ทฤษฎีสมคบคิด เรื่องลึกลับ สัตว์ประหลาด ฆาตกรรม ความลี้ลับที่หาสาเหตุไม่ได้ เรื่องเล่าจากเคสจริงที่น่ากลัวกว่าฟิกชั่น…
สำหรับแฟนรายการ Untitled Case เรามั่นใจว่าคุณจะต่อประโยคข้างต้นได้จนจบ และอาจจะเผลอพิมพ์ 9 ในช่องคอมเมนต์ทั้งที่เพิ่งเริ่มฟังไปเพียงไม่กี่วินาที แต่หากคุณไม่เคยฟังพอดแคสต์นี้มาก่อน อย่างน้อยจิงเกิลเข้ารายการก็คงพอช่วยให้รู้ว่า สิ่งที่จะได้ฟังต่อจากนี้น่าจะมอบความสะพรึงให้แก่โสตประสาทจนเราขนหัวลุกได้ไม่ยาก
เป็นเวลาประมาณ 4 ปี หลังจากที่ ยชญ์—ยชญ์ บรรพพงศ์ แห่ง Salmon Podcast ชักชวน ธัญ—ธัญวัฒน์ อิพภูดม บรรณาธิการบริหาร The MATTER เปิดสมาคมเรื่องราวลึกลับที่ไม่ได้ว่าด้วยเรื่องผี แต่โฟกัสไปยังทฤษฏีประหลาดแนว X-Files จนได้เป็นรายการพอดแคสต์ซึ่งมีกลิ่นอายสยองขวัญผสมสืบสวนสอบสวนที่ใช้ชื่อราวกับไม่ได้ตั้งชื่อว่า Untitled Case
เมื่อเรื่องราวซึ่งขวัญผวาสุดขั้ว น่ากลัวแต่มีหลักการรองรับ ผนวกเข้ากับลีลาน้ำเสียงที่จริงจัง แต่ฟังสนุก แถมปิดท้ายด้วยประเด็นสังคม จิตวิทยา พฤติกรรม ฯลฯ ก็ทำให้ Untitled Case พุ่งเข้าสองหูก่อนทะลุไปครองพื้นที่ในใจคนฟังได้อย่างเหนียวแน่น และดูเหมือนว่าการเล่าเรื่องของสองคู่ซี้ยชญ์-ธัญเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมาก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องการันตีว่า เนื้อหาที่ทั้งสองบอกเล่านั้นดีจริง ยิ่งฟังยิ่งตื่นเต้น และคนมากมายก็ฟังคำบอกเล่าของพวกเขาได้ไม่มีเบื่อ
อาชญากรรมดำเนินสด
Untitled Case ‘True Crime in Theatre’ คือการเล่าเรื่องในวันนั้น ซึ่งถือเป็นการหลอมรวมพอดแคสต์เข้ากับการแสดงบนเวที จนได้ออกมาเป็นโชว์ (เกือบจะ) ละครเวทีที่สองโฮสต์พอดแคสต์ถ่ายทอดให้ได้ฟังกันสดๆ แถมที่มากกว่าฟังคือผู้ชมจะได้ดูภาพจำลองสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงอีกด้วย เกิดเป็นรสชาติใหม่ที่แฟนคลับ ‘UC’ เองก็น่าจะไม่เคยชิมมาก่อน
มหรสพเรียกน้ำย่อยของ True Crime in Theatre มี 2 ส่วน นั่นคือโชว์เปิดของ แก๊ป—สิระ สิมมี กับ ไข่มุก—ภัทริน เชาว์พานิช จากรายการ 15 Minutes Wasted ที่ได้สร้างสรรค์ 15 นาทีที่ผู้ชมไม่รู้สึกเสียเวลาเลย(?) แม้แต่วินาทีเดียว หัวเราะปอดโยกทั้งที่จับใจความสิ่งที่ทั้งสองคนพูดไม่ได้
นอกจากนี้ การพูดคุยหลังพักครึ่งอย่าง Trace Talk on Stage ก็สนุกสนาน เป็นจังหวะจะโคนที่บอกได้เต็มปากว่า ‘แซลม้อน แซลมอน’ เพราะวงสนทนาของวิชัย มาตกุล, โจ้—นทธัญ แสงไชย และ กั้ง—วริทธิ์ โชคทวีศักดิ์ พ่วงด้วยยชญ์-ธัญ ให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการชมสแตนด์-อัพ คอเมดีขนาดสั้นที่นั่งเล่ากันหลายคน เป็นการรวมตัวที่กลมกล่อม ฟังเพลิน
แต่แน่นอนว่าไฮไลต์หลักของงานคงหนีไม่พ้นเรื่องเล่าของธัญกับยชญ์ โดยองก์แรกเปิดด้วยหนุ่มแว่นอย่างยชญ์ผู้มาพร้อมเรื่องราวที่ชื่อ The Crime of the Century
ยชญ์เริ่มต้นบรรยายอย่างไม่อ้อมค้อม ค่อยๆ จูงมือจนผู้ชมคุ้นชินกับบรรยากาศ แม้คดีปริศนาของยชญ์จะซับซ้อนและมีรายละเอียดมากมาย แต่เขาก็สามารถเรียบเรียบออกมาได้อย่างน่าติดตาม เล่าได้ลื่นไหลจนแทบจะไม่มีถ้อยคำฟุ่มเฟือยแม้แต่นิดเดียว
แม้เรื่องจริงของ The Crime of the Century อาจไม่มีบทสรุปหรือการคลี่คลายที่สมบูรณ์แบบ ทว่าการปิดจบด้วยความคิดเห็นเรื่องอิทธิพลของสื่อในคดีก็ช่วยให้การแสดงมีทางลงที่ราบรื่น อีกทั้งทุกคนก็ได้หันกับมามองการทำงานของสื่อบ้านเราไม่มากก็น้อย
องก์ 2 ของธัญวัฒน์ได้แก่ Flower in a Barrel ที่เมื่อเทียบกับเรื่องแรกแล้วนับว่ามีองค์ประกอบน้อยกว่า แต่การที่มีเรื่องราวไม่ยาวนักก็เปิดพื้นที่ให้ธัญได้สรรสร้างบทพูดที่ขยี้ใจผู้ชม มีจังหวะคอยกระตุ้นความรู้สึกคนดูอยู่ไม่ขาด จนเราได้ยินคนข้างๆ อุทานอารมณ์ร่วมตลอดการแสดง
บทสรุปขององก์ 2 มีความชัดเจนในตัวของมัน และหลังจากนั้นธัญกับยชญ์ก็ชวนคุยต่อในประเด็นผู้อพยพและคนชายขอบ เพราะในคดีดังกล่าว ผู้ตายคือหญิงสาวชาวเอลซัลวาดอร์ที่ย้ายไปตามหาความฝันในดินแดนแห่งเสรีภาพ ก่อนที่เธอจะต้องใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษในการทวงคืนความยุติธรรมที่ถูกพรากไป
คงตัดสินได้ยากว่าคดีไหนทำได้ยอดเยี่ยมมากกว่า เรียกว่าถ้าผู้ชมชอบปริศนาที่มีความซับซ้อน องก์แรกน่าจะเข้าวิน แต่หากติดใจประเด็นที่กระตุ้นต่อมความรู้สึก เรื่องหลังน่าจะได้ชัยชนะ
ความเพลิดเพลินที่หาสาเหตุได้
ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2020 Untitled Case เคยยกทัพไปเล่าเรื่องลี้ลับแบบสดๆ ในโรงภาพยนตร์ SF World Cinema มาแล้วหนึ่งหน เมื่อมาถึงงาน True Crime in Theatre ผู้ชมหลายคนจึงตั้งตารอว่าจะมีความพิเศษอะไรหรืออรรถรสแบบไหนที่เปลี่ยนไปจากครั้งนั้นบ้าง
เราที่ได้รับชมความพิเศษของโชว์ในโรงละครด้วยตาเนื้อมองว่า นี่คือการหลอมรวมสื่อที่น่าชื่นชม การนำพอดแคสต์ที่หลายคนคุ้นหูมาวางบนอาหารตาอย่างแสง สี ดนตรี กราฟิก พร็อพ ฉาก และนักแสดง กลายเป็นความบันเทิงรูปแบบใหม่ที่ไม่อยากให้มีแค่ครั้งเดียว
ในส่วนของฉาก เราเข้าใจจากสิ่งที่ได้เห็นว่า True Crime in Theatre มีจอแอลอีดีที่ช่วยเนรมิตรภาพจำลองของเหตุการณ์จริง ตัดสลับกับภาพประกอบและกราฟิกที่ได้จากหนังสือพิมพ์และอินเทอร์เน็ต ช่วยให้คนดูรู้สึกจดจ่อและเห็นภาพรวมได้ชัดกว่าครั้งไหนๆ
นอกจากนี้ ทีมผู้ออกแบบอยากเพิ่มชั้นเชิงของงานภาพด้วยการฉายโปรเจ็กเตอร์ไปยังม่านบางๆ ที่พาดอยู่หน้าจอแอลอีดี ทำให้สิ่งที่ปรากฏบนเวที หน้าสุดคือยชญ์-ธัญนั่งเล่า ถัดไปเป็นม่านซึ่งฉายรายละเอียดของสิ่งที่อยู่ใกล้ ก่อนที่สุดท้ายจะเป็นฉากหลังของสถานที่เกิดขึ้นบนหน้าจอ เรียกว่าเป็นการจำลองเหตุการณ์จริงที่ดูมีมิติเหลือเชื่อ
ฝั่งนักแสดงทั้งสี่ที่ทำการสมมติเหตุการณ์ ณ พื้นที่ระหว่างม่านและหน้าจอก็ช่วยให้คนดูอยู่กับเรื่องราวมากขึ้น อีกทั้งบทพูดของตัวละครที่นักแสดงรับบทก็ช่วยตัดเลี่ยนการเล่าของสองโฮสต์ ทั้งยังช่วยให้ผู้เล่ามีจังหวะพักหายใจมากขึ้น
หนึ่งในลูกเล่นที่เราชอบมากที่สุดของโชว์นี้คือการที่ยชญ์-ธัญลุกจากที่นั่งเพื่อไปสำรวจภาพจำลองสถานที่จริง ฉากนี้เอื้อให้ทั้งคู่ได้ใช้อุปกรณ์ประกอบฉากช่วยเล่าเรื่องราวแบบเห็นภาพ ในขณะที่คนดูก็เหมือนถูกเชื้อเชิญไปรับชมความลึกลับด้วยตาของตัวเอง พร้อมกันนั้น ดนตรีประกอบที่คอยหล่อเลี้ยงบรรยากาศหลอนๆ มาตั้งแต่ต้นก็ยิ่งชวนให้ทุกคนในโรงละครจับตาการตรวจสอบพื้นที่และอุปกรณ์แบบตาไม่กะพริบ
อีกหนึ่งการจัดการที่เชื่อว่าผู้ชมประทับใจ คือการฉายภาพคิวอาร์โค้ดให้สแกนเข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในไลน์สแควร์แบบเรียลไทม์ นั่นเท่ากับว่า นอกจากเนื้อหาบนเวทีที่เกิดขึ้นสดๆ แล้ว รีแอ็กชั่นและถ้อยคำของผู้ชมก็สดไม่แพ้กัน โดยที่ยชญ์-ธัญก็อ่านและตอบคำถาม ณ เดี๋ยวนั้น ก่อนที่หลายคนจะเริ่มปล่อยสารพัดมุกในช่องแชตจนเรารู้ได้ในทันทีว่า กลุ่มคนฟัง UC นั้นโบ๊ะบ๊ะขนาดไหน
อย่างไรก็ดี จุดหนึ่งที่น่าเสียดายและขาดหายไปบ้างจากโชว์ ณ โรงละครเคแบงก์ สยามพิฆเนศคือจังหวะธรรมชาติบางอย่างของคู่หูธัญ-ยชญ์ ซึ่งมันก็คงเป็นหนึ่งในสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงของการแสดงสดที่มีนักแสดงและแสง สี เสียง คอยขับเคลื่อนเนื้อหาไปพร้อมๆ กับคำพูดของผู้เล่า
หากเป็นในรายการ ขณะที่ยชญ์เล่า ธัญก็อาจแวะแซวหรือชวนถกถึงประเด็นข้างเคียง แต่เมื่อเป็นบนเวทีที่ทุกอย่างถูกซักซ้อมมาอย่างดี การเว้นจังหวะหรือด้นสดจึงไม่สามารถทำได้ตามใจชอบ
แต่กระนั้น นอกเหนือจากความจริงที่ว่าผู้ชมไม่สามารถพิมพ์คอมเมนต์เป็นเลข ‘9’ เพื่อเห็นด้วย และไม่สามารถรับฟังการหยอดเกร็ดความรู้ระหว่างเรื่องราวได้ เราก็ต้องยอมรับตามตรงว่า True Crime in Theatre คือหนึ่งในมิติที่น่าสนใจของการยกระดับรายการพอดแคสต์จนเกิดเป็นโชว์ที่ดูสนุก เรื่องเล่าน่าติดตาม แสงสีมีผลต่อจิตใจ และผู้ชมก็รู้สึกกลัวบ่อยพอๆ กับหัวเราะให้กับความน่ารักของผู้ดำรายการทั้งสองคน
999999…
อาจจะช้าไปสักหน่อย แต่เราก็อยากรัวเลข 9 เพื่อสนับสนุนชาว Untitled Case ก่อนจบการรีวิว
อ้างอิงจาก