล์วางอยู่หลายจุด แสดงถึงความพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง
“เราจะกลับมาเหมือนเดิม และเราจะกลับมาให้เร็วที่สุด” จิรุตถ์เน้นย้ำ
นอกจากนี้ ผู้คนในจังหวัดเองก็อาจจะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับวิถีการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปด้วย โดยเฉพาะคน Gen Y และ Gen Z ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการท่องเที่ยว และเป็นช่วงวัยที่มักจะเที่ยวตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ชอบกำหนดการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ไม่ชอบให้ใครมาจัดการ หรือไม่ชอบไปตามโปรแกรมทัวร์ ทำให้ภูเก็ตต้องพัฒนาเมืองให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายนั้น ซึ่งการท่องเที่ยวที่เน้นประสบการณ์ชุมชนหรือ local experiences ที่เราได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ก็ต้องอาศัยนโยบายขององค์กรเข้ามาช่วยเหลือ
นิธี สีแพร ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ เสริมในประเด็นนี้เพิ่มเติม “นักท่องเที่ยวสนใจการมีประสบการณ์ร่วมกับคนในชุมชนมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเราก็ต้องพัฒนาศักยภาพให้ชุมชนของเรามีความพร้อมก่อน เพราะบางคนอาจจะยังไม่เข้าใจการต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างถูกต้อง การบริการนักท่องเที่ยวให้เกิดความประทับใจ หรือการนำเสนอคอนเทนต์หรือเรื่องราวในชุมชนออกมา ฉะนั้น ก็เป็นหน้าที่ของ ททท. ที่จะจัดหาหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยการเข้าไปพูดคุยกับชุมชนด้วยตัวเอง รวมถึงพวกเขาจะได้ประโยชน์อย่างไรจากตรงนี้บ้าง”