จับตะเกียบให้มั่นแล้วคีบเนื้อปลาสีชมพูระเรื่อ จุ่มลงไปในโชยุซอสที่ผสมวาซาบิชนิดจุใจ (วิธีการกินอาหารญี่ปุ่นแบบไทยๆ) พอโยนเข้าปาก สิ่งที่ตามมาก็คือรสชาติของสวรรค์ แม้ความเผ็ดจี๊ดจะพุ่งเข้าไปในสมองจนน้ำตาไหลพราก !
ความนิยมเนื้อปลาแซลมอนในหมู่คนไทยพุ่งเป็นจรวด เช่นเดียวกับคนนิยมในอาหารญี่ปุ่น – แล้วอยากรู้กันไหมว่า แซลมอนที่เราสั่งมากินแทบจะทุกครั้งที่เข้าร้านอาหารญี่ปุ่น นั้นมีที่มาจากที่ไหนกันแน่?
แต่ที่แน่ๆ เกือบทั้งหมดไม่ได้มาจากญี่ปุ่นนะ
The MATTER ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ โดยใช้อัตราพิกัดศุลกากรรหัส 0302.14.00 ปลาแซลมอนแอตแลนติก (แซลโมซาลาร์) และ ปลาแซลมอนดานูบ (ฮูโกฮูโก) ตรวจสอบ พบข้อมูลน่าสนใจว่า ไม่ถึงสิบปีหลัง การนำเข้าแซลมอนเพิ่มขึ้นถึง 13 เท่า!
นี่ขนาดฐานข้อมูลนี้ไม่ได้รวมการนำเข้าแซลมอนจากชิลี หนึ่งในคู่ค้าสำคัญของไทยไว้ด้วยนะ
1.ปริมาณการนำเข้าแซลมอนของไทย*
ปี 2012 – 1,123 ตัน
ปี 2013 – 2,014 ตัน
ปี 2014 – 2,318 ตัน
ปี 2015 – 4,104 ตัน
ปี 2016 – 5,396 ตัน
ปี 2017 – 7,269 ตัน
ปี 2018 – 9,764 ตัน
ปี 2019 – 13,387 ตัน
2.แซลมอนที่คนไทยกินมาจากไหน**
หากแบ่งสัดส่วนการนำเข้าเนื้อปลาแซลมอน พบว่ามาจากแหล่งใหญ่ๆ 2 ประเทศ
– ชิลี 52%
– นอร์เวย์ 47%
– อื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา (ไม่มีจีน) 1%
3.เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับแซลมอน
- ในตลาดโลก แซลมอน 75% มาจากฟาร์ม 25% จับในทะเล
- ปลาแซลมอนที่เรากิน ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ Atlantic มาจากฟาร์ม
- ความนิยมแซลมอนในหมู่คนไทย มาพร้อมกับอาหารญี่ปุ่น
- กระทั่งญี่ปุ่นก็นำเข้าแซลมอน ส่วนใหญ่จากชิลีและรัสเซีย
ในไทย แซลมอนไม่ใช่แค่ชื่อปลา ยังเป็นชื่อขององค์กรสื่อ เช่น Salmon Books, Salmon Lab, Salmon Podcast (ญาติๆ ของ The MATTER 😀 ) ฝากติดตามผลงานกันด้วยล่ะ
หมายเหตุ
* ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ (ซึ่งไม่มีตัวเลขการนำเข้าจากชิลี)
** ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และกระทรวงพาณิชย์