“อย่าได้โศกเศร้าไปเลย แม้จะจากโลกนี้ไปแล้ว อีกฝ่ายอาจกลับมาหาอีกครั้ง สวมกอดอีกครั้ง ในสายลมที่อบอุ่นและฉ่ำเย็น”
เมื่อความตายพรากลมหายใจของใครคนหนึ่งไป และลมหายใจของคนคนนั้นกลายเป็นอากาศ แม้ว่าร่ายกายของคนที่เรารักจะหายไปจากโลกใบนี้ ตัวตนของคนคนนั้นจะสถิตเข้าสู่ความทรงจำ และหลายครั้งที่เราเองก็รู้สึกว่า วิญญาณหรืออะไรก็แล้วแต่ของผู้คนยังไม่ได้หายไปจากที่ไหน ในความคิดคำนึง ในบางสถานที่ เมื่อสายลมพัดต้องผิวเนื้ออย่างแผ่วเบา ในความโหยหาอาลัยนั้นราวกับว่า สายลมคือการหวนคืนมาของผู้ที่อยู่ในห้วงคำนึง เป็นการทักทายและปลอบประโลมของผู้จากไป มอบแก่ผู้ที่ยังมีลมหายใจอยู่
ลมมีอุปมาในฐานะคำมั่นสัญญา และมิติของการปลอบประโลมผู้สูญเสีย ในซีรีส์ Under the Queen’s Umbrella ฉากหนึ่งพูดถึงการสูญเสียลูกชายไป อุปมาและคำมั่นสำคัญคือการที่ลูกชายสัญญาว่าตนจะหวนคืนมาใน ‘สายลม’ การสูญเสียคนรักนั้นร้าวราน แต่การสูญเสียลูกย่อมรุนแรงกว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ นอกจากในซีรีส์แล้วเรายังพบอุปมาหรือการใช้ลมช่วยรับมือและขจัดปัดเป่าความโศกเศร้าของสูญเสียลูกในบทกวีอีกหลายชิ้น และในการสูญเสียจากความตายโดยทั่วไป การเยียวยาอันสำคัญก็มักจะกล่าวถึงการพบกันในสายลมเสมอ
ไม่ว่าเราจะเชื่อเรื่องวิญญาณหรือโลกหลังความตายหรือไม่ ความตายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และสายลมเองเป็นปรากฏการณ์ที่ช่วยโอบอุ้มและปลอบโยนมนุษย์เรา สายลมเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ นอกจากการเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาความสูญเสียส่วนบุคคลแล้ว ที่จังหวัดอิวาเตะ ในที่พื้นที่ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว นักออกแบบได้ตั้งตู้โทรศัพท์ไว้ตู้หนึ่ง ให้ชื่อว่าโทรศัพท์แห่งสายลม เป็นโทรศัพท์ที่ให้ผู้ที่สูญเสียคนที่ตนรักได้ฝากถ้อยคำไปยังผู้จากไป โดยฝากไปกับสายลม
พบกันอีกครั้งในสายลม
หลายครั้งที่เรานิยามว่าความตายคือการกลับสู่ธรรมชาติ คุณสมบัติโดยทั่วไปของสายลมก็ดูจะสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องวิญญาณหรือโลกหลังความตายอยู่มาก ลมคืออากาศที่เคลื่อนไหวได้ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่อาจสัมผัสหรือสังเกตจากสิ่งรอบๆ ตัวได้ ลมเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว ท่ามกลางธรรมชาติ ลมมักหอบเอากลิ่นหอมของดอกไม้และพืชพรรณ ไล้ทักทายใบหน้าและหลังมือของเราอย่างอบอุ่นราวกับกำลังกล่าวคำทักทายและสวมกอดอย่างแผ่วเบา
คุณสมบัติทั้งการเคลื่อนไหว ความนุ่มนวล การมองไม่เห็นแต่รับรู้ได้นั้น จึงไม่แปลกที่ในยามเรารู้สึกโศกเศร้าหรือมีบาดแผลจากสูญเสีย สายลมอ่อนๆ จึงมักทำให้รู้สึกเหมือนได้รับการปลอบประโลม บางครั้ง เราอาจเชื่อมโยงการเยียวยาจากธรรมชาติ เป็นสัญญาณของการกลับมา พบพานและเยียวยากันชั่วครู่ก่อนที่จะก้าวต่อไป
โดยทั่วไปแล้ว สายลมมักสัมพันธ์กับฤดูกาล ลมประจำทิศพัดตามห้วงเวลา สายลมทำหน้าที่พัดพาเอาเมล็ดพันธุ์ และนำพาความอุดมสมบูรณ์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ในตำนานทั่วไป ลมมักจะสัมพันธ์กับลมหายใจ อินเดียเชื่อว่าวายุเป็นเทพแห่งชีวิต ลมมักเกี่ยวข้องกับการมีชีวิต การมีลมพัดทำให้ตัวละครฟื้นคืนสติ พระเจ้าในคริสต์ศาสนาก็ให้ชีวิตกับอาดัมด้วยการเป่าลมหายใจ คำว่า inspire ที่หมายถึงแรงบันดาลใจมีรากมาจากภาษาละตินคือ in และ spirare แปลว่า breathe in คือการที่พระเจ้าเป่าลมหายใจเข้าไปในตัวเราจนเกิดแรงบันดาลใจ เกิดชีวิต
ในขณะเดียวกันบางความเชื่อเช่นในความเชื่อมองโกเลียโบราณที่นับถือเทพเจ้าเต็งรี/เทนกริ (Tengri) แห่งท้องฟ้าและสรวงสวรรค์ การฝังศพในพิธีกรรมโบราณมีคำเรียกว่าการฝังศพในสายลม คือการนำศพใส่รถและลากไปจนศพร่วงหล่น ศพตกลงตรงจุดไหนให้นับว่าพื้นที่นั้นเป็นที่ฝังและปล่อยร่างนั้นไว้ การฝังนี้สัมพันธ์ทั้งกับบริบทชนเผ่าเร่ร่อนในเทือกเขาสูง และสัมพันธ์กับความเชื่อที่ว่าเมื่อมนุษย์ตายลง สายลมจะพัดพาดวงวิญญาณกลับสู่ท้องฟ้า ปรัชญาดังกล่าวสะท้อนความคิดการหวนคืนสู่ธรรมชาติอย่างเรียบง่ายและเป็นสัจธรรม
ในแง่นี้ สายลมจึงสัมพันธ์กับความเป็นวงรอบฤดูกาล รวมถึงการเกิดและการดับของสรรพสิ่ง สายลมสัมพันธ์กับการปลอบประโลม การร่วมเยียวยาในห้วงเวลาสั้นๆ ทั้งยังอาจให้บทเรียนของความเป็นธรรมชาติ จากธรรมชาติเอง
“สบายดีไหม ไม่ต้องห่วงทางนี้” โทรศัพท์สายลมแห่งโทโฮคุ
“ทางนั้นเป็นยังไงบ้าง ทางนี้…สบายดี ไม่ต้องเป็นห่วงนะ”
หลายครั้งเป็นเราเองที่ชอบครุ่นคิด บางทีก็ตั้งใจพูดสื่อสารโดยหวังในใจว่าถ้อยคำนั้นจะล่องลอยไปยังโลกอีกด้าน ถ้าได้พูดกันอีกสักครั้ง จะพูดว่าอะไร จะถามว่าอะไร นอกจากการพูดคุยผ่านพิธีกรรมแล้ว ถ้ามี ‘โทรศัพท์’ ที่เรายกหูและ ‘ฝาก’ ถ้อยคำกับสายลมไปยังโลกอีกด้านได้ เราจะไปใช้เจ้าสิ่งนั้นมั้ย เราไม่ได้พูดถึงการทรงเจ้า แต่กำลังพูดถึงตู้โทรศัพท์บนเนินที่เรียกว่า โทรศัพท์แห่งสายลมหรือ Wind Phone
Kaze no Denwa หรือ โทรศัพท์แห่งสายลม เป็นตู้โทรศัพท์โบราณที่ตั้งอยู่บนเนินในเขตเมืองโอสึจิ จังหวัดอิวาเตะ ภายในตู้มีโทรศัพท์โบราณหนึ่งเครื่องที่ปลายสายไม่ได้ต่อไปที่ไหน โดยผู้คนจะเดินทางจากทั่วสารทิศเพื่อมายังตู้โทรศัพท์แห่งนี้ ยกหู และฝากถ้อยคำและความคิดถึงไปยังโลกอีกด้าน โดยฝากให้สายลมไปตามชื่อของมัน
โทรศัพท์แห่งสายลมนี้ตั้งอยู่ในสวนของ อิตารุ ซาซากิ (Itaru Sasaki) นักออกแบบสวน ซาซากิสร้างตู้โทรศัพท์สายลมขึ้นมาในปี 2010 เพื่อรับมือกับความโศกเศร้าจากความตายของญาติที่เสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็ง ซาซากิสร้างตู้โทรศัพท์ขึ้นและใช้มันเพื่อเชื่อมต่อกับญาติที่จากไปแล้ว โดยเขาเองให้สัมภาษณ์ว่า โทรศัพท์ที่ไม่ได้ต่อสายนี้ สามารถนำพาความคิดของเขาไปได้ไม่ใช่ด้วยสายโทรศัพท์ แต่เขาต้องการให้ “สายลมช่วยหอบพัดเอาความคิด ไปยังอีกฟากที่ปรารถนา” โดยโทรศัพท์สายลมนี้ไม่ได้ออกแบบโดยมีความเชื่อทางศาสนาใดเป็นพิเศษ เป็นการเชื่อมต่อเชิงสัญลักษณ์และเป็นเครื่องมือช่วยเหลือรับมือกับการสูญเสียเพื่อก้าวต่อไป
อย่างไรก็ตามตู้โทรศัพท์ของซาซากิ นับว่าเป็นจังหวะ คือแต่เดิมในปี 2010 ซาซากิสร้างไว้และใช้งานเป็นการส่วนตัว หนึ่งปีหลังจากนั้น ภูมิภาคโทโฮคุเกิดแผ่นดินไหวใหญ่และสึนามิ เมืองโอสึจิในฐานะเมืองชายฝั่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก เมืองเล็กๆ แห่งนี้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 1,200 ราย คิดเป็น 10% ของจำนวนประชากร ในปีนั้น ตู้โทรศัพท์แห่งสายลมในสวนส่วนตัวจึงเปิดให้สาธารณชนเข้าใช้ โดยเปิดให้ผู้สูญเสียได้สื่อสารกับผู้ที่จากไปจากภัยพิบัติใหญ่ในครั้งนั้น
ในระยะ 3 ปีของภัยพิบัติ มีรายงานว่าตู้โทรศัพท์เล็กๆ ในสวนอันเงียบสงบนี้มีผู้มาใช้งานสูงถึง 10,000 คน ภายในตู้โทรศัพท์สีขาวมีโต๊ะตัวเล็กๆ สมุดบันทึก การได้พูดอะไรบางอย่างเป็นครั้งสุดท้ายอาจนำไปสู่การก้าวต่อไป บ้างก็รู้สึกถึงความหวังว่าเสียงของพวกเขาจะถูกได้ยินอีกครั้ง ความรู้สึกถูกรับรู้อีกครั้ง กล่าวกันว่า ท่ามกลางเมืองที่กำลังถูกสร้างขึ้นใหม่ ตู้โทรศัพท์ที่ไม่มีปลายสายนี้ ก็ช่วยให้ผู้คนซ่อมแซมชีวิตของตนขึ้นมาด้วยพร้อมกัน
ไม่ว่าโลกอีกด้านจะมีจริงไหม ผู้จากไปจะกลับมาเยี่ยมเยียนและสวมกอดกันผ่านสายลมอบอุ่นรึเปล่า หรือสายลมกำลังนำความอาทรของเราไปถึงหรือไม่ มนุษย์เราก็มีวิธีที่จะเยียวยาซึ่งกันและกัน เป็นการเยียวยาเฉพาะหน้า ที่ค่อยๆ ปล่อยให้หัวใจและความรู้สึกของเรา ดีขึ้น
อ้างอิงจาก