หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์
คืนนั้นเธอถูกข่มขืน และถูกกล่าวหาว่าสร้างเรื่องที่ถูกข่มขืนขึ้นมา แถมยังโดนฟ้องข้อหาแจ้งความเท็จ เธอสูญเสียความไว้ใจจากคนรอบตัว สูญเสียโอกาสในสังคม สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง และต้องอยู่กับความรู้สึกไร้ค่า สงสัยในตัวเองตลอดเวลา จนกระทั่ง 3 ปีผ่านไป ผลการสืบสวนของตำรวจในคดีข่มขืนจากอีกฝั่งหนึ่งของประเทศ ได้ยืนยันว่าทั้งหมดที่เธอพูดเป็นเรื่องจริง คืนนั้นเธอถูกข่มขืนจริงๆ และโจรข่มขืนคนนั้นยังก่อคดีกับคนอื่นนอกจากเธอ
นั่นคือเรื่องราวของ มารี แอดเลอร์ (Marie Adler) ตัวละครในซีรีส์ ‘Unbelievable’ ที่เพิ่งเข้าฉายใน Netflix เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซีรีส์ 8 ตอนเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ An Unbelievable Story of Rape โดย Ken Armstrong และ T. Christian Miller ที่ถ้าคุณกดเข้าไปอ่าน คุณจะพบว่าเรื่องราวเหลือเชื่อในซีรีส์เรื่องนี้ถอดมาจากเรื่องจริงเสียยิ่งกว่าจริง
เรื่องเริ่มด้วยคดีของเด็กผู้หญิงที่ถูกข่มขืน แต่ขาดหลักฐานที่แน่นหนา มีเพียงคำให้การที่ไม่ชัดเจนของเหยี่อที่กำลังสับสน ประกอบกับเด็กมีแนวโน้มจะเป็นเด็กมีปัญหา สุดท้ายเลยกลายเป็นการกล่าวหาว่าเด็กกุเรื่องขึ้นมาว่าถูกข่มขืน ซ้ำร้ายยังโดนฟ้องข้อหาแจ้งความเท็จ ทั้งที่ปกติตำรวจก็ไม่ค่อยจะให้คดีแบบนี้ขึ้นโรงขึ้นศาลเท่าไรนัก ผ่านไปสามปี ปรากฏว่ามีเหตุการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้นอีกในที่อื่นๆ แต่ครั้งนี้มีตำรวจสองสาวที่กัดไม่ปล่อย ตามหาหลักฐานและปะติดปะต่อข้อมูล จนสุดท้ายจับโจรข่มขืนต่อเนื่องคนนี้ได้
เป็นความจริงในโลกความจริงที่ว่า คดีล่วงละเมิดทางเพศมักไม่ได้รับความสนใจและให้ความสำคัญเท่ากับอาชญากรรมประเภทอื่นๆ ดูจากสถิติล่าสุดในสหราชอาณาจักรฯ พบว่ามีเพียง 919 รายจาก 60,000 คดีที่ถูกตัดสินโทษ (1.5%) ขณะที่ในสหรัฐฯ ยิ่งเลวร้ายกว่า เมื่อพบว่ามีเพียง 5 จาก 1,000 คดี (0.5%) เท่านั้นที่ผ่านการตัดสินคดี ส่วนที่เหลือ บ้างถูกมองเป็นกรณีสมยอม หรือไม่ก็ถูกกล่าวหาว่าโกหก เนื่องจากขาดหลักฐานที่ชัดเจน ความหละหลวมนี้ยังส่งผลให้การข่มขืนเป็นความผิดที่ ‘คิดว่าทำได้’ และการล่วงละเมิดทางเพศกลายเป็นเหตุที่เกิดเป็นปกติ ขนาดที่ตัวละครในซีรีส์อย่างแม่หรือเพื่อนแม่หลายคนก็เผยว่าเคยเจอมาเหมือนกัน
แต่ Unbelievable ไม่ได้มัวเสียเวลาแฉความล้มเหลวของระบบยุติธรรมในเรื่องนี้มากนัก เพียงแต่สอดแทรกเนื้อหาและบทสนทนาที่มากพอจะทำให้คนดู ‘รู้กันว่า’ สิ่งนี้เกิดขึ้นและเป็นอุปสรรคสำหรับการให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อจากคดีล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนเรื่องราวของซีรีส์นั้นกลับมุ่งไปที่การจัดการกับอุปสรรคนี้ และ ‘get the job done’ (ทำงานให้ลุล่วง) มากกว่า เนื้อหาที่ครอบครองเวลาส่วนใหญ่ของซีรีส์เลยเป็นขั้นตอนการทำงานของตำรวจที่เต็มไปด้วยคำถาม ข้อสันนิษฐาน และการตามหาความจริง
สิ่งที่น่าสนใจคือเราจะได้เห็นการสอบสวนบนพื้นฐานของข้อมูลตลอดเรื่อง ยิ่งดูไปหลายๆ ตอน จะเห็นว่าทีมสอบสวนใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ตรงหน้า ประกอบกับความความช่างสงสัยและการตั้งคำถามที่เกิดขึ้นตลอดเวลา มาขุดหาข้อมูลต่อเรื่อยๆ โดยไม่ด่วนสรุป และแม้จะมีเทคโนโลยีล้ำๆ แต่ตัวละครก็จะย้ำเสมอว่า “The data I generate is as good as the data I’ve received.” (ข้อมูลที่ฉันสร้างมาจากการสืบสวนนั้นดีเท่ากับข้อมูลที่ฉันได้รับมา)
ข้อมูลที่สำคัญส่วนหนึ่งนั้นมาจากคำให้การของเหยื่อ ซึ่งซีรีส์ก็ให้เวลากับการพูดคุยกับเหยื่อค่อนข้างมาก รวมถึงให้ความสำคัญกับการใช้คำพูดและน้ำเสียงของตำรวจสอบสวน การอธิบายขั้นตอนการดำเนินการสอบสวนต่างๆ อย่างละเอียด การให้พื้นที่และเวลาสำหรับเหยื่อในการอธิบายเพื่อเก็บข้อมูล การช่วยปะติดปะต่อความทรงจำในช่วงเวลาที่ยากลำบากและอยากจะลืมเลือน จน The Guardian ถึงกับบอกว่าซีรีส์นี้อาจเป็นวิดีโอฝึกหัดสำหรับตำรวจที่ต้องไปสอบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศได้เลย แนวคิดในการรับฟังและให้พื้นที่กับคำพูดของเหยื่อนี้ ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากบทความต้นทางที่นักสืบในคดีที่เกิดขึ้นจริงบอกว่า กฎของการสืบสวนของเธอคือ “listen and verify” (ฟังและยืนยัน)
นอกจากนี้ ซีรีส์ยังมีการอธิบายกระบวนการสืบสวนสอบสวนยากๆ ให้เข้าใจง่าย เช่น การตรวจโครโมโซมวาย หรือการรันซอฟต์แวร์หาป้ายทะเบียนรถ ผ่านตัวละครเด็กฝึกงานในทีมที่น่าจะเป็นเหมือนเราคนดูที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการสืบสวนสอบสวนมากนัก แต่หัวหน้าก็จะคอยอธิบายขั้นตอนยากๆ ให้ฟังเมื่อถึงเวลา
อย่างไรก็ตาม โลกคู่ขนานของกระบวนการยุติธรรมก็ถูกนำมาตีแผ่ในเรื่องนี้ด้วย เพราะในขณะที่การบังคับใช้กฎหมายดำเนินไป กลายเป็นว่าขั้นตอนการบังคับใช้นั้นกลับเป็นอาวุธในการทำร้ายเหยื่อ อย่างการซักถามเหยื่อเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายรอบเพื่อค้นหาความจริง หรือการรื้อคดีเก่าเพื่อหาหลักฐานให้คดีใหม่ ทำให้เหยื่อต้องเล่นซ้ำความทรงจำอันบอบช้ำครั้งแล้วครั้งเล่า จนมีหนึ่งในตัวละครถึงกับพูดว่า “ครั้งแรกเธอโดนทำร้ายโดยโจรข่มขืน แล้วเธอก็โดนข่มขืนซ้ำอีกครั้งด้วยกระบวนการยุติธรรม”
ช่องว่างของระบบเองก็ถูกเล่าผ่านซีรีส์เรื่องนี้ ด้วยการที่คนร้ายทั้งในซีรีส์และในคดีจริงให้สัมภาษณ์หลังถูกจับกุมว่า เขาเรียนรู้วิธีทำงานของตำรวจผ่านตำราที่หลุดออกมาในตลาดมืด ทำให้รู้วิธีจัดการกับหลักฐานหรือแม้แต่หนังสืบสวนอย่าง CSI ที่ในซีรีส์เองก็แซวว่า แค่ดูก็รู้แล้วว่าตำรวจทำงานยังไง แถมรู้ด้วยว่าไม่มีการสื่อสารกันระหว่างตำรวจต่างพื้นที่ และไม่มีการเชื่อมข้อมูลกัน ทำให้ผู้ต้องหาเห็นช่องว่างและวางแผนที่จะลงมือข้ามเขตเพื่อไม่ให้ถูกจับได้
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือที่เราได้ยินประโยค Good Cops, Bad Cops กันบ่อยๆ แต่จากซีรีส์เรื่องนี้ แน่นอนว่าตัวอย่างของตำรวจที่ดีนั้นถูกเล่าผ่าน 2 นักสืบสาวที่ทำงานอย่างจริงจัง กัดคดีนี้ไม่ปล่อย และทุ่มเทสู้เพื่อเหยื่ออย่างแท้จริง แต่ในส่วนของตำรวจเลวนั้น ซีรีส์ทำให้เราเห็นว่าอาจจะไม่ต้องถึงขั้นเก็บส่วย รับสินบน คอร์รัปชั่น หรือทำความผิดร้ายแรงอะไรขนาดนั้น แต่การเป็นตำรวจที่ละเลยหรือผ่อนปรนต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรืออาจจะทำพลาดเพียงครั้งเดียว แต่ผลแห่งความผิดพลาดครั้งนั้นได้สร้างความเสียหาย ทำลายชีวิตคนอื่นทั้งชีวิตหรืออีกหลายชีวิต แบบที่ปล่อยให้โจรข่มขืนหลุดจากคดีแรกไปได้ แล้วกลายเป็นโจรข่มขืนต่อเนื่องจนมีเหยื่อที่ต้องรับกรรมอีกหลายคน ตำรวจที่บกพร่องในหน้าที่แบบนี้ก็อาจจะกลายเป็นตำรวจเลวแม้ไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
แม้ในเรื่องนี้จะไม่มีการขยี้เรื่องของการโทษเหยื่อ (victim blaming) มากนัก แต่คำให้การของเหยื่อต่อศาลในตอนท้ายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตั้งคำถามว่าพวกเธอทำผิดอะไร ทำไมต้องเป็นเธอ การรดน้ำในสนามหญ้าหน้าบ้านนั้นผิดไหม การนั่งอ่านหนังสือริมหน้าต่างผิดหรือเปล่า ก็ดูจะเป็นการโทษตัวเองที่แสนจะเจ็บปวดไม่น้อยไปกว่ากัน
สุดท้ายแล้ว Unbelievable จึงไม่ใช่แค่เรื่องราวของเด็กผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาว่ากุเรื่องข่มขืน แต่ยังเป็นซีรีส์ที่แสดงให้เห็นถึงทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม ความละเลยเพิกเฉย และเสียงที่ดังไม่เท่ากันในสังคม รวมถึงความสูญเสียที่เกิดจากการกระทำชั่วข้ามคืน แต่ส่งผลกับโลกทั้งใบและชีวิตทั้งชีวิตของพวกเธอผู้เป็นเหยื่ออีกด้วย
อ่านบทความ An Unbelievable Story of Rape ได้ที่ https://www.propublica.org/article/false-rape-accusations-an-unbelievable-story
อ้างอิงข้อมูลจาก