ใครจะรู้ว่าจุดที่ทัชที่สุดของการ์ตูนเกี่ยวกับคนแปลงร่างเป็นแพนด้าแดง จะเป็นการนำเสนอความเอเชียที่ตรงสุดๆ?
Turning Red เป็นการ์ตูนจากดิสนีย์พิกซาร์ เกี่ยวกับ เมยหลิน เด็กหญิงชาวจีนในโทรอนโตวัย 13 ปีที่อยู่ๆ ตื่นมากลายร่างเป็นแพนด้าแดงตัวยักษ์ และเธอจะต้องเลือกวิธีการแก้ปัญหานี้ด้วยความช่วยเหลือของครอบครัวและเพื่อนของเธอ
แม้ว่าหนังจะมีเรื่องราวที่น่าติดตาม และน้องแพนด้าแดงแสนน่ารักแล้ว จุดเด่นมากๆ ของเรื่องคือดีเทลน้อยใหญ่ของความเป็นคนเอเชีย และการอยู่ในบ้านเอเชีย เรามาดูกันดีกว่า ว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้เข้าเป้าคนเอเชียทั่วโลกอย่างจัง
ปกป้องลูกจากทุกอย่างที่ตัวเองมองว่าไม่ดี
หนึ่งในสิ่งที่พ่อแม่ผู้ผ่านความยากลำบากของชีวิตมามีเหมือนกัน คือความรู้สึกต้องปกป้องลูกจากประสบการณ์แย่ๆ ที่ตัวเองเจอ ไม่ว่าจะความยากจน การถูกดูแคลน การโดนมองเป็นตัวตลก ฯลฯ เรื่องนี้จริงยิ่งกว่าจริงเมื่อเรามองไปยังพ่อแม่ชาวเอเชียของเรา และครอบครัวของเมยหลินเองก็ไม่ต่างกัน
คุณแม่หมิงเองก็อยากปกป้องลูกของเธอจากประสบการณ์ที่ไม่ดี แต่ความหวงลูกด้วยความหวังดีที่ไม่ได้ปรึกษาอาจข้ามขั้นจากการต้องการอนาคตที่ดีที่สุดกับเขาไปสู่การป้องกันลูกออกจากสังคมเพื่อน จากงานอดิเรกที่ชอบ หรือบางครั้งก็อาจพยายามไปสร้างความอัดอั้นของลูกสาวบ้านคนจีนได้ และในเรื่องเจ้าแพนด้าแดงเป็นตัวแทนของความอัดอั้นนั้นได้อย่างดีเลย
ผู้ใหญ่ดุๆ ทุกคนก็เคยผ่านการเป็นวัยรุ่นที่ดื้อและไม่ชอบธรรมเนียมในบ้านตัวเองมาทั้งนั้น แต่รู้ทั้งรู้ก็ยังส่งต่อมันให้กับลูกอยู่ดี อาจจะเป็นเพราะเมื่อเวลาผ่านไปเขาลืมความรู้สึกของการอยู่ในวัยนั้น หรืออาจจะรู้สึกถึงความกดดันของคนรุ่นก่อนมาถึงตัวเองแล้วก็ได้
น้องแพนด้าแดงเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองเฉยๆ แต่เป็นมรดกที่สืบต่อกันมาในสายเลือดผู้หญิงของครอบครัวลีที่บรรพบุรุษให้มาจากสถานการณ์คับขันในยุคที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ และที่ตระกูลยังก็บมันไว้อยู่แม้จะเป็นเรื่องที่แทบไม่ได้เอาไปใช้ในชีวิตแล้ว คล้ายกับการสืบต่อธรรมเนียมอย่างเคร่งครัดโดยไม่ได้ปรับมันให้เข้ากับวิถีชีวิตเลย
ความละเอียดของดีเทลไหว้บรรพบุรุษและการรวมญาติอันน่าปวดหัว
ดีเทลที่เราว่าลูกคนจีนอาจเข้าใจมากๆ คือพิธีกรรมในเรื่อง ธูปสามดอกที่ใช้ไหว้บรรพบุรุษ ผลไม้และน้ำชา เทียนแดง และรูปขาวดำของบรรพบุรุษ ที่สำคัญคือบรรยากาศที่ทั้งใกล้ชิด กดดัน อบอุ่น และน่าโมโหของการรวมญาติ เรื่องนี้สามารถนำเสนอวัฒนธรรมนี้ออกมาได้ดี ทั้งหน้าตาของเครื่องใช้ในการไหว้ และผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพราะนอกจากจะนำเสนอด้านความน่าหงุดหงิดของมันแล้ว ก็นำเสนอด้านความแน่นแฟ้น และความเป็นห่วงเป็นใยกันของคนในครอบครัวอีกด้วย
ถ้าเกิดอะไรไม่ดีขึ้น มักโทษตัวเองไว้ก่อน
การเป็นเด็กในบ้านเอเชีย ผู้ใหญ่ว่าอะไรเราก็ทำตามทั้งนั้นแม้แต่เรื่องที่ไม่ได้อยากทำจนบางครั้งเหมือนว่าความต้องการของตัวเองถูกบดบังไปโดยสิ้นเชิงโดยความต้องการของพ่อแม่ แต่ความแปลกคือเรามักไม่รู้สึกว่าโดนบังคับอยู่ หรือถ้ารู้สึกก็มักมีคำอธิบายจากตัวเอง ว่าเขาเป็นห่วง หวังดี เคยอาบน้ำร้อนมาก่อนแล้ว ถ้าพวกเขาทำอะไรที่ทำให้เรารู้สึกแย่แม้แต่ถึงขั้นที่เป็นแผลในใจบางทียังไม่โทษเขาเลย แต่โทษตัวเองก่อนว่าไปทำให้เขาทำแบบนั้นเอง
ครอบครัวที่สนิทกัน ไม่ได้แปลว่าเข้าใจกัน
สนิทกัน แต่ไม่เข้าใจ น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีของความสัมพันธ์ระหว่างลูกในบ้านเอเชียกับพ่อแม่ของเขา พ่อแม่อาจจะรู้ว่าอาหารโปรดของเราคืออะไร แต่ไม่รู้ว่าเราไม่ได้อยากจะกินมันทุกวัน หรืออาจจะรู้ทุกเรื่องในชีวิตของเรา แต่ไม่เข้าใจว่าเขาเลี้ยงเราดีขนาดนี้แล้วทำไมเรายังเศร้าอยู่ และนี่เป้นหนึ่งในเรื่องที่การ์ตูนชั่วโมงครึ่งเรื่องนี้เล่า
นอกจากจะเป็นการ์ตูนคัมมิ่งออฟเอจที่เข้าใจชีวิตของเด็กปี 2000 เป็นอย่างดีแล้ว การเล่าประสบการณ์การอยู่ในบ้านเอเชียอย่างตรงไปตรงมาทำให้ Turning Red เป็นการ์ตูนที่แตะใจคนเอเชียได้มากจริงๆ